Monday, 28 April 2025
CoolLife

19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ การ์ตูนแมวส้มที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก

การ์ตูนแมว ‘การ์ฟิลด์’ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 โดยได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จำนวน 41 ฉบับ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนบุคลิกหลายครั้งให้เข้ากับยุคสมัย

เรื่องราวของ ‘การ์ฟิลด์’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง ตัวเอกของเรื่องเป็นแมวสีส้ม มีลายสีดำ ที่มีของโปรดเป็นลาซานญา ชื่นชอบการดูทีวี นอน และการแกล้งคนอื่น 

โดยการ์ตูนเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ‘จิม เดวิส’ (Jim Davis) ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อตัวการ์ตูนแมวอ้วนตัวนี้ตามชื่อปู่ของเขา ‘เจมส์ การ์ฟีลด์ เดวิส’

นอกจากนี้ ‘การ์ฟิลด์’ เป็นการ์ตูนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 2,570 ฉบับ ถูกบันทึกลงกินเนสบุ๊คว่าเป็นการ์ตูนช่องที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก และยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน แอนิเมชั่น และสินค้าลิขสิทธิ์อื่น ๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังถือกันว่าวันนี้เป็นวันเกิดของ ‘การ์ฟิลด์’ อีกด้วย

18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เปิดสอนวันแรก มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย

วันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเรียนวันแรก โดยมี 3 คณะเริ่มต้น ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกบุกตีแตก ต้องเสียค่ายให้แก่พม่า ปิดฉากวีรกรรมความกล้าหาญ หลังพระนครไม่สนับสนุน

‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย

ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของ ‘เนเมียวสีหบดี’ ยกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา

ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดี ได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้

ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมืองง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน

ในเวลานั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก ชาวบ้านทั้งหลายจึงพาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก

ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายดอกไม้ และนายทองแก้ว รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม 11 คน ตั้งกองสู้กับกองทัพพม่า

การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง

สุกี้จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยใช้วิธีตั้งทัพอยู่เฉย ๆ เพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อนเมื่อถูกยุทธวิธีรบแบบยืดเยื้อ ชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนมาต่อสู้กับพม่า แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกรุงศรีอยุธยา ส่งมาแต่นายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้ หล่อเป็นปืนใหญ่ 2 กระบอก แต่ปืนร้าว ใช้งานไม่ได้สุกี้รู้แล้วว่ากองทัพชาวบ้าน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระนคร จึงมั่นใจว่าชาวบ้านบางระจันเริ่มอ่อนแอ จึงสั่งให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2309

21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ‘ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ’ เปิดอย่างเป็นทางการ หนุนกิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ได้มีหนทางระดมทุน

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - MAI) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเปิดทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์การทำงานโดยทั่วไป เหมือนกับ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ หรือ The Stock Exchange of (Thailand) (SET) คือ ทำหน้าที่เป็นตลาดทุน เพื่อให้กิจการต่าง ๆ สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้ แต่ตลาดใหม่นี้ จะเน้นไปที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี - SME) และกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม โดยได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ลง เช่น ทุนชำระแล้วขั้นต่ำของหลักทรัพย์ในตลาดหลัก คือ 200 ล้านบาท ในขณะที่ขั้นต่ำของตลาดใหม่ ลดลงเป็น 40 ล้านบาท เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ได้มีหนทางในการระดมทุน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

23 มิถุนายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ กระตุ้นให้ผู้คนในแต่ละชาติ เข้าถึงกีฬามากขึ้น

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2437 โดยมี ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แตง ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำในการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัด ณ มหาวิทยาลัยปารีส  เพื่อฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณสู่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่

ซึ่งเป็นระยะเวลาสองปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดย IOC เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสังคมแห่งมวลมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้นผ่านการเล่นกีฬาระดับสากล IOC เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระดับสากล

ขณะเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น ‘วันโอลิมปิก’ หรือ ‘Olympic Day’ เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันก่อตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

นอกจากนี้ วันโอลิมปิกยังมีเป้าหมาย ต้องการให้ผู้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกีฬาในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกีฬา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ หรือ National Olympic Committee (NOC) ในแต่ละประเทศได้พยายามจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกีฬามากขึ้น

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สู่ ‘ประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า…

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

โดยวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า…

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

ต่อมาในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

ทั้งนี้ คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ เสด็จฯ เปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ สถานีที่คนไทยเรียกติดปากว่า 'หัวลำโพง'

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า ‘หัวลำโพง’

หากย้อนกลับไป ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ ได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 จากสถานีกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพกลายเป็นสถานีรถไฟสายหลักของประเทศไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ภายหลังมีการขยายทางรถไฟไปตามมณฑลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2453

โดยสถานีกรุงเทพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็น ‘สถานีหัวลำโพง’ เป็นเพราะก่อนที่จะมีสถานีกรุงเทพ ยังมีทางรถไฟสายแรกที่วิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก และเดินรถครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ก่อนหน้าสถานีกรุงเทพถึง 3 ปี มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้จึงมีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

หลังจากที่สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ทั้งสองสถานีจึงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน ทำให้คนส่วนใหญ่เรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ ว่า ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ ภายหลังการเดินทางไปปากน้ำสะดวกมากขึ้นทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำได้รับความนิยมลดลง จึงมีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานีกรุงเทพ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า สถานีหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน

26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

27 มิถุนายน พ.ศ. 2510  ถือกำเนิด ‘ตู้ถอนเงิน' (ATM) เครื่องแรกของโลก ติดตั้ง ณ หน้าธนาคารบาร์เคลย์ส ประเทศอังกฤษ

เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) กำเนิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ซึ่งถือเป็นการให้บริการเครื่องถอนเงินครั้งแรกของโลก โดยตั้งอยู่ด้านนอกของธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) สาขาเอ็นฟิลด์ ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

โดยนายจอห์น เชพเพิร์ด บาร์รอน (John Shepherd-Barron) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอ ลา รู ของอังกฤษ เป็นผู้ประดิษฐ์ ซึ่งเขาได้แนวคิดจากเครื่องขายช็อกโกแลตแบบหยอดเหรียญ แต่ในขณะนั้นเรียกเครื่องถอนเงินนี้ว่า ‘Hole in The Wall’ ลูกค้าจะต้องสอดบัตรกระดาษเข้าไปแทนบัตรพลาสติกในปัจจุบัน และต้องกดเลขรหัส 4 ตัวเหมือนกัน ซึ่งจะถอนเงินได้ครั้งละ 10 ปอนด์ แต่ปัจจุบันเรารู้จักเครื่องถอนเงินในชื่อ Automated Teller Machine (ATM)

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าแรกที่นำเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ หรือเอทีเอ็ม มาใช้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2526 เรียกว่า ‘บริการเงินด่วน’ ให้บริการนำฝาก ถอน โอนเงิน และสอบถามยอดบัญชี โดยยุคแรกเบิกใช้ได้เฉพาะบัญชีธนาคารนั้น ๆ จนกระทั่งมีระบบเอทีเอ็มพูล เพียงมีบัตรเอทีเอ็มก็สามารถถอนเงินหรือฝากเงินจากตู้ของธนาคารใดก็ได้

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปิดประชุม ‘สภาผู้แทนราษฎร' ชุดแรก-ครั้งแรกของไทย ใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมาประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

ทั้งนี้ เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของ ‘รัฐสภาไทย’ มาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top