Monday, 28 April 2025
CoolLife

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ผู้วางรากฐานกองทัพเรือไทย-ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งกองทัพเรือไทย’

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล ‘อาภากร’ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ หรือ ‘หมอพร’ และ ‘พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย’ ต่อมาใน พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า ‘พระบิดาของกองทัพเรือไทย’ และใน พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที สิริพระชันษา 42 ปี 151 วัน โดยมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเปิด ‘อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง’ หนึ่งในปราสาทหินศิลปะแบบขอมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร โดยประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ทั้งนี้ คำว่า ‘พนมรุ้ง’ นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า ‘วนํรุง’ แปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’

ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 โดยมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในครั้งนั้นอีกด้วย

ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา โดยปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย

20 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 'คิวบา' ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ  แต่ยังคงถูกแทรกแซงกิจการภายในมาโดยตลอด

'ประเทศคิวบา' ในอดีตเป็นอาณานิคมของสเปนร่วม 400 ปี และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่รบชนะสเปนแล้วเข้ายึดครองคิวบาและหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากสเปนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้เอกราชแก่คิวบาเมื่อ พ.ศ.2445 แต่ยังไว้สิทธิในการแทรกแซงกิจการภายในของคิวบามาโดยตลอด ต่อมาได้เกิดกบฏนายสิบที่นำโดยสิบเอกฟุลเคนเซียว บาติสตา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2476 ซึ่งบาติสตาได้ครองอำนาจในคิวบาอยู่นานถึง 25 ปี เนื่องจากมีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มงวด

รัฐบาลของบาติสตาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนของบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาและบรรดากลุ่มมาเฟียต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ขยายการปฏิบัติการมาที่เกาะคิวบา ซึ่งอยู่ห่างจากมลรัฐฟลอริดาเพียง 144 กิโลเมตรเท่านั้น จึงสร้างความมั่งคั่งให้กับบาติสตาอย่างมหาศาลด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนกระทั่งนายฟิเดล คาสโตร ทนายความหนุ่มได้ก่อตั้งขบวนการใต้ดินออกหนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาลบาติสตาและได้รวบรวมสมาชิกตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารเพื่อปลุกเร้าประชาชนคิวบาให้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลบาติสตาตามแบบการต่อสู้ของชาวคิวบาในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากสเปนในอดีตใน พ.ศ.2495 โดยคาสโตรได้นำกองกำลัง 165 คน เข้าโจมตีค่ายทหารมอนคาดา ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของเกาะในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2496 แต่กลับถูกตีโต้กลับแตกพ่ายไป และคาสโตรถูกจับจำคุก 1 ปี และเนรเทศไปอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก

ที่ประเทศเม็กซิโกนี่เองที่คาสโตรได้พบกับเช กูวารา นายแพทย์หนุ่มชาวอาร์เจนตินาผู้มีอุดมการณ์ตรงกัน ดังนั้น ทั้ง 2 คนได้รวบรวมกลุ่มสมัครพรรคพวกชาวคิวบาตั้งเป็นขบวนการ 26 กรกฎาคม แล้วลักลอบกลับมายังคิวบาพร้อมกำลังพล 85 คนอีกใน พ.ศ.2499 หลังจากความพ่ายแพ้ในช่วงแรก ๆ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนยุทธวิธีการรบเป็นรูปแบบทำสงครามกองโจรต่อสู้กองทัพของบาติสตาอย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นผลให้บาติสตาต้องหนีออกนอกประเทศคิวบาใน พ.ศ.2502

ฟิเดล คาสโตร ได้มาเป็นผู้ปกครองคิวบาแบบเผด็จการและเริ่มแสดงท่าทีเอนเอียงไปมีความความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตผู้นำกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาโดยหน่วยงานซีไอเอได้จัดการฝึกและติดอาวุธให้กับกองทัพชาวคิวบาพลัดถิ่นที่อยู่ในอเมริกากลับไปบุกยกพลขึ้นบกที่อ่าวหมู คิวบาใน พ.ศ.2504 เพื่อล้มรัฐบาลคาสโตร แต่ต้องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง รัฐบาลอเมริกันต้องเสียศักดิ์ศรีและต้องจ่ายเงินและรถแทรกเตอร์เป็นจำนวนมาก เพื่อไถ่ตัวทหารคิวบาพลัดถิ่นกลับมายังสหรัฐอเมริกา แต่หน่วยซีไอเอยังคงพยายามลอบสังหารคาสโตรอีกนับครั้งไม่ถ้วน และสหรัฐอเมริกายังลงโทษทางเศรษฐกิจต่อคิวบาด้วยการไม่ค้าขายด้วย รวมทั้งแช่แข็งทรัพย์สินของคิวบาที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อการตอบโต้การที่ทางการคิวบายึดทรัพย์สินของชาวอเมริกันที่ทำธุรกิจอยู่ในคิวบาเป็นเวลายาวนานร่วม 5 ทศวรรษ

เพื่อเป็นการป้องกันตัว คาสโตรได้อนุญาตให้สหภาพโซเวียตติดตั้งฐานยิงจรวดหัวรบนิวเคลียร์และเก็บอาวุธนิวเคลียร์บนเกาะคิวบาซึ่งอยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 144 กิโลเมตร สามารถที่ยิงขีปนาวุธเข้าใส่สหรัฐอเมริกาอย่างง่ายดาย จึงนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาใน พ.ศ.2505 เกือบจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นเลยทีเดียว แต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธสงบลงได้ โดยทางสหรัฐอเมริกาต้องยอมให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้กำลังทหารบุกโจมตีคิวบาโดยเด็ดขาด และสหภาพโซเวียตก็ยอมถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากคิวบา

คาสโตรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองคิวบาให้เป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ใน พ.ศ.2504 ใน พ.ศ.2508 คาสโตรได้เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งตั้งขึ้น ขณะที่พรรคการเมืองอื่นถูกยุบ จากนั้นเขานำการเปลี่ยนแปลงคิวบาสู่สาธารณรัฐสังคมนิยม ยึดอุตสาหกรรมไปเป็นของรัฐและนำสาธารณสุขถ้วนหน้าและการศึกษาแบบให้เปล่า เช่นเดียวกับการปราบปรามการต่อต้านภายใน คาสโตรได้ริเริ่มคณะแพทย์คิวบาผู้ซึ่งทำงานทั่วโลกกำลังพัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติต่างประเทศหลายกลุ่มด้วยการส่งทหารคิวบาไปช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์หลายประเทศรบ ด้วยหวังว่าจะโค่นทุนนิยมโลก

ซึ่งก่อนหน้านี้สหายของเขาคือ 'เช กูวารา' ก็ได้ไปปฏิบัติการทางทหาร เพื่อช่วยการปฏิวัติของประเทศโบลิเวียและถูกสังหารที่นั่นอีกด้วย

เมื่อประเทศสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงเมื่อ พ.ศ.2534 ทำให้เศรษฐกิจของคิวบาเกือบล่มสลายทำให้คิวบาต้องผ่อนปรนการใช้การบริหารเศรษฐกิจทั้งหมดโดยรัฐบาลกลางผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ซึ่งมีต้นแบบมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งก็ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยก็ได้ต้นแบบมาจากสหภาพโซเวียตด้วย) และเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ยิ่งกว่านั้นคิวบายังได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินจากจีนและเวเนซุเอลา

ใน พ.ศ.2549 คาสโตรต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เขาจึงส่งต่ออำนาจให้กับราอูล คาสโตร น้องชายผู้ร่วมรบกับเขามาโดยตลอด และใน พ.ศ.2558 สหรัฐอเมริกาได้ตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบาอีกครั้งภายหลังที่ตัดสัมพันธ์กันมา 54 ปี ในสมัยของประธานาธิบดีราอูล คาสโตร นี่เอง

การจากไปของฟิเดล คาสโตร เป็นการจากไปของนักปฏิวัติที่อยู่ยั้งยืนยงและสามารถต้านทานการโจมตีอย่างหนักและต่อเนื่องจากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ถึง 11 คน นับได้ว่าเป็นชายชาตรีโดยแท้

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ‘คสช.’ ปฏิบัติการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น. ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย

ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สภาฯ มีมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีผู้ปกป้องเมืองถลาง จากทัพข้าศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2510

โดยในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร 

ทั้งนี้ ท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลาง เกาะภูเก็ต จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์’ คว้านางงามจักรวาลเป็นคนที่ 2 ของไทย สร้างประวัติศาสตร์-ชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ประเทศไทยได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวโลกอีกครั้ง กับการขึ้นไปคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 37 ของ ‘ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก’ ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย

ซึ่งเธอถือเป็นตัวแทนชาวไทยคนที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล หลังจาก ‘อาภัสรา หงสกุล’ นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรกที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลในปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508

สำหรับการประกวดนางงามจักรวาล ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 จัดขึ้น ณ เมืองไทเป เกาะไต้หวัน โดยมีผู้เข้าประกวด 66 คน ซึ่งตัวเก็งการประกวดในสายสื่อมวลชน คือ นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามเม็กซิโก นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน นางงามนิวซีแลนด์ และนางงามของไทย รวมถึงนางงามจากไอซ์แลนด์ ที่เคยได้รับตำแหน่งรองอันดับ 2 มิสเวิลด์ 1987 ที่ อังกฤษ มาแล้ว ซึ่งก็พ่ายให้กับสาวในแถบเอเชีย ในการประกวดรอบแรก

ทั้งนี้ ภรณ์ทิพย์ สามารถทำคะแนนในชุดว่ายน้ำได้ลำดับที่ 11 แต่เมื่อรวมคะแนนจากชุดราตรีและการสัมภาษณ์แล้ว สามารถเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมาในลำดับที่ 4 โดยมีคะแนนตามหลัง นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน และนางงามเกาหลีใต้ ซึ่งในการประกวดรอบ 10 คน เธอได้สร้างความประทับใจให้กับกรรมการอย่างมาก ระหว่างช่วงการประกวดรอบสัมภาษณ์ซึ่งทำให้เธอกวาดชัยชนะทั้ง 3 รอบ และกลายเป็นผู้ชนะอย่างขาดลอยของการประกวดนางงามจักรวาลในปีนั้น และนอกจากได้รับมงกุฏนางงามจักรวาลแล้วยังได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมอีกตำแหน่งเพิ่มด้วย

นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักธุรกิจ และได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนองค์การสหประชาชาติ สำหรับโครงการช่วยเหลือเด็กและสตรีในระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นประธานตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กอีกหลายแห่ง

25 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น 'วันเด็กหายสากล' (International Missing Children’s Day) รณรงค์ให้สังคมร่วมตระหนักถึง ‘สวัสดิภาพ-ความปลอดภัย’ ของเด็ก

ความเป็นมาของ ‘วันเด็กหายสากล’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อเด็กชายอีตัน แพตซ์ วัย 6 ขวบ ชาวเมืองแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สูญหายไประหว่างเดินออกจากอพาร์ตเมนต์เพื่อไปขึ้นรถโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่มีองค์กรช่วยเหลือในการตามหาเด็กหาย มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเท่านั้นที่ร่วมมือกันค้นหา 

จากคดีดังกล่าวส่งผลให้เริ่มมีการวางระบบติดตามหาเด็กหายที่ถูกลักพาตัวอย่างจริงจัง โดยภาพของอีตันที่ใช้ในการประกาศหาตัวอยู่บนกล่องนมที่วางจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ กลายเป็นต้นแบบของการประกาศหาคนหายบนกล่องนมจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่ถึงแม้จะมีความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายแล้วก็ไม่พบเด็กชายคนนี้ 

ต่อมาในปี 2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อให้ทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก รวมถึงมีความหวังที่จะตามหาเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ในหนึ่งวันมีเด็กหายไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของเด็กที่หายไป มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก และอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายไป หรือถูกลักพาตัวออกจากบ้านคือ 4 ขวบ โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจาก สถิติศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และแน่นอนว่าปัญหาเด็กหายจากบ้านนั้น จะต้องเจอกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการคุกคาม หาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ถูกล่อลวง รวมไปถึงกระทำความรุนแรง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 วันคล้ายวันเกิด ‘ท่านพุทธทาสภิกขุ' บุคคลสำคัญของโลก อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัย

‘พระธรรมโกศาจารย์’ มีนามเดิม ‘เงื่อม พานิช’ ฉายา ‘อินทปญฺโญ’ หรือรู้จักในนาม ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น ‘พุทธทาส’ เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น ‘พุทธทาส’ เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

และเมื่อปี 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ณ สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือ ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

เหตุผลที่ยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นบุคคลสำคัญของโลกก็คือ การที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ได้กับระดับสังคมและปัจเจกบุคคล รวมถึงการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ‘เลาดาแอร์’ สายการบินออสเตรีย เกิดอุบัติเหตุตก ในจ.สุพรรณบุรี คร่าชีวิตไป 223 คน หลังบินสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเท่านั้น

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 767 ของสายการบิน เลาดาแอร์ ประเทศออสเตรีย เส้นทางบิน ฮ่องกง-กรุงเทพฯ-เวียนนา บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 223 คนทะยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

หลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเศษ ก็เกิดเสียงระเบิดกึกก้องเหนือท้องฟ้าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ พุเตย หมู่ 7 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 23.20 น. ชาวบ้านแถวนั้นเห็นดวงไฟขนาดใหญ่ตกจากท้องฟ้าพุ่งลงสู่พื้นดิน ทั้ง 223 คน เสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติ 184 คน ชาวไทย 39 คน

จากการตรวจพิสูจน์กล่องดำ พบสาเหตุสำคัญที่สุดคือกลไกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์’ (Thrust Reverser) ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วของเครื่องบินขณะบินลงเกิดทำงานขึ้นกะทันหันอย่างไม่รู้สาเหตุ ขณะที่เครื่องบินยังอยู่สูงบนท้องฟ้าที่ระดับความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ประกอบกับนักบินที่ 1 ไม่เชื่อไฟสัญญาณเตือนภัยที่กะพริบขึ้นมาในระยะที่เครื่องบินกำลังบินสูงราว 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วไม่ตรวจสอบแก้ไข จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมสลดครั้งนี้

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 วันคล้ายวันก่อตั้ง ‘ม.ศรีปทุม’ เดิมชื่อ ‘วิทยาลัยไทยสุริยะ’ 1 ใน 5 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย

‘วิทยาลัยไทยสุริยะ’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 เป็น 1 ใน 5 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรก ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดย ดร.สุข พุคยาภรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2515 วิทยาลัยไทยสุริยะ ได้รับพระราชทานนามใหม่จาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น ‘วิทยาลัยศรีปทุม’ (กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2515) และพระราชทานความหมายว่า ‘เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว’ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายนาม ‘ศรีปทุม’ และพระราชทานปริญญาบัตร อนุปริญญา และประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 1,2 และ 3

ทั้งนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปลี่ยนประเภทเป็น ‘มหาวิทยาลัยศรีปทุม’ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530

โดย มหาวิทยาลัยฯ ได้ขยายวิทยาเขตออกไปในปีการศึกษา 2530 โดยได้จัดตั้งวิทยาเขตที่สมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2530

ในปี พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขออนุมัติทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) จัดตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาคารพญาไท เปิดสอนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อพัฒนานักบริหาร โดยเปิดสอนครั้งแรก ณ อาคารเอ็กซิม (อาคารบุญผ่องเดิม) ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท ต่อมาได้ย้ายสำนักงานมาเปิด ณ อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้น 17 และชั้น 20 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท เพื่อเปิดสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาสำหรับนักบริหาร (ปัจจุบันไม่มีการสอนที่วิทยาคารพญาไทแล้ว)

ในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ขยายการเรียนการสอนไปยังจังหวัดขอนแก่น ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top