Saturday, 26 April 2025
CoolLife

25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม

วันนี้ เมื่อ 93 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชศาตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ (ตึก 1 คณะอักษรศาสตร์ปัจจุบัน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร-เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ

1.บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น)

2.บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479)

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานประกาศนียบัตร (ปริญญาบัตรในปัจจุบัน) แก่เวชบัณฑิตชั้นตรี จำนวน 29 คน ประกอบด้วยผู้สอบได้บัณฑิตชั้นตรีในปี 2471 จำนวน 18 คน และปี 2472 จำนวน 16 คน

โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ นับว่า เป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้น นับว่าเป็นวันสำคัญในประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่า ไม่ว่าประเทศใด ๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง ในประเทศสยามนี้ ต้องนับว่า การมหาวิทยาลัยยังล้าหลังอยู่มาก ที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยเหตุผลหลายประการคือ การที่จะตั้งมหาวิทยาลัยให้ใหญ่โตนั้น ถ้าเอาเงินถมลงไปก็อาจทำได้ แต่ถ้าวิชาที่สอนนั้นประชาชนยังไม่ต้องการ หรือสอนไปไม่เป็นประโยชน์ในทางอาชีพของเราแล้ว การที่จะตั้งเช่นนั้นก็หาเป็นประโยชน์"

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

วันนี้ เมื่อ 6 ปีก่อน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย และพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อให้พร้อมใช้ในพิธีจริง

นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างราชรถ ราชยานขึ้นมาใหม่ คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย รวมทั้งประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัย โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามาภิไธยในขณะนั้น) ทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ
 

27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ไทยประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วงทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

วันนี้ เมื่อ 119 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ประกาศเลิกใช้ ‘เงินพดด้วง’ ทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สำหรับ ‘เงินพดด้วง’ ทางราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ให้การถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 นับเป็นครั้งที่ 2 ในการเสด็จเยือนประเทศไทย

ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังพระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียงที่วัดไชยวัฒนาราม ทอดพระเนตรขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ยังได้เสด็จไปยังโรงเรียนสตรีวิทยา ในขณะที่เจ้าชายฟิลิปเสด็จไปวางพวงมาลาที่สุสานทหารสัมพันธมิตร ที่จังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยทั้งสองพระองค์และเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน จ. อยุธยา และ จ.เชียงใหม่

29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 3

วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เป็นรากฐานสำคัญของการดำรงอยู่คนไทยที่เกิดจากการเรียนรู้และสืบทอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพมาช้านาน มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การรวบรวมองค์ความรู้ ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย 

และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมและมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่าง ๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมารและแม่ซื้อ 

อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4-5 รูป รวม 16 หลัง ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญ รุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย’ แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ’

31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ห้างไทยไดมารู เลิกกิจการห้างแห่งแรก่ในไทยาร ปิดตำนานที่มีบันไดเลื่อน

วันนี้ เมื่อ 23 ปีก่อน ‘ไทยไดมารู’ ห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น ประกาศปิดกิจการ หลังเปิดให้บริการในไทยมายาวนานถึง 36 ปี ปิดตำนาน ห้างแห่งแรกในไทยที่มีบันไดเลื่อน

ไทยไดมารู เป็นห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าราชประสงค์ หรือ เซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ต่อมา ห้างก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ราชดำริอาเขต ที่ตั้งปัจจุบันคือบริเวณบิ๊กซี ราชดำริ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่งในสมัยนั้น มีแนวความคิดแบบห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ในบริเวณราชดำริที่มีสำนักงานบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ ไทยไดมารู ยังเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีบันไดเลื่อนแห่งแรกของไทย รวมถึงเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยด้วยที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอีกด้วย จากนั้น ไทยไดมารู ยังได้เปิดสาขา 2 ย่านพระโขนง เมื่อปี พ.ศ. 2524

ในแง่ของประวัติศาสตร์ ห้างไทยไดมารู เคยเป็นจุดที่นิสิตนักศึกษา ใช้เป็นจุดรณรงค์ต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2516 ก่อนที่จะขยายตัวเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดความรุนแรงในวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม

ในปี พ.ศ. 2537 เมื่อไทยไดมารู ที่อยู่บริเวณศูนย์การค้าราชดำริ อาเขต หมดสัญญาลงได้ย้ายมาอยู่ที่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ ปัจจุบันคือ พาราไดซ์ พาร์ค ดำเนินการในนาม บริษัท ไทยดีเอ็มอาร์ รีเทล จำกัด มีบริษัทไดมารู ไอเอ็นซี จากญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ย่านนี้มีคู่แข่งจำนวนมาก โดยเฉพาะซีคอนสแควร์และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ห้างไทยไดมารูที่เสรีเซ็นเตอร์ จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

หลังจากที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ จากการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี พ.ศ. 2540 ในปี พ.ศ. 2541 ไดมารู ไอเอ็นซี (The Daimaru, Inc.) จากญี่ปุ่นตัดสินใจขายหุ้นบริษัทไทยดีเอ็มอาร์ รีเทล ให้กับผู้ลงทุนชาวไทย คือ กลุ่มพรีเมียร์ ในเครือโอสถานุเคราะห์ แต่ให้สิทธิ์ชุดผู้บริหารให้ใช้ชื่อ ไดมารู ได้ แต่หลังจากนั้น 2 ปี การดำเนินการยังไม่ดี กลุ่มพรีเมียร์จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญาอีกต่อไป เพื่อเปิดห้างสรรพสินค้าใหม่ ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ปิดตำนานห้างแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนและเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงไม่มีชื่อ ไทยไดมารู อยู่ในประเทศไทย

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ครบ 35 ปี จัดฉลองใหญ่พร้อมเปิดถนนราชดำเนินนอก

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และฉลองครองราชย์ครบ 35 ปี

ก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. 2444 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินมาในจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย มาบรรจบกับย่านริมสนามหลวงด้านตะวันออก ไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่สวยงามและเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์

2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน หลังมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น.

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอนามัยระบุว่า ประชากรคนที่ 60 ล้าน เป็นเด็กทารกเพศชาย คลอดในเวลา 09.48 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ทางการได้มีกิจกรรมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 5 มีการรายงานผลการเกิดของทารกทั่วประเทศ มีหน่วยรถเคลื่อนที่ของช่อง 5 ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์จริงจากห้องคลอดของจังหวัดหลัก ๆ 

ทั้งนี้ มีเด็กที่เกิดในเวลา 09.48 น. ทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบของขวัญวันเกิดสุดพิเศษให้ เช่น พระเลี่ยมทอง หรือเลสทองคำสลัก ‘อัลเลาะห์’ สำหรับเด็กที่มารดานับถือศาสนาอิสลาม, เช็กของขวัญ 10,000 บาท, บัตรประกันสุขภาพ 10 ปี, ทุนการศึกษาครบหลักสูตร เป็นต้น 

สำหรับข้อมูลจาก กระทรวงมหาดไทยล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 ระบุว่าประชากรของไทยมีทั้งหมด 66,090,475 คน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน มีจำนวนคนแก่เพิ่มขึ้น และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อนึ่ง ในปี 2539 ขณะนั้น ประเทศไทย มีทั้งสิ้น 73 จังหวัด

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ‘ไลก้า’ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ กลายเป็นสุนัขอวกาศตัวแรกของโลก 

วันนี้ เมื่อ 66 ปีก่อน ‘ไลก้า’ (Leika แปลว่า เห่า) สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วยยานสปุตนิค 2 ของสหภาพโซเวียต ตามโครงการสปุตนิค

สำหรับ ‘ไลก้า’ สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกีเพศเมีย ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก และถูกนำมาใช้ทดลองในครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ยานสปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องของไลก้าจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจรู้แน่ชัดนัก 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ไลก้ามีชีวิตอยู่ได้ ระหว่าง 4-10 วันในวงโคจร บางคนบอกว่า อาหารมื้อท้าย ๆ ของไลก้ามีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่าเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนเมื่อแบตเตอรี่หมด

ยานสปุตนิก 2 อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ตกลงสู่โลกและไหม้สลายหมดไปในอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 จากนั้นอีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุนัขอวกาศไลก้าก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก 

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กลุ่มหัวรุนแรงชาวอิหร่านเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ จับนักการทูต - พลเมืองสหรัฐฯ เป็นตัวประกันนาน 444 วัน

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) นักศึกษาชาวอิหร่านราว 300 - 500 คน ได้บุกฝ่ากองกำลังของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่คุ้มกันอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเตหะราน เข้าไปจับกุมตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันส่งตัวพระเจ้าชาห์ โมฮัมเมด เรซา ปาห์เลวี (Mohammad Reza Pahlavi) ที่กำลังรักษาโรคมะเร็งอยู่ที่สหรัฐฯ กลับไปดำเนินคดีในอิหร่าน 

โดยเหตุการณ์ในตอนแรก กลุ่มนักศึกษาได้จับเจ้าหน้าที่อเมริกัน 52 คน เป็นตัวประกัน และยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับมา แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธคำเรียกร้องโดยอ้างว่า พระเจ้าชาห์กำลังรักษาตัวอยู่ นักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทันทีและยกเลิกการขายน้ำมันให้

ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้ตอบโต้ด้วยการให้อายัดทรัพย์สมบัติของอิหร่านทั้งหมดในสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) และก็ได้ส่งกองทัพเรือเข้าไปประชิดที่ทะเลอาหรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวประกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524 อิหร่านจึงได้ปล่อยตัวประกันที่จับไว้ กินระยะเวลารวม 444 วัน

วิกฤตดังกล่าวยังนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอ่อนแอลงจนถึงปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top