Saturday, 26 April 2025
CoolLife

12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้ายักษ์ ‘ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีจากจีนเดินทางถึงไทย

วันนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ต้อนรับ ‘ช่วงช่วง - หลินอุ่ย’ แพนด้ายักษ์ ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้าคู่แรกได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึง จ.เชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ ‘เรารักแพนด้า’ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมยินดีจากชาวเชียงใหม่ ก่อนที่จะนำแพนด้าทั้งคู่ไปที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยทางไทยได้มีการสร้างสถานที่พัก ส่วนงานวิจัยและสถานที่จัดแสดงขึ้นแบบควบคุมอุณหภูมิ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2546

แพนด้ายักษ์ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน โดยทางจีนได้ส่งแพนด้ายักษ์คู่นี้มาเพื่อให้เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จีนได้ยกเลิกการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรี โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ ‘ยืม’ จัดแสดง เป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของจีน

กระแสแพนด้าฟีเวอร์คู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยเป็นอย่างมากถึงขั้นทรูวิชันส์ได้เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ให้เห็นความน่ารักของคู่รักแพนด้าในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนอน เดิน กินใบไผ่  ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในช่วงนั้น หลินฮุ่ยเองได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า ‘หลินปิง’ ซึ่งเกิดจากการผสมเทียมสำเร็จเมื่อ 27 พฤษภาคม 2552 

เดิมทีไทยจะต้องส่งคืนช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้กลับคืนจีนในปี 2556 ตามสัญญาครบรอบ 10 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ จีนจึงต่อสัญญาขยายเวลายืมจัดแสดงช่วงช่วง-หลินฮุ่ยอีกครั้งไปจนถึงปี 2566 

แต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562 ช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้ได้จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยอายุ 19 ปี ซึ่งสาเหตุการตายมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน

และหลังจากนั้น หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย ได้จากไปในวัย 21 ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566 ปิดตำนานแพนด้ายักษ์ ‘ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน’

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐ เกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อแล้ว พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี กับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 

ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785 - เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซอง ไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยพบจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด และความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป

หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกาศต่อประชาราษฎร์เรื่องจะทรงผนวช

วันนี้เมื่อ 63 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะทรงผนวช จึงได้ประกาศให้ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ได้รับทราบ ความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง

เมื่อ พ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร์

โดยหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 แล้ว 

จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว

ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ

จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทำทัฬหิกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน

19 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เทิดพระเกียรติ ร.9 ‘พระบิดาเทคโนโลยีไทย’

วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย’

จุดเริ่มต้น วันเทคโนโลยีของไทย มาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานปฏิบัติการ และประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างมาก

การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยัง ยังทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายอีกด้วย

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)

ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพในปี พ.ศ. 2538 รวมพระชนมายุ 95 พรรษา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’ ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาติมีมากมาย พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยตลอดมา รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ จึงได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันสำคัญของประเทศไทย ดังนี้

• วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 
ด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จย่า ทรงมีต่อประชาชนที่ได้พบเห็นในถิ่นทุรกันดารในเรื่องของโรคภัย คือ เรื่องโรคฟัน ถือเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดารและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ในปี พ.ศ. 2512 พระองค์จึงทรงจัดตั้ง ‘หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี’ (พอ.สว.) ขึ้น และทรงให้ทันตแพทย์ร่วมปฏิบัติงานในหน่วยแพทย์พอ.สว.นี้ รวมทั้งพระองค์ได้พระราชทานวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์และทันตบุคลากร ในปี พ.ศ.  2532 คณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมเด็จย่ามีพระมหากรุณาธิคุณ จึงกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ และพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น ‘พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย’

• วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
สืบเนื่องจากพระองค์ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและเวลาเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก และสมควรนำมาเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนและการปฏิบัติงานเพื่อสังคมส่วนรวม เมื่อปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ในปี 2542 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศพระนามให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ : การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

• วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ
วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ หรือ วันรักต้นไม้แห่งชาติ หรือ ‘วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ’ (National Annual Tree Care Day) ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของสมเด็จย่า ที่ทรงให้ความสำคัญการบำรุงรักษาต้นไม้และฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ’ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อสมเด็จย่า ที่ทรงงานพัฒนาชนบทโดยเฉพาะการฟื้นฟูสมดุลของธรรมชาติ

• วันพยาบาลแห่งชาติ 
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

วันนี้เมื่อ 67 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้พระสมณนามว่า ‘ภูมิพโลภิกขุ’

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน

อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเสื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย 

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มาเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

ส่วนกิจการบ้านเมืองนั้นก็หวังว่า ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าบวชนี้คงไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดข้อง โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าก็ได้แต่งตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบสุขในกิจการบ้านเมืองของเราให้ดําเนินไปด้วยดีเถิด

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย ได้อภิบาลคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขสวัสดี ขอทุกๆ ท่านจงมีส่วนได้รับกุศลความดีงามอันจักพึงมีจากการที่ข้าพเจ้าเข้าอุปสมบทในพระศาสนาครั้งนี้โดยทั่วกัน เทอญ”

สำหรับพระราชพิธีทรงผนวชในครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจาก ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี เป็นต้น

วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ’ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น ‘กรมขุนพินิตประชานาถ’ บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ด้วยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า ‘พระปิยมหาราช’ หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น ‘วันปิยมหาราช’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 78 ปีก่อน องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ‘กฎบัตรสหประชาชาติ’ (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top