Monday, 28 April 2025
CoolLife

28 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นวัน ‘พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส’ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันนี้ เมื่อ 73 ปีก่อน เป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง กำหนดให้วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาพระฤกษ์ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขี 2 คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี, พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามด้วย เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชปิตุลา

เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออก ณ ชั้น 2 ของพระตำหนักแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลที่ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธี ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก ประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ ภ.อ. และ ส.ก

วันที่ 29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ

วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตรงกับวันที่ 29 เมษายนของทุกปี พระองค์เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช พระองค์มีพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง โดยพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ' เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ทองคำ ส่วนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชตินั้น พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ว่า 'ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง'

วันที่ 30 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ‘คุ้มครองผู้บริโภคไทย’ รำลึกถึงวันตรา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

30 เมษายน ของทุกปี กำหนดเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ในปี พ.ศ. 2522 

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เป็น วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 ถือได้ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้โดยตรง คือประชาชนในฐานะผู้บริโภค

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ ดังนี้

1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ระลึกถึงความสำคัญผู้ใช้แรงงาน

ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น 'วันแรงงานแห่งชาติ' หรือที่เรียกว่า 'Labour Day' ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

ในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา 'วันเมย์เดย์' (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันแรงงานสากล' ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน 

ในประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานมีปัญหามากขึ้น รวมทั้งแรงงานมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยริเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กระทั่งวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึก ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันที่ระลึกแรงงานไทย'

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถึงแก่อสัญกรรม หลังลี้ภัยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2490

ครบรอบ 40 ปี ‘ปรีดี พนมยงค์’ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

3 พฤษภาคม ของทุกปี วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ตระหนักถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชน

ย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1991 (หรือ พ.ศ.2534) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สาเหตุของการมีวันสำคัญนี้ เกิดจากการที่มีนักข่าวภาคสนามมากมาย ต้องเสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน และรวมไปถึงถูกคุกคาม จากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการสร้างสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัดตั้งให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

๕ พฤษภาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เกล้ากระหม่อม คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ประสูติเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หรือพระนามลำลองว่าพระองค์ติ๊ด ประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระองค์และพระกนิษฐภคินีมีฐานันดรศักดิ์เป็น 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า' ตั้งแต่ประสูติ ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า'

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า 'ฉัตรมงคล' หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า 'พระบาท' นำหน้า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า 'พระบรมราชโองการ' และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ โดยพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของ ‘คุณทองแดง’ โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ในการสร้างสระนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการและได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top