Monday, 28 April 2025
CoolLife

19 เมษายน พ.ศ. 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบ ‘เวคา’ เสด็จข้ามอ่าวไทย ด้วยลำพังพระองค์เอง

วันนี้เมื่อ 57 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย ด้วยลำพังพระองค์เอง จากพระราชวังไกลกังวล ไปยังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

เมื่อปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International O.K. Class) พระราชทานชื่อว่า เรือนวฤกษ์ แปลว่า ฤกษ์ใหม่ 

ต่อมาก็ทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นมาอีกลำ พระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) ความหมายว่าดวงดาวที่สว่างสุกใส หลังจากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นอีกหลายลำ เช่น เรือเวคา 1 เรือเวคา 2 เรือเวคา 3 เป็นต้น 

20 เมษายน พ.ศ.2454 วันคล้ายวันเกิด ‘ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย

20 เมษายน พ.ศ. 2454 วันเกิด พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เป็นน้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 

จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในปี 2531

21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งที่ 4 ของสยาม

วันนี้ เมื่อ 241 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมมีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองกรุงเทพมหานคร 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง 'พระราชวังหลวง' ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ โดยการก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อพุทธศักราช 2325

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา

‘เจ้านิโคร’ หมาจรเดินตามพระธุดงค์ไทย จากอินเดีย เดินทางไกลเกือบพันกิโลเมตร ก่อนลาจากไม่หวนคืน

(21 เม.ย.66) จากกรณีโซเชียลให้ความสนใจเหตุการเสียชีวิตของสุนัขตัวหนึ่ง ที่ชื่อเจ้านิโคร วิ่งตามคณะพระธุดงค์ไทยที่ประเทศอินเดีย ไล่กลับยังไงก็ไม่ยอม จนทางพระสงฆ์ท่านมีความเมตตา ตัดสินใจรับเลี้ยงและนำกลับมาอยู่วัดที่ประเทศไทยด้วย 
.
ต่อมาเกิดเรื่องเศร้า เมื่อเจ้านิโครเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวริมถนน ที่จังหวัดมหาสารคาม เพราะแอบเดินตามหลวงตามาบิณฑบาต เกิดพลัดหลง เดินเร่ร่อนจากสุรินทร์ไปถึงมหาสารคาม
.
ล่าสุดเพจ วัดหนองบัว - เวือดตระเปียงโชค เปิดประวัติเจ้านิโคร ถึงเส้นทางพรหมลิขิตที่ทำให้มาเจอกับคณะพระธุดงค์ไทย ในระหว่างอยู่ที่อินเดีย ดังต่อไปนี้
.
ประวัติชีวิตนิโคร ... ตอนที่ ๑ เช้าวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เป็นปกติที่พระธุดงค์ตื่นเช้า ตี ๓ เก็บเต็นท์และบริขาร
.
เตรียมออกเดินจากเขตเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นวัดที่พระเจ้าสุทโธทนะ ถวายพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสด็จนิวัติเมืองของพุทธบิดา ... และเป็นวัดที่บรรพชาสามเณรราหุลอีกด้วย ... นิโคร เริ่มตามเรามาตั้งแต่จุดนี้
.
นิโครธาราม - ลุมพินี (ประสูติ) - ชายแดนโสเนาลี-กุสินารา (ปรินิพพาน) - แม่น้ำอโนมาเสาอโศกคู่ -มหาสถูปเลารียา - เสาอโศกนันดานการ์ -เสาอโศกอเรราช - มหาสถูปเกสรียา – เมืองไวสาลี - สถานที่ปลงอายุสังขาร - เมืองปัตตนะ - วัดอโศการาม สังคายนาครั้งที่ 3 - วิกรมศิลา - นาลันทา - ราชคฤห์ - เขาคิชกูฏ - ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (คยา) (สถานที่ตรัสรู้)

รวมระยะทาง เดินตามพระธุดงค์ ประมาณ 985 กิโลเมตร ผ่านพุทธสถานมากมาย ขออนุโมทนาบุญกับ นิโคร.


ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/725821

22 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน 'คุ้มครองโลก' (Earth Day) ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ ทุกวันที่ 22 เมษายน เป็นวัน 'วันคุ้มครองโลก' เพื่อให้ผู้คนบนโลกตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

22 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันคุ้มครองโลก' (Earth Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) เพื่อให้ผู้คนบนโลกได้ตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา 

โดยในปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้เห็นด้วย จากนั้นได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม 'วันคุ้มครองโลก'

23 เมษายน พ.ศ. 2159 โลกสูญเสียยอดกวีเอก ‘วิลเลียม เชกสเปียร์’

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เกิดเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้แน่ รู้แต่ว่าเขาได้รับศีลล้างบาปในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1564 ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยนั้นการรับศีลของทารกมักจะทำกัน 3 วันหลังการเกิด วันที่ 23 เมษายนจึงถูกถือเอาเป็นวันเกิดของเขา

เชกสเปียร์เติบโตขึ้นในเมืองสแตรทฟอร์ดริมฝั่งเอวอน (Stratford-upon-Avon) วอร์วิกไชร์ (Warwickshire) ประเทศอังกฤษ รายละเอียดของชีวประวัติของเชกสเปียร์มีบันทึกไม่มากนักเนื่องจากเขามิใช่ชนชั้นสูง เรื่องราวในชีวิตช่วงแรกๆ ของเขาจึงมีแต่เพียงเรื่องที่ถูกบันทึกในเอกสารของทางการ เช่น การรับศีล และการแต่งงาน

พ่อของเขาจอห์น เชกสเปียร์ (John Shakespeare) ทำการค้าหลายอย่างและดูเหมือนจะมีปัญหาทางการเงินเป็นระยะ ขณะที่แม่ของเขาแมรี อาร์เดน แห่งวิล์มโคต (Mary Arden, of Wilmcote) มาจากครอบครัวเก่าแก่และเป็นทายาทที่จะได้รับมรดกเป็นที่ดินบางส่วน ทำให้เชื่อกันว่าการแต่งงานของทั้งคู่เป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อยกฐานะของจอห์น เชกสเปียร์

เชื่อกันว่าเชกสเปียร์น่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนไวยากรณ์ (Grammar School เป็นโรงเรียนสอนภาษาละตินและวรรณกรรมคลาสสิกในยุคกลาง ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นโรงเรียนระดับมัธยมของอังกฤษ) ในสแตรทฟอร์ด แต่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาแต่งงานกับแอนน์ แฮทธาเวย์ หญิงซึ่งแก่กว่าเขา 8 ปี และตั้งท้องอยู่แล้วก่อนแต่งงานกับเขา หลังแต่งงานได้ 6 เดือนทั้งคู่ได้ลูกสาวคนแรกชื่อว่า ซูซานนา (Susanna) ในปี 1585 ทั้งคู่ได้ลูกแฝด แฮมเน็ต (Hamnet) และจูดิธ (Judith) ก่อนที่แฮมเน็ตลูกชายคนเดียวของครอบครัวเชกสเปียร์จะเสียชีวิตในอีก 11 ปีถัดมา

เชกสเปียร์เริ่มมีชื่อถูกอ้างถึงในฐานะนักเขียนในปี 1592 เมื่อเขาถูกวิจารณ์โดย โรเบิร์ต กรีน (Robert Greene) ผู้เป็นนักเขียนบทละครเช่นเดียวกับเชกสเปียร์ เชื่อกันว่าในขณะนั้นเชกสเปียร์ น่าจะเขียนเรื่องเฮนรีที่ 6 (Henry VI) ไปแล้ว 3 ตอน ในปี 1593 วีนัสแอนด์อดอนิส (Venus and Adonis) เป็นบทกวีชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่ถูกนำออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเฮนรี ไรโอเธสลีย์ ที่ 3 เอิร์ลแห่งเซาแธมป์ตัน (Henry Wriothesley, the 3rd earl of Southampton)

ในปี 1594 เชกสเปียร์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะละครลอร์ดแชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain’s Men) ซึ่งภายหลังกลายเป็นคณะละครในพระบรมราชูปถัมภ์ (King’s Men) เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) ขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นคณะละครที่เชกสเปียร์ร่วมงานด้วยจนกระทั่งเขาเกษียณอายุ

24 เมษายน ของทุกปี กำหนดเป็น 'วันเทศบาล' ระลึกถึงการกำเนิดการปกครองส่วนท้องถิ่น

กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันเทศบาล' เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการก่อกำเนิดเทศบาล และเพื่อให้พนักงานเทศบาลตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการประชาชน

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2467 และเกิดรูปแบบของเทศบาลตั้งแต่นั้นมา

การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่

25 เมษายน พ.ศ. 2148 วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี 

จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย

26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’

27 เมษายน พ.ศ. 2523 เครื่องบินแบบ 2 ใบพัด ตกที่ทุ่งรังสิต สุดสลด สิ้นพระเถระผู้ใหญ่ถึง 5 รูป

วันนี้ เมื่อ 43 ปีก่อน เครื่องบินของ บ.เดินอากาศไทย บินจาก จ.อุดรธานี มายังกรุงเทพฯ ตกที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สาเหตุเกิดจากการสูญเสียการควบคุมเนื่องจากพายุฝน ส่งผลให้สูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ถึง 5 รูป 

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2523 เที่ยวบิน TG 231 อุดรธานี-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเครื่องบิน 2 ใบพัด รุ่น HS-748 รหัส HS-THB บินออกจากท่าอากาศยานอุดรธานี จะไปลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายมีลมกระโชกแรง เกินที่นักบินจะควบคุมเครื่องให้ลงจอดได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายเครื่องบินลำดังกล่าวได้เสียการควบคุมและตกลงมากระแทกกับพื้นดินบนท้องนา ทุ่งรังสิต บริเวณหมู่ที่ 4 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้ผู้โดยสารบนเครื่อง จำนวน 53 คน เสียชีวิต 40 คน 

ก่อนเครื่องจะตก ซึ่งเหลือระยะทางอีกเพียงประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ จนเมื่อ เครื่องบินได้ตั้งลำ และลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงสู่สนามบินดอนเมือง กลับต้องมาเจอ 'พายุหมุน' และประกอบกับฝนตกหนัก จึงเสียหลักตกลงที่ท้องนาทุ่งรังสิต ทั้งนี้ ผู้ที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่นั่งทางส่วนหางของเครื่องบิน เพราะส่วนหางของเครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top