Friday, 9 May 2025
BCG

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 

‘BWG-ETC-GULF’ ปิดดีลใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

‘BWG-ETC’ บิ๊กดีลผนึกร่วมลงทุน GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท ประกาศขึ้นแท่นผู้ดำเนินโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์1ของประเทศ

(12 มี.ค. 67) บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG, บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC, และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมลงนามลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ

นายศุภวัฒน์  คุณวรวินิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ร่วมลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ดังนี้

1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด หรือ GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 ซึ่ง GWTE มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งมีศักยภาพทางการเงิน เนื่องจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท

2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ

3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการ ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GULF ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมของ BWG รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของ ETC และบริษัทในเครือถือเป็นการให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่สร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“BWG มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) อย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และ ETC เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง”

ล่าสุดบอร์ดเคาะอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 540,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท (Par) เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BWG-W6) จำนวน 900,199,539 หน่วยเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินที่ได้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับผู้ร่วมทุนอื่นจำนวน 10 โครงการ และ 2 โครงการ จากการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

'ธรรมชาติทรายแก้ว' สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ต่อยอดองค์กรหลากมิติสู่เป้าหมาย Net Zero

เหมืองแร่ธรรมชาติทรายแก้ว บูรณาการร่วมทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ตอกย้ำคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี วิจัยเพื่อใช้ 'ธรรมชาติบำบัด' บริหารจัดการน้ำเสีย ไม่กระทบชุมชน พร้อมวางโครงสร้างแน่นหนา ปลอดภัยต่อพนักงาน และชุมชนโดยรอบ

ไม่นานมานี้ นายวัลลภ การวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทรายแก้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา และสุขภาพให้แก่ชุมชนโดยรอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการประกาศไว้บนเวทีการประชุม COP26 

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเหมืองแร่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นในกระบวนการผลิต จนได้แร่คุณภาพ ได้มีการปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยเพื่อลดการใช้แรงงานคน มีการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เพื่อลดต้นทุนในการผลิต อาทิ ท่อส่งทรายแยกเป็นใยแมงมุมกองตามชนิดของทราย การสร้างกองทรายจำนวนมากสามารถเลือกกองที่ความชื้นน้อยไปขายให้ลูกค้าลดการเคลื่อนย้าย ตลอดจนแยกกองทรายตามชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จุดเด่นที่เป็นการลดการใช้พลังงานคือ มีการแยกแร่เหล็กออกจากทรายเมื่อผ่านการล้างและคัดขนาดเม็ดทรายแล้วถึง 2 ครั้งด้วยการผลิตผ่าน Double Spirals ที่ทำหน้าที่ในการแยกแร่หนักจนได้แร่ทรายแก้วคุณภาพ” นายวัลลภ กล่าว

ด้วยกระบวนการผลิตที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก จึงต้องมีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในกระบวนการผลิตไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ศึกษาและวิจัยก่อนการสร้างเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เพื่อให้แน่ใจว่าจะวางโครงสร้างถูกต้อง มีการบำบัดน้ำที่รัดกุมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่โดยรอบ โดยวางโจทย์ในเรื่อง 'ธรรมชาติบำบัด' ซึ่งหลังจากที่ปล่อยน้ำใช้ออกมาแล้ว ส่วนแรกจะมีบ่อทรายอยู่ข้างล่างช่วยดักตะกอน โดยธรรมชาติแล้วตะกอนจะมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อเกิดการไหลเวียนไปในระยะทางที่ไกลขึ้น ก็จะมีตกตะกอนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราจะมีการคำนวณเรื่องระยะทางการไหลวนมาถึงปลายทางที่น้ำจะใสขึ้นเป็นลำดับจึงเชื่อมด้วยท่อลงสู่บ่อน้ำใสซึ่งพร้อมที่จะนำมาเวียนใช้ในการล้างทรายได้เหมือนเดิม

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงแต่งแร่และเหมืองแร่นั้นได้ร่วมกับพนักงานเพาะพันธุ์กล้าไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อปลูกในพื้นที่ซึ่งนอกจากช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามน่าอยู่แล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยการปลูกต้นทุเรียน และต้นไม้ยืนต้น 

“ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ได้ร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่นโดยรอบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กข้างสำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) สุนทรภู่ หมู่ ที่ 1 ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์ในหมู่ที่ 1 ต.ทางเกวียน อ.แกลง บริเวณถนน 344 บ้านบึง-แกลง ซอย 3 มาบรรจบที่ศาลาบ้านคลองน้ำขาว ระยะทาง 950 เมตร และสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามคลองใช้ หมู่ที่ 1 จากถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง แยกเข้าซอย 3 ไปออกศาลาบ้านหนองน้ำขาว เพื่ออำนวยความสะดวกและเกิดความปลอดภัยในการสัญจรร่วมกันให้ประชาชน”  นายวัลลภ กล่าว

จากความร่วมมือของทุกคน เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารผลักดันนโยบาย ไปสู่พนักงานในการนำระบบการจัดการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติ ควบคุม ติดตามผล และปรับปรุง ทบทวน พัฒนาจนบริษัทฯ ได้รับ รางวัล ElA Monitoring Awards ตั้งแต่ปี 2011 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงการดำเนินการต่าง ๆ ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

'กฟผ.' ผนึกกำลัง 'รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว - Chiyoda - Mitsubishi' พัฒนาโครงการผลิต 'ไฮโดรเจนสีเขียว-แอมโมเนีย' ในไทย

กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท Chiyoda และ บริษัท Mitsubishi ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย เดินหน้าพลังงานสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

(24 เม.ย. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) Chiyoda Corporation (CYD) และ Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. (MCT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) การศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) แบบข้ามเขตแดน เพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาใช้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจของไฮโดรเจน และแอมโมเนียสีเขียวทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department, CYD และ Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President, MCT ร่วมลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทพรัตน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายวงสกุล กรรมการผู้จัดการ EDL เปิดเผยว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาท ด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน

ฟาก Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department (นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน) ผู้แทน CYD กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาดในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต

Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President (นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต

‘BCPG’ เผยผลงานไตรมาส 1/67 ปลื้ม!! กำไรสุทธิแตะ 441 ล้านบาท

(8 พ.ค. 67) บีซีพีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.9 จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว กลับมาดำเนินการเต็มไตรมาส และเริ่มรับรู้รายได้ของคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท 
มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2566 ร้อยละ 13.9 ที่มีกำไรสุทธิ 512 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2566 มีการบันทึกการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 267 ล้านบาท  
ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ  ซึ่งไม่รวมการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน และรายการพิเศษอื่นๆ 343 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 114.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 160 ล้านบาท 

"กำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติในไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว และเริ่มขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากกำลังลมที่พัดผ่านโครงการเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายไฟฟ้าและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ดี

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทฯ ได้บรรลุเงื่อนไขบังคับภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ และจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมในทันที” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ประกอบการและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตรวม 2,049 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มการทำการตลาดกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงให้บริการการจัดการ ด้านพลังงานหรือ energy as a service และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลกมาใช้ ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย

‘PEA’ เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘CARBONFORM’ เครื่องมือช่วยประเมิน-บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

(14 พ.ค. 67) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ‘CARBONFORM’ พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘PEA กับการเดินทางไปสู่แผน PEA Carbon Neutrality และทิศทางของ PEA กับ Net Zero ในอนาคต’ โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภายนอก ผู้บริหาร พนักงาน PEA ร่วมงาน ณ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถ่ายทอดสดผ่านระบบ WebEx 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Net Zero’ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

PEA จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ระบบแสดงผลแบบ REAL-TIME พร้อม Dashboard Infographic 
2. ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)
3. สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร 
4. การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ
5. ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office
6. เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร 
7. คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก. 

‘เวฟ บีซีจี’ ผนึก ‘กรมการข้าว’ ถ่ายทอดการทำนา ‘เปียกสลับแห้ง’ หวังเพิ่มขีดแข่งขันชาวนาไทย - พร้อมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

‘เวฟ บีซีจี’ เอ็มโอยู ‘กรมการข้าว’ ร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว และกรรมวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หวังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดแข่งขันบนเวทีโลก เสริมศักยภาพการส่งออก และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อไม่นานมานี้ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (Wave BCG) และ นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว กรรมวิธีการเพาะปลูก เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผ่านการให้ความรู้ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าว เนื่องจากวิธีการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งทำให้ข้าวดูดซับสารอาหารภายในดินได้ดียิ่งขึ้น และจากการปล่อยให้นาข้าวแห้งจะช่วยลดจำนวนศัตรูพืช จึงส่งผลกับผลผลิตโดยตรง

นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกจากการที่เป็นข้าวคาร์บอนต่ำซึ่งจะสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมมือกันในการสนับสนุนให้แก่เกษตรกรไทยให้เข้าใจและนำวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

ความร่วมมือนี้ยังพิจารณาแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายหรือดำเนินการความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

นายเจมส์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 56 ล้านไร่และมีข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ทั้งยังมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรได้ เมื่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมหายไป นั่นหมายความว่าปริมาณข้าวที่ถูกใช้เพื่อบริโภคและส่งออก และข้าวยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น อาหารแปรรูป อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแป้ง เป็นต้น ด้วยสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมาทำให้บริษัทเวฟ บีซีจี จำกัด ตระหนักว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวจากวิธีการปกติเป็น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังต้องการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้บริษัทเวฟ บีซีจี เป็นบริษัท climate ครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้องค์กรวางแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่ง Carbon Credit ผู้จัดหา Carbon Credit ให้บริษัททั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังลงทุนในนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Tech

ส่วนทางด้านกรมการข้าว เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพผลผลิตข้าวพัฒนาศักยภาพชาวนา และองค์กรชาวนาให้เข้มแข็ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตข้าว และเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าว ผลผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลพลอยได้จากข้าววิจัยและพัฒนารูปแบบบูรณาการด้านการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ข้าว

‘ค้ำคูณ-KHamKoon’ สามล้ออีวี ฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ขับเคลื่อนศก. ควบคู่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

‘สามล้อ’ เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน การพัฒนารถอีวีเข้ามาทดแทนระบบสันดาป ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสามล้ออีวีรูปลักษณ์ทันสมัย สวย เก๋ เท่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ‘KHamKoon’ หรือ ค้ำคูณ

สามล้ออีวี KHamKoon พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า สามล้อ ‘KHamKoon’ ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งสาธารณะในจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังเติบโตรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคต แต่การทำอะไรต้องแตกต่างจากคนอื่น ถ้าทำเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ก้าวหน้า บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญของโครงการนี้คือ คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งเดินทางไปทำงานที่อุดรธานีบ่อยครั้ง และรู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ปรึกษาว่าจะทำอะไรร่วมกับอุตสาหกรรมในอุดรธานีดี ผมเสนอว่าลองทำรถสามล้อดีไหม เนื่องจากคนที่นั่นนิยมใช้รถสามล้อสกายแล็บ แต่ยังติดขัดเรื่องความปลอดภัย ความทันสมัย อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และในมุมของวิศวกรรมก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายจุด ประกอบกับอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นหัวเมืองสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เป็นหนึ่งสถานีที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนเข้าหนองคาย เชื่อมต่อไป สปป.ลาว ถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เมืองต้องปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“ในมุมของคนอุดรธานี มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองด้วยคีย์เวิร์ดคือ ‘เมืองเดินได้’ หมายถึงคนไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่หันมาใช้รถสาธารณะแทน แล้วรถสาธารณะอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดเช่นอุดรธานี นั่นก็คือ micro mobility ผนวกกับเรามีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตรถสกายแล็บในอุดรธานี คุยกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และเห็นว่าการพัฒนารถสามล้ออีวี KHamKoon จะทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ได้เรียนรู้นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เมื่อได้ภาคเอกชนมาร่วม เราก็ดีไซน์สามล้ออีวี ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาแบบ พัฒนาเทคโนโลยี ทำโปรโตไทป์ จากนั้นจึงเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และได้รับการอนุมัติ โดยเอกชนคือวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบรถสามล้อ KHamKoon” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

โครงการรถต้นแบบ ‘สามล้อ KHamKoon’ เริ่มดำเนินการช่วงเดือนกันยายน 2565 สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ  ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับกับเมืองแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่แค่การผลิตรถยนต์สามล้ออีวีออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องการให้รถสามล้อ KHamKoon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานราก ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งการผลิต การท่องเที่ยว การบริการ ขับเคลื่อนจีดีพีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ต้องขอบคุณ บพข. ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการขนส่งแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

ดร.วัลลภ รัตนถาวร นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงการวิจัยและพัฒนาว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับรถต้นแบบ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก. 3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล

“เทคนิคสำคัญการออกแบบสามล้อ KHamKoon มี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งเป็นตามเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นระบบไฟฟ้า 2. ด้านวิศวกรรม ต้องออกแบบตัวรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง น้ำหนักเบา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3. ต้องวิ่งได้ดี มีความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของรถสามล้อ ต้องเลี้ยวในพื้นที่แคบ อาจเกิดการพลิกคว่ำ การสไลด์ หรือรถยกตัวได้ง่าย เราจึงใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มาแก้ปัญหาเชิงโครงสสร้าง จนผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล” ดร.วัลลภ กล่าว

สำหรับโครงสร้างรถ ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบใหม่ โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความทันสมัย แข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’

ส่วนประเด็นด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (อีวี) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้น และใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบรถต้นแบบ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในเบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์  ให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ  พร้อมกับพัฒนาความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนากำลังคนร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถอีวี ภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง เมื่อผ่านการพัฒนาถึงระดับพาณิชย์ สามล้อ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนระยะยาว ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065

'รมว.เอกนัฏ' ส่งเสริมสถานประกอบการยุคใหม่ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

(27 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเกิดฟื้นตัวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสร้างการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจากกฎกติกาสากลและคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น และครอบคลุมในหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ และเป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก

ด้วยความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว จึงได้มอบนโยบาย 'การขับเคลื่อนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส' และเน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่าใช้จ่ายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 

โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นำร่อง 12 จังหวัด อาทิ จังหวัดแพร่, เชียงราย, พะเยา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, เพชรบุรี, หนองบัวลำภู, ลำปาง, นนทบุรี, ยะลา, ภูเก็ต และร้อยเอ็ด เพื่อยกระดับสถานประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 32 ราย และคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกรอบแนวคิด BCG ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 12 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 764 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

‘พาณิชย์’ ลุยเชียงใหม่ สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย ดันส่งออกสินค้า BCG ด้วย FTA

(30 พ.ย. 67) นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ให้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สู่ตลาดการค้าเสรี” (โครงการ BCG) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่ออบรมผู้ประกอบการเรื่องความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยกรมได้นำผู้ประกอบการเดินทางไปจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในตลาดต่างประเทศ และพัฒนาให้เป็นผู้ส่งออกที่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า BCG กระเป๋าจากใบไม้ ดำเนินธุรกิจสีเขียว และนำใบตองตึงที่มีในพื้นที่ มาใช้นวัตกรรมโดยเคลือบยางพารา ผลิตเป็นแผ่นหนังทดแทนหนังสัตว์ อีกทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน และสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) รวมทั้งยังส่งเสริมผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าใน 3 มิติ คือ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เน้นการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ และ 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

นายนันทพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบหารือกับผู้ประกอบการสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักสำเร็จรูป ผักและผลไม้แปรรูป กาแฟ ชาอู่หลง เครื่องดื่มจากเมล็ดโกโก้ ขิงหยอง และกล้วยอบกรอบ 2) ของใช้และของตกแต่งบ้าน อาทิ เครื่องเคลือบศิลาดล และเฟอร์นิเจอร์จากไม้ และ 3) เสื้อผ้าและเครื่องประดับ อาทิ ผ้าทอ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าลินิน ซึ่งเป็นสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่ และมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่มาเข้าร่วมงานทั้งลำพูน ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสร้างจุดเด่นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าสินค้า BCG ในครั้งนี้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก

“กระทรวงพาณิชย์จะพัฒนาผู้ประกอบการ BCG ให้เป็นผู้ส่งออก โดยใช้มิสเตอร์ลีฟโมเดล ผลิตสินค้าที่คำนึงเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเรื่องความคุ้มค่าและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์มุ่งช่วยผู้ประกอบการเรื่องการขยายช่องทางตลาดเพิ่มเติม ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำไว้ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใช้ FTA ฉบับใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ และแคนาดา เป็นต้น” นายนันทพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top