Friday, 9 May 2025
BCG

‘กรมประมง’ เล็งลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หารือ 3 องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังเปิดทางกุ้งไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ-ยุโรป

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 66) นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) กรมประมงได้มีการหารือ กับ Dr. Aaron Mcnevin Global Network Lead จากองค์กร World Wildlife Fund (WWF), ดร.ระวี วิริยธรรม ตัวแทนจาก Seafood Task Force (STF), ผู้แทนจาก Gordon and Betty Moore Foundation และนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง

ทั้งนี้ องค์กร World Wildlife Fund (WWF) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเล เพื่อมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำงานเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และองค์กร Seafood Task Force (STF) เป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลกภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการจับสัตว์น้ำ และป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) 

ส่วนองค์กร Gordon and Betty Moore Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมหารือการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่หมุนเวียนกลับคืนมา ซึ่งกรมประมงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ 

ซึ่งทั้ง 3 องค์กรยินดีให้การสนับสนุนกรมประมงเพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย Gordon and Betty Moore Foundation ยินดีจะช่วยประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดสำหรับการผลิตสินค้าที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) และสร้างการรับรู้ จูงใจให้ผู้ซื้อ นำไปสู่การตัดสินใจนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสดี และทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจ

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน เช่น การใช้หอยสองฝาและสาหร่ายช่วยลดปริมาณคาร์บอนในระบบการเลี้ยงซึ่งจะนำไปสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคตซึ่งในการหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย

‘กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จ.สุพรรณบุรี พร้อมเรียนรู้ ‘ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก-ทำดินปลูกสร้าง BCG model’

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 4 พร้อมด้วย พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ สวนพุทธชาติ ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนางพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี และคณะให้การต้อนรับ 

ในการนี้ คณะเดินทางได้รับฟังบรรยายสรุปและลงพื้นที่เยี่ยมชมฐานเรียนรู้ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ด้วยกระบวนการไพโรไลซิส ฐานเรียนรู้ทำดินปลูกสร้าง BCG model ฐานเรียนรู้ชุมชนเครือข่ายสร้างสวัสดิการชุมชนด้วยขยะจากชุมชนหัวเขา เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

‘MG’ เปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งแรกในอาเซียน ผุดกำลังการผลิต 50,000 ก้อนต่อปี เดินสายพานปี 67

(31 ต.ค.66) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ประกาศเปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี ด้วยกำลังการผลิตกว่า 50,000 ก้อนต่อปี พร้อมเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคอาเซียน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP ในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ หลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำ การเชื่อมโดยเลเซอร์ (Laser Welding) เพื่อให้ได้คุณภาพของการเชื่อมที่ดีการตรวจสอบด้วย CCD (Charge Coupled Device) เพื่อความแม่นยำในการตรวจสอบเทียบกับต้นแบบในทุกขั้นตอนก่อนนำไปใส่ในตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และส่วนการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่ กว่า 60 ขั้นตอน อาทิ การตรวจสอบค่าการเก็บการคายประจุ (Charge & Discharge) การตรวจสอบน้ำรั่วซึมเข้าสู่แบตเตอรี่ (Air Leak test) ทดสอบความเป็นฉนวน (Insulation Test) ทดสอบการควบคุมพลังงาน (Static Test) เป็นต้น 

โดยในสายการผลิตแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 ก้อนต่อปี ซึ่งแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยจะเป็นมาตรฐานเดียวกับสายการผลิตระดับโลก สำหรับแบตเตอรี่ที่ออกจากสายการผลิตนี้จะถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG4 ELECTRIC เป็นรุ่นแรก รวมถึงรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมของสายการผลิตเพื่อเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2567”

'ก.เกษตรฯ' เอาจริง!! 'ชัยนาทโมเดล' แก้แล้ง-ลดท่วม ตามติดความก้าวหน้า 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' กว่า 800 แห่ง 

(2 พ.ย. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาล โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน และดูการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสำหรับการทำหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ณ จ.ชัยนาท เพื่อสนองเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผ่านหลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ซึ่งรวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำตามความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ และ การส่งเสริมการทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกหญ้าอาหารสัตว์

จังหวัดชัยนาท ได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการใน 6 ด้าน ดังนี้ 

1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี 
2. ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส 
3. บริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 
4. ระบบตลาดนำการผลิต 
5. ขยายสาขาและเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 
6. การบริหารจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำ

ในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของการผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ องค์ความรู้ที่จะได้จาก ‘ชัยนาทโมเดล’ นี้ จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการนำร่องไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริงในจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งจะยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ‘ไม่ท่วมไม่แล้ง’ อีกด้วย

‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ เป็นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ออกแบบมาช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากให้หลายประเทศทั่วโลก สำหรับจังหวัดชัยนาทนั้น จะมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินรวมทั้งสิ้น 834 แห่ง

“การทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้ง” นายอนุชากล่าว

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

‘EA’ จัดโชว์นวัตกรรมฝีมือคนไทย ในงาน 4th iTIC FORUM 2023 ชู ‘รถโดยสารไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า’ หนุนการขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำพลังงานสะอาด หนุนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมจัดแสดงผลงานและให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่การเดินทางสาธารณะด้วยไทยสมายล์บัส และ ไทยสมายล์โบ้ท ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม ด้วยฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ แบบ ‘EV Smart Building ภายใต้แนวคิด EA’s Electric Public Transportation: Solutions for Smart Cities’ ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Connectivity and Smart Mobility) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะในประเทศไทย พร้อมระดมพลังความร่วมมือและขับเคลื่อนข้อมูลในการแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ ภายใต้แนวคิด ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ‘The Potential of Thai Private Sector in Driving Smart Logistics’ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมระบบขนส่งของไทยให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ด้วยยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขนส่งไทยไร้มลภาวะ 

นอกจากนี้ EA ร่วมกับ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ต้อนรับคณะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เปิดประสบการณ์ (Technical Tour) การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปกับบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus และ เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยปัจจุบัน รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus ให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน ในพื้นที่ 123 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่ให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ ท่าเรือสาทร - ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า มีเรือไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ลำ สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย โดยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมวิววัดวาอารามและฟังบรรยายที่มาของรถ-เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษครบวงจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

‘พีระพันธุ์’ เข้าร่วมประชุม-แสดงวิสัยทัศน์ ตามคำเชิญจีนที่ยูนนาน กร้าว!! จุดยืนไทย มุ่งมั่นพลังงานสะอาด สอดรับทิศทาง BRI

‘พีระพันธุ์’ นำผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ตามคำเชิญของจีน ย้ำความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของประเทศสมาชิกและของโลก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค, พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร สส.นครปฐม, นายพงษ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค และ นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เหรัญญิกพรรค เข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) โดยมี นายหลิว เจี้ยนชาว รมว.วิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ นายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และผู้แทนจากพรรคการเมืองหลายประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน

นายพีระพันธุ์ ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้มาร่วมประชุมพร้อมกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคและคณะผู้บริหารพรรค และให้โอกาสตนกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมร่วมของพรรคการเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในหัวข้อเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (One belt one road initiative – BRI)

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการดำเนินการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาตั้งแต่สมัยที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในความเป็นจริงคือการเชื่อมโลกเชื่อมประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาความเจริญของแต่ละประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีประเทศจีนเป็นแกนกลาง

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศจีนก็เป็นผู้นำในด้านนี้มาก่อนตามที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เส้นทางสายไหม’ แต่ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในครั้งนี้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเส้นทางสายไหมในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเชื่อมประเทศ เข้าต่างๆ ด้วยกันกว่า 100 ประเทศ ทั้งประเทศในทวีปเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกาโดยเฉพาะ เมื่อมีการนำเอาเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางด้วย ยิ่งทำให้ข้อริเริ่มนี้มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อโลกมากยิ่งขึ้น 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงใจและเป็นมิตรของจีนจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกโครงการของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในทุกประเทศสมาชิก ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกโครงการได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนรับผิดชอบดูแลภารกิจด้านพลังงานของประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็ว 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและประเทศสมาชิก จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของโลกไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ผมในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้โอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ พร้อมคณะได้เดินทางไป ศึกษาดูงานด้านพลังงานที่ Yunnan Energy Investment ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ถือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commission of Yunnan Provincial People's Government) ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมหารือทวิภาคีก่อนการประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ร่วมกับนายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนาน ประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรค คอมมิวนิสต์จีน ประจำสภาประชาชนมณฑลยูนนาน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top