Friday, 9 May 2025
BCG

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! 'กกพ.' ขานรับนโยบาย 'BCG Model' หนุนใช้พลังงานสะอาด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(15 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขานรับแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยจะพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และเป็นที่น่าชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงานในประเทศ ที่รับเอาแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดย กกพ. มีแนวทางที่จะสร้างกลไกเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติ ที่อาจปรับปรุงโครงสร้างรองรับการแข่งขัน พร้อมกับรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียว

โดยระยะเร่งด่วน กกพ. ให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น พลังน้ำ พลังงานหมุนเวียน และในส่วนระยะยาว จะให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้พลังงานสีเขียว ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่น ๆ หนึ่งในกลไกสำคัญได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (REC) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้า เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า

'รัฐบาล' ปลื้ม!! โมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปไกล หลังวงประชุม UNCTAD หนุนนักธุรกิจ-นักวิจัยผู้หญิง

(5 เม.ย.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ ว่า ผู้แทนรัฐบาลไทย โดย น.ส.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สกสว. ได้เข้าร่วมการประชุม Commission on Science and Technology for Development (CSTD) ครั้งที่ 26 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค.ที่ผ่านมา  

โดยร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวให้กับนักธุรกิจและนักวิจัยหญิง จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 15 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ ผ่านโครงการ STI Capacity Building Programs on Female Researchers and Entrepreneurs to promote Bio – Circular – Green Economic (BCG) MODEL 

เปิด 3 เหตุผลดัน ‘อีสาน’ ศูนย์กลาง BCG อาเซียน ทรัพยากรสมบูรณ์-พร้อมต่อยอดการวิจัย-เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

(19 มิ.ย. 66) นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน ‘ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค’ จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร

โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.) ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.) มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก 

3.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี 

จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน 

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” 

โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

กรมโรงงานฯจับมือ UNIDO จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ

เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน มุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี

พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
  
นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลอง ธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง” 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม

โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป  

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี

โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล,  กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม

“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

รู้จัก 'ไบโอพลาสติก' พลาสติกรักษ์โลก หลัง 'บีโอไอ' อวด!! ไทยขึ้นแท่นฮับแห่งการผลิตอันดับ 2

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของบีโอไอ ภายใต้แนวคิด BCG ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนโดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอที่สามารถป้อนให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้ โดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง ประกอบกับความพร้อมด้านบุคลากรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก 

โดยในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นที่ต้องการในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และยานยนต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งยังสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

ปัจจุบัน บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ระดับโลกหลายรายแล้ว อาทิ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด และบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ จำกัด ผู้ผลิตพอลิเมอร์ ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ชนิดโพลีแลคติด แอซิค (Polylactic Acid: PLA) บริษัท พีทีที

เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate) บริษัท ดูปองท์ นิวทริชั่น จำกัด ผู้ผลิตไมโครคริสตัลไลน์เซลลูโลสสำหรับผลิตฟิล์มเคลือบอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (Food Grade) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Alpla ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป และล่าสุด บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมทุนกับ Braskem ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก จัดตั้งโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกไบโอ-พอลิเอทิลีน (Green-Polyethylene) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท และจากนี้ไปบีโอไอจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านซัพพลายเชนของพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อสร้างมูลค่าต่อยอดวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

รวมถึงจะเดินหน้าเชิญชวนบริษัทรายใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมากขึ้น โดยจะใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งวัตถุดิบและบุคลากรที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ และตอบโจทย์ทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

'นายกฯ เศรษฐา' ประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน SDGs ที่สหรัฐฯ ชู!! 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-เศรษฐกิจ BCG' ให้สมาชิกยูเอ็นประจักษ์

(20 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023)

ทั้งนี้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่านายกฯ รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกฯ ที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมาถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปั้นผู้ประกอบการชุมชนผลิตสินค้า ตาม BCG Model ภายใต้โครงการ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด

(21 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการจัดทำโครงการ DBD SMART Local BCG ปี 2566 ว่า กรมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชน ที่มีความหลากหลายทั้งทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ผสมผสานแนวคิด BCG Economy Model และให้นำไปพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน

ให้มีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้เข้าไปช่วยสร้างความรู้เรื่องผ่านบทเรียนออนไลน์ในหลักสูตร BCG ธุรกิจสร้างรายได้ รักชุมชน รักษ์โลกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จำนวน 139 ราย และได้มีการพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบ ก่อนที่จะช่วยเหลือเพิ่มโอกาสในการตลาดต่อไป

โดยผลการดำเนินงาน ได้เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเชิงลึกทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online สามารถสร้างชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด จำนวน 88 ราย ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์

ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก และ 4.สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็นธุรกิจ Bio Economy จำนวน 22 ราย ธุรกิจ Circular Economy จำนวน 29 ราย และธุรกิจ Green Economy จำนวน 37 ราย

ส่วนการนำผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 56 ราย กับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อชั้นนำ 16 หน่วยงาน จำนวน 198 คู่ เกิดมูลค่าการค้า 30,629,500 บาท

นอกจากนี้ ได้นำผู้ประกอบการตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพฯ จำนวน 28 ราย เข้าร่วมออกบูธในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ช่วงเดือนก.ค. เกิดการซื้อขายภายในงาน 1,484,152 บาท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ พระพิฆเนศจากนิล ภาชนะจากเศษไม้สัก บ้านแมวจากผักตบชวา ชุดเดรส และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 กรมจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน DBD SMART Local BCG อย่างยั่งยืนในกลุ่มตลาดใหม่ เช่น โรงแรม บริษัท องค์กร สถาบัน เพื่อเข้าสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจแบบ B2B มากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ DBD SMART Local BCG เป็นโครงการที่กรมได้เข้าไปคัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต้องเป็นของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น และตรงตามหลัก S-M-A-R-T คือ

ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive), สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust) 

‘อนุทิน’ ชู!! ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ปั้นอุตฯ ไร้มลพิษ ปูทางเมือง ศก.เทียบชั้น ‘บุรีรัมย์’

‘มท.1’ ประชุมหารือร่วมสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย-ผู้ว่าฯ สระบุรี ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ ย้ำ!! สิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญระดับชาติ พร้อมสนับสนุนสระบุรีเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

(19 ต.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประชุมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ 

นายอนุทิน เผยว่า “ทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนให้ความสำคัญ และตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่” 

นายอนุทิน กล่าวอีกด้วยว่า การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ จะทำให้จังหวัดสระบุรี มีการพัฒนา และยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) จนกลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย และภูมิภาคแห่งนี้

“การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยแนวคิด ‘ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที’” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญคือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐาน และคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 

ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

'ประดิษฐ์-ส.จักรยานไทย' เนรมิต 'เหมืองทองคำอัครา' สู่พิกัดท่องเที่ยวเชิงกีฬา ขึ้นแท่นสนามแข่งเสือภูเขาระดับนานาชาติ พ่วงศูนย์ฝึกนักปั่นทีมชาติไทย

(26 ต.ค. 66) ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คมนาคม, อดีต รมช.คลัง และ สส.พิจิตร 4 สมัย เนรมิต ‘เหมืองทองอัครา’ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เป็นสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติ สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติยิ่งใหญ่ระดับโลกครบวงจรทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิเนเตอร์ ซึ่งจะมีการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา โดยจะประเดิมใช้จัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ สนามที่ 5 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.67 เป็นรายการแรก

‘เสธ.หมึก’ พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับจังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินหน้าในการส่งเสริมให้จังหวัดพิจิตร เป็นเมืองศูนย์กลางกีฬาจักรยานเต็มตัว มีสนามแข่งขันมาตรฐานครบวงจรทั้งในประเภทถนน บีเอ็มเอ็กซ์ และเสือภูเขา หลังจากความร่วมมือแรกในการดำเนินการสร้างเส้นทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ในโครงการพระราชดำริอุทยานระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงสีไฟ ที่จะประเดิมเปิดสนามอย่างเป็นทางการในการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาทางเรียบ และประเภทถนน ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2566

พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ทาง อบจ.พิจิตร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิง ให้ได้มาตรฐานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ในพื้นที่บึงสีไฟ โดยทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้ส่งทีมงานไปสำรวจพื้นที่มาเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับวางแปลนการก่อสร้างโดย มร.ฮาวีย์ เครป ผู้เชี่ยวชาญด้านบีเอ็มเอ็กซ์ของยูซีไอ และผู้ฝึกสอนบีเอ็มเอ็กซ์ทีมชาติไทย ขณะที่ประเภทเสือภูเขา ล่าสุด นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร มีโครงการจัดสร้างสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติที่สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก โดยใช้พื้นที่ฟื้นฟูภายในเหมืองทองอัครา อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยทีมงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในเหมืองทองอัครา พบว่าพื้นที่ฟื้นฟูซึ่งไม่ได้ใช้งานเหมืองแล้ว มีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ที่มีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการกีฬา เนื่องจากมีทัศนียภาพสวยงาม มีบ่อน้ำรูปหัวใจที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรสำหรับชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อำเภอทับคล้อ

พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น ได้รับรายงานจากฝ่ายเทคนิคว่าสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันครอสคันทรี่ในระดับนานาชาติ ตามมาตรฐานของยูซีไอ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพื้นที่ภูเขาที่มีความสูงเพียงพอในการจัดสร้างสนามแข่งขันดาวน์ฮิลที่มีความท้าทายทั้งในเรื่องระยะทางและเทคนิค ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการทั้งครอสคันทรี่และดาวน์ฮิลหาได้ยากมาก นอกจากนี้ก็จะทำสนามแข่งขันเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ เพื่อรองรับสำหรับการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ในเรื่องการดำเนินการจัดสร้าง ท่านประดิษฐ์ยืนยันว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ทั้งในเรื่องการจัดหาเครื่องจักรที่จำเป็น ตลอดจนกำลังคนในการดำเนินการ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือจากบริษัท อัครา รีซอสเซส ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองเมื่อแล้วเสร็จ ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อพื้นที่ในทุก ๆ ด้าน เท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของการฟื้นฟูพื้นที่” พลเอกเดชา กล่าว

ทั้งนี้ พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า ในขั้นตอนถัดไป สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะส่งทีมงานฝ่ายเทคนิคจักรยานเสือภูเขา เข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด จากนั้นก็จะวางแผนการดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิมิเนเตอร์ เพื่อให้แล้วเสร็จทันการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2567 ที่จังหวัดพิจิตร จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนามที่ 5 ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top