Friday, 23 May 2025
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

กวาดล้างให้สิ้นซาก คนไทยขายชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดำเนินคดีข้อหาหนักคนไทย 100 คน

เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.68) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศปอส.ตร./ผอ.ศตคม.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. , พล.ต.ต.หญิง สุเจตนา โสตถิพันธุ์ ผบก.ศพฐ.1 , พล.ต.ต.ฉัตรชัย นันทมงคล ผบก.ศพฐ.2 , พ.ต.อ.วราวุฒิ เจริญชล รอง ผบก.สส. ภาค 2 และพ.ต.อ.ชัยรัตน์ วรุณโณ รอง ผบก.สอท.2 แถลงผลคดีสำคัญในกรณีที่คนไทยถูกจับกุมโดยตำรวจกัมพูชาในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีที่ประเทศกัมพูชาแล้วส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568  จำนวนทั้งสิ้น 119 คน ตามความต้องการของไทยที่ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ได้ไปหารือกับทางตำรวจกัมพูชา ในการร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขอทางประเทศกัมพูชาส่งตัวคนไทยให้มาลงโทษตามกฎหมายไทย

ในการจับกุมคนไทยโดยทางการกัมพูชาในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และนายกรัฐมนตรีฮุน มาแณต ของประเทศกัมพูชา ในการร่วมมือกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราบปรามคนไทยที่ไปตั้งฐานร่วมกับชาวต่างชาติ กลุ่มทุนจีนสีเทา ในเขตประเทศกัมพูชาแล้วมาหลอกลวงคนไทย สร้างความเสียหายกับประเทศไทยและประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก

คนไทยจำนวน 119 คนได้ถูกทางการกัมพูชาจับกุมในเมืองปอยเปต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทางการกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์และมีการออกข่าวหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ ยืนยันว่าทุกคนสมัครใจที่จะเข้าร่วมกระทำความผิด ไม่มีถูกบังคับ เมื่อทั้งหมดถูกส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ตามกฎหมาย ทั้งหมดได้ถูกนำเข้ากระบวนการคัดกรองคัดแยกเหยื่อโดยสหวิชาชีพที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีเช่นนี้ทางการกัมพูชาได้ส่งตัวคนไทยที่กระทำผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาประเทศไทยหลายครั้ง แต่ทางกระบวนการคัดแยกคัดกรองเหยื่อไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านี้ได้กระทำผิดเหล่านั้นจริง เนื่องจากพยานหลักฐานต่างๆ อยู่ในประเทศกัมพูชา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับไปร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาหลอกคนไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมทั้งทำให้มีคนไทยขายชาติอีกจำนวนมากได้เดินทางข้ามไปยังประเทศกัมพูชาร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นชาวต่างชาติ กลุ่มจีนเทา มาหลอกลวงคนไทยในวงกว้าง เพราะเมื่อไปทำความผิดแล้ว สามารถจะใช้ช่องทางการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์กลับมาประเทศไทยได้โดยอิสระไม่ต้องถูกดำเนินคดี ในการแก้ไขปัญหานี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้อนุมัติให้กำลังพลมากกว่าร้อยนายที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , ตำรวจภูธรภาค 2 และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เข้ามาร่วมในการสืบสวนขยายผลพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีคนไทยทั้ง 119 คน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ 

การคัดแยกเหยื่อโดยสหวิชาชีพและการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ใน 119 คน มีคนที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวน 100 คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน จำนวน 4 คน อยู่ระหว่างการดำเนินการของสหวิชาชีพ และอีก 15 คนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป ซึ่งศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับจำนวน 102 คน โดยเป็นคนไทย 100 คน และขยายผลไปยังหัวหน้าแก๊งชาวจีนอีก 2 คน ในข้อหา "ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันเป็น อั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือ ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามคำร้องขอของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 3  มีนาคม 2568 

จากการสัมภาษณ์และคัดแยกกลุ่มตามสถานที่ที่บุคคลเหล่านี้ไปทำงานในประเทศกัมพูชา พบว่าคนไทยที่ทำงานที่ตึกภูมิตาสวน สามารถออกหมายจับคนไทย 100 ราย และบอสชาวจีน 2 ราย ในการหลอกลงทุนเทรดหุ้น โรแมนซ์สแกม เว็บพนันออนไลน์ การหลอกเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและกรมที่ดิน ส่วนอาคาร K2 พบคนไทยจำนวน 15 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีฮุน มาแณต ของกัมพูชา ที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถดำเนินคดีในข้อหาหนักกับคนไทยที่ไปร่วมกับชาวต่างชาติตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกคนไทยในประเทศกัมพูชา ที่มีโทษสูงสุดถึง 15 ปี จากนี้ไป จะไม่มีพวกกลุ่มคนไทยขายชาติใช้ช่องทางการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อหลบหนีการกระทำความผิดอีกต่อไป และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเอาตัวคนไทยขายชาติเหล่านี้มาลงโทษในประเทศไทยในข้อหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดอื่นทุกข้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาดและถึงที่สุดทุกคน 

ต่อจากนี้ ถ้ามีโทรศัพท์ หรือข้อความจากกลุ่มคนไทยขายชาติพยายามมาหลอกลวงท่านใด ให้ช่วยบอกคนไทยขายชาติเหล่านั้นระวังตัวให้ดี ตำรวจจะไปเอาตัวมาลงโทษอย่างสาสมเหมือนอย่างเช่นคดีคนไทย 119 คนนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการยุทธการระเบิดสะพานโจรอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการทำลาย 3 เสาหลักของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ สัญญาณโทรศัพท์เน็ต บัญชีธนาคาร คนที่กระทำความผิด และคนไทยขายชาติ 

วันนี้เสาที่ 3 ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทยขายชาติได้ถูกตัดขาดโดยการดำเนินคดีข้อหาหนัก ในข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดที่เกี่ยวข้อง การทำลาย 3 เสาหลัก ทั้ง 3 เสานี้จะทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง จนกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหมดไปจากประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จับขบวนการจัดหาบัญชีม้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์

บัญชีม้าถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะใช้บัญชีม้าสำหรับรับโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวง บัญชีม้าจะมีอายุไม่เกิน 5 วันจะถูกอายัด แก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงต้องจัดหาบัญชีม้าใหม่เข้ามาอยู่ในความควบคุมเพื่อสแกนหน้ารับโอนและโอนเงินต่อไปยังเงินคริปโตเคอเรนซี่

สืบสวนภาค 2 ได้สืบทราบขบวนการจัดหาบัญชีม้าผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จึงได้ให้สายลับติดต่อรับจ้างเปิดบัญชีโดยจะได้รับค่าตอบแทนบัญชีละ 4,000 บาท ต่อมาเมื่อ 19 มีนาคม 2568 เมื่อสายลับตอบตกลงได้มีหนึ่งในขบวนการโทรศัพท์ติดต่อสายลับและขับรถมารับที่ย่าน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตามที่นัดหมาย โดยผู้ขับรถได้รับหญิงบัญชีม้าอีกคนหนึ่งมาด้วยแล้วพาตระเวนเปิดบัญชีม้าตามธนาคารต่าง ๆ คนละ 4 บัญชี จากนั้นได้พาเดินทางไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อส่งบัญชีม้าให้กับคนท้องถิ่นพาข้ามแดนไปยังเมืองปอยเปต กัมพูชา เพื่อสแกนหน้าให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามรถคันนี้มาตลอด จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น.รถได้จอดที่บริเวณศูนย์การค้าอินโดจีน เพื่อรอคนท้องถิ่นมารับพาข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวตรวจสอบและจับกุม พบนายเดชฯขอสงวนนามสกุลเป็นผู้ขับรถ พบสายลับและบัญชีม้าชื่อน.ส.พัชรีฯขอสงวนนามสกุล รวมบัญชีม้า 2 คน อยู่ในรถ พบในตัวน.ส.พัชรีฯมีบัญชีธนาคารออมสิน 2 บัญชี กรุงไทย และกสิกรไทย รวม 4 บัญชี เปิดบัญชีเมื่อ 19 มีนาคม 2568 เพื่อนำไปใช้ในขบวนการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ สอบถามให้การยอมรับว่ารับจ้างเปิดบัญชีเหล่านี้ให้ผู้อื่นโดยได้รับค่าตอบแทน โดยนายเดชฯเป็นผู้นำพาไปเปิดและจ่ายเงินค่าเปิดบัญชีให้ จึงจับกุมนายเดชฯในข้อหาเป็นธุระจัดหาบัญชีม้า จับกุมน.ส.พัชรีฯในข้อหาเปิดบัญชีม้าให้ผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

ขอประชาสัมพันธ์ว่าบัญชีม้าถือเป็นส่วนหนึ่งในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการจัดหาบัญชีม้ามีความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาฯมีอัตราโทษสูงถึง 5 ปี ปรับ 500,000 บาท ผู้เปิดบัญชีม้ามีอัตราโทษ 3 ปี ปรับ 300,000 บาท ซึ่งที่ผ่านศาลลงโทษจำคุกเกือบทุกราย ขอให้ประชาชนอย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งการจัดหาบัญชีม้า เป็นผู้เปิดบัญชีม้า หรือนำพาบัญชีม้าข้ามแดน  นอกจากนั้นหากบัญชีม้ามีเงินจากการฉ้อโกงหลอกลวงโอนเข้าบัญชีจะมีความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชนอีกส่วนหนึ่งด้วย

'พล.ต.อ.ธัชชัยฯ' จับมือ UNODC อัปเดตสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงในภูมิภาคอาเซียน พร้อมหารือวิธีการแก้ไขปัญหา

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.68) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) และหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 19.00 น. ได้รับเชิญไปอภิปรายในงาน Expert Panel on Scam Centers and Cybercrime in the Mekong Region ซึ่งจัดโดย UNODC โดยมีผู้แทนจากสถานทูต ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง ณ Foreign Correspondents Club สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย อาคารมณียา ถ.เพลินจิต แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มักใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ โดยกลยุทธ์หลักที่ประเทศไทยนำมาใช้  มุ่งเน้นไปที่การทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรมของแก๊งเหล่านี้คือ “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 
1. ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ (ซิม สาย เสา) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารและดำเนินการหลอกลวงผู้เสียหาย 
2. บัญชีธนาคารและบัญชีสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) ที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการรับโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงและดำเนินการฟอกเงิน 
3. กลุ่มมิจฉาชีพ (สแกมเมอร์) ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการหลอกลวงผู้เสียหายโดยตรง การตัดทำลายรากฐานเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อศักยภาพในการก่ออาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้การดำเนินการหลอกลวงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศ เนื่องจากลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นองค์กรข้ามชาติ การทลายเครือข่ายและการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในประเทศที่แก๊งเหล่านี้ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่

ในปีนี้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการร่วมมือและให้ความช่วยเหลือ ในกระบวนการส่งกลับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการส่งกลับชาวต่างชาติแล้ว 7,177 ราย จาก 33 ประเทศ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางให้ทำการสัมภาษณ์และส่งมอบข้อมูล รวมถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลในการปราบปรามและดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศจีน , ญี่ปุ่น และกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญในการจับกุมกลุ่มขบวนการ ทั้งในระดับหัวหน้าและสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นจำนวนมาก และเชื่อมั่นว่าการประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างยั่งยืน

ด้าน นายเบเนดิกต์ ฮอฟแมนน์ ผู้แทนภูมิภาค UNODC เปิดเผยว่า UNODC ได้ติดตามและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตการปฏิบัติงานอย่างมาก ไม่เพียงแต่ขยายวงกว้างการหลอกลวงไปยังผู้เสียหายในหลากหลายภูมิภาคนอกเหนือทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและจิตใจมากขึ้น และขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปยังหลายประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือองค์กรเหล่านี้ยังแตกแขนงไปก่ออาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตและค้ายาเสพติดให้กับเครือข่ายอาชญากรรมในภูมิภาคอื่นๆ

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีน , ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีกลุ่มอาชญากรชาวจีนซึ่งเดิมตั้งฐานอยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง UNODC ประเมินว่าปัจจุบันมีผู้ถูกหลอกลวงให้เข้าไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 56 ประเทศทั่วโลก โดยมีแนวโน้มการขยายเป้าหมายไปยังประเทศที่ประชากรมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ดี และในระยะหลังเริ่มปรากฏแนวโน้มการรับสมัครสแกมเมอร์ที่จากประเทศเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรที่รายได้สูง

สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ นายฮอฟมันน์ฯ ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ที่สมัครใจ ที่จะเข้าไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ซับซ้อน นอกจากนี้ องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ยังเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการหลอกลวงในรูปแบบที่ซับซ้อนและแนบเนียนยิ่งขึ้น เช่น การสร้างภาพและเสียงปลอมแปลง (Deepfake) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้อย่างน่ากังวล

ผู้แทนภูมิภาค UNODC กล่าวว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีความซับซ้อนและมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการปราบปรามและดำเนินคดี อีกทั้งความพยายามในการกวาดล้างของรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในแต่ละประเทศ ยังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการกระทำความผิด การฟอกเงิน และการสรรหาแสกมเมอร์ ซึ่งอาจทำให้การปราบปรามยากลำบากยิ่งขึ้น

ด้าน นายจอห์น วอยชิค นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคของ UNODC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอาชญากรรม กล่าวถึงการปรากฏตัวของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงินโดยเฉพาะ ซึ่งเปรียบเสมือน "สถาบันการเงินเถื่อน" ที่ให้บริการทางการเงินแก่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังภาคส่วนอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ายาเสพติด, กลุ่มแฮกเกอร์, กลุ่มค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก และกลุ่มการค้ามนุษย์ ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายอาชญากรรมที่เชื่อมโยงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

นายวอยชิค ยังได้กล่าวถึงกรณีของ HuiOne Guarantee ซึ่งเป็นตลาดมืดออนไลน์ที่ซื้อขายสินค้าและบริการผิดกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรสำหรับการจัดตั้งและบริหารแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขายข้อมูลส่วนบุคคล, ซอฟต์แวร์ และระบบที่ใช้ในการหลอกลวง นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการถูกอายัดทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ยังมีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเองชื่อ HuiOne Blockchain และ USDH เพื่อใช้เป็นช่องทางในการชำระเงินภายในแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะการฟอกเงินในรูปแบบบริการ (Laundering as a Service) และอาชญากรรมในรูปแบบบริการ (Crime as a Service) นั้น เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เหล่าอาชญากรสามารถกระทำความผิดได้ง่ายขึ้น ในวงกว้างมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ นายฮอฟแมนน์ กล่าวเสริมย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในแง่ของเงินทุน, โอกาสในการทำงานที่ล่อลวง, การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการก่ออาชญากรรม และการพัฒนาระบบเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นสิ่งที่ภูมิภาคอาเซียนไม่เคยเผชิญมาก่อน รัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถติดตามและจัดการกับอาชญากรเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที และปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามที่ซับซ้อนและขยายวงกว้างนี้

ด้าน นางสาวเจนนิเฟอร์ โซห์ หัวหน้าฝ่ายการสืบสวนคดีอาชญากรรมไซเบอร์ บริษัท Group-IB ซึ่งประกอบธุรกิจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยถึงกลโกง ภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบใหม่: "Android Malware Scam" ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่น่าจับตามอง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยกลโกงดังกล่าวเริ่มต้นจากการหลอกลวงให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมลงบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้อาจเลียนแบบแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ผู้เสียหายคุ้นเคย เมื่อผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว อาชญากรไซเบอร์จะสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือจากระยะไกล และทำการดูดข้อมูลสำคัญที่อยู่ในเครื่องของผู้เสียหายได้ สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ ภายในแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้ อาจมีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งภาพวิดีโอใบหน้าของตนเอง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ซึ่งอาชญากรไซเบอร์จะนำภาพวิดีโอดังกล่าวไปใช้ในการ bypass ระบบสแกนใบหน้า (facial recognition) ของแอปพลิเคชันธนาคาร

ทางด้าน Group-IB พบว่า อาชญากรไซเบอร์ใช้วิธีการ Camera Injection Tool ในการนำภาพวิดีโอใบหน้าที่ถ่ายไว้ล่วงหน้าของเจ้าของบัญชีธนาคาร อัปโหลดเข้าสู่ระบบการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าของธนาคาร ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย และทำการโจรกรรมเงินได้อย่างง่ายดาย ภัยคุกคามนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาชญากรไซเบอร์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อโจมตีระบบความปลอดภัยทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือโดยตรง ผู้ใช้งานจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น

จเรตำรวจแห่งชาติขับเคลื่อนงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการปราบปรามการค้ามนุษย์ เดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กำชับตำรวจทุกหน่วยให้ความสำคัญในการปฏิบัติ

(8 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศปอส.ตร.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ โดยมี ดร.รีเบ็คก้า มิลเลอร์ ผู้ประสานงานภูมิภาคของ UNODC , พล.ต.ต.สุรชัย สังขพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ผู้แทนหน่วยงานตำรวจที่เกี่ยวข้อง , ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงแรงงาน , กองบัญชาการกองทัพไทย , สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน , สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม , ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การประชุมในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ ของหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งมี พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฯ โดยการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนี้ขึ้นมาเพื่อความสะดวกและมีประสิทธิภาพในการประสานงานไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ , การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ , การสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ , การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ภายหลังจากการช่วยเหลือออกมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การส่งเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในการป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ และการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน (SOP) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการประสานงานระหว่างประเทศ 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลคือปัจจัยของความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดี อาทิ สถานที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , ชาวต่างชาติต้องสงสัยที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การคัดกรองเหยื่อ/ผู้ประสงค์ไปทำงาน ซึ่งในส่วนของ UNODC จะให้การสนับสนุนการทำงานในด้านการช่วยกำหนดทิศทางการทำงานของหน่วยเฉพาะกิจฯ แพลตฟอร์มการประสานงานกับหน่วยงานนานาประเทศ และการฝึกอบรมในการคัดกรองและคัดแยกผู้เสียหายกับผู้กระทำผิด 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา พูดได้ว่าหากเราไม่สามารถล้มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนได้ การแก้ปัญหาดังกล่าวยากที่จะหมดไป ในส่วนของประเทศไทยพบว่ากลุ่มแก๊งดังกล่าวมักใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการเดินทางไปทำงาน เนื่องจากเดินทางสะดวก ประกอบกับพบว่ามีคนไทยบางคนเกี่ยวข้องทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสมัครใจเดินทางไปทำงาน หรือการให้บริการรถเช่า ที่พัก เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำรวจจะต้องสืบสวนจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมกำชับและขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบเข้มงวดเรื่องนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังชายแดนในทุกวิธีการ เพื่อเป็นการบล็อค ไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยต้องร่วมกันขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ

จากนั้น เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามผลการปฏิบัติงานศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศตคม.ตร.) โดยมี พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ทรงกลด เกริกกฤตยา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และผู้แทนหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. อาคาร 1 ชั้้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านระบบทางไกลอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผลการปฏิบัติการปราบปรามการค้ามนุษย์ ของ ศคตม.ตร. ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2568  แบ่งเป็น การจับกุมความผิดเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 72 คดี , การจับกุมของชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) ดำเนินคดีรวม 24 คดี ช่วยเหลือเหยื่อ 22 ราย และผลการปฏิบัติของชุดปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคประมง ตรวจแรงงาน การจับกุมเรือประมงผิดกฎหมาย และการจับกุมคดีค้ามนุษย์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568 มีการตรวจเรือประมง 1,263 ลำ จับกุมตาม พ.ร.ก.ประมงฯ 22 คดี ผู้ต้องหา 23 คน

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เป้าหมายยกระดับสู่ Tier 1 ในการจัดระดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) อย่างเข้มงวด กำชับอย่าให้มีการใช้กระบวนการ NRM ฟอกขาว อ้างตัวเป็นเหยื่อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมดำเนินคดี และได้สั่่งการแนวทางและมาตรการในการขับเคลื่อน ศคตม.ตร. ในห้วงถัดไป ย้ำว่าหัวใจอยู่ที่การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะมาตรการ 7 ขั้นตอน ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด

จเรตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 กำชับการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมหารือกับทัพเรือภาคที่ 2 ในความร่วมมือปราบปรามการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และน้ำมันเถื่อน

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศปอส.ตร./ผอ.ศตคม./ผอ.ศปนม.) ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พ.ต.อ.พัลลภ สุภิญโญ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 2 และ พ.ต.อ.กิตติพงศ์ วิเศษสงวน รองผู้บังคับการกองการสอบ 

โดยวานนี้ (15 พฤษภาคม 2568) เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.ธัชชัยฯ ได้ประชุมสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อสั่งการและกำชับการปฏิบัติในงานจเรตำรวจ , ศปอส. , ศตคม. และ ศปนม. ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 , ผู้บังคับการในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 , ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 , ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา โดยได้กำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทาง 15 นโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกระดับ ทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สอบถามและตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม

จากนั้นเวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัยฯ และคณะ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับฝ่ายทหาร โดยมี พล.ร.ท.นเรศ วงศ์ตระกูล (รน.) ผบ.ทรภ.2/ผอ.ศรชล.ภาค 2 , พล.ร.ต.ปรีชา รัตนสำเนียง รอง ผบ.ทรภ.2 , พล.ร.ต.โชคชัย เรืองแจ่ม ผบ.ฐท.สข.ทรภ.2 , พล.ร.ต.อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล รอง ผอ.ศรชล.ภาค 2 , พล.ร.ต.มรุเดช บุญนิตย์ ผอ.สน.ฝอ.ศรชล.ภาค 2 , พล.ร.ต.ปนิธาน สิทธิโยธาคาร รองเจ้ากรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 เพื่อหารือใน 3 ประเด็น ได้แก่

1. กรณีการค้ามนุษย์ : ประเทศไทยอยู่ในระดับ tier 2 ถ้ามีการโดนลดระดับจะมีผลในเรื่องการส่งออกของประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทัพเรือภาคที่ 2 นอกจากมีการตรวจเรือประมงแล้ว ให้พิจารณาตรวจเรือขนส่งในระยะใกล้ หรือเรือต่าง ๆ ป้องกันเหตุผิดกฎหมาย เหตุการณ์ที่นำเด็กไปล่วงละเมิดทางเพศบนเรือขนส่งในทะเล

2. กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ : รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยในส่วนของทัพเรือภาคที่ 2 ขอให้ประสานในเรื่องการตรวจบุคคลที่ลักลอบเข้าเมืองทางทะเล รวมไปถึงสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ไปสนับสนุนในการกระทำของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

3. กรณีน้ำมันเถื่อน : ขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกองทัพเรือในการประสานงานทุกมิติในการปฏิบัติงานเรื่องน้ำมันเถื่อน

จากนั้นเวลา 16.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัยฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมข้าราชการตำรวจ กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ โดยมี พ.ต.อ.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา ผู้กำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ให้การต้อนรับ จเรตำรวจแห่งชาติได้กำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และประพฤติอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top