Friday, 23 May 2025
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทยและกัมพูชา เริ่มแล้ว!!! ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา และคนไทยขายชาติ

เมื่อวันที่ (28 ส.ค. 67) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. และคณะฯ เดินทางไปประชุมปฏิบัติการร่วมกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ภายใต้ “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมี พล.ต.ท.แสง เธียริธ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมการประชุม

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรวบรวมพยานหลักฐานและวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) พบว่ามีการตั้งฐานปฏิบัติการจำนวนมากอยู่ในกัมพูชา เพื่อหลบหนีการดำเนินคดีของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายไทย โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้จะมีคนจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกับคนไทย มาหลอกลวงประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทั้งสองประเทศจึงได้มีการประชุมร่วมมือกันเพื่อดำเนินการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บงการและตัวการสำคัญในกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนคนไทยที่มาร่วมมือกับคนต่างชาติมาหลอกลวงเอาทรัพย์สินของคนไทยไปให้คนต่างชาติ จะมีการกวาดล้างส่งตัวกลับไทย ดำเนินคดี ทั้งการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและการหลบหนีเข้าเมือง ในกรณีที่ยังไม่มีหมายจับจากไทย

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับคนไทยที่ขายชาติ ไปทำงานให้กับคนต่างชาติมาปล้นทรัพย์สินคนไทยไปให้คนต่างชาติ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีมาตรการทางด้านตรวจคนเข้าเมือง ในการติดตามกลุ่มคนไทยขายชาติเหล่านี้ที่ออกไปทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปู่วัย 87 โชคดี!! เกือบสูญทรัพย์นับสิบล้านให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอะใจ!! ขึ้นโรงพักถามตำรวจ ก่อนรู้ถูกหลอก รอดหวุดหวิด

(11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิมาศ หรือเล็ก ทุกข์นิโรธ อายุ 87 ปี อดีตเจ้าหน้าที่สื่อสารระดับ 6 สำนักงานโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ คุ้มปานอินทร์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 พร้อมเงินสดจำนวน 200,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ และอยากจะถามว่าบัญชีตนเองผิดอะไร ทำไมต้องให้ตนเองโอนเงินส่งเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่เคยมีบัญชีพัวพันสีเทาหรือสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำไมถึงต้องโทรมาให้ตนส่งเงินไปให้ตรวจสอบ

ทาง พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ จึงอธิบายเหตุผลและชี้แจงว่าคุณปู่เล็ก น่าจะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกลวง อย่าได้หลงเชื่อเด็ดขาด การที่คุณปู่เล็กมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าโชคดี หากโอนเงินไปแล้ว รับรองว่าสูญเงินอย่างแน่นอน และแนะนำให้ปู่เล็กบล็อกเบอร์มือถือเบอร์นี้ อย่าได้พูดคุยติดต่อหรือเชื่อคำพูด ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปู่เล็กถึงกับดีใจที่ยังไม่ทันได้เสียท่าให้กับมิจฉาชีพ ถึงกับยกมือไหว้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยตักเตือนให้ในครั้งนี้

นายพิมาศ หรือปู่เล็ก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีชายคนนึงโทรเข้ามาหาตนเองทางโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งบอกว่า ตนเองมีบัญชีพัวพันกับธุรกิจสีเทา ต้องส่งไปให้เขาตรวจสอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ง. กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรเข้ามาติดต่อและชี้แจงข้อระเบียบ หากเงินในบัญชีตรวจสอบแล้วถูกต้องก็จะส่งคืนให้ และมีค่าเสียเวลา ค่าชดเชยกลับมาให้กับปู่เล็กด้วย ตนจึงหลงเชื่อสนิทใจ รีบเอาสร้อยคอทองคำ 3 บาท เลสข้อมือ 2 บาท ไปขาย ได้เงินมา 200,000 บาท และจะนำไปเข้าบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามที่เขาแนะนำมา เพราะตนเองไม่ได้เล่นไลน์ โอนเงินทางบัญชีไม่เป็น ทางคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บอกตนมีทรัพย์สินเท่าไหร่ให้เบิกมา หากพบว่าเป็นเงินสุจริตก็จะส่งคืนให้ในภายหลัง

โชคดีที่เจ้าหน้าที่แนะนำไม่อย่างนั้นคงสูญเงิน 200,000 บาท นี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญตนยังมีพันธบัตรที่ซื้อไว้อีกหลายสิบล้าน และเตรียมจะถอนออกมาเป็นเงินสดโอนไปให้มิจฉาชีพ ดีที่ไหวตัวทันอย่างเฉียดฉิวก่อน ตอนที่จะมาโรงพักคิดอย่างเดียวว่าถ้าผิดจริง ๆ ก็ให้มันติดคุกไป เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็อยากเอาเงิน เอาสมุดบัญชีมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย โชคดีที่มารู้ความจริงเสียก่อน ส่วนเงิน 200,000 บาท เดี๋ยวจะกลับไปซื้อทองใหม่ และจะบล็อกเบอร์แก๊งคอนเซ็นเตอร์นี้ไป ไม่รับสายพูดคุยด้วยแล้ว ไม่เช่นนั้นคงตกเป็นเหยื่อแน่

'ยุทธการระเบิดสะพานโจร' ระดมตรวจค้นจับกุมตู้ซิม ที่ลงทะเบียนให้กับคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั่วประเทศ

ตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งทาง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) ได้เร่งระดมกวาดล้างกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. ใช้ยุทธการ 'ระเบิดสะพานโจร' ในการตัดเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างคนร้ายกับประชาชน ได้แก่ สัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ซิมผี บัญชีม้า SMS และ Social Media Platform

ในห้วงวันที่ 1-10 ตุลาคม 2567 ทาง ศปอส.ตร. ได้ระดมกำลังตำรวจทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่าย เข้าตรวจค้นตู้ซิม ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศที่จำหน่ายและลงทะเบียนซิมให้คนร้าย 647 ร้านค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับ และดำเนินคดีกับผู้ลงทะเบียนให้กับคนร้ายโดนผลการตรวจค้น สามารถจับกุมดำเนินคดีกับร้านค้าในความผิดซึ่งหน้ากว่า 20 ร้านค้า พร้อมตรวจยึดของกลาง อาทิ ซิมการ์ดไทย 101,068 ซิม , อุปกรณ์ SIM BOX จำนวน 113 เครื่อง , โทรศัพท์มือถือ 575 เครื่อง ,คอมพิวเตอร์ 23 เครื่อง และเอกสารสำเนาบัตรประชาชน / สำเนาหนังสือเดินทาง-ใบอนุญาตทำงานของบุคคลต่างด้าว สำหรับใช้ลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์อีกหลายรายการ 

โดยเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการใช้ออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดทุกราย หากเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 9 10 และ 11 แห่ง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มาตรา 7 และ 14(1) แห่ง พรบ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

จากการเข้าตรวจค้นตู้ซิมที่เป็นเป้าหมายทั้งประเทศพบช่องว่างของการลงทะเบียนสองส่วนคือ (1) การถือครองซิมเป็นจำนวนมากโดยคนร้ายยังคงมีอยู่ ซึ่งการลงทะเบียนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนประกาศของ กสทช. ในการถือครองซิมไม่เกิน 5 ซิม (2) การลงทะเบียนซิมออนไลน์ ระบบไม่สามารถตรวจจับการลงทะเบียนที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น การอัพโหลดรูปภาพที่ไม่ใช่ตัวเอง สามารถอัพโหลดสิ่งใดก็ได้ หรือการพิมพ์ข้อความชื่อ หรือข้อความอื่นที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ซึ่งทาง ศปอส.ตร. จะได้มีการหารือร่วมกับทาง กสทช. และทางผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างเป็นการเร่งด่วน

จากนี้ไป ทาง ศปอส.ตร. จะมีการตรวจสอบเบอร์โทรที่คนร้ายใช้โทรเข้ามาหลอกประชาชนที่มีการแจ้งในระบบ Thaipoliceonline ว่าตู้ซิมใดเป็นผู้ลงทะเบียนให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ซึ่งทาง ศปอส.ตร. เชื่อว่าคนร้ายที่ตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่สามารถติดต่อหรือหลอกลวงคนไทยได้ ถ้าไม่มีตู้ซิมหรือผู้ที่รับผิดชอบไปช่วยเหลือลงทะเบียนซิมให้กับคนร้ายหรือระบบการลงทะเบียนที่เอื้ออำนวยให้กับคนร้ายไปลงทะเบียนโดยไม่สามารถทราบว่าเป็นใคร
ศปอส.ตร. ฝากเตือนไปถึงร้านค้าตู้ซิมที่รับลงทะเบียนให้กับคนร้ายคอลเซ็นเตอร์ ผู้จำหน่ายซิมโทรศัพท์ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกราย ที่ไปช่วยเหลือการลงทะเบียนให้กับคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนร้ายต่างชาติที่มีคนไทยกลุ่มหนึ่งคอยให้การช่วยเหลือมาหลอกลวง เอาทรัพย์สินของคนไทยไปต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งนอกจากขายชาติ จะสูญเสียอิสรภาพ ถูกตัดขาดจากครอบครัวแล้ว ยังสูญเสียอาชีพ ธุรกิจตลอดไป

ทั้งนี้ ยุทธการ 'ระเบิดสะพานโจร' จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่อง 'ซิม เสา บัญชีธนาคาร SMS และ Social Platform' เพื่อให้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หมดไปจากประเทศไทย ตามนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ต่อไป

‘โฆษกกระทรวงดีอี’ เปิดข้อมูลศูนย์ AOC 1441 เตือนภัยประชาชน  ‘5 เคส’ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข่มขู่-หลอกลวง ติดตั้งแอปดูดเงิน เหยื่อเสียหายกว่า 5 ล้านบาท

(4 พ.ย. 67) นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,480,741 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่าย โทรศัพท์AIS แจ้งว่าผู้เสียหายได้ทำการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ผิดกฎหมาย และโอนสายไปให้สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกใช้ในการฟอกเงินคดียาเสพติดในพื้นที่ชายแดน จากนั้นขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังการโอนเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ  มูลค่าความเสียหาย 1,989,574 บาท ผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์แจ้งว่าพัสดุของท่านจัดส่งไม่สำเร็จ เนื่องจากเกิดความเสียหายขึ้น และจะโอนเงินค่าสินค้าคืนให้ Flash Express ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงกดลิงก์ไปจากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line อัตโนมัติ มิจฉาชีพอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ Flash Express ให้ดำเนินการทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่แนะนำจนเสร็จสิ้นขั้นตอน ต่อมาภายหลังได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 826,663 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อกู้เงินง่ายผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียด จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพให้กรอกข้อมูลและแจ้งว่าให้โอนเงิน เพื่อเป็นค่าประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่ไม่สามารถถอนเงินกู้ออกมาได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัวผิดพลาดระบบจึงทำการล็อกรายการไว้ให้โอนเงิน เพื่อขอรหัสแก้ไข ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปให้อีกครั้ง จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 453,599 บาท ทั้งนี้้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินลงทุนแล้วทำการเทรดมาเรื่อย ๆ ต่อมา ผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษีและค่าธรรมเนียมก่อน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้ หลังจากโอนเงินเสร็จก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้อีก มิจฉาชีพแจ้งว่าระบบขัดข้องมีปัญหาให้รอก่อน ภายหลังผู้เสียหายได้รับข้อมูลจากเพื่อนว่าเป็นขบวนการมิจฉาชีพ

และคดีที่ 5  คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 310,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพรไฟล์เป็นหญิงสาว หน้าตาดีและได้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้น VDO Call สนทนากัน ฝ่ายหญิงอ้างว่าพักอาศัยอยู่ต่างประเทศมักใช้คำพูดอ่อนหวานกับตนและแจ้งว่าได้ส่งของขวัญเป็นสร้อยทองข้อมือ ของผู้ชายที่มีมูลค่าหลายล้านบาทมาให้ แต่ต้องโอนค่าภาษีค่าธรรมเนียมและค่าขนส่งไปให้ฝ่ายหญิง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนไปให้หลายครั้ง จากนั้นตนเริ่มสงสัยจึงขอ VDO Call เพื่อดู สร้อยทองข้อมือที่จะส่งมาให้ ปรากฏว่าฝ่ายหญิงไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 5,060,577 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 25 ตุลาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้ 1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,179,500 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,214 สาย , 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 365,404 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,128 บัญชี , 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,237 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.62 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 89,692 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.55 (3) หลอกลวงลงทุน 56,177 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.37 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 30,151 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.25 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 28,598 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.83 (และคดีอื่นๆ 52,549 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.38)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่บางเคสเป็นการหลอกลวงให้มีการกู้เงิน รวมทั้งหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจ ด้วยวิธีการติดต่อโทร หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง facebook และ Line ก่อนที่จะหลอกลวงให้มีการติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการข่มขู่ผู้เสียหายว่ามีการกระทำผิดในอาชญากรรมออนไลน์ ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 เพื่อความแน่ใจ ก่อนที่จะมีการการดำเนินการใดๆ เพื่อความปลอดภัย ด้านกรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันกรณีที่อ้างมีการแอบอ้างให้บริการสินเชื่อ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ให้บริการ รวมทั้งการให้รางวัล หรือโอนเงินบำนาญ หรือการทำธุรกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ควรตรวจสอบจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง และควรตระหนักเป็นอันดับแรกว่าการติดต่อโดยตรงจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงประชาชน เป็นการติดต่อที่น่าสงสัย ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” โฆษกกระทรวงดีอี กล่าว

นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และหากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 จ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) หรือ Line ID : @antifakenewscenter และ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com  

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘DE fence’ เร่งสกัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์’ ป้องกัน ‘โทร-SMS’ หลอกลวงประชาชน

 

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านการร่วมดำเนินโครงการ ‘DE-fence platform’ (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหลอกลวงประชาชน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567 (12 เดือน) พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย 

ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ  สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง 'DE-fence platform' เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ 'DE-fence platform' (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ DE-fence platform เป็นการบูรณาการการทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง 

“มาตรการนี้เป็นการป้องกัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน ตุลาคม 2567 รองนายกฯ ประเสริฐ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence platform ให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568 

สำหรับจุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที 

DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ , 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว , 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
ทั้งนี้ ระบบ จะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์ และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย

จีนจับมือเมียนมา กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทลายรังฉ้อโกงขนาดใหญ่ตอนเหนือของประเทศ

(22 พ.ย.67) กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนรายงานการกวาดล้างศูนย์ฉ้อโกงทางโทรคมนาคม หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ทั้งหมดทางตอนเหนือของเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนจีน-เมียนมา

รายงานระบุว่ามีการจับกุมชาวจีนผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมกว่า 53,000 ราย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีนกับเมียนมา นับตั้งแต่กระทรวงฯ ดำเนินการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมทางตอนเหนือของเมียนมาเมื่อปี 2023

เมื่อไม่นานนี้ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมในพื้นที่เมืองตั้งยานทางตอนเหนือของเมียนมาเป็นครั้งแรก จำนวน 1,079 ราย ระหว่างปฏิบัติการร่วมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นเมียนมา

รายงานเสริมว่ามีการส่งตัวชาวจีนผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่ถูกจับกุมในพื้นที่เมืองตั้งยานของเมียนมาให้จีนทั้งหมด 763 ราย และปฏิบัติการร่วมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม

ทั้งนี้ หน่วยงานความปลอดภัยสาธารณะของจีนจะยังคงมุ่งมั่นปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะหลายพื้นที่ที่มีแหล่งมิจฉาชีพอยู่หนาแน่น

กระทรวงฯ จะเพิ่มความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีนกับเมียนมา พร้อมเตือนประชาชนระมัดระวังข้อมูลการรับสมัครงานในต่างประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากอาจเป็นการหลอกลวงเข้าสู่การก่ออาชญากรรม

‘อาจารย์สาว’ เป็นงง!! หลังโทรไปหา ‘ผู้ปกครองของนักเรียน’ ยังไม่ทันได้อธิบาย โดนด่าว่าเป็น ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ แล้วตัดสาย

(22 ธ.ค. 67) อาจารย์ที่ปรึกษาของห้องเรียน โทรไปถามผู้ปกครองว่า ลูกชายทำไมถึงไม่มาเรียน เรื่องกลับตาลปัตร โดนพ่อด่าหาว่าเป็น ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

โดยในคลิปอาจารย์โบนัส กำลังโทรไปหาผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่ง หลังพบว่าไม่มาเรียนหนังสือโดยไม่ได้แจ้งลา 

เมื่อผู้ปกครองรับสายก็ถามทันทีว่า “ใครครับ” อาจารย์จึงบอกว่า “อันนี้เป็นอาจารย์เองค่ะ”

แต่ยังไม่ทันที่จะได้อธิบายหรือแจ้งธุระที่ต้องโทรไป คุณพ่อก็วีนใส่หาว่าอาจารย์คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกับบ่นแล้วด่าว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกแระ วันๆ ไม่ทำ 5 อะไร แค่นี้แหละ ทำงาน ทำการบ้าน” ก่อนจะวางสายใส่ทันที

ทำเอาอาจารย์ถึงกับอึ้ง ก่อนจะบ่นว่า “ไม่ใช่ จะบอกว่าลูกคุณไม่มาโรงเรียน” จากนั้นอาจารย์ก็โทรไปใหม่ แล้วรีบอธิบายตัวเองอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวว่าคุณพ่อจะเข้าใจผิดอีกว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วถามว่าทำไมลูกชายของคุณพ่อถึงไม่มาเรียนในวันนี้

เมื่อคุณพ่อรู้ว่า เป็น ‘อาจารย์จริง’ ไม่ใช่ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ เสียงก็เปลี่ยนทันที แล้วบอกว่า นึกว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรมา แล้วก็บอกเหตุผลที่ลูกไม่เรียนว่า ‘ลูกป่วย’

‘รองนายกฯ ประเสริฐ - รมต. จิราพร' ย้ำที่ประชุม ‘กปช.’ เร่งขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เน้นนำเสนอนโยบายที่เห็นผล-เข้าถึงประชาชน ชู ‘ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ผลงานสำคัญของรัฐบาล

(23 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กปช. และคณะกรรมการ กปช. เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานสำคัญประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้การกำกับของ คณะ กปช. พร้อมทั้งพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568       

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนและผลักดันให้แผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ฉบับนี้ ให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง 20 กระทรวง อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแนวทางการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานประจำปีนำเสนอต่อ ครม. อีกทั้งเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาล ทั้งนโยบายระยะยาวเชิงโครงสร้างและนโยบายสำคัญในปี 2568 ผ่านการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง  ซึ่งนโยบายต่างๆเหล่านี้จะขับเคลื่อนไปสู่ประชาชนโดยผ่านหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุม กปช. ได้เน้นย้ำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ได้แก่ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ โดยขอความร่วมมือคณะกรรมการฯ และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน การทำงาน เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาภัยออนไลน์ และผลักดันการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์อย่างแท้จริงไปด้วยกันทุกภาคส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้นำเสนอผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่มีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรายงานการเตรียมความพร้อมสำหรับอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่จะมาถึงด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินหน้า 'ระเบิดสะพานโจร' ตัดเส้นทางเสบียงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันนี้ (28 ธ.ค.67) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชุมสรุปสถานการณ์อาชญากรรมคดีออนไลน์ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ณ ห้องประชุม ศปก.ตม.จว.สระแก้ว จากนั้นลงพื้นที่บริเวณชายแดนเพื่อตรวจดูตึก 25 ชั้นฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่มองเห็นจากฝั่งไทย และลงพื้นที่ข้างเคียงเพื่อตรวจสอบเสา และสายส่งสัญญาณ พร้อมแถลงข่าว ณ ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ เปิดเผยว่า จากการที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ติดกับชายแดนของประเทศไทย ในเขต อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีคนต่างชาติเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมาหลอกลวง ฉ้อโกง เอาทรัพย์สินของคนไทยไปออกนอกประเทศจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างร้ายแรง ถือเป็นภัยคุกคามของคนต่างชาติต่อความมั่นคงของประเทศในรูปแบบใหม่ จากการตรวจสอบจากการแจ้งความของประชาชนผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.go.th พบว่าสัญญาณที่ใช้ในการส่งข้อความและการโทรเข้ามาหลอกลวงประชาชนเป็นจำนวนมาก มาจากเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา จึงได้ร่วมกับทาง กสทช. โดย พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.(ด้านกฎหมาย)/ประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. , นายสุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม , พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 2 , พล.ต.ต.ผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี , พล.ต.ต.ออมสิณ บุญญานุสนธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว , พ.ต.อ.ณภัทรพงศ สุภาพร ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว ,  ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว , ตำรวจตระเวนชายแดน , ตำรวจท่องเที่ยว , พ.อ.ชัยณรงค์ กาสี ผบ.ฉก.อรัญประเทศ ,พ.อ.ฉัตรชัย คุ้มด้วง รอง เสธ.กกล.บูรพา และฝ่ายเสธ.กลล.บูรพา นำมาตรการ “ระเบิดสะพานโจร” มาใช้ โดยมุ่งตัดเส้นทางเสบียงของคนร้ายเพื่อไม่ให้สามารถนำมาใช้ ในการกระทำความผิดได้ ประกอบด้วย

1. ค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ และตัดสัญญาณสื่อสารทางโทรศัพท์และดาต้าเน็ต ที่มีการลักลอบส่งให้กับกลุ่มคนร้ายใช้อย่างผิดกฎหมาย ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
2. คนข้ามแดนควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด สำหรับชาวต่างชาติและคนไทยที่ไปร่วมขบวนการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งไปเปิดบัญชีมาและสแกนหน้าให้กับคนร้าย รวมทั้งไปทำหน้าที่หลอกลวงคนไทยและเบิกถอนเงิน ที่เดินทางข้ามแดนผ่านช่องทางของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและช่องทางธรรมชาติ โดยให้ดำเนินคดีกับผู้นำพาอย่างจริงจัง
3. อุปกรณ์ให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการลักลอบขนส่งเงิน อุปกรณ์มือถือ Simbox ผ่านชายแดนช่องทางธรรมชาติ และจุดตรวจของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

โดยในครั้งนี้จากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับ กสทช. ตรวจสอบพบเสาสัญญาณจำนวน 3 จุด บริเวณที่ใกล้กับแนวชายแดนมากที่สุด น่าเชื่อว่ามีการส่งสัญญาณไปยังบริเวณตึก 25 ชั้น ซึ่งในขณะนี้ กสทช. ได้สั่งให้มีการระงับสัญญาณดังกล่าวและจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุม กำกับดูแล และติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ว่าการกระทำผิดกฎหมายหลอกลวงประชาชนคนไทย โดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นลดลงไปหรือไม่ นอกจากนี้ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มชาวไทยที่จะเดินทางข้ามแดนไปทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นการขายชาติ ไปช่วยเหลือกลุ่มองค์กรอาชญากรรมของคนต่างชาติมาหลอกลวงคนไทย จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

กระทรวงความมั่นคงเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฯ หารือ 'พล.ต.อ.ธัชชัยฯ' ร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้หมดไป

(14 ม.ค.68) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศพดส.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต. วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบช.ส , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. , พล.ต.ต. ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.สทส.ชรก.สตม. , พล.ต.ต. ณัฐพงษ์ สัตยานุรักษ์ รอง ผบช.ก., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รอง ผบก.สส.สตม. และคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมประชุมกับ นายไมเคิล ชัวค (Mr. Michael Cheuk) รองปลัดกระทรวงความมั่นคงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยหารือในเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน และปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดน 

การประชุมดังกล่าวมีประเด็นสำคัญคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการไทยเกี่ยวกับแผนประทุษกรรมรูปแบบใหม่ของทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาทิ การปลอมเป็นพนักงานบริการลูกค้าของบริษัทโทรคมนาคม การหลอกไปทำงานรายได้ดีในต่างประเทศ และปัญหาการกำจัดบัญชีม้า ซึ่งทางเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้พบเจอกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศไทย จึงเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกับทางการไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานเพื่อกำจัดปัญหาเหล่านี้

นายไมเคิล ชัวค รองปลัดกระทรวงความมั่นคงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีกรณีชาวฮ่องกง ชาวจีน ถูกหลอกลวงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยืนยันว่าเป็นการตกลงกันมาจากฮ่องกง มีการจองรถผ่านแอปพลิเคชันล่วงหน้า เหยื่อเข้าใจผิดเดินทางไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเมื่อตนเดินทางกลับจะทำการแถลงข่าว เพื่อให้ชาวฮ่องกงทราบถึงความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในประเทศไทย และความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยต่อไป

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อต่อสู้และปราบปรามกลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้หมดไปจากสังคม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top