Friday, 23 May 2025
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอี-ตำรวจไซเบอร์ จับกุมเว็บพนันออนไลน์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

พร้อมทลายแหล่งบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี พร้อมขยายผลข้ามแดน ควบคุมตัวคนไทย 154 รายในเมียนมา โยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการ บช. สอท. , พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. , พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายสุริยน ประภาสะวัต ตําแหน่งอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 1 , เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (AIS) โดย นายศรัณย์ ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงผลการจับกุม “JOINT CYBER OPERATION”  ใน 3 ปฏิบัติการ ดังนี้ 

1. ครั้งแรกเก็บพยานหลักฐานนอกประเทศ ขยายผลข้ามแดนจับกุมคนไทย 154 ราย ถูกควบคุมตัวในเมียนมา โดยได้ประสานความร่วมมือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเครือข่ายการพนันออนไลน์ใน จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้เข้าปราบปรามบ่อนการพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จ.ท่าขี้เหล็ก โดยจัดตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนและขยายผลการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อร่วมขยายผลเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ซักถามคัดกรองปากคำบุคคล รวมทั้งการตรวจสอบพยานหลักฐานทางดิจิทัล และรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับแนวทางการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หลังจากได้รับโทษตามกฎหมายแล้ว จะส่งตัวกลับมาดำเนินนคดีในประเทศไทย

2. ทลายแหล่งลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ใกล้สถานศึกษาดัง จ.ชลบุรี โดยเข้าตรวจค้นและจับกุมตัว นายหัถตชัยฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ได้ที่บ้านไม่มีเลขที่ ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า รวม 370 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 50,000 บาท พร้อมขยายผลการจับกุมถึงแหล่งที่มา จุดกระจายสินค้า และผู้ทำหน้าที่ค้าส่งหรือส่งสินค้าในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จึงขออนุมัติหมายจับและหมายค้นนายรัชชานนท์ฯ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี โดยเป็นผู้จำหน่ายและผู้จัดส่งบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยจะเป็นแหล่งเก็บ ซุกซ่อนและจําหน่าย บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 2 จุด 

โดยจุดที่ 1 ภายในซอยบางทราย 63 หมู่ที่ 5 ต.บางทราย อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บ ซุกซ่อน สถานที่แพ็คของ จากการตรวจค้นพบนายรัชชานนท์ฯ อายุ 25 ปี แสดงตนเป็น ผู้ดูแล/เจ้าของบ้าน ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 12 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1,560 บาทและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และ จุดที่ 2 ในพื้นที่ ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานศึกษาชื่อดังของจังหวัดชลบุรี เพียง 300 เมตร ตรวจยึดของกลาง บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวนกว่า 5,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000,000 บาท 

ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคและประชาชนว่า การจำหน่าย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า การลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองที่ 9/2558 เรื่อง  “ห้ามขายหรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่ เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย หรือรับไว้โดยประการใดโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา สินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. จับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ slotpgthai.net และ uwin9.com พบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวม 25 เครือข่าย ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท พบยอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 500 ล้านบาท โดยได้ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหารวม 7 ราย กลุ่มผู้รับ ผลประโยชน์จำนวน 1 ราย กลุ่มผู้ดูแลการเงิน 1 ราย และบัญชีม้า 5 ราย ทั้งนี้ยังตรวจสอบพบเครือข่ายพนัน อื่น ๆ รวม 25 เครือข่าย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 200,000 คน โดยดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันทาง อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดน ในการดำเนินการขยายผลจับกุมทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ ซิมผี บัญชีม้า  โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 - 5 มี.ค. 67 กระทรวงดีอีดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์ จำนวน 25,571 รายการ  เพิ่มขึ้น 13 เท่าตัวจาก 2,059 เว็บ ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ในการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

‘ปปง.’ แจ้ง!! 'เหยื่อคอลเซ็นเตอร์' เริ่มยื่นคำร้องขอทรัพย์สินคืนได้ หลังยึดทรัพย์ ‘แก๊งมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน’ ได้แล้วร่วมหมื่นล้านบาท

(5 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชนคนไทยโอนเงินมูลค่าเสียหายนับแสนล้านบาทนั้น ล่าสุดจากข้อมูลพบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์เป็นของกลางแล้ว ดังนี้

- เงินสดรวมได้ประมาณ 6,000,000,000 บาท

- อสังหาริมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งประมาณ 4,000,000,000 บาท

- รวมกันแล้วประมาณ 10,000,000,000 บาท

สำหรับทรัพย์สินยึดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย หลังจาก ปปง. ยึดทรัพย์มาแล้ว โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ภายใน 90 วัน เพื่อให้ประชาชนมายื่นคําร้องขอรับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ ผ่าน 3 ช่องทาง

1.ยื่นด้วยตนเอง ณ สํานักงาน ปปง.

2.ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนส่งถึง สำนักงานป้องกันและปราบการฟอกเงิน เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บ 2 มุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคําร้องขอ คุ้มครองสิทธิรายคดี….”

3.ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง https://khumkrongsit.amlo.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-219-3600 หรือ โทร 1710

นายคารม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิ.ย.67 ผลการแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com รวม 35,379 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,437,689,020 บาท เฉลี่ย 114,589,643 บาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี 10,713 บัญชี ยอดขออายัด 1,404,539,300 บาท ยอดอายัดได้ 719,057,785 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 160,929,368 บาท

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 583,012,851 บาท

3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 145,768,931 บาท

4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,427,157,157 บาท

5.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 235,952,533 บาท

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลดังข้างต้น ยังมีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ขอประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่เชิญชวน ชักชวนโดยวิธีการต่างๆ หากถูกหลอก สามารถแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com หรือสอบถามที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000

นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วนศูนย์ไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เร่งปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เข้ามาหลอกลวง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. เปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการร่วมกับสำนักงาน กสทช. , ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS  DTAC TRUE  NT และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ โดยให้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง ของไทยทั้งหมดที่คนร้ายลักลอบนำมาใช้ในการเข้ามาหลอกลวง ที่คนร้ายลักลอบลักลอบนำมาใช้ในการเข้ามาหลอกลวง อย่างเด็ดขาด  

พล.ต.ท.ธัชชัย ฯ กล่าวว่า จะเริ่มกดปุ่มปฏิบัติการแรก 'ระเบิดสะพานโจร' ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งคนร้ายได้มีฐานปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณโดยรอบคิงส์โรมัน ประเทศลาว โดยปัจจุบัน คิงส์โรมันเป็นสถานบันเทิงครบวงจรพร้อมมีสนามบินรองรับนักท่องเที่ยวจากไทย ลาว และเมียนมา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อสุจริตชนตามแนวชายแดนไทย นอกจากนี้ จะมีการขยายผลจับกุมดำเนินคดีกับผู้ให้บริการที่ผิดกฎหมาย เช่น ตู้ซิมที่ช่วยเหลือกลุ่มคนร้ายในการลงทะเบียนซิมมาหลอกลวงประชาชน รวมทั้งจัดการกับกลุ่มคนร้ายที่เป็นชาวต่างชาติและคนไทยที่ร่วมกันมาหลอกลวงทำร้ายคนไทยด้วยกันให้ถึงที่สุด

ตำรวจ ร่วมกับสำนักงาน กสทช.และหน่วยงานความมั่นคง กระชับพื้นที่เชียงแสน เร่งรัดปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของคิงส์โรมัน

จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการปราบปรามกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเด็ดขาด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เริ่มปฏิบัติการ 'ระเบิดสะพานโจร' ตัดสัญญาณโทรคมนาคมที่ลักลอบใช้ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณที่ตั้งโดยรอบบ่อนคาสิโนคิงส์โรมัน ประเทศลาว และในวันนี้ (23 ก.ค.67) เป็นการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ร่วมกับ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และฝ่ายความมั่นคง ตรวจสอบการลักลอบนำสายสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ ไปยังบริเวณพื้นที่คิงส์โรมัน ประเทศลาว อย่างผิดกฎหมาย ทั้งจากซิม สาย เสา และออกมาตรการเข้มงวดในการผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อไม่ให้กลุ่มคนต่างชาติและคนไทยลักลอบไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในบริเวณพื้นที่รอยต่อที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หารือกับสำนักงาน กสทช. และผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 ค่าย เพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรุกล้ำข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามีการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่กระจายลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน (คิงส์โรมัน สปป.ลาว) ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในทุกมิติ จึงลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผน รวมทั้งใช้เครื่องมือพิเศษตรวจสอบการกระจายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสัญญาณอินเตอร์เน็ตตามแนวตะเข็บชายแดนในบริเวณใกล้เคียง และมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าตรวจสอบและติดตามการลักลอบการติดตั้งเสาส่งสัญญาณเถื่อน เพื่อตัดรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่เป้าหมายนี้

พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเชิงรุกล่าสุด พบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยใช้งานอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน (คิงส์โรมัน สปป.ลาว) ซึ่งมีข้อมูลเชื่อได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นรังใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรข้ามแดนมาหลอกคนไทย จึงลงพื้นที่บูรณาการร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกเครือข่าย ใช้เครื่องมือพิเศษติดตั้งบนอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ตรวจสแกนตลอดแนวชายแดนของ อ.เชียงแสน เพื่อตัดสัญญาณสื่อสารข้ามโขงในทุกมิติ นอกจากนั้น ได้ร่วมกับกองกำลังผาเมืองตัดทำลายสายเคเบิ้ลใยแก้วหรือไฟเบอร์ออฟติก ส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย

มาตรการตัดปัจจัยสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้ง ซิม เสา และสาย ที่ กสทช.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยได้ระงับการใช้ซิมผีที่มิได้มายืนยันตนตามประกาศ กสทช. ไปแล้วมากกว่า 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งเชื่อว่าซิมที่ถูกระงับการใช้งานนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของคนร้าย นอกจากนี้ เพียงครึ่งปีที่ผ่านมา กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจับกุมผู้ลักลอบติดตั้งเสาและสาย ส่งสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดนไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้จำนวน 33 ราย ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่ทำผิดเงื่อนไขการให้บริการ ได้แจ้งเตือนและสั่งให้ระงับการส่งสัญญาณโทรคมนาคม และถอดสายสัญญาณและอุปกรณ์ (ล้มเสา) จำนวน 179 จุด โดยดำเนินการแล้วใน 11 อำเภอ 9 จังหวัด ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จ.ตาก เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระเเก้ว จันทบุรี และ จ.ระนอง ซึ่ง กสทช.ยังคงตรวจตระเวนการกระจายสัญญาณข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลของการบูรณาการระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กสทช. และหน่วยงานความมั่นคง ในการกำจัดซิมผีบัญชีม้า โค่นเสาและสายสัญญาณเถื่อน รวมทั้งตรวจค้นจับกุมอุปกรณ์โทรคมนาคม ผิดกฎหมายดังกล่าว เป็นการทำลายปัจจัยสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้จากการไหลทะลักเข้าไทยของอุปกรณ์สื่อสารดาวเทียมผิดกฎหมาย (Starlink) ผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนโครงสร้างโทรคมนาคม (ซิม เสา สาย) เดิม คาดว่าคนร้ายได้รับผลกระทบและเริ่มมีการปรับตัว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. จะได้ดำเนินการติดตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องต่อไป

‘ตำรวจ’ จับมือ ‘กสทช.’ เริ่มปฏิบัติการ ‘ระเบิดสะพานโจร’ ตัดสัญญาณโทรคมนาคม ที่ลักลอบใช้ในเขตพื้นที่ชายแดน

(24 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ รอง ผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ร่วมกับ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลการประชุม การเริ่มปฏิบัติการ ‘ระเบิดสะพานโจร’ ตัดสัญญาณโทรคมนาคม ที่ลักลอบใช้ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณที่ตั้งโดยรอบคิงส์โรมัน

พร้อมการแถลงผลการพบสายสัญญาณอินเตอร์เน็ตข้ามประเทศ จากชายแดนด้านอ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งทางทหารพราน กองกำลังผาเมือง ได้ตรวจสอบและทำการตัดพร้อมขุดสายสัญญาณที่ฝังดินเอาไว้รวมกว่า 11.5 กิโลเมตร ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากฝั่งประเทศไทย หายไปในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จุดนี้ก็จะทำการขยายผลว่าใครเป็นผู้ขออนุญาตใช้สัญญาณ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันด้านฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จ.เชียงราย ในการเริ่มต้นปฏิบัติการ ‘ระเบิดสะพานโจร’ ตัดสัญญาณโทรคมนาคม ในพื้นที่ชายแดน เพื่อไม่ให้ติดต่อกลับมาหลอกลวงคนไทย โดยได้วางมาตรการเข้ม 4 ข้อ คือ 

1. เริ่มทำการตัดสัญญาณข้ามประเทศทุกชนิด โดย กสทช. จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเข้มงวด  

2. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการดำเนินการตรวจสอบในระบบแจ้งความว่า มีการแจ้งความว่าถูกหลอกลวงมาจากฝั่งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่

3.จะมีการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและ ระหว่าง กสทช. ตำรวจ และทหาร ว่ามีการใช้สัญญาณข้ามประเทศอย่างไร ทั้งระบบ  ซิม สาย  เสา หากมีการทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการทันที

4. จะมีการเข้มงวดของตรวจคนเข้าเมือง หากพบว่ามีบุคคลใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกไปทำงาน

ด้าน พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า ทาง กสทช. จะทำงานร่วมกับทางตำรวจและฝ่ายความมั่นคง เพื่อดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่ออกไปนอกประเทศ ล่าสุดทาง กสทช. ได้ตัดสัญญาณมือถือไปแล้วกว่า 2 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ  ซึ่งเชื่อว่าซิมที่ถูกระงับการใช้งานนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของคนร้าย

นอกจากนี้ เพียงครึ่งปีที่ผ่านมา กสทช. และ สตช. ได้มีการจับกุมผู้ลักลอบติดตั้งเสาและสาย ส่งสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดนไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเอื้อ ประโยชน์ให้กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้จำนวน 33 ราย ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่ทำผิดเงื่อนไขการให้บริการ ได้แจ้งเตือนและสั่งให้ระงับการส่งสัญญาณโทรคมนาคม และถอดสายสัญญาณและอุปกรณ์ (ล้มเสา) จำนวน 179 จุด โดยดำเนินการแล้วใน 11 อำเภอ 9 จังหวัด ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ผบ.ตร.ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ประชุมทางไกล จับมือ ผบ.ตร.กัมพูชา หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force) เพื่อแก้ไขปัญหา ให้เป็นรูปธรรมเห็นผลภายใน 60 วัน

จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประสานไปยัง สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้มีความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ระบาดและสร้างความเสียหายจำนวนมากแก่พี่น้องประชาชนในปัจจุบัน   

วันนี้ (25 ก.ค. 67) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เข้าร่วมประชุมกับ พล.ต.อ.ซอ เทต ผบ.ตร.กัมพูชา และคณะ โดยผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งที่ประชุมฝ่ายไทยยังประกอบด้วย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ที่ประชุมได้หารือถึงข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ตำรวจทั้งสองประเทศแสวงหาความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจัง โดยตำรวจไทยได้นำเสนอคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ที่จะต้องอาศัยข้อมูลความร่วมมมือของกัมพูชาในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีการทบทวน ข้อหารือที่ได้เคยตกลงกันไว้ระหว่างสองประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force) เพื่อแก้ปัญหาปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง และจะมีการหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าที่ประเทศกัมพูชา 

ผลการประชุมหารือเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอยู่ในสองประเทศ ให้ได้ผลอย่างจริงจังภายใน 60 วัน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพ สาวก ‘iPhone’ ห้ามกดอนุญาตหากพบข้อความให้รีเซ็ตรหัสผ่าน Apple ID

(6 ส.ค.67) ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ ถือเป็นภัยสังคมที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะในระยะหลังมานี้ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงให้โอนเงิน หรือหลอกให้คลิกลิงก์เพื่อกระทำการต่าง ๆ บนสมาร์ตโฟนของเรา สร้างความเสียหายมาแล้วมากมาย

ด้วยเหตุนี้ ‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับหนึ่งในกลวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพออนไลน์ สำหรับผู้ใช้งาน ‘iPhone’ พร้อมระบุว่า หากมีการแจ้งเตือนในลักษณะนี้ ห้ามกดอนุญาตเด็ดขาด

โดยตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า ผู้ใช้ iPhone โปรดระวัง หาก iPhone มีข้อความแจ้งเตือนว่า "รีเซ็ตรหัสผ่าน ใช้ iPhone เครื่องนี้เพื่อรีเซ็ตรหัสผ่าน Apple ID" โดยที่เราไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับโทรศัพท์ หรือ มีข้อความว่า "Apple ID Sign in Requested" มีการแจ้งว่ามีการเข้าระบบของ Apple โดยที่เราไม่ได้เข้าระบบ และมีการแสดงตำแหน่งแปลก ๆ ที่เราไม่เคยไป หรืออยู่ต่างประเทศ

ขอเตือนว่า อย่ากดอนุญาตโดยเด็ดขาด เพราะมีความเป็นไปได้ว่า มิจฉาชีพกำลังพยายามเข้าระบบของเรา

ทั้งนี้ เมื่อกดไม่อนุญาตแล้ว ขอแนะนำให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่าน บังคับให้ทุกเครื่องออกจากระบบ และเปิดการเข้าระบบแบบ 2 ชั้น (2FA) ในทันที

หากพบเจอมิจฉาชีพออนไลน์ ต้องการแจ้งความ หรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับมิจฉาชีพ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนศูนย์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประชุมร่วมไทย-ลาว ประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตรียมศึกษาแนวทางตั้งคณะทำงานร่วม เพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามให้ได้ผลอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ (15 สิงหาคม 2567) เวลา 15.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. ลงพื้นที่ สภ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อประชุมบูรณาการร่วมหน่วยงานความมั่นคงชายแดน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไทย-ลาว-เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยมี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ต.วีระชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.ธนะรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ รอง ผบช.ประจำฯ ช่วยราชการ ภ.5 , พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 พร้อมด้วย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย , นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน , นายวุฒิเลิศ ชนะหาญ ผอ.สำนักงาน กสทช.เขต 34 , คณะเมืองต้นผึ้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย ท่านคำเพ็ง กุมพัน หัวหน้าห้องว่าการเมืองต้นผึ้ง และผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าร่วมประชุม

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ระหว่างประเทศไทย-ลาว โดยทางการลาวจะไม่ให้มีการตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำอีกต่อไป โดยกำหนดเดดไลน์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2567 หลังจากนั้นหากตรวจพบจะมีการดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไทยและลาวจะได้มีการไปศึกษาและกำหนดแนวทางในการตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยเป็นคณะทำงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทย-ลาว ซึ่งในส่วนของไทย ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 5 ในการศึกษาและร่วมกันในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมฯ ไทย-ลาว ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่องและเด็ดขาดต่อไป 

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยดำเนินการเข้มงวดเรื่องการตัดสัญญาณซิม สาย เสา ที่ผ่านมา พบว่าในช่วงหลังคนร้ายเริ่มใช้สัญญาณโทรศัพท์จากประเทศเพื่อนบ้านโทรเข้ามา โดยสังเกตได้ว่าจะเป็นหมายเลข +697 หรือ +698 และมีหมายเลขโทรศัพท์หลายตัว หรือโทรศัพท์เข้ามาแล้วอ้างเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ  ในส่วนนี้เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์ของประเทศไทยได้อย่างที่เคยทำมา และในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา เริ่มย้ายมาตั้งในประเทศไทย ซึ่งตำรวจไทยสามารถดำเนินการได้อย่างเด็ดขาด และมีการจับกุมไปแล้วที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ผ่านมา

‘ประเสริฐ’ คุมเข้มข้อมูลรั่วไหล เผย ‘สคส.’ สั่งปรับเอกชน ‘7 ล้าน’ ปล่อยข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหลภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปกระทำความผิดกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กระทรวงดีอีว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ที่รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอื่นๆ ได้มีคำสั่งปรับบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากรั่วไหลไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด รวมถึงบริษัทดังกล่าวไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) และละเลยไม่แจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลให้แก่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ได้มีคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองบริษัทดังกล่าวในอัตราสูงสุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 7 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) บริษัทที่ถูกร้องเรียนได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจำนวนมากกว่า 1 แสนราย  และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบธุรกิจหลักของบริษัท แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้เมื่อเกิดข้อมูลรั่วไหล บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นกรณีดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

2) ผู้ถูกร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ทำให้ข้อมูลรั่วไหลจากบริษัทดังกล่าวไปยังกลุ่มมิจฉาชีพคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 37(1) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

3) เมื่อเกิดเหตุข้อร้องเรียนจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข และแจ้งเหตุให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเยียวยาได้ อันเป็นความผิดตามมาตรา    37 (4) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ยังมีคำสั่งให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลอีก รวมทั้งได้มีคำสั่งกำชับให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนดำเนินการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีหน้าที่ต้องแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงมาตรการแก้ไขดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับคำสั่ง

“คำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองฉบับแรกกับบริษัท เอกชนรายใหญ่ โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปหรือ GDPR” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE ได้แถลงเพิ่มเติมว่าคำสั่งปรับดังกล่าวต้องการคุ้มครองประชาชนจากปัญหากรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลที่เป็นปัญหาหลักของประเทศในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ให้ต้องดำเนินการแจ้งสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำสั่งปรับทางการปกครองฉบับนี้จะใช้เป็นมาตรฐาน และบรรทัดฐานในการพิจารณาเรื่องข้อมูลรั่วไหลในภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีการร้องเรียนเข้าที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป และผลจากการปรับครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวในเรื่องการเคร่งครัดและปฎิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้มากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการป้องปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้น จากการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่มีอยู่มากในปัจจุบันไปใช้โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังช่วยในการเยียวยาบรรเทาความเสียหายให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลจากเหตุดังกล่าวข้างต้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น

รวบ 3 จีนเทาผู้ร้ายข้ามแดนแปลงสัญชาติวานูอาตูหัวหน้าเครือข่ายพนันออนไลน์ข้ามชาติและเป็นหัวหน้าจัดทำระบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เงินหมุนเวียนกว่า 55,000 ล้านบาท

กก.4 บก.สส.สตม. ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. และ ตม.จว.ชลบุรี จับกุมคนต่างด้าว จำนวน 3 คน ได้แก่ นายซู (นามสมมติ) อายุ 47 ปี สัญชาติจีน/วานูอาตู ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 407/2567 ลงวันที่ 18 มิ.ย.2567 ในความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์สินของรัฐและประชาชนและความผิดฐานเปิดบ่อนการพนัน (คาสิโน) (ออกหมายจับผู้ร้ายข้ามแดน) นำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการตามกฎหมาย และจับกุมนางจาง (นามสมมติ) อายุ 46 ปี สัญชาติจีน/วานูอาตู และนายซู เจียง (นามสมมติ) อายุ 39 ปี สัญชาติจีน/วานูอาตู โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ จว.ชลบุรี ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บ้านพักภายในซอยทุ่งกลม-ตาลหมัน 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จว.ชลบุรี

สืบเนื่องจาก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ นำส่งคำร้องขอให้ทางการไทยจับกุมตัวชั่วคราวนายซู (นามสมมติ) อายุ 47 ปี สัญชาติจีน เป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อไปดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์สินของรัฐและประชาชนและความผิดฐานเปิดบ่อนการพนัน(คาสิโน) ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอออกหมายจับชั่วคราวนายซู และได้ส่งหมายจับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้สืบสวนจับกุม

จากการสืบสวนของ กก.4 บก.สส.สตม. และ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. พบข้อมูลว่านายซูได้ใช้หนังสือเดินทางประเทศวานูอาตูเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแทนการใช้หนังสือเดินทางสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังพบว่า นางจาง และนายซู เจียง ซึ่งเป็นเครือญาติของนายซูได้ถือหนังสือเดินทางประเทศวานูอาตูเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ด้วย 

จึงได้ประสานสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพื่อตรวจสอบประวัติของนางจาง และนายซู เจียง รับแจ้งว่า บุคคลทั้งสองมีสัญชาติจีน โดยนางจาง มีประวัติกระทำผิดในข้อหา ฉ้อโกงทรัพย์สินของรัฐและประชาชนและความผิดฐานเปิดบ่อนการพนัน (คาสิโน) ส่วนนายซู เจียง มีประวัติกระทำผิดในข้อหา เปิดบ่อนการพนัน (คาสิโน) เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้สืบทราบว่าทั้ง 3 คน มักจะมีพฤติการณ์ในการย้ายที่อยู่เพื่อให้ยากต่อการจับกุมตัว และหลังสุดได้ย้ายหลบหนีไปอยู่บ้านพักหรูภายในซอยทุ่งกลม-ตาลหมัน 2 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จว.ชลบุรี จึงได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดพัทยาเข้าทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบคนต่างด้าวทั้ง 3 คน พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว และพบโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหลายรายการ และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสัญชาติของบุคคลทั้งสามและบุตร ซึ่งจากการสอบถามนายซู ให้การยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับผู้ร้ายข้ามแดนจริง และจากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 3 คน ได้เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยหนังสือเดินทางประเทศวานูอาตู โดยนางจาง และนายซู เจียง การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดแล้ว จึงได้จับกุมทั้ง 3 คน ดังกล่าว

สำหรับพฤติการณ์กระทำความผิดของนายซู และนางจางได้ร่วมกันกับพวกจัดตั้งองค์กรชื่อ หญิงฟา ซึ่งจัดให้มีการเล่นคาสิโนออนไลน์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีบุคคลจำนวนเข้าเป็นสมาชิกในการเล่นการพนัน มีเงินหมุนเวียนกว่า 55,000 ล้านบาท โดยนายซู เป็นหัวหน้าแก๊ง คอลเซ็นเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกหลวงผู้อื่นทางระบบโทรคมนาคม โดยได้ทำการจัดตั้งระบบเว็บไซต์ และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลังบ้านของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานอยู่ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top