Tuesday, 20 May 2025
เอกนัฏ_พร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ชี้!! ต้องนำงานวิจัยมาต่อยอดให้อุตสาหกรรมฮาลาล

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดยมีนางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเยี่ยมชม และมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศวฮ. ให้การต้อนรับ 

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ขอขอบคุณทาง ศวฮ. ที่ได้ให้ความรู้ และนำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล 

ตนได้มอบนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' ให้กับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ปฏิรูปที่ 1 'การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน' โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ แก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา ปฏิรูปที่ 2 'Save อุตสาหกรรมไทย' สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐาน ยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ปฏิรูปที่ 3 'การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่' รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อจากนี้ คือวิกฤตที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ และยังถือเป็นโอกาสที่สำคัญและเรามีความได้เปรียบในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และความรู้ในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนเพื่อให้นำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม งานวิจัย มาทำประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม ภาคผลิตให้มากที่สุด และกระทรวงจะช่วยสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและประชาคมโลกทราบถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย“

ทั้งนี้ศวฮ. เป็นศูนย์พัฒนางานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฮาลาล โดยมีการพัฒนาระบบมาตรฐานฮาลาล ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหลายขั้นตอนผ่านกระบวนการมาตรฐานฮาลาล HAL-Q การใช้นวัตกรรม H number น้ำยาดินชำระล้าง งานนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล วางระบบในโรงงานอุตสาหกรรม 1,112 โรงงาน ครอบคลุม 158,823 คน ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์กว่า 188,731 ตัวอย่าง นำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้าง Big Data การพัฒนาระบบ 'ฮาลาลบล็อกเชน' เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในกระบวนการทวนสอบย้อนกลับผ่านแอปพลิเคชันในรูป Thailand Diamond Halal Blockchain และเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล 

ศวฮ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม THAIs หรือ Thailand Halal Trustworthy A.I. เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อผลิตภัณฑ์ ผ่านการประยุกต์ใช้ AI ที่ 1 Actual Implementation ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานด้วยมือและสมองของมนุษย์  AI ที่ 2 Artificial Intelligence โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน แก่ผู้ประกอบการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้เยือน ‘ตรัง-พัทลุง’ ผลักดันอุตสาหกรรมท้องถิ่น เน้น!! ชุมชนเข้มแข็ง เข้าถึงแหล่งเงินทุน รุกตลาดออนไลน์

(14 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมร้าน กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ จากนั้น ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้เยี่ยมชมหัตถกรรมกระจูดวรรณี & โฮมสเตย์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมกระจูดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

"การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ที่ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป" นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เดินสายรับฟังข้อเสนอจาก SME สงขลา พัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลาง-ย่อมทั่วไทย

(16 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง พัทลุง และสตูล) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 

ทางภาคเอกชนได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 
1) การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ 
2) การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมท้องถิ่น 
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ 
4) การยกระดับมาตรฐานการผลิตของวิสาหกิจชุมชน 
5) การส่งเสริมการใช้ 'วู้ดเพลเลท' (Wood pellets) หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินและพลังงานฟอสซิล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SME จำนวน 3.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนกว่า 12 ล้านคน ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME จำนวน 6.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจ SME ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย การพัฒนาศักยภาพทักษะในการสร้างความยั่งยืนและเทคโนโลยียุคใหม่ 

รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันให้แก่ธุรกิจ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถสร้างการเติบโต โอกาสทางการค้ารูปแบบใหม่ ๆ และความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจได้ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมาตรการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีแผนการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง โดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการฝึกอบรมในสายงานที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้แรงงานมีความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นกับตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการวางแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน

“ผมได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตเพื่อประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญของกระบวนการผลิตยางพารา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสะอาดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการ และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้ายางพาราในตลาดต่างประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว 

จากนั้นรัฐมนตรีฯ เอกนัฏและคณะได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ไอซีที (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและสาธิตการใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ทันสมัย อาทิ การทดลองยืดอายุผลิตภัณฑ์กรือโป๊ะด้วยเครื่องบรรจุสุญญากาศและการฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน (retort) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบสับปะรดเพื่อยืดอายุผักและผลไม้สด เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์ไอทีซี มีการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์สนับสนุนและพร้อมให้บริการอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้พัฒนาบุคลากร

30 วันแรกของการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย: เดินหน้า ทำทันที เพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ 🌱

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลงานสำคัญใน 30 วันแรก (11 ก.ย. - 10 ต.ค. 2567) ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนโยบาย 'ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' ซึ่งเน้นการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันแรก

🔵 การจัดการกากและสารพิษที่ปลอดภัย:
ยกระดับการจัดการกากอุตสาหกรรม
ตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม
จัดกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ บรรเทาปัญหาสารเคมีรั่วไหล”

🟢 สร้างความเท่าเทียมให้ SME ไทย:
ตั้งนิคมอุตสาหกรรม SME พร้อมศูนย์บ่มเพาะ (I-EA-T Incubation) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 'เสือติดปีก' และ 'คงกระพัน' รวม 1,900 ล้านบาท พักชำระหนี้ SME และยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้โรงงานที่ประสบอุทกภัย

🟡 อุตสาหกรรมใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม:
ส่งเสริมการผลิตอ้อยสด ลดการเผาอ้อย และเพิ่มพลังงานชีวมวล
เปิดงาน ECO Innovation Forum 2024 ผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว
พัฒนา 'อุทยานหินเขางู' เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
หนุน ศวฮ. จุฬาฯ ใช้ AI ในอุตสาหกรรมฮาลาล

💚 จิตอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม:
ปลูกป่าชายเลน 77,100 ต้น ลดโลกร้อน 🌳
ลงพื้นที่เชียงราย ซ่อมแซมระบบประปา บรรเทาผลกระทบอุทกภัย
2,592,000 วินาทีแห่งความเปลี่ยนแปลง:
“เราจะทำทันที ทำทุกวินาที” – รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ พร้อมแปลงนโยบายเป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

📌 ร่วมติดตามและเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอนาคตเศรษฐกิจใหม่ไปด้วยกัน!

‘เอกนัฏ’ บุกอยุธยา ลงพื้นที่ 2 สถานที่ลักลอบทิ้งกากสารพิษ ขึงแผนแก้ปัญหาระยะยาว มั่นใจ!! เขตอุตสาหกรรมน้ำไม่ท่วม

(25 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วม

“การลงพื้นที่วันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทางนิคมฯ เขตประกอบการฯ สวนอุตสาหกรรม และโรงงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะค่อนข้างรุนแรงกว่าปีก่อน แม้ว่าขณะนี้พื้นที่โดยรอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้างแล้ว แต่พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับผลกระทบ 

ขอให้เชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มกำลัง มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย 8 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.จัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสริมคันกั้นน้ำ 3.ระบบสูบน้ำพร้อมใช้ 4.อุปกรณ์ครบพร้อมช่วยเหลือ 5.ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง 6.เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง 7.ซ้อมแผนรับมือเป็นประจำ และ 8.สื่อสารแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

และช่วงบ่ายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 

1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น 

2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น

“กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

'รมว.เอกนัฏ' สั่งปิด!! โรงงานหลอมโลหะ นิคมบ่อทอง เน้นย้ำ!! อุตสาหกรรมยุคใหม่ ต้องปลอดภัย

(26 ต.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ถึงกรณี จากเหตุระเบิดถังผสมสารเคมี บริษัทเซียงนัน-เฟอรัส เมทัล โรงงานสกัดโลหะ ในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 2 คน และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

หลังเกิดเหตุ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กับคณะทำงานร่วมกันหารือและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นนายเอกนัฏ มอบหมายผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม ให้สั่งปิดโรงงาน เพื่อตรวจสอบทันที และพร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

นายเอกนัฏ เน้นย้ำ มาตรการรักษาความปลอดภัยภายในการนิคมอุตสาหกรรม ต้องเข้มงวด ทั้งการกำกับตามกฎระเบียบ ระบบสาธารณูปโภคภายในโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานส่วนที่ประกอบกิจการที่มีวัตถุอันตราย ไว้ครอบครอง ต้องปฏิบัติตาม พรบ.วัตถุอันตราย อย่างเคร่งครัด 

ขอฝากเจ้าหน้าที่การนิคม และข้าราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจตราเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ ไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

'เอกนัฏ' ย้ำเจตนารมณ์ไทย บนเวที COP13/MOP36 เดินหน้าเชิงรุกลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

(1 พ.ย. 67) รมว.เอกนัฏ ประกาศบนเวทีสหประชาชาติ COP13/MOP36 ดันไทยลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เดินหน้าเชิงรุก ปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับสูงภาคีอนุสัญญาเวียนนา ครั้งที่ 13 (COP13) และรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 36 (MOP36) (วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีกว่า 148 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รายงานการศึกษาทั้งด้านเทคนิคและวิชาการ การนำเสนอเทคโนโลยีสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงาน รายงานการเงินและงบประมาณกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสําคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยได้ดำเนินแนวทางเชิงรุกในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้เร็วกว่าที่พิธีสารมอนทรีออลกำหนดไว้ ด้วยการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศและประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงานภายในประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวทันบริบทโลก ผ่านกลไกกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีกรอบเงินทุนการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2563 – 2568) กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับประเทศไทยยังได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการประกาศห้ามใช้สารซี เอฟ ซี (Chlorofluorocarbons (CFCs)) ในการผลิตอุปกรณ์ทำความเย็น และห้ามนำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สาร CFCs เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการควบคุมและกำกับดูแล 

นอกจากนี้ ยังได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารเอช เอฟ ซี Hydrofluorocarbons (HFCs) โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสารทําความเย็นในอุปกรณ์ทําความเย็น ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เร็วกว่าข้อกำหนดตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ที่กำหนดให้ปี 2572 ต้องลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 10%  ปี 2578 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 30%  ปี 2583 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 50% และในปี 2588 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 80% เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30 - 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608

“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือดำเนินงานกับภาคีต่าง ๆ และประชาคมโลก เพื่อแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เอาจริง ลั่น!! ปราบโรงงาน ‘เถื่อน-ผิดกฎหมาย’ ย้ำ!! เร่งบริหารจัดการ กากอุตสาหกรรม อย่างเป็นรูปธรรม

(2 พ.ย. 67) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้สั่งการให้ลงพื้นที่บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกั ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายอำเภอศรีมหาโพธิ์ เข้าร่วมตรวจสอบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ืได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม โดยบริษัทประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน สกัดโลหะมีค่าจากน้ำยาชุปโลหะ อบกากตะกอนที่มีโลหะมีค่า บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำกรดและด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ หลอมหล่อทองแดงจากกากตะกอนของเสียที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีคำสั่งปิดโรงงานของบริษัทและเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางโรงงานได้ฝ่าฝืนคำสั่งและยังคงประกอบกิจการอยู่ จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปราจีนบุรีเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมวิศวกรชาวจีนผู้ดูแลโรงงานดำเนินคดี 1 ราย และคนงานต่างด้าว 4 ราย รวมทั้งพบความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) ข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 2) ข้อหาประกอบกิจโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 3) ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งปิดโรงงาน 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งของที่ยึดและอายัดไว้ในทุกอาคาร พบว่ามีการสูญหายและมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของออกไปนอกพื้นที่ จึงได้ดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ความผิดข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานตามมาตรา 56 พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 2) ความผิดข้อหาทำลายหรือเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดตามมาตรา 141 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 3) เจ้าหน้าที่ดำเนินการนำตัวอย่างวัตถุดิบหรือสิ่งของต่าง ๆ ภายในอาคารมาทดสอบ พบเป็นวัตถุอันตรายและไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับได้ทันทีเป็นเหตุให้จับวิศวกรชาวจีนดำเนินคดี และดำเนินคดีกับกรรมการบริษัทและผู้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอย่างถึงที่สุด

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำตามนโยบาย การปฏิรูปอุตสาหกรรม การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พรบ.ว่าด้วยการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการจัดการกับผู้กระทำผิดต่อไป หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้ รธน. แม้ไม่มีนโยบายหนุน แต่ย้ำชัด!! ห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง

’เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้รธน. แม้ไม่มีนโยบาย แต่ขอห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง เผย “พีระพันธุ์” ขอไปศึกษาข้อกฎหมาย-เอ็มโอยู 44 เพิ่มเติม ห่วงไทยเสียผลประโยชน์

(5 พ.ย. 67) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า ได้มีการพูดคุยกัน 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุนและพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112 และตนได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค รทสช. เรามีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายหลักของพรรค แต่หากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เราไม่ขัดข้อง แต่จะไม่ต้องแตะหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรการการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ส่วนจุดยืนของพรรค รทสช.ต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ภาพใหญ่ของพรรค รทสช. เรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วม ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ 

ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือ เรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

เลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวว่า หลังประชุมพรรคร่วม ตนได้โทรศัพท์หานายพีระพันธุ์ สิ่งที่นายพีระพันธุ์ให้ความสำคัญคือ เรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมาย จึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัวเอ็มโอยู 2544 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเอ็มโอยู 2544 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง ในส่วนของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม ซึ่งนายพีระพันธุ์ระบุว่า ในส่วนนี้ต้องดูให้ดี คำว่าผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายก็อยากได้ ทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด 

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการสัมปทานไปก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์จึงกำลังศึกษาอยู่ว่า หากเป็นไปแบบนั้นจริง ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายยังหมายรวมถึงพื้นที่ในทะเล หรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย ซึ่งเป็นที่มาที่ไทยได้ประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปเมื่อปี 2516 ไทยก็ต้องรักษาเขตแดนของเรา ส่วนการเจรจาผลประโยชน์ร่วมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน 

“ยังไม่ถึงกับว่า นายพีระพันธุ์ไม่สบายใจเรื่องนี้ เพียงแต่สไตล์การทำงานของท่านต้องศึกษาให้เกิดความละเอียดในทุกเรื่อง จนกว่าท่านจะมั่นใจ เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำกันมา 20-30 ปีแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว ต้องทำให้รอบคอบ อย่าให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ต้องไปดูว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”นายเอกนัฏ กล่าว

‘เอกนัฏ’ นำทีม ‘ดีพร้อม’ จับคู่พันธมิตร ‘จังหวัดโทคุชิมะ’ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่หนุน ศก.ไทย – ญี่ปุ่น โตยั่งยืน

เมื่อวันที่ (31 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top