Tuesday, 20 May 2025
เอกนัฏ_พร้อมพันธุ์

‘เอกนัฏ’ สั่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เยียวยาเร่งด่วน-สนับสนุนเงินทุน-แผนรับมือในอนาคต เพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ

(22 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้ามาตรการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสถานประกอบการเร่งด่วนผ่านการจัดกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) พร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักร รวมถึงผลักดันสถานประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูและเยียวยาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนฯ กว่า 20 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่มีต้องการความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาในกรณีต่าง ๆ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 

1. มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ผ่าน “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ของอุตสาหกรรมรวมใจ ไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค พร้อมเตรียมการรถบรรทุกและรถขนส่งสำหรับการบริจาคสิ่งของจากเครือข่ายดีพร้อม ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิคช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว 

2. มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผน การฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การฟื้นฟู และปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout, Re-Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ เช่น การให้คำปรึกษา ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อให้ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP กลับมาดำเนินการได้ปกติ พร้อมยกระดับศักยภาพการประกอบอาชีพสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ ลดรายจ่าย สามารถสร้างอาชีพใหม่ หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งได้บูรณาการผ่านเครือข่ายดีพร้อม (DIPROM Connection) จับมือกับเครือข่ายทางการพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ SMEs เข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท

3. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น พร้อมติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบแบบ Real Time พร้อมให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว 

นายภาสกร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมทั่วประเทศ” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เผย คุมเพลิงไหม้นิคมฯ มาบตาพุดได้แล้ว สั่งการให้คุมเข้มเรื่องสารเคมีรั่วไหล พร้อม!! ดูแลเยียวยาประชาชนโดยรอบอย่างใกล้ชิด รายงานเบื้องต้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

(22 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เพลิงไหม้ของ บริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ-หนึ่ง ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันนี้ ในขณะนี้นั้น ทาง ‘นิคมมาบตาพุด’ สามารถควบคุมเพลิงไหม้ไว้ได้แล้ว 

และตนได้สั่งการให้การนิคมฯ คุมเข้มเรื่องสารเคมี และสารพิษรั่วไหล โดยขณะเกิดเหตุได้อพยพคนออกจากพื้นที่ และไม่พบว่ามีใครได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นพบว่าเหตุเกิดในกระบวนการผลิต สามารถตัดแยกสารเคมีที่รั่วไหลได้ ยังไม่ลุกลามเข้าไปบริเวณแท้งค์เก็บสารเคมี

ล่าสุดเวลา 15:45 น. ตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบว่ากลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ของการนิคมฯ ร่วมกับบริษัทฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนในชุมชนใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด

'รมว.เอกนัฏ' มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว 2024 เชิดชูผู้ประกอบการใส่ใจ 'ดูแลชุมชน-สิ่งแวดล้อม'

เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2567 'ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน..คู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม..ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว' ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) กรุงเทพฯ

รมว.เอกนัฏ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และทักษะคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่...

(1) การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 
(2) Save อุตสาหกรรมไทย
(3) การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ 

โดยจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ 
(1) การสร้างความร่วมมือ พันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ 
(2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม 
(3) การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business

การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนแข่งขันได้ในระดับสากล 

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจประเมิน และการให้บริการช่วยเหลือแก่สถานประกอบการให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแนวโน้มการค้าโลก 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับงานรับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยในปีนี้เป็นการมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2566-2567 จำนวน 325 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 289 ราย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและส่งเสริมสถานประกอบการในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม และชุมชนที่อยู่โดยรอบอย่างยั่งยืน 

สิทธิประโยชน์ สำหรับโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป เช่น การใช้โลโก้ GI บนผลิตภัณฑ์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับโอกาสทางการตลาด และการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2567) มีสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน 57,663 ใบรับรอง แบ่งเป็น...

(1) ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) จำนวน 50,591 ใบรับรอง
(2) ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) จำนวน 3,112 ใบรับรอง 
(3) ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) จำนวน 3,455 ใบรับรอง 
(4) ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 429 ใบรับรอง 
(5) ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 76 ใบรับรอง 

'รมว.เอกนัฏ' ย้ำ!! ต้องเพิ่มรายได้ให้ระบบอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทย แง้ม!! เตรียมส่งเสริมมูลค่า 'ใบ-ยอดอ้อย' ช่วยเติมรายได้อีกทาง

(25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2566/2567 ซึ่งตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหากประสิทธิภาพการผลิตลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก 

ประเด็นที่สอง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน และผมได้ให้ สอน. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง

"ผมเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รมว.เอกนัฏ’ เยี่ยมชมโรงงานผลิตยา จ.ราชบุรี ชูต่อยอดอุตฯ ด้วยการวิจัย-เทคโนโลยีทันสมัย

เมื่อวานนี้ (25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้ร่วมมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ประเภทรถเข็นนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้สนับสนุนจัดหาถุงยังชีพแก่ครัวเรือนเปราะบางในจังหวัดราชบุรี จำนวน 500 ราย 

“รถเข็นนั่งวีลแชร์ที่พี่น้องคนพิการได้รับในวันนี้จะเป็นอุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้รับโอกาส สิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียม ทั่วถึงให้กับกลุ่มคนพิการ ส่วนถุงยังชีพที่ได้รับ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและครัวเรือนกลุ่มเปราะบางในเบื้องต้น และต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ธพว. ที่ให้การสนับสนุนสิ่งของดังกล่าว ขอขอบคุณทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมมือร่วมใจกันให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งเป็นการร่วมสืบสานพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบำบัดทุกข์และสร้างความผาสุกร่มเย็น ให้แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า รวมถึงพี่น้องคนพิการทุกคน”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ และคณะยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสายการผลิต ศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการผลิตสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ โดยบริษัทฯ ได้มีการยกระดับงานวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ รูปแบบยาแผนปัจจุบัน ยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางและสารสกัด รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอกมาวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอเท่าเทียมกันในทุกรุ่นการผลิตและเพิ่มคุณค่า คุณประโยชน์ให้กับผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ยกระดับผลิตภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

นอกจากนี้ บริษัทเน้นการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามแนวนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

'รมว.เอกนัฏ' ส่งเสริมสถานประกอบการยุคใหม่ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

(27 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเกิดฟื้นตัวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสร้างการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจากกฎกติกาสากลและคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น และครอบคลุมในหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ และเป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก

ด้วยความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว จึงได้มอบนโยบาย 'การขับเคลื่อนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส' และเน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่าใช้จ่ายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 

โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นำร่อง 12 จังหวัด อาทิ จังหวัดแพร่, เชียงราย, พะเยา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, เพชรบุรี, หนองบัวลำภู, ลำปาง, นนทบุรี, ยะลา, ภูเก็ต และร้อยเอ็ด เพื่อยกระดับสถานประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 32 ราย และคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกรอบแนวคิด BCG ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 12 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 764 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

'เอกนัฏ' หนุน!! ปรับเหมืองเก่า 'ภูเขาหินเขางู' เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หวัง!! กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คืนกำไรสู่ท้องถิ่นตามหลัก BCG

(30 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ภูผาแรด ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งภูเขาหินเขางู เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มีแผนที่จะให้พื้นที่หินเขางูนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่และชุมชนรอบข้าง โดยได้เชิญธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ ดีพร้อม) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ของเขางู ให้มีความน่าสนใจเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง 

"ผมอยากให้พื้นที่ของอุทยานเขางูแห่งนี้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว โดยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยอุทยานเขางูได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ มีทั้งบริการแคมป์ปิ้งและกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัย เช่น ปีนหน้าผา ปั่นจักรยาน ทั้งในอนาคตยังมีแผนที่จะนำอุปกรณ์เหมืองเก่ามาจัดแสดงโชว์ไว้สำหรับศึกษาและอนุรักษ์ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน จะทำให้การฟื้นฟูอุทยานเขางู กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัด และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้" รมว.เอกนัฏ กล่าว    

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green  Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

'เอกนัฏ' สั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 35,108 โรงงาน พร้อมเร่งเยียวยา-ฟื้นฟูความเสียหายหลังสถานการณ์ดีขึ้น

(3 ต.ค.67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่น้ำท่วม เร่งเยียวยาความเสียหายหลังสถานการณ์น้ำดีขึ้น โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 และจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมใน 57 จังหวัด คาดการณ์ว่าโรงงานจำพวกที่ 2 และ จำพวกที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 35,108 โรงงาน มูลค่ากว่า 176 ล้านบาท

กรอ. ได้จัดทำประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน กรณีโรงงานได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูล ตามแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1.โรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูลตั้งแต่บัดนี้ - 31 ตุลาคม 2567
2.ดาวน์โหลดแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมพ.ศ.2567ได้ที่ https://www.diw.go.th/webdiw/25092567-01/
3.กรอกแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567
4.กำลังแรงม้าเครื่องจักร / จำนวนคนงาน ต้องกรอกให้ตรงกับ ร.ง.2 หรือ ร.ง.4
5.แนบสำเนา ร.ง.2 หรือ ร.ง.4 พร้อมแนบภาพถ่าย/ข้อมูลความเสียหาย (ถ้ามี)
6.ยื่นเอกสารด้วยตนเอง ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่

“การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน เป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในการฟื้นฟูกิจการภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นจนก้าวเดินต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรอ.จะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรายชื่อได้รับการยกเว้น สำหรับผู้ประกอบการที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีในปี 2567 แล้ว จะได้รับการยกเว้นในปี 2568” นายพงศ์พล กล่าวปิดท้าย

‘เอกนัฏ’ ปิดช่องนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สั่งการ!! สมอ.ร่วมกรมศุลฯ คุมเข้มสินค้า ‘กลุ่ม Exempt 5’

(5 ต.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ามาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานภายใต้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดสั่ง สมอ. ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ที่นำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายและไม่เกินจำนวนที่กำหนด หรือ EXEMPT 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้ สมอ. หารือกับกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อยกระดับการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่การนำเข้า ผลิต และจำหน่าย ให้ถึงมือประชาชนด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ตนได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทาง EXEMPT 5 และเปิดเป็น 'ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า' ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิม EXEMPT 5 เป็นช่องทางที่อาจมีผู้นำเข้าอาศัยช่องว่างดังกล่าว ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ จึงต้องทำการปิดช่องทางนี้ และเปิดให้มายื่นขอบริการผ่านทางช่องทาง national single window (NSW) แทน ทั้งนี้ หากท่านประสงค์จะนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 144 รายการ ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด หรือนำเข้ามาจำนวนเพียงไม่กี่ชิ้นก็ตาม จะต้องยื่นคำขอผ่านระบบ NSW เพื่อแจ้งข้อมูลการนำเข้ากับ สมอ. ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น สำหรับศูนย์เฉพาะกิจฯ มีผู้ประกอบการและประชาชนเข้ามารับบริการแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้ที่ชั้น 1 สมอ. หรือ โทร. 0 2430 6815 ต่อ 3001 – 3003 ในวันและเวลาราชการ

“ฝากถึงผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ลักลอบนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่าย ไม่ว่าจะช่องทางใด หากตรวจพบ สมอ. จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ สำหรับคำแนะนำประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าให้สังเกตที่มีเครื่องหมาย มอก. คู่กับ QR Code ที่แสดงข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง อย่าดูที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียวอาจได้สินค้าด้อยคุณภาพ” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘เอกนัฏ’ ยกทีมกระทรวงอุตฯ บุกภูเก็ต หนุนเงินทุน-เทคโนโลยี SME ย้ำชัดพัฒนาศักยภาพ Soft Power เมืองผ่าน ‘อาคาร-อาหาร-อาภรณ์-อารมณ์’

(7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต 

เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างความเท่าเทียมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในการให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดย SME มีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากรายงานสถานการณ์ SME ไทย ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการกว่า 3.24 ล้านราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต (สอจ.ภูเก็ต) จึงได้ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผ่านกิจกรรมสร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ ให้คำปรึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ยังได้จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ยังได้เชิญ ธพว. มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“ผมและคณะได้เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ยุโรป มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และได้สร้างบ้านเป็นตึกแถว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ"ชิโน-ยูโรเปียน" ทั้งสองสองฝั่งถนน ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมอันเกิดจากการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด 

โดย สอจ.ภูเก็ต ได้เข้าไปส่งเสริมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) การส่งเสริมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ อาทิ การทอเศษผ้าปาเต๊ะด้วยกระบวนการประยุกต์การทอเส้นด้าย การปักลูกปัดสีและเลื่อม สกรีน การเพ้นท์สีลายน้ำให้มีมิติผสมผสานศิลปะ สถาปัตยกรรมจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมร้านคุณแม่จู้ของฝากเมืองภูเก็ต (บริษัท แม่จู้ จำกัด) ร้านค้าภูมิปัญญาไทย (DIS SHOP) รายแรกของภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกิจการทำขนมอบแห้ง น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิดและของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้การรับรอง Green Industry ระดับที่ 1 “ความมุ่งมั่นสีเขียว” ให้กับบริษัทฯ ในความมุ่งมั่นของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน”

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เราเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในโครงการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม” หรือ คพอ.(ดีพร้อม) สำหรับภูเก็ตมีการดำเนินงานมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้  นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักของภูเก็ตคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในพื้นที่ 

รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Soft Power ภูเก็ต คือ อาหาร อาคาร อาภรณ์ อารมณ์ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและอาหาร การเชื่อมโยงพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร หรือการโปรโมทสินค้าท้องถิ่นและวัฒนธรรมผ่านเวทีนานาชาติสู่การขยายตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด BCG เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top