Monday, 20 May 2024
เศรษฐา_ทวีสิน

‘นายก’ มุ่งแก้ปัญหา ‘หนี้นอกระบบ’ เชิงรุก ให้ปชช. ชี้!! ตั้งใจให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ พร้อมสั่งผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ที่ต้นทาง

(3 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า...

“ความรับผิดชอบในการจัดการเรื่องหนี้นอกระบบ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางในการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งผมตั้งใจให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะในบางครั้งมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมาย และลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้ ที่เกินเงินต้นเป็นจำนวนมากเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผมได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการจัดการแก้ไขหนี้สินรายย่อยเชิงรุก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินที่ต้นทางให้ประชาชนครับ”

'นายกฯ' ยัน!! สั่งศึกษาขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-จนท.รัฐ’ เหตุไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ขีดเส้นสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุป

(6 พ.ย. 66) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานภายในสิ้นเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่ ว่าจะปรับขึ้นภายในปีงบประมาณใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องมาดูอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

เมื่อถามว่า จะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงินเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็น 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังรมว.แรงงาน อีกครั้ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

‘นายกฯ’ รับทราบ หนุ่มขู่ฆ่า เหตุผิดหวังนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ขอ!! ติชมอย่างสร้างสรรค์ ส่วนเคสนี้ ดำเนินการตามกฎหมาย

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ตำรวจไซเบอร์ ได้เข้าทำการค้นบ้านจับหนุ่มโพสต์ข้อความขู่ฆ่า และเจ้าตัวสารภาพทำเพราะอารมณ์ชั่ววูบและผิดหวังกับคำสัญญาของพรรคการเมืองว่า เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการรายงานหรือยัง หลังตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุมหนุ่มโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล ขู่ฆ่านายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรียอมรับว่า ได้รับทราบข่าวแล้ว ไม้ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย  

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าผู้ต้องหาคนที่ขู่ระบุว่า ผิดหวังเรื่องของการเมืองและการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี จะกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ผมว่าเราเป็นรัฐบาล เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีคนไม่พอใจ ไม่สบายใจ หรือมีคนแนะนำมาเราก็ต้องฟัง แต่ขอให้ติชมแต่ขอให้ติดชมอย่างสร้างสรรค์มากกว่า มากกว่าที่จะเป็นการคุกคาม ตามกฎหมายซึ่งเรื่องนี้ต้องว่าไปตามกฎหมาย”

ส่วนจะมีการกำชับหรือสั่งการอะไรเป็นพิเศษ เรื่องการรักษาความปลอดภัยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ยังไม่มีการสั่งการอะไร เพราะเชื่อว่า ทีมรักษาความปลอดภัยทำงานได้ดีอยู่แล้ว เพิ่มกันเองแต่หากมีการเพิ่มเขาก็จะเพิ่มกันเอง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการเดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีวันนี้ยังคงเป็นไปตามปกติของระบบรักษาความปลอดภัย โดยมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวน 1 คัน จากนั้นก็เป็นรถของนายกรัฐมนตรีและรถของทีมรักษาความปลอดภัยอีก 2 คัน ซึ่งเป็นไปตามปกติของทุกวัน

ไพ่เด็ด!! ‘ซอฟต์พาวเวอร์-ดิจิทัล วอลเล็ต’ สมการอำนาจละมุน ในกำมือ ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่เอี่ยมอ่อง ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร’ นั่งเป็นประธานการประชุมพรรควันแรก นอกจากบอกกล่าวลูกพรรคเรื่องการได้พบทูตหลายประเทศแล้ว ยังได้เลี้ยวมาพูดถึงงานถนัดที่รับผิดชอบอย่าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่เกิดอาการดรามามาจากผู้กำกับหนัง ‘สัปเหร่อ’ ที่พึมพำออกมาว่า “ซอฟต์พาวเวอร์หมายถึงอะไรกันแน่…??”

คุณหนูอุ๊งอิ๊งบอกกับที่ประชุมพรรค สรุปสั้น ๆ ว่า…

“ซอฟต์พาวเวอร์ อธิบายอย่างง่ายว่า เป็นอำนาจละมุน ไม่ต้องใช้อาวุธหรือความรุนแรง แต่เป็นอำนาจในการชนะใจผ่านวัฒนธรรม อาทิ ช็อกมิ้นต์ พอได้ความนิยมในช็อกมิ้นต์ขึ้น ช็อกมิ้นต์ขายดีขึ้น อันนี้คือวัฒนธรรมที่ถูกโอบรับโดยคนในประเทศ แต่นี่เป็นเพียงภาพเล็ก...สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ที่กำลังเกิดขึ้นเราต้องการผลักดันให้ Global มากขึ้น โดยเรามี 11 สาขาที่ได้แถลงไปแล้ว…”

ก็ไม่มีอะไรผิดหรอก...กับคำว่า ‘อำนาจละมุน’ อะไรที่ว่า เพราะคำว่า ‘ซอฟต์แวร์’ ราชบัณฑิตยังแปลว่า ‘ละมุนภัณฑ์’ เลย แต่ถ้าไปถาม สว.กวีซีไรท์ อย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แกจะบอกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ หากจะแปลตรง ๆ คือ ‘ไม้นวม’ แต่ความหมายจริง ๆ ของมันน่าจะเป็นว่า…

‘ภูมิพลังวัฒนธรรม’

อันนี้ เล็ก เลียบด่วน ค่อนข้างเห็นด้วยกับคำของอาจารย์เนาวรัตน์นะ แต่ที่สุดของที่สุด ตอนนี้ไม่มีใครยอมเรียกขานด้วยภาษาไทยหรอก…

คงจะใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทับคำทับศัพท์กันสถานเดียว…

ก็ต้องรอ ‘อุ๊งอิ๊งค์’ เธอโชว์ผลงานชิ้นโบแดง หนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ปีหน้าก็คงมีการเสนอกฎหมายรองรับองค์กรของซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะแข็งแกร่งกว่าองค์การมหาชน…

แต่นโยบายเรือธงที่ร้อนฉ่ากว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ คือ นโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ทั้งนายกฯเศรษฐา และคุณอุ๊งอิ๊ง เรียกร้องให้ สส. ของพรรคช่วยกันตีปี๊ป...แต่จะตีปี๊ปว่าอย่างไรต้องรอการแถลงของนายกฯ ในวันที่ 10 พ.ย. เพียงคนเดียว…

‘เล็ก เลียบด่วน’ พยายามเลียบ ๆ เคียง ๆ กระซิบถาม สส.พรรคเพื่อไทย 2-3 คนว่า เค้าโครงรูปร่างของดิจิทัล วอลเล็ต เป็นอย่างไร ได้รับคำตอบเหมือนกันว่า.. “ตอบไม่ได้จริง ๆ เพราะนายกฯ ยังไม่บอก…” ก็ว่ากันไป...รอลุ้นระทึก ว่าจะ ‘เปรี้ยงปร้าง’ หรือ ‘โป้งจอด’ 

แต่ก่อนถึงวันที่ 10 พ.ย. ก็คือ วันที่ 9 พ.ย. นายกฯ มีออร์เดิร์ฟร้อน ตอน 19.00 น. ทางช่อง 11 หอยม่วง รายการพิเศษ ‘Chance of Posibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วันภายใต้รัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน’ ให้ดูชม…

แถลงผลงานวันที่ 9 และ 10 พ.ย. เสร็จ วันที่ 12 พ.ย. นายกฯ ของเราก็จะเหาะเหินไปประชุมเอเปกในวันที่ 12 พ.ย. ให้ ‘บิ๊กอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รักษาราชการแทน…

ไป ๆ มา ๆ นายกฯ เศรษฐา ‘นายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงของเรา’ ที่ดูเก้ ๆ กัง ๆ และพลาดพลั้งบ่อยในการพูดจา…ทำท่าจะตีตั๋วยาว เพราะสายข่าวแจ้งว่า คุณหนูอุ๊งอิ๊งต้องใช้เวลาบ่มเพาะบารมีอีกพักใหญ่ ๆ ด้วยความละมุน ในขณะที่เศรษฐาก็ปรับตัวเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความละมุนกว่าเดิม

ถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง หรือก้าวพลาดจริง ๆ รัฐบาลเพื่อไทยก็ลากยาวต่อไปเรื่อย ๆ...ทั้งหัวหน้าพรรคและนายกฯ อยู่ในช่วงอำนาจละมุน…

ใครเสี้ยมให้ระแวงให้ทะเลาะกันช่วงนี้เสียเวลา…ไม่เชื่อไปถามคนป่วยชั้น 14 รพ.ตำรวจ!!

‘นายกฯ’ ลั่น!! สางปมปั๊มขึ้นป้ายน้ำมันหมด กำชับ ‘ก.พลังงาน’ ปล่อยน้ำมันขาดไม่ได้

(9 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีบางสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งขึ้นป้ายว่าน้ำมันหมด ภายหลังมีมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซิน ว่า…

“ได้ยินเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้ตรวจสอบแล้วว่าขาดไม่ได้ โดยกระทรวงพลังงานจะเร่งกำกับดูแลเรื่องนี้ให้เหมาะสมต่อไป”

เมื่อถามว่าการกักตุนเพื่อเก็งกำไรสินค้าหรือไม่? นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “คงเป็นเรื่องของการอยากมีกำไรมากขึ้น แต่เรายอมรับไม่ได้ ต้องบริหารจัดการไป”

พลิกโฉมประเทศไทย!! เปิดภารกิจ 60 วัน 'นายกฯ เศรษฐา' ‘เคลียร์ปัญหา-เดินหน้าพัฒนา’ อะไรไปแล้วบ้าง?

ผ่านมาร่วม 2 เดือน กับรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่ามีหลายเรื่องที่กำลังทำ และหลายเรื่องที่เดินหน้าไปได้แล้วอย่างรวดเร็ว ภายใต้แผนนโยบายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งเน้น Quick Win 3 ประการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยว, การเกษตร, การต่างประเทศ, การคมนาคม และอีกหลายเรื่อง

ลองมาดูกันว่า 60 วันมานี้ รัฐบาลเศรษฐา ทำอะไรไปแล้วบ้าง? และโดนใจคนไทยสักแค่ไหน?

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! แจกเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน

‘นายกฯ เศรษฐา’ แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’ แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นต่อเดือน เงินฝากทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท มีระยะเวลาการใช้ 6 เดือน พร้อมขยายพื้นที่การใช้ครอบคลุมระดับอำเภอ เตรียมตั้งงบ 600,000 ล้านบาท แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย 

(10 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียกประชุมนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ โดยระบุในช่วงเช้าก่อนการแถลงว่า “คำพูดของตน ไม่ต้องจด ไม่ต้องอัด ตั้งใจฟังอย่างเดียว เพราะมี Press Release อย่างหนาให้”

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า... 

โครงการดังกล่าวจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวม 600,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายก่อนที่จะสรุป และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า ได้ปรับเงื่อนไขให้รัดกุมมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่เงินฝากมากกว่า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้จ่ายนั้น จะใช้จ่ายในระดับอำเภอ มีระยะเวลาใช้จ่ายก้อนแรกภาย 6 ในเดือน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ซื้อบริการไม่ได้ แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ซื้อทอง เพชร พลอย เติมน้ำมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา กัญชง หรือนำไปชำระหนี้ไม่ได้ ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ร้านค้าที่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อมีการถามถึงการใช้งาน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะใช้สิทธิ์ยากหรือไม่ และเข้าร่วมอย่างไรนั้น? นายกฯ ประกาศว่า “เราจะพัฒนาต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียน 40 ล้านคน ร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งเป๋าตัง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีลดระยะเวลา งบประมาณ ซ้ำซ้อน”

หลังจากนั้น นายกฯ ยังได้เผยถึง โครงการลดหย่อนลดภาษี โดยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะออกโครงการลดหย่อนภาษีให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

“ยังยืนยันให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยลดหย่อนภาษีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาประกอบการยื่นภาษี” นายกฯ กล่าว

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน คือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“นี่ไม่ใช่สงเคราะห์ ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจแทนสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ...

“ผมขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนร่วมเป็นผู้สร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา” นายกฯ ทิ้งท้าย

สำหรับโครงการทั้งหมดที่ว่ามาจะสามารถใช้ได้เมื่อใดนั้น จะต้องผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา ในช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดใช้ประชาชนใช้ พฤษภาคม ปีหน้า (2567) ช่วงก่อนหน้านั้นจะมี e-Refunds ตั้งแต่เดือนมกราคม และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิถุนายน 67 ทั้งนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป 

‘นายกฯ เศรษฐา’ เคาะ!!เงื่อนไข ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่น เงินฝากไม่เกิน 5 แสน ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’

‘นายกฯ เศรษฐา’ แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’ แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นต่อเดือน เงินฝากทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท มีระยะเวลาการใช้ 6 เดือน พร้อมขยายพื้นที่การใช้ครอบคลุมระดับอำเภอ เตรียมตั้งงบ 600,000 ล้านบาท แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย

เปิดใจ 'พีระพันธุ์' ทำไมเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ทันใจ เหตุ!! 'นายกฯ' ไฟเขียว!! ไม่ยอมให้ราคาแปรผันเหมือนตลาดหุ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 โดยมี ชุติมา พึ่งความสุข และ วีระ ธีรภัทร ดำเนินรายการ

เมื่อถามถึงบรรยากาศในการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "บรรยากาศดีครับเมื่อได้เข้าประชุม ครม. กับ ท่านนายกฯ ส่วนที่บอกว่าท่านไปต่างประเทศบ่อย ท่านก็ไปในช่วงที่ไม่มีประชุม ถ้าจำไม่ผิด ท่านลาประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเอง"

เมื่อถามถึงช่วงก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐมนตรีท่านอื่นถึงทำเรื่องลดราคาค่าครองชีพด้านพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟ? พีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนที่ผมรู้ว่าต้องรับหน้าที่นี้ ผมหนักใจมาก เพราะผมรู้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว จากที่ผมศึกษากฎหมายมา อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวหมด

"เมื่อตอนที่เราหาเสียง เราพูดถึงนโยบายไว้มาก เราหวังว่าเราจะเข้ามาทำให้ได้ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามารู้เบื้องหลัง ก็รู้สึกหนักใจ แต่ในเมื่อพูดไว้แล้ว และได้โอกาสเข้ามาทำแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็จะทำให้สำเร็จ ด้วยว่านิสัยผมเป็นคนแบบนี้ จะทำได้หรือไม่ได้ แต่จะลงมือเลย" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "และผมก็โชคดีที่ท่านนายกฯ ก็มุ่งทำนโยบายนี้เหมือนกัน ท่านประกาศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ผมก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าทำให้หลายเรื่องที่ผมกังวลว่าจะทำอย่างไร กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ผมแก้ปัญหาและดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่นดี"

"เมื่อผมได้ศึกษาปัญหาแล้ว เรื่องของไฟฟ้าประเด็นหลักคือ ก๊าซ ผมไม่เถียงว่าโครงสร้างมันผิด แต่ถ้ามัวแต่ไปแก้โครงสร้างให้ถูก ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงต้องกลับมาดูว่าภายใต้โครงสร้างแบบนี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมคิดแบบนี้นะ" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมมานั่งดูว่า โครงสร้างของไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ อย่างแรกเลยต้องลดก๊าซก่อน ถ้าไม่ลดก๊าซ ก็ไม่มีทางลดค่าใช้จ่ายได้เลย อย่างที่ 2 เมื่อดูจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขยายการชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผมขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่เลย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ผมได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาสุทธิต่ำกว่า 4 บาท ตอนแรกทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องนี้ต้องดู 2 ขา ขาแรกคือราคากลาง ขาที่ 2 คือการชำระหนี้ สำหรับการชำระหนี้ มันขึ้นตรงกับเราเลย (กฟผ.) ก็สามารถทำได้ก่อน ทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 4.50 บาท"

นายพีระพันธุ์ กล่าวเสริมว่า "แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกนะ เดินหน้าต่อในเรื่องก๊าซ (ปตท.) ก็ไปคุยกันจนได้มาเป็นราคาในปัจจุบันนี้ เพราะหากรอให้สะเด็ดน้ำทั้ง 2 ขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ทางท่านนายกฯ ก็ขอมาว่า ภายใน 1 อาทิตย์ จบปัญหาได้ไหม? ผมก็รับปาก และไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็ได้มาที่ราคา 3.99 บาท" 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ส่วนงวดต่อไป (ม.ค. - เม.ย.) ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า โครงสร้างพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องปรับนะ ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง ก็จะกลับมารูปแบบเดิม แต่ผมตั้งใจจะทำ และจะทำให้ได้ด้วย"

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าจะลด ก็ต้องลดในส่วนของภาครัฐ สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนะ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับของมาเลเซีย รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่มาเลเซียเขามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา แต่ผลลัพธ์คือรัฐเข้าไปช่วยอุดหนุนเหมือนกัน รัฐบาลมาเลเซียช่วยลิตรละ 10 กว่าบาท จนทำให้ราคาขายเหลือลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเข้าไปโอบอุ้มได้แบบนั้น แต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ารัฐอุดหนุน 2.50 บาท ราคาก็ปรับลงทันที"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "อย่างน้ำมันดีเซล เราลดราคาภาษีสรรพสามิต 2.50 บาท ทำให้ราคาลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท จากตอนแรกราคา 35 หรือ 32 บาท ตอนนี้รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าจะลดราคาให้ถึงธันวาคมนี้ (3 เดือน)"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ส่วนกรณีน้ำมันเบนซิน ซับซ้อนกว่าดีเซล เพราะมีหลากหลายชนิด ตอนที่เริ่มคุยกัน ก็ต้องศึกษาเยอะมาก ๆ จะให้ลดเหมือนกันหมดก็จะกลายเป็นภาระรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายผมจึงเสนอว่า เลือกมาเลย 1 ตัวที่จะลด เอาเป็นตัวที่คนใช้เยอะ คนใช้ทำมาหากิน จึงเลือกแก๊สโซฮอล์ 91 ลดราคาลงก่อน และใช้ตัวเลขเดียวกับดีเซลคือ 2.50 บาท และยังไม่คิดถึงตัวอื่นเลย เพราะแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ทำมาหากินกัน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ระหว่างศึกษาก็ติดขัดหลายเรื่อง แต่ก็บอกทุกคนว่าทำให้ได้นะ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเลย และพอผมมั่นใจแล้วว่าจะลด แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ผมก็รายงานท่านนายกฯ ท่านก็ดีใจ แต่พอไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ตอนลงรายละเอียด กระทรวงการคลังซึ่งดูแลกรมสรรพสามิตบอกว่า ทำไม่ได้ โดยบอกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไม่ได้แยก แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ถ้าลด 2.50 บาท เขาจะไปต่อไม่ได้ ทำให้ต้องลดภาษีฯ ลงได้แค่ 1 บาท แต่เราไม่อยากผิดคำพูดกับประชาชน จึงไปดึงเงินจากกองทุนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงมาอีก 1.50 บาท"

เมื่อถามว่า หาก รมว.คลังไม่ใช่ 'เศรษฐา' การดำเนินการลดน้ำมันจะยากกว่านี้หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยาก อย่างที่ผมเรียนไปว่า ตอนผมรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อำนาจเราคนเดียว แต่พอท่านนายกฯ ประกาศว่าจะทำเหมือนกัน ผมก็โล่งใจเลย เพราะพอประกาศออกมา ทุกคนก็พร้อมใจกันทำเลย"

เมื่อถามถึงในส่วนราคาพลังงานกลุ่มที่เหลืออย่าง NGV / LPG และ LNG จะมีทิศทางปรับลดอย่างไรต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ในส่วนของ NGV ผมกำลังศึกษาอยู่ รวมถึงเรื่องก๊าซทั้งระบบด้วย NGV เป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ ผมกำลังศึกษาโครงสร้างอยู่ว่าเขาวางระบบกันอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้มีการไล่ปิดปั๊มกันอยู่ ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมา เช่น กลุ่มแท็กซี่"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ผมมองว่า เป็นไปได้อย่างไร? ที่พลังงานคือชีวิตของคน แต่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลควรต้องทำได้ จะเสรีแบบใดก็ทำไป แต่ต้องมีขอบเขต มีการกำกับดูแลตามนโยบายที่ควรจะเป็น วันนี้ผมเป็น รมต.พลังงาน และมีท่านนายกฯ ด้วย แต่เรากำหนดอะไรไม่ได้เลย ถามว่าใครกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ทั้ง NGV / LPG เลยนะ ผมว่ามันต้องมีเครื่องมือรัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องตรงนี้ให้ได้ครับ"

"สำหรับก๊าซ LNG นั้น เพราะความต้องการใช้แก๊สมากขึ้น ที่เรามีในอ่าวไทยไม่เพียงพอแล้ว ผลิตได้แค่ครึ่งหนึ่งของความต้องการเอง ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกครึ่งหนึ่งต้องนำเข้า ซึ่งมาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก ผมเข้าใจในส่วนนี้นะ แต่ผมมองว่าเราในฐานะรัฐบาล จะมาเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร มันเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาจากตัวแปรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่น? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ประเด็นนี้ผิดทั้งหมด ต้องรื้อแก้ไขทั้งหมด ราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา บวกค่าการกลั่น ต่อจากนี้ผมจะไม่ให้เรียกว่าค่าการกลั่นแล้ว เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำน้ำมันดิบมากลั่น และคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งมันไม่ใช่นะ เพราะค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นของเขาแล้วนะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกลั่น สรุปคือจริง ๆ ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไร"

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ผิดที่ 2 คือราคาที่บอก ๆ กันอยู่นี่ ไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นราคาทิพย์ คิดมาจากสูตรอะไรไม่รู้ ผิดถูกก็มาโต้แย้งกัน หลังจากนั้นก็บวก ๆ และที่น่างงสุด ๆ เลยคือภาษีสรรพสามิต บวกภาษีท้องถิ่น บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกกองทุนน้ำมัน บวกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พอจะไปขายให้ปั๊ม ก็บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต่อมาก็คือค่าการตลาด และค่อยมาเป็นราคาที่ขายหน้าปั๊ม แต่ค่าการตลาดเอามาลบ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตรงนี้ถึงเอามาลบ"

"กลายเป็นว่าสุดท้ายปลายทาง เอาภาษี 7% (รอบ 2) มาลบกับราคาที่ขายหน้าปั๊ม ได้เท่าไหร่ก็บอกว่าเป็นค่าการตลาด แบบนี้มันไม่ใช่" นายพีระพันธุ์กล่าว

เมื่อถามถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ 'ยาก' และ 'ต้องใช้เวลา' จนอาจไม่ทันใจประชาชน? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก เพราะผมทำเอง เขียนเอง แต่เนื่องด้วยภาระเยอะ ผมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ผมก็จะมีคณะของผมยกร่างฯ เองเลย โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top