Sunday, 30 June 2024
เรือหลวงสุโขทัย

ลอยอังคารอัฐิ 3 กำลังพล รล. สุโขทัยอัปาง ที่อ่าวสัตหีบ

เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ 27 ธ.ค.65 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ( ผบ.กร.) พร้อมด้วยคุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ นำญาติของผู้เสียชีวิตจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ประกอบด้วย ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก ได้รับพระราชทานยศเป็น พลเรือตรี สามารถ แก้วผลึก พันจ่าเอก อำนาจ พิมที ได้รับพระราชทานยศเป็น นาวาตรี อำนาจ พิมที  และพันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์ ได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาตรี อัชชา แก้วสุพรรณ์ หลังจากประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้วเมื่อ 26 ธ.ค.65 ได้นำอัฐิของทั้ง 3 นายทหาร มาประกอบพิธีลอยอังคาร โดยเรือหลวงปัตตานี จากท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ นำอัฐิประกอบพิธีลอยอังคาร ณ อ่าวสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งญาติมีความเชื่อว่าเมื่อนำอัฐิลอยอังคาร จะทำให้ภพหน้าเกิดมาสุขสบายและร่มเย็น

กองทัพเรือ โดยผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ ได้จัดทำพิธีอย่างสมเกียรติ พร้อมพบปะพูดคุยให้กำลังใจเหมือนในฐานะครอบครัวเดียวกันและพร้อมที่ให้การสนับสนุนคนในครอบครัวของผู้วายชนม์ อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยจะไม่มีการทอดทิ้งอย่างเด็ดขาด 

ด้านญาติของ 3 ทหารกล้าที่วายชนม์ ได้กล่าวขอบคุณกองทัพเรือ ที่ไม่ทอดทิ้งและให้การดูแลอย่างดีมาก ถึงแม้จะเสียใจแต่ก็มีความภาคภูมิใจมากๆ ที่กองทัพเรือดูแลและจัดพิธีการต่างๆ อย่างสมเกียรติชายชาติทหาร

‘พิจารณ์’ อัด ทัพเรือ ดิสเครดิตเพจ ‘CSI LA’ แต่กลับไร้เอกสารซ่อมบำรุง ‘เรือหลวงสุโขทัย’

‘พิจารณ์’ อัดทัพเรือ ดิสเครดิต ‘CSI LA’ แต่กลับไม่มีหลักฐานมาโต้ เผย กมธ.ทหารฯ ขอเอกสาร 8 รายการ ตอนนี้ได้มาแค่สอง แง้มข้อมูลใหม่ ‘ครีบกันโคลง’ ตั้งคำถาม ได้ซ่อมตามมาตรฐานหรือไม่ 

(6 ม.ค. 66) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกองทัพเรือและเจ้ากรมอู่ทหารเรือออกมาตอบโต้เพจเฟซบุ๊ก CSI LA ที่เปิดเผยเอกสารกองทัพเรือเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย ตั้งข้อสังเกตการซ่อมบำรุงโดยกองทัพเรือเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ว่า การออกมาตอบโต้ของกองทัพเรือ ในลักษณะที่ด้อยค่า CSI LA ว่าเปิดเอกสารไม่ครบ เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะในขณะเดียวกันกองทัพเรือก็ไม่ได้เอาเอกสารอะไรออกมายืนยันข้อกล่าวอ้างของตัวเองเช่นกัน

พิจารณ์กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามเรื่องนี้ในคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 และได้ขอเอกสารสำคัญจากกองทัพเรือไปทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย 1) เอกสารการตรวจสอบ checklist ก่อนการออกเรือ ว่ามีการตรวจสอบความพร้อมด้านใดบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ เสื้อชูชีพ แพชูชีพ 2) เอกสารการประเมินสภาพอากาศก่อนการตัดสินใจออกเรือ 3) รายชื่อ กำลังพลที่ประจำการ พร้อมตำแหน่งในปัจจุบันและที่ผลัดเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2559 4) บันทึกการสื่อสารทางวิทยุนับจากที่ออกเดินเรือจนถึงเวลาที่เกิดเหตุ 5) ประวัติการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน 6) ประวัติบันทึกการปฏิบัติภารกิจของเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2559 7) ประวัติบันทึกการเติมเชื้อเพลิงในภารกิจแต่ละครั้ง และ 8) รายชื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

คำยกย่องจากเพื่อนร่วมรุ่นฯ ถึง 'ต้นเรือพลับ' ไม่เอาเปรียบ - เสียสละ - มุ่งประโยชน์ส่วนรวม

ภายหลังจากที่ 'กองทัพเรือ' ได้ยืนยันผลพิสูจน์ร่างผู้เสียชีวิตรายที่ 24 จากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ระบุคือร่าง ว่าที่นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม หรือ ‘ต้นเรือพลับ’ ลูกชาย ‘บิ๊กหนุ่ย พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม’ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (13 ม.ค. 66) ช่องยูทูบ 'NavyChannel Thailand' ได้เผยแพร่วิดีโอที่มีชื่อว่า 'พลับ ต้องกลับมา คำบอกเล่าจากเพื่อนรัก' โดยเป็นความในใจจาก 'นาวาตรี กฤศฎา ศรีปริยัติ' ผู้บังคับการเรือหลวงล่องลม กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 50 กับว่าที่นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม หรือ ต้นเรือพลับ เรือหลวงสุโขทัย โดยในวิดีโอนี้ นาวาตรีกฤศฎา กล่าวว่า...

"พลับเป็นคนที่เพื่อนๆ ไว้วางใจ เนื่องจากมีนิสัยที่เข้าได้กับทุกคน ไม่เคยคิดเอาเปรียบใคร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ หรือน้อง ทำให้ทุกคนที่รู้จักเขา รักเขาทุกคน" 

"หลายๆ งานที่ได้รับมอบหมาย เช่น สมัยที่เป็นเรือตรีจบใหม่ ตำแหน่งคือผู้ช่วยต้นปืน หน้าที่หลักคือ เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้น ซึ่งเป็นภารกิจของเรือตรีจบใหม่ แต่ในตอนนั้นไม่มีประสบการณ์อะไร เพราะเพิ่งเรียนจบ แต่ว่าในปีแรกนี้ พลับก็ได้เป็นหัวหน้าชุดลงไปจับกุมเรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำน่านน้ำไทยได้สำเร็จ นั่นคืองานแรกที่เขาสามารถนำทีมไปทำภารกิจที่มีความเสี่ยงได้สำเร็จ"

‘ก้าวไกล’ ทวงเอกสาร ‘ทัพเรือ’ ปมเรือหลวงล่ม ขู่!! หากไม่แจงให้ชัด เจออภิปราย ม.152 ในสภาฯ

‘พิจารณ์’ ทวงทัพเรือ ครบ 1 เดือนเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ยังส่งเอกสารให้ กมธ.ทหารไม่ครบ ย้ำขอรายชื่อกรรมการสอบสวน-ประวัติซ่อมเรือ เผย 19 ม.ค. เชิญ ทร. หารือที่สภา หากยังชี้แจงไม่ชัดเจน เจอตามต่ออภิปราย ม.152

(17 ม.ค. 66) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการทหาร แสดงความเห็นกรณีเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางเป็นเวลาครบ 1 เดือนในวันนี้ว่า ขณะนี้ครบรอบ 1 เดือนของโศกนาฏกรรม หลังจาก กมธ. การทหารประชุมเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 และได้ขอเอกสารสำคัญจากกองทัพเรือทั้งหมด 8 รายการ แต่ผ่านมา 25 วัน กองทัพเรือส่งให้เพียง 2 รายการ ยังไม่มีเอกสารเพิ่มเติมมาถึง กมธ. ตามที่ขอไป

พิจารณ์กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการมาก คือ ประวัติการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทราบข้อมูลการซ่อมบำรุงตามวงรอบว่าได้ทำตามมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าว รวมถึงข้อสังเกตที่สาธารณะตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาพความพร้อมใช้งานของเรือ ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมบำรุงครีบกันโคลง (Fin Stabilizer) ที่มีข้อมูลว่าถูกถอดออกไปแล้ว การซ่อมแซมตัวเรือบริเวณใต้ผิวน้ำที่สึกหรอและบางลง เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงการซ่อมเปลี่ยนแบริ่งรองรับเพลาจักร นอกจากนั้น ยังมีรายชื่อของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งกองทัพเรือยังไม่เปิดเผยชื่อ โดยในวันที่ 19 มกราคมนี้ ทาง กมธ.การทหาร ได้เชิญกองทัพเรือมาหารือที่รัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าและทวงถามเอกสาร

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานการประชุมพิจารณาการได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งทายาทของกำลังพลกองทัพเรือที่เสียชีวิตกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.66) พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือและประธานกรรมการพิจารณาการได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งทายาทของข้าราชการทหารและทหารกองประจำการที่เสียชีวิต เนื่องจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งทายาท และกำหนดจำนวนทายาทที่จะได้รับสิทธิ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน 

กองทัพเรือ ฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาจิตใจให้แก่กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย หลังผ่านสถานการณ์วิกฤติ

กองทัพเรือ โดยกองเรือยุทธการ ร่วมกับชมรมภริยากองเรือยุทธการ และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ จัดกิจกรรมฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาจิตใจให้แก่กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย 

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 66 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มอบหมายให้ พลเรือตรี อนิรุธ สวัสดี รองเสนาธิการ กองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ให้แก่กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย หลังจากที่ผ่านสถานการณ์วิกฤติ โดยมีชมรมภริยากองเรือยุทธการ และทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจภาวะวิกฤตสุขภาพจิต รพ.อาภากรฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมฯ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 80 นาย 

โดยการจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจให้แก่กำลังพลอย่างทันท่วงที ลดผลกระทบทางด้านจิตใจและมุมมองความขัดแย้งทางความคิด จนทำให้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งและกลับคืนมาใช้ชีวิตตามปกติ 

กองทัพเรือทำบุญครบรอบ 50 วัน อุทิศส่วนกุศลกำลังพล ร.ล.สุโขทัยที่เสียชีวิตและสูญหาย

วันนี้ (3 ก.พ. 66) ที่ พุทธสถาน กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี ทำบุญครบรอบ 50 วัน และ 100 วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่กำลังพล ร.ล.สุโขทัย ที่เสียชีวิตและสูญหาย รวมทั้งเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นสิริมงคล แก่กำลังพล ร.ล.สุโขทัย ที่รอดชีวิต โดยมี ผู้บังคับบัญชาหน่งยขึ้นตรง ข้าราชการ ทหาร ตลอดจน ญาติและครอบครัว เข้าร่วมในพิธี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย จากเหตุเรืออับปาง ครบ 50 วัน ซึ่งเป็นการรำลึกถึงเกียรติประวัติ และแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและสูญหาย รวมทั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลให้ผู้รอดชีวิต และเพื่อแสดงความห่วงใยจากกองทัพเรือที่มีต่อครอบครัวกำลังพลที่เสียชีวิต

'ทร.' แจ้ง ผลสอบ 'รล.สุโขทัย' คืบหน้า 90% เริ่มกู้เรือได้ เม.ย.นี้ คาด ไม่เกิน 1 ปี รู้สาเหตุเรือล่ม

(22 ก.พ. 66) พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนเรือหลวงสุโขทัยอับปางในรอบ 2 เดือน ว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังอยู่ระหว่างดำเนินการ หลังจากสอบปากคำผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้ง 289 ปาก ข้อมูลที่ได้กำลังอยู่ระหว่างประเมินเพื่อนำมาสรุป และชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนได้รับทราบ ยืนยันว่า กองทัพเรือไม่ได้พยามจะดึงเรื่องให้มีความยืดเยื้อ หรือเชื่องช้า เราพยายามทำอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้มีความรอบคอบ และครอบคลุม เรื่องราวทั้งหมด

นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อมูลทางเอกสารในเรื่องการรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องวัตถุพยาน ซึ่งขณะนี้ การดำเนินการเตรียมการกู้เรือหลวงสุโขทัย กำลังดำเนินการอยู่ น่าจะได้บทสรุปในเดือนนี้ ขณะนี้ยังติดเรื่องคลื่นลมในทะเลฝั่งอ่าวไทย ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ คาดว่า ภายในเดือนเมษายนเป็นอย่างช้า น่าจะเริ่มดำเนินการกู้เรือได้ ซึ่งระยะเวลาดำเนินการเท่าไหร่นั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องดูว่ามีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน แต่กระบวนการทั้งหมดที่จะได้ข้อสรุปคงไม่เกิน 1 ปี ต้องรอดูสภาพใต้ท้องเรือว่า ตรงกับคำให้การที่สอบไปหรือไม่ แต่ตอนนี้เรา ปะติดปะต่อเหตุการณ์เรื่องราวได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ขาดเพียงแค่พยานวัตถุ

“เราพยายามไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลออกไป แต่ส่วนหนึ่งก็หลุดออกไปบ้าง แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แท้จริง ต้องรอกองทัพเรือชี้แจงอย่างเป็นทางการ 2 เดือนที่ผ่านมา ถือได้ว่าผลสรุปการสอบพยานด้านบุคคล รวมถึงเอกสารถึงคืบหน้าไป 90% แล้ว

ส่วนพยานวัตถุเราได้แค่ภาพถ่ายใต้น้ำ ซึ่งใช้นักประดาน้ำ และยานซีฟอกซ์ ซึ่งเป็นยานใต้น้ำ ลงไปถ่ายแต่ยังมองไม่ชัดเพราะ สภาพเรือนั่งแท่นบนทรายจึงมองเห็นไม่ชัด ต่างกับกรณีที่เรือเอียงจะถ่ายแล้วเห็นชัดมากกว่า ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ติดขัดในการถ่ายภาพใต้น้ำนำมาประกอบหลักฐาน จึงยังไม่สมบูรณ์จึงต้องมีการกู้เรือมาเพื่อดูสภาพนั้นอีกครั้ง” พล.ร.อ.ปกครอง กล่าว

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวอีกว่า สำหรับกรอบงบประมาณที่จะใช้ กองทัพเรือ โดยกองเรือยุทธการ และกรมอู่ทหารเรือ กำลังวิเคราะห์ และพยายามพิจารณาลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงให้น้อยที่สุด โดยปัจจุบัน ยังมี 12 บริษัทได้เสนอค่าใช้จ่ายการกู้เรือเข้ามา ส่วนที่เกรงว่า การใช้งบกลางจากรัฐบาลอาจจะล่าช้า เพราะอยู่ในช่วงยุบสภา จึงต้องไปขออนุมัติ กกต.นั้น ก็คงเป็นไปตามนั้น เราจึงพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะให้เสร็จก่อนที่จะมีการยุบสภา

ผช.ผบ.ทร. ติดตามการให้ความช่วยเหลือครอบครัว และกำลังพล กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ให้ได้รับสิทธิกำลังพลและสวัสดิการ อย่างครบถ้วน พร้อมกับติดตามสภาพจิตใจกำลังพลที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด

วันที่ 19 เม.ย.66 พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) และประธานกรรมการบูรณาการติดตามเรื่องสิทธิกำลังพล การสวัสดิการ และการช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และครอบครัว กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นประธานการประชุมในการเร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือจากหน่วยงาน องค์กร หรือภาคเอกชน อย่างบูรณาการ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ตามที่คณะกรรมการฯ ได้จัดกลุ่มในการช่วยเหลือออกเป็น ผู้เสียชีวิต จำนวน 24 นาย , ผู้สูญหาย จำนวน 5 นาย , ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 27 นาย และผู้ประสบภัย (ไม่ได้รับบาดเจ็บ) จำนวน 49 นาย ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา การติดตามและให้ความช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบเหตุฯ นั้น มีความก้าวหน้าในการให้ความช่วยเหลือแล้วประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ (ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสาร/ข้อวินิจฉัย ของ หน่วยหรือผู้เกี่ยวข้อง) ดังนี้

- สิทธิกำลังพล ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ประกอบด้วย การปูนบำเหน็จพิเศษ (เลื่อนชั้นเงินเดือน) , การขอพระราชทานยศ , การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , บำเหน็จตกทอด  , บำนาญพิเศษ , บรรจุทายาททดแทนเป็นกรณีพิเศษ

- สวัสดิการต่างๆ ของหน่วย ประกอบด้วย เงินประกันภัยกลุ่มแบบ “เฉพาะกิจกองทัพเรือ” , เงินกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดขอบของกองทัพเรือ , เงินสงเคราะห์กรมสวัสดิการทหารเรือ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี

- เงินบริจาคจากภาคเอกชน และการช่วยเหลืออื่นๆ

ผช.ผบ.ทร. ประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือครอบครัวและกำลังพล เรือหลวงสุโขทัยอับปาง

 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.66 พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) และประธานกรรมการบูรณาการติดตามเรื่องสิทธิกำลังพล การสวัสดิการ และการช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และครอบครัว กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4 เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินการ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการฯ และหน่วยต้นสังกัดแจ้งความก้าวหน้า ตลอดจนสอบถามถึงความเดือดร้อนของครอบครัว และกำลังพลที่ประสบเหตุฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพเรือ ยังคงห่วงใยครอบครัวของผู้ประสบเหตุฯ และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้กับผู้เสียชีวิตและสูญหาย จำนวน 29 นาย ซึ่งมีความก้าวหน้าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

- สิทธิกำลังพล ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ประกอบด้วย การเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น , การแต่งตั้งยศและการขอพระราชทานยศ (จ่าเอก - พลเรือโท) , และการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย - ตริตาภรณ์ช้างเผือก)

- สวัสดิการต่างๆ ของหน่วย ประกอบด้วย เงินประกันภัยกลุ่มแบบ “เฉพาะกิจกองทัพเรือ” , เงินกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดขอบของกองทัพเรือ , เงินสงเคราะห์กรมสวัสดิการทหารเรือ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รายละ 1.4 - 3.5 ล้านบาท

- การบรรจุทายาททดแทน ประกอบด้วย การบรรจุรับราชการในกองทัพเรือ จำนวน 11 นาย , เห็นชอบให้พิจารณาบรรจุแล้ว จำนวน 12 นาย (อยู่ในระหว่างการศึกษา) , อยู่ในระหว่างการขอบรรจุ จำนวน 2 นาย และสละสิทธิ์ จำนวน 4 นาย

- ทุนการศึกษาสำหรับบุตร โดยได้รับค่าเล่าเรียน ตามระดับการศึกษา ปีละ 5,000 - 15,000 บาท

- การมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติราชการเพื่อชาติ “เหรียญบางระจัน” ให้แก่กำลังพลที่เสียชีวิต และสูญหาย จำนวน 29 นาย เมื่อ 1 มิ.ย.66

- ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 27 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 68,000 - 104,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- ผู้ประสบภัย (ไม่ได้รับบาดเจ็บ) จำนวน 49 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 58,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทุนการศึกษาสำหรับบุตร (อยู่ในระหว่างการดำเนินการ)

เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ต้องการดูแลกำลังพล และครอบครัวจากกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง และดีที่สุด

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top