ผช.ผบ.ทร. ติดตามการให้ความช่วยเหลือครอบครัว และกำลังพล กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ให้ได้รับสิทธิกำลังพลและสวัสดิการ อย่างครบถ้วน พร้อมกับติดตามสภาพจิตใจกำลังพลที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด

วันที่ 19 เม.ย.66 พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) และประธานกรรมการบูรณาการติดตามเรื่องสิทธิกำลังพล การสวัสดิการ และการช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และครอบครัว กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นประธานการประชุมในการเร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือจากหน่วยงาน องค์กร หรือภาคเอกชน อย่างบูรณาการ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ตามที่คณะกรรมการฯ ได้จัดกลุ่มในการช่วยเหลือออกเป็น ผู้เสียชีวิต จำนวน 24 นาย , ผู้สูญหาย จำนวน 5 นาย , ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 27 นาย และผู้ประสบภัย (ไม่ได้รับบาดเจ็บ) จำนวน 49 นาย ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา การติดตามและให้ความช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบเหตุฯ นั้น มีความก้าวหน้าในการให้ความช่วยเหลือแล้วประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ (ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสาร/ข้อวินิจฉัย ของ หน่วยหรือผู้เกี่ยวข้อง) ดังนี้

- สิทธิกำลังพล ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ประกอบด้วย การปูนบำเหน็จพิเศษ (เลื่อนชั้นเงินเดือน) , การขอพระราชทานยศ , การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , บำเหน็จตกทอด  , บำนาญพิเศษ , บรรจุทายาททดแทนเป็นกรณีพิเศษ

- สวัสดิการต่างๆ ของหน่วย ประกอบด้วย เงินประกันภัยกลุ่มแบบ “เฉพาะกิจกองทัพเรือ” , เงินกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดขอบของกองทัพเรือ , เงินสงเคราะห์กรมสวัสดิการทหารเรือ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี

- เงินบริจาคจากภาคเอกชน และการช่วยเหลืออื่นๆ

- ในส่วนผู้สูญหาย จำนวน 5 นาย กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งสันนิษฐานว่าข้าราชการกระทรวงกลาโหมถึงแก่ความตายเพราะสูญหายในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ เมื่อ 28 ก.พ.66 (เพื่อดำเนินการตามสิทธิ์ที่จะได้รับได้ต่อไป)

อย่างไรก็ตาม ยังมีเอกสารบางรายการที่ต้องดำเนินการเร่งรัด ติดตาม ซึ่งคณะกรรมการฯ จะดำเนินการให้ครบถ้วน เป็นไปตามระเบียบ โดยจะดำเนินการแจ้งให้กำลังพล และครอบครัวทราบทุกขั้นตอน ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย

- ติดตามสิทธิกำลังพลฯ ที่เหลือ

- การมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติราชการเพื่อชาติ “เหรียญบางระจัน” เพื่อเป็นเกียรติให้แก่กำลังพลที่เสียชีวิต และสูญหาย จำนวน 29 นาย ในเดือนมิถุนายน 2566

นอกเหนือจากการเร่งรัดติดตามการให้ความช่วยเหลือแล้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือยังเน้นย้ำให้คณะกรรมการฯ ช่วยดูแลครอบครัวของกำลังพลฯ ในเรื่องการสร้างอาชีพ ตลอดจนติดตามสภาพจิตใจของกำลังพลฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารเรือที่ต้องการดูแลกำลังพล และครอบครัวจากกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ในด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง และดีที่สุด


นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน