Wednesday, 8 May 2024
เทคโนโลยี

‘เจ้าหน้าที่จีน’ ยกระดับการอนุรักษ์ ‘กำแพงเมืองจีน’ งัดเทคโนโลยีช่วยคุ้มครอง-ตรวจจับความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ติดตามมรดกทางวัฒนธรรมจากสถาบันวิจัยวัฒนธรรมเส้นทางสายไหมเจียอวี้กวน (กำแพงเมืองจีน) พากันลาดตระเวนบริเวณจุดชมวิวกำแพงเมืองจีน ด่านเจียอวี้กวน ในเมืองเจียอวี้กวน มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่อใช้เครื่องมือตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลจากกำแพงเมืองจีน

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งได้เพิ่มการลงทุนด้านการคุ้มครองทางเทคโนโลยีของกำแพงเมืองจีน โดยใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ตัวชี้วัด และตรวจจับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น วิธีการเหล่านี้ช่วยรับประกันการดำเนินมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที รวมถึงรับรองว่ากำแพงเมืองจีนถูกอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพที่ดี

‘รมว.พาณิชย์สหรัฐ’ เล็งกีดกัน ‘Huawei - SMIC’ ขั้นสุด อ้าง!! ความมั่นคงของชาติ หลัง Huawei ผลิตชิปล้ำหน้า

(12 ธ.ค.66) นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐกล่าวว่า สหรัฐจะดำเนินการอย่างเข้มงวดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ หลังจากถูกผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีแผนจะจัดการกับความก้าวหน้าล่าสุดในเทคโนโลยีการผลิตชิปของจีนอย่างไร

“เมื่อใดก็ตามที่พบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่น่าเป็นกังวล เราก็จะตรวจสอบเรื่องนั้นอย่างจริงจัง” นางไรมอนโด กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) พร้อมเสริมว่าความคืบหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดของจีนนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐ

ความคิดเห็นของนางไรมอนโดมีขึ้นหลังจากที่หัวเว่ย เทคโนโลยีของจีน ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงในการพัฒนาสมาร์ตโฟนที่ใช้โปรเซสเซอร์ขั้นสูง โดยหัวเว่ย ซึ่งถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำ ได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนอย่างบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ชิปชั้นนำของจีน ในการผลิตโปรเซสเซอร์ดังกล่าว โดยสมาร์ตโฟนหัวเว่ย Mate Pro 60 ที่วางจำหน่ายเมื่อเดือนส.ค. นับเป็นความท้าทายต่อสมาร์ตโฟนไอโฟน (iPhone) ของบริษัทแอปเปิ้ล และแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการผลิตของหัวเว่ยนั้นมีความก้าวหน้ามากกว่าที่คาดคิดไว้

ทั้งนี้ นางไรมอนโดกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งกล่าวว่าชิปที่ SMIC ผลิตให้กับหัวเว่ยนั้น นับเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่อหัวเว่ยอย่างชัดเจน และสหรัฐควรดำเนินการตอบโต้อย่างเด็ดขาดด้วยการกีดกันทั้งสองบริษัทไม่ให้เข้าถึงซัพพลายเออร์ทั้งหมดในอเมริกาได้โดยสิ้นเชิง

‘จีน’ ออกแผนส่งเสริมความเจริญร่วมกัน ผ่าน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ หนุนสร้างความสมดุลในการพัฒนา-อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

(27 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า สำนักข้อมูลระดับชาติของจีน รายงานว่า จีนได้ออกแผนการดำเนินงานว่าด้วยการสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่และดีขึ้น

แผนการข้างต้นร่วมออกโดยสำนักฯ และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ มุ่งสนับสนุนการบูรณาการเชิงลึกของเทคโนโลยีดิจิทัลและภาคเศรษฐกิจจริง พร้อมกับแก้ไขปัญหาการพัฒนาอันไม่สมดุล และไม่เพียงพอผ่านวิธีการทางดิจิทัล

จีนควรมีความก้าวหน้าเชิงบวกในการอุดช่องโหว่ระหว่างภูมิภาค พื้นที่เมืองและชนบท กลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน ตลอดจนการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2025

ต่อจากนั้น จีนควรมีความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2030 โดยมีชุดแนวปฏิบัติทางนวัตกรรมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภูมิภาคตะวันออกและตะวันตก พร้อมใช้ซ้ำและส่งเสริมทั่วประเทศ

แผนการข้างต้นกำหนดการเตรียมการ 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมการพัฒนาระดับภูมิภาคเชิงประสานผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล เดินหน้าการพัฒนาทางดิจิทัลในชนบท เพิ่มพูนความรู้ทางดิจิทัลของสาธารณชนเพื่อการจ้างงานที่ดีขึ้น และเกื้อหนุนการบริการทางสังคมอันครอบคลุมผ่านวิธีการทางดิจิทัล

'จีน' ล้ำ!! พัฒนา 'ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์’ ควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้ เล็งใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของหุ่นยนต์อัจฉริยะแห่งอนาคต

(10 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนานฟาง (SUSTech) ได้พัฒนาผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมอุณหภูมิได้ หรือ เทอร์โม-อี-สกิน (thermo-e-skin) ที่ประกอบขึ้นจากโครงสร้างลอกเลียนแบบทางชีวภาพ ซึ่งเลียนแบบกลไกการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ ผ่านการผสมผสานอุปกรณ์เทอร์โมอbเล็กทริกที่มีความยืดหยุ่นเข้ากับวัสดุไฮโดรเจลคอมโพสิท (hydrogel composite)

ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว สามารถรักษาอุณหภูมิพื้นผิวให้คงที่อยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงอุณหภูมิแวดล้อมตั้งแต่ 10-45 องศาเซลเซียส ด้วยความสมดุลของการสร้างและการกระจายความร้อนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์บรรลุการทำงานของระบบสัมผัสเสมือนมนุษย์ และสร้างการตอบสนองของระบบประสาทที่เสถียร ผ่านการเลียนแบบร่างกายมนุษย์ในระดับที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้มันเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะแห่ง

อนาคต ทว่าฟังก์ชันการควบคุมอุณหภูมินี้จำกัดอยู่ที่เพียงการทำความร้อนหรือทำความเย็นแบบธรรมดา และไม่อาจรักษาการควบคุมอุณหภูมิคงที่เป็นเวลานานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารนาโนเอ็นเนอร์จี (Nano Energy)

‘NASA’ เร่งพัฒนา ‘หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์’ ทำงานเสี่ยงภัยในอวกาศ ช่วยทุ่นแรงงานอันตราย-มนุษย์สามารถโฟกัสภารกิจได้เต็มที่

(10 ม.ค. 67) ข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในภารกิจสำรวจและวิจัยของมนุษย์อย่างเราในพื้นที่อวกาศนั้น ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก เพราะในพื้นที่อวกาศไม่มีอากาศให้หายใจ และยังมีรังสีมากมายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา

เพื่อลดความเสี่ยงในภารกิจต่างๆ ในพื้นที่นอกโลก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA จึงได้มีการพัฒนา ‘หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์’ (Humanoid robot) หรือ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ เพื่อส่งไปใช้งานบนอวกาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดงานของมนุษย์อวกาศในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายของอวกาศอันกว้างใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ของ NASA กล่าวว่า หากการพัฒนาสำเร็จ ในอนาคตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ จะสามารถช่วยมนุษย์ทำงานที่มีความเสี่ยงในพื้นที่อวกาศได้ เช่น ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์นอกอวกาศ ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์ที่ทำงานผิดปกตินอกยานอวกาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับมนุษย์อวกาศได้อย่างมาก

ก่อนหน้านี้ นอกจากหุ่น ’วัลคิรี’ ที่กำลังพัฒนา NASA เคยส่งหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ไปยังอวกาศมาแล้ว คือ โรโบนอส ทู (Robonaut 2) หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ตัวแรกที่เข้าสู่อวกาศ โดยหุ่นยนต์ได้ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในปี มีหน้าที่ช่วยงานพื้นฐาน เช่น ช่วยประสานการควบคุม ช่วยวัดการไหลของอากาศ ก่อนจะถูกส่งกลับมายังโลกในปี 2018

ในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ของ NASA ทางทีมวิศวกรได้ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้พยายามทำให้หุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ แต่อยากให้งานที่อันตราย หรืองานน่าเบื่อให้หุ่นยนต์ทำแทนในพื้นที่อวกาศ เพื่อให้มนุษย์อวกาศที่ออกไปทำภารกิจนอกโลก มีเวลาที่จะสามารถทำภารกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เพราะนอกอวกาศนั้นมีทรัพยากรในการอาศัยและเดินทางที่จำกัด

‘รายงาน’ ชี้!! นวัตกรรม ‘วิทย์-เทคโนฯ’ เอเชีย ไม่ธรรมดา มีสถานะมั่นคง ไม่แตกต่างจากชาติตะวันตกอีกแล้ว

(12 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานผลจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว (BFA) ระบุว่า ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งระดับโลก สถานะของเอเชียในแวดวงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

หลี่เป่าตง เลขาธิการของการประชุมฯ กล่าวว่า ทวีปเอเชียมีอิทธิพลในด้านนวัตกรรมและการพัฒนาของโลกมาอย่างยาวนาน ด้วยความรุ่มรวยของทรัพยากรทางปัญญาและประเพณีนวัตกรรมอันมีฐานที่มั่นคง

หลี่กล่าวว่ากลุ่มประเทศเอเชียกำลังก้าวตามทันนานาประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือในหลากหลายด้านสำคัญ ท่ามกลางการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหม่ อีกทั้งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และระดับเชิงอุตสาหกรรมของนวัตกรรม

หลี่ เสริมว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของจีนในด้านการดูแลสุขภาพ, ชีวเภสัชกรรม, พลังงานใหม่, เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ, วัสดุใหม่ และการผลิตขั้นสูง จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ พร้อมระบุว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกได้ลดช่องว่างความแตกต่างกับทวีปยุโรป

รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ปี 2023 ที่เผยแพร่โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ระบุว่าประเทศเอเชีย 5 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์, จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และอิสราเอล ติดอันดับเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม 15 ประเทศที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก

อนึ่ง รายงานนวัตกรรมการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2023 ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (10 ม.ค.) ในนครกว่างโจวของจีน รวบรวมโดยสถาบันการประชุมฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซาธ์ ไชน่า

พิษณุโลก เปิดงาน 'MED NU Health Expo 2024' ประชาชนแห่ตรวจรักษาฟรีกับเทคโนโลยีล้ำสมัย

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “MED NU Health Expo 2024” ภายใต้หัวข้อ “สังคมสุขภาพดี Healthy Society” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 มกราคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้มีภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมพิธีเปิดงานกว่า 500 คน โดยงานนี้ได้จัดให้มีการให้บริการวิชาการแก่สังคม สร้างภูมิคุ้มกันในการดูแลสุขภาพและให้บริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับชุมชนในพื้นที่ให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยนเรศวร NU SDGs (Naresuan University Sustainable Development Goals) และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจากบริษัทชั้นนำ 

เช่น เครื่อง Anatomage Table ศึกษากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ สามารถแสดงภาพรูปทรง 3 มิติที่ซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ ใช้สำหรับการศึกษาทางการแพทย์ สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนที่สนใจเรียนด้านการแพทย์ และผู้สนใจที่ต้องการรู้จักกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ โดยไม่ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม งานวิจัย ที่หลากหลาย พร้อมต่อยอดเชิงธุรกิจ และการตรวจเช็คสุขภาพฟรีอีกหลายรายการ อาทิ การตรวจสุขภาพเส้นฟอกไตด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ การตรวจสุขภาพหัวใจ ตรวจวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง Neurofeedback เพื่อคัดกรองอาการหลงลืม อาการสมาธิสั้น การตรวจรักษาเปลือกตาอักเสบ รักษาตาแห้งจากต่อมไขมันอุดตันด้วยหน้ากากลำแสง LED เป็นต้น ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก  

‘อ.พงษ์ภาณุ’ สรุปสาระสำคัญงาน CES 2024 แนะ ‘เศรษฐกิจไทย’ ควรเร่งจับ AI มาประยุกต์

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เทคโนโลยี AI กำลังมาแรงและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกสาขาที่มีการประยุกต์ใช้ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ Las Vegas รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา CES เป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดเป็นประจำทุกปีที่ Las Vegas ปีนี้ CES มีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีผู้แสดงสินค้ากว่า 4,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และกิจการ Start Up ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เตรียมเข้าสู่ตลาดและมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 วันของการแสดงสินค้า 

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผู้แสดงสินค้าในนามของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งนำนวัตกรรมไปแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนวัตกรรมจากประเทศไทยแม้แต่พื้นที่เดียว ผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในรูปของการสั่งซื้อสินค้า การร่วมลงทุน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในระดับ B2C และ B2B

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน CES ในปีนี้ หนีไม่พ้นสินค้าและบริการที่เป็น Applications ของ AI ในสาขาต่าง ๆ ในด้านสุขภาพและสาธารณสุข เครื่องสวมใส่ (Wearables) เช่น แหวนและกำไร ที่ทำหน้าที่ตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพของผู้สวมใส่แบบ real time ทั้งในเรื่องไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนสภาพจิตใจและประสาท

ในเรื่อง Smart Home ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI applications จำนวนมากมาแสดง ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานในบ้านเพื่อลดโหลดและสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV การใช้แสงสว่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ในสาขาการคมนาคมขนส่ง Taxi Drones และรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous Taxis) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีการนำมาใช้จริงในหลายเมืองทั่วโลก เครื่องมือติดตั้งรถยนต์ EV เพื่อใช้ควบคุมและพยากรณ์วิสัย (Range) การขับขี่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแม่นยำ ที่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ และสภาพถนนหนทาง เทคโนโลยี AI ยังนำมาใช้ในระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสาขาที่ AI Applications ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการ การประมาณการ และการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตร, การศึกษา, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แน่นอน นวัตกรรมเทคโนโลยีย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Tech Giants) ของสหรัฐฯ สามารถตักตวงผลประโยชน์ทางการเงินได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ก็อยู่ในวิสัยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน…

- ประการแรกเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายสาขา 

- ประการที่สอง AI สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อิงกับ Smart Phone เป็นหลัก ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ไม่แพ้ใคร และไทยมีสัดส่วน Smart Phones ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก 

- และประการสุดท้าย ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเสริมทักษะแรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความเพียงพอมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐ เราได้ยินนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันให้เกิด Big Data ในทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเสียที ถึงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่ไทยจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย

เชียงใหม่-มช.จัดพิธีลงนามความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น “Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation” มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ 

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถด้านวัสดุการก่อสร้าง (Construction Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์ 
ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. พร้อม Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology และ MR.NAOHITO OHBA กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในเรื่องการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Mechanisms Development) ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับพันธกิจ

โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักในการพัฒนางานวิจัยให้ออกสู่รั้วมหาวิทยาลัย  ควบคู่กับการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นคือ Taisei Corporation ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านการผลิต Carbon Free Concrete เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ทางปัญญาร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งกันและกัน อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการสร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ด้วยการจัดหาโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “อันจะก้าวสู่หมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้ความร่วมมือนี้สำเร็จเกิดเป็นการวิจัยเป็นสากลที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในการแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืน”

และด้วยความร่วมมือนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายและปลูกฝังความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านการผสานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงการวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology กล่าวว่า “Taisei Corporation” มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและองค์ความรู้ทางปัญญาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของเราในวันนี้ จะกำเนิดเป็นผลสำเร็จของงานวิจัยระดับสากลจากผสานองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งการคิดค้นโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วน ในการลดมลภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการร่วมกันในอนาคต พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและผลักดันสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่จับต้องได้ เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานจริงได้อย่างราบรื่น

Mr.Haruka OZAWA เลขานุการโทประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความยินดีและชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน ของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Taisei Corporation จากการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนช่วยต่อสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน และยิ่งมากไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านขอบเขตการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมระดับชาติต่อไป 

ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก เผยถึง การดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้คอนกรีตที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งคอนกรีตชนิดนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยทั้งสองฝ่าย และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและคณาจารย์จาก มช. ได้เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานอื่น ๆ ในอนาคต ณ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและก้าวสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือ การสนับสนุน Carbon Net Zero ของทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านการวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่และค้นหาโซลูชั่นในการพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free จากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่อไป 

ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเจตนารมณ์อันแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายในวันนี้ จะเกิดเป็นสะพานเชื่อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะสามารถผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้นและยังเป็นการเน้นย้ำให้กับหลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นภาพร/เชียงใหม่

‘กูรู’ เจาะ Trend เทคโนโลยี 2024 AI บุกแน่!! มนุษย์โลกเตรียมรับมือ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณชวาลิน รอดสวัสดิ์ ผู้บริหารบริษัท นิวไดเมนชั่น จำกัด หรือ NDM บริษัทฯ ที่มีประสบการณ์ด้าน IT Solutions และ HR Development มากว่า 20 ปี ถึงภาพรวมของ Trend เทคโนโลยีในปี 2024 ที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบุคลากรที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องตระหนัก เมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้…

นอกเหนือจาก Trend ด้านพลังงาน หรือ Clean Energy ที่กำลังเขย่าอุตสาหกรรมรถยนต์ จนเกิด EV Sector (Electric Vehicle) อย่างเด่นชัดขึ้น รวมถึงพัฒนาด้าน Hydrogen (Hydrogen-Powered Train) และ Carbon Capture Technology เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างพลังงานทดแทนแล้ว จากประสบการณ์ในการทำงานช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในแวดวงเทคโนโลยี ผมมองเห็นอีกวิวัฒนาการที่ต้องจับตามอง นั่นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (Information Technology) 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 จะมีปรากฏการณ์ของผู้ใช้งานไอทีที่ต้องปรับตัวเองอย่างรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก AI (Artificial Intelligence) หรือที่เราคุ้นกันว่า ‘ปัญหาประดิษฐ์’ จะเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตเรา ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว รวมถึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Finance, Health Care และ Manufacturing

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกับบางอุตสาหกรรม ก็เช่นอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เริ่มมีการนำนวัตกรรม Early Disease Detection มาวิเคราะห์ดูแนวโน้มของการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ล่วงหน้า 1-6 ปี จากนั้นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะใช้ Nano Technology เข้ามาช่วยในการวิจัยค้นคว้าและรักษาผู้ป่วย 

ส่วน Cyber Security ก็เป็นอีกหนึ่ง Trend ที่น่าสนใจและได้ยินบ่อยมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันองค์กร หน่วยงานต่างๆ มีความเสี่ยงโดนโจมตีทาง Cyber สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติมีอัตราเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี จึงต้องหาวิธีป้องกันและ AI จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นแน่ๆ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนา LCNC Platform  (Low Code/No Code) ซึ่งมีลักษณะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อให้ทุกคนสามารถเขียน Software ด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียน Coding หรือ Programming มาโดยเฉพาะ เพียงมีความเข้าใจในอัลกอริทึม (Algorithm) เบื้องต้น ก็สามารถพัฒนา Software ได้แล้ว และที่น่าตกใจ คือ ในปัจจุบันองค์กรกว่า 76% เริ่มใช้ Platform นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนไปในตัว และนี่คือสิ่งที่คนทำงาน ธุรกิจ และผู้ข้องเกี่ยวต่อการพัฒนาประเทศต้องเริ่มตระหนัก

เมื่อถามถึงอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างไร? คุณชวาลินกล่าวว่า “เมื่อปี 2023 ประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจไอทีรวมๆ แล้วกว่า 930,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 2022 ถึง 4.4% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เติบโตขึ้นเพียง 2.2% เท่านั้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวด้านไอทีเป็นอย่างมาก ซึ่งธุรกิจผลิต Software และธุรกิจ IT Service ต่างๆ เติบโตขึ้นถึง 15% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 265,000 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่ารวมตลาดไอที ส่วนธุรกิจ Data เติบโตขึ้น 5% ในขณะที่ธุรกิจ Hardware หรือ Device ต่างๆ กลับลดลง 4.7% สำหรับอุปสรรคของอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันองค์กรต่างๆ พยายามสรรหาคนเก่งๆ มาร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการ Digital Transformation ให้กับองค์กร”

เมื่อส่วนคำถามที่ว่า Digital Disruption ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจอย่างไร? คุณชวาลิน กล่าวว่า “เมื่อเราเข้าสู่ยุค Digital ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก อายุของนวัตกรรมจะสั้นลง Technology ใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ได้เร็วขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทัน ผู้คนต้องเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งต่างกับธุรกิจเมื่อ 20-30 ปีก่อน โดยสิ่งที่จะมา Disrupt อย่างชัดเจน ได้แก่ Hyper-Personalization Data หรือการนำเอา Data จำนวนมากมาประมวลผลเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแทนมนุษย์จะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น และการนำ AI เข้ามาตัดสินใจ (Decision Making) โดยใช้ Machine Learning และ Algorithm ต่างๆ มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อทำให้การตัดสินใจได้ผลแม่นยำและรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณข้อมูลมหาศาลจะมีบทบาทสูงตามมา”

เมื่อถามถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีขององค์กร, หน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูก AI และ เทคโนโลยียุคใหม่กลืนกิน? คุณชวาลิน กล่าวว่า “แนวโน้มของหลายองค์กรตอนนี้ เริ่มใช้วิธี Outsource คนมากขึ้นกับกลุ่มบุคลากรด้าน IT เนื่องจากช่วยลดภาระด้านบุคลากรขององค์กรได้มาก เลือกคนคุณภาพได้ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งบทบาทของ ‘บริษัทฯ สรรหาบุคลากร’ จะโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งก็รวมถึง NDM ด้วย เพราะจะกลายเฟืองสำคัญในการเป็นผู้ช่วยดูแลทุกกระบวนการขององค์กรต่างๆ ในทางอ้อมได้ดี ตั้งแต่การวางแผนจัดจ้าง ออกแบบ คัดสรรบุคลากร และทำ Onboarding Process ไปจนถึงการส่งมอบบุคคลากรตามความต้องการให้ร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

เมื่อถามถึง NDM กับบทบาทที่เกี่ยวเนื่องในสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้? คุณชวาลิน กล่าวว่า “ในส่วนของ NDM เอง เนื่องจากเราคว่ำหวอดกับทุกการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายบุคลากรไอที ที่มีความชำนาญในเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เสิร์ฟให้ไปสู่องค์กรในทุกระดับ เพื่อรองรับงานที่เหมาะต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top