Saturday, 4 May 2024
เงินดิจิทัล

‘นครเซินเจิ้น’ นำร่องใช้ ‘กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัล’ ที่แรกในจีน รองรับการชำระเงินรอบด้าน เผย ยอดใช้งานทะลุ 35 ล้านใบแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, เซินเจิ้น รายงานว่า มหานครเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นเมืองนำร่องด้านการใช้สกุลเงินดิจิทัลแห่งแรกของจีน มีการเปิดใช้งาน ‘กระเป๋าเงินดิจิทัลของจีน’ หรือ ‘เงินหยวนดิจิทัล’ (e-CNY) จำนวน 35.94 ล้านใบ เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 7.6 ล้านใบ

ธนาคารประชาชนจีน สาขากลางของเมืองเซินเจิ้น ระบุว่า ปัจจุบันกิจการในเซินเจิ้นมากกว่า 2.1 ล้านราย ได้รองรับการชำระเงินสกุลเหรินหมินปี้ (RMB) แบบดิจิทัล ครอบคลุม 6 ด้านหลัก ได้แก่ การบริโภคประจำวันในห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทางโดยรถประจำทางและรถไฟใต้ดิน และค่าจอดรถและค่าเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ เซินเจิ้นได้ออกแผนงานในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเสนอการร่วมมือกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน เพื่อดำเนินงานนำร่องการชำระเงินด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ข้ามพรมแดน ด้านเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่เฉียนไห่ เซินเจิ้น-ฮ่องกง จะถูกสร้างเป็นเขตสาธิตการใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัลข้ามพรมแดน

‘ดร.เผ่าภูมิ’ ชี้!! ‘เงินดิจิทัล’ เข้าทันที ไม่ต้องลงทะเบียน  คาดใช้งานได้ช่วงครึ่งแรก 67 คาบเกี่ยวสงกรานต์พอดี

‘เผ่าภูมิ’ ชี้!! โครงการ ‘เงินดิจิตอล’ หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียน ผ่านแอปฯ ใดๆ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนทันที

โดย ดร.เผ่าภูมิ ได้เผยกับรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 จะเป็นคนละอันกับแอปฯ เป๋าตัง และคาดว่าจะเริ่มให้ประชาชนใช้งานได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า (ปี พ.ศ. 2567) หรือช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567

ดร.เผ่าภูมิ ระบุเพิ่มเติมว่า ทางเพื่อไทยจะพยายามดำเนินการให้ทันก่อนเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี และประชาชนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปจับจ่ายใช้ทันในช่วงนั้น

เมื่อถามถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีใครได้บ้าง? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวมไปถึงกลุ่มผู้พิการ คนชรา ที่มีสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะได้รับเต็มจำนวนโดยไม่หัก ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ รอเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติอย่างเดียว พร้อมเตือนอย่าหลงกลมิจฉาชีพให้โหลดแอปฯ หรือกดลิงก์ต่าง ๆ

เมื่อถามถึงวิธีใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เมื่อได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีแอปฯ ที่ผูกกับบัตรประชาชนให้โหลด หรือจะใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวที่จะออกให้โดยหน่วยงานรัฐ ส่วนกรณีผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวของเรา ซึ่งจะมีผูกในระบบอยู่แล้วโดยประชาชนไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ขณะเดียวกันในส่วนกรณีที่มีการส่งข้อความให้กดลิงก์ต่าง ๆ หรือโหลดแอปฯ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 ในตอนนี้ ขอย้ำว่า เป็นมิจฉาชีพทั้งหมด เพราะตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

เมื่อถามว่า ทำไมต้องเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อสู้กับความยากจนในสภาวะรายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

เมื่อถามว่า ทำไมต้องกำหนดรัศมี 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อกระจายการจับจ่ายที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น ส่วนการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน จะใช้ทีเดียวหรือทยอยใช้ก็ได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน

สำหรับนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในการดูแลของรัฐบาลเพื่อไทย จะโตปีละ 5% ส่งผลให้ปี 2570 ค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน, เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มที่ 25,000 ต่อเดือน ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายต่อไปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ถ้าคุณมีเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ และสามารถใช้จ่ายอะไรตามใจตัวเองก็ได้ คุณอยากจะแลกเปลี่ยนเป็นอะไรกันบ้าง!! ✨💰

ถ้าคุณมีเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ และสามารถใช้จ่ายอะไรตามใจตัวเองก็ได้ คุณอยากจะแลกเปลี่ยนเป็นอะไรกันบ้าง!! ✨💰
 

‘ธีระชัย’ สับ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ กระตุ้น ศก.แบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’

(7 ก.ย. 66) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดยเฉพาะกับนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท ถึงผลพวงที่จะตามมาทั้งในแง่บวกและลบ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมีนายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญ ดังนี้…

ในประเด็นของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีการปล่อยออกมา พอจะเห็นภาพความหวังต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด? คุณธีระชัย มองว่า โดยภาพรวมของเนื้อนโยบายมีความน่าสนใจ แต่จะติดอยู่ 2 ส่วน นั่นก็คือ 1.ในเรื่องของเงินดิจิทัล และ 2.ในเรื่องของการลดราคาพลังงาน ซึ่งเข้าใจว่าต้องการช่วยประชาชน แต่ก็ต้องใช้งบประมาณบนความระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตามในนโยบายที่ คุณธีระชัย ดูจะห่วงเป็นพิเศษ คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท โดยกล่าวว่า ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตารอกันแล้ว ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากเสียงนักวิชาการในฟากฝั่งรัฐบาล ที่เชื่อว่าทำให้เกิด ‘พายุหมุนทางเศรษฐกิจ’ ช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ก็ยิ่งทำให้นโยบายดีถูกมองในด้านบวกด้านเดียว

ทั้งที่ในความเป็นจริง จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินนโยบายการคลังด้วยการอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ล้วนต้องการผลลัพธ์ในการกระตุ้นตัวเลขจีดีพีให้สูงขึ้น แต่กลับกันนโยบายแจกเงินดิจิทัลส่วนนี้ จะมีกลไกใดที่ช่วยกระตุ้นจีดีพี เพราะนี่คือการแจกแบบหว่าน ไม่ว่าจะรวยหรือจนด้วย ในสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะไทยยังสูง และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติอย่างโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้นไทยจะเอาเงินมาจากไหน? ที่จะไม่กระทบต่อสถานะทางการคลังของประเทศ

“ผมเข้าใจดีว่าการแจกเงิน ก็เพื่อให้เกิดการหมุนในภาคอุปโภคบริโภค แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนตอนโควิด19 ที่ต้องมีการแจกเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมีผลพวงจากการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงร้านค้าที่ขายไม่ได้ เพราะต้องปิดร้าน รวมถึงกำลังซื้อหาย จากรายได้ประชาชนหด นั่นจึงทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินผ่านโครงการที่โฟกัสลงไปเฉพาะกิจเป็นกลุ่มๆ ในช่วงรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์จึงเกิดขึ้น

“แต่ตอนนี้ ล็อกดาวน์ ไม่มีแล้ว การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็กลับมาแล้ว ลักษณะของการแจกเงินในช่วงเวลานี้ จึงเหมือนกับเป็นการให้ ‘ปลา’ แก่ประชาชน ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใด ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อประชาชนได้เงินมา ก็แค่เอาใช้บริโภคให้หมด ๆ ไป แน่นอนว่า มันอาจจะเกิดผลดีในการกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็แค่รอบเดียว แค่ระยะสั้นหมด แล้วก็จบ” 

คุณธีระชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำกับเศรษฐกิจในตอนนี้ ‘ไม่ใช่การแจก’ แต่ต้องสร้างพลังกระตุ้นหรือหาทางที่จะให้เม็ดเงินงอกเงยขึ้นมาจากหนึ่งร้อย เป็นร้อยยี่สิบ เป็นร้อยห้าสิบ อะไรประมาณนี้มากกว่า เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน

ในส่วนของการเลือกแพลตฟอร์มเพื่อจ่ายเงินดิจิทัล คุณธีระชัย ก็ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “ทางรัฐบาลจะทำบนแพลตฟอร์มใหม่ ทั้ง ๆ ที่มีการแนะนำให้ใช้ผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งก็ไม่ผิดคาด เพราะพรรคเพื่อไทยเขาก็คงไม่เอาด้วย เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า ดิจิทัล 10,000 นี้ เป็นการให้ ‘เงินบาท’ ปกติ ไม่ใช่ ‘เงินดิจิทัล’ ที่มาในลักษณะเหรียญดิจิทัล และมีการวงเล็บว่า (คูปอง) แบบที่ใช้ในศูนย์อาหาร ซึ่งตรงนี้ผมก็อยากฝากให้ระวังความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายไว้ด้วย ควรปรึกษาหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ชัดเสียก่อนจะทำ เพราะอย่างที่บอกมันไม่ใช่เงินจริงๆ ที่โอนกันถึงมือประชาชนแบบโครงการของรัฐบาลลุงตู่ (คนละครึ่ง / ม.33 เรารักกัน) ที่อันนั้นก็คือเป็นเงินสดเข้าบัญชีในแอปฯ เป๋าตัง แล้วก็ไปใช้จ่ายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกัน มีเงินไหลเข้าสู่ร้านค้าทันที”

โดยสรุปแล้ว หากให้พูดถึงความเป็นจริงในเรื่องนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ คุณธีระชัย ยังเชื่อว่าไทยควรต้องเดินตามบริบทของประเทศในปัจจุบัน ว่าเหมือนหรือเดือดร้อนอย่างตอนโควิดระบาดหรือไม่ ซึ่งนาทีนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกันแล้ว นั่นหมายความว่าการใช้เครื่องมือเดิมในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะใช้เครื่องมือนั้นหนักกว่าเดิมอีกนั้น (กู้มาแจก) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ต้องระวังมาตรการที่ทำแบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’ ให้ดี

คุณธีระชัย ทิ้งท้ายอีกว่า “ในทางการเมืองนโยบายในลักษณะนี้ มักตอบโจทย์ประชาชน เพราะเวลาพรรคการเมืองจะไปหาเสียง แล้วบอกหรือนำเสนอโครงการที่จะเพิ่มขีดความสามารถจากเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความงอกเงยนั้น ส่วนใหญ่มันไม่โดนใจ เพราะไม่ใช่การแจกหรือให้ที่ถึงมือประชาชนทันที ไม่มีความหวือหวาที่พร้อมกระชากใจประชาชน ต่างจากนโยบายหวือหวา แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ซึ่งเรื่องนี้น่าห่วง”

เปิดรายละเอียด ‘แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น’ ที่คนไทยควรรู้ ภายใต้ ‘ผลลัพธ์-ข้อจำกัด’ ที่ผู้ออกนโยบายต้องคิดให้ดี

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.66 Spacebar ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายรายละเอียด ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ถึงความเป็นมาโครงการ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย และความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หลังรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้มีการประกาศไว้ว่า จะสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 โดยระบุว่า...

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเงินที่สามารถนำไปใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เผยว่าจะทำบน ‘ระบบ Blockchain’ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิรับเงิน คือ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 56 ล้านคน เท่ากับต้องใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท โดยทางพรรคเพื่อไทยอธิบายไว้ว่า นี่คือมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อสู้กับความยากจน อันจะส่งผลให้เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจได้กว่า 3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับที่มาของเงินที่หลายคนเป็นห่วงว่าเอามาจากส่วนไหน เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น ทางพรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่า จะมีการนำมาจากการบริหารงบประมาณและภาษี โดยประกอบไปด้วย...

1.) ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 = 260,000 ล้านบาท

2.) ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย = 100,000 ล้านบาท

3.) การบริหารจัดการงบประมาณ = 110,000 ล้านบาท

4.) การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน = 90,000 ล้านบาท

โดยสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

ในส่วนของร้านค้าที่สามารถรับเงิน 10,000 บาท หรือเข้าร่วมโครงการนี้ได้นั้น ต้องเป็นร้านที่จดทะเบียนการค้า จึงจะสามารถแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ รวมถึงต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี, เคยยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือยื่นแบบนิติบุคคลมาเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

‘ดร.สุวินัย’ ชี้!! แนวโน้ม ศก.โลกไม่เอื้อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แนะทยอยแจกตลอด 4 ปี ดีกว่าทุ่มรวดเดียว 5.6 แสนลบ.

(3 ต.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ในหัวข้อ ‘อีโก้ของพรรคเพื่อไทยเรื่องแจกเงินหมื่นดิจิทัล กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นใจเลย’ ว่า…

(1) วิกฤติขาดสภาพคล่อง

ตอนนี้โลกเรากำลังอยู่ในเฟสที่ 2 คือการสร้างความวุ่นวาย สร้างวิกฤตทางเศรษฐกิจให้รุนแรงยิ่งขึ้น กับสร้างสงครามกลางเมือง เพื่อไปสู่การสร้างสงครามระหว่างประเทศ และไปสู่เฟสที่ 3 คือการเกิดสงครามใหญ่ หลังจากที่โลกได้ผ่านเฟสที่ 1 ของการเกิดโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) ไปแล้ว

การเกิดโรคระบาดทั่วโลกถูกใช้เป็นข้ออ้างให้ Fed พิมพ์เงินเข้ามาแก้วิกฤตกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ อันที่จริงเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปลายปี 2019 ได้เกิดปัญหาระบบขาดสภาพคล่อง จนดอกเบี้ยกู้ยืมชั่วข้ามคืนระหว่างสถาบันทางการเงิน (Repurchase Agreement) พุ่งขึ้นสูงถึง 9% ทำให้ Fed ต้องรีบพิมพ์เงินเข้ามาเติมสภาพคล่องให้สถาบันการเงิน (ทำ QE หรือ Quantitative Easing)

และเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่ตลาดหุ้นทรุดตัว และ Fed ก็ใช้ข้ออ้างของ Pandemic ทำ QE อีกครั้งเพื่อเข้ามาพยุงตลาดหุ้นจนทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเป็นฟองสบู่ ขนาดใหญ่มากกว่าครั้งใด ๆ ในอดีต 

หลังจากได้ถอดบทเรียนจากวิกฤติการเงินในปี 2008 Fed จึงออกกฎกติกาให้สถาบันทางการเงินต้องกันสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอ 

นี่เป็นที่มาที่ทำให้เงินที่ Fed พิมพ์เพิ่มเข้ามาในระบบไหลไปที่สถาบันการเงินใหญ่ (Big 4 : Bank of America, JP Morgan, Wells Fargo, Citibank) ไปดันราคาหุ้นจนแทบไม่มีการปล่อยกู้สู่ภาคธุรกิจแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎเทียบราคาสินทรัพย์กับราคาตลาด ในขณะทำการซื้อขาย เรียกว่า Mark to การเทียบราคาสินทรัพย์ ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ แบบ Mark to market ทำให้เกิดกำไร-ขาดทุน ในจังหวะที่ซื้อขายกัน ตามราคาตลาดในขณะนั้น

ดังนั้นเมื่อ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 เรื่อยมา จากดอกเบี้ยต่ำใกล้ 0 จนตอนนี้อยู่ที่กว่า 5% จึงทำให้ราคาหุ้นตก และราคาตราสารหนี้ ลดลง

การขาดสภาพคล่องของธุรกิจที่กู้ยืมเงินไปลงทุนแบบทำ Leverage ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับการชะงักงัน/ถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคาร/เจ้าหนี้

มิหนำซ้ำการลงทุนของธนาคารก็ขาดทุน เพราะเศรษฐกิจไม่ดีทั่วโลกก่อนการเกิด Pandemic และจาก Disruption ร่วมกับการแห่ถอนเงินออกของผู้ฝากเงินจากผลประกอบการ/การลงทุน ที่ไม่ดี/ขาดทุนของธนาคาร และนำเงินไปซื้อตราสารทางการเงินระยะสั้น (MMF: Money Market Fund; อายุไม่เกิน 1 ปี) ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึงกว่า 5% ...ได้บังคับให้ธนาคาร จำต้องขายตราสารหนี้/พันธบัตร ออกไป ในราคาขาดทุน

หลายธนาคารในอเมริกาและยุโรปต้องล้มละลาย และถูกซื้อกิจการไป เช่นการซื้อธนาคาร Credit Suisse โดย ธนาคารใหญ่ UBS: Union Bank of Switzerland  

นี่เป็นการลดจำนวนธนาคารขนาดเล็กเพื่อให้เหลือธนาคารใหญ่ไม่กี่แห่งในระบบทางการเงินใหม่แบบดิจิตัล

Fed ให้การช่วยเหลือบางธนาคาร ที่ขาดสภาพคล่อง โดยให้กู้เงินจาก Fed ไปเติมสภาพคล่อง โดยให้ใช้หลักประกันเป็นพันธบัตรอเมริกาตามราคาหน้าตั๋วชดเชยการให้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ราคาแบบ Mark to market ที่มีราคาลดลง

แต่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กลับทำลายเศรษฐกิจ มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในธุรกิจที่กู้เงินมาซื้อกิจการ หรือ LBO: Leveraged BuyOut 

เพราะหนี้เงินกู้ (Equity loan) ได้เกิดเป็น Debt complex ...เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น จึงไม่อาจหมุนเงิน มาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยของหุ้นกู้ของบริษัทตัวเองได้ (เกิด Default บนตราสารหนี้ของตัวเอง) เพราะขาดสภาพคล่อง

(2) การรับมือของจีนที่ ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’

เนื่องจากตลอด กว่า 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อต้องเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม จาก ยุค 3.0 สู่ 4.0 

จีนจึงต้องเผชิญกับวิกฤตจากการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องมีการล้มหายตายจากของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของประเทศ (เช่น Evergrande และ Country Garden)

แต่จีนได้มีการเตรียมความพร้อม ด้วยการให้ 4 ธนาคารใหญ่ของจีนตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูงที่สุดในโลก เพื่อรับมือกับวิกฤตที่ 'เรือเศรษฐกิจโลก' บนการรองรับจาก 'หนี้ดอลลาร์' กำลังจะจม

อันที่จริงจีนได้วางแผนหนีออกจากดอลลาร์มากว่าสิบปีแล้ว เมื่อมองขาดว่า...การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของผู้ควบคุมเรือเศรษฐกิจโลก หรือ Fed ด้วยการใช้ หนี้ดอลลาร์ (พันธบัตรอเมริกา; US Treasuries) เป็นผืนน้ำที่หนุนเรือเศรษฐกิจโลกเอาไว้กำลังจะไปไม่รอด เพราะดอลลาร์เสื่อมค่า  ดอลลาร์ไม่ทำงานเพื่อพยุงเรือ ดอลลาร์กำลังจะเสียหน้าที่ในการประคับประคองเรือเศรษฐกิจ ให้ลอยและแล่นต่อไปได้

จีนจึงจับมือกับกลุ่มตะวันออก ตั้งกลุ่ม BRICS+ (+ ซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน, ยูเออี, อียิปต์, เอธิโอเปียและ อาร์เจนตินา; กลุ่ม + มีผล 1 มกราคม 2024) เพื่อหาทางรอด...ออกจากเรือเศรษฐกิจที่กำลังจะจม เพราะ ดอลลาร์ที่พยุงเรือเสื่อมค่าลง

จีนออกกฎหมายควบคุมการเติบโตแบบฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ (30% ของ GDP) ที่ถึงตอนนี้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ 3 อันดับแรกของจีน ถูกปล่อยให้ล่มจม

สั้น ๆ จีนจะช่วยบางธุรกิจแห่งเศรษฐกิจอนาคตที่ถูกเลือกเท่านั้น 

สิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ด้วยการเทขายพันธบัตรอเมริกาออกไปอีก, เก็บเพิ่มทองคำในทุนสำรอง, บริหารการอ่อนค่าของเงินหยวน, การสร้าง ‘เรือลำใหม่’ บนตัวพยุงเรือเศรษฐกิจใหม่ (ด้วยเงินดิจิทัลของกลุ่ม BRICs) เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซับซ้อน ยืดเยื้อและอ่อนไหว

มันจึงไม่สามารถพลิกวิกฤติสถานการณ์โลกเฉพาะหน้าได้

(3) สงครามโลกครั้งที่สามเกิดแน่ 

(แต่ไม่ใช่รูปแบบเดิมเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2)
รัสเซียที่จับมือกับเกาหลีเหนือ กำลังนำชาติตะวันตกไปสู่หายนะระดับโลก เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่มีอิทธิพลเหนือเกาหลีเหนือเลย

ดังนั้นสงครามโลกครั้งที่ 3 จะไม่ใช่รูปแบบเดิมเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 

สงคราม​โลกครั้งที่ 3 ในการควบคุมของมหาอำนาจตะวันออก​ จะมาในรูปแบบของ ‘สงครามไฮบริด’ เหตุและผลที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะจะไม่มีการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์  

มหาอำนาจนิวเคลียร์​ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศ​ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT)

แต่เกาหลีเหนือ เป็นประเทศที่พัฒนาทางทหารชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของชมรมนิวเคลียร์ (Nuclear​ Club) แต่ยังไม่เคยลงนามในสนธิสัญญา​ไม่แพร่กระจาย​อาวุธ​นิวเคลียร์​กับใคร 

ชาติตะวันตกกลัวว่าผลจากการร่วมมือกันระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ จะทำให้กองทัพรัสเซียมีกระสุนหลายล้านนัดเพื่อเอาชนะกองทัพยูเครน และเกาหลีเหนืออาจมีเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีทุกเมืองในสหรัฐฯ ด้วยขีปนาวุธ​นิวเคลียร์  

เหตุใดความร่วมมือกับเกาหลีเหนือจึงมีประโยชน์สำหรับรัสเซีย?  

ด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลี เกาหลี​เหนือสามารถบังคับให้เกาหลีใต้ทิ้งการจัดหาอาวุธของตนให้กับประเทศ NATO และมุ่งเน้นไปที่ภารกิจการป้องกันประเทศ 

เพราะคาบสมุทร​เกาหลี​จะร้อนระอุกว่าวิกฤติไต้หวัน​

รัสเซียสามารถเสนอเทคโนโลยีทางทหารแก่เกาหลีเหนือได้มากมาย ซึ่งจะเปลี่ยนสมดุลทางอำนาจในภูมิภาค ของพันธมิตรที่เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์​ ออสเตรเลีย​ นิวซีแลนด์​ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกลุ่มทหาร AUKUS 

คาบสมุทรเกาหลีจะลุกเป็นไฟ ไม่ใช่ไต้หวัน  

อำนาจของผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่ว่าระเบียบโลกที่มีขั้วเดียวจะไม่มีอีกต่อไป และกระแสโลกที่มีต่อระบบหลายขั้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่อเมริกา​จะขัดขวางได้  

แต่อย่างไรก็ตามมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกมายาวนานอย่างสหรัฐฯ ไม่ต้องการออกจากฐานอย่างสงบ เหมือนกับที่สหภาพโซเวียตของกอร์บาชอฟเคยถูกบีบให้ต้องทำ

และการเป็นมหาอำนาจของรัสเซียในวันนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแนวทางการสู้รบในยูเครน ยิ่งประสบความสำเร็จในสนามรบมากเท่าใด สถานะในการเมืองโลกของโลกหลายขั้วก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้คือ ผลของสงครามโลกครั้งที่สามรูปแบบใหม่ โดยปราศจากการสู้รบจากมหาอำนาจนิวเคลียร์​เหมือนสงครามโลก​ครั้งก่อน ๆ เลย

สั้น ๆ สงครามโลกครั้งที่สามจะเกิดขึ้นแน่ แต่ในรูปแบบที่จีน รัสเซีย​ เกาหลี​เหนือ และอิหร่าน ควบคุมได้ และผลของสงครามที่เริ่มประจักษ์​แก่สายตาชาวโลก นั่นคือการดำรงอยู่ของ ‘โลกหลายขั้ว’ ที่ไม่มีใครขัดขวางได้

(4) อีโก้ของพรรคเพื่อไทย เรื่องแจกเงินหมื่นดิจิทัล

ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐพุ่ง เพราะไม่มีคนซื้อพันธบัตร
ทองดิ่ง น้ำมันดิ่ง หุ้นดิ่งเงินดอลแข็ง เงินบาทอ่อน (เทียบกับเงินดอล)

ลากดอกเบี้ยเพื่อดันดอลลาร์ให้แข็ง เพื่อทุบราคาน้ำมันของรัสเซีย ซาอุ เพื่อทุบราคาทองในสำรองฝั่ง BRICS

เฟดกะทุบให้เศรษฐกิจโลกเข้าภาวะถดถอยกันให้หมด เพื่อรักษาเงินดอลลาร์เอาไว้ เป็น fight for survival ของเงินดอลลาร์ สู้กับ de-dollarization ที่เป็นเป้าหมายของฝ่าย BRICS ลากดอกเบี้ยหนักขนาดนี้อีกไม่เกิน 2 ปี global recession แน่นอน 

จากเพจ สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา 

วันนี้เพจ ลงทุนแมน เขียนว่า

"เช้านี้ ค่าเงินบาท ทะลุ 37 บาท เป็นที่เรียบร้อย

- ยิ่งไม่มีความชัดเจน ในการแจกเงินดิจิทัล เงินบาทยิ่งอ่อนค่าไปเรื่อย ๆ และค่าเงินบาทที่อ่อนนี้ จะเป็นต้นทุนทางอ้อมของรัฐบาลเอง

1. ต่างชาติเทขายพันธบัตร หุ้น เรื่อยมา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน หลังจากที่ตลาดรู้ว่ามีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้าน ซึ่งชัดเจนว่าอ่อนกว่าภูมิภาค ทั้ง เยนญี่ปุ่น มาเลเซียริงกิต

2. ที่ต้องขายก็เพราะเหตุผลแรกคือ ข้อแรก ดอกเบี้ยสหรัฐมีอัตราที่สูงกว่า ข้อสอง ตลาดเก็งว่าราคาพันธบัตรของไทยจะลดลงในอนาคต เนื่องจาก Yield ที่สูงขึ้นเพราะความต้องการใช้เงินของภาครัฐมาแจกเงิน 560,000 ล้าน

3. เมื่อรู้ว่าพันธบัตรจะราคาลดในอนาคต ก็ต้องรีบเทขายตอนนี้ เมื่อขายนำเงินกลับประเทศ ค่าเงินบาทก็อ่อนอย่างต่อเนื่อง

4. เงินต่างชาติก้อนใหญ่ ขายวันเดียวไม่หมด จึงต้องทยอยขายไปเรื่อย ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ค่าเงินบาทรันเทรนด์ การอ่อนค่าแบบไปเรื่อย ๆ เหมือนมีคนทยอยขายเรื่อย ๆ

5. อีกประการคือ พันธบัตรระยะยาวสหรัฐ มี yield ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อคืนพันธบัตร 10 ปี ทำจุดสูงสุดใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงเงินกลับ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ

1. เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า เราจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการนำเข้า น้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย

2. ผู้สินค้านำเข้าทุกอย่างจะจ่ายแพงขึ้นอีก ใกล้ตัวเราที่เห็นแล้วก็ iPhone ในไทยที่จะไม่ได้ขายที่ราคาถูกแบบเมื่อก่อน

3. สุดท้าย แบงก์ชาติ ก็คงพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ย หรือ มีมาตรการอะไรเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท

4. ในขณะเดียวกันก็จะมีโครงการขนาดใหญ่มากดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอีก นั่นก็คือการแจกเงิน 560,000 ล้าน ซึ่งต้องกู้เงิน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็แปลว่ารัฐบาลไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นเพื่อมาแจกเงินเช่นกัน ซึ่งรายละเอียดการแจกเงินยังไม่ชัดเจน และยิ่งไม่ชัดเจน ตลาดก็กังวล และเลือกที่จะขายออกมาก่อนแบบในช่วงนี้"

ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยดันทุรังจะแจกเงิน 560,000 ล้านบาทให้จงได้ ผมขอเสนอแนวทางประนีประนอมดังต่อไปนี้

(1) ควรทยอยแจก 4 ปี ในระหว่างที่เป็นรัฐบาล คือแจกทุกปี ๆ ละ 140,000 ล้านบาท ดีกว่าแจกรวดเดียว 560,000 ล้านบาท ภายในหกเดือนของปีแรก

(2) ตอนที่แจกปีละ 140,000 ล้านบาท ควรทยอยแจกทุกเดือน ๆ ละ 10,000 กว่าล้านบาท ผ่านแอป ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดแล้วว่าได้ผลจริงในการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้คน

ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลเพื่อไทยจะยอมลดอีโก้ของตนเองลงหรือไม่ หรือจะยอมปล่อยให้นโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัล ทำให้การคลังของบ้านเมืองพังเหมือนนโยบายจำนำข้าวที่ฉาวโฉ่ในอดีต

ด้วยความปรารถนาดี

'99 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์' นำทัพ!! ค้านแจกเงินดิจิทัล ดึงเงินเฟ้อสูง แถมเสียโอกาสลุยโครงสร้างพื้นฐาน

(6 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ เพราะเป็นนโยบายที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ โดยยกเหตุผลประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีนี้และ 3.5% ในปีหน้าจึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึง 7.8% ซึ่งสูงที่สุดใน 20ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัว 6.1% และ 4.6% ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ ประมาณ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflationexpectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไปค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริงเพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้าไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือ ราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้ออันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน

4. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่าย คืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5.ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยรัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบโดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

“นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียง 13.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มากการทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย”

6.การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและ สาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก 'นโยบายแจกเงิน digital 10,000บาท' แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาวแม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

‘เพื่อไทย’ ยืนยัน รับฟังข้อเสนอแนะทุกฝ่าย ปมเงินดิจิทัล 10,000 บาท อยากวอนคนค้าน ฟังเสียงปชช. เหตุลงพื้นที่มีแต่คำถาม “เมื่อไหร่จะได้”

(7 ต.ค.66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการ และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับทราบถึงข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งมีทั้งบวกและลบ จากนักวิชาการบางส่วน จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้ 

1. ที่มาของออกนโยบายดังกล่าว มาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ และพี่น้องเกษตรกร ต่างต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก จากปัญหาที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนสะดุดจนติดลบ จนทำให้หนี้ครัวเรือนปี 63 พุ่งขึ้น 10 เท่าจากปี 53 และในไตรมาส 1 ปี 66 อยู่ที่ 90.6% ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนมาถึงปัจจุบัน หนี้ที่เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนอ่อนแอเปราะบาง เป็นที่มาของการ ‘ลดรายจ่าย’

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า 2.จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ (fiscal multiplier) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1-1.6 ล้านล้านบาท และประเมินจีดีพีไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ถึง 5-7%  แม้ถูกมองว่าเป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการเริ่มต้นปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในปี 2567 เพื่อที่ในปีต่อๆ ไป การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามามากขึ้น เป็นที่มาของการ ‘เพิ่มรายได้’ ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ค่าแรง 600 บาทใน 4 ปี และเงินเดือนปริญญา 25,000 บาท ที่กำลังจะตามมา 3.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ยังมีหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมการไว้ด้วยเช่นกัน เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์, โครงสร้างพื้นฐาน ที่ จ.ภูเก็ต, โครงการอีอีซี และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถดำเนินควบคู่กันไปกับโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า และ 4.ขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กนง.ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.25% เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2565 อาจส่งผลให้การลงทุน และการส่งออกของไทยหดตัวลงได้ ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่การลดรายจ่ายให้กับประชาชนระดับฐานรากของสังคม และการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เป็นทางออกที่เหมาะสม และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้

“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล มองภาพใหญ่ ภาพรวม ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ที่ สส.พื้นที่เราได้รับฟังเสียงสะท้อนมาตลอด ที่ผ่านมา ไม่มีใครบอกว่าไม่อยากได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท มีเพียงคำถามว่า ‘เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น?’ ข้อกังวล เรารับทราบ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการเราเปิดรับเสมอ แต่อยากให้คนที่คัดค้าน ฟังเสียงประชาชนร่วมด้วย คนที่เขารอรับ เขาอาจเสียงไม่ดังเหมือนพวกท่าน แต่พวกเขาเดือดร้อนและรออยู่” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว 

เปิด 6 เหตุผล!! 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ค้าน!! แจกเงินดิจิทัล 10,000

เปิด 6 เหตุผล!! จากนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ที่ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิก 'นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท' เพราะเป็นนโยบายที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย'

‘นายกฯ’ ยัน!! ไม่ยกเลิกแจกเงินดิจิทัล คาด ปลาย ต.ค.นี้ ชัดเจน เผย ลงพื้นที่มีแต่ชาวบ้านทวงถามเงินหมื่น ย้ำพร้อมรับฟังทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีประชาชนหลายพื้นที่เรียกร้องโครงการเงินดิจิทัลว่า มีประชาชนหลายพื้นที่แสดงเจตจำนงว่าอยากได้มาก ตนดีใจเพราะตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ ตนยืนยันตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ด้วย เราน้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่ไม่มีการยกเลิก ยืนยันว่าโครงการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นและความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

“คนต่างจังหวัดไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนคนที่อยู่บนฐานบนของสังคม ความเหลื่อมล้ำมีเยอะมากในสังคมไทย เขาไม่มีเงิน งบประมาณของโครงการนี้ประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ไม่ใช่งบประมาณที่ทำทุกปี ขอทำความเข้าใจว่าทำแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่ตั้งใจเอามาเพื่อซื้อเสียง เราทำออกมาเพื่อให้โดนใจประชาชนและมีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี”

“นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมน้อมรับ แต่ท่านก็เป็นแค่หนึ่งเสียง พี่น้องประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล เราน้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เสียภาษี ฝ่ายประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากที่หมักหมมมานาน ผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะไม่ลุด้วยอำนาจ และจะฟังความคิดเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใดความลำบากของประชาชน การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิชาการที่เห็นต่างเพื่อให้ไม่ให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดี นายเศรษฐากล่าวว่า ยืนยันตนคุยตลอด สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมงานก็คุยกับนักวิชาการหลายท่าน ได้ไปพูดคุยและรับฟังตลอด

เมื่อถามว่า การที่ยังมีเสียงคัดค้านเป็นไปได้หรือไม่เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นไปได้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ขอให้ตกผลึกทั้งหมดก่อนในแง่นโยบายว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง เช่น บางคนบอกว่าระยะทาง 4 ตารางกิโลเมตรอาจไม่พอ เพราะบางพื้นที่มองไปมีแต่ทุ่ง ไม่มีร้านค้าจะทำอย่างไร รัฐบาลรับฟังเดี๋ยวจะไปพิจารณาใหม่ คาดว่าน่าจะปลายเดือนตุลาคมน่าจะออกมาได้ทุกอย่าง ขอให้อดทนนิดหนึ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top