เปิดรายละเอียด ‘แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น’ ที่คนไทยควรรู้ ภายใต้ ‘ผลลัพธ์-ข้อจำกัด’ ที่ผู้ออกนโยบายต้องคิดให้ดี

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.66 Spacebar ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายรายละเอียด ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ถึงความเป็นมาโครงการ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย และความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หลังรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้มีการประกาศไว้ว่า จะสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 โดยระบุว่า...

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเงินที่สามารถนำไปใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เผยว่าจะทำบน ‘ระบบ Blockchain’ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิรับเงิน คือ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 56 ล้านคน เท่ากับต้องใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท โดยทางพรรคเพื่อไทยอธิบายไว้ว่า นี่คือมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อสู้กับความยากจน อันจะส่งผลให้เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจได้กว่า 3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับที่มาของเงินที่หลายคนเป็นห่วงว่าเอามาจากส่วนไหน เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น ทางพรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่า จะมีการนำมาจากการบริหารงบประมาณและภาษี โดยประกอบไปด้วย...

1.) ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 = 260,000 ล้านบาท

2.) ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย = 100,000 ล้านบาท

3.) การบริหารจัดการงบประมาณ = 110,000 ล้านบาท

4.) การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน = 90,000 ล้านบาท

โดยสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

ในส่วนของร้านค้าที่สามารถรับเงิน 10,000 บาท หรือเข้าร่วมโครงการนี้ได้นั้น ต้องเป็นร้านที่จดทะเบียนการค้า จึงจะสามารถแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ รวมถึงต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี, เคยยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือยื่นแบบนิติบุคคลมาเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

สำหรับข้อดีของนโยบายนี้ ทางรัฐบาลได้อธิบายว่า จะมีส่วนสำคัญในการนำมาช่วยสร้างงานสร้างอาชีพได้ และถัดไปแม้นโยบายจะจบลงไป แต่โครงสร้าง Blockchain ที่ได้สร้างขึ้นมาจะเป็นรากฐานให้กับระบบการชำระเงินในอนาคตได้ต่อ

ส่วนปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คือ ภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ เนื่องจากปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้นทันที ซึ่งจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่ถูกลดอำนาจในการซื้อลง ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่อง ‘ความไม่ชัดเจนด้านกฎหมาย’ โดยเงินดิจิทัล ไม่ใช่ ‘เงินบาท’ หรือ ‘เงินธนาคาร’ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสุดท้าย คือ ‘เทคโนโลยี Blockchain’ อาจไม่ตอบโจทย์การเป็นดิจิทัลวอลเล็ตได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เรียกได้ว่ากระแสมาแรงถึงขั้นร้านค้าเริ่มมีการเกาะติด จนทำคอนเทนต์สนุกๆ นำร่อง เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าให้ไปใช้บริการในร้านกันล่วงหน้าแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แถมท่าน ‘นายกฯ เศรษฐา’ ก็นั่งพ่วงเก้าอี้ รมว.คลัง ด้วยนั้น จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริงในปี 2567 หรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป…


ที่มา : https://vt.tiktok.com/ZSL3HcFNc/