‘ธีระชัย’ สับ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ กระตุ้น ศก.แบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’

(7 ก.ย. 66) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดยเฉพาะกับนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท ถึงผลพวงที่จะตามมาทั้งในแง่บวกและลบ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมีนายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญ ดังนี้…

ในประเด็นของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีการปล่อยออกมา พอจะเห็นภาพความหวังต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด? คุณธีระชัย มองว่า โดยภาพรวมของเนื้อนโยบายมีความน่าสนใจ แต่จะติดอยู่ 2 ส่วน นั่นก็คือ 1.ในเรื่องของเงินดิจิทัล และ 2.ในเรื่องของการลดราคาพลังงาน ซึ่งเข้าใจว่าต้องการช่วยประชาชน แต่ก็ต้องใช้งบประมาณบนความระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตามในนโยบายที่ คุณธีระชัย ดูจะห่วงเป็นพิเศษ คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ (Digital Wallet) 10,000 บาท โดยกล่าวว่า ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตารอกันแล้ว ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากเสียงนักวิชาการในฟากฝั่งรัฐบาล ที่เชื่อว่าทำให้เกิด ‘พายุหมุนทางเศรษฐกิจ’ ช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ก็ยิ่งทำให้นโยบายดีถูกมองในด้านบวกด้านเดียว

ทั้งที่ในความเป็นจริง จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินนโยบายการคลังด้วยการอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ล้วนต้องการผลลัพธ์ในการกระตุ้นตัวเลขจีดีพีให้สูงขึ้น แต่กลับกันนโยบายแจกเงินดิจิทัลส่วนนี้ จะมีกลไกใดที่ช่วยกระตุ้นจีดีพี เพราะนี่คือการแจกแบบหว่าน ไม่ว่าจะรวยหรือจนด้วย ในสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะไทยยังสูง และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติอย่างโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้นไทยจะเอาเงินมาจากไหน? ที่จะไม่กระทบต่อสถานะทางการคลังของประเทศ

“ผมเข้าใจดีว่าการแจกเงิน ก็เพื่อให้เกิดการหมุนในภาคอุปโภคบริโภค แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนตอนโควิด19 ที่ต้องมีการแจกเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมีผลพวงจากการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงร้านค้าที่ขายไม่ได้ เพราะต้องปิดร้าน รวมถึงกำลังซื้อหาย จากรายได้ประชาชนหด นั่นจึงทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินผ่านโครงการที่โฟกัสลงไปเฉพาะกิจเป็นกลุ่มๆ ในช่วงรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์จึงเกิดขึ้น

“แต่ตอนนี้ ล็อกดาวน์ ไม่มีแล้ว การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็กลับมาแล้ว ลักษณะของการแจกเงินในช่วงเวลานี้ จึงเหมือนกับเป็นการให้ ‘ปลา’ แก่ประชาชน ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใด ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อประชาชนได้เงินมา ก็แค่เอาใช้บริโภคให้หมด ๆ ไป แน่นอนว่า มันอาจจะเกิดผลดีในการกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็แค่รอบเดียว แค่ระยะสั้นหมด แล้วก็จบ” 

คุณธีระชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำกับเศรษฐกิจในตอนนี้ ‘ไม่ใช่การแจก’ แต่ต้องสร้างพลังกระตุ้นหรือหาทางที่จะให้เม็ดเงินงอกเงยขึ้นมาจากหนึ่งร้อย เป็นร้อยยี่สิบ เป็นร้อยห้าสิบ อะไรประมาณนี้มากกว่า เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน

ในส่วนของการเลือกแพลตฟอร์มเพื่อจ่ายเงินดิจิทัล คุณธีระชัย ก็ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “ทางรัฐบาลจะทำบนแพลตฟอร์มใหม่ ทั้ง ๆ ที่มีการแนะนำให้ใช้ผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งก็ไม่ผิดคาด เพราะพรรคเพื่อไทยเขาก็คงไม่เอาด้วย เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า ดิจิทัล 10,000 นี้ เป็นการให้ ‘เงินบาท’ ปกติ ไม่ใช่ ‘เงินดิจิทัล’ ที่มาในลักษณะเหรียญดิจิทัล และมีการวงเล็บว่า (คูปอง) แบบที่ใช้ในศูนย์อาหาร ซึ่งตรงนี้ผมก็อยากฝากให้ระวังความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายไว้ด้วย ควรปรึกษาหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ชัดเสียก่อนจะทำ เพราะอย่างที่บอกมันไม่ใช่เงินจริงๆ ที่โอนกันถึงมือประชาชนแบบโครงการของรัฐบาลลุงตู่ (คนละครึ่ง / ม.33 เรารักกัน) ที่อันนั้นก็คือเป็นเงินสดเข้าบัญชีในแอปฯ เป๋าตัง แล้วก็ไปใช้จ่ายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกัน มีเงินไหลเข้าสู่ร้านค้าทันที”

โดยสรุปแล้ว หากให้พูดถึงความเป็นจริงในเรื่องนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ คุณธีระชัย ยังเชื่อว่าไทยควรต้องเดินตามบริบทของประเทศในปัจจุบัน ว่าเหมือนหรือเดือดร้อนอย่างตอนโควิดระบาดหรือไม่ ซึ่งนาทีนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกันแล้ว นั่นหมายความว่าการใช้เครื่องมือเดิมในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะใช้เครื่องมือนั้นหนักกว่าเดิมอีกนั้น (กู้มาแจก) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ต้องระวังมาตรการที่ทำแบบ ‘ไม่ถูกที่’ และ ‘ไม่ถูกเวลา’ ให้ดี

คุณธีระชัย ทิ้งท้ายอีกว่า “ในทางการเมืองนโยบายในลักษณะนี้ มักตอบโจทย์ประชาชน เพราะเวลาพรรคการเมืองจะไปหาเสียง แล้วบอกหรือนำเสนอโครงการที่จะเพิ่มขีดความสามารถจากเงินที่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความงอกเงยนั้น ส่วนใหญ่มันไม่โดนใจ เพราะไม่ใช่การแจกหรือให้ที่ถึงมือประชาชนทันที ไม่มีความหวือหวาที่พร้อมกระชากใจประชาชน ต่างจากนโยบายหวือหวา แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ซึ่งเรื่องนี้น่าห่วง”