Friday, 18 April 2025
อยุธยา

‘เศรษฐา’ นั่งรถอีแต๊ก ลุย จ.พระนครศรีอยุธยา จับเข่าคุย - รับฟังสารพัดปัญหาของเกษตรกร

(10 มี.ค. 66) ที่อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย และนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตรสมัยใหม่ ฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัครส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรค พท. ทั้ง 5 เขต ประกอบไปด้วย 

1. นายอัณณพ อารีย์วงศ์สกุล 
2. นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล 
3. นายองอาจ วชิรพงศ์ 
4. นายจิรทัศ ไกรเดชา 
และ 5. นายอาทิตย์ ภาคอินทรีย์ 

ลงพื้นที่พบปะพี่น้องเกษตรกรชาวนา โดยพี่น้องชาวนาได้สะท้อนปัญหาอยากให้ชีวิตคือกินดีอยู่ดีขึ้น ทั้งเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร และปุ๋ยที่ราคาแพง รวมถึงให้ข้าวมีราคาสูงขึ้นกว่านี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อกิโลกรัม และปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ลงพื้นที่นี้เป็นจังหวัดแรก เพื่อรับฟังความอัดอันตันใจของชาวนาในการทำไร่ทำนา ตนทราบว่าปัญหาเยอะเหลือเกิน แต่ 8 ปีที่ผ่านมาเราเชื่อว่าเราอยู่ในหลุมดำของกลับดักรายได้ต่ำ ราคา

ข้าวไม่ดีผลผลิตไม่ดี และมีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาโดยตลอด ยืนยันว่าปัญหาน้ำท่วมเรามีแผนงานทำฟลัดเวย์หรือพื้นที่กักน้ำเพื่อแบ่งเบาภาระในช่วงน้ำหลาก เรื่องน้ำแล้งนั้นจะต้องมีการขุดบ่อและนำปั๊มน้ำเข้ามาในพื้นที่ ส่วนปัญหาหนี้สินก็เป็นปัญหาใหญ่ที่พรรค พท. ตระหนักดีอยู่ เนื่องจากราคาข้าวที่ผ่านมารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดตลาดใหม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ทำหน้าที่เซลล์แมนขายของเลย ถ้าพรรค พท. ได้รับความไว้วางใจกรุยทางถนนเข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล เพื่อช่วยกันค้าขายยกระดับราคาสินค้าเกษตร รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องระบบสาธารณสุข ในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วย

“เป็นครั้งแรกที่ผมลงพื้นที่รับฟังปัญหาและความอัดอันตันใจของพี่น้องทุกคน ผมก็หนักใจ แต่เรามีความจริงใจเรามีความตั้งใจจริงในการที่จะหาทางแก้และช่วยเหลือพี่น้องอย่างเต็มที่” นายเศรษฐา กล่าว

หลังรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวนา นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวนาสะท้อนคือเรื่องราคาปุ๋ยแพงและ ราคาข้าวตกต่ำ ว่า ราคาเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง หากราคาแพงต้นทุนก็จะสูง เงินเข้ากระเป๋าก็จะน้อย หน้าที่ของพรรค พท. คือจะต้องเพิ่มเงินสุทธิเข้ากระเป๋าเข้ากระเป๋าให้มากขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ทั้งการลดราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย ส่วนปัญหาราคาปุ๋ยแพงนั้นสามารถยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลกที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นจึงมี นโยบายสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในท้องถิ่นเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมราคาปุ๋ยลงได้

เมื่อถามว่า 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ยังไม่ สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวได้มั่นใจหรือไม่ว่าพรรค พท. จะทำได้ นายเศรษฐา กล่าวว่า คงไม่สามารถพูดถึง 8 ปีที่ผ่านมาได้ แต่ทราบถึงความอึดอัดตันใจ ไม่มีความสุข ที่ราคาพืชผลตกต่ำ แต่ตนมั่นใจว่าพรรค พท. สามารถทำได้ในหลายมิติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

เมื่อถามถึงพื้นที่อ.ผักไห่ เป็นพื้นที่รับน้ำและที่ผ่านมารับน้ำนานถึง 4 เดือน พรรค พท. มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างไรเพื่อให้มีการระบายน้ำในพื้นที่ได้เร็วขึ้น นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ทั้งระบบ ว่าทำไมถึงเป็นพื้นที่รับน้ำและรับน้ำนานถึง 4 เดือน จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดก่อน แต่แน่นอนว่าพื้นที่ที่เดือดร้อนต้องมีวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

แนวคิดนักการเมืองรุ่นใหม่ ‘ประวิทย์ สุวรรณสัญญา (ปู้)’ | TIME TO LISTENING EP.16

‘ประวิทย์ สุวรรณสัญญา (ปู้)’ ทายาทห้างยาสุวรรณโอสถ ผักไห่ ในวัยเพียง 29 ปี ซึ่งครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครช่วยชาวบ้านในช่วงน้ำท่วมทำให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนชาวผักไห่ เลยตั้งใจอยากช่วยเหลือพี่น้องชาวอยุธยาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงสนใจลงการเมืองในนามพรรคชาติไทยพัฒนา แนวคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงจะเป็นอย่างไรติดตามรายละเอียดในคลิปนี้…

ดำเนินรายการโดย ไอยรา อัลราวีย์
Content Manager THE STATES TIMES

แขกรับเชิญ คุณประวิทย์ สุวรรณสัญญา (ปู้)
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พระนครศรีอยุธยา เขต 5 พรรคชาติไทยพัฒนา

ติดตามได้ใน THE STATES TIMES PODCAST
และสามารถรับชมคลิปอื่น ๆ ได้ที่ :  https://youtube.com/playlist?list=PL60bae1syuyLBnnkZJ5-QgtyID5DqrnG4

🎥 ช่องทางรับชม
Facebook: THE STATES TIMES PODCAST
YouTube: THE STATES TIMES PODCAST
TikTok: THE STATES TIME PODCAST

ร่วมใจอนุรักษ์ เกร็ดน่ารู้ ‘ก่อเจดีย์ทราย’ ประเพณีร่วม ‘ไทย-เมียนมา’ ร่องรอยมรดกจากอยุธยา ที่ผ่านไป 200 ปีก็ยังมิเลือน

ในช่วงสงกรานต์ หรือ ตะจ่าน ของทุกปี ชาวบ้านในหมู่บ้านสุขะ เมืองมัทดายามัน ภูมิภาคมัณฑะเลย์จะมีประเพณี ‘ก่อพระเจดีย์ทราย’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การก่อเจดีย์ทรายนั้น ไม่มีกระทำกันสำหรับวัดในเมียนมา หากแต่การก่อเจดีย์ทรายของที่นี่ คือ มรดกทางวัฒนธรรมจากสมัยอยุธยาที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทยนั้น ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่ง ที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์

นอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีต ให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

แต่สำหรับการก่อเจดีย์ทรายในเมียนมานั้น มีความเชื่อเรื่องพระเจดีย์ทราย ที่ต่างจากไทย โดยทางเมียนมามีความเชื่อว่าเม็ดทราย เสมือนตัวแทน ผู้สำเร็จพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา จำนวน นับไม่อาจประมาณได้เมื่อก่อกองทรายเสร็จ ก็กราบไหว้บูชา เสมือน พระเจดีย์ ในวัด ทั่วไป จนกว่ากองทราย จะยุบและพังในที่สุดโดยกองทรายที่ยุบและพังไปนั้นทางชาวบ้าน ก็นำไปเทไว้ตามธรรมชาติ หรือเทไว้ที่ริมตลิ่งแม่น้ำเพื่อให้ทรายกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

การก่อพระเจดีย์ทรายฝั่งเมียนมาอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3วัน เพราะต้องมีพิธีสวดอัญเชิญ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ มาสถิตย์อยู่ เสมือนเป็นเจดีย์ทั่วไป ซึ่งในบางชุมชนที่ไม่มีกำลังจะสร้างวัด หรือเจดีย์ เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ ก็จะใช้ก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นมา เพื่อเป็นการเคารพบูชาแทน พระพุทธเจ้า ไว้กราบไหว้ ในชุมชนนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากประเพณีของฝั่งไทยที่เป็นการขนทรายเข้าวัด เพื่อไปก่อสร้างเจดีย์เท่านั้น

และนี่คือมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่ยังคงดำรงไว้ให้ลูกหลานแม้เวลาจะผ่านไปนับ 200 กว่าปีแล้วก็ตาม

เรื่อง: AYA IRRAWADEE

วัดเก่าแก่ 5 ศตวรรษ เคลือบ 'ศิลปะ' สวยงามตระการตา  พร้อมยล 'อุโบสถเรือสุพรรณหงส์' สุดอลังการ ใกล้กรุงเทพฯ

วัดสวยที่ THE STATES TIMES จะพาไปในวันนี้ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร วัดนี้มี อุโบสถเรือสุพรรณหงส์ ที่สวยงามมาก ถือเป็นอันซีนที่จะต้องไปชมสักครั้ง เพื่อชื่นชมกับความวิจิตรงดงามในศิลปะสุดอลังการ

วัดชลอ ตั้งอยู่ใน ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นราวๆ ปี พ.ศ. 2275 หรือในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คำว่า “ชลอ” เล่าว่า อาจมาจากกคำว่า “ช้ารอ” เพื่อเตือนเรือที่แล่นผ่านเพราะน้ำเชี่ยว ต่อมาเพี้ยนเป็น “ชลอ” วัดนี้จะตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย เมื่อก่อนนั้นจะเรียกกันว่าคลองลัดบางกรวย ที่ขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2081 มีอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี

มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ผ่านคลองลัดบางกรวย ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะสร้างวัดได้ เพื่อไว้สำหรับเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวบ้าน แต่ด้วยบริเวณนี้เป็นคุ้งน้ำเชี่ยว เมื่อในอดีตนั้น เคยมีเรือสำเภาล่มและมีคนจมน้ำตาย รวมถึงการก่อสร้างก็ลำบากและมีอุปสรรคมากมาย แม้กระทั่งตอนที่สร้างเสร็จก็เกิดฟ้าผ่าที่กลางโบสถ์อีกด้วย ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระสุบิน นิมิตว่ามีชายชราชาวจีนมากราบทูลขอให้พระองค์ปลดปล่อยดวงวิญญาณที่ตายเพราะเรือล่ม โดยชายชาวจีนผู้นั้นอยากให้พระองค์สร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภา หลังจากนั้นเมื่อโบสถ์สร้างเสร็จก็ไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นอีก

จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ก็คือ อุโบสถเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดย พระครูนนทปัญญาวิมล (หลวงพ่อสุเทพ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลอ และท่านยังเป็นผู้พัฒนา วัดชลอ จากวัดเก่าที่ทรุดโทรมให้มีความสวยงาม และเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่อยู่ : วัดชลอ 21/3 ซอยบางกรวย ถนนบางกรวย-จงถนอม ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พิกัด : https://goo.gl/maps/gccm5Vbj1G8PYiHJ9 
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.

ย้อนอดีต ‘บังเปีย’ ชาวไทยมุสลิม ผู้ริเริ่มทำ ‘โรตีสายไหม’ จนเป็นของขึ้นชื่ออยุธยา แต่แท้จริงนั้นจุดกำเนิดอยู่ที่สัตหีบ

(26 ส.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘จานโปรด’ ได้โพสต์บรรยายที่มาของ ‘โรตีสายไหม’ สินค้าชื่อดังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยระบุว่า…

“โรตีสายไหม ทำไมต้องอยุธยา

ไปเที่ยวอยุธยาทีไร เป็นต้องเห็นโรตีสายไหมวางขายตามร้านข้างถนนแทบจะทุก 1 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดอยุธยาแล้ว แป้งโรตีหอมๆ กินคู่กับเส้นสายไหมที่หอมหวานกำลังดี

หลายคนอาจจะนึกเถียงอยู่ในใจว่า แป้งที่ห่อนั้นไม่ใช่แป้งโรตี แต่เป็นแป้งเปาะเปี๊ยะต่างหาก

โรตีสายไหมที่โด่งดังขึ้นชื่อในอยุธยานั้น คาดว่าเป็นขนมที่สืบทอดมาจากชาวไทยมุสลิม โดยบังเปีย หรือ คุณซาเล็มแสงอรุณ ชาวอำเภอวังน้อย อยุธยา

ในปี พ.ศ. 2499 บังเปีย ในวัย 11 ปี ที่มีฐานะครอบครัวยากจน ต้องตระเวนไปรับจ้างตามต่างจังหวัด จนได้ไปอยู่กับอาที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และประกอบอาชีพขายขนมโรตี ทุกๆ วัน บังเปียจะต้องเคี่ยวน้ำตาลเพื่อทำขนม แล้วบังเปียก็สังเกตได้ว่าเมื่อเคี่ยวนานไปน้ำตาลจะเริ่มจับตัวเป็นก้อน บังเปียจึงลองดึงน้ำตาลให้เป็นเส้นฝอยๆ เหมือนสายไหมแล้วหยอดใส่แป้งโรตี กลายเป็นขนมชนิดใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า ‘โรตีสายไหม’

หลังกลับมาที่อยุธยา บังเปียก็ยังยึดอาชีพขายโรตีสายไหมอยู่ เพียงแต่ปรับจากแผ่นแป้งโรตี มาใช้แผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะของจีนแทน เนื่องจากใช้เวลาทำน้อยกว่า วัตถุดิบมีราคาถูกกว่า และรสชาติก็เข้ากันกับสายไหมได้ดีกว่าเพราะไม่ทำให้เลี่ยนจนเกินไป ก็เลยกลายเป็นโรตีสายไหมเวอร์ชั่นที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

หลังจากโรตีสายไหมของบังเปียเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอยุธยา บังเปียมีการปรับและพัฒนาสูตรอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มขยายกิจการไปยังจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงให้พี่น้องมาทำกิจการโรตีสายไหมด้วยกัน เราจึงได้เห็นร้านโรตีสายไหมที่เป็นสูตรของบังเปียกระจายไปทั่วอยุธยา ตลอดถนนสายเอเชีย ถนนอู่ทอง ถนนมิตรภาพ เราจะเห็นร้านเต๊นท์ผ้าใบที่มีสายไหมสีสดใสวางอยู่ในถุงอยู่เสมอ

ทุกวันนี้ โรตีสายไหมกลายเป็นของขึ้นชื่อของอยุธยา ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และผลักดันจนกลายเป็นสินค้าOTOP สุดขึ้นชื่อ ที่แขกไปใครมาอยุธยาก็ต้องติดไม้ติดมือกลับบ้านไปคนละอย่างน้อย 3 ถุงแน่ๆ”

 

‘ป.ป.ส.’ บุกยึดยาบ้ากว่า 2 ล้านเม็ด ที่ถูกซุกอยู่บ้านเช่า จ.อยุธยา ส่วนผู้ต้องหาขับรถแหกวงล้อมหนีไปได้ จ่อแถลงใหญ่ 13 ก.ย.นี้

(10 ก.ย. 66) ภาพจากกล้องวงจรปิด บันทึกเสียง และภาพเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกำลังจะเข้าจับกุมกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด ไหวตัวทัน ขับรถยนต์ พุ่งชนรั้วบ้าน และรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับความเสียหาย 2 คัน จากนั้นขับหลบหนี ซึ่งกล้องบริเวณหน้าปากทางสามารถจับภาพได้ขณะที่ต้องสงสัย รายที่ 1 วิ่งหลบหนีออกไปทางด้านหน้าปากซอย จากนั้นก็จะเห็นภาพรถยนต์นั่งส่วนบุคคล อีซูซุ มิวเอ็ก สีขาววิ่งตามมา อย่างรวดเร็ว ตามด้วยเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่ ที่บ้านหลังหนึ่ง ภายในหมู่บ้านจัดสรร ริมถนนโรจนะ ม.5 ต.บ้านสร้าง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ปิดล้อมบ้าน และกำลังจะเข้าจับกุมกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด เกิดไหวตัวทัน ขับรถยนต์พุ่งชนรั้วบ้านหลบหนีออกมาจากบ้าน จนชนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ได้รับความเสียหายจำนวน 2 คัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงสกัดรถของเครือข่ายยาเสพติด พร้อมกับขับรถรถติดตามไปแต่ไม่สามารถจับกุมตัวได้ ท่ามกลางความตกใจของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้าน

ในเบื้องต้น ทราบข้อมูลว่า เจ้าหน้า ป.ป.ส. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ให้ข้อมูลว่า ได้ติดตามเครือข่ายยาเสพติดมาจากจังหวัดทางภาคอีสาน ที่ขนยาบ้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามแม่น้ำโขงมา มีการนำยาบ้ามาซุกซ่อนพักเอาไว้ภายในบ้านหลังดังกล่าว เพื่อเตรียมกระจายจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลาง และปริมณฑล ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังจะเข้าจับกุม กลุ่มเครือข่ายยาเสพติด ได้เปิดประตูรั้วบ้านออกมาพอดี เตรียมจะเดินทางออกจากบ้าน จึงเห็นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ วิ่งหลบหนี และอีก 2 คนได้ขับรถยนต์อีซูซุ สีขาว หลบหนีพุ่งชนรั้วบ้าน และรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปแล้วไม่ทัน หลบหนีไปได้จำนวน 3 คน

จากการตรวจค้นภายในบ้านเช่า พบจำนวนยาบ้าประมาณ 2 ล้านเม็ด ถูกพันด้วยผ้าเทปสีน้ำตาล ตั้งเรียงไว้อยู่บริเวณมุมบ้านพร้อมกับขวดสเปรย์น้ำหอม ที่ใช้ฉีดกลบกลิ่นยาบ้าไม่ให้เพื่อนบ้านได้กลิ่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ขนย้ายยาเสพติดทั้งหมด เข้าสำนักงาน ป.ป.ส. แล้วจะมีการแถลงใหญ่ในวันที่ 13 กันยายน ที่จะถึงนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวได้ สอบถามเพื่อนบ้านเล่าว่า บ้านหลังดังกล่าว พบว่ามีคนมาเช่าบ้านอยู่ได้ประมาณ 5-6 เดือน เคยพูดคุยกันทราบว่าเป็นผู้รับเหมา มักจะกลับเข้ามาบ้านช่วงดึกๆ มาอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมงแล้วออกไปไม่เคยมีการพักค้างคืน

จนเมื่อเช้า เห็นมีกำลังเจ้าหน้าที่มาจอดหน้าบ้าน คนในบ้านเปิดประตูมาพอดี แล้ววิ่งหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยามจับกุมตัวแต่ไม่ทัน รถที่จอดในบ้านขับชนรั้วออกมาชนรถตำรวจขับหลบหนี ได้ยินเสียงปืนดังหลายนัด ตนเองตกใจกระโดดหลบจนล้มได้รับบาดเจ็บ

‘สส.ปทุม ก้าวไกล’ ค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าอยุธยา อ้าง!! จะถูกถอด ‘มรดกโลก’ เจอชาวเน็ตแห่ถล่มยับ!!

(18 ก.ย. 66) เฟซบุ๊ก ‘เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon’ ของนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า "ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกันกรณี “ศรีเทพ” จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ “อยุธยา” ที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูก “ถอด” เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง #ก้าวไกล #มรดกโลก #อโยธยา"

ปรากฏว่าทัวร์ลงมายัง สส.คนดังกล่าว โดยมีความคิดเห็น เช่น

- คนอยุธยาอยากได้ความเจริญมากกว่าค่ะ
- ถ่วงความเจริญครับ
- ความรู้สั้น ความมั่นสูง
- คนอยุธยามีสิทธิ์ไหมคะ
- ก่อนแสดงความเห็นควรหาความจริงและควรมีความรู้
- อยุธยาได้เป็นมรดกโลก และมีการคมนาคมที่ทันสมัยควบคู่กันไป คนไทยและชาวต่างชาติก็จะยิ่งมาเที่ยวอยุธยามากขึ้นค่ะ

- ว่างงานและมาถ่วงความเจริญหรือครับ
- อย่างนี้เกียวโตโดนถอดไปนานแล้วปะครับ

สำหรับประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยหนึ่งในนั้นคือสถานีอยุธยา แต่กรมศิลปากรออกมาคัดค้านเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อโบราณสถาน และมรดกโลก และขอให้การรถไฟฯ ทำการศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ทำให้โครงการในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร หยุดชะงัก การรถไฟฯ ได้จ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษาผลกระทบ เพื่อหารูปแบบ และป้องกันผลกระทบในทุกด้านกับการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ

อีกด้านหนึ่ง นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าว อ้างว่าที่ตั้งสถานีผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยา พร้อมเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ขณะเดียวกัน นายทวีวงศ์ยังมีการขอพบ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เพื่อหารืออีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ได้มีการก่อตั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘SAVE อโยธยา’ นำโดย นายภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ปกป้องเมืองอโยธยา และได้จัดเสวนาหัวข้อ ‘รื้อ-ทำลายความทรงจำมรดกวัฒนธรรมอโยธยา’ โดยมีนายธรรดร กุลเกลี้ยง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มราษฎร โดยวิจารณ์โครงการสถานีรถไฟอยุธยา อ้างถึงโรงภาพยนตร์สกาลา และศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมทั้งยังโยงแง่มุมของทุนนิยมกับการอนุรักษ์ และ น.ส.ภัสราวดีเห็นว่าสร้างอ้อมออกไปใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท ยังน้อยกว่างบประมาณของกองทัพที่มีกว่า 200,000 ล้านบาทอีกด้วย

เปิดข้อคัดค้านสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา สารพัดคำอ้าง 'มรดกเผด็จการ ม.44 - ทำลายมรดกโลก'

(23 ก.ย.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ดังนี้...

ขอร้อง!! อย่าให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา เป็นแพะทางการเมือง!! ตำแหน่งสถานี อยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก!! จาก 2 ล้านๆ มา EIA 2556 สู่แบบก่อสร้างล่าสุด ห่างมรดกโลกกว่า 1.5 กิโลเมตร

ผมเห็นกระบวนการปั่นกระแส เรื่องตำแหน่งรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่อ้างว่าอยุธยาจะโดนถอน มรดกโลก จาก UNESCO บ้างล่ะ สร้างประวัติศาสตร์นอกกระแส เรื่องเมืองเก่าอโยธยา บ้างล่ะ ทั้งๆที่รู้มาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครมาขุดค้น พอจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เป็นห่วงกันขึ้นมา

โดยดรามาเหล่านี้ถูกนำด้วยกลุ่มคน นักวิชาการ นักโบราณคดี และที่หนักสุด คือ 'นักการเมือง' ทั้ง สส. ระดับประเทศ และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมาพูดแบบ มองมุมเดียว และมีข้อเรียกร้องแบบที่หาจุดร่วมไม่ได้ จนสงสัยว่า สรุปคือ ไม่ต้องการให้สร้างใช่ไหม?

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องขอบคุณและชื่นชมชาวอยุธยา ที่มีการตั้งคำถามกลับไปยังคนที่มาโจมตี และคัดค้านการสร้างสถานีอยุธยา ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดขวางความเจริญ และมองการพัฒนาแต่มุมเดียว

*** ล่าสุด มีการตั้งประเด็น อ้างอิง ม.44 เป็นหนึ่งในสาเหตุในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งจะทำลายโบราณสถานในอยุธยา ซึ่งเป็นความบิดเบือนอย่างที่สุด เพราะตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา มันอยู่ในตำแหน่งนี้ มาตั้งแต่โครงการ 2 ล้านๆ แล้ว จนออกมาเป็นแบบ และอนุมัติใน EIA 2556 

สรุปแล้วมันยังไง เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

>> ย้อน Time line สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา...
- เดิม สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งมีการศึกษาเสร็จตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเตรียมจะเข้าแผนก่อสร้างตามโครงการ 2 ล้านๆ ที่เรารู้จักกัน

แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และรูปแบบโครงการ เลือกทำสายอีสาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-โคราช ก่อน ก็เลยมีการปรับข้อมูลจากที่เคยศึกษาไว้ มาใช้กับสายอีสานแทน ซึ่ง EIA เล่มนี้มีมติผ่านในปี 2560 

- จากนั้นมีการปรับก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมทำการแก้ไขผลการศึกษาใหม่ ในช่วง 2562 โดยในครั้งนี้ ก็มีการใช้สถานที่ก่อสร้างเดิม แต่มีการปรับปรุงรูปแบบอาคารให้สอดคล้องกับโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ 

แต่ในครั้งนี้ มีการแย้งเรื่องการบดบังทรรศนียภาพของเมืองอยุธยา ทำให้ที่ปรึกษา ได้มีการปรับแก้ไขแบบ ลดมิติของอาคารลงมากว่า 30% 

แต่สุดท้ายก็ 'ไม่ผ่าน' จึงทำให้ โครงการถอยหลังกลับไปที่แบบ และการศึกษาโครงการ จาก EIA ปี 2556 และปรับแก้รายละเอียดอาคารสถานีจากตรงนั้นแทน 

- แต่กรมศิลป์ อ้างถึง UNESCO ว่ากลัวการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาไปกระทบเขตมรดกโลกอยุธยา 

โดยทาง UNESCO ขอให้ทำ การศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน (HIA) ซึ่งไทยเราไม่เคยทำ และไม่มีข้อกำหนดรวมถึงกฎหมายควบคุมให้ทำ ซึ่งสุดท้าย การรถไฟ ก็ทำจนเสร็จ และยื่นเอกสารให้ UNESCO พิจารณาแล้ว

- มีกลุ่ม 'อนุรักษ์เมือง อโยธยา' ซึ่งไม่ใช่อยุธยา และไม่ได้มีสถานะ มรดกโลกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่กลุ่มนี้อ้างว่า เป็นต้นกำเนิดอยุธยา ซึ่งพื้นที่อโยธยาที่ 'อ้างถึง' คือพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา ยาวไปจนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม

แต่!! ในพื้นที่นี้ ยังไม่ถูกขุดค้น และปัจจุบันประชาชนก็เข้าใช้พื้นที่เต็มไปหมดแล้ว 

>> ปัญหากับโครงการรถไฟความเร็วสูง...
ทางคนคัดค้านเขาบอกว่าการก่อสร้างทั้งทางวิ่งยกระดับ และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีผลกระทบกับโบราณสถานใต้ดินที่ไม่ถูกขุดค้น แต่ก็ไม่เห็นว่าจะขุดเมื่อไหร่!!

ซึ่งทางคนคัดค้านมีข้อเสนอคือ...

1. ทำทางวิ่งและสถานีอยุธยาเป็นรูปแบบใต้ดิน!!
ระยะทาง 5 กิโลเมตร 
ใช้งบประมาณ 10,300 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี

แล้วยังไม่รวมกรณีที่ขุดใต้ดินแล้วไปเจอวัตถุโบราณ ซึ่งอย่างที่รู้ว่าเมืองอยุธยาเป็นเมืองโบราณ ขุดไปทางไหนก็เจอวัตถุโบราณ 

แล้วถ้าขุดไปเจอ จะต้องย้ายแนวอีกไหม? ต้องเสียเวลาโยกย้ายวัตถุโบราณอีกกี่ปี?

สุดท้ายและสำคัญที่สุด พื้นที่เมืองอยุธยาเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ แถมท่วมสูงขึ้นทุกปี แล้วถ้าอุโมงค์น้ำท่วมใครจะรับผิดชอบ มูลค่าเสียหายเท่าไหร่? คุ้มกันไหม?

2. ทำทางรถไฟเลี่ยง!! เมืองอยุธยา ไป 30 กิโลเมตร จาก บางปะอิน-บ้านภาชี!!

>> ระยะทาง 30 กิโลเมตร 
เวนคืนใหม่ตลอดเส้นทาง ค่าเวนคืนประมาณ 3,750 ล้านบาท
ต้องย้ายสถานีอยุธยาออกไป (ไปไหนก็ไม่รู้ กลางทุ่งซักที่)
ใช้งบประมาณ 22,630 ล้านบาท!!
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 7 ปี!!

เอาจริงๆ ข้อเสนอนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งเรื่องผลกระทบของประชาชน แล้วไม่ส่งเสริมการเดินทางอะไรกับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเลย!!

ผมว่าถ้าจะทำแบบนี้ไม่ทำสถานีอยุธยาเลยซะดีกว่า สร้างไปก็ไม่มีคนใช้บริการซะเปล่าๆ

3. ย้ายสถานีอยุธยาไปที่สถานีบ้านม้า ซึ่งเป็นการย้ายสถานีออกจากจุดเดิมไปอีก 5 กิโลเมตร ซึ่งตรงสถานีบ้านม้าอยู่ใกล้กับถนนสายเอเชีย (ทางหลวง 32) ต้องเวนคืนพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างสถานี ค่าเวนคืนประมาณ 200 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี!!

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พอเป็นไปได้แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์กับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเท่าที่ควร 

แต่คำถามคือ เราต้องการให้ผู้โดยสารเดินทางไปไหน เราก็ควรจะพาผู้โดยสารไปใกล้กับปลายทางให้มากที่สุด ซึ่งตำแหน่งสถานีเดิมเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ

เพราะการย้ายออกไป 5 กิโลเมตร จะสร้างปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับ เมืองอยุธยา ต้องมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่าง 2 สถานีอีก

***แต่เป็นสิ่งนักการเมือง และนักเก็งกำไรต้องการให้ย้ายไปเพื่อสอดคล้องกับที่ดินที่ได้มีการดักซื้อไว้เป็นจำนวนมาก เป็นของใครบ้างก็ลองไปตามหากันครับ

ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหามากกว่า ทำให้ทางที่ปรึกษา เสนอทางเลือกคือ...

1. จัดทำผังเมืองเฉพาะเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง

ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี

ซึ่งกรณีนี้จะไปสอดคล้องกับ โครงการ TOD อยุธยา ซึ่งจะไปวางเขตผังเมืองเฉพาะ เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 

แต่ก่อนหน้าก็มีการตีกลับโครงการ TOD อยุธยา เพราะทางกรมศิลป์ แจ้งว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่จะประกาศในอนาคต 

2. สร้างทางวิ่งก่อน แล้วค่อยหาตำแหน่ง และรูปแบบสถานีที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ

ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท

โดยกรณีนี้สามารถสร้างได้ทันทีและไม่กระทบกับแผนการก่อสร้าง หลังจากทุกอย่างลงตัวค่อยเริ่มสร้างสถานีตามแบบที่ทุกฝ่ายลงตัว

แต่ปัญหาคือสถานีอยุธยาจะเปิดช้ากว่าสถานีอื่น 3-5 ปี เพราะอาจจะต้องไปทำ EIA แก้ไขก่อน ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ก็จะช้าไป 

ซึ่งตัวอาคารสถานีรถไฟอยุธยา ที่กลับไปใช้แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงตามรูปแบบเดิม ที่ใช้เสนอ EIA ปี 2556 ซึ่งก็เป็นแบบสวยเหมือนกัน แต่เรียบง่ายลงมาเยอะ เน้นใช้วัสดุเป็นหลังคาและอาคารใส 

>> ความสูงในส่วนต่างๆของอาคาร
- หลังคากลางอาคารสูงสุด อยู่ที่ 37.45 เมตร
- ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 19.00 เมตร
- ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ชานตั๋วและรอรถ 10.25 เมตร
- ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

ซึ่งถ้ายืนตามแบบนี้ สามารถสร้างได้ 'ทันที' เพราะทำตามกฎหมายไทยหมดแล้ว 

ล่าสุด ผมพึ่งเห็นการจัดทัวร์พาอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ ไปเดินทาง ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ 'อโยธยา'

ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดของการเสวนา ในครั้งนี้คือ 'มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา' {สรุปว่าอยุธยา หรือ อโยธยา ที่ได้มรดกโลกนะครับ}

โดยตรงนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นการตั้งธง และผูกเรื่องเพื่อสร้างให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา กลายมาเป็นแพะ และเป็นมรดกของ ม.44 ซึ่งคนละเรื่องตามที่ผมให้ข้อมูลมาตั้งแต่แรก!!

ตอนนี้ก็ต้องฝากคนอยุธยา ช่วยกันให้ข้อมูล และรักษาสิทธิ์ให้กับตัวท่านเอง เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับเมืองอยุธยาครับ

เผื่อใครยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ประเด็นปัญหาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

ซึ่งผมเคยพูดถึงดราม่านี้ไปจนใหญ่โต เรื่อง สถานีอยุธยา VS กรมศิลป์ฯ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1201611603610650/ 

การทำ HIA ตามที่กรมศิลป์ฯ และ UNESCO ต้องการ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1202420353529775/?d=n 

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

‘อยุธยา’ เปิดให้บริการชม 4 วัดยามค่ำคืน คนละ 950 บาท หลัง ‘พรหมลิขิต’ กระแสบูม หวังสร้างเม็ดเงินให้จังหวัดมากขึ้น

(1 พ.ย.66) นายมานัส ทรัพย์มีชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยประชาชาติธุรกิจว่า ภาพรวมของการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นจำนวนมากช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ปกตินักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยามักเดินทางแบบไป-กลับ ไม่พักค้างคืน

แต่หลังจากมีกระแสของละครเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ เริ่มออกอากาศไป และทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้อนุญาตเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมวัดไชยวัฒนารามได้จนถึงเวลา 22.00 น. ในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร โดยเฉพาะโรงแรมมีอัตราการจองเข้าห้องพักประมาณ 80% สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน ส่วนวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เกาหลี จีน และโซนยุโรป ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ย ประมาณ 1,000 ต่อหัวต่อคน คาดการณ์เงินสะพัด 200 ล้านบาทต่อเดือน

“สำหรับวัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นไฮไลต์ของละครดังกล่าว ปกติจะเปิดให้บริการ 08.00-18.00 น. ช่วงกลางคืนวัดค่อนข้างสวยงามเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวให้นอนพักค้างคืนได้ โดยจะเปิดแถลงข่าวโปรโมตอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ถ้ากระแสตอบรับดีอาจจะมีการขยายเวลาให้บริการ” นายมานัส กล่าว

ขณะเดียวกันทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ได้มีการขออนุญาตเปิดให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืนเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ วัดพระราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จนถึง 31 มีนาคม 2567

โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ไนต์แอดเดอะเทมเพิล’ จะเปิดให้บริการศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ กรุ๊ปละ 20 คน ค่าบริการประมาณ 950 บาทต่อคน ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีรถตุ๊กตุ๊กรับ-ส่ง ให้บริการ 4 รอบต่อวัน รอบแรกเวลา 18.30 น. รอบสองเวลา 19.00 น. รอบสามเวลา 19.30 น. รอบสี่เวลา 20.00 น. โดยแต่ละรอบต้องมีหัวหน้าไกด์ ผู้ช่วยไกด์ เจ้าหน้าที่กรมศิลป์เข้าไปดูแล

รวมถึงทำประกันชีวิตให้กับนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมดังกล่าวต้องทำในรูปแบบบริษัททัวร์ แม้ทางกรมศิลปากรได้มีการอนุญาตเปิดให้บริการ แต่จะต้องเข้าไปเป็นหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากมีบางจุดที่ค่อนข้างมืด ส่งผลอันตรายต่อนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมที่จังหวัดอยุธยาให้เพิ่มมากขึ้น จะทดลองให้บริการประมาณ 2 สัปดาห์ หากได้กระแสตอบรับที่ดีจะมีการโปรโมตประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีห้องพักเปิดให้บริการประมาณ 2,000 กว่าห้อง เปิดให้บริการ 100% และคาดว่าช่วงไฮซีซั่นเดือนธันวาคม 2566 อัตราการเข้าพักน่าจะ 90-100%

ด้าน นายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 800,000 คนต่อเดือน เฉลี่ยเป็นชาวไทย 700,000 คน และต่างชาติ 100,000 คน หากเทียบกับปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดจะพยายามทำให้ได้ 80% ของตัวเลขปี 2562

ซึ่งเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอยุธยามากที่สุด รวมเกือบ 40 ล้านคนต่อปี แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาค่อนข้างอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางไปเช้า-กลับเย็น และจากข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หลังละครเรื่องพรหมลิขิตได้มีการออนแอร์ไป พบว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คนต่อวัน ตอนนี้เพิ่มขึ้น 2,000-3,000 คนต่อวัน

และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนไทย และหลังจากกรมศิลปากรได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมวัดไชยวัฒนารามตอนกลางคืนได้ เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน ถือว่าได้การตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ มีกิจกรรมล่องเรือรับประทานอาหารเย็น พยายามหากิจกรรมภาคท่องเที่ยวตอนกลางคืนให้นักท่องเที่ยวสนใจและเดินชม จึงได้มีการจัดทำกิจกรรม กับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ

‘ไนต์แอดเดอะเทมเพิล’ หรือ Night at the Temples 2023 ท่องเที่ยวโบราณสถานในยามค่ำคืน ก็หวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืน และสร้างรายได้ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top