Friday, 18 April 2025
อยุธยา

อยุธยา - ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม มอบหน้ากากอนามัย พร้อมเชิญชวนพี่น้องร่วมฉีดวัคซีนโควิด-19 ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งฟื้นบ้านเมืองได้เร็วเท่านั้น

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2564) เมื่อเวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 10,000 ชิ้น พร้อมด้วย ปลัดกระทรวง พม. รองปลัดกระทรวง พม. ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมพิธีมอบหน้ากากอนามัยให้แก่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจัดสรรไปยังอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) นำไปกระจายต่อยังประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด - 19 โดยมี นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พระนครศรีอยุธยา นางกันตา ดีเติม ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับและรับมอบหน้ากากอนามัย

โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน หนึ่งในมาตรการที่ได้ผลในการชะลอการแพร่ระบาด คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อและลดการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าว มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม จึงเห็นถึงความสำคัญในการส่งมอบหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลน และกลุ่มเปราะบาง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยอย่างจริงจัง เป็นการลดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ ในระหว่างรอการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกระจายหน้ากากอนามัยไปยังพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีน ถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ผมฉีดแล้ว จะมีผลข้างเคียงบ้างเล็กน้อย เหมือนเราฉีดวัคซีนทั่วไปที่เราเคยฉีดกัน จึงขอถือโอกาสนี้มีส่วนร่วมเชิญชวนพี่น้องชาวพระนครศรีอยุธยา ถ้าท่านมีความพร้อมควรจะได้ไปฉีดวัคซีนกัน หากเราสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศเราไม่มีการขยายตัวของเชื้อรุนแรง และเราจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นกว่าที่คาดหมายไว้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ จะสามารถฟื้นบ้านเมืองได้เร็วเท่านั้น เพราะโรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ อีกด้วย

ด้าน นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วันนี้มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 507 ราย หายแล้ว 240 ราย รักษาอยู่ 263 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย จากประชากรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งสิ้น 822,955 คน โดยมีผู้สูงอายุ จำนวน 185,359 คน กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม จำนวน 72,355 คน รวมเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในลำดับแรก จำนวน 257,712 คน ขณะนี้มีการลงทะเบียนจองวัคซีนแล้ว 12,344 คน ซึ่งระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนนี้ การสวมหน้ากากอนามัยจึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งของทุกคนที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ทั้งนี้ ยังได้มอบให้ อสม. อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถามความต้องการฉีดวัคซีนและช่วยลงทะเบียนประชาชนเป้าหมายกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 ประเภทที่ต้องการฉีด ในห้วงวันที่ 12 - 18 พ.ค.64 ให้รีบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มากที่สุด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการหยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่ออยุธยา เมื่อทราบจำนวนวัคซีนที่เหลือจากผู้ไม่ประสงค์จะลงทะเบียนฉีดแล้ว จะได้วางแผนเตรียมจัดสรรให้กลุ่มอื่นที่มีความจำเป็นและต้องการฉีดวัคซีนดังกล่าวต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

อยุธยา - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 คุณอัมพร สุดสงวน ผู้จัดการฝ่ายแผนกลยุทธ์และบริหารนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรม ,ว่าที่ร.ต.รุจ ศรีจักรโคตร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 2 , นายวงศ์พันธ์ ทัศนางกูร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 11 เป็นตัวแทน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”

โดยได้มอบเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน พร้อมอุปกรณ์ รุ่น VELA Plus จำนวน 1 เครื่อง เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Humidifier with integrated flow generator) รุ่น Airvo 2 (สำหรับผู้ใหญ่) จำนวน 5 เครื่อง พร้อมทั้งมอบเงินบริจาคสำหรับซื้อออกซิเจนเหลว (liquid oxygen) จำนวนเงิน 100,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,550,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

โดยมีนายโชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พร้อมแพทย์หญิงเสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้รองรับสถานการณ์ COVID-19 และเป็นประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ (ICU Ventilator) และผู้ป่วยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป


ภาพ/ข่าว  เดชา อุ่นขาว รายงานจากอยุธา

อยุธยา - เร่งฉีดวัคซีนโควิด เข็มที่ 2 ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า

วันที่ 28 พฤษภาคม 64 ที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน ร่วมเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมทั้ง 298 ราย ในภาคเช้า และในภาคบ่ายจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 152 นาย จะเข้ารับวัคซีนสำหรับเข็มที่ 1

สำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 โรคเรื้อรัง จะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิย 64 กำหนดจะเริ่มฉีดวัคซีน (Astrazeneca) จำนวน 38,000 โดส ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” และลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ฯแล้ว จำนวน 32,942 คนอย่างแน่นอน สำหรับส่วนเกินจากกลุ่มดังกล่าว จะพิจารณาจัดสรรให้กับกลุ่มองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจยุทธศาสตร์ ทั้งใน 16 อำเภอ เพื่อจะได้รับวัคซีนได้ครบตามเป้าหมาย พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยเชิญชวนประชาชน ร่วมลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน โดยการสแกน QR Code “อยุธยาพร้อม”

นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึง ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ควรรับวัคซีนคือ 1.ผู้ที่รับวัคซีนแล้วเกิดแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ถึงขั้นช็อก แต่วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ทุกคนจึงไม่อยู่ในข้อนี้ แต่ถ้าให้เข็มแรกแล้วแพ้รุนแรง เข็ม 2 ให้ไม่ได้แน่นอน ต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน รวมถึงผู้ที่รู้ว่าแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน ก็ไม่สมควรให้ 2. ผู้ที่เจ็บป่วย มีไข้ หรือเป็นโรคปัจจุบันที่ต้องการการรักษา ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค และผู้ป่วยที่รักษา โดยเฉพาะนอนในโรงพยาบาล ก็ให้เลื่อนการฉีดไปก่อน จนกว่าทุกอย่างอยู่ในสภาพคงที่และกลับบ้านแล้ว จะเห็นว่าจะมีข้อห้ามเด็ดขาดน้อยมาก ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวและดูแลรักษาอยู่มีภาวะคงที่ ถึงจะกินยาประจำอยู่ ก็สามารถให้วัคซีนได้ เบาหวาน ความดัน ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ ถ้ารักษาและดูแลอยู่ตลอดอยู่แล้ว ยกเว้นเสียแต่ความดันที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้มีน้ำตาลสูงมาก ขนาดมีอาการที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลก็ให้เลื่อนการฉีดไปก่อน


ภาพ/ข่าว  สุจินดา  อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

อยุธยา - รองผู้ว่าอยุธยา นำคณะลงพื้นที่มอบ “ถุงกำลังใจ สู้ภัยโควิด-19” จากสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภอบางปะอิน รวม 123 ราย

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทีม พม.พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเปราะบางครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงของอำเภอบางปะอิน  เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว ดูแลสภาพจิตใจ รวมทั้งมอบถุงยังชีพ “ถุงกำลังใจ สู้ภัยโควิด-19” จากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มเปราะบางครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภอบางปะอิน จำนวน 123 ราย  ซึ่งญาติของผู้ป่วยที่ได้รับมอบ “ถุงกำลังใจ สู้ภัยโควิด-19” ต่างขอบคุณภาครัฐที่ได้ความช่วยเหลือ ทำให้แบ่งเบาความเดือดร้อนได้ในสถานการณ์การระบาดปัจจุบันนี้

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยุธยา ได้รับการจัดสรรถุงยังชีพ “ถุงกำลังใจ สู้ภัยโควิด-19” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบครัวผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด จากเงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณะภัย สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 835 ถุง ซึ่งจะดำเนินการนำส่งมอบช่วยเหลือทั้ง 16 อำเภอ อย่างต่อเนื่องต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

อยุธยา – ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 500,000 ตัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เวลา 08.15 น. ณ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 โดยมี พระครูพิพิธวิหารการ(สมาน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชวรวิหาร พร้อมด้วย นายสุชาติ พิลาเดช ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานสังกัดกรมประมง ได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ถวายความจงรักภักดีและถวายเป็นพระราชกุศล  อีกทั้งเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงอยู่อย่างถาวรสืบไป ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วยพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 500,000 ตัว พ่อแม่พันธุ์ปลาเทโพพระราชทาน  ขนาดประมาณ 50-80 เซนติเมตร จำนวน 10 ตัว และพันธุ์ปลาไทย จำนวน 50 ตัว โดยการดำเนินกิจกรรมภายใต้การป้องกัน และควบคุมการระบาดของการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

อยุธยา - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญอาหารพระราชทาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหาร แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดย พลเอก ศิวะ  ภระมรทัต ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ เป็นผู้อัญเชิญอาหารพระราชทาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมี นายแพทย์โชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมทีมผู้บริหาร ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานอาหารเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์ ยังความปลื้มปีติแก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และพสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหาร แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งประกอบเป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว และน้ำยาป่าลูกชิ้น พร้อมทั้งพระราชทาน เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาดังกล่าวอีกด้วย 


ภาพ/ข่าว  สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา

อยุธยา - “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่กรุงเก่า ตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก มั่นใจไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 54 แน่นอน! พร้อมเร่ง 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (22 กันยายน 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น   ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ  คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่ง กอนช. ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง    

โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสํารองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ณ 20 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำรวม 10,475 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของปริมาณความจุ หากเปรียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่ามาก  ในครั้งนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง รวมกันมากกว่า 22,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผนวกกับการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ที่ได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมืออย่างเข้มงวด ตลอดจนการวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยารวมกับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ซึ่งในปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน

 

อยุธยา - ผู้ว่าฯ เปิดรพ.สนาม เยี่ยมชมอาคารสถานที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากโควิด-19

วันนี้ (28 ก.ย.64) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อคนในภาคอุตสาหกรรมอยุธยา เฟส 1 พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ โดยมี นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เป็นผู้กล่าวรายงานฯ และนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช. การช่าง จำกัด(มหาชน) ผู้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ และผู้ร่วมสนับสนุนในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมพิธีเปิดฯ จากนั้น ผู้ว่าฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมอาคารสถานที่รองรับผู้ป่วยและอาคารของแพทย์พยาบาลภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว่า 100 แห่ง ได้ร่วมกันที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลพนักงานผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามขึ้นในสถานประกอบการด้วย

อยุธยาวิกฤติ! น้ำท่วมกว่าครึ่งจังหวัด หลายพื้นที่ริมน้ำได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยได้รับผลพวง จากแม่น้ำหลายสาย ทั้งเจ้าพระยา ป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แต่เขตอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ยังไม่ได้รับผลกระทบ

วันนี้ (4 ต.ค.) สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังน่าเป็นห่วงหลังจากการระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นสูง เช่น เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน วันนี้อยู่ที่ 2,771 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำอยู่ที่ 762.19 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ที่ไหลผ่านในแต่ละพื้นที่ ได้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนริมน้ำ ที่อยู่นอกเขตชลประทาน รวม 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน อำเภอนครหลวง และ อำเภอท่าเรือ รวม 107 ตำบล 579 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 20,000 หลังคาเรือน และมีวัดริมแม่น้ำลำคลอง ถูกน้ำท่วมไปแล้วประมาณ 20 วัด
 

อยุธยา - PEA ร่วมส่งกำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ประชาชน ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายสุวัฒน์ สรรพโกศลกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมคณะ ที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลวาสุกรี บริเวณวัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้จัดกิจกรรม PEA ขอร่วมส่งกำลังใจให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย จากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” โดยมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 600 ครัวเรือน ที่ผ่านมา PEA  ได้ส่งพนักงานลงพื้นที่ยกระดับมิเตอร์ไฟฟ้าให้พ้นน้ำท่วม แก้ไขระบบไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 8,000 เครื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top