Tuesday, 20 May 2025
สิงคโปร์

'สิงคโปร์แอร์ไลน์ส' ปรับกฎ ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ เมื่อมีไฟเตือนคาดเข็มขัด เพิ่มความปลอดภัยขั้นสุด หลังเหตุ SQ321 'ตกหลุมอากาศ'

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) ประกาศนโยบาย ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ ระหว่างที่ไฟสัญญาณเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยสว่างขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร หลังเกิดกรณีเที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน

สิงคโปรแอร์ไลน์ส ระบุในคำแถลงวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า ลูกเรือทุกคนจะต้องกลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยทันทีที่สัญญาณไฟเตือนปรากฏขึ้น และจากเดิมที่จะงดเสิร์ฟเฉพาะ ‘เครื่องดื่มร้อน’ ในช่วงที่เครื่องบินต้องบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน (turbulence) ก็จะเปลี่ยนเป็นการงดเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด

สำหรับมาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนยังคงบังคับใช้ตามปกติ เช่น การที่ลูกเรือต้องตรวจสอบสัมภาระที่อาจร่วงหล่นง่าย เตือนผู้โดยสารให้กลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงเฝ้าสังเกตผู้โดยสารที่อาจต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่กำลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

โฆษกสายการบินระบุว่า “สิงคโปร์แอร์ไลน์สจะยังคงพิจารณาทบทวนแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ต่อไป เนื่องจากความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือคือสิ่งสำคัญที่สุด”

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์เกิดตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงบริเวณเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีของพม่า ระหว่างที่พนักงานกำลังเสิร์ฟอาหาร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ เจฟฟรีย์ คิตเชน (Geoffrey Kitchen) ผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี ซึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจเสียชีวิต และมีผู้โดยสารบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นักบินตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และนำเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่มีผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน เปลี่ยนเส้นทางมาลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาประมาณ 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่มีผู้เสียชีวิตครั้งแรกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ตามหลังกรณีเที่ยวบิน SQ006 ที่พยายามเทกออฟจากทางวิ่งซึ่งปิดซ่อมภายในสนามบินนานาชาติเจียงไคเช็ก (ปัจจุบันคือสนามบินเถาหยวน) ของไต้หวันระหว่างที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้า และชนเข้ากับอุปกรณ์ก่อสร้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 83 คน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ปี 2000

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส อัปเดตข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กวานนี้ (23 พ.ค.) ว่ายังมีผู้โดยสาร 46 คน และลูกเรืออีก 2 คนนอนรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร

ด้าน นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แถลงว่า ขณะนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจากเที่ยวบิน SQ321 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 40 คน ในจำนวนนี้มี 22 คนที่พบอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง และ 6 คนมีอาการบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะและสมอง

สำหรับผู้บาดเจ็บที่ถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีอายุระหว่าง 2-83 ปี และเวลานี้มี 20 คนที่ยังอยู่ในห้องไอซียู ทว่าอาการไม่อยู่ในขั้นอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิต

'สิงคโปร์' ยกเลิกงานแสดง NewJeansNim ดีเจแต่งพระ เปิดเพลงแดนซ์กระจายกลางผับ

กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสิงคโปร์มานานนับสัปดาห์ เมื่อ DJ ชื่อดังจากแดนกิมจิ NewJeansNim มีกำหนดการที่จะเข้ามาเปิดการแสดงในผับดังของสิงคโปร์ในเดือนมิถุนายนนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวพุทธในสิงคโปร์ ถึงความไม่เหมาะสมของการแสดงที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมชาวพุทธในสิงคโปร์ได้ 

NewJeansNim หรือ ยอน ซุง โฮ นักแสดงตลก เอ็นเตอร์เทนเนอร์ และ ดีเจ ชาวเกาหลีใต้ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากจากการแสดงสุดเฟี้ยว แบบไม่เกรงใจโอวาทปาติโมกข์ ด้วยการแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ในเกาหลีใต้ และยังได้ตัดต่อบทสวดมนต์เข้าจังหวะเพลงแดนซ์ ให้วัยรุ่นเต้นกระจายในผับ 
ด้วยกระแสความนิยม ทำให้เขาสามารถเปิดการแสดงในต่างประเทศได้ครั้งแรกที่ไต้หวัน และได้รับการ

ตอบรับอย่างล้นหลาม บัตรขายหมดจนต้องเพิ่มรอบ คลิปลีลาการเปิดเพลงเขย่ากุฏิของเขากลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว จึงเปิดการแสดงได้เรื่อยๆ ในหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง มาเก๊า 

และล่าสุดกำลังจะมาที่สิงคโปร์ ในวันที่ 19-20 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ที่ Club Rich แถมยังหยอดอีกว่า ถ้าเสียงตอบรับดี ก็เพิ่มรอบได้

ร้อนถึงสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งสิงคโปร์ ออกมาโพตต์ข้อความผ่าน Facebook ต่อต้านการแสดงของ DJ NewJeansNim เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เป็นดีเจไม่ใช่พระ และการสมจีวรเพื่อการแสดงก็ขัดต่อพระวินัย ซึ่งระบุชัดเจนในพระธรรมวินัยของสงฆ์ 

ทางการสิงคโปร์ก็ได้รับเรื่องพิจารณา และประสานงานระหว่าง สมาพันธ์ชาวพุทธ และ ผับ Club Rich ที่ดีเจคนดังมีกำหนดมาแสดง และได้กำหนดให้  NewJeansNim จะทำการแสดงในสิงคโปร์ได้ต่อเมื่อไม่เอาบทสวดมนต์มาทำเป็นเพลงแดนซ์ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบในสังคมชาวสิงคโปร์ไม่ให้เกิดประเด็นแตกแยก

และเป็นเงื่อนไขที่ NewJeansNim ไม่สามารถทำตามได้ เพราะนั่นคือจุดขายของเขาที่แฟนคลับคาดหวัง จึงทำให้การแสดงของ NewJeansNim ต้องถูกยกเลิกในสิงคโปร์ด้วยประการฉะนี้ 

แม้การแสดงลักษณะนี้ อาจดูแปลก และเป็นเรื่องต้องห้ามของประเทศชาวพุทธสายหินยาน แต่การแสดงของ NewJeansNim กลับได้รับการตอบรับอย่างดีในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่มีกลุ่มแฟนคลับหนาแน่น 

และยังได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรพุทธศาสนา นิกายโชเก ซึ่งเป็นนิกายพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยเห็นว่าการแสดงของ NewJeansNim ช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ยุค Gen Z ได้เป็นอย่างดี และยังจัดงานสวดมนต์ใหญ่กลางสวนสาธารณะ ให้ NewJeansNim มานำสวดด้วยบทสวดทำนองเพลงตื๊ด ที่มีคนรุ่นปู่ย่ามาพนมมือสวดมนต์ตามจังหวะศรัทธาได้อย่างน่าพิศวง

'ชาวจีน' หนี 'สิงคโปร์' มาเที่ยวไทย เหตุเพราะ 'ความแพง' และมีแต่ตึก

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.67) เว็บไซต์ Mothership สื่อของสิงคโปร์ได้รายงานถึงการที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยและญี่ปุ่นมากกว่าสิงคโปร์ โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ว่า ค่าใช้จ่ายในสิงคโปร์สูงเกินไปและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น้อยเมื่อเทียบกับไทยและญี่ปุ่น

ชาวสิงคโปร์หลายคนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกว่าค่าใช้จ่ายในสิงคโปร์แพงมาก เช่น การกินข้าวแกงที่มีราคา 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อจาน ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป 

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่าสิงคโปร์มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่สะดวกสบาย

หนึ่งในชาวสิงคโปร์ได้กล่าวว่า “สิงคโปร์มีข้อจำกัดที่โง่เขลามากเกินไป มีสิ่งที่ไม่อนุญาตเป็นจำนวนมาก สิงคโปร์เหมือนกับหุ่นยนต์ที่เดินไปเดินมาเพื่อหาเลี้ยงชีพ อย่ามาสิงคโปร์เลย ไปประเทศไทยเถอะ!”

จากความคิดเห็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์เองก็รู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นว่าการเดินทางไปเที่ยวในประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากไทยมีค่าครองชีพที่ถูกกว่า และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและน่าสนใจมากกว่า

การที่นักท่องเที่ยวจีนหนีจากสิงคโปร์ไปเที่ยวไทยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งความเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และอาหารที่อร่อยและราคาไม่แพง

เหตุการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่สิงคโปร์ต้องเผชิญในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการท่องเที่ยว ถ้าสิงคโปร์ต้องการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น

‘สิงคโปร์’ ไฟเขียว!! นำเข้าแมลง 16 ชนิด เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ด้าน 'ไทย' ตีปีก มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศคู่แข่งเพียบ

(10 ก.ค. 67) สำนักงานอาหารของสิงคโปร์ออกประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) เกี่ยวกับข้อกำหนดใหม่ในการนำเข้าแมลง 16 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติเป็นอาหาร โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า แมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาบริโภคหรือเป็นอาหารปศุสัตว์ โดยแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงที่นำเข้าเพื่อการบริโภคโดยตรงของมนุษย์จะต้องได้รับการฆ่าเชื้อโรคอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ การนำเข้าแมลงแต่ละชนิดจะได้รับการอนุมัติให้นำเข้าในช่วงอายุที่กำหนดเท่านั้น เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตนได้รับอนุญาตให้นำเข้าในระยะโตเต็มวัยเท่านั้น ในขณะที่หนอนนกและด้วงจะต้องนำเข้าขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร 

ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะสมสำหรับทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อส่งออก และยังมีวัตถุดิบเพียงพอในการทำโรงงานผลิตแมลงแปรรูปได้อีก โดยแมลงยอดนิยม อาทิ จิ้งหรีด, ตั๊กแตน, แมงป่อง, ดักแด้, หนอนรถด่วน และด้วง จึงเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจไทยในการส่งออกแมลงที่เป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใส ในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

‘ธนาคารสิงคโปร์’ เล็งใช้ ‘ดิจิทัลโทเคน’ ยืนยันตัวตนแทน ‘รหัส OTP’ ชี้!! ช่วยเสริมความปลอดภัยทำธุรกรรม-ลดปัญหามิจฉาชีพสวมรอย

เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และสมาคมธนาคารสิงคโปร์ (ABS) ประกาศว่าธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยในสิงคโปร์ จะเริ่มยุติการใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) สำหรับเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารภายใน 3 เดือนข้างหน้า โดยลูกค้าต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ดิจิทัล โทเคน’ (Digital Token) แทน เพื่้อป้องกันมิจฉาชีพในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) หลอกลวงลูกค้าเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิตได้ดียิ่งขึ้น

โดยลูกค้าจะต้องเปิดใช้งานโทเคนดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ และใช้โทเคนดังกล่าวเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) โดยโทเคนดิจิทัลจะทำหน้าที่ตรวจสอบการเข้าสู่ระบบของลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องใช้รหัส OTP ที่มิจฉาชีพสามารถขโมยหรือหลอกให้ลูกค้าเปิดเผยได้ โดยแนะนำให้ลูกค้าธนาคารเปิดใช้งานเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวจะถูกขโมยในรูปแบบฟิชชิ่ง

ที่ผ่านมาการใช้ OTP (One Time Password) ถูกนำมาใช้ในสิงคโปร์เมื่อปี 2543 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน เพื่อเป็นตัวเลือกในการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (Multi-factor Authentication) เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า หลักวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ที่มีความซับซ้อน ทำให้สามารถหลอกลวงลูกค้าในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) เพื่อหลอกขอ OTP ได้ง่ายขึ้น เช่น การทำเว็บไซต์ธนาคารปลอมที่ใกล้เคียงของจริง

มาตรการล่าสุดจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการตรวจสอบตัวตน ทำให้มิจฉาชีพหลอกลวงในการเข้าถึงบัญชีและเงินลงทุนของลูกค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้าได้ยากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อใช้อุปกรณ์มือถือของมิจฉาชีพ ซึ่งการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งยังคงเป็นข้อกังวลในสิงคโปร์ ธนาคารแต่ละแห่งยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางสิงคโปร์ และกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาและแนะนำแนวทางแก้ไข รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างการต่อต้านการหลอกลวงในภาพรวมที่มิจฉาชีพพัฒนาตลอดเวลา

นางออง-อัง ไอ บุน ผู้อำนวยการสมาคมธนาคารสิงคโปร์ กล่าวว่า มาตรการนี้ช่วยให้ลูกค้าป้องกันเพิ่มเติมจากการเข้าถึงบัญชีธนาคารของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวก แต่มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อช่วยป้องกันกลโกงและปกป้องลูกค้า

ส่วนนางลู เซียว ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายนโยบาย การชำระเงิน และอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารกลางสิงคโปร์ กล่าวว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ ยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อปกป้องลูกค้า โดยเรียนรู้จากการหลอกลวงผ่านระบบดิจิทัลแบงกิ้งอย่างหนัก มาตรการล่าสุดจะเสริมแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดี ซึ่งลูกค้ายังคงต้องปฏิบัติต่อไป เช่น การปกป้องข้อมูลด้านการเงินประจำตัว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า มีธนาคารในประเทศสิงคโปร์เริ่มหันมาใช้โทเคนดิจิทัลแล้ว เช่น ธนาคารดีบีเอส ธนาคารโอซีบีซี ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ โดยมีรูปแบบคล้ายกัน คือ การอนุมัติรายการจะมีข้อความแจ้งเตือนแบบพุช (Push Notification) เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ให้แตะไปที่ข้อความ แล้วกดอนุมัติการทำรายการ ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร ภายในระยะเวลาที่กำหนด แทนการกรอกรหัส OTP ที่ได้ยกเลิกไป

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีเพียงบัตรทราเวลการ์ดที่ชื่อว่า YouTrip (ยูทริป) ที่ออกบัตรโดยธนาคารกสิกรไทย ใช้ระบบ 3DS 2.0 คือ เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลบัตรเวลาช้อปออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนให้เข้าไปอนุมัติรายการในแอปพลิเคชัน แทนการใช้ SMS OTP เช่นเดียวกับบัตรพรีเพดการ์ด BigPay (บิ๊กเพย์) ของกลุ่มแอร์เอเชีย ก็ใช้ระบบดังกล่าวอนุมัติรายการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เช่นเดียวกัน นอกนั้นธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเครดิตส่วนใหญ่ ยังคงใช้วิธีส่ง SMS OTP เช่นเดิม

เปิดการฝึกผสม 'MULTILATERAL CARAT 2024' ไทย-สหรัฐฯ-สิงคโปร์ สร้างความมั่นคงทางทะเล

กองทัพเรือ โดยกองเรือยุทธการ จัดพิธีเปิดการฝึกผสม MULTILATERAL CARAT 2024 ไทย-สหรัฐฯ-สิงคโปร์ 
   
เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.67) พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มอบหมายให้พลเรือตรี กรวิทย์ ฉายะรถี รองเสนาธิการกองเรือยุทธการ เป็นผู้แทนเป็นประธานฝ่ายไทย พลเรือตรี โจอาควีน มาติเนส รองผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 กองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นประธานฝ่ายสหรัฐฯ และพันเอก โฮ จี คีน รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กองทัพเรือสิงคโปร์ เป็นประธานฝ่ายสิงคโปร์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึก MULTILATERAL CARAT 2024 อย่างเป็นทางการ ณ ท่าเรือแหลมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีกำลังพลฝ่ายไทย สหรัฐฯ และสิงคโปร์ เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ รวม 1,100 นาย

การฝึกผสม CARAT เป็นการฝึกพหุภาคี ระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้กองทัพเรือสิงคโปร์ ได้ส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าร่วมการฝึกด้วย เป็นการฝึกผสมรวม 3 ประเทศ  เรียกรหัสการฝึกว่า "MULTILATERAL CARAT 2024" ทั้งนี้กองทัพเรือ ได้มอบหมายให้กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยรับผิดชอบการฝึก โดยมี พลเรือตรี ณัฐพงศ์ ปานโสภณ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสม MULTILATERAL CARAT 2024

วัตถุประสงค์การฝึก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพเรือไทย กองทัพเรือสหรัฐฯ และกองทัพเรือสิงคโปร์ ในการร่วมกันพัฒนาความสามารถของกำลังพลทั้ง 3 ประเทศ ในการปฏิบัติภารกิจทางทะเลร่วมกันในทุกระดับ และเสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจอันดีในการปฏิบัติการ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถภาพสถานการณ์ทางทะเลให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน  

กิจกรรมในการฝึก แบ่งเป็น 3 ห้วงการฝึก ได้แก่ การฝึกในท่า การฝึกในทะเล และการสรุปผลการฝึก ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 - 3 สิงหาคม 2567 รวม 21 วัน  

มีการฝึกในทะเลที่สำคัญ ประกอบด้วย การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ การฝึกประลองยุทธ์ การฝึกยิงอาวุธประจำเรือ และการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่อากาศ แบบ ESSM โดยมีกำลังเข้าร่วมการฝึกของกองทัพเรือไทย ประกอบด้วย เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช  อากาศยานและ อากาศยานไร้คนขับ ในส่วนกองทัพเรือสหรัฐฯ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย เรือรบ USS แกเบรียล จิฟฟอร์ด 1 ลำ และอากาศยาน ในส่วนกองทัพเรือสิงคโปร์ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกเรือรบ 1 ลำ คือ เรือ RSS เวเลียนท์

โดยห้วงการฝึก ระหว่างวันที่ 18 – 25 กรกฎาคม 2567 ทำการฝึกในท่าเรือพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และการฝึกในทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน ทั้งนี้ สามารถติดตามการฝึกผสม MULTILATERAL CARAT 2024 ในท่าเรือและการฝึกในทะเล ได้ในโอกาสต่อไป

‘นายกฯ มาเลเซีย’ เผย Tesla พับแผนตั้งโรงงาน 'ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย' เหตุ!! เพลี่ยงพล้ำ การแข่งขันอันดุเดือด ไม่สามารถแข่งขันสู้ รถอีวีจากจีนได้

(10 ส.ค.67) เว็บไซต์ ‘เดอะสเตรทไทม์ส’ ในสิงคโปร์รายงานอ้างการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียว่า ‘เทสลา อิงค์’ (Tesla) ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกแผนการสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว เนื่องจากปัญหาการเพลี่ยงพล้ำของบริษัทและการแข่งขันที่ดุเดือดจากประเทศจีน

อันวาร์กล่าวว่า ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเทสลามาโดยตรง

ซาฟรุลได้รับข้อมูลล่าสุดนี้มา ซึ่งเป็นเพราะเทสลากำลังเพลี่ยงพล้ำและไม่สามารถแข่งขันกับรถอีวีจากจีนได้

นี่คือรายงานโดยตรงที่เราได้รับ ไม่ใช่มาจากการรายงานข่าวของสื่อ อันวาร์กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ขณะตอบคำถามเกี่ยวกับกระแสข่าวว่าเทสลาได้พับแผนตั้งโรงงานใน 3 ประเทศอาเซียน เพื่อหันไปโฟกัสเรื่องการทำสถานีชาร์จ  

อย่างไรก็ตาม อันวาร์กล่าวว่าแผนที่จะลงทุนในมาเลเซียนั้นยังเป็นแค่ไอเดียในช่วงแรกเริ่มเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันเทสลามีเพียงการตั้งสำนักงานขายและโชว์รูมในประเทศไทยและมาเลเซีย  

ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของไทยได้เปิดเผยว่า เทสลากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลไทยเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีขึ้นในประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้เพิ่มข้อเสนอให้เทสลาเกี่ยวกับการใช้พลังงานสีเขียว 100% ในโรงงาน

ทางด้านซาฟรุล อาซิส กล่าวว่าทางกระทรวงไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าเทสลาจะมาเปิดโรงงานในประเทศมาเลเซีย และเทสลาเองก็ไม่เคยประกาศแผนว่าจะตั้งโรงงานที่นี่เช่นกัน 

ส่วนรายงานล่าสุดที่เทสลาพับไอเดียการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอาเซียนนั้น ซาฟรุลกล่าวว่า ไม่ได้มาจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของเทสลา แต่มาจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

'สิงคโปร์' แหกกฎ!! เตรียมแจกเงินคนตกงาน 1.5 แสนบาท แต่ต้องรับเงื่อนไข 'อบรมเพิ่มทักษะ' เพื่อกลับสู่ตลาดงานต่อไป

คนตกงานในสิงคโปร์เตรียมเฮ เมื่อ 'ลอเรนซ์ หว่อง' นายกรัฐมนตรีประกาศอัดฉีดงบประมาณก้อนใหม่ ลงในโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support เตรียมแจกเงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานในประเทศ หลังจากที่เคยคัดค้านว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ส่งเสริมให้คนหวังพึ่งแต่สวัสดิการรัฐจนขาดแรงจูงใจในการหางานทำ

SkillsFuture Jobseeker เป็นโครงการภาครัฐที่สนับสนุนผู้หางาน ด้วยการจัดฝึกอบรม เพิ่มทักษะแรงงาน พร้อมบริการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และจัดหางานให้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ช่วยให้แรงงานยกระดับทักษะด้านอาชีพของตัวเอง เพื่อหางานให้ได้เร็วที่สุด

แต่เมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.67) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลอเรนซ์ หว่อง ได้ประกาศระหว่างการปราศรัยเนื่องในวันชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังว่างงานในสิงคโปร์ด้วย

โดยโครงการ SkillsFuture ใหม่นี้ รัฐจะให้เงินช่วยเหลือแก่คนงานรายได้น้อย - ปานกลาง ที่ตกงานเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเงินสูงถึง 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.57 แสนบาท) เป็นระยะเวลาสูงสุดที่ 6 เดือน 

ตัวเลขเงินจำนวนนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยามองว่า 'เหมาะสม' สำหรับแรงงานที่มีเหตุต้องว่างงานโดยไม่สมัครใจ และไม่เกินพอดี จนอาจเกิดปัญหาการหวังพึ่งพาสวัสดิการรัฐในระยะยาว หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

ส่วนเงื่อนไข ก็คือ ผู้ว่างงานต้องลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาแรงงาน SkillsFuture Jobseeker ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมแรงงานของสิงคโปร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า การเข้าฝึกอบรมในโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับแรงงาน เพื่อโอกาสในการได้งานที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งบุคคลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินรายเดือน จึงจะมีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลา 6 เดือน 

สำหรับการรับเงินช่วยเหลือของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงานครั้งสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่เคยมีสวัสดิการสำหรับคนว่างงานมาก่อน เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งเสริมให้ประชาชนขาดความกระตือรือร้น แล้วเลือกที่จะรับสวัสดิการมากกว่าการทำงาน

ทั้งนี้การปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการสำหรับแรงงาน มีมาตั้งแต่สมัยที่สิงคโปร์แยกตัวจากมาเลเซียในปี 1965 และจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองภายใต้การนำของ ลี กวนยู ซึ่งประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาละทิ้งแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายตามแนวคิดดังกล่าวจะบั่นทอนความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชน และความมุ่งมั่นในการสร้างตัวเพื่อความสำเร็จในชีวิต 

ดังนั้น ผู้นำที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายลี กวนยู ตั้งแต่ โก๊ะ จ๊กตง และ ลี เซียนลุง ก็ไม่เคยผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการช่วยเหลือผู้ว่างงานเช่นกัน

ทว่า ลอเรนซ์ หว่อง กลับมีความเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่สิงคโปร์ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในยุคสมัยที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่า การรับสวัสดิการรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ส่งผลดีเชิงบวกต่อแรงจูงใจในการแสวงหางานของแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ระวังมาโดยตลอด 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงมองหาทางเลือกอื่น โดยใช้แบบแผน 'Workfare' แทนที่จะใช้คำว่า 'Welfare' ซึ่งหมายถึงสวัสดิการที่รัฐต้องเป็นผู้รับประกันการว่างงาน ที่นำไปสู่ความคาดหวังในการพึ่งพาแต่สวัสดิการรัฐ ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษีจากการทำงานของประชาชนคนอื่น

Workfare เป็นแนวทางที่รัฐบาลสิงคโปร์นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2005 โดยแรกเริ่มเดิมที เป็นโครงการที่สนับสนุนกองทุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐจะเติมเงินให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีงานทำ

แต่สำหรับโครงการล่าสุดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ว่างงานต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ต้องผ่านคะแนนประเมิน และ ต้องเข้าโปรแกรมจัดหางาน เพื่อกลับสู่ตลาดแรงงานต่อไป 

ลอเรนซ์ หว่อง กล่าวว่า โครงการนี้มีไว้เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่จำเป็นระหว่างเข้าโครงการ แต่คนงานก็ต้องมีส่วนร่วม ด้วยการแสดงรับผิดชอบต่ออนาคตของตนเอง  และพยายามดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้

ก็ถือเป็นโครงการแจกเงินอย่างมีวิสัยทัศน์ ตามสไตล์สิงคโปร์จริง ๆ ที่ยึดว่า 'เกิดเป็นคน ต้องทำงาน' และสวัสดิการรัฐมีไว้สำหรับผู้ที่เสียภาษีเท่านั้น

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

กรณีศึกษา 'สิงคโปร์' ประเทศที่ทายาททางการเมืองต้องมีคุณสมบัติสุดยอด ผ่านการ 'คัดเลือก-ฝึกฝน-บ่มเพาะ-ขัดเกลา-พิสูจน์ตน' จนไร้ข้อกังขา

เรื่องราวของการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นมานานนับพันปีแล้ว ตั้งแต่มีการกำเนิดก่อเกิดของรัฐชาติ (Nation State) ต่าง ๆ บนโลกใบนี้ เหล่าบรรดาผู้ปกครองในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็มีการกำหนด วางตัว ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการสืบทอดอำนาจต่อ ซึ่งมักจะเป็นลูกหลาน พี่น้อง วงศ์วานว่านเครือ หรือผู้ที่สนิทสนมใกล้ชิด 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ผู้ปกครองที่ฉลาด มีความสามารถ และมีคุณธรรม จะพิจารณาถึง ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมของทายาทผู้ที่จะสืบทอดก่อนเป็นเรื่อง แรก ๆ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ เป็นเรื่องรองลงไป

ด้วยเพราะการดำรงคงอยู่รอดต่อไปได้ของรัฐชาตินั้น ๆ ผู้ปกครองต้องมี ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองนำพาบ้านเมืองให้สามารถดำรงคงอยู่และมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

'สิงคโปร์' ประเทศเกาะเล็ก ๆ ซึ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นไม่ถึง 60 ปี แต่ความเจริญกลับก้าวข้ามมาเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค ASEAN และเป็น 1 ใน 5 อันดับของประเทศที่เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกในการจัดอันดับอีกมากมายหลายประเภท ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรที่มากที่สุดของประเทศเกาะแห่งนี้คือ ‘ประชาชนพลเมืองชาวสิงคโปร์’ ราว 3,600,000 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ การที่จะขับเคลื่อนผลักดันประเทศเล็ก ๆ อย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 1959 และประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1965 จนกลายเป็นประเทศที่มีความทันสมัยก้าวหน้าจนติดอันดับโลกได้นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอด กอปรด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากล้น มีอุดมการณ์เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างไม่สามารถหาที่เปรียบได้ และเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพเป็นเลิศ

เริ่มที่ ‘Lee Kuan Yew’ (ลี กวนยู) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของสิงคโปร์ ผู้ที่ทำหน้าที่ ฟูมฟัก ก่อร่าง สร้างประเทศนี้ และดูแลจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต เป็นตัวอย่างที่ยากยิ่งที่จะหานักการเมืองคนอื่นใดในโลกมาเทียบเคียงได้ในทุก ๆ ด้าน ที่สำคัญคือ ยอมและกล้าที่จะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมายาวนานถึง 31 ปี (ตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย) ด้วยวัย 67 ปีเท่านั้น และส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับ ‘Goh Chok Tong’ (โก๊ะ จ๊กตง) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2

ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์คนต่อมา อย่าง ‘Goh Chok Tong’ (โก๊ะ จ๊กตง) สำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ ปริญญาโทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากวิทยาลัย Williams มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายแผนงานและโครงการของ Neptune Orient Lines Limited (NOL) บริษัท Container shipping สัญชาติสิงคโปร์ ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยเป็นสมาชิกรัฐสภา เขต Marine Parade ในปี ค.ศ. 1978 และอีก 3 ปีต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวัย 49 ปี ต่อจาก ‘Lee’ ในปี ค.ศ. 1990 

ต่อมาสำหรับ ‘Lee Hsien Loong’ (ลี เซียนลุง) ผู้เป็นบุตรชายของ ‘Lee Kuan Yew’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากบิดาตัวจริง ก็ได้ผ่านการ ฝึกฝน บ่มเพาะ ขัดเกลา และพิสูจน์ตัวเอง มาอย่างยาวนาน โดย ‘Lee’ ผู้ลูก สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาคณิตศาสตร์จากวิทยาลัย Trinity มหาวิทยาลัย Cambridge สหราชอาณาจักร โดยทุนของคณะกรรมาธิการภาครัฐ (Public Service Commission) ประกาศนียบัตรชั้นสูง (เทียบเท่าปริญญาโท) สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

Denis Marrian อาจารย์ผู้สอนของ ลี เซียนลุง อธิบายว่า 'Lee' เป็น 'นักคณิตศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดที่เคยมีในวิทยาลัย' และ Béla Bollobás อาจารย์ผู้สอนของเขาอีกคน กล่าวว่า “Lee คงจะเป็นนักคณิตศาสตร์วิจัยระดับโลก แต่พ่อของเขาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และให้ Lee กลับสิงคโปร์เพื่อเป็นนายทหารของกองทัพสิงคโปร์”

‘Lee’ ผู้ลูกเข้าเป็นทหารในปี ค.ศ. 1971 ก่อนที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรระหว่างปี ค.ศ. 1974-1984 เขารับตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพมากมาย รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการในปฏิบัติการช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติรถกระเช้า Sentosa เมื่อ 29 มกราคม ค.ศ. 1983 ซึ่งเป็นปีที่เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลจัตวา (เทียบเท่ากับพันเอกพิเศษ) ก่อนลาออกจากกองทัพเพื่อเข้าสู่วงการเมืองในปี ค.ศ. 1984 

สำหรับ ‘Lee Hsien Loong’ เป็นสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกในเขต Teck Ghee ในปี ค.ศ. 1986 เขาได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 1987 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ ‘Goh Chok Tong’ ในปี ค.ศ. 1990 แล้วรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสาธารณรัฐสิงคโปร์เมื่อ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2004 และก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมา 19 ปีเศษในวัย 72 ปี แล้วส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับ ‘Lawrence Wong’ นายกรัฐมนตรีคนที่สี่ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ วัย 52 ปี เมื่อ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2024

ต่อกันที่ นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ‘Lawrence Wong’ (ลอว์เรนซ์ หว่อง) สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Wisconsin วิทยาเขต Madison สหรัฐอเมริกา โดยทุนของคณะกรรมาธิการภาครัฐ (Public Service Commission) เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ‘Lee Hsien Loong’ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัย Michigan มลรัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard University มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา

‘Lawrence Wong’ เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยเข้าทำงานในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ย้ายมาอยู่กระทรวงการคลัง เป็นเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘Lee Hsien Loong’ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 เขาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานตลาดพลังงาน และขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2009 และลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2011 เพื่อเข้าสู่วงการเมือง 

ในปี ค.ศ. 2011 ‘Wong’ เป็นสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกในเขต West Coast และรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ 

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2015 ‘Wong’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศ พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2020 ‘Wong’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ 14 เมษายน ค.ศ. 2022 เขาเข้ารับตำแหน่งแทนรองนายกรัฐมนตรี ‘Heng Swee Keat’

‘Lawrence Wong’ ได้เข้าพิธีสาบานตนอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ‘Lee Hsien Loong’ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เกิดหลังสิงคโปร์ได้ประกาศเอกราชในปี 1965 

โดยสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของ ‘Wong’ มีความว่า “นี่คือคำสัญญาของผมที่มีต่อชาวสิงคโปร์ทุกคน ผมจะรับใช้พวกคุณด้วยหัวใจทั้งหมด ผมจะไม่ยอมรับสภาพเดิม ผมจะแสวงหาวิธีที่ดีกว่าเสมอเพื่อทำให้วันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้” และเขายังกล่าวอีกว่า ภารกิจของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีคือ “การฝ่าฟันอุปสรรคและรักษาปาฏิหาริย์ที่เรียกว่า ‘สิงคโปร์’ นี้ไว้ต่อไป” 

โดยสรุปแล้ว การที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศเกาะเล็ก ๆ ซึ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1965 ยังไม่ครบ 60 ปี สามารถสร้างความเจริญเติบโต จนมาเป็นประเทศอันดับหนึ่งของภูมิภาค ASEAN จึงไม่ได้มีการสืบทอดทายาททางการเมืองอย่างไร้ทิศทาง โดยไม่มีการเตรียมการหรือเตรียมพร้อม ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของ ‘ประชาชนพลเมืองชาวสิงคโปร์กว่า 3,600,000 คน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งที่เลือกนักการเมืองคุณภาพเข้ามาบริหารสิงคโปร์ได้อย่างแท้จริง 

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ คงต้องมีสักวันหนึ่งที่พี่น้องประชาชนคนไทยจะได้ตระหนักรู้และเลือกนักการเมืองที่ถึงพร้อม ทั้งคุณภาพ และคุณสมบัติ มีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอด มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างล้นเหลือ เป็นคนดีมีศีลธรรม มีอุดมการณ์เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมดทั้งมวล 

ที่สำคัญ ต้องไม่มีแนวคิดบ่อนทำลายเซาะกร่อนความมั่นคงของชาติ ยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติ เช่นนี้แล้วประเทศชาติจึงจะเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างผาสุกและยั่งยืนตลอดไป...

ถอดบทเรียนสิงคโปร์ซื้อ 'สัมปทานรถไฟฟ้า' คืน หวัง!! แก้ปัญหาเอกชน โกยแต่กำไร

(22 ก.ย. 67) สิงคโปร์เป็นหนึ่งประเทศที่มีขนส่งสาธารณะดีอันดับต้นๆ ของโลก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ (CNA) รายงานว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพขนส่งสาธารณะดีอันดับที่ 3 ของโลกเป็นรองเพียงฮ่องกงและเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามการจัดอันดับของ Mobility Index Ranking 2023 ของบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง Oliver Wyman Forum

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า หากย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ที่สิงคโปร์เริ่มพัฒนาระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก็เผชิญปัญหาเรื่อง ’สัญญาสัมปทาน' คล้ายประเทศไทย

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ปัญหาสำคัญปัจจุบันของระบบรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินของประเทศไทยปัจจุบันคือ ผู้ใช้บริการไม่สามารถเดินเชื่อมต่อกันในแต่ละสถานีได้โดยไม่ต้องออกจากประตูและใช้บัตรใบเดียว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ หากผู้ใช้งานคนหนึ่งต้องการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน หากเป็นประเทศที่ระบบขนส่งสาธารณะออกแบบมาอย่างดี ผู้ใช้งานจะสามารถใช้บัตรใบเดียวในการเดินทางเปลี่ยนจากบีทีเอสไปเป็นเอ็มอาร์ทีได้โดยไม่ต้องเดินออกจากประตู

แต่สำหรับประเทศไทยในหลายสถานีผู้ใช้บริการยังต้องออกจากสถานีบีทีเอสเพื่อไปซื้อตั๋วเอ็มอาร์ทีใหม่ซึ่งสร้างความไม่สะดวกสบายและทำลายต้นทุนด้านเวลาของผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ดร.สุเมธ จึงมองว่า หนึ่งปัญหาสำคัญคือ ปัจจุบันรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ภายใต้ระบบเดียว คือ ภาครัฐไทยไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานแบบเอกชนร่วมทุน (PPP) ตั้งแต่ต้นว่ารถไฟฟ้าแต่ละสายต้องเชื่อมต่อกัน

ปัจจุบันภาครัฐไทยให้สัมปทานเอกชนเพื่อเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว 6 ฉบับภายในระยะเวลา 20 ปี ทว่าไม่มีฉบับใดเลยที่ระบุเรื่องการเชื่อมต่อเอาไว้

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเผชิญปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานคล้ายไทย โดยประมาณปี 1990 รัฐบาลสิงคโปร์นำโดยหน่วยงาน Land Transport Authority (LTA) ใช้โมเดล PPP เหมือนประเทศไทยเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรก ตอนนั้นรัฐบาลให้สัญญา PPP ไป 2-3 ฉบับ โดยโครงสร้างสัญญาคล้ายกันคือ เมื่อรัฐก่อสร้างเสร็จก็ให้เอกชนมาซื้อขบวนรถแล้วก็เก็บค่าโดยสารโดยมีสัญญา 30 ปี

จากนั้นเอกชนดำเนินกิจการไปประมาณ 10 กว่าปี ถึงประมาณปี 2000 ต้นๆ ตอนนั้นรัฐบาลออกแบบระบบหลังบ้านและออกแบบสัญญาค่าโดยสารได้ค่อนข้างดี คือรัฐอุดหนุนเยอะเพื่อให้ค่าโดยสารต่ำ

แต่ปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องทางเทคนิคที่น่าสนใจคือเมื่อเป็นสัญญาในเชิงกำหนดค่าโดยสาร กำหนดข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ แต่เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งไปสักพักเอกชนก็เริ่มทำกำไรได้ ด้วยการออกแบบในตอนนั้น มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้า แต่นั่นก็หมายความว่าเอกชนต้องลงทุนเพิ่มซึ่งเอกชนไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่ายังอัดผู้โดยสารเข้าไปได้ สุดท้ายจึงเกิดปัญหาแออัด

ประกอบกับตอนนั้นรัฐบาลสิงคโปร์เขาพยายามโปรโมตการใช้ขนส่งมวลชนมากอยู่แล้ว แทบไม่ให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลดังนั้นประชาชนก็อัดกันเข้าไปใช้รถไฟฟ้า

ตอนนั้นไม่ว่ายังไงเอกชนก็ไม่ยอมเพิ่มขบวนรถ เมื่อภาครัฐไปเปิดสัญญาสัมปทานดูก็เห็นว่ารัฐบาลล็อกทุกอย่างไว้อย่างรอบคอบยกเว้นเรื่องการเพิ่มขบวนรถเพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ให้เพิ่ม

สุดท้าย ดร.สุเมธ เล่าว่า รัฐบาลมองว่าเหตุการณ์นี้ทำให้คุณภาพการให้บริการต่ำลงแล้วรัฐทนไม่ไหว เคสนี้รัฐบาลเลยซื้อคืนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้ามาทั้งหมด แล้วปรับโมเดลใหม่เพื่อเพิ่มขบวนรถเข้าไป และจากเดิมที่เป็นสัญญาสัมปทาน 30 ปีแล้วเอกชนลงทุนรถไฟฟ้า หลังจากเหตุการณ์นี้รัฐซื้อรถไฟให้แล้วตัดสัญญาในการจ้างเอกชนมาดูแลเหลือแค่ 15 ปี

หมายเหตุ: สิงคโปร์เผชิญเหตุการณ์ปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานคล้ายกับประเทศไทยแต่หน่วยงาน Land Transport Authority หรือ LTA มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะในประเทศทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรุงเทพมหานครและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top