'สิงคโปร์แอร์ไลน์ส' ปรับกฎ ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ เมื่อมีไฟเตือนคาดเข็มขัด เพิ่มความปลอดภัยขั้นสุด หลังเหตุ SQ321 'ตกหลุมอากาศ'

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) ประกาศนโยบาย ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ ระหว่างที่ไฟสัญญาณเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยสว่างขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร หลังเกิดกรณีเที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน

สิงคโปรแอร์ไลน์ส ระบุในคำแถลงวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า ลูกเรือทุกคนจะต้องกลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยทันทีที่สัญญาณไฟเตือนปรากฏขึ้น และจากเดิมที่จะงดเสิร์ฟเฉพาะ ‘เครื่องดื่มร้อน’ ในช่วงที่เครื่องบินต้องบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน (turbulence) ก็จะเปลี่ยนเป็นการงดเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด

สำหรับมาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนยังคงบังคับใช้ตามปกติ เช่น การที่ลูกเรือต้องตรวจสอบสัมภาระที่อาจร่วงหล่นง่าย เตือนผู้โดยสารให้กลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงเฝ้าสังเกตผู้โดยสารที่อาจต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่กำลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

โฆษกสายการบินระบุว่า “สิงคโปร์แอร์ไลน์สจะยังคงพิจารณาทบทวนแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ต่อไป เนื่องจากความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือคือสิ่งสำคัญที่สุด”

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์เกิดตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงบริเวณเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีของพม่า ระหว่างที่พนักงานกำลังเสิร์ฟอาหาร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ เจฟฟรีย์ คิตเชน (Geoffrey Kitchen) ผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี ซึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจเสียชีวิต และมีผู้โดยสารบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นักบินตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และนำเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่มีผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน เปลี่ยนเส้นทางมาลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาประมาณ 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่มีผู้เสียชีวิตครั้งแรกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ตามหลังกรณีเที่ยวบิน SQ006 ที่พยายามเทกออฟจากทางวิ่งซึ่งปิดซ่อมภายในสนามบินนานาชาติเจียงไคเช็ก (ปัจจุบันคือสนามบินเถาหยวน) ของไต้หวันระหว่างที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้า และชนเข้ากับอุปกรณ์ก่อสร้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 83 คน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ปี 2000

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส อัปเดตข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กวานนี้ (23 พ.ค.) ว่ายังมีผู้โดยสาร 46 คน และลูกเรืออีก 2 คนนอนรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร

ด้าน นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แถลงว่า ขณะนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจากเที่ยวบิน SQ321 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 40 คน ในจำนวนนี้มี 22 คนที่พบอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง และ 6 คนมีอาการบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะและสมอง

สำหรับผู้บาดเจ็บที่ถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีอายุระหว่าง 2-83 ปี และเวลานี้มี 20 คนที่ยังอยู่ในห้องไอซียู ทว่าอาการไม่อยู่ในขั้นอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิต


ที่มา: The Straits Times / mgronline