Wednesday, 26 June 2024
สิงคโปร์แอร์ไลน์ส

'สิงคโปร์แอร์ไลน์ส' ปรับกฎ ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ เมื่อมีไฟเตือนคาดเข็มขัด เพิ่มความปลอดภัยขั้นสุด หลังเหตุ SQ321 'ตกหลุมอากาศ'

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส (Singapore Airlines) ประกาศนโยบาย ‘งดเสิร์ฟอาหาร’ ระหว่างที่ไฟสัญญาณเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยสว่างขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร หลังเกิดกรณีเที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน

สิงคโปรแอร์ไลน์ส ระบุในคำแถลงวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า ลูกเรือทุกคนจะต้องกลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยทันทีที่สัญญาณไฟเตือนปรากฏขึ้น และจากเดิมที่จะงดเสิร์ฟเฉพาะ ‘เครื่องดื่มร้อน’ ในช่วงที่เครื่องบินต้องบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน (turbulence) ก็จะเปลี่ยนเป็นการงดเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด

สำหรับมาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนยังคงบังคับใช้ตามปกติ เช่น การที่ลูกเรือต้องตรวจสอบสัมภาระที่อาจร่วงหล่นง่าย เตือนผู้โดยสารให้กลับไปยังที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงเฝ้าสังเกตผู้โดยสารที่อาจต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่กำลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

โฆษกสายการบินระบุว่า “สิงคโปร์แอร์ไลน์สจะยังคงพิจารณาทบทวนแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ต่อไป เนื่องจากความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือคือสิ่งสำคัญที่สุด”

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสิงคโปร์เกิดตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงบริเวณเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีของพม่า ระหว่างที่พนักงานกำลังเสิร์ฟอาหาร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ เจฟฟรีย์ คิตเชน (Geoffrey Kitchen) ผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี ซึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจเสียชีวิต และมีผู้โดยสารบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นักบินตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และนำเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่มีผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน เปลี่ยนเส้นทางมาลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาประมาณ 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่มีผู้เสียชีวิตครั้งแรกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ตามหลังกรณีเที่ยวบิน SQ006 ที่พยายามเทกออฟจากทางวิ่งซึ่งปิดซ่อมภายในสนามบินนานาชาติเจียงไคเช็ก (ปัจจุบันคือสนามบินเถาหยวน) ของไต้หวันระหว่างที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้า และชนเข้ากับอุปกรณ์ก่อสร้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 83 คน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ปี 2000

สิงคโปร์แอร์ไลน์ส อัปเดตข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กวานนี้ (23 พ.ค.) ว่ายังมีผู้โดยสาร 46 คน และลูกเรืออีก 2 คนนอนรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร

ด้าน นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ แถลงว่า ขณะนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจากเที่ยวบิน SQ321 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 40 คน ในจำนวนนี้มี 22 คนที่พบอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง และ 6 คนมีอาการบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะและสมอง

สำหรับผู้บาดเจ็บที่ถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีอายุระหว่าง 2-83 ปี และเวลานี้มี 20 คนที่ยังอยู่ในห้องไอซียู ทว่าอาการไม่อยู่ในขั้นอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิต

'วิทยุการบินฯ' เผยความพร้อมบริการในสถานการณ์ 'ปกติ-ฉุกเฉิน' ตัวแปรสำคัญผลักดันไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

(25 พ.ค.67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ 321 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์และขอลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานภาคพื้นให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานการบินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงคำชื่นชมจากรัฐบาลสิงคโปร์และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า บวท. มีความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน 

นอกจากนั้นเรื่องความพร้อมในการศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล บวท. ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินให้ได้สูงสุด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อผลักดันการขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นที่ยอมรับ โดยมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริการการเดินอากาศของประเทศให้อยู่ในระดับสากล 

นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเปิดดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ของสนามบิน เชียงใหม่, เชียงราย และหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบิน เข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทย มีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบหอบังคับ การบินอัจฉริยะ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล การบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เป็นต้น 

ในขณะเดียวกัน บวท. ยังได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทางการบินต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคการบินของประเทศ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top