Monday, 19 May 2025
สหรัฐฯ

‘ดร.กอบศักดิ์’ เผย!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ทำสงครามการค้า ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อม ชี้!! ไทยมีโอกาสเข้าไปแทนที่ เปิดตลาดใหม่ ระบายสินค้า เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่คุยกัน

(12 เม.ย. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ในช่วงต่อไป ถ้าไม่มีใครยอมใคร

สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ และสินค้าสหรัฐที่ส่งไปจีน คงต้องหาตลาดใหม่ให้ตนเอง
สินค้าเหล่านี้ กำลังจะมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ

เราคงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไทย
สินค้าเหล่านี้ประกอบด้วย 

จากจีน - Smartphones, Laptops, Batteries, Toys, Telecom Equipment

จากสหรัฐ - Soybeans, Aircraft and engines, IC, Pharmaceuticals, Petroleum

มูลค่าไม่น้อย โดยเฉพาะสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และสินค้าจากสหรัฐฯ 143.5 พันล้าน สรอ. ต่อปี 

ประเทศใกล้ๆ อย่างไทย น่าจะเป็นเป้าหมายในการระบายสินค้าที่ดี

ส่วนผู้ส่งออก เมื่อเขาไม่ค้าขายกัน ไม่คุยกัน 

รายชื่อสินค้าเหล่านี้ เป็นเป้าหมายให้เราเข้าไปแทนที่ครับ

อย่าลืมว่า "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

‘Wicrosoft’ บริษัทร่วมทุน ‘Microsoft’ ปลดพนักงานในจีน 2,000 คน สะท้อนความรุนแรง!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่สั่นสะเทือน วงการไอที

เมื่อวันที่ (7 เม.ย.68) ที่ผ่านมา มีภาพหน้าจอมือถือที่เป็นอีเมลภายในของบริษัทเวยช่วงหร่วนเจี้ยน (Wicresoft,微创软件) บริษัทร่วมทุนกับไมโครซอฟท์ (Wicrosoft) หลุดออกมาทั่วโซเชียล โดยในอีเมลระบุว่า “ไมโครซอฟท์จะปรับแผนกลยุทธ์ทั่วโลก และจะยุติการดำเนินงานในจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025” ซึ่งหมายความว่าโครงการที่เกี่ยวข้องของไมโครซอฟท์จะถูกยุติลงพร้อมกัน แม้ว่าอีเมลดังกล่าวจะไม่ใช่ประกาศอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์ แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการไอทีในจีน

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกที่ไมโครซอฟท์ ลงทุนในจีน ปัจจุบันประธานบริษัทคือถังจวิ้น ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานไมโครซอฟต์จีน ซึ่งบริษัทฯ ถูกมองว่าเป็นบริษัทเอาต์ซอร์ส หรือ องค์กรภายนอกหลักของไมโครซอฟท์ในจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีศูนย์ให้บริการ 36 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทั้งจีน สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 2,500 ราย และมีพนักงานกว่า 10,000 คน

ช่วงบ่ายของวันที่ 7 เม.ย. สื่อจีนรายงานว่าพนักงานหลายรายกล่าวว่าการเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานในสำนักงานเซี่ยงไฮ้และอู๋ซีราว 2,000 คน พนักงานบางคนกล่าวว่าตอนเช้ายังสแกนบัตรเข้างานอยู่เลย ตอนเที่ยงก็โดนเลิกจ้างแล้ว ขณะที่บางคนบอกว่าไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างกะทันหัน และมีพนักงานจำนวนมากยกกล่องเอกสารออกมาจากบริษัทฯ

การเลิกจ้างในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งผู้บริหารหมายเลข 14117 ของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ “ประเทศที่ถูกจับตามอง” เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนของชาวอเมริกัน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านกฎระเบียบข้อมูลในระดับโลก หลายคนจึงสงสัยว่าบริการสนับสนุนด้านเทคนิคของสินค้าไมโครซอฟท์จะยังคงให้บริการต่ออย่างไร 

พนักงานยกกล่องออกจากบริษัทฯ ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร N+1

สื่อจีนรายงานว่ามีพนักงานจำนวนมากทยอยยกกล่องเอกสารออกจากอาคาร และในจำนวนนี้มีพนักงานชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ตรงข้ามอาคารคือสำนักงานของไมโครซอฟต์จีน สาขาหมิ่นซิ๋ง พนักงานไมโครซอฟท์คนหนึ่งยังเดินข้ามถนนมาดูสถานการณ์ พร้อมบอกว่าขณะนี้ภายในสำนักงานไมโครซอฟท์ยังไม่มีข่าวการเลิกจ้างลักษณะเดียวกันนี้

พนักงานนามสมมุติ 'หลี่เต๋อ' เปิดเผยว่าเขาเพิ่งสแกนบัตรเข้าออฟฟิศในตอนเช้า แต่กลับได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างทันที โดยทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิคของไมโครซอฟท์ที่เขาอยู่มีพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกเลิกจ้าง อีเมลภายในระบุว่าบริษัทจะจัดทำแผนการเยียวยาและเสนอการโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศให้พนักงานในสายงานเดิมของไมโครซอฟท์ก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม พนักงานเผยว่าขั้นตอนภายในสับสนวุ่นวาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร “N+1” เท่านั้น และมีเพียงส่วนน้อยที่อาจได้ย้ายไปต่างประเทศ

ไมโครซอฟท์จะยุติธุรกิจในจีนหรือไม่

ข่าวลือที่ว่า "ไมโครซอฟท์จะยุติการดำเนินงานในจีนตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025" ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมระบุว่ากิจการของ Wicresoft ควรให้ทางบริษัทเป็นผู้ชี้แจงโดยตรง 

หลิวหรุน อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ออกมายืนยันว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้จะยุติการดำเนินงานหรือหยุดโครงการเอาต์ซอร์สในจีน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการย้ายงานเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ใช้ในต่างประเทศไปยังภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังไมโครซอฟท์ได้ปรับลดขนาดธุรกิจในจีนหลายครั้ง สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

แม้ไมโครซอฟท์จะปฏิเสธการเลิกจ้างครั้งใหญ่ แต่การที่ทีมสนับสนุนของ Wicresoft ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,000 คนถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้ผู้ใช้งานหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ Wicresoft ถือเป็นพันธมิตรเอาต์ซอร์สรายใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านเทคนิคทั้งก่อนและหลังการขาย 

พนักงานกังวลหางานใหม่ไม่ทัน

ในมุมมองของจ้าวหู ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทไมโครซอฟท์ในจีน กล่าวว่าแม้ว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจระหว่างไมโครซอฟท์กับบริษัทเอาต์ซอร์ส แต่ในความเป็นจริงแล้วสะท้อนถึงแนวโน้มเชิงลึกยิ่งกว่า นั่นคือการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรง และการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดขึ้น 

ทั้งยังส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเริ่มทบทวนกลยุทธ์การจ้างงานและกลไกการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านข้อมูลในจีน การเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คนในครั้งเดียวถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยในแวดวงอุตสาหกรรม และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามไปถึงพนักงานประจำของไมโครซอฟท์ หรือแม้แต่กระทบต่อแนวทางด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างชาติในจีนโดยรวม

สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ความท้าทายที่ต้องเผชิญคือ ตลาดแรงงานจีนในระยะสั้นไม่สามารถรองรับบุคลากรสายสนับสนุนด้านเทคนิคจำนวนมากเช่นนี้ได้ จ้าวหูกล่าวว่านี่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนเส้นทางอาชีพ เสริมทักษะเชิงลึก และเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและพื้นที่การทำงาน

นักลงทุนผวา!! อนาคตของอเมริกา กับ ‘วิกฤตด้านความเชื่อมั่น’ การย้ายฐานการผลิตทั้งหมดกลับประเทศ ต้องใช้ทั้ง ‘เงิน-เวลา’

(12 เม.ย. 68) Stephanie Ruhle นักวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจของ NBC หนึ่งในสถานีโทรทัศน์หลักของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ว่า ...  

สิ่งที่ฉันอยากจะพูดก็คือ ผ่านไปกว่าสัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เกิดหายนะทางการค้านี้ขึ้น และฉันได้ใช้เวลาทั้งสัปดาห์นั้นในการพูดคุยกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสิ่งที่ฉันรู้สึกว่ามากที่สุดในคืนนี้คือความกลัว

ความกลัวที่เรากำลังเผชิญอยู่คือวิกฤตด้านความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นในตัวเราเอง ในสหรัฐอเมริกา หรือฉันไม่ได้ยินจากใครเลยในบรรดาคนที่ฉันพูดคุยด้วย คือสิ่งที่อาจฟื้นคืนความเชื่อมั่นนั้นในสหรัฐอเมริกาได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้ ใช่แล้ว ตลาดปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวานนี้ แต่เป็นเพราะเราสามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าด้วยภาษีนำเข้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกได้เท่านั้น

แต่ความจริงได้เกิดขึ้นในวันนี้แล้ว เพราะเรายังคงมีภาษีนำเข้าที่เหลือ และตลาดก็ยังคงตกต่ำ ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานที่เราใช้เจรจาการค้าไม่ได้หยั่งรากลึกในความจริง และสำหรับผู้ที่เชื่อว่าประเทศต่าง ๆ กำลังดิ้นรนเพื่อทำข้อตกลงเพราะพวกเขาตื่นตระหนกมากเกี่ยวกับภาษีนำเข้าจำนวนมหาศาล และตอนนี้ภาษีนำเข้าก็ลดลงมาก

คำถามของฉันก็คือ ข้อตกลงนั้นคืออะไร คุณคิดว่าประเทศอย่างเวียดนามสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อลบล้างการขาดดุลการค้าของเรา คุณรู้ไหมว่าคำตอบคืออะไร พวกเขาทำไม่ได้ และถ้าคุณต้องการนำการผลิตทั้งหมดของเรากลับประเทศ นั่นก็จะ... หากคุณต้องการทำสิ่งนั้นตามที่ Peter Navarro พูดถึง Howard Lutnick พูดถึง คุณต้องการทำเช่นนั้นไหม? เพราะ จะต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์และเวลา 20 ปีในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและนำทั้งหมดกลับมาผลิตในอเมริกา

และสำหรับพันธมิตรของเราในตะวันตก ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้รีบร้อนที่จะร่วมมือกับเราอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หัวเราะออกทีวีระดับประเทศ และบอกว่า พวกเขากำลังประจบประแจงฉัน (จูบก้นฉัน) เราสามารถพูดได้อย่างปลอดภัยว่าตำแหน่งที่เราและความพิเศษเฉพาะตัวของอเมริกาเคยยึดครองไว้ แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างแน่นอน

เรามีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรที่บอกให้เราสร้างเล้าไก่ในสวนหลังบ้านเพราะไข่แพง เรามีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่เผยแพร่ความลับทางทหารในกลุ่มแชท เราอาจกำลังไล่พนักงานของรัฐบาลออกหลายพันคนอย่างผิดกฎหมาย และตัดงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ขณะที่ซื้อสกุลเงินดิจิทัล เราสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจไปเป็นจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันกลัวคือนักลงทุนทุกคนที่ฉันพูดคุยด้วย แม้แต่บางคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีคนนี้ ต่างก็ส่งข้อความเดียวกันถึงฉันว่า หากตลาดพันธบัตรยังคงร่วงลงเรื่อย ๆ คุณก็รู้ว่ามันจะไปจบลงที่ไหน มันจะทำให้ประเทศนี้ล้มละลาย ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ รู้เรื่องนี้ดีทีเดียว

ศึกเงาของ ‘ทรัมป์’ ปะทะ ‘โซรอส’ เกมอำนาจเบื้องหลังเลือกตั้งแอลเบเนีย นักวิเคราะห์ชี้เป็นสนามประลองอุดมการณ์ระดับโลก กลางสมรภูมิการเมืองยุโรป

(17 เม.ย. 68) แอลเบเนียกำลังเผชิญการเลือกตั้งที่ร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เมื่อการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าไม่ใช่แค่การแย่งชิงเก้าอี้รัฐสภา แต่คือสงครามตัวแทนของสองขั้วอุดมการณ์ระดับโลก ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “จอร์จ โซรอส”

อดีตเอกอัครราชทูตแอลเบเนียประจำสหรัฐฯ นายอากิม เนโช เผยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นมากกว่าการแข่งขันทางการเมืองภายในประเทศ หากแต่สะท้อนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก กับฝ่ายเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีเอดี รามา ผู้นำพรรคสังคมนิยม ที่ครองอำนาจต่อเนื่องมากว่า 12 ปี ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหัวก้าวหน้า อาทิ อเล็กซ์ ซอรอส บุตรชายของจอร์จ ซอรอส ตลอดจนโครงการของ USAID และมูลนิธิ Open Society Foundations (OSF) ซึ่งฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเป็นกลไกแทรกแซงการเมืองแอลเบเนีย

ด้านฝ่ายค้านนำโดยนายซาลี เบริชา อดีตผู้นำประเทศและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยฝ่ายขวา ได้รับการหนุนหลังจากนายคริส ลาซีวิตา อดีตผู้จัดการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมออกแถลงการณ์โจมตีว่า รัฐบาลรามาคือ “หุ่นเชิดของโซรอส” และให้คำมั่นจะนำแอลเบเนียกลับสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในแบบที่เคยมีในยุคทรัมป์

สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเบริชาถูกตัดสิทธิทางกฎหมายในประเทศ และเผชิญคดีทุจริตตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอิทธิพลต่างชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น นายอิลีร์ เมตา อดีตประธานาธิบดีและผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยสายกลาง ก็ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเช่นกัน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบตุลาการของประเทศที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า “ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง”

รายงานจาก European Center for Law & Justice ชี้ว่า Open Society Foundations ได้ลงทุนในแอลเบเนียมากกว่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1992 โดยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปตุลาการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องทางการควบคุมอำนาจจากภายนอก

เนโช สรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นอีกครั้งที่ประชาชนแอลเบเนียต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเร่งผลักดันการเลือกตั้งที่โปร่งใส หรือพิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จนกว่าจะมีหลักประกันในกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง

จีนแต่งตั้ง ‘หลี่ เฉิงกัง’ อดีตทูตฯ WTO ตัวแทนเจรจาการค้าคนใหม่ แทนที่ ‘หวัง โซ่วเหวิน’ รับมือศึกภาษีเดือดกับสหรัฐฯ

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนประกาศแต่งตั้ง นายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) วัย 58 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่แทนที่ นายหวัง โซ่วเหวิน (Wang Shouwen) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนตัวผู้เจรจาเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจกำลังเผชิญภาวะ “สงครามภาษี” ครั้งใหม่ โดยรัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 125%

หลี่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับการมองว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการคลี่คลายความตึงเครียด และอาจนำพาการเจรจาให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกมองว่ามาอย่างกะทันหัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้กะทันหันมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน” 

ผู้เชี่ยวชาญรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า นายหวัง โซ่วเหวิน มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ชุดแรก และการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์จีนของ Conference Board วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง... และเริ่มการเจรจาในที่สุด”

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้มีนัยทางการเมืองมากนัก โดยมองว่า “อาจเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งแบบปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเหอ หลี่เฟิง ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระดับสูงของจีน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ด้าน ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐฯ “พร้อมเจรจาข้อตกลงการค้า” กับจีน แต่ต้องการให้ 'ปักกิ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน' ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#20 'ทำไมสหรัฐฯ จึงไม่ชนะในสงครามอินโดจีน'

สงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมคงต้องใช้คำว่า “ไม่ชนะ” แทนคำว่า “พ่ายแพ้” เพราะอันที่จริงแล้วศักยภาพของกองทัพอเมริกันและพันธมิตรสามารถเอาชนะสงครามอินโดจีนได้ หากเป็นการรบตามแบบ และไม่คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ตลอดจนการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งการไม่สามารถเอาชนะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และจิตวิทยาภายในเวียตนามทั้งเหนือและใต้อีกด้วย สงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ผ่านการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 5 คน ได้แก่ Truman, Eisenhower, Kennedy, Johnson และ Nixon

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วย OSS (ต้นกำเนิดของ CIA ในปัจจุบัน) ได้ขบวนการเวียตมินห์ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกองทัพประชาชนเวียตนาม) ซึ่งโฮจินมินห์เป็นผู้ก่อตั้งเป็นพันธมิตรในการสู้รบกับญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เวียตมินห์ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและหาข่าวให้กับ OSS หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 1945 ความผิดพลาดของสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1946 เมื่อประธานาธิบดี Truman ได้ปฏิเสธคำขอความช่วยเหลือของโฮจิมินห์ในการขับไล่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม โดยเลือกที่จะสนับสนุนฝรั่งเศสแทน ทั้ง ๆ ที่ตัวโฮจิมินห์เองรู้สึกขอบคุณและชื่นชมสหรัฐฯ ที่ช่วยขบวนการเวียตมินห์จนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นจากการยึดครองเวียตนามต่อจากฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเดิม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถเอาชนะทั้ง “จิตใจและแนวคิด” ของชาวเวียตนามได้ ซ้ำร้ายผลจากสงครามเย็นทำให้สังคมอเมริกันโดยรวมถูกกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียตนามเหนือไม่เป็นไปด้วยดีตาม แล้วก็เข้าสู่สงครามในที่สุด

ประธานาธิบดี Harry S. Truman จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1945 เขาได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการเอเชีย ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt (ผู้ซึ่งต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคม) ซึ่งเสียชีวิตในตำแหน่ง ว่า การกลับมาปกครองเวียตนามของฝรั่งเศสจะนำไปสู่ "การนองเลือดและความไม่สงบ" แต่ประธานาธิบดี Truman กลับยอมรับต่อการกลับเข้าปกครองอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสอีกครั้ง ด้วยหวังว่า เรื่องดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจและเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับฝรั่งเศส (ซึ่งพ่ายแพ้ต่อเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหมดรูป) อีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าฝรั่งเศสก็กลับมาปกครองเวียตนามพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดฉากสู้รบกับกองทัพประชาชนเวียตนามหรือเวียตมินห์ของของโฮจิมินห์ในทันที โดยแรก ๆ นั้น สหรัฐอเมริกายังคงดำรงความเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หลีกเลี่ยงการติดต่อใด ๆ กับโฮจิมินห์ อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 1947 ประธานาธิบดี Truman ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการช่วยเหลือประเทศที่ยืนหยัดต่อการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ สงครามเกาหลีในปี 1950 รวมถึงความช่วยเหลือจากจีนและสหภาพโซเวียตต่อเวียตหมินห์ทำให้ประธานาธิบดี Truman กลับมาพิจารณาและให้จัดเวียตนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามเย็น ด้วยความกลัวว่า ที่สุดเวียตนามจะกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ เขาได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกับที่ปรึกษาทางทหารจำนวน 35 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ฝรั่งเศส และยิ่งถลำลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายสมัยที่สองของประธานาธิบดี Truman สหรัฐฯ ได้ทุ่มงบมากกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายในการทำสงครามในเวียตนามให้กับฝรั่งเศส และในที่สุดได้เพิ่มจำนวนเงินงบประมาณเป็นประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม ในปี 1954 ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปที่เดียนเบียนฟู ทำให้ความพยามในการครอบครองอาณานิคมของพวกเขาสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนได้เสนอให้ทำการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรักษาสถานภาพของฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ปฏิเสธ เพราะสงครามเกาหลีพึ่งจะสงบลงได้ไม่นานนัก ประธานาธิบดี Eisenhower ได้เขียนไว้ในบันทึกของเขา ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าจะไม่มีชัยชนะทางทหารเกิดขึ้นเหมือนอดีตอีกแล้ว” แต่ด้วยเขาเป็นผู้ที่เชื่อใน "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า หากประเทศใดประเทศหนึ่งพ่ายแพ้ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามมา จึงปฏิเสธที่ปล่อยเวียตนามโดยสิ้นเชิง ที่สุดเวียตนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศโดยมีโฮจินมินห์เป็นผู้นำเวียตนามเหนือ และ Ngo Dinh Diem ผู้ซึ่งเป็นพวกนิยมชาติตะวันตกได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดีของเวียตนามใต้ แต่เขาเป็นชาวเวียตนามเชื้อสายจีนจากตระกูลที่มั่งคั่ง ซ้ำยังเป็นแคทอลิก ในขณะที่ชาวเวียตนามใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและมีฐานะยากจน การเลือกตั้งซึ่งควรจะเกิดขึ้นเพื่อรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน แต่ถูกประธานาธิบดี Diem หยุดไว้ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยเกรงว่า โฮจินมินห์จะชนะการเลือกตั้งและมีความชอบธรรมที่จะรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน

แม้ว่า ประธานาธิบดี Diem จะถูกขุดคุ้ยตรวจสอบและประจักษ์ชัดว่า เป็นพวกเผด็จการและทุจริตโกงกิน แต่ประธานาธิบดี Eisenhower ก็เรียกเขาว่า "รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด" และ "ตัวอย่างของผู้คนที่เกลียดชังทรราชและรักเสรีภาพ" ที่สำคัญกว่านั้นเขายังได้จัดหาเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ ประธานาธิบดี Diem โดยมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากในระหว่างปี 1955 ถึง 1960 และเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางทหารเพิ่มเป็น 1,000 นาย เมื่อประธานาธิบดี Eisenhower หมดวาระการดำรงตำแหน่ง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างกองกำลังทหารของประธานาธิบดี Diem กับเวียตกง ในเวียตนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียตนามเหนือก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี John F. Kennedy หลังจากไปเยือนเวียตนามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1951 เขาได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศสในเวียตนาม โดยเขากล่าวว่า การกระทำนั้น “เป็นการท้าทายความเป็นชาตินิยมโดยรู้ล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวอยู่แล้ว” และอีก 3 ปีต่อมาเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ผมเชื่อในความเชื่อที่ว่า ไม่มีความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกันจำนวนมาก…จะสามารถพิชิตศัตรูได้ทุกที่ในเวลาเดียวกัน” ท่าทีของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1960 ด้วยความกังวลว่า จะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Kennedy ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียง เรือลาดตระเวนลำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ให้กับเวียตนามใต้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้ Napalm และ สารพิษ เช่น ฝนเหลือง (Agent Orange) และเพิ่มที่ปรึกษาทางทหารเป็น 16,000 คน บางนายมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรบอย่างลับ ๆ ต่อมาประธานาธิบดี Diem ผู้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนถูกรัฐประหารและสังหารในปี 1963 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดี Kennedy จะถูกลอบสังหาร โดยก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยบอกกับคณะทำงานของเขาว่า เขาอาจจะถอนกำลังและการสนับสนุนออกจากเวียตนามภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่

ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 4 ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนาม หลังการลอบสังหารของประธานาธิบดี Kennedy การมีส่วนร่วมในสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างจำกัด แต่สิ่งนั้นได้เปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 1964 “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย” ทำให้รัฐสภาอเมริกันมอบอำนาจในการทำสงครามอย่างไม่จำกัดให้กับประธานาธิบดี Johnson ผู้ซึ่งพึ่งเข้าดำรงตำแหน่ง เพราะตระหนักว่า รัฐบาลและกองทัพเวียตนามใต้กำลังจะล่มสลาย ประธานาธิบดี Johnson ได้ส่งกำลังรบสหรัฐเข้าสู่สนามรบในเวียตนามเป็นครั้งแรกในต้นปี 1965 และให้มีการทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในชื่อรหัสว่า Operation Rolling Thunder ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี ในไม่ช้าร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับการต่อต้านร่างกฎหมายเหล่านั้น ในปี 1967 มีทหารอเมริกันราว 500,000 นายในเวียตนามใต้ และในปีเดียวกันนั้นมีก็การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างยืนยันกับประธานาธิบดี Johnson ว่า ชัยชนะกำลังใกล้เข้ามา แต่ต่อมาเมื่อเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกเปิดเผยในภายหลังกลายเป็นว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้เข้าใจผิดอย่างมากมาย ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบในเวียตนามใต้นั้นได้กลายเป็นหลุมใหญ่และลึกไปเสียแล้ว สงครามเวียตนามกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก และประธานาธิบดี Johnson ก็กลายเป็นพวกกระหายสงคราม ในที่สุดประธานาธิบดี Johnson ก็ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1968

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 5 คนสุดท้ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเวียตนามคือ ประธานาธิบดี Richard Nixon ในการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี Nixon สัญญาว่า จะยุติสงครามเวียตนาม อย่างไรก็ตามภายหลังปรากฏว่า มีพยายามขัดขวางการเจรจาสันติภาพเพื่อทำให้คะแนนเสียงของเขาดีขึ้น ในฐานะประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Nixon ค่อยๆ ทยอยถอนทหารอเมริกันออกจากเวียตนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Vietnamization” แต่เขาก็เพิ่มความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การอนุมัติการโจมตีทางอากาศอย่างลับ ๆ ในกัมพูชาในปี 1969 ต่อมาส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปยังกัมพูชาในปี 1970 และอนุมัติการบุกลาวในปี 1971 ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่งในการทำลายเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยกองกำลังเวียตกง นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดี Nixon ยังสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดในสงคราม ซึ่งส่งผลเวียตนามเหนือถูกทิ้งระเบิดถึง 36,000 ตัน ในช่วงปลายปี 1972 ในเดือนมกราคมปี 1973 เมื่อกรณีอื้อฉาว Watergate ถูกเปิดเผย ประธานาธิบดี Nixon จึงยุติบทบาทการมีส่วนร่วมโดยตรงของสหรัฐฯ ในเวียตนาม โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการ "สันติภาพอย่างมีเกียรติ" ประสบความสำเร็จ แม้จะปรากฏว่า การสู้รบในเวียตนามยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 1975 กระทั่งกองกำลังทหารเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกงสามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เมษายน 1975 เมืองหลวงของเวียตนามใต้ และรวมประเทศเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม

สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนด้วยเหตุผลคือ การป้องกันการแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ โดยยอมละเลยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของตนด้วยการสนับสนุนให้กองทัพที่เป็นพวกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและยอมทำตามสหรัฐฯ ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี้คือ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ พ่ายแพ้ในภูมิภาคนี้ด้วยผู้นำทางทหารเหล่านั้นเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วแทนที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง กลับกลายเป็นเผด็จการทรราชทำการทุจริตโกงกินคอร์รัปชันกันอย่างมากมายมหาศาล เมื่อนายทหารใหญ่ ๆ กลายเป็นเผด็จการทรราชทุจริตโกงกินแล้ว คุณภาพของกองทัพก็ลดลงทั้งวินัย ขวัญกำลังใจ และความสามารถในการรบ อุดมการณ์รักชาติกลายเป็นอุดมกินแสวงหาผลประโยชน์เงินทองในหมู่ทหารทุกระดับชั้น เมื่อมีความสุขสบาย ความรักตัวกลัวตายจึงเกิด อีกทั้งความช่วยเหลือที่ได้รับจากสหรัฐฯ นั้นมากมายมหาศาล ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังคงยึดถืออุดมการณ์รักชาติ เพื่อชาติ อยู่เช่นเดิม

เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดจีนถูกเผยแพร่ตีแผ่ในสื่อต่าง ๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ชาวอเมริกันได้เห็นปฏิบัติการรบ ทำให้ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจจึงการเกิดการประท้วงต่อต้านสงครามอยู่ตามมหาวิทยาลัยและตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เด็กหนุ่มอเมริกันซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารต่างก็หวาดกลัวจึงพากันต่อต้านและอพยพหลบหนีออกจากประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบในเวียตนาม ความเบื่อหน่ายต่อสงครามซึ่งสหรัฐฯ เข้าร่วมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมา ทั้งอเมริกันชนไม่เห็นประโยชน์ในการทำสงครามเวียตนาม ทั้งสูญเสียชีวิตทหารอเมริกันเกือบหกหมื่นนาย รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมเจรจาสงบศึกและทยอยถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกจากเวียตนามในปี 1973 แต่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลเวียตนามใต้ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล โดยหวังว่า กองทัพเวียตนามใต้จะนำประชาชนจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพเวียตนามเหนือและกองกำลังเวียตกง ด้วยความผิดพลาดจากการทำให้กองทัพเวียตนามใต้เสพติดการทุจริตคอร์รัปชันโกงกิน ใช้อำนาจในการรังแกประชาชนจนขาดความยกย่อง นับถือ และเชื่อมั่น จึงไม่มีใครร่วมที่จะต่อสู้เลย ซ้ำร้ายทหารเวียตนามใต้เองเมื่อขาดวินัย ขวัญกำลังใจต่ำมาก ๆ จึงพากันถอดเครื่องแบบหนีทัพ ที่สุดแล้วอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลเหล่านั้นก็ตกอยู่มือของกองทัพเวียตนามเหนือ (กองทัพเวียดนามในปัจจุบัน) แม้จะสูญเสียไปในการรบกับจีนในสงครามจีนสั่งสอนเวียตนาม สงครามในกัมพูชา รบกับกองทัพไทย ไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากและบางส่วนยังไม่เคยได้นำออกมาใช้งานเลย

การที่สหรัฐฯ ไม่สามารถเอาชนะในสงครามครั้งนั้นได้ ด้วยเพราะการบริหารที่ผิดพลาดทั้งการทหารและการเมือง เมื่อบริหารร่วมกันในการทำสงครามเวียตนามแล้วยิ่งผิดพลาดจนไปกันใหญ่ แม้จนปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ จะยังคงเป็นกองทัพอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม หากแต่พิจารณาถึงสงครามที่สงครามต่าง ๆ ในระยะหลังที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทนั้น กองทัพสหรัฐฯ จะถูกมองในบทบาทของผู้รุกรานมากกว่าบทบาทของผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปลดปล่อย ภาพปรากฏจึงกลายเป็นศัตรูมากกว่ามิตร เปรียบเหมือนกับกองทัพสหรัฐฯ นั้นใช้พระเดช (อำนาจ) มากกว่าพระคุณ (ไมตรีจิต-มิตรภาพ-จริงใจ-ช่วยเหลือ-ห่วงใย-ใส่ใจ) ความสำเร็จในการทำสงครามในมุมมองของผู้เขียนคือ การบริหารพระเดชและพระคุณให้เกิดความเหมาะสมสมดุล ไม่ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป แต่ใช้ทั้งสองอย่างให้เหมาะสม ตามแต่บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ๆ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) คือ สัจธรรมที่มนุษยชาติต้องประสบพบเจอ ไม่เว้นแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเราท่านน่าจะมีโอกาสได้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไป

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

รมว.กลาโหมของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศสงครามกับ อิหร่าน (หรือเปล่า) หลัง ‘อิหร่าน’ ให้การสนับสนุน ‘ฮูตี’ ลั่น!! จะต้องชดใช้ผลที่ตามมา

(1 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

รมว.กลาโหมของ #สหรัฐฯ เพิ่งประกาศสงครามกับ #อิหร่าน หรือเปล่า??

สารถึงอิหร่าน

สหรัฐฯเห็นว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮูตีเต็มร้อย สหรัฐฯรู้ดีว่าอิหร่านกำลังทำอะไรอยู่
อิหร่านรู้ดีอยู่แล้วว่ากองทัพสหรัฐฯ มีศักยภาพแค่ไหน — และอิหร่านได้รับคำเตือนแล้ว
อิหร่านจะต้องชดใช้ผลที่ตามมาในเวลาและสถานที่ที่สหรัฐฯกำหนด”

‘เซเลนสกี้’ ยอมแล้ว!! หลังจากทะเลาะกันให้โลกดู คาด!! ยอม ‘Rare Earth’ ให้สหรัฐอเมริกา ใช้หนี้

(1 พ.ค. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ก้าวแรกสู่การสงบศึก Russia-Ukraine !!
เซเลนสกี้ ยอมแล้ว!!
หลังจากทะเลาะกันให้โลกดูเมื่อเดือนที่แล้ว
จะนำไปสู่การฟื้นฟู Ukraine จากสงคราม 
รวมถึงการปลดพันธนาการพึ่งพา Rare Earth จากจีน
ซึ่ง Rare Earth เหล่านี้ จะนับเป็นการคืนเงินที่สหรัฐช่วยสู้ศึกในช่วงที่ผ่านมา 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เสนอขอ!! งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับการป้องกันประเทศ โดยให้หั่นงบประมาณ!! ‘การดูแลสุขภาพ – การดูแลเด็ก – ที่อยู่อาศัย – พลังงานสะอาด’

(3 พ.ค. 68)  เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ปธน.ทรัมป์ #สหรัฐฯ เสนอแผนงบประมาณใหม่โดยของบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับการป้องกันประเทศ - ตามรายงานของ #MorePerfectUnion

ทรัมป์ขอให้รัฐสภาเพิ่มงบประมาณกลาโหมในปีงบประมาณหน้าเป็น 1.01 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทำเนียบขาวได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว
ข้อเสนอประกอบด้วย 

- การตัดงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพ การดูแลเด็ก การศึกษา ที่อยู่อาศัย การวิจัย พลังงานสะอาด ธนาคารอาหาร และอื่นๆ มูลค่า 163,000 ล้านดอลลาร์

- 1.01 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการป้องกันประเทศและความมั่นคงภายในประเทศ

คนสหรัฐฯ แห่!! ‘เช่าไก่’ แก้ปัญหา ‘ไข่แพง’ ค่าเช่า 17,000-34,000 บาท ต่อ 6 เดือน

(4 พ.ค. 68) สถาพร เกื้อสกุล ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

คนสหรัฐฯ แห่เช่าไก่ แก้ปัญหาไข่แพง

มีรายงานข่าวขณะนี้ชาวอเมริกัน กำลังประสบปัญหาไข่ไก่ราคาแพง ดังนั้นพวกเขาจึงได้ติดต่อขอเช่าไก่จาก กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่ใช้ชื่อว่า “Rent the Chicken” ซึ่งไก่จะมาพร้อมกับอุปกรณ์การเลี้ยงครบ รวมถึงบ้านและกรง มีรางใส่อาหาร-น้ำ อาหารไก่และคู่มือ สามารถตั้งเอาไว้ที่สนามหญ้าหลังบ้าน โดยไก่จะออกไข่ประมาณ 14 ฟองต่อสัปดาห์ ผู้เช่าจะได้กินไข่ไก่สดทุกวัน

สำหรับราคาค่าเช่าอยู่ระหว่าง 500-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17,000-34,000 บาท ต่อระยะเวลา 6 เดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนไก่ 
ทั้งนี้ไข่ไก่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาราคาพุ่งสูงต่อเนื่อง ล่าสุดสูงกว่าปีที่แล้ว 3-4 เท่าหรือราว 60% หลังจากสหรัฐเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและยังมีปัญหาเงินเฟ้อค่าครองชีพพุ่งสูง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top