Monday, 19 May 2025
สหรัฐฯ

Temu ปรับตัว!! เพื่อสู้ กำแพงภาษีของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังมีประกาศ!! ระงับการขายสินค้าที่ส่งมาจาก ‘จีน’

(4 พ.ค. 68) หนึ่งในเป้าหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีศุลกากร ก็เพื่อต้องการกำจัด แพลทฟอร์มออนไลน์ค้าปลีกของจีน อย่าง Temu และ Shein ที่ใช้ช่องโหว่ทางภาษีสหรัฐ ที่ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับพัสดุชิ้นเล็ก ที่เรียกว่า "de minimis" ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 800 ดอลลาร์

ซึ่งเข้าทางพ่อค้าจีน ที่เก่งเรื่องการบี้ราคาต้นทุน ให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกเหลือเชื่อ จึงมีพัสดุสินค้าจิ๋วนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาได้เป็นล้านชิ้นในแต่ละเดือน โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่เหรียญเดียว 

แต่หลังจากสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ไม่สามารถทำได้แล้ว ด้วยคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมพ์ ที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่ส่งจากจีนสูงถึง 130-150% และเพิ่มมาตรการตรวจสอบพัสดุสินค้าจากต่างประเทศ ลดเพดานมูลค่าสินค้าจาก 2,500 เหรียญ เหลือ 800 เหรียญ ต้องเสียภาษีแล้ว
เมื่อทรัมป์ยอมเผาทั้งโลกเพื่อฆ่าเธอคนเดียว Temu ที่เป็นเป้าหมายตรง ก็ต้องรีบปรับตัวให้ทัน และประกาศระงับการขายสินค้าที่ต้องส่งมาจากจีนบนแพลทฟอร์มทั้งหมดแล้ว

โดยสินค้าที่ขึ้นขายอยู่ในขณะนี้มีเพียงสินค้าที่ผลิต และอยู่ในโกดังที่สหรัฐเท่านั้น ส่วนสินค้าที่ต้องส่งจากจีนทุกรายการถูกเปลี่ยนสถานะเป็น "Out of stock" หรือ สินค้าหมด

การระงับการขายสินค้าที่ต้อง ship มาจากจีน เกิดขึ้นทันทีที่คำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เรื่องข้อบังคับภาษีศุลกากรในพัสดุสินค้าขนาดเล็ก มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ (2 พฤษภาคม 2025) ที่ผ่านมาที่จะทำให้สินค้าที่จัดส่งจากจีนของ Temu และ Shein โดนภาษีเต็มๆ 120% หรืออัตราภาษีคงที่ 100 เหรียญต่อชิ้น ซึ่งจะขึ้นอีกเป็น 200 เหรียญต่อชิ้นในเดือนมิถุนายนนี้

ด้วยราคาภาษีโหดขนาดนี้ คงยากที่ Temu และ Shein จะขายสินค้าจีนในอเมริกาได้เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ Temu ต้องเปลี่ยนกลยุทธจากการขายสินค้าจีน เป็นขายสินค้าจากผู้ผลิตที่อยู่ในสหรัฐ

จึงเกิดคำถามว่า แล้วแพลทฟอร์มของจีนจะยังขายสินค้าในราคาถูกตาแตกได้เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่ง Temu ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ทุกอย่างที่เห็นในตอนนี้ยังขายในราคาเดิม

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่กล่าวไม่หมด เพราะทั้ง Temu และ Shein ขึ้นราคาสินค้าของตนไปก่อนหน้านี้นานแล้ว สินค้าบางชิ้นมีราคาสูงขึ้นถึง 377% เลยทีเดียว และมีการระบุเงื่อนไขเพิ่มว่ามี "ค่าธรรมเนียมภาษีขาเข้า"

คำกล่าวที่ Temu ประกาศว่า "ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายราคา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม" จึงเป็นเพียงคำพูดปลอบใจตนเอง เพราะต่อจากนี้ไป จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม 

แต่ธุรกิจต้องไปต่อ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีเพียงคำถามเดียวในใจ คือ ต้องปรับตัวอย่างไรให้รอดเท่านั้นเอง

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งเปิด ‘คุกอัลคาทราซ’ อีกครั้ง หลังปิดไป 60 ปี เตรียม!! ขังอาชญากรโหด

(5 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เผยว่า ได้สั่งการให้รัฐบาลเปิดและต่อเติมอัลคาทราซ อดีตเรือนจำชื่อกระฉ่อน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก ที่ปิดมานานกว่า 60 ปีอีกครั้ง

ทรัมป์ระบุผ่านโพสต์บนทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่า "นานเกินไปแล้วที่อเมริกาเต็มไปด้วยอาชญากรที่โหดร้าย รุนแรง และกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเดนสังคมที่ไม่เคยทำอะไรนอกจากสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ยาก เมื่อก่อนตอนที่เราเป็นชาติที่จริงจังกว่านี้ เราไม่เคยลังเลที่จะกักขังอาชญากรอันตรายเหล่านี้และกีดกันให้พวกเขาออกจากใครก็ตามที่เขาจะทำร้ายได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไม วันนี้ผมจึงได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เอฟบีไอ (FBI) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เปิดเรือนจำอัลคาทราซ ที่ได้รับการต่อขยายและบูรณะขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อใช้คุมขังผู้กระทำความผิดที่โหดเหี้ยมและรุนแรงที่สุดในอเมริกา"

โดยคำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ถือเป็นความพยายามล่าสุดในการยกเครื่องวิธีการและสถานที่คุมขังนักโทษของรัฐบาลกลางและผู้ต้องขังในคดีตรวจคนเข้าเมือง แต่การดำเนินการดังกล่าวน่าจะมีความยากลำบากและค่าใช้จ่ายที่สูงจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมและต้นทุนในการซ่อมแซมและจัดหาสิ่งของต่างๆที่สูง เนื่องจากต้องขนทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิงไปจนถึงอาหารมาทางเรือ

ทั้งนี้ เรือนจำอัลคาทราซแห่งนี้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2506 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

‘จีน - สหรัฐฯ’ เดินหน้าเจรจาการค้า แก้ไขปัญหาภาษี เน้น!! เคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

(12 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

การเจรจาการค้าระหว่าง #จีน และ #สหรัฐฯ คืบหน้าไปมาก

ทั้งจีนและสหรัฐต่างชื่นชมความคืบหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาการค้าที่เจนีวาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมุ่งลดความตึงเครียดที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ

รองนายกรัฐมนตรีจีน เหอ หลี่เฟิง ผู้นำด้านการค้าและเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ พบกับผู้นำของสหรัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ สก็อตต์ เบสเซนต์ และผู้แทนการค้าสหรัฐ เจมีสัน กรีร์ ที่เจนีวาเมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ นับเป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่สงครามภาษีตอบโต้กันครั้งล่าสุด

“บรรยากาศของการประชุมเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เจาะลึก และสร้างสรรค์ การประชุมมีความคืบหน้าไปมากและมีฉันทามติที่สำคัญ” เขากล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเย็นวันอาทิตย์

เขากล่าวว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเกี่ยวกับประเด็นการค้าและเศรษฐกิจ ระบุผู้นำของแต่ละฝ่าย และจะดำเนินการปรึกษาหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการค้าและเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุดและจะออกแถลงการณ์ร่วมที่บรรลุในการประชุมในวันจันทร์นี้ ตามที่นายเหอกล่าว

เมื่อถูกถามว่าจะออกแถลงการณ์ร่วมในวันจันทร์นี้เมื่อใด นายหลี่เฉิงกัง ผู้เจรจาการค้าระหว่างประเทศและรองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน ตอบว่าหากอาหารจานนี้อร่อย เวลาก็ไม่ใช่ปัญหา

นายหลี่กล่าวว่า "ไม่ว่าแถลงการณ์นี้จะออกเมื่อใด จะเป็นข่าวใหญ่และเป็นข่าวดีสำหรับโลก"

นายเหอ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลสวิสที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และเขายังกล่าวอีกว่า "ความเป็นมืออาชีพและความขยันขันแข็ง" ของเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันนั้น "น่าประทับใจ"

เขากล่าวว่าในช่วงกว่าสามเดือนที่ผ่านมา สงครามการค้าโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อขึ้นได้ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก

ภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กำหนดให้กับจีนตั้งแต่ต้นปีรวมแล้วสูงถึง 145 เปอร์เซ็นต์ โดยภาษีศุลกากรรวมของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนบางรายการสูงถึง 245 เปอร์เซ็นต์ จีนตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรต่อสินค้าสหรัฐฯ ถึง 125 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์นี้ถูกบางคนอธิบายว่าเป็นเหมือนการคว่ำบาตรทางการค้า

“จุดยืนของจีนต่อสงครามการค้าครั้งนี้ชัดเจนและสม่ำเสมอ นั่นคือ จีนไม่ต้องการทำสงครามการค้า เพราะสงครามการค้าไม่ได้ทำให้มีผู้ชนะ แต่ถ้าสหรัฐฯ ยืนกรานที่จะบังคับให้จีนทำสงครามนี้ จีนจะไม่กลัวและจะสู้จนถึงที่สุด” เขากล่าว โดยย้ำจุดยืนของจีน

เขากล่าวว่าการพบปะครั้งนี้มีประโยชน์และเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินการเพื่อแก้ไขความแตกต่างอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาอย่างเท่าเทียม เพื่อเชื่อมช่องว่างความแตกต่างและกระชับความร่วมมือ

เขาย้ำว่าธรรมชาติของการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นประโยชน์ร่วมกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

“สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตามหลักการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และการหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมผ่านการพูดคุยและปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน” เขากล่าว

เขากล่าวว่าฝ่ายจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อปฏิบัติตามฉันทามติสำคัญที่ผู้นำทั้งสองประเทศบรรลุในการโทรศัพท์หารือเมื่อวันที่ 17 มกราคมอย่างจริงจัง และด้วยแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา

“เรายินดีที่จะมีส่วนร่วมในบทสนทนาอย่างเข้มข้นและการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียม จัดการความแตกต่างของเรา ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของความร่วมมือ ขยายผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกัน และทำให้ผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น” เขากล่าว
“เราสามารถส่งเสริมการพัฒนาใหม่ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ และเพิ่มความแน่นอนและเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น”

หลี่ เฉิงกัง หัวหน้าผู้เจรจาของจีน อธิบายถึงลักษณะเด่นสามประการของการประชุมครั้งนี้ว่า “การเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นมืออาชีพ และประสิทธิภาพสูง”

ด้าน เบสเซนต์ รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวในวันอาทิตย์ว่าการเจรจาครั้งนี้ "มีประสิทธิผล"

"ผมดีใจที่จะรายงานว่าเราได้บรรลุความคืบหน้าที่สำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในการเจรจาการค้าที่สำคัญยิ่ง" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว
เบสเซนต์กล่าวว่าเขาได้แจ้งให้ทรัมป์ทราบถึงความคืบหน้าของการเจรจาแล้ว

ปธน.ทรัมป์กล่าวบนโซเชียลมีเดียในวันอาทิตย์ว่า "วันนี้เป็นการประชุมที่ดีมากกับจีนที่สวิตเซอร์แลนด์ มีการหารือกันหลายเรื่องและหลายฝ่ายเห็นด้วย การเจรจารีเซ็ตใหม่ทั้งหมดเป็นไปอย่างเป็นมิตรแต่สร้างสรรค์

"สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าเราสามารถบรรลุข้อตกลงได้เร็วเพียงใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบางทีความแตกต่างอาจไม่มากเท่าที่คิด" กรีเออร์กล่าวในวันอาทิตย์

แถลงการณ์ร่วม!! การประชุมเศรษฐกิจการค้า 'จีน - สหรัฐฯ' ณ นครเจนีวา ทั้ง 2 ประเทศ ตกลงร่วมดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าทวิภาคี

(12 พ.ค. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า จีน และสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ ณ นครเจนีวา (Joint Statement on China-U.S. Economic and Trade Meeting in Geneva) ซึ่งระบุว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ("จีน") และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ("สหรัฐฯ") ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีต่อทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจโลก และตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ยั่งยืนในระยะยาวและเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ทั้งสองฝ่ายตกลงจะดำเนินการต่างๆ ภายในวันที่ 14 พ.ค. 2025 ตามการหารือครั้งล่าสุดและความเชื่อที่ว่าการหารืออย่างต่อเนื่องมีศักยภาพจัดการกับข้อวิตกกังวลของแต่ละฝ่ายในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการก้าวไปข้างหน้าด้วยจิตวิญญาณแห่งการเปิดกว้างร่วมกัน การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือ และความเคารพซึ่งกันและกัน

สหรัฐฯ จะ (1) ปรับการบังคับใช้อัตราภาษีตามมูลค่า (ad valorem rate) เพิ่มเติมกับสินค้าของจีน (รวมถึงสินค้าของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊า) ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งฝ่ายบริหารหมายเลข 14257 ณ วันที่ 2 เม.ย. 2025 โดยระงับอัตราภาษีดังกล่าว 24 จุด เป็นระยะเวลา 90 วัน ขณะคงอัตราภาษีตามมูลค่าที่เหลือไว้ที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้าเหล่านี้ตามเงื่อนไขของคำสั่งดังกล่าว และ 

(2) ยกเลิกอัตราภาษีตามมูลค่าเพิ่มเติมที่แก้ไขแล้วกับสินค้าดังกล่าว ซึ่งกำหนดโดยคำสั่งฝ่ายบริหารหมายเลข 14259 ณ วันที่ 8 เม.ย. 2025 และคำสั่งฝ่ายบริหารหมายเลข 14266 ณ วันที่ 9 เม.ย. 2025

จีนจะ (1) ปรับการบังคับใช้อัตราภาษีตามมูลค่าเพิ่มเติมกับสินค้าของสหรัฐฯ ตามที่ระบุไว้ในประกาศของคณะกรรมการภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 ประจำปี 2025 โดยระงับอัตราภาษีดังกล่าว 24 จุด เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่ยังคงอัตราภาษีตามมูลค่าเพิ่มเติมที่เหลือไว้ที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้าดังกล่าว และยกเลิกอัตราภาษีตามมูลค่าที่แก้ไขแล้วกับสินค้าดังกล่าว ซึ่งกำหนดโดยประกาศของคณะกรรมการภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 5 ประจำปี 2025 และประกาศของคณะกรรมการภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 6 ประจำปี 2025 และ 

(2) ปรับใช้มาตรการฝ่ายบริหารที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อระงับหรือยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่ดำเนินการกับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2025

หลังจากดำเนินการข้างต้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าต่อไป โดยคณะผู้แทนจากฝ่ายจีนสำหรับการหารือนี้ ได้แก่ เหอลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน และคณะผู้แทนจากฝ่ายสหรัฐฯ ได้แก่ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งการหารือเหล่านี้อาจจัดขึ้นสลับกันในจีนและสหรัฐฯ หรือในประเทศที่สามตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายอาจจัดการปรึกษาหารือระดับปฏิบัติการในประเด็นเศรษฐกิจและการค้าที่เกี่ยวข้องหากจำเป็น

ผลเจรจาสหรัฐฯ – จีน 🇺🇸🇨🇳 ก็แค่พักรบสงครามภาษี มันเป็นได้แค่เกมซื้อเวลา ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงหวาดระแวงการเติบใหญ่ของจีน

(12 พ.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ระบุว่า ...

ผลเจรจาสหรัฐฯ - จีน 🇺🇸🇨🇳 ก็แค่พักรบสงครามภาษี  มันเป็นได้แค่เกมซื้อเวลา  ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงหวาดระแวงการเติบใหญ่ของจีน

‘ดร.กอบศักดิ์’ ถอดรหัส 10% ‘ภาษีทรัมป์’ ชี้แค่ตั้ง ‘กำแพงภาษี’ รายได้สหรัฐฯพุ่งถึง 87.4%

(15 พ.ค.68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!” มีเนื้อหาว่า...

รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!

หนึ่งในเป้าหมายของ President Trump ในการเข้าสู่สงครามการค้า คือ การหารายได้เพิ่มเข้ารัฐ

หลายคนถามว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นจริงไหม จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่

ล่าสุด WSJ รายงานจากข้อมูลกกระทรวงการคลังสหรัฐว่าสหรัฐเก็บภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าต่างๆ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมเก็บได้ 8.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง +87.4%

จากภาษี 25% ที่คิดกับเม็กซิโกและแคนาดา ภาษีเฉพาะ 25% สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมินัม ตลอดจน Reciprocal Tariffs ประมาณ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เริ่มต้นคิดบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มเก็บกันอย่างจริงจัง รายได้จาก Tariffs จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

สำหรับในระยะยาว เริ่มมีผลการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน โดยการศึกษาของ Wharton มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเมินคร่าวๆ ว่า รายได้สหรัฐจาก Tariffs จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 4 - 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.5 - 5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เทียบกับการขาดดุลการคลังสหรัฐ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ก็จะช่วยปิด Gap เรื่องนี้ไปได้ประมาณ 50%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหนี้ภาครัฐของรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่ายังไม่มากพอจะช่วยชะลอไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนอดีต และช่วยให้มีช่องให้ท่าประธานาธิบดีไปลดภาษี No Tax on Tips, No Tax on Overtimes, No Tax on Social Securities ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะออกมาประกาศใช้เร็วๆ นี้ รวมทั้ง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้หลายบริษัทมาลงทุนผลิตในสหรัฐ ที่ล่าสุดมีตัวเลขแสดงความจำนงค์ประมาณ 5-6 ล้านล้านดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม President Trump ถึงไม่ยอมยกเลิกเรื่อง Tariffs ไปเลย และไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ถึงมีตัวเลข 10% ออกมาตลอดเวลา

10% สำหรับทุกประเทศ ภายใต้ Reciprocal Tariffs แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย หรือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางการค้าเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์

10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ชะลอออกไป 90 วัน ภายใต้ Reciprocal Tariffs

10% สำหรับสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ทั้งๆ ที่เจรจากันแล้ว และอังกฤษก็ยอมไปหลายอย่างแล้ว

10% สำหรับสินค้าจีน ในช่วง PAUSE 90 วัน

โดยดีลต่อๆ ไปก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ท่านประธานาธิบดีคงขีดเส้นไว้สำหรับทีมเจรจาสหรัฐ สั่งให้ยอมได้หลายๆ อย่าง แต่ว่าต่ำสุดต้องคิด Tariffs ที่ 10% ให้ได้ !!!

มารอดูกันครับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ถูกคิดเกิน 10% อัตราจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร และกรณีจีน หลัง 90 วัน จะไปจบที่อัตราอะไร

เพราะล่าสุด สินค้าชิ้นเล็กๆ จากจีน ที่ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ (ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 90% ของเรือขนส่งสินค้าจากจีนที่เข้ามาที่ท่าเรือสหรัฐ) ไม่ได้รับการยกเว้นภายใต้สิ่งที่ตกลงกันที่เจนีวาให้เหลือ 10% แต่ต้องจ่ายภาษี 10+10+34 = 54% !!!

ทั้งหมด จะเป็นโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐที่กำลังค่อยๆ เฉลยออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการส่งออกไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะไปได้ไหม และเป็นตัวกำหนดว่า China Flooding จะเข้ามาที่เราแค่ไหน หมายความว่า เราคงต้องมีทีมเร่งหาตลาดใหม่ๆ ในช่วงที่เหลือ เตรียมไว้เป็นทางออกที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อเอาไว้ด้วยครับ

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐฯ สั่งแบงก์รัฐลดดอกเบี้ย-อัดงบช่วยเหลือผู้ประกอบการ

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ใส่งบช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลดดอกเบี้ย ตั้งเป้าช่วยธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐ ซัพพลายเชน ผู้ผลิตแข่งขันกับสินค้านำเข้า รับมือวิกฤตกำแพงภาษี 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วนนั้น 

กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 

สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤต เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว 

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการในทันที คือ โครงการที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ในอัตรา 2-3% คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2-3 วันนี้ โดยลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจะต้องมาติดต่อกับธนาคารเท่านั้น จะไม่ได้เป็นการให้ลูกค้าเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นวงเงินใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ โดยโครงการดังกล่าวจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับ Soft Loan ที่จะดำเนินการนั้น จะมีลักษณะเดิมคือ ธนาคารออมสินปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และให้ธนาคารพาณิชย์ไปดำเนินการปล่อยต่อให้กับลูกค้าของธนาคารต่อไป

‘มูดี้ส์’ ปรับลด!! อันดับความน่าเชื่อถือของ ‘สหรัฐฯ’ หลังหนี้สาธารณะพุ่งสูง อยู่ในภาวะที่ควบคุมไม่ได้

(17 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เนื่องจากหนี้สาธารณะพุ่งสูง

Moody's เพิ่งโจมตีชื่อเสียงทางการเงินของอเมริกาอย่างรุนแรง ด้วยการลดอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตของสหรัฐฯ จาก AAA เหลือ Aa1 โดยเข้าร่วมกับคู่แข่งอย่าง S&P และ Fitch ในการประกาศให้สถานะหนี้ของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่ควบคุมไม่ได้อย่างเป็นทางการ

สำนักงานจัดอันดับเครดิตที่มีอายุ 116 ปีกล่าวโทษ "การขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล" และต้นทุนดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การขาดดุลการคลังแตะระดับ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีที่แล้ว

“รัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ ชุดต่อๆ มาล้มเหลวในการตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการเพื่อพลิกกลับแนวโน้มของการขาดดุลงบประมาณรายปีจำนวนมากและต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น”

จังหวะเวลาไม่สามารถแย่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว - การปรับลดระดับดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันปฏิเสธวาระการประชุมใหญ่ของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการขยายเวลาการลดหย่อนภาษีปี 2017

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นทันที 3 จุดพื้นฐานเป็น 4.48% ขณะที่กองทุน ETF พันธบัตรร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนรับรู้ความจริงที่ว่าความน่าเชื่อถือทางการเงินของอเมริกาไม่ได้แข็งแกร่งอีกต่อไป

Peter Boockvar จาก Bleakley Financial สรุปไว้ดังนี้

"นี่คือหน่วยงานจัดอันดับเครดิตหลักที่ออกมาประกาศว่าสหรัฐฯ มีหนี้สินและการขาดดุลที่ตึงตัว"

‘ทรัมป์ – ปูติน’ เตรียมพบกัน ในวันจันทร์นี้ เทียบได้กับการเจรจา!! ในช่วงสงครามเย็น

(18 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

การพบกันระหว่างทรัมป์และปูตินในวันจันทร์นี้คือฝันร้ายที่สุดของยูเครน

หนังสือพิมพ์ The Telegraph รายงานว่าทรัมป์ได้ทรยศต่ออุดมคติของประชาธิปไตยระดับโลกอีกครั้ง และ “ปูตินผู้เจ้าเล่ห์จะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ทั้งหมด” ในการประชุมโดยไม่ต้องมีคนกลาง

The Telegraph บ่นอุบอิบว่าบรรดาผู้นำยุโรปต่างหวังว่าการที่ประธานาธิบดีรัสเซียไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครนในอิสตันบูลจะทำให้ทรัมป์หมดความอดทน แต่แทนที่จะเข้าข้างยุโรปและใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับตัดสินใจ "ตอบแทน" ประธานาธิบดีรัสเซียด้วยการพบปะเป็นการส่วนตัว

The Telegraph ระบุว่า จากมุมมองของปูติน การเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจ และการพบปะดังกล่าวจะเทียบได้กับการเจรจาระหว่างมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็น

The Telegraph ระบุหลายครั้งในบทความว่าสำหรับชาวยูเครน การพบปะกันแบบนี้ถือเป็นฝันร้ายที่สุด เนื่องจากปูตินจะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจะไม่มีคนกลางที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของเคียฟได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top