Monday, 20 May 2024
ระยอง

'ก้าวไกล' จวก 'เศรษฐา' เก่งแต่ต่อว่าคนอื่น แต่ทำงานไม่ได้เรื่อง หลังปมเพลิงไหม้โรงงาน 'อยุธยา-ระยอง' หาจุดจบไม่ได้เสียที

(2 พ.ค. 67) นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง และนายทวิวงศ์ โตทวิววงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงความคืบหน้ากรณีไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส รวมถึงเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.

โดยนายชุติพงศ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรงงานวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมี ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจ้าของกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านี้ที่อยุธยาเคยเกิดเหตุเพลิงโรงงานสารเคมี และมีการสั่งย้ายสารเคมีภายในโรงงานออกทั้งหมด จากนั้นมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่ระยอง และล่าสุดคือเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังในพระนครศรีอยุธยา ระดับผู้สั่งการทำได้แค่สั่งแต่ไม่มีแผนเผชิญเหตุ จึงฝากไปถึงรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก และนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ เห็นผลกระทบจากกลิ่นสารเคมี ต้องถามว่าทำงานกันเป็นหรือไม่ เพราะในการลงพื้นที่ไฮไลต์เดียวคือการไปต่อว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนเมื่อวาน (1 พ.ค.) ต้องประกาศลาออกในที่ประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร

“ถ้าท่านอยากทำหน้าที่ใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ท่านเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ท่านไม่ต้องเป็นรัฐบาลหรอก อำนาจสั่งการอยู่ที่ท่าน ท่านก็สั่งเลยว่าให้ตำรวจทำอะไร ให้แต่ละที่ทำอะไร และต้องฟ้องชดเชยเยียวยาอะไร เพราะอำนาจอยู่ในมือท่าน จึงต้องฝากนายกฯ เพราะท่านไปเห็นหน้างานมาแล้วว่าเหม็นขนาดไหน ถ้าหากท่านจะใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ และขอฝากถามไปถึงนายกฯ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะจบสักที เพราะดูเหมือนว่าท่านสั่งอะไร ก็ไม่ได้ผลสักอย่าง เพราะแม้ตอนนี้จะยังไม่ทราบชัดเจนว่าสารเคมีในโรงงานมีอะไรบ้าง แต่เบื้องต้นพบว่าเป็นสารประเภทเดียวกันทั้ง 2 ที่” นายชุติพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีความเชื่อมโยงว่ามีการเคลื่อนย้ายสารเคมีจาก จ.ระยอง มายังอ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาหรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า รัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับโรงงานเหล่านี้ ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่าเอาสารเคมีอะไรเข้าไปเก็บบ้าง และมาจากที่ใด เพราะไม่มีใครรู้ หากเกิดสารเคมียังหลงเหลืออยู่แต่ไม่มีที่เก็บแล้ว จากนี้จะไปโผล่บ้านใครก็ไม่ทราบ รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน ว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการพบข้อพิรุธหลายอย่างในเรื่องนี้

ต่อข้อถามว่าหากคดีมีความชัดเจนว่าเป็นการลอบวางเพลิง เอื้อประโยชน์นายทุน ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง นายชุติพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ต้องติดตามว่า คดีเหล่านั้นดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และการขนย้ายใช้งบประมาณของกรมโรงงานฯ หรือเอกชนเจ้าของโรงงาน ซึ่งฝ่ายค้านก็จะติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าการทำแบบนี้จะต้องรับโทษอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มองว่ามีความจำเป็นที่โรงงานต้องเกิดเหตุไฟไหม้ในตอนนี้หรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ค่าขนย้ายสารเคมีไปกำจัดมีราคาแพง

ด้านนายทวิวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทีมผจญเพลิงรับมือ ได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ เนื่องจากพบกรดกัดกร่อนรุนแรงที่พื้นโรงงาน หลังจากไฟไหม้ตลอดทั้งคืน จึงต้องปรับแผนไปดับเพลิงบนหลังคา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือ ชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน และมาตรการดูแลเจ้าหน้าที่ ทั้งการตรวจสุขภาพ และการรักษาในระยะยาว ทั้งนี้ทราบบว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบรอยตัดรั้วลวดหนาม หลังถูกดำเนินคดีที่ใช้กันพื้นที่โรงงานหลังถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง จึงต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด

อย่างไรก็ตามนายชุติพงศ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในการประชุม กมธ.อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เข้าร่วมประชุมกมธ. ด้วยในฐานะ สส.จ.ระยอง พื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งตนได้ถามอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ งบประมาณในการขนย้ายสารเคมี ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ที่นั่งอยู่ข้างตนก็ได้ตอบว่า "อ่อผมลาออกแล้วครับ" ตอนนั้นรู้สึกช็อกมาก

เมื่อถามว่าอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้แจ้งเหตุผลของการลาออกหรือไม่ นายชุติพงษ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ น่าจะเป็นเพราะถูกนายกฯ ต่อว่า และทราบว่ากำลังถูกสั่งย้าย ท่านจึงลาออก ซึ่งเรื่องนี้น่าสงสัย เพราะท่านเป็นคนเสนอให้ใช้เงินประกันที่ศาลมาดำเนินการขนย้ายสารเคมี ซึ่งก็ต้องรอผลในวันที่ 7 พ.ค.นี้ จึงต้องติดตามต่อไป เพราะประชาชนเริ่มสงสัยว่าเป็นการวางเพลิงต่อเนื่องหรือไม่

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงสถานการณ์เพลิงไหม้สารเคมีมาบตาพุด สั่งการ ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ ตรวจสอบ-ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

(9 พ.ค. 67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีน ของ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในช่วงสายของวันนี้ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งตรวจสอบทุกระบบ และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในการเผชิญสถานการณ์และบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน

ขณะนี้มี นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า กนอ.บัญชาการประจำวอร์รูม ประจำวอร์รูม เพื่อประสานเหตุการณ์และระงับเหตุ และมี นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ กนอ.สายงานปฏิบัติการ 3 อยู่หน้างาน

ส่วนการแก้ไขควบคุมเพลิงมีการระดมรถดับเพลิง เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีทีมงาน EMCC มาบตาพุด และเจ้าหน้าที่ท่าเรือฯ มาบตาพุด นำรถตรวจการณ์ EMCC เข้าตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณเหนือลม และท้ายลม รวมทั้งตรวจสอบผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัท SC เพื่อใช้เรือในการอพยพบุคลากรในพื้นที่

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า มีรายงานทางข้อมูลเทคนิคทราบว่าบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT) ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการท่าเทียบเรือและคลังเก็บสินค้าเหลว (สารปิโตรเคมี, คลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์) ระหว่างการเดินระบบปกติ ได้เกิดกลุ่มควันบริเวณถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) หมายเลขถัง TK 1801 ขนาดบรรจุ 9,000 ลบ.ม. การเผชิญเหตุบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน และ กนอ.ได้จัดส่งรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณรอบ พร้อมทั้งแจ้งปิดร่องน้ำทางเดินเรือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

อาลัย ‘พนักงานหนุ่ม’ บ.มาบตาพุดแทงค์ฯ ผู้กล้าหาญ พยายามเข้าปิดวาล์วถังแก๊สโซลีน ก่อนถูกแรงระเบิดเสียชีวิต

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.67) จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถังเก็บสาร Pyrolysis gasoline (แก๊สโซลีน) ถนนไอ-แปด ทางเรือมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาดับเพลิงกว่า 8 ชั่วโมง ส่วนสาเหตุเกิดจาก การปิดซ่อมบำรุงถังสารโซลีน โดยพนักงานทั้ง 4 คน ได้ขึ้นไปตรวจวัดปริมาณสารซีไนพลัส ซึ่งเป็นตัวทำละลาย พบว่ามีความจุของสาร 8,000 คิว แต่ปรากฏว่าได้เกิดกลุ่มควันลอยขึ้นมา แล้วก็เกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดได้ส่งผลให้ทั้ง 4 คนตกลงมาจากถัง 

ต่อมาล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ ‘Fire & Rescue Thailand’ ได้โพสต์อาลัยพนักงานของบริษัทดังกล่าว ที่พยายามขึ้นไปปิดวาล์วบนถัง ก่อนเกิดการระเบิด จนเสียชีวิต โดยระบุว่า…

ขอแสดงความเสียใจ และขอแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารตั้งต้นผลิตน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อช่วงบ่ายวันนี้

โดยผู้เสียชีวิตชื่อ นายนพพร เรือนมา เป็นพนักงานประจำของบริษัท ที่พยายามขึ้นไปปิดวาล์วบนถัง ก่อนเกิดการระเบิดขึ้น โดยแรงระเบิดทำให้เสียชีวิต เพจ คนอาสา ดับเพลิง-กู้ภัย ประเทศไทย ขอแสดงความยกย่องผู้เสียชีวิต ในความกล้าหาญและเสียสละ จนทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไป ชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความชื่นชมในความกล้าหาญ และแสดงความเสียใจกับการสูญเสียในครั้งนี้ด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เหตุไฟไหม้ถังสารเคมี มาบตาพุด พร้อมสั่งเยียวยา - ส่งเสียลูกผู้เสียชีวิตจนจบปริญญาตรี

(10 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนใหญ่ (SCC) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปบริเวณจุดเกิดเหตุ บริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถนนไอ-แปด ทางเรือมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์

เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณโรงงาน แค่ลงจากรถก็ถึงกับผงะกลิ่นฉุนของสารที่ถูกเผาไหม้ สูดดมเข้ารู้สึกแสบจมูกมาก สำหรับจุดเกิดเหตุขณะไฟดับหมดแล้ว แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังอยู่

ด้านนางพิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม ได้สอบถามถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งทราบว่า บ้านเกิดอยู่จ.เชียงราย ภรรยาทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้า มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงย้ำให้เยียวยาอย่างเต็มที่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งทางผู้บริหารก็ยืนยันจะช่วยเหลือครอบครัว พร้อมส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรี หลังนั้นก็เดินทางต่อไป เยี่ยมประชาชนข้างโรงงาน ที่ศาลาตากวน-อ่าวประดู่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง

เมื่อเดินทางไปถึง พบชาวบ้านนับร้อยคน ได้มารอต้อนรับ และรมว.ได้เข้าไปสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง พร้อมขอโทษชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบข้างโรงงานเกิดเหตุ ก่อนจะเดินทางกลับไป

ด้านญาติผู้เสียชีวิต เตรียมรับศพผู้เสียชีวิต จากโรงพยาบาลระยอง ไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดจ.เชียงราย

'รมว.ปุ้ย' สั่ง 'ดีพร้อม' เร่งเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ระดมของใช้จำเป็น มอบให้คนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

(12 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ นายภาสกรชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งเยียวยาและฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่จากเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีนของบริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด จ.ระยอง โดยเน้นการเคียงข้าง พัฒนา และช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพเกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ทาง รมว.อุตสาหกรรม มีความกังวลและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน 

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการของดีพร้อม ซึ่งเบื้องต้นจะเร่งระดมของใช้ที่จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องเวชภัณฑ์ มอบให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวโดยตรง เพื่อให้พี่น้องประชาชนและชุมชนมีขวัญกำลังใจที่ดี พร้อมทั้งเร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพ เกิดการสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต” นายภาสกร กล่าว

นายภาสกร กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจ ดีพร้อม ได้เตรียมแผนระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้โครงการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ ประชาชน ชุมชนโดยรอบและใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะการประกอบธุรกิจให้พี่น้องประชาชน และชุมชนโดยรอบทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้มีการดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ในพื้นที่เทศบาลตำบลภาชี จ.อยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และในพื้นที่ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 โดย ดีพร้อมเตรียมแผนสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูพร้อมให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่

‘กมธ.อุตฯ’ เร่งขยายปม-ความคืบหน้าไฟไหม้โรงงาน หลังสงสัยเหตุ ‘ระยอง-อยุธยา’ อาจเป็นการวางเพลิง

(15 พ.ค. 67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีกากแคดเมียมที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุม กมธ. ว่า วันนี้ กมธ.อุตสาหกรรม ได้เชิญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงาน, กรมเหมืองแร่, กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจน ปปง., ป.ป.ท. ร่วมหารือว่า มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการ เนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วเกี่ยวกับการขนย้ายกากแคดเมียม ส่วนวันนี้จะติดตามความคืบหน้าในการขนย้ายกากแคดเมียมว่าแล้วเสร็จกี่จุด จำนวนกี่ตัน

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า สำหรับเบื้องต้นในกรุงเทพฯ มีการขนย้ายเสร็จแล้ว จึงจะสอบถามคืบหน้าว่าที่ จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง มีการขนย้ายแล้วเสร็จหรือไม่อย่างไร

ส่วนกรณีเรื่องใบอนุญาตของโรงงานนั้น ประธานกมธ.การอุตสาหกรรม? กล่าวว่า เนื่องจากมีใบอนุญาตโรงงานค้างอยู่จำนวนมาก โดยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้เชิญอธิบดีกรมโรงงานมาชี้แจง พบว่าปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการส่งกลับไปให้บริษัทยื่นเอกสารมาเพิ่ม แต่คาดว่าจะมีการส่งกลับมาที่กรมแล้ว หากเอกสารครบทางอธิบดีก็จะเริ่มออกใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 ให้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทาง กมธ.การอุตสาหกรรม ก็ได้ให้ความเห็นว่า การออกใบ รง.4 ตามที่ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมฯ เร่งรัดไปนั้น เป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศจะต้องตอบรับการลงทุนจากนักลงทุน

“การที่ใบ รง.4 ออกช้า ก็กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือ หากให้ใบอนุญาตแล้ว ต้องไปกำกับผู้ประกอบการให้อยู่ในกฎหมายและปฎิบัติตามระเบียบ ไม่ใช่ว่าให้ใบอนุญาตไปแล้ว ขาดการกำกับดูแล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม มลภาวะในชุมชน” นายอัครเดช กล่าว

ส่วนกรณีไฟไหม้โรงงานที่ผ่านมานั้น มีการบ่งชี้ว่าอาจจะมาจากการวางเพลิงหรือไม่? นายอัครเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นก็อาจเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งเราไม่สามารถป้องกันได้แต่สิ่งที่สำคัญคือการควบคุมเพลิงให้ได้รวดเร็ว

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ดังนั้นวันนี้ กมธ.การอุตสาหกรรม จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเพลิง อาทิ ปภ., กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมการอุตสาหกรรม เข้ามาชี้แจงว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ มาตรฐานในการประเชิญเหตุหรือแผนในการควบคุมเพลิงเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อดูความพร้อมในการควบคุมเพลิง

นายอัครเดช เสริมอีกด้วยว่า ส่วนกรณีที่เป็นเหตุวางเพลิงนั้น ในการเผาทำลายหลักฐาน หรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสงสัยว่าเหตุเพลิงไหม้ที่จังหวัดระยองและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจเกิดจากการวางเพลิง ซึ่งต้องเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดให้ได้ และคิดว่ากระบวนการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงมาดำเนินคดีตามกฎหมายมองว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งดำเนินการอยู่

จากข้อซักถามที่ว่า จะมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนประชาชนอย่างไรบ้าง? นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของการเกิดเหตุเพลิงไม่ว่าจะเป็นกรณีการวางเพลิง หรืออุบัติเหตุ สิ่งที่สำคัญคือแผนในการเผชิญเหตุ จะมีการให้ข้อเสนอในที่ประชุมวันนี้ อย่างน้อยในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนควรจะได้รับข่าวสารและเตรียมตัว รวมถึงการปฎิบัติตัวอย่างไรหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงผู้ดำเนินการ จะต้องปฏิบัติอย่างไรระหว่างควบคุมเพลิง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top