Sunday, 5 May 2024
มิจฉาชีพ

‘รมว.สุชาติ’ ห่วงคนหางาน ถูกนายหน้าหลอกไปทำงานที่ดูไบ ลวงให้ใช้วีซ่าท่องเที่ยวทำงาน ย้ำ!! อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

(13 ส.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่ามีแรงงานไทยถูกนายหน้าชักชวนให้มาทำงานออนไลน์ผิดกฎหมาย ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านเฟซบุ๊ก เพจ ‘คนไทยในดูไบ’ โดยประกาศรับสมัครพนักงานการตลาด แอดมิน และระบุอย่างชัดเจนว่าให้ทำงานเว็บพนันออนไลน์ เมื่อไปถึงนายจ้างจะยึดหนังสือเดินทางไว้ และให้หลอกคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อมาลงทุน หรือหลอกลวงเอาทรัพย์สิน เมื่อปฏิเสธการทำงาน นายจ้างจะคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก

ซึ่งที่ผ่านมามีเหยื่อหลงเชื่อและเดินทางไปทำงานหลายราย  แต่เมื่อเกิดปัญหามักเอาผิดกับนายจ้างไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักฐาน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เอามือถือเข้าสถานที่ทำงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาผมได้กำชับกรมการจัดหางานให้ทำงานอย่างหนักเพื่อกวาดล้างมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจลักลอบทำงานผิดกฎหมาย พร้อมประกาศเตือนและได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเดินทางไปด้วยความสมัครใจ จึงขอย้ำเตือนผู้ที่คิดจะลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีผิดกฎหมายว่าไม่คุ้มค่า เพราะอาจไม่ได้ทำงานตามที่ตกลง ถูกบังคับใช้แรงงาน และเสี่ยงถูกทำร้ายร่างกาย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ต้องทำงานอย่างเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเพื่อป้องกันมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อโดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่ง, กรมการจัดหางานจัดส่ง, เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง, นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

และเตือนภัยคนหางานให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพ ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ช่วงเดือน  ตุลาคม 2565 – กรกฎาคม 2566) ที่ผ่านมาดำเนินคดี ตามมาตรา 66 กับผู้ที่กระทำการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” จำนวน 36 คดี ตรวจพบการกระทำความผิดของสาย/นายหน้า ทั้งสิ้น 142 ราย ผู้เสียหายถึง 471 คน ค่าเสียหาย 32,750,330 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

‘ชัยวุฒิ’ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ย้ำ พ.ร.ก. ปราบภัยไซเบอร์ ช่วยลดเหยื่อมิจฉาชีพ

(15 ส.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ชิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทันเป็นสำคัญ

ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มีหน้าที่ เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่ รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่ รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

โดยการจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และ ช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

‘ตร.’ เตือนประชาชนระวังแก๊งหลอกลงทุนออนไลน์ ตุ๋นหมดตัว แฉกลโกง ใช้รูปผู้บริหาร-โลโก้บริษัทใหญ่มาล่อเหยื่อให้ติดกับ

(23 ส.ค. 66) สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้มีคนร้ายแอบอ้างชื่อหรือใช้โลโก้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต่างๆ แล้วหลอกให้ลงทุน เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 รับแจ้ง 300,000 กว่าเคส ความเสียหายกว่า 41,000 ล้านบาท สถิติการรับแจ้งความหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในห้วงเวลาเดียวกัน รับแจ้ง 24,000 กว่าเคส คิดเป็น 8.14 % ของสถิติการรับแจ้งทั้งหมด ความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็น 35 % ของความเสียหายทั้งหมด สำหรับสถิติการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในห้วงสัปดาห์ที่แล้วอยู่อันดับ 6 สัปดาห์นี้พุ่งมาอยู่อันดับ 4 โดยรับแจ้ง 274 เคส ความเสียหาย 188 กว่าล้านบาท

จึงได้เชิญ นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ประเทศไทย บ.อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด มหาชน มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. กล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมากในช่วงเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2566 คนร้ายใช้วิธีการหลอกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 5 อันดับ ดังนี้

1.) Facebook 145 เคส 107,593,333.39 บาท
2.) Website 34 เคส 8,604,561.4 บาท
3.) Line 7 เคส  815,7381.30 บาท
4.) Twitter 1 เคส 7,000 บาท
5.) TikTok 1 เคส 60,6000 บาท

โดยนำรูปผู้บริหารและใช้โลโก้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น CP AMATA คาราบาวแดง และเครื่องหมายและมีโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ช่วงแรกหลอกให้ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30-70% เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทักไปสอบถาม จะเป็นการสนทนาทาง Messenger (ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ) จากนั้นจะแนะนำอาจารย์ หรือโค้ด หรือโบรกเกอร์ เพื่อให้คุยทาง Line หรือเข้ากลุ่ม Open Chat พูดคุยกับสมาชิก แล้วให้เริ่มลงทุน โดยมีหน้าม้าอ้างว่าลงทุนตามที่ได้มีการแนะนำสามารถสร้างกำไรได้ โพสต์ภาพสลิปรับโอนเงินผลตอบแทนให้เหยื่อหลงเชื่อ

ในช่วงแรกเมื่อเหยื่อโอนเงินเพื่อลงทุน คนร้ายจะโอนเงินทุนพร้อมกำไรคืนให้เหยื่อ จากนั้นจะชวนเข้ากลุ่ม VIP มีสมาชิก 5-6 คน เพื่อร่วมกันลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น โดยมีผู้แนะนำการลงทุน 1 คน ที่เหลือก็จะเป็นหน้าม้า ร่วมกันหลอกเหยื่อให้โอนเงินลงทุน หากเหยื่ออยากยกเลิกการลงทุน หน้าม้าจะอ้างว่าหากยกเลิกหรือถอนการลงทุน จะทำให้คนอื่นไม่สามารถถอนเงินได้ และผลประโยชน์ที่ลงทุนไปพร้อมผลตอบแทนที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ (ปลอม) ก็จะไม่ได้รับคืน จึงต้องลงทุนเพิ่ม สุดท้ายเสียเงินไปจำนวนมาก

โดยมีจุดสังเกต ดังนี้
1.) มี Blue Badge หรือเครื่องหมายบัญชีทางการ สีน้ำเงินหรือสีเขียวหลังชื่อเพจ ที่ส่วนใหญ่บริษัทที่มีตัวตนจริงจะยืนยันข้อมูลไว้กับทาง facebook

2.) การโอนเงินลงทุนใดๆ ที่ใช้เงินน้อย รายได้ดี มีผลตอบแทนสูง ไม่มีอยู่จริง หากผลตอบแทนสูงมากขนาดนี้ คนร้ายคงลงทุนด้วยตนเอง

3.) ในการลงทุน คนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่คนร้ายสร้างขึ้นมาให้เหมือนของจริง (เหมือนเฉพาะรูปภาพ แต่ URL จะต่างจากของจริง) และเมื่อเหยื่อโอนเงินลงทุน ในระบบจะขึ้นยอดเงินแสดงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยอดเงินจริง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขในอากาศที่คนร้ายนำมาหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อเท่านั้น

วิธีการในการป้องกัน คือ

1.) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์โฆษณาแปลกปลอม หรือกดเพิ่มเพื่อนไลน์ในรูปแบบสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ

2.) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น

3.) ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  https://www.set.or.th

4.) ทำการ copy URL จากเว็บไซต์ลงทุนที่คนร้ายให้มาในใส่ในเว็บไซต์ https://whois.domaintools.com จะเห็นอายุ (Dates) ของเว็บไซต์ว่าเปิดมานานเท่าไรแล้ว  หากเพิ่งเปิดมาร 2-3 เดือน ก็ไม่น่าเชื่อถือ

ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะ มีความไม่สบายใจ และไม่เคยนิ่งนอนใจ อมตะได้มีการติดตามและดำเนินการทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถมีความคืบหน้าในการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง และทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะให้สังเกตเพจของกลุ่มมิจฉาชีพจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ มีอายุไม่นาน ในขณะที่เว็บไซต์ และเพจของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียนและก่อตั้ง ในปี 2012 ซึ่งมีอายุการดำเนินงานมากกว่า 10 ปี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของอมตะ และขอให้สังเกตจากเครื่องหมาย Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่แสดงบัญชีทางการว่าเป็น Page หลักของอมตะ

ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เน้นย้ำการเชิญชวนเพื่อลงทุนใด ๆ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด และผ่านตัวแทนโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่าน Facebook หรือติดต่อผ่านระบบ Line ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สูงผิดปกติจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะใช้ชื่อเพจว่าอะไรก็ตาม

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมีการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่จะสามารถตอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการลงทุนที่ต้องเสียเงินและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ ประชาชน และนักลงทุน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-035-0007 และ 02-792-0000

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับปัญหาของภัยหลอกลงทุนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการแจ้งเตือนผู้ลงทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ ‘Investor Alert’ การดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงช่องทางของเครือข่ายหน่วยงานในตลาดทุนเพื่อกระจายข่าวสารแจ้งเตือนภัยหลอกลงทุนให้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองหรือรับประกันผลิตภัณฑ์ ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผลตอบแทนในการลงทุน ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถเช็กรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ที่ แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ

หรือ สอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ โทร 1207

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า  ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)  หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อสาธารณะชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชกฤษฎีกานี้ได้เริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์ เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI  และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้ จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่  IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้ โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่งั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.) ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงิน เพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม 
เพื่อให้ได้เงินคืน

2.) หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com หรือแจ้งความสถานีตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ

3.) หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

‘เพื่อไทย’ ย้ำ!! ยังไม่มีการจัดทำแอปฯ เงินดิจิทัลวอลเล็ต  เตือน ปชช.ระวังมิจฉาชีพอาศัยจังหวะตั้งรัฐบาล หลอกดูดเงิน

(24 ส.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีแชร์ภาพและข่าว ว่ามีการยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทกระจายบนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีการเผยแพร่แอปพลิเคชันปลอม โดยอ้างการลงทะเบียนเพื่อรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลขอแจ้งไปยังพี่น้องประชาชน ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเริ่มจัดตั้งรัฐบาล ยังระหว่างการพิจารณาจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้เข้าบริหารประเทศตามกฎหมาย ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีการจัดทำแอปพลิเคชันดิจิทัลวอลเล็ต และยังไม่มีการลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า พรรค พท.ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าจะผลักดันนโยบายดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรค พท.โดยเร็วตามที่ได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนทันที เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศตามกฎหมาย ขณะนี้นโยบายอยู่ในระหว่างที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังเตรียมความพร้อม ในการผลักดันนโยบายให้เป็นจริงโดยเร็ว

ดังนั้น การที่ผู้ไม่หวังดีพยายามปล่อยข่าวปลอม ว่าจะมีการยกเลิกนโยบายดิจิทัลวอเล็ต จึงไม่เป็นความจริง เป็นเฟกนิวส์ที่ต้องการทำลายความหวังของพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกับที่มีผู้จัดทำแอปพลิเคชันอ้างลงทะเบียนเพื่อรอรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทในขณะนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะหลอกลวงพี่น้องประชาชนให้หลงเข้าใจผิด

ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อการกระทำของมิจฉาชีพที่อาศัยจังหวะการจัดตั้งรัฐบาล มาทำร้ายพี่น้องประชาชน โดยมุ่งที่จะดึงเอาข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นพฤติกรรมของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่จ้องจะดูดเงินในบัญชีพี่น้องประชาชน 

น.ส.ตรีชฎา กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยการนำของพรรค พท.มีความหวังดีต่อประชาชนและประเทศชาติ เราจะมีการรายงานความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส รวมทั้งเป็นการระวังป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ และขอเตือนไปยังแก๊งคอลเซนเตอร์และมิจฉาชีพทั้งหลาย หยุดการกระทำผิดกฎหมาย หยุดพฤติกรรมหากินบนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพราะรัฐบาลใหม่ที่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ มีแนวทางในการจัดการมิจฉาชีพเด็ดขาด เราจะไม่ปล่อยให้ลอยนวลต่อไปอีก รวมทั้งขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

‘ตร.’ ทลาย ‘แก๊ง Romance Scam’ รวบหนุ่มไนจีเรียพร้อมพวกชาวไทย ใช้วิธีตีสนิทผ่านโซเชียล ก่อนตุ๋นเงินเหยื่อ พบเงินหมุนเวียนกว่า 800 ลบ.

(25 ส.ค. 66) พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ, พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. และ พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ รอง ผกก.1 บก.ป. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊ง ‘Romance Scam ลวงให้รักก่อนเชิดเงินหนี’ หลังนำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 14 จุด ทั่วประเทศ แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 7 จุด, ปทุมธานี 1 จุด, พิษณุโลก 2 จุด, อุทัยธานี 1 จุด, อุตรดิตถ์ 1 จุด, กำแพงเพชร 1 จุด, พิจิตร 1 จุด

จากปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 14 คน แบ่งเป็น ผู้ต้องหาชาวไทย 13 ราย และผู้ต้องหาสัญชาติ ไนจีเรีย 1 ราย พร้อมของกลาง มือถือ จำนวน 21 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 20 เล่ม, บัตรเอทีเอ็ม จำนวน 18 ใบ, สมุดกองทุนรวมธนาคาร 1 เล่ม, คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, เอกสารโอนเงินไปต่างประเทศ จำนวน 5 ชุด, ซิมการ์ดโทรศัพท์ 1 อัน, เมมโมรี่กล้อง 3 ตัว และกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อ ‘Chanel’ จำนวน 2 ใบ

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อต้นปี 2565 ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายรายหนึ่งว่า ถูกกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาทำทีตีสนิทผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้โปรไฟล์เป็นรูปภาพหญิงต่างชาติหน้าตาดี อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารสาวชาวอเมริกัน กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในประเทศซีเรีย เมื่อพูดคุยกันจนสนิทสนม

มิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็เริ่มออกอุบายว่า กำลังจะเดินทางมาประเทศไทย เหตุเพราะประทับใจและตกหลุมรักในตัวผู้เสียหายมาก พร้อมอ้างว่าได้ส่งพัสดุภายในเป็นทรัพย์สินมีค่ามาให้ แต่ติดปัญหาไม่สามารถนำออกจากสนามบินได้จึงอยากให้ผู้เสียหายช่วยจ่ายเงินค่าภาษีให้ก่อนแล้วจะคืนเงินให้ภายหลัง

พ.ต.อ.พรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเห็นว่าผู้เสียหายเริ่มหลงเชื่อคล้อยตาม กลุ่มคนร้ายก็จะให้ผู้ร่วมขบวนการที่เป็นคนไทย ทำทีโทรศัพท์ติดต่อมายังผู้เสียหายก่อนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สนามบิน ก่อนหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน ให้อ้างเป็นค่าดำเนินการต่างๆ เพื่อที่จะสามารถนำกล่องพัสดุออกจากสนามบินได้ จนผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ไปจำนวนหลายครั้งรวมเป็นเงินกว่าล้านบาท เมื่อเห็นว่าได้ยอดเงินตามที่ต้องการแล้ว คนร้ายกลุ่มนี้ก็จะเริ่มออกลาย ตัดขาดการติดต่อแล้วเชิดเงินทั้งหมดหนีหายไปในที่สุด

ด้าน พ.ต.ท.อัครพล กล่าวว่า หลังรับเรื่องทางเจ้าหน้าที่จึงเร่งแกะรอยสืบหาเบาะแสจนพบว่า คนร้ายกลุ่มนี้ทำกันเป็นขบวนการ มีทั้งคนไทยและชาวไนจีเรีย โดยเฉพาะ นายอูโซซูกะวู หรือ ‘Mr.Ezeneche Uzochukwu Jerome’ อายุ 45 ปี ชาวไนจีเรีย ซึ่งก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2561 เคยถูกจับในคดีลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เข็ดหลาบ กลับมาก่อเหตุซ้ำซากหลายครั้ง

อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบว่าเมื่อได้เงินจากผู้เสียหายแล้วกลุ่มคนร้ายจะรีบโอนออกไปยังบัญชีธนาคารต่างประเทศโดยทันที เฉพาะตั้งแต่ปี 2561 – 2564 พบมีเงินหมุนเวียนออกไปยังบัญชีในต่างประเทศรวมกว่า 800 ล้านบาท

“เมื่อมีหลักฐานการกระทำผิดที่แน่ชัดแล้วนั้น จึงเร่งรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนำมาสู่การตามจับกุมตัวนายอูโซซูกะวู พร้อมผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆอีก 13 ราย ได้ดังกล่าว” พ.ต.ท.อัครพล กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า จากการสอบปากคำหนึ่งในผู้ต้องหา ซึ่งทำหน้าที่ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สนามบินโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายนั้น ให้การรับว่าขณะนั้นถูกว่าจ้างมาจากแฟนหนุ่มชาวไนจีเรีย ซึ่งเจอกันที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ได้คบหากันแล้ว โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากการหลอกลวงดังกล่าว

อ้างสาเหตุที่ต้องทำ เพราะช่วงนั้นไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

‘ตร.’ ตามรวบ ‘คู่รัก’ สุดแสบ!! ตระเวนล้วงกระเป๋าทั่วกรุงเทพฯ เผย ใช้แผนเบี่ยงเบนความสนใจ พบก่อเหตุมาแล้วนับร้อยครั้ง

(27 ส.ค. 66) พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระรองออย รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. จับกุมนายบูย หรือ ‘บอย ยางฮา’ อายุ 31 ปี สัญชาติกัมพูชา และ น.ส.แมรี่ หรือ ‘ส้มจีน’ อายุ 27 ปี สัญชาติกัมพูชา ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต

พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือที่ลักทรัพย์มา และชุดที่ใช้ในการก่อเหตุรวมกว่า 36 รายการ จับกุมตัวได้ที่บริเวณหน้าห้องพักเลขที่ 310 อพาร์ทเม้นทรัพย์เอเชีย ซอยสุขุมวิท 111 ต.สำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ

สืบเนื่องจากปัญหาการก่ออาชญากรรมของกลุ่มมิจฉาชีพที่ตระเวนก่อเหตุลักทรัพย์สินของชาวบ้านในปัจจุบัน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. จึงได้วางแนวทางการป้องกันและปราบปราม พร้อมอีกทั้งได้ให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.สส.บช.น. เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว

ต่อมาได้สืบสวนจนพบกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพออกลาดตระเวนวิ่งราวทรัพย์ล้วงกระเป๋า จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. ทำการสืบสวน จนทราบแผนประทุษกรรมของแก๊งนี้คือ ผู้ก่อเหตุจะออกตระเวนก่อเหตุล้วงกระเป๋าตามห้างสรรพสินค้า และแหล่งชุมชนที่มีนักท่องเที่ยวและผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก ทั่ว กทม. โดยมีวิธีการก่อเหตุคือจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำแบบชัดเจน

โดยคนหนึ่งจะทำการประชิดตัวผู้เสียหายเพื่อทำการเบี่ยงเบนความสนใจ ก่อนที่อีกคนหนึ่งจะทำการล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์สินไปก่อนจะหลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถพบได้ว่ากลุ่มของผู้ก่อเหตุได้โดยสารรถประจำทางมาจากบริเวณห้างอิมพีเรียล สำโรง ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ต่อมาวันที่ 26 ส.ค. 66 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล ลงพื้นที่สืบสวนจนทราบว่า กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวได้พักอาศัยที่ อพาร์ทเม้นทรัพย์เอเชีย ซอยสุขุมวิท 111 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ทราบชื่อภายหลังคือ นายบูย หรือบอย ยางฮา อายุ 31 ปี สัญชาติกัมพูชา และ น.ส.แมรี่ หรือส้ม จีน อายุ 27 ปี สัญชาติกัมพูชา

โดยระหว่างสืบสวนได้พบว่า ทั้งสองคนนั้นได้เดินเข้า-ออกบริเวณห้องพักของตนจำนวนหลายครั้ง อีกทั้งมีการเก็บเสื้อผ้าคล้ายจะเตรียมทำการหลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รีบแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้งสอง

จากการสอบสวผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2565 ตนทั้งสองได้ลักลอบเข้าประเทศไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณ จ.สระแก้ว โดยเมื่อเข้ามาในประเทศไทย ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง จึงได้วางแผนร่วมกันก่อเหตุล้วงกระเป๋า โดยได้มีการซักซ้อมกันจนชำนาญ ก่อนที่จะออกก่อเหตุตามบริเวณห้างสรรพสินค้า

และแหล่งชุมชนที่มีนักท่องเที่ยวและผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมากในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำทรัพย์สินที่ได้ไปขายเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยได้ก่อเหตุรวมมากกว่า 100 ครั้ง หลังการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล จึงได้นำตัว นายบูย และ น.ส.แมรี่ เบื้องต้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สำโรงเหนือ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

‘ตำรวจ’ บุกทลายเครือข่ายธุรกิจสีเทาข้ามชาติ รวบ ‘กีกี้ แม็กซิม’ ยึดทรัพย์-บ้าน-รถหรูเฉียดพันล้าน

(30 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. และพ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. นำกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. และเจ้าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด รวมกว่า 200 นาย บุกเข้าตรวจค้นเป้าหมายเพื่อจับกุมและยึดทรัพย์แก๊งคนร้ายชาวจีนที่ร่วมมือกับคนไทยและชาวต่างชาติอื่น ๆ ตั้งเป็นแก๊งหลอกลงทุนเงินดิจิทัล แก๊งโรแมนสแกม และฟอกเงิน โดยนำหมายศาลอาญาเข้าตรวจค้นทั้งหมด 30 เป้าหมายในกรุงทพฯ จ.สมุทรปราการ และ จ.อุดรธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในจุดที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นเป็นหมู่บ้านหรูย่านถนนกรุงเทพฯ กรีฑา อายัดบ้านพักหรูจำนวน 12 หลัง มูลค่าต่อหลังราว 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเข้าตรวจค้นหมู่บ้านหรูอีก 4 หมู่บ้านในย่านเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าบ้านพักทั้งหมดได้ใช้เงินที่ได้จากการกระทำความผิดซื้อไว้ผ่านบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งที่มีคนจีนเป็นเจ้าของ

โดยในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าค้นบริษัทกฎหมายดังกล่าวด้วยเพื่อหาหลักฐานเพื่อเติม และเชื่อว่าเป็นบริษัทที่รับฟอกเงินให้จับแก๊งคนร้ายชาวจีนแก๊งนี้ โดยมีคนไทยเป็นตัวเชื่อมและให้ความช่วยเหลือในการเปิดบริษัทนอมินี

สำหรับการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ชุดสืบสวนยังได้มีเป้าหมายในการจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมด 14 หมายจับ ในจำนวนนี้มี น.ส.จักรีณา ชูขาวศรี หรือ กีกี้ แม็กซิม นางแบบชื่อดัง รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามจากปฏิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม น.ส.จักรีณาและผู้ร่วมขบวนการได้อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมยึดทรัพย์เป็นบ้านและรถหรูได้จำนวนมาก รวมมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านบาท โดยรายละเอียดการตรวจค้นและจับกุม ตำรวจสอบสวนกลาง ป.ป.ง. และอัยการจะมีการแถลงร่วมกันให้ทราบต่อไป

มีรายงานว่า สำหรับการตรวจค้นเป้าหมายในวันนี้สืบเนื่องจากชุดสืบสวน บก.ปอท.ได้แกะรอยแก๊งคนร้ายที่มีพฤติกรรมเป็นแก๊งโรแมสแกมหลอกลวงเหยื่อผู้หญิงคนไทยให้ร่วมลงทุนเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือคริปโทเคอร์เรนซี หลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ที่ สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ จากการแกะรอยจากบัญชีคริปโทฯ ทำให้พบว่ากลุ่มคนร้ายได้ยักย้ายถ่ายเทเงินไปหลายขั้นตอนก่อนที่จะเปลี่ยนเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นสกุลเงินบาท จากนั้นได้นำเงินไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ รวมทั้งบ้านพักและคอนโดหรูในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเงินหมุนเวียนทั้งเงินสดและเงินดิจิทัลนับพันล้านบาท

ตำรวจไซเบอร์ ตามรวบเอเย่นต์รับซื้อบัญชีม้า ตุ๋นเหยื่อสูญเงินกว่า 2.5 ล้าน

กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 จับกุมเอเย่นต์รับซื้อบัญชีม้า ในขบวนการแอบอ้างเป็นหญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทผ่านโลกออนไลน์ ลวงเหยื่อลงทุนเทรดเงินดิจิทัล ผลตอบแทนสูงร้อยละ 50 สูญเงินรวมกว่า 2.5 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีประชาชนซึ่งตกเป็นผู้เสียหาย จากการถูกกลุ่มขบวนการ Hybrid Scam หลอกให้รักแล้วลงทุน ใช้โปรไฟล์หญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาทักทายตีสนิทผ่านทางเฟสบุ๊ค จากนั้นได้มีการพูดคุยติดต่อกันทางแอปพลิเคชั่น ไลน์ และได้เริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนเทรด ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล USDT ซึ่งมีผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 50 ของเงินลงทุน เมื่อผู้เสียหายสนใจ คนร้ายได้ส่งแพลตฟอร์ม Bidget-coins เพื่อให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกเข้าไปลงทุน ซึ่งในช่วงแรกสามารถทำกำไรและเบิกถอนเงินได้ตามปกติ จนกระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีคนร้าย จำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 2,588,000 บาท ต่อมาไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยคนร้ายใช้ข้ออ้างต่างๆ เช่น ต้องชำระค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียม หรือ ต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น จึงจะถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้มาร้องทุกข์กับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 จึงได้สั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว จนกระทั่งต่อมาชุดสืบสวน กก.4 บก.สอท.1  สามารถจับกุมขบวนการนี้ไว้ได้ ซึ่งได้ให้การรับสารภาพและซัดทอดว่า นายธานุศักดิ์ฯ หรือเกมส์ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นผู้ว่าจ้างให้เปิดบัญชี จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหานี้ไว้

ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2566 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.สอท.1 นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายธานุศักดิ์ หรือ เกมส์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี ผู้ต้องหา ซึ่งทำหน้าที่ชักชวนและว่าจ้างให้เปิดบัญชี เพื่อรวบรวมบัญชีม้าไปส่งให้นายทุนใหญ่อีกทอดหนึ่ง ได้ที่ บริเวณบ้านเอื้ออาทร ซอยรังสิตนครนายก 24 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” นอกจากนี้จากการตรวจสอบประวัติยังพบว่า ผู้ต้องหามีประวัติพัวพันกับยาเสพติดก่อนหน้านี้เคยถูกจับกุมตัวมาแล้วหลายครั้ง

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ กล่าวว่า “จากการจับกุมบัญชีม้าก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลจนทราบว่า นายธานุศักดิ์ ทำหน้าที่ชักชวนคอยหาบัญชีม้าให้กับกลุ่มมิจฉาชีพโดยว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคาร และลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์ (บัญชีม้า ซิมม้า) โดยให้ค่าตอบแทนบัญชีละ 700 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขยายผลไปยังนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังต่อไป”

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ ผบก.สอท.1 ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่าอย่าได้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ โดยไม่ควรรับแอดเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่รู้จัก หากจะรับขอให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีให้ดี และหากมีการชักชวนลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสอบถาม สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ 1441 ได้ทันที

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์แอดมิน แอบอ้างเป็นครูอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat แจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว คนร้ายจะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินผ่านบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว 

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.97% สูงเป็นลำดับที่ 3 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วก่อเหตุตามแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่ม Line Open Chat ซึ่งผู้ใช้หรือสมาชิกจะสามารถตั้งชื่อหรือใช้ภาพโปรไฟล์ใดก็ได้ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่ม ที่ผ่านมานอกจากการหลอกลวงในเรื่องเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังคงพบว่ามิจฉาชีพมักส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มแจ้งเตือนว่าจะลบกลุ่มเดิม ให้สมาชิกย้ายหรือติดตามไปยังกลุ่มใหม่ผ่านลิงก์ที่แนบมาให้ เมื่อเข้าไปในกลุ่มของมิจฉาชีพแล้วจะมีบัญชีอวตารหลายบัญชีทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายที่เข้ากลุ่มมา ในลักษณะว่าทำงานเสริมออนไลน์แล้วได้รับเงินจริง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้กู้ยืมเงิน มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงเหยื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านข้อความสั้น (SMS) และผ่านการโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองนั้นโชคดี

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.หากผู้ให้บริการเงินกู้รายใด แจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์ 
3.บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ 
4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่ 

5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
7.ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา 

‘กรมการจัดหางาน’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพปลอมเพจบริษัทจัดหางาน แอบอ้างใช้ชื่อ - โลโก้บริษัท รับสมัครคนทำงานเรือสำราญ

(12 ก.ย. 66) อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือนภัย มิจฉาชีพอ้างชื่อบริษัทจัดหางานถูกกฎหมาย สร้างเพจรับสมัครคนทำงานเรือสำราญต่างประเทศ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล ย้ำกรมฯ เอาผิดตาม พรบ.จัดหางานฯ มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมการจัดหางาน เผยแพร่ข่าว  บริษัทจัดหางานซึ่งประกอบธุรกิจเรือสำราญ จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทจัดหางาน ญาณดา จำกัด บริษัทจัดหางาน เอเซียน แมนพาวเวอร์ จำกัด และบริษัทจัดหางาน บีเอสซี แมแนจเม้นท์ จำกัด เตรียมรับสมัครคนไทย ทำงานบนเรือสำราญต่างประเทศ จำนวน 2,602 อัตรา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 นั้น 

ล่าสุดมีผู้แอบอ้างใช้ชื่อและโลโก้ของบริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นรูปโปรไฟล์ เพื่อโพสต์ข้อความรับสมัครคนหางานทางเพจเฟซบุ๊ก โดยขึ้นข้อความว่าเป็นการรับสมัครผ่านกรมการจัดหางาน จนมีคนหางานให้ความสนใจกดไลก์ กดแชร์มากกว่า 500 ครั้ง เมื่อคนหางานหลงเชื่อเข้าไปสอบถาม แอดมินเพจจะทำการแจ้งรายละเอียดผ่านทางอินบอกซ์ก่อนขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ สำเนาทะเบียนบ้านและเอกสารสำคัญอื่น ๆ 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบผู้เสียหาย แต่หากท่านใดรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงจากกรณีดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ในส่วนของกรมการจัดหางานจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชักชวนและหลอกลวงคนหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้กรมฯ จะแจ้งไปที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อเอาผิดและดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ สามารถใช้บริการกับบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 137 บริษัท โดยก่อนหลงเชื่อโอนเงินหรือส่งเอกสารหลักฐานสำคัญให้ผู้ใด ควรตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่เว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd ซึ่งมีที่อยู่และช่องทางติดต่อที่ถูกต้องของบริษัทจัดหางานระบุไว้อย่างชัดเจน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top