‘ชัยวุฒิ’ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ย้ำ พ.ร.ก. ปราบภัยไซเบอร์ ช่วยลดเหยื่อมิจฉาชีพ

(15 ส.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ชิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทันเป็นสำคัญ

ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มีหน้าที่ เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่ รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่ รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

โดยการจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และ ช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ