Friday, 19 April 2024
ภัยไซเบอร์

โจรออนไลน์ชุก!! ‘อาชญากรรม’ ที่ต้องระวังมากที่สุด | Click on Clear THE TOPIC EP.124

📌 รู้ทัน ‘อาชญากรรมไซเบอร์’!! กับ ‘ร.ต.อ.พากฤต กฤตยพงษ์’ เจ้าหน้าที่ชุดปฎิบัติการที่ 1 ศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (PCT Police)

📌 ใน Topic : โจรออนไลน์ชุก!! ‘อาชญากรรม’ ที่ต้องระวังมากที่สุด

ร่วมจับประเด็น เน้นความรู้ได้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

ดีอีเอส เผยปชช.แจ้งความคดีออนไลน์แตะ 6 หมื่นเรื่อง พบคดีหลอกลวงด้านการเงินมาเป็นอันดับ 1

ดีอีเอส เปิดตัวเลขเหยื่อไซเบอร์ ใช้บริการแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง ในระยะเวลา 4 เดือนหลังเปิดตัวเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com อายัดเงินไปแล้วกว่า 121 ล้านบาท พบคดีหลอกลวงด้านการเงินมาเป็นอันดับ 1

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส)  กล่าวว่าจากแนวโน้มปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในยุคดิจิทัล ดังนั้นกระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงได้เร่งยกระดับบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือ และติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยจากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สรุปสถิติการใช้บริการของประชาชนในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา(ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ก.ค.2565 พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง โดยสามารถดำเนินการอายัดบัญชีได้แล้วกว่า 121 ล้านบาท 

ในส่วนของคดีออนไลน์ พบมากที่สุดคือ คดีหลอกลวงด้านการเงิน 31,047 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ หลอกให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ จำนวนคดีลำดับรอง ๆ ลงมา ได้แก่ หลอกลวงจำหน่ายสินค้า 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ 462 เรื่อง ข่าวปลอม 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ 136 เรื่อง

ระบบรับแจ้งความออนไลน์ เป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยสามารถแจ้งความทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com โดยลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กรอกข้อมูลทางคดี ตามขั้นตอนจนเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID” จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่การรับแจ้ง (Admin) ติดต่อกลับโดยจากสถิติปัจจุบันสามารถโทรหาผู้แจ้งได้ทั้งหมดภายใน 3 ชั่วโมง

‘สหรัฐฯ’ ชวน ‘ไทย’ ลงนามความร่วมมือ ป้องกันเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์

ชัยวุฒิ เผย สหรัฐฯ ชวนไทยลงนามความปลอดภัยไซเบอร์ หวังป้องกันเด็กจากเหยื่ออาชญากรรม  

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม พร้อมด้วย นายอะเลฮันโดร มาโยกัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา หารือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระหว่างเข้าร่วมงาน Singapore international Cyber week  ณ ประเทศสิงคโปร์ 

นาย อะเลฮันโดร มาโยกัส  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ทางสหรัฐอเมริกามีความสนใจ ที่จะร่วมลงนามความร่วมมือกับประเทศไทยเรื่อง การป้องกันภัยไซเบอร์ หรือ Cyber security มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เกี่ยวกับเยาวชนให้กับคนไทย รวมทั้งการฝึกอบรมด้าน Cyber Security จากสถาบัน Idaho National Laboratory ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา และการป้องกัน Scams ซึ่งทางสหรัฐอเมริกามีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ อีกด้วย   

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ได้เชิญชวนบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนเรื่องการตั้งธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้กำลังเติบโตไปได้ด้วยดี อีกทั้งได้พบปะหารือกับทางหอการค้าสหรัฐอเมริกา และบริษัททางด้าน Cyber Security  กว่า 40 บริษัทที่ให้ความสนใจลงทุนในไทยด้วย

‘บิ๊กป้อม’ สั่งฟัน ‘พนันออนไลน์’ แฝงเว็บราชการ ย้ำ ‘ดีอีเอส’ อุดช่องโหว่ ยกระดับความปลอดภัย

(5 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 1/2566 

โดยที่ประชุมเห็นชอบ กรอบแนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐถูกโจมตีด้วยการแฝง เว็บพนันออนไลน์ โดยอาศัยช่องโหว่จากการพัฒนาเว็บไซต์ และจุดอ่อนของระบบปฏิบัติการ รวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ที่ให้บริการฝากเว็บไซต์ เป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานภาครัฐของไทย โดยมีการกำหนดแนวทาง การดำเนินงานออกเป็น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมเห็นชอบรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม ห้วง 1 ต.ค. 64 - 30 ก.ย. 65 รวมทั้งสิ้น 551 เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแฮ็กเว็บไซต์ จำนวน 367 เหตุการณ์ และจะมีการรายงานให้ ครม.ทราบ ต่อไป รวมทั้งได้เห็นชอบรายงานประจำปี 65 ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งมีการพัฒนาไปมาก ทั้งด้านการขับเคลื่อนนโยบาย ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ การเฝ้าระวัง การรับมือภัยคุกคาม ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่ประชาชน โดยมีผลการประเมินร้อยละ 91.83 ซึ่งจัดอยู่ในระดับดีมาก

'ชัยวุฒิ' ร่วมประชุม WSIS ชู กฎหมายใหม่ไทย ทันต่อภัยคุกคาม พร้อมเสนอประเทศสมาชิก 'ใส่เกราะ-ระวังภัย' โลกไซเบอร์ร่วมกัน    

(15 มี.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้เเทนไทย ได้ร่วมงาน World Summit on the Information Society Forum ประจำปี ค.ศ. 2023 (WSIS Forum 2023) จัดโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ  ระหว่างวันที่ 13 - 17 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคมของไทย ได้ร่วมกล่าวการประชุม High-Level Policy Session หัวข้อ 'Building confidence and security in the use of ICTs' ได้กล่าวถึงความสำคัญของนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายด้านดิจิทัล ของไทยที่พร้อมรับมือกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดทำร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ที่ทันต่อภัยคุกคาม และส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันเพื่อช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที 

ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีชัยวุฒิ ได้เสนอแนวทางร่วมแก้ปัญหา Online Scams ที่เป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก และต้องใช้ความร่วมมือ ระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา

‘ชัยวุฒิ’ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ย้ำ พ.ร.ก. ปราบภัยไซเบอร์ ช่วยลดเหยื่อมิจฉาชีพ

(15 ส.ค.66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนผู้สุจริตถูกคนร้ายใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงทำให้เสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ชิมม้า และระงับยับยั้งการโอนเงินของคนร้ายต่อเป็นทอด ๆ เพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทันเป็นสำคัญ

ซึ่งสาระสำคัญของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา

มาตราที่ 1, 2 และ 3 บัญญัติเกี่ยวกับชื่อเรียก วันที่บังคับใช้ และคำนิยาม ตามลำดับ

มาตรา 4 กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ให้ฝ่ายธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มีหน้าที่ เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

มาตรา 5 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียน หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และมีหน้าที่ส่งให้ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 6 กรณีที่ธนาคารพบเหตุอันควรสงสัย ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งธนาคารที่ รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่รับโอนไว้ทันที เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ หรือ เลขาธิการ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ

มาตรา 7 กรณีที่ธนาคารได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรง ให้ธนาคารระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทันที และแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนต่อทุกทอด ระงับการทำธุรกรรมที่ รับโอนไว้ด้วย พร้อมกับแจ้งผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณามีคำสั่งไปยังธนาคาร ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งภายในกำหนดเวลา ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม

มาตรา 8 วรรคแรก การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 8 วรรคสอง 1) การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2) การสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่สังกัดใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

มาตรา 9 ผู้ใดเปิดบัญชีม้า หรือใช้ซิมม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 และมาตรา 11 ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม การใช้ข้อมูลบุคคลตามตามพระราชกำหนดฯ นี้ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ 1) กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัย และ 3) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเลขานุการร่วม

มาตรา 14 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดฯ นี้

โดยการจัดทำพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระและอำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รูปแบบภัยทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และ ช่องทางการติดต่อในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุแล้ว ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ในทุกรูปแบบ

ทรู-ดีแทค ยกระดับป้องกันภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจลูกค้าใช้โครงข่าย และทุกบริการดิจิทัล

(16 ส.ค. 66) ทรู คอร์ปอเรชั่น ก้าวสู่เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ย้ำภาพผู้นำซีเคียวริตี้ ทั้งโครงข่ายและบริการดิจิทัล เต็มรูปแบบ รวมทั้งปกป้องดูแลครอบคลุมทุกความปลอดภัยของลูกค้าและครอบครัว เปิดตัว ‘ทรู-ดีแทค ซีเคียวริตี้’ ชู 3 จุดเด่น End-to-end Protection ปกป้องภัยคุกคามทางโลกออนไลน์ครบวงจรทั้งบนเครือข่าย และแอปพลิเคชันตามมาตรฐานโลก, 24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันทันท่วงที ตรวจติดตามเฝ้าระวังการทำงานของระบบต่าง ๆ แบบอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง, Best-in-class Partnership พร้อมผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำระดับเวิลด์คลาสทั้งด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อาทิ คลาวด์ สไตร์ท - พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ - เวคตร้า เอไอ และด้านประกันภัย อย่าง FWD ทิพยประกันภัย ส่งมอบบริการด้านความปลอดภัยแบบเหนือชั้น และประสบการณ์ที่ดีที่สุด การันตีจาก NIST (National Institute of Standards and Technology) สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งประเมินค่า NIST Score ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานโลก (Global Benchmark) พร้อมดูแลเพิ่มความมั่นใจสูงสุดทุกการใช้บริการดิจิทัลกลุ่มทรู ทั้งดิจิทัลมีเดีย - ทรูไอดี, ดิจิทัลโฮม - TrueX และ ดิจิทัลเฮลท์ - หมอดีด้วยระบบ e-KYC พิสูจน์ตัวตนลูกค้าและการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลขั้นสูงสุดระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 24 ชั่วโมง ตลอดจนจัดเต็มแพ็กเกจปกป้องคุ้มครอง ดูแลลูกค้ามอบประกันภัย ประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษให้ลูกค้า ทรู-ดีแทค ใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน

นายฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภัยคุกคามทางดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในชีวิตผู้คน ทางทรูและดีแทคตั้งใจจริงที่จะทำให้ลูกค้าสบายใจ ในการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยยิ่งกว่า ซึ่งหลังการควบรวมกิจการทำให้เรานำความเชี่ยวชาญของทั้งทรูและดีแทค มารวมพลังเพื่อดูแลลูกค้าคนสำคัญให้รอดพ้นจากภัยคุกคามที่มากับโลกยุคดิจิทัล ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับองค์กร ระดับบุคคล ทรู จึงยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เปิดตัว True I dtac SECURITY ที่จะสะท้อนการปกป้องและดูแลความปลอดภัยทุกระบบแบบครบวงจร ตอกย้ำถึงความปลอดภัยยิ่งกว่าเมื่อมีกันและกัน Safer together ลูกค้าจะมั่นใจได้ทันทีเมื่อเห็นสัญลักษณ์ True I dtac SECURITY บนสินค้าและบริการจากทรู ด้วย 3 จุดเด่นคือ 1.End-to-end Protection ป้องกันการโจมตีทางโลกไซเบอร์ครอบคลุม ครบครันทุกการใช้งานทั้งเน็ตเวิร์ก คลาวด์ และสมาร์ตดีไวซ์ รวมถึงบริการดิจิทัล 

2.24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันการโจมตีแบบทันท่วงที ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ 

3.Best-in-class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก อาทิ บริษัท คลาวด์ สไตร์ท อินคอร์พอเรชั่น จำกัด บริษัท พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ และบริษัท เวคตร้า เอไอ รวมถึงบริษัทประกันชั้นนำอย่าง FWD และ ทิพยประกันภัย 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความมั่นใจระบบความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทรูก็ยังตอกย้ำทุกความปลอดภัยลูกค้าคนสำคัญและครอบครัวในยุคดิจิทัล ด้วยแพ็กเกจที่ครอบคลุมทั้งการปกป้องคุ้มครองจากภัยไซเบอร์ทั้งในส่วนลูกค้าองค์กร และรายบุคคล การประกันภัย และประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษอีกด้วย

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งสู่ความเป็น เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย คือการสร้างและขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมให้แข็งแกร่ง และครอบคลุมทั่วประเทศรวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยแบบสูงสุดให้กับลูกค้าผู้ใช้งานทุกบริการ ซึ่งการพัฒนา True I dtac SECURITY นี้ เป็นความตั้งใจของทีมงานทุกคนที่จะเพิ่มการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย คลาวด์ ทุกระบบแบบครบวงจร ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามในปัจจุบันแบบสูงสุด ผ่านระบบป้องกันภัยไซเบอร์อัจฉริยะ ครอบคลุม 5 ด้านทั้ง  

1.Infrastructure Security การป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์การใช้งานให้ปลอดภัยจากภัยคุกคาม อาทิ ตรวจจับความผิดปกติหากมีการทำงานที่เข้าข่ายความเสี่ยงจะถูกห้ามใช้งานทันที การตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ และแก้ไขก่อนถูกโจมตี การยืนยันเข้าใช้งานระบบปฏิบัติการด้วยผู้ดูแลระบบ เป็นต้น

2.Network Security การป้องกันภัยคุกคาม และการโจมตีบนเครือข่ายที่ช่วยจำกัดสิทธิการเข้าถึงระบบ โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ใช้งาน หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ป้องกันภัยคุกคามที่เข้ามาทาง เว็บ หรือแอปพลิเคชัน พร้อม Zero trust network ที่บังคับให้ทุกระบบต้องมีการขออนุญาตก่อนการเชื่อมถึงกัน

3. Cloud Security การป้องกันระบบโครงสร้างบนคลาวด์ ให้ปลอดภัยด้วยระบบช่วยตรวจสอบการตั้งค่า และช่องโหว่ต่าง ๆ ให้ถูกต้องและปลอดภัยอยู่เสมอ

4. 24/7 Smart Security Management ระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม ตรวจสอบและรับมือตลอด 24 ชั่วโมงด้วย Security Center Operation จากเจ้าหน้าที่ควบคู่ไปกับระบบ AI  รวบรวมข้อมูลการใช้งานจากระบบต่างๆ ในมาวิเคราะห์และหาสาเหตุเมื่อเกิดเหตุขึ้น

5. Best-in-Class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก ยกระดับมาตรฐาน และเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์

ด้านนายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการให้บริการดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องการดูแลความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ โดยการปกป้องข้อมูลแบบรอบด้านมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส โดดเด่นด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยแบบบูรณาการ

(1) มีระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งต่างจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าทั่วไป

(2) มีการใช้งานสถาปัตยกรรม Zero-trust

(3) ใช้งานระบบข่าวกรองไซเบอร์ (Threat Intelligence Platform)

(4) การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าด้วยระบบ e-KYC ที่มีการตรวจสอบตัวตน 2 ชั้นในการ log in เข้าสู่ระบบในครั้งแรก

(5) มีการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการปกป้องประวัติการรักษาพยาบาลของลูกค้า

นอกจากนี้ ลูกค้าทรู-ดีแทค มั่นใจ ยังจะได้รับการปกป้อง คุ้มครองในด้านประกันชีวิตด้วย โดย
ลูกค้าแบบรายเดือน เมื่อสมัครแพกเกจ 5G Together+ และ 5G Better+ จะได้รับฟรีประกันชีวิต และอุบัติเหตุ ความคุ้มครอง รวมสูงสุดกว่า 320,000 บาท รวมถึงลูกค้าแบบเติมเงิน ยิ่งอยู่ยิ่งได้ยิ่งใช้ยิ่งคุ้ม เมื่อเปิดเบอร์ใหม่ พร้อมสมัครแพกเกจ 300 บาท ได้เน็ตแรง แถมโทรฟรี พร้อมรับประกันความคุ้มครองชีวิต สะสมรวมสูงสุด 270,000 บาท 

ลูกค้าทรูออนไลน์ สมัครเน็ตบ้าน รับฟรีประกันภัยที่อยู่อาศัยจากทิพยประกันภัย และประกันชีวิต กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จาก FWD คุ้มครองนาน 24 เดือน  หรือจะเลือกปกป้องดูแลโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเครื่องใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ของลูกค้าทุกคนได้รับการดูแลในทุกการใช้งาน ด้วย dtac Mobile Care หรือจะเป็น True Protech บริการดูแล และส่งซ่อมมือถือ ไม่ว่า ตก แตก เปียก พัง แม้แต่สูญหาย ก็อยู่ในบริการทั้ง 2 บริการนี้ เพียงเริ่มต้น 39 บาท ต่อเดือน เท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top