‘ตร.’ เตือนประชาชนระวังแก๊งหลอกลงทุนออนไลน์ ตุ๋นหมดตัว แฉกลโกง ใช้รูปผู้บริหาร-โลโก้บริษัทใหญ่มาล่อเหยื่อให้ติดกับ

(23 ส.ค. 66) สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้มีคนร้ายแอบอ้างชื่อหรือใช้โลโก้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต่างๆ แล้วหลอกให้ลงทุน เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 รับแจ้ง 300,000 กว่าเคส ความเสียหายกว่า 41,000 ล้านบาท สถิติการรับแจ้งความหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในห้วงเวลาเดียวกัน รับแจ้ง 24,000 กว่าเคส คิดเป็น 8.14 % ของสถิติการรับแจ้งทั้งหมด ความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็น 35 % ของความเสียหายทั้งหมด สำหรับสถิติการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในห้วงสัปดาห์ที่แล้วอยู่อันดับ 6 สัปดาห์นี้พุ่งมาอยู่อันดับ 4 โดยรับแจ้ง 274 เคส ความเสียหาย 188 กว่าล้านบาท

จึงได้เชิญ นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ประเทศไทย บ.อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด มหาชน มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. กล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมากในช่วงเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2566 คนร้ายใช้วิธีการหลอกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 5 อันดับ ดังนี้

1.) Facebook 145 เคส 107,593,333.39 บาท
2.) Website 34 เคส 8,604,561.4 บาท
3.) Line 7 เคส  815,7381.30 บาท
4.) Twitter 1 เคส 7,000 บาท
5.) TikTok 1 เคส 60,6000 บาท

โดยนำรูปผู้บริหารและใช้โลโก้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น CP AMATA คาราบาวแดง และเครื่องหมายและมีโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ช่วงแรกหลอกให้ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30-70% เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทักไปสอบถาม จะเป็นการสนทนาทาง Messenger (ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ) จากนั้นจะแนะนำอาจารย์ หรือโค้ด หรือโบรกเกอร์ เพื่อให้คุยทาง Line หรือเข้ากลุ่ม Open Chat พูดคุยกับสมาชิก แล้วให้เริ่มลงทุน โดยมีหน้าม้าอ้างว่าลงทุนตามที่ได้มีการแนะนำสามารถสร้างกำไรได้ โพสต์ภาพสลิปรับโอนเงินผลตอบแทนให้เหยื่อหลงเชื่อ

ในช่วงแรกเมื่อเหยื่อโอนเงินเพื่อลงทุน คนร้ายจะโอนเงินทุนพร้อมกำไรคืนให้เหยื่อ จากนั้นจะชวนเข้ากลุ่ม VIP มีสมาชิก 5-6 คน เพื่อร่วมกันลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น โดยมีผู้แนะนำการลงทุน 1 คน ที่เหลือก็จะเป็นหน้าม้า ร่วมกันหลอกเหยื่อให้โอนเงินลงทุน หากเหยื่ออยากยกเลิกการลงทุน หน้าม้าจะอ้างว่าหากยกเลิกหรือถอนการลงทุน จะทำให้คนอื่นไม่สามารถถอนเงินได้ และผลประโยชน์ที่ลงทุนไปพร้อมผลตอบแทนที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ (ปลอม) ก็จะไม่ได้รับคืน จึงต้องลงทุนเพิ่ม สุดท้ายเสียเงินไปจำนวนมาก

โดยมีจุดสังเกต ดังนี้
1.) มี Blue Badge หรือเครื่องหมายบัญชีทางการ สีน้ำเงินหรือสีเขียวหลังชื่อเพจ ที่ส่วนใหญ่บริษัทที่มีตัวตนจริงจะยืนยันข้อมูลไว้กับทาง facebook

2.) การโอนเงินลงทุนใดๆ ที่ใช้เงินน้อย รายได้ดี มีผลตอบแทนสูง ไม่มีอยู่จริง หากผลตอบแทนสูงมากขนาดนี้ คนร้ายคงลงทุนด้วยตนเอง

3.) ในการลงทุน คนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่คนร้ายสร้างขึ้นมาให้เหมือนของจริง (เหมือนเฉพาะรูปภาพ แต่ URL จะต่างจากของจริง) และเมื่อเหยื่อโอนเงินลงทุน ในระบบจะขึ้นยอดเงินแสดงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยอดเงินจริง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขในอากาศที่คนร้ายนำมาหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อเท่านั้น

วิธีการในการป้องกัน คือ

1.) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์โฆษณาแปลกปลอม หรือกดเพิ่มเพื่อนไลน์ในรูปแบบสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ

2.) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น

3.) ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  https://www.set.or.th

4.) ทำการ copy URL จากเว็บไซต์ลงทุนที่คนร้ายให้มาในใส่ในเว็บไซต์ https://whois.domaintools.com จะเห็นอายุ (Dates) ของเว็บไซต์ว่าเปิดมานานเท่าไรแล้ว  หากเพิ่งเปิดมาร 2-3 เดือน ก็ไม่น่าเชื่อถือ

ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะ มีความไม่สบายใจ และไม่เคยนิ่งนอนใจ อมตะได้มีการติดตามและดำเนินการทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถมีความคืบหน้าในการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง และทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะให้สังเกตเพจของกลุ่มมิจฉาชีพจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ มีอายุไม่นาน ในขณะที่เว็บไซต์ และเพจของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียนและก่อตั้ง ในปี 2012 ซึ่งมีอายุการดำเนินงานมากกว่า 10 ปี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของอมตะ และขอให้สังเกตจากเครื่องหมาย Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่แสดงบัญชีทางการว่าเป็น Page หลักของอมตะ

ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เน้นย้ำการเชิญชวนเพื่อลงทุนใด ๆ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด และผ่านตัวแทนโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่าน Facebook หรือติดต่อผ่านระบบ Line ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สูงผิดปกติจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะใช้ชื่อเพจว่าอะไรก็ตาม

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมีการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่จะสามารถตอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการลงทุนที่ต้องเสียเงินและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ ประชาชน และนักลงทุน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-035-0007 และ 02-792-0000

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับปัญหาของภัยหลอกลงทุนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการแจ้งเตือนผู้ลงทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ ‘Investor Alert’ การดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงช่องทางของเครือข่ายหน่วยงานในตลาดทุนเพื่อกระจายข่าวสารแจ้งเตือนภัยหลอกลงทุนให้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองหรือรับประกันผลิตภัณฑ์ ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผลตอบแทนในการลงทุน ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถเช็กรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ที่ แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ

หรือ สอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ โทร 1207

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า  ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)  หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อสาธารณะชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชกฤษฎีกานี้ได้เริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์ เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI  และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้ จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่  IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้ โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่งั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.) ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงิน เพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม 
เพื่อให้ได้เงินคืน

2.) หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com หรือแจ้งความสถานีตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ

3.) หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com