Friday, 18 April 2025
มิจฉาชีพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนระวังมิจฉาชีพเลียนแบบโดเมน “.go.th” ของแท้จะต้องอยู่ช่องแรกถัดจาก https:// เท่านั้น

วันนี้ (11 สิงหาคม 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าได้มีกลุ่มมิจฉาชีพทำการเลียนแบบโดเมน “.go.th” ซึ่งเป็นโดเมนที่มีไว้สำหรับหน่วยงานราชการ แล้วนำมาใช้ในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน

โดยมิจฉาชีพจะสร้างลิงก์ที่มีข้อความ “.go.th” ลงท้าย ไว้ในส่วนที่เป็นพาธ (Path) หรือเส้นทางที่นำไปสู่ไฟล์หรือตำแหน่งต่าง ๆ ของข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่ง Path จะอยู่ด้านหลังของชื่อโดเมนเสมอและคั่นเครื่องด้วยหมายทับ “/” เช่น หากเป็น URL https://www.royalthaipolice.go.th/index.php Path ของ URL ดังกล่าวคือ “index.php” ส่วนเว็บไซต์ปลอมที่สร้างเลียนแบบที่ตรวจสอบพบคือ https://dif.link/www.ccid1.ccib.go.th ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากไม่ได้สังเกตให้ดี อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการที่ลงท้ายด้วย “.go.th” แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียง Path ของเว็บไซต์ https://dif.link เท่านั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการกดลิงก์ URLs ต่าง ๆ โดยให้สังเกตก่อนว่าเป็นเว็บไซต์ที่ท่านต้องการเข้าใช้งานจริงหรือไม่ และในส่วนของการสังเกตว่าเป็นโดเมน “.go.th” ของจริงหรือไม่ ให้ดูจากโดเมนของเว็บไซต์ ซึ่งจะอยู่หลัง “https://” และอยู่ก่อนหน้า “/” เช่น https://www.royalthaipolice.go.th/ เป็นต้น

ในส่วนของเว็บไซต์เลียนแบบที่ตรวจสอบพบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี มิจฉาชีพอาจสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการตรวจสอบหาเว็บไซต์ปลอมในลักษณะดังกล่าวอยู่เสมอ และจะได้การสืบสวนสอบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนอย่าหลงเชื่อเพจปลอมเลียนแบบเพจดัง พร้อมย้ำช่องทางรับแจ้งความออนไลน์มีเว็บไซต์เดียวเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ ฟันธงเลยว่ามิจฉาชีพแน่นอน

วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันพบว่ามีมิจฉาชีพสร้างเพจปลอมในหลายรูปแบบ เพื่อหลอกลวงพี่น้องประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์จำนวนมาก โดยพบว่ามักมีการสร้างเพจปลอมเลียนแบบเพจจริงที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก และการสร้างเพจปลอมเพื่อหลอกขายสินค้าหรือหลอกให้บริการต่าง ๆ แล้วหลอกให้กดลิงก์ หลอกขายสินค้าถูกกว่าท้องตลาด สร้างโปรโมชั่นลดแรง ดึงดูดใจผู้บริโภค แล้วบูสต์โพสต์ด้วยการยิงโฆษณาพร้อมลงข้อความขายสินค้าแบรนด์ดังต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบมิจฉาชีพที่เปิดเพจปลอมแอบอ้างว่าสามารถรับแจ้งความออนไลน์ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ หากหลงเชื่อติดต่อสอบถาม มิจฉาชีพเหล่านี้จะมีกลโกงหลอกขอข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการ หรืออื่นๆ ทำให้มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนจำนวนมาก จึงได้สั่งการอย่างเข้มงวดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและปราบปรามมิจฉาชีพลักษณะดังกล่าว พร้อมให้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชน เพื่อสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ในลักษณะนี้

วิธีสังเกตเพจปลอมเบื้องต้นคือ เพจปลอมส่วนใหญ่จะไม่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตน (Facebook verified badge) ที่เป็นเครื่องหมายถูกสีฟ้าด้านหลังชื่อบัญชี , มีผู้ติดตามเพจจำนวนน้อย , เพจถูกสร้างมาได้ไม่นาน , ซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์มต่างๆ มากผิดปกติ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อที่ระบุไว้ไม่ตรงกับหน่วยงานจริง โดยหากพบเพจลักษณะดังกล่าว ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม อย่างหลงเชื่อ เลิกสนใจ ไม่คลิกดู ไม่คลิกลิงก์ใดๆ และไม่ติดต่อทางช่องทางแช็ตใดๆ เด็ดขาด ทั้งนี้ ก่อนสั่งซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วน เช่น ความโปร่งใสของเพจ จำนวนผู้ติดตาม บัญชีปลายทาง หากไม่มั่นใจสามารถนำบัญชีปลายทางตรวจสอบได้ที่ checkgon.com หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พ.ต.อ.หญิง ฉันฉายฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากที่เกี่ยวกับการรับแจ้งความ หรือรับปรึกษาคดีอาชญากรรมออนไลน์ แต่ไม่ใช่ช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอให้ประชาชนระวังมิจฉาชีพใช้วิธีนี้หลอกลวงซ้ำซ้อน โดยบางเพจไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะชวนลงทุนต่างๆ ซึ่งประชาชนอาจหลงเชื่อและเกรงใจ เนื่องด้วยเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตัวจริงที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งความ  แต่บางเพจเรียกค่าดำเนินการด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัว หรือการโอนเงินในกรณีที่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากพบเจอเหตุการณ์ที่มีลักษณะดังกล่าว ขอให้ติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือโดยทันที ซึ่งขอย้ำว่าช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์มีเพียงช่องทางเดียวเท่านั้นคือ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ไม่มีการรับแจ้งความหรือให้ความช่วยเหลือทางแพลตฟอร์มอื่น หรือช่องทางอื่น หากพบเห็นทางช่องทางอื่นนอกเหนือจากเว็บไซต์นี้ ขอให้มั่นใจได้ว่าเป็มิจฉาชีพทั้งสิ้น อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด!!

สตม. จับเฒ่ามะกันอ้างเป็น Life Coach ขายคอร์สบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยเห็ดขี้ควาย

กก.1 บก.สส.สตม. จับกุมนายดาเรียส (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี สัญชาติอเมริกัน พร้อมเห็ดขี้ควายแห้ง ของกลาง น้ำหนักชั่งพร้อมถุงบรรจุรวม 1,360 กรัม โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยไม่ได้รับอนุญาต นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.สุทธิสาร ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม บ้านพักภายในซอยลาดพร้าว 108 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

สืบเนื่องจาก กก.1 บก.สส.สตม. ได้เข้าไปสืบหาผู้โพสต์ขายยาเสพติดในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่านายดาเรียสได้โพสต์ขายคอร์สบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยเห็ดขี้ควาย โดยอ้างว่าเป็น Life Coach ที่มีปริญญาโทด้านจิตวิทยา มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี จึงได้ทำการสืบหาที่อยู่ของนายดาเรียสจนทราบว่าพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งภายในซอยลาดพร้าว 108 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ จากนั้นได้ให้สายลับติดต่อเพื่อซื้อคอร์สบำบัด โดยได้นัดให้ไปจ่ายเงิน จำนวน 2,000 บาท/คอร์ส ที่บ้านหลังดังกล่าว หลังจากสายลับได้จ่ายเงินซื้อคอร์สบำบัดให้กับนายดาเรียสแล้ว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายเข้าตรวจสอบ โดยนายดาเรียสไม่สามารถแสดงใบอนุญาตทำงานได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ตรวจค้นภายในบ้านพบเห็ดขี้ควายแห้งบรรจุถุงอยู่ภายในช่องแช่แข็งของตู้เย็นที่ชั้นล่างของบ้าน จำนวนรวม 13 ถุง น้ำหนักชั่งพร้อมถุงบรรจุรวม 1,360 กรัม และพบเงินล่อซื้อที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้

อยู่ในสมุดโน้ตบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ในห้องนอนของนายดาเรียสชั้นสอง จากการสอบถามนายดาเรียสให้การว่า ตนทราบว่าเห็ดขี้ควาย หรือ magic mushroom มีสารสกัดสำคัญในการต้านอาการซึมเศร้าได้ และไม่ทราบว่าในประเทศไทย เห็ดขี้ควายยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษจึงได้เปิดคอร์สบำบัดผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้าด้วยเห็ดขี้ควาย ในราคาคอร์สละ 2,000 บาท โดยวิธีการสูบและผสมในช็อกโกแลตให้รับประทานแล้วจะเปิดเสียงเพลงกล่อมให้เคลิบเคลิ้มและผ่อนคลาย โดยได้เปิดรับบำบัดมาเป็นเวลาประมาณเดือนเศษมีลูกค้ายังไม่กี่ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับชุดจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ปู่วัย 87 โชคดี!! เกือบสูญทรัพย์นับสิบล้านให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอะใจ!! ขึ้นโรงพักถามตำรวจ ก่อนรู้ถูกหลอก รอดหวุดหวิด

(11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิมาศ หรือเล็ก ทุกข์นิโรธ อายุ 87 ปี อดีตเจ้าหน้าที่สื่อสารระดับ 6 สำนักงานโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ คุ้มปานอินทร์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 พร้อมเงินสดจำนวน 200,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ และอยากจะถามว่าบัญชีตนเองผิดอะไร ทำไมต้องให้ตนเองโอนเงินส่งเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่เคยมีบัญชีพัวพันสีเทาหรือสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำไมถึงต้องโทรมาให้ตนส่งเงินไปให้ตรวจสอบ

ทาง พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ จึงอธิบายเหตุผลและชี้แจงว่าคุณปู่เล็ก น่าจะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกลวง อย่าได้หลงเชื่อเด็ดขาด การที่คุณปู่เล็กมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าโชคดี หากโอนเงินไปแล้ว รับรองว่าสูญเงินอย่างแน่นอน และแนะนำให้ปู่เล็กบล็อกเบอร์มือถือเบอร์นี้ อย่าได้พูดคุยติดต่อหรือเชื่อคำพูด ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปู่เล็กถึงกับดีใจที่ยังไม่ทันได้เสียท่าให้กับมิจฉาชีพ ถึงกับยกมือไหว้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยตักเตือนให้ในครั้งนี้

นายพิมาศ หรือปู่เล็ก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีชายคนนึงโทรเข้ามาหาตนเองทางโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งบอกว่า ตนเองมีบัญชีพัวพันกับธุรกิจสีเทา ต้องส่งไปให้เขาตรวจสอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ง. กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรเข้ามาติดต่อและชี้แจงข้อระเบียบ หากเงินในบัญชีตรวจสอบแล้วถูกต้องก็จะส่งคืนให้ และมีค่าเสียเวลา ค่าชดเชยกลับมาให้กับปู่เล็กด้วย ตนจึงหลงเชื่อสนิทใจ รีบเอาสร้อยคอทองคำ 3 บาท เลสข้อมือ 2 บาท ไปขาย ได้เงินมา 200,000 บาท และจะนำไปเข้าบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามที่เขาแนะนำมา เพราะตนเองไม่ได้เล่นไลน์ โอนเงินทางบัญชีไม่เป็น ทางคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บอกตนมีทรัพย์สินเท่าไหร่ให้เบิกมา หากพบว่าเป็นเงินสุจริตก็จะส่งคืนให้ในภายหลัง

โชคดีที่เจ้าหน้าที่แนะนำไม่อย่างนั้นคงสูญเงิน 200,000 บาท นี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญตนยังมีพันธบัตรที่ซื้อไว้อีกหลายสิบล้าน และเตรียมจะถอนออกมาเป็นเงินสดโอนไปให้มิจฉาชีพ ดีที่ไหวตัวทันอย่างเฉียดฉิวก่อน ตอนที่จะมาโรงพักคิดอย่างเดียวว่าถ้าผิดจริง ๆ ก็ให้มันติดคุกไป เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็อยากเอาเงิน เอาสมุดบัญชีมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย โชคดีที่มารู้ความจริงเสียก่อน ส่วนเงิน 200,000 บาท เดี๋ยวจะกลับไปซื้อทองใหม่ และจะบล็อกเบอร์แก๊งคอนเซ็นเตอร์นี้ไป ไม่รับสายพูดคุยด้วยแล้ว ไม่เช่นนั้นคงตกเป็นเหยื่อแน่

'ม.เกษตรฯ' แจ้งระวัง!! 'มิจฉาชีพ' อ้างชื่อ 'คณะฯ-มหา’ลัย' จัดกิจกรรมรูดทรัพย์ หลอก!! จะมี 'แต้มต่อ' ในการเข้ามหาวิทยาลัยในรอบ TCAS1

(17 ก.ย. 67) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเตือน ระบุว่า...

สำหรับนักเรียนที่กำลังทำ Port อยู่นะ

ช่วงนี้ เห็นแล้วเศร้าใจ มีคนพยายามสร้างกระแสกันว่า การไปร่วมกิจกรรมของคณะที่เราสนใจ เช่น อบรม แคมป์ จะมี 'แต้มต่อ' ในการเข้ามหาวิทยาลัยในรอบ TCAS1 โดยมีการเรียกเก็บเงินการเข้าร่วมกิจกรรมหลายพันบาท ขอบอกว่า คณะต้องการคนที่มีความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่ความสนใจที่หลากหลายจากการเข้าร่วม ซึ่งแต้มน้อยมาก

วิธีการง่าย ๆ อันนึงของคนเหล่านั้น คือ...
- ไปเช่าสถานที่ของคณะยอดฮิต เพื่อจัดกิจกรรม เพื่อจะได้ใช้ชื่อ และทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าคณะจัด
- เชิญอาจารย์บางท่านของคณะนั้นมาบรรยาย ซึ่งท่านก็อาจมาบรรยายโดยสุจริต
- ขอแปะโฆษณาภายในมหาวิทยาลัย
- แอบใส่ Logo และมหาวิทยาลัย ในโครงการ เช่น อ้างว่าเป็นอาจารย์ที่ไหน หรือนิสิตเรียนที่ไหน ใช้ภาพถ่ายอาคารหรือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

- อาจมีแจกประกาศ แต่ออกให้โดยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ มหาวิทยาลัย
- ใบเสร็จไม่ใช่ของมหาวิทยาลัย
- อ้างว่าเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนั้น แต่ไม่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัย

ซึ่งจะดูเนียนเหมือนว่าคณะนั้นจัด แต่คณะก็แค่ให้เช่าสถานที่อบรม และการตรวจสอบเจตนาแฝงมันดูยาก

ที่แย่คือ คนอาจคิดว่า คณะหิวเงินโดยทำโครงการที่มี Conflict of interest 

ที่แย่กว่านั้น ก็คิดไปไกลว่า พยายามสร้างช่องรับ 'แป๊ะเจี๊ยะ'

โครงการดีๆ ก็มีเยอะแยะนะครับ แต่ข้อสังเกตที่สำคัญคือ...
- จะต้องเขียนชัดๆ เลยนะว่า 'จัดโดย คณะ... มหาวิทยาลัย...' ไม่ใช่บอกแค่ว่าจัดที่นั่น
- โครงการอาจมีค่าใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เขาจะจัดเอาแค่คุ้มทุน ไม่แพงมาก
- ถ้าสงสัย สอบถามโดยตรงจากคณะ (ไม่ใช่ไปถามที่โครงการนั้นนะ) เลยว่า คณะเกี่ยวอย่างไร มีผลต่อ TCAS มากน้อยเพียงใด เดี๋ยวนี้ คณะมีช่องทางออนไลน์ให้ติดต่อกันทั้งนั้นแหละ อย่างเช่นที่นี่เลย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

มีลูกหลานก็ฝากแชร์ด้วยครับ สงสารเด็กๆ #dek67 #dek68 #dek69 #dek70

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนมิจฉาชีพฉวยโอกาสตบทรัพย์ผู้เกษียณ หลอกโอนเงินและข้อมูลส่วนตัว

(2 ต.ค. 67) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นวันเกษียณอายุราชการของข้าราชการหลายท่าน ซึ่งอาจต้องติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของสิทธิประโยช์ต่าง ๆ ของผู้เกษียณอายุราชการ ทั้งในเรื่องเงินสวัสดิการ เงินบำเหน็จบำนาญ เงินภาษี ฯลฯ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสนี้ในการหลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกษียณอายุราชการและบุคคลในครอบครัว เพิ่มความระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเงินสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ เช่น กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร หรือหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบเงินสวัสดิการของผู้เกษียณอายุราชการ ติดต่อมาเพื่อหลอกลวงให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีธนาคาร และเอกสารสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการหลอกให้กดลิงก์ หรือหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อเป็นหลักประกันในการรับเงินบำเหน็จบำนาญและเงินตอบแทนต่าง ๆ

โดยหากได้รับการติดต่อในลักษณะดังกล่าว ขอให้ท่านโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลกับหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง และขอให้บุตรหลานของผู้เกษียณอายุราชการ คอยให้คำแนะนำและสอดส่องดูแลผู้เกษียณอายุราชการ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ และหากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ สายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

'ประเสริฐ' เผย 2 เดือน 'ดีอี' ปิดแพลตฟอร์ม 'ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง 'โจรออนไลน์' สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน  

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี  โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น

สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท 

ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด

"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA  , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

‘เป๋าตัง’ ผนึก ‘Whoscall’ แจกโค้ด Premium Basic ฟรี 10 ล้านโค้ด ✨ เสริมเกราะป้องกันภัย ลดความเสี่ยงสูญเสียทางการเงิน ✨

📅 วันที่ 25 ธ.ค. 2567
บริษัทอินฟินิธัส บายกรุงไทย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ร่วมกับ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการ Whoscall แอประบุตัวตนสายเรียกเข้าและป้องกันสแปมบนสมาร์ทโฟน ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ! แจก Whoscall Premium Basic ฟรี 10 ล้านโค้ด ใช้งานได้นาน 3 เดือน ช่วยลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพออนไลน์

💡 ขั้นตอนการรับสิทธิ์
1️⃣ เข้าแอปฯ เป๋าตัง ไปที่เมนู "เป๋าตังเปย์"
2️⃣ กดรับคูปอง Whoscall
3️⃣ เข้าเว็บไซต์ https://redeem.whoscall.com/
4️⃣ ใช้โค้ดที่ได้จากเป๋าตังเพื่อเริ่มใช้งานทันที

📲 รองรับทั้งระบบ Android และ iOS ดาวน์โหลด Whoscall ได้ที่ https://app.adjust.com/1f16qjtc

เพียงลงทะเบียนวันนี้ - 31 มกราคม 2568 เพื่อรับสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้ใช้เป๋าตังกว่า 40 ล้านรายทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top