Sunday, 5 May 2024
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ศิษย์เก่า มธ.’ ค้าน ‘พิธา’ เป่าหูเด็ก มธ.ด้วยตรรกะบิดเบือน แอบอ้าง!! จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ว่าเหมือนวิถีก้าวไกล

‘ศิษย์เก่า มธ.’ ค้าน ‘พิธา’ ร่วมงานปฐมนิเทศ นศ.ใหม่ ‘เกษมสันต์’ ชี้ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่เหมือนวิถีก้าวไกลตามที่อ้าง เพราะไม่เคยสอนให้ก้าวร้าว ก้าวล่วง ‘ทนายมิ้นท์’ เหน็บ “ธรรมศาสตร์ไม่ได้สอนให้โกหกประชาชน” ฟาก ‘ดร.เสรี’ เศร้าใจ อยากรู้ใครเชิญนักการเมืองไปบรรยาย ถามศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์เกษียณ-อาจารย์ปัจจุบันที่ยังจงรักภักดี พอจะทำอะไรได้บ้าง

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Kasemsant AEC’ มีการโพสต์ภาพและข้อความของนายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ ในฐานะกรรมการศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า…

ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ มธ.เชิญพิธาไปพูดในงานปฐมนิเทศ นศ.ใหม่ ซึ่งได้มีการกล่าวอ้างว่า “จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์เหมือนกับวิถีก้าวไกล”

ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง ขอยืนยันว่า จิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ที่ผมและศิษย์เก่าจํานวนมากก็มีนั้น ต่างจากวิถีก้าวไกลโดยสิ้นเชิง จิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ไม่เคยสอนให้พวกเราก้าวร้าว ก้าวล่วงและพยายามจะเปลี่ยนแปลงสถาบัน หลักของชาติแต่อย่างใด

อีกทั้งพิธาเองยังมีอีกหลายประเด็นที่สังคมสงสัยและกําลังโดนตรวจสอบทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว ธุรกิจและการเมือง ดังนั้นพิธาจึงไม่ควรจะเป็นตัวอย่างศิษย์เก่า มธ.ที่ดีจนกว่าจะได้พิสูจน์ตัวเองให้ได้เสียก่อน

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์น่าจะตระหนักให้มากกว่านี้ถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงของชาติ รวมถึงความอ่อนไหวของอารมณ์และความรู้สึกของ นักศึกษาและประชาชนในปัจจุบัน/ เกษมสันต์ วีระกุล

ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง หรือ ‘ทนายมินท์’ ทนายความของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ในฐานะศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Puangtip Boonsanong’ ระบุว่า…

“ธรรมศาสตร์ไม่ได้สอนให้โกหกประชาชน”

ด้าน ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘ดร.เสรี วงษ์มณฑา’ ระบุว่า…

“วันนี้รู้สึกเศร้าใจมาก เมื่อเห็นเหตการณ์ที่เกิดขึ้นในงานรับเพื่อนใหม่ของธรรมศาสตร์ ที่มีการเชิญพิธาไปเป็นผู้บรรยายให้นักศึกษาปีที่ 1 ฟังหัวข้อบรรยาย ถ้าหากจะพูดให้เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กับการเรียนให้ประสบความสำเร็จน่าจะเหมาะกว่า

แต่การเชิญคนที่เป็นนักการเมืองที่มี agenda ทางการเมืองไปบรรยาย มีการทำกิจกรรมที่มีกลิ่นอายการเมือง ด้วยตรรกะผิดๆ บิดเบือนดูไม่เหมาะสม

อยากรู้ว่าใครเป็นคนจัด ใครเป็นคนเชิญ ไม่รู้เลยหรือว่าพิธาเป็นใคร ไม่คิดเลยหรือว่าเมื่อเขามาบรรยาย เขาจะมาพูดอะไรให้นักศึกษาฟัง

หรือจริงๆ รู้ดีว่าพิธาจะมาพูดอะไร และเห็นดีเห็นงามกับเรื่องที่เขาจะพูด กิจกรรมที่เขาจะทำ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องบอกว่าศีลเสมอกันจริงๆ

ต้องยอมรับว่าธรรมศาสตร์ช่วงนี้ตกต่ำจริงๆ อาจารย์บางคนกลายเป็นอาจมที่ครอบงำลูกศิษย์ด้วยข้อความที่เป็นเท็จ

ผู้บริหาร ไม่เคยคิดที่จะทำอะไรที่ปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยบ้างเลยหรือ กลัวจะถูกตราหน้าว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไร

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ทั้งของคณะศิลปศาสตร์ และของมหาวิทยาลัย อาจารย์ และคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ รู้สึกเสียใจยิ่งนัก

อยากถามศิษย์เก่า อาจารย์และข้าราชการเกษียณ ศิษย์ปัจจุบันและอาจารย์ปัจจุบันที่ยังจงรักภักดี เราพอจะทำอะไรบ้างได้ไหม

อย่าให้มหาวิทยาลัยของเราตกต่ำไปกว่านี้เลยนะคะ”

‘ทนายบอน’ แนะ!! นักศึกษาใหม่ มธ.ที่ฟังบรรยาย ‘พิธา’ ถ้าจะฟังที่พี่เค้าพูด ‘พอได้’ แต่อย่าไปเชื่อที่พวกพี่เค้าทำ

(5 ส.ค.66) นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ หรือ ‘ทนายบอน’ อดีตผู้สมัคร สส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า...

[พิธา บรรยายนักศึกษาใหม่ มธ.] ฟังที่พี่เค้าพูดพอได้ แต่อย่าไปเชื่อที่พวกพี่เค้าทำครับ

พี่เค้าพูด ว่า เค้ายึดมั่นในประชาธิปไตย เสรีภาพ ที่พูดหล่อๆ ก็พอฟังได้

แต่ที่เห็น คือ พวกพี่เค้าแต่ละคนนั้นใครเห็นต่างไม่ได้ต้องทัวร์ลง อ้างเสรีภาพไปข่มเหงรังแกคนเห็น ดังนั้น อย่าไปเชื่อที่พวกพี่เค้าทำครับ เราไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยแบบนั้น

พี่เค้าพูด ว่า “โลกต้องการคนรุ่นใหม่” ใช่ครับ

แต่ที่เห็น คือ พวกพี่เค้าแต่ละคน ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกปั่นยุยง สร้างความแตกแยก ทำแต่สิ่งผิดกฎหมาย เราไม่ได้ต้องการคนรุ่นใหม่แบบนั้นครับ

พี่เค้าพูดว่า “จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ คือ เสรีภาพ ภราดรภาพ” ใช่ครับ

แต่ที่เห็น คือ พวกพี่เค้าฟาดฟัน ทำลายล้าง สร้างความแตกแยก ทำให้คนเกลียดชังกัน ในขณะที่ภราดรภาพ คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน กลมเกลียวกัน เราไม่ได้ต้องการสังคมแบบนั้นเพื่อสร้างประเทศครับ สิ่งที่พวกพี่เค้าทำห่างไกลสุดกู่กับคำว่าภราดรภาพ

ที่ธรรมศาสตร์ เค้าสอน ให้ใช้เสรีภาพแบบมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ไอ้ที่เห็นการอ้างเสรีภาพไปรังแกถล่มคนอื่น ไอ้พวกนั้นไม่รู้ไปเรียนจากที่ไหนมา

ที่ธรรมศาสตร์ เค้าสอน ว่าประชาธิปไตย ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย รับฟังความเห็นต่างได้ ไอ้ที่เห็นว่าพวกกูถูกอย่างเดียว คนอื่นผิดหมด ไอ้พวกนั้นไม่รู้ไปเรียนจากที่ไหนมา 

ที่ธรรมศาสตร์ เค้าก็สอนเรื่องภราดรภาพนะ ว่าคือการกลมเกลียว เป็นพี่น้องกัน แต่ที่เห็น ภราดรภาพบ้านพวกพี่เค้า เผา ทำลายล้างทุกอย่าง สรุป ไม่รู้ไอ้พวกนั้นไปเรียนจากที่ไหนมา

สรุปสุดท้าย ที่พี่เค้าบอกว่าพวกพี่เค้า DNA เดียวกับธรรมศาสตร์ ผมว่าพี่เค้าสำคัญผิดไปเยอะ เฉพาะสิ่งที่พี่เค้าพูดหล่อๆ ก็พอจะใกล้เคียง แต่ที่พวกพี่เค้าทำ ห่างไกลสุดกู่ครับ

#ทนายบอน

จิ๊บ ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขตบางแค ภาษีเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 66 จิ๊บ ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขตบางแค ภาษีเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวในฐานะอดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (JC38) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า…

“ฉันรักธรรมศาสตร์… เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน แต่… ธรรมศาสตร์ไม่เคยสอนให้ฉันก้าวร้าว ธรรมศาสตร์ไม่เคยสอนให้ฉันก้าวล่วง และธรรมศาสตร์ ก็ไม่เคยสอนให้ เหยียบย่ำ หยาบคายกับผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพียงเพื่อความสะใจ

ฉันมั่นใจว่า ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ทุกคน รักและหวงแหนประเทศชาติ อยากเห็นประเทศเดินไปตามครรลองที่เหมาะสม ด้วยความรักและสามัคคีของคนในชาติ

ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ขอยืนยันว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ไม่เหมือนจิตวิญญาณของก้าวไกล อย่าปล่อยให้ใคร มาทำให้พวกเราชาวธรรมศาสตร์แตกแยกกัน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเลยค่ะ”

ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (JC38) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘อธิการฯ ม.ธรรมศาสตร์’ ตอบรับเสรีภาพการแต่งกาย นศ. เรียน-สอบ แต่งกายอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่รบกวนผู้อื่น

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต’ ได้โพสต์แถลงการณ์แจ้งเรื่อง ‘เสรีภาพในการแต่งกาย’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า…

“เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เซ็นประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องแนวทางการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ. 2566 เพื่อออกมานิยามว่าการแต่งกายแบบใดถือว่าไม่สุภาพ เพื่อลดช่องโหว่ในการตีความของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ. 2564

โดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอยืนยันถึงเสรีภาพในการแต่งกาย และยืนยันว่าเสรีภาพในการแต่งกายของพวกเราต้องไม่ถูกตีกรอบภายใต้กำหนดนิยามใคร”

‘ศ.เกริกเกียรติ’ อดีตอธิการฯ มธ. ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุรวม 86 ปี

เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.66) เฟซบุ๊ก Thammasat University Library ได้โพสต์อาลัย ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ราชบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2531-2534

และวันเดียวกัน เฟซบุ๊ก ดร.อภิชาติ ดำดี ได้โพสต์ข้อความว่า ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ราชบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน พระราชทานเพลิง เวลา 13.00 น. วันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย.2566

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2480 เป็นราชบัณฑิต และนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

>> สำหรับประวัติการทำงาน ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม

- นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- ประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย Thai PBS (2 สิงหาคม พ.ศ.2551-2 สิงหาคม พ.ศ.2553)
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (พ.ศ.2542-2546)
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (พ.ศ.2536-2542)
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2531-2534)
- คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (27 พฤษภาคม พ.ศ.2525-31 พฤษภาคม พ.ศ.2527)
- นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2521-2523)
- ประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2521-2524)
- กรรมการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ.2536)
- กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ (พ.ศ.2525)
- กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2529)
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ.2534)
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) (พ.ศ.2539)
- กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2549)
- รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) (พ.ศ.2550)

>> ประวัติการศึกษา

- ปี 2507 ปริญญาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปี 2507 ปริญญาพาณิชยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปี 2508 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สมาคมผู้สอบบัญชี
- ปี 2512 ปริญญาโท M.A. University of the Philippines ฟิลิปปินส์
- ปี 2515 ปริญญาโท M.S. University of Illinois สหรัฐอเมริกา
- ปี 2532 ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ปี 2551 ปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- ปี 2552 ปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ชนาธิป’ ขอบคุณทุกแรงซัปพอร์ตที่หนุนจนเรียนจบ หลังคว้าปริญญาตรี ม.ธรรมศาสตร์ มาได้สำเร็จ!!

(25 พ.ย.66) ‘เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์’ ดาวเตะทีมชาติไทย โพสต์ภาพใส่ชุดครุยกลายเป็นบัณฑิตอย่างเป็นทางการ หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาการบริหารจัดการการกีฬา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนหน้านี้ 'เจ ชนาธิป' เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2558 แต่ติดภารกิจการเล่นฟุตบอลที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เขามองว่าคณะนี้อาจจะยากเกินไป ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจย้ายมาศึกษาในคณะสหเวชศาสตร์ สาขาการบริหารจัดการการกีฬา ในที่สุด

และล่าสุด 'เจ ชนาธิป' ได้โพสต์ภาพที่ตัวเองใส่ชุดครุย พร้อมโปรยแคปชันขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ช่วยให้คนสำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย

"ขอบคุณที่ให้โอกาสผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ, ขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน, ขอบคุณน้องๆ ทุกคน, ขอบคุณพี่ดามากๆ ครับ, สุดท้ายนี้ ผมเรียนพร้อมเพื่อนแต่จบพร้อมแพทย์ครับ" ชนาธิป กล่าว

‘งานบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ’ ครั้งที่ 75 เลื่อนอย่างไม่มีกำหนด หลังฝั่งพระเกี้ยว แจง ‘ไม่พร้อม’ เหตุกระชั้นชิดกับวันสถาปนาจุฬาฯ

(5 ธ.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เพจทางการที่ตั้งไว้เพื่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 ที่มีฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ได้ออกประกาศ ‘เลื่อน’ การจัดงานออกไป

โดยระบุว่า ตามที่ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการกลับมาจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานั้น

เนื่องจาก สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอให้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 พิจารณาเลื่อนการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 ออกไปก่อน โดยให้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปว่างานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 คาดว่าจะไม่ถูกจัดภายในปีการศึกษา 2566

ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิสิตนักศึกษาผู้ได้รับมอบหมายให้จัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เข้าใจดีว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและติดตามจากประชาคมชาวธรรมศาสตร์ ประชาคมชาวจุฬาฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวขึ้น ชุมนุมเชียร์ฯ และองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ จึงมีความจำเป็นต้องเรียนแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า การแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 จะไม่ถูกจัดขึ้นภายในปีการศึกษา 2566

ทั้งนี้ ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขออภัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในความไม่สะดวกนี้ และหวังว่าในอนาคต กิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีฯ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านดังเช่นที่ผ่านมา
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ส่วนสาเหตุการเลื่อนนั้น อ้างอิงจากจากที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า ตามที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ได้กำหนดวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 เป็นช่วงที่กระชั้นชิดกับวันจัดงานในโอกาสครบรอบการสถาปนาจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี ทำให้ไม่พร้อมจัดงานในวันดังกล่าว

‘โครงการช้างเผือก’ มธ. ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เดินหน้ามอบโอกาสแก่เด็กเรียนดีจากชนบท เข้าสู่รุ่นที่ 43

ลองย้อนกลับไปในอดีต ‘การศึกษา’ ถือเป็นสิ่งไกลตัวและไม่อาจเอื้อมถึงสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ยิ่งอาศัยในแถบชนบท ห่างไกลความเจริญ ‘การศึกษา’ ก็ถือเป็นเรื่องห่างไกล เกินฝัน ซึ่งต่อให้เด็กคนนั้นหัวดี เรียนเก่งมากแค่ไหน แต่ก็มีความเสี่ยงหมดสิทธิ์ได้รับการศึกษาที่ดี หากครอบครัวไหนที่ทำอาชีพเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ก็ต้องจำใจปิดประตูแห่งโอกาส เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็ก-เยาวชนไทย สะสม ทับถมมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และพยายามหาทางบรรเทาปัญหานี้ให้เบาบางลงบ้าง ด้วยการริเริ่มโครงการช่วยเหลือเด็กเรียนดีจากชนบท ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘โครงการช้างเผือก’

สมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2518 -2519) ได้ศึกษาและพบว่านักศึกษาที่มีโอกาสผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ทำให้มีการสรุปว่าระบบการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยยังมีความเป็นธรรมในเรื่องโอกาสให้การศึกษายังไม่เพียงพอ 

ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้หันมาพิจารณาที่จะแก้ไขปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในส่วนภูมิภาคที่ยากจน และเป็นบุตรธิดาของเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลของผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยติดต่อกันมาโดยตลอด พบว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นบุตรธิดาของเกษตรกรเพียง 7% เท่านั้น 

ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นมา เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้ของการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ที่ประชุมคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มติการประชุมครั้งนั้นเห็นชอบด้วยในหลักการที่ว่า ‘ระบบการสอบคัดเลือกที่เหมาะสม ควรประกอบด้วยการคัดเลือกทั่วไปส่วนหนึ่ง และการคัดเลือกตามระบบโควตาอีกส่วนหนึ่ง’

เมื่อทางทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบในหลักการ ของระบบการสอบคัดเลือกแบบใหม่แล้ว จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้แต่ละมหาวิทยาลัยช่วยกันพิจารณาแนวทางการปรับปรุงระบบ การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้โดยอาศัยเอกสารข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปรับปรุง ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยอธิการบดีและคณะผู้บริหารจึงได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องการรับนักศึกษา เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามระบบโควตา 

แต่กระบวนการทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงัด เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ขึ้นเสียก่อน ทำให้สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไม่เอื้ออำนวยต่อการพิจารณาเรื่องนี้ จนกระทั่งปีการศึกษา 2522 ‘อาจารย์ประภาศน์ อวยชัย’ ได้นำเรื่องการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบโควตามาทบทวนอีกครั้ง พร้อมแต่งตั้ง ‘คณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี’ ขึ้น เพื่อให้หลักการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบโควตาปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว เพราะจะได้สนับสนุนให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดี ที่อยู่ในชนบทและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้ามาสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น

โดยอาจารย์ประภาศน์ แถลงเรื่องนี้แก่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 7/2523 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ว่า…

"ในการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวที่ประชุมคณบดีได้พิจารณาหลายครั้ง โดยมีอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ทบวงมหาวิทยาลัยแต่งตั้งเข้าร่วมชี้แจงอยู่ด้วย ผลการประชุมมีมติเห็นชอบด้วยตามหลักการที่ว่า การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยควรใช้การคัดเลือกตามระบบโควตา ประกอบกับการสอบคัดเลือกทั่วไป ในขณะที่เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่สามารถจะกระทำได้ จึงขอให้ฝ่ายวิชาการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อมหาวิทยาลัยจักได้ดำเนินการต่อไปในปี การศึกษา 2524"

ในปีการศึกษา 2524 มหาวิทยาลัยจึงเริ่มโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบทขึ้นเป็นปีแรก ได้พิจารณารับนักศึกษาจำนวนประมาณ 50 คน จากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดให้เข้าศึกษายังคณะและแผนกอิสระต่าง ๆ โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนจำนวนนักศึกษาที่คณะหรือแผนกอิสระนั้น ๆ รับอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นนั้นต้องเป็นนักเรียนในชั้นมัธยมปลาย มีผลการเรียนดีเด่น มาจากครอบครัวเกษตรกรหรือด้อยฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและโอกาสจะไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้

ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นโครงการค่าใช้จ่ายทั้งหมดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยจึงมีภาระหนักในการหาทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาเหล่านี้ ทำให้ต้องพิจารณาจำกัดจำนวนและภูมิภาคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นประการแรก

ในหนังสือ ปฐมนิเทศและคู่มือนักศึกษาเรียนดีจากชนบท 2530 ระบุข้อความเชิญชวนบริจาคสนับสนุนนักศึกษาเรียนดีจากชนบท ว่า…

“เกษตรกรและชาวชนบท มีจำนวน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด แต่นักเรียนมัธยมปลายที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ในแต่ละปี มีลูกหลานของเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในโอกาสของการศึกษาชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดให้มีโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท โดยรับในระบบโควตาของมหาวิทยาลัยเองปีละ 150 คน”

สำหรับบัณฑิตจากโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบท เช่น

-นายรัฐกรณ์ ทองงาม คณะรัฐศาสตร์ จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างปีการศึกษา 2529 - 2532 ตุลาการศาลปกครอง

-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐปน ชื่นบาล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสิ่งแวคล้อม จากจังหวัดราชบุรี ปีการศึกษา 2529 - 2533 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

-นางสาวทิพวรรณ กมลพัฒนานันท์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ จากจังหวัดราชบุรี ระหว่างปีการศึกษา 2530 - 2533 ผู้อำนวยการกองบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร คณะรัฐศาสตร์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างปีการศึกษา
2531 - 2534 รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

จากปี 2524 ที่เริ่มโครงการ จนถึงปัจจุบันโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือธรรมศาสตร์ช้างเผือก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เดินทางมาถึงรุ่น 43 แล้ว และยังคงเดินหน้ารับนักศึกษาเรียนดีจากชนบทต่อไป เพื่อเป็นการกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศไทย

‘นศ.หนุ่ม’ ตัดสินใจ!! ลาออกจาก ‘ม.ธรรมศาสตร์’ มาเรียน ‘ม.ราม’ แทน ชี้ เพราะเบื่อสังคม หลังพยายามเอาแต่พูดเรื่อง ‘สถาบัน-การเมือง’

(11 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความแชร์เรื่องราวของนักศึกษาหนุ่มรายหนึ่ง หลังตัดสินใจลาออกจาก ‘ม.ธรรมศาสตร์’ แล้วย้ายมาเรียนที่ ‘ม.รามคำแหง’ แทน โดยระบุว่า…

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว มีโอกาสได้เจอเด็กวัยรุ่นแถวบ้านคนหนึ่ง ที่สนามบินนครศรีฯ 

น้องบอกว่าจะเดินทางไปรายงานตัวและหาหอพัก น้องสอบติดคณะวิศวะฯ ม.ธรรมศาสตร์

เขาเป็นลูกชาวสวนยาง พ่อกับแม่กรีดยางส่งให้เรียน และน้องก็เป็นเด็กดี ผลการเรียนระดับมัธยมดีมากๆ

วันนั้น…ก็ได้แต่ยิ้ม (แม้ในใจมีเป็นหมื่นล้านคำที่อยากจะพูด…) และอวยพรให้น้องเดินทางปลอดภัย ให้ตั้งใจเรียน มุ่งมั่นเอาวิชาความรู้ อย่าไปยุ่งกับกิจกรรมและการเมืองให้มาก

วันนี้…ได้พบน้องคนนั้นอีกครั้ง น้องปิดเทอมกลับมาบ้านและน้องตั้งใจมาหาโดยตรง (มาซื้อมันหนึบ🍠) น้องยกมือไหว้ แล้วเล่าให้ฟังว่า…

#ผมลาออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ แล้วนะครับ ตอนนี้ผมไปเรียนที่ ม.รามคำแหง

ด้วยความห่วงใย ก็ถามน้องไปว่า เรียนหนักหรือคะ หรือค้นพบว่า คณะที่เรียนมันไม่ใช่ที่น้องชอบ

น้องตอบว่า ผมเรียนคณะเดิมครับ ผมชอบและเรียนได้ดี แต่ผมเบื่อสังคมที่นั้น เบื่อสิ่งที่เขาพยายามให้ผมรับรู้ เรื่อง #สถาบัน #เรื่องการเมือง ซึ่งมันแตกต่างจากที่ผมเห็น และที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่บอกเล่าตลอดมา...

วันนี้...ก็ได้แต่อวยพร ให้น้องประสบความสำเร็จในการศึกษา 

แต่ในใจ...มั่นใจว่าน้องคนนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้รับสิ่งดีๆ แน่นอน…

ไม่ใช่เพราะน้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัยหรอกนะ แต่เขาเลือกที่จะคิดเอง และไม่ยอมให้ใครจูงจมูกง่ายๆต่างหาก!!

เด็กใต้มันแน่จริงๆ

งานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ 2567 สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรม

เมื่อภาพการแห่ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึง ‘รากเหง้า’ และคำว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ จากเหล่าบรรดาเด็ก ๆ นิสิตที่เป็นผู้จัดกิจกรรมในงานฟุตบอลประเพณีนี้ในทันที ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของกิจกรรมที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้จัดขึ้นอีกด้วย 

>> ‘พระเกี้ยว’ สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ...

สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้นั้น มีประวัติโดยย่อที่น่าสนใจ ดังนี้... 

ด้วย ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

จากนั้นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ จึงปรากฏเป็นประจักษ์หลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 มีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ ซึ่งจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดมาจนเกือบ 60 ปี

ทว่า ในปี พ.ศ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการ ‘ยกเลิก’ กิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและมีการบังคับให้นิสิตให้มาแบกเสลี่ยง ทั้ง ๆ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมากว่า 50 ปีแล้ว และไม่เคยมีข่าวปรากฏว่า นิสิตผู้ปฏิบัติหน้าที่แบกเสลี่ยง ‘ร้องเรียน’ หรือ ‘ประท้วง’ ต่อประเพณีอันดีงามนี้มาก่อน 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ขอเรียกพิธีการนี้ว่า เป็นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ เพราะการนำพาน ‘พระเกี้ยว’ วางไว้บนหลังคารถกอล์ฟไฟฟ้าเข้าสู่สนามเป็นเพียง ‘การแห่’ เนื่องด้วยวิธีและวิถีการปฏิบัติเช่นนี้ บรรดานิสิตเก่าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่น่าจะเห็นด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรมภายใต้การชี้นำและครอบงำของกลุ่มต่อต้านสถาบันหลักของชาติที่ทำสำเร็จทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และกำลังก้าวเข้าสู่ประถมศึกษา 

เรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นหรือกดขี่ข่มเหงแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกร่วมกันในพิธีการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและที่มาแห่งองค์กรของสถาบันที่ผู้เข้าร่วมสังกัด ได้สะท้อนถึงความงดงามแห่งวิถี อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเกียรติของตนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และความไว้วางพระราชหฤทัยขององค์ผู้พระราชทาน

แน่นอนว่า สังคมไทยในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงตอบรับกับกระแสธารที่ผิดแผก ซึ่งผู้คนในสังคมที่เชื่อตาม ยอมตาม อาจได้รับบทเรียนจากการกระทำ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวยูเครน ที่เลือก Volodymyr Zelenskyy ผู้เป็นหุ่นเชิดและเครื่องมือของชาติตะวันตกมาเป็นประธานาธิบดี เปิดฉากท้าทายเดินหน้ารบกับรัสเซียจนประเทศชาติบ้านเมืองพินาศย่อยยับ เป็นหนี้สินต่างประเทศมากมายชนิดที่ไม่สามารถใช้คืนได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทั้งไม่อาจที่จะฟื้นคืนสภาพของบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้ 

คงหวังได้เพียงแค่สวดภาวนาอ้อนวอนให้สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษา คุ้มครองบ้านเมือง ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ต่อชาติบ้านเมือง หากเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ก็ขอให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้บรรดาเหล่าผู้ที่เห็นผิดเป็นถูกจนหลงทางเหล่านี้ ได้ ‘ตาสว่าง’ และ ‘คิดเป็น’ กลับตัวเปลี่ยนใจมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราคนไทยทุกคนในทางที่ ‘ใช่’ ที่ ‘ถูก’ ที่ ‘ควร’ เพื่ออนาคตที่ดีตลอดไปด้วย...เทอญ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top