‘โครงการช้างเผือก’ มธ. ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เดินหน้ามอบโอกาสแก่เด็กเรียนดีจากชนบท เข้าสู่รุ่นที่ 43

ลองย้อนกลับไปในอดีต ‘การศึกษา’ ถือเป็นสิ่งไกลตัวและไม่อาจเอื้อมถึงสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ยิ่งอาศัยในแถบชนบท ห่างไกลความเจริญ ‘การศึกษา’ ก็ถือเป็นเรื่องห่างไกล เกินฝัน ซึ่งต่อให้เด็กคนนั้นหัวดี เรียนเก่งมากแค่ไหน แต่ก็มีความเสี่ยงหมดสิทธิ์ได้รับการศึกษาที่ดี หากครอบครัวไหนที่ทำอาชีพเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ก็ต้องจำใจปิดประตูแห่งโอกาส เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็ก-เยาวชนไทย สะสม ทับถมมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และพยายามหาทางบรรเทาปัญหานี้ให้เบาบางลงบ้าง ด้วยการริเริ่มโครงการช่วยเหลือเด็กเรียนดีจากชนบท ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘โครงการช้างเผือก’

สมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2518 -2519) ได้ศึกษาและพบว่านักศึกษาที่มีโอกาสผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ทำให้มีการสรุปว่าระบบการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยยังมีความเป็นธรรมในเรื่องโอกาสให้การศึกษายังไม่เพียงพอ 

ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้หันมาพิจารณาที่จะแก้ไขปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในส่วนภูมิภาคที่ยากจน และเป็นบุตรธิดาของเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลของผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยติดต่อกันมาโดยตลอด พบว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นบุตรธิดาของเกษตรกรเพียง 7% เท่านั้น 

ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นมา เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้ของการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ที่ประชุมคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มติการประชุมครั้งนั้นเห็นชอบด้วยในหลักการที่ว่า ‘ระบบการสอบคัดเลือกที่เหมาะสม ควรประกอบด้วยการคัดเลือกทั่วไปส่วนหนึ่ง และการคัดเลือกตามระบบโควตาอีกส่วนหนึ่ง’

เมื่อทางทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบในหลักการ ของระบบการสอบคัดเลือกแบบใหม่แล้ว จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้แต่ละมหาวิทยาลัยช่วยกันพิจารณาแนวทางการปรับปรุงระบบ การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้โดยอาศัยเอกสารข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปรับปรุง ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยอธิการบดีและคณะผู้บริหารจึงได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องการรับนักศึกษา เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามระบบโควตา 

แต่กระบวนการทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงัด เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ขึ้นเสียก่อน ทำให้สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไม่เอื้ออำนวยต่อการพิจารณาเรื่องนี้ จนกระทั่งปีการศึกษา 2522 ‘อาจารย์ประภาศน์ อวยชัย’ ได้นำเรื่องการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบโควตามาทบทวนอีกครั้ง พร้อมแต่งตั้ง ‘คณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี’ ขึ้น เพื่อให้หลักการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบโควตาปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว เพราะจะได้สนับสนุนให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดี ที่อยู่ในชนบทและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้ามาสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น

โดยอาจารย์ประภาศน์ แถลงเรื่องนี้แก่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 7/2523 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ว่า…

"ในการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวที่ประชุมคณบดีได้พิจารณาหลายครั้ง โดยมีอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ทบวงมหาวิทยาลัยแต่งตั้งเข้าร่วมชี้แจงอยู่ด้วย ผลการประชุมมีมติเห็นชอบด้วยตามหลักการที่ว่า การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยควรใช้การคัดเลือกตามระบบโควตา ประกอบกับการสอบคัดเลือกทั่วไป ในขณะที่เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่สามารถจะกระทำได้ จึงขอให้ฝ่ายวิชาการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อมหาวิทยาลัยจักได้ดำเนินการต่อไปในปี การศึกษา 2524"

ในปีการศึกษา 2524 มหาวิทยาลัยจึงเริ่มโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบทขึ้นเป็นปีแรก ได้พิจารณารับนักศึกษาจำนวนประมาณ 50 คน จากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดให้เข้าศึกษายังคณะและแผนกอิสระต่าง ๆ โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนจำนวนนักศึกษาที่คณะหรือแผนกอิสระนั้น ๆ รับอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นนั้นต้องเป็นนักเรียนในชั้นมัธยมปลาย มีผลการเรียนดีเด่น มาจากครอบครัวเกษตรกรหรือด้อยฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและโอกาสจะไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้

ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นโครงการค่าใช้จ่ายทั้งหมดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยจึงมีภาระหนักในการหาทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาเหล่านี้ ทำให้ต้องพิจารณาจำกัดจำนวนและภูมิภาคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นประการแรก

ในหนังสือ ปฐมนิเทศและคู่มือนักศึกษาเรียนดีจากชนบท 2530 ระบุข้อความเชิญชวนบริจาคสนับสนุนนักศึกษาเรียนดีจากชนบท ว่า…

“เกษตรกรและชาวชนบท มีจำนวน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด แต่นักเรียนมัธยมปลายที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ในแต่ละปี มีลูกหลานของเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในโอกาสของการศึกษาชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดให้มีโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท โดยรับในระบบโควตาของมหาวิทยาลัยเองปีละ 150 คน”

สำหรับบัณฑิตจากโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบท เช่น

-นายรัฐกรณ์ ทองงาม คณะรัฐศาสตร์ จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างปีการศึกษา 2529 - 2532 ตุลาการศาลปกครอง

-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐปน ชื่นบาล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสิ่งแวคล้อม จากจังหวัดราชบุรี ปีการศึกษา 2529 - 2533 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

-นางสาวทิพวรรณ กมลพัฒนานันท์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ จากจังหวัดราชบุรี ระหว่างปีการศึกษา 2530 - 2533 ผู้อำนวยการกองบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร คณะรัฐศาสตร์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างปีการศึกษา
2531 - 2534 รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

จากปี 2524 ที่เริ่มโครงการ จนถึงปัจจุบันโครงการรับนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือธรรมศาสตร์ช้างเผือก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เดินทางมาถึงรุ่น 43 แล้ว และยังคงเดินหน้ารับนักศึกษาเรียนดีจากชนบทต่อไป เพื่อเป็นการกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศไทย