Thursday, 17 April 2025
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

7 เมษายน พ.ศ. 2562 ‘ในหลวง ร.10’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ “ขอให้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเอง-ส่วนรวม”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 1

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราโชวาท โดยมีความว่า “ขอให้บัณฑิต นำวิชาความรู้ที่เรียนมานั้น นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนเมตตาธรรม และความตั้งใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนตนเองได้ต่อไป”

'มธ.' แจง!! มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเคสดัง หลัง 'ไอลอว์' ตั้งคำถามเล่มจบ ป.เอก 'สว.สมชาย'

(24 เม.ย.67) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่สังคมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการด้วยเหตุการณ์ลอกงานทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายหนึ่งนั้น

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอชี้แจงว่า ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่เป็นการทั่วไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้ดำเนินการสรุปข้อเท็จจริงและเสนอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อไป

ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอยืนยันว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกำชับและส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางวิชาการ เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สืบไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก iLaw ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ 'รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย' ของนายสมชาย แสวงการ สว. ที่ระบุว่า พบความคล้ายกับข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งหลายจุดนั้น เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

‘มธ.’ แจง!! ประเด็นช็อกสังคม ‘นศ.หญิง’ ทำร้าย ‘นศ.ชาย’ สาหัส ชี้ เตรียมประสานฝ่ายวินัยฯ เพื่อดำเนินการสืบข้อเท็จจริงแล้ว

(25 เม.ย.67) เป็นประเด็นช็อกสังคมกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ หลังเพจดัง อีซ้อขยี้ข่าว ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของนักศึกษาสาวในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยบอกว่า มีนักศึกษาสาวปี 3 ทำร้ายร่างกายแฟนหนุ่มซึ่งเป็น รุ่นน้องปี 1 ด้วยการใช้มีดปาดคอภายในหอพัก อาการสาหัส แถมคนก่อเหตุยังลอยหน้าลอยตาเข้าเรียนตามปกติได้อีก แปลกใจที่เรื่องเงียบ

ล่าสุด วันนี้ 25 เม.ย.67 มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า แถลงการณ์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง เหตุการณ์นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำร้ายร่างกายเพื่อนนักศึกษา 

จากเหตุการณ์นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย เพื่อนนักศึกษาภายในหอพักนอกมหาวิทยาลัยฯ ที่เป็นข่าวทาง Social Media ในช่วงที่ผ่านมา

ทางฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการเข้าดูแลนักศึกษาผู้ประสบเหตุวันเกิดเหตุดังกล่าว และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว

ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดกับทั้ง 2 ฝ่าย คือ นักศึกษาคู่กรณี และนักศึกษาผู้เสียหาย

รวมถึงประสานงานผู้ปกครองของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เตรียมดำเนินการประสานงานฝ่ายวินัยนักศึกษาเพื่อดำเนินการสืบข้อเท็จจริง

และสอบสวนให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวินัยนักศึกษา และดำเนินการตามวินัยนักศึกษาต่อไป

เปิดประวัติ-วิสัยทัศน์ ‘รศ.ดร.พิภพ อุดร’ หนึ่งในแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้อธิการบดี ‘มธ.’

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ แทน 'รศ.เกศินี วิฑูรชาติ' อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 24 พ.ค. 67 โดยกำหนดให้มีการเสนอชื่อเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ จำนวน 51 ส่วนงาน

ต่อมาวันที่ 19 เม.ย. 67 คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดให้ผู้ตอบรับการทาบทามหรือผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานและแถลงแนวทางการบริหารต่อคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และศิษย์เก่าของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับฟังการแถลงด้วย

สำหรับหนึ่งในรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอ คือรศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ โดยมีประวัติดังนี้

>>คุณวุฒิการศึกษา
-ปี 2542 บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) สาขาการตลาด จาก Kenan-Flagler Business School, University of North Carolina at Chapel Hill, USA
-ปี 2535 บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) สาขาการตลาด จาก School of Business and Public Administration, George Washington University, USA
-ปี 2532 บัญชีบัณฑิต (B.Acc.) จาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

>>การทำงาน/การดำรงตำแหน่งทางด้านบริหาร
-คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรควบ 5 ปี ตรี-โท
-รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

>>ประสบการณ์อื่น ๆ
-คณะกรรมการตรวจสอบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-อนุกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้านกฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับ
-ประธานคณะกรรมการวิชาการประจำคณะฯ
-กรรมการสภาอาจารย์
-กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

>>ประวัติการฝึกอบรมที่สำคัญ    
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 14
- หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 23
- Directors Certification Program (DCP) รุ่นที่ 270
- Directors Accreditation Program (DAP) รุ่นที่ 155
- Advanced Audit Committee Program (AACP) รุ่นที่ 36

ทั้งนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร ได้เปิดเผยแนวคิด Thammasat Next หรือ Thammasat for Better Life..Better Society แนวทางสร้างสรรค์ ชีวิตทำงาน เพื่อประชาคม ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pipop Udorn’ โดยมี 4 หัวข้อหลัก คือ
1. ระบบงาน ‘ยืดหยุ่น’ และ ‘สมาร์ท’
-เลิกใช้ไม้บรรทัดเดียววัดทุกหน่วยงาน
-Work From Anywhere
-ใช้ AI ช่วยลดปริมาณงาน และเพิ่มคุณภาพงาน

2. เส้นทางอาชีพเลือกได้
-เลือกเติบโตได้ตามสถานบริการ หรือ วิชาชีพ
-สร้างทักษะรองรับอาชีพที่ 2
เรียนต่อ ป.โท ฟรี ในแพลตฟอร์ม ‘TUXSA’

3. คุณภาพชีวิตดีขึ้น
-สวัสดิการยืดหยุ่นทั้งวงเงิน และวงเวลา
-ดูแลตั้งแต่แรกเข้าถึงหลังเกษียณ
-สวัสดิการบุคลากร ชัดเจน และ เท่าเทียม

4. คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีก
-จัดสิทธิพิเศษและส่วนลดค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
-เพิ่มจำนวนหอพักบุคลากร
-โรงอาหาร คือ สวัสดิการ ร้านค้าไม่เสียค่าเช่า ปรับราคาให้ถูกลงและเพิ่มคุณภาพ

นอกจากนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์และทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต ผ่านเวทีดีเบต ‘เวทีสุดท้าย โค้งสุดท้าย’ 

รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า มีความตั้งใจอยากจะนำพามหาวิทยาลัยให้ก้าวไกลไปในเวทีโลก ปรับเปลี่ยนหลายรูปแบบเพื่อที่จะทำให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลก เพราะว่าโลกในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย

ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เรียกว่า ‘ความรู้อายุสั้น’ แต่ ‘คนอายุยาว’ มหาวิทยาลัย เดินในรูปแบบเดิมไม่ได้ ถนนทุกสายไม่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป

จึงมีหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะทำให้ยังมีความหมายในสังคม จึงอยากอาสาพามหาวิทยาลัยไปเวทีโลก สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและก็ยืนหยัดในจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ เดินหน้าสร้างความสุขให้กับบุคลากรให้กับนักศึกษาในทุก ๆ กลุ่ม

รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น Platform ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเรียนรู้จาก Partner ต่าง ๆ และคอยทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก มาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศ เราจะตอบโจทย์ ของการที่จะทำให้ คนมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข สุขภาพดีและแข็งแรงขึ้นด้วย

“โลกที่ ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว ความรู้ที่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอให้ทำงานไปได้จนเกษียณ ทำอย่างไร จะเปิดให้คนกลับมาเติมเต็มความรู้ และทักษะที่ขาดหายได้ง่าย ๆ และตอบโจทย์การเรียนรู้ในทุก ๆ Generation อันนี้คือหัวใจ โดยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ในการคิดในการทำ เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าตัวเองเสมอ และนี่คือจุดสำคัญของมธ."

ส่วนการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการแสดงออกทางการเมือง รศ.ดร.พิภพ บอกว่า จิตวิญญาณธรรม ศาสตร์ มี 3 เสาหลัก คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักศึกษาและบุคลากรทุกกลุ่ม ในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีภาพ ภายใต้กฎหมาย ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และความรับผิดชอบของผู้แสดงความคิดเห็น

ในฐานะอธิการบดีเราจะต้องเจรจากับหน่วยงานความมั่นคง หากมีการมาคุกคามพื้นที่ปลอดภัยในสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่ได้และไม่ควรทำ

ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องเจรจากับตำรวจที่ดูแลเรื่องความมั่นคงโดยรอบมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตทั้ง4 ศูนย์ หากไม่ใช่เหตุละเมิด หรือรุนแรงเฉพาะหน้า ที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข จัดการ ต้องขออนุญาตมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าพื้นที่ ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ และเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

โดยต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างมีสันติภาพ และความสร้างสรรค์ การขัดขวางการแสดงออกไม่ใช่สิ่งที่ดีและมันจะกลายเป็นระเบิดเวลาของสังคมในที่สุด

ร.ศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ที่การันตีเสรีภาพและความปลอดภัยในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นทั้งนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร หน่วยงานความมั่นคงต้องทำงาน อันนี้เราเข้าใจ แต่ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน และก่อนเข้าพื้นที่ควรจะต้องมีการขออนุญาตและเจรจากับเราเสมอ โดยที่เราจะจัดบุคลากรของเราร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คู่กับฝ่ายมั่นคงและความปลอดภัย

'ดร.นิว' หวัง!! อธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ต้องมีคุณธรรม นำพามหาลัยกลับสู่ดินแดนแห่งผู้รัก 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์'

(29 เม.ย. 67) นายศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ 'ดร.นิว' นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suphanat Aphinyan' ในหัวข้อ 'อธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ต้องมีคุณธรรม' ระบุว่า...

30 เมษายน 2567 ก็จะทราบแล้วว่าอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นใคร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขั้นตอนสุดท้าย จึงขอฝากไปถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ช่วยตระหนักโดยคิดคำนึงถึงหลักคุณธรรมและจริยธรรมในการพิจารณาคัดเลือก เพราะถือได้ว่าคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไม่สร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็กลายเป็นความตกต่ำจนธรรมศาสตร์ได้กลายเป็นเพียงแค่บ่อน้ำบำบัดความกระหายอำนาจของเครือข่ายอาจารย์กับนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบสามนิ้ว อีกทั้งยังเป็นบ่อเงินบ่อทองของเครือข่ายที่ใช้ตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องด้วยความฉ้อฉล 

ฉะนั้น อำนาจที่อยู่ในมือของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนจิตสำนึกที่มีอยู่ในกรรมการสภามหาวิทยาลัยแต่ละท่าน จึงมีส่วนสำคัญในการได้มาซึ่งอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม หวังว่าสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกท่านจะตัดสินใจบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีความโปร่งใสซื่อตรงต่อคะแนนและผลการสรรหาที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน 

'ธรรมศาสตร์' ต้องเป็นดินแดนแห่งความถูกต้องของคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสรีภาพทุกตารางนิ้วต้องเกิดจากความรับผิดชอบทุกตารางเซน เพราะสิทธิเสรีภาพย่อมมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบเสมอถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชนก็ต้องรักแบบสันติประชาธรรม ไม่ใช่จุดไฟความแตกแยกแล้วหลอกใช้ประชาชนไปล้มล้างการปกครอง 

'ธรรมศาสตร์และการเมือง' ต้องเป็นพื้นที่ของการศึกษาเรียนรู้ที่เท่าทันการเมือง ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของอาจารย์กับนักการเมือง ต้องไม่ตกหลุมพรางประวัติศาสตร์บิดเบือนที่เชิดชูคณะราษฎรจนมัวเมา ต้องไม่สร้างความแตกแยกบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาติ แต่ต้องช่วยกันสร้างประชาธิปไตยด้วยความรู้รักสามัคคี ราชประชาสมาสัยนำไทยสู่อนาคต 

ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่าอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่จะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อันจะนำพาธรรมศาสตร์ออกจากความมืดมิดไปสู่แสงสว่าง อยากเห็นอธิการบดีธรรมศาสตร์คนใหม่ที่ทันสมัย จะต้องไม่ใช่คนที่จูงจมูกของนักศึกษาไปรับใช้การเมือง ไม่ใช่คนด่างพร้อยจนเป็นที่ติฉินนินทาของสังคม แต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด 

‘สภานักศึกษา มธ.’ มีมติมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ ให้ ‘บุ้ง เนติพร’ พร้อมยกย่อง!! ในฐานะ ‘ผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง – ปกป้องประชาธิปไตย’

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติให้ 'เนติพร เสน่ห์สังคม' ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ประจำปี 2567

รางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย คือรางวัลโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มอบให้แก่ผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อนและพี่ของเราที่ได้สละชีวิตต่อความอยุติธรรมและความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

โดยจะมีการมอบรางวัลในงานรำลึก 48 ปี 6 ตุลาฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สมคิด - ไตรรงค์ – เจิมศักดิ์ - ศิริกัญญา ติดโผศิษย์เก่าดีเด่นเศรษฐศาสตร์ มธ. ครบรอบ 75 ปี

(8 พ.ย.67) คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.เชิดชูเกียรติศิษย์เก่า ในวาระครบรอบ 75 ปี คนดังทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ ได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นเพียบ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ นางเกศรา มัญชุศรี นายกสมาคมฯ ประกาศผลการคัดเลือกศิษย์เก่าเกียรติยศฯ ศิษย์เก่าดีเด่น และผู้ทำคุณประโยชน์ เพื่อเชิดชูเกียรติในวาระครบรอบ 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับ ศิษย์เก่าเกียรติยศ ในวาระครบรอบ 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ 7 ท่าน ประกอบด้วย 1. ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, 2. ประกิต อภิสารธนรักษ์, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, มนู เลียวไพโรจน์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อรัญ ธรรมโน และ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

นอกจากนี้ยังมีชื่อ นักการเมือง – วิชาการ- นักธุรกิจดัง ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่น นครั้งนี้อีก 75 ท่าน เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, วิโรจน์ ณ ระนอง, วิรไท สันติประภพ, สมชัย จิตสุชน, สมภพ มานะรังสรรค์, เกรียงไกร เธียรนุกูล, ศิริกัญญา ตันสกุล, ศิริพล ยอดเมืองเจริญ และสันติสุข มะโรงศรี เป็นต้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top