งานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ 2567 สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรม

เมื่อภาพการแห่ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึง ‘รากเหง้า’ และคำว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ จากเหล่าบรรดาเด็ก ๆ นิสิตที่เป็นผู้จัดกิจกรรมในงานฟุตบอลประเพณีนี้ในทันที ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของกิจกรรมที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้จัดขึ้นอีกด้วย 

>> ‘พระเกี้ยว’ สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ...

สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้นั้น มีประวัติโดยย่อที่น่าสนใจ ดังนี้... 

ด้วย ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

จากนั้นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ จึงปรากฏเป็นประจักษ์หลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 มีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ ซึ่งจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดมาจนเกือบ 60 ปี

ทว่า ในปี พ.ศ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการ ‘ยกเลิก’ กิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและมีการบังคับให้นิสิตให้มาแบกเสลี่ยง ทั้ง ๆ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมากว่า 50 ปีแล้ว และไม่เคยมีข่าวปรากฏว่า นิสิตผู้ปฏิบัติหน้าที่แบกเสลี่ยง ‘ร้องเรียน’ หรือ ‘ประท้วง’ ต่อประเพณีอันดีงามนี้มาก่อน 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ขอเรียกพิธีการนี้ว่า เป็นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ เพราะการนำพาน ‘พระเกี้ยว’ วางไว้บนหลังคารถกอล์ฟไฟฟ้าเข้าสู่สนามเป็นเพียง ‘การแห่’ เนื่องด้วยวิธีและวิถีการปฏิบัติเช่นนี้ บรรดานิสิตเก่าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่น่าจะเห็นด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรมภายใต้การชี้นำและครอบงำของกลุ่มต่อต้านสถาบันหลักของชาติที่ทำสำเร็จทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และกำลังก้าวเข้าสู่ประถมศึกษา 

เรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นหรือกดขี่ข่มเหงแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกร่วมกันในพิธีการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและที่มาแห่งองค์กรของสถาบันที่ผู้เข้าร่วมสังกัด ได้สะท้อนถึงความงดงามแห่งวิถี อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเกียรติของตนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และความไว้วางพระราชหฤทัยขององค์ผู้พระราชทาน

แน่นอนว่า สังคมไทยในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงตอบรับกับกระแสธารที่ผิดแผก ซึ่งผู้คนในสังคมที่เชื่อตาม ยอมตาม อาจได้รับบทเรียนจากการกระทำ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวยูเครน ที่เลือก Volodymyr Zelenskyy ผู้เป็นหุ่นเชิดและเครื่องมือของชาติตะวันตกมาเป็นประธานาธิบดี เปิดฉากท้าทายเดินหน้ารบกับรัสเซียจนประเทศชาติบ้านเมืองพินาศย่อยยับ เป็นหนี้สินต่างประเทศมากมายชนิดที่ไม่สามารถใช้คืนได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทั้งไม่อาจที่จะฟื้นคืนสภาพของบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้ 

คงหวังได้เพียงแค่สวดภาวนาอ้อนวอนให้สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษา คุ้มครองบ้านเมือง ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ต่อชาติบ้านเมือง หากเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ก็ขอให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้บรรดาเหล่าผู้ที่เห็นผิดเป็นถูกจนหลงทางเหล่านี้ ได้ ‘ตาสว่าง’ และ ‘คิดเป็น’ กลับตัวเปลี่ยนใจมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราคนไทยทุกคนในทางที่ ‘ใช่’ ที่ ‘ถูก’ ที่ ‘ควร’ เพื่ออนาคตที่ดีตลอดไปด้วย...เทอญ 


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES