Tuesday, 14 May 2024
ปิยบุตร

'สุวินัย' มองการโดนคดีม.112ของ 'ปิยบุตร' เป็นโอกาสทองพิสูจน์ความเป็น 'คนจริง'

'สุวินัย' มองอีกมุมการโดนคดีม.112ของ 'ปิยบุตร' คือโอกาสทองที่จะได้พิสูจน์ความเป็น'คนจริง'ชี้ต้องรับผิดชอบในความคิดและการกระทำของตนเอง เหน็บคิดเป็นนักปฏิวัติได้มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่าลวงโลกเป็นวิญญูชนจอมปลอม

(17 มิ.ย.65) ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กภายหลังนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เรื่อง "เมื่อผมกลายเป็นผู้ต้องหาในความผิด 112 " มีเนื้อหาดังนี้

ผมว่าคนแต่ละคนมีจุดพีคในชีวิตไม่เหมือนกันนะ

ในกรณีของอาจารย์ปิยบุตร จุดพีคของเขาน่าจะเป็นช่วงปี 2018-9

ในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และผู้นำทางความคิดเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อคนรุ่นใหม่ในตอนนั้น ... จนเป็นที่มาของขบวนการ"ชูสามนิ้ว(เพื่อล้มเจ้า)" ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2020

วันนี้ อาจารย์ปิยบุตรถูกตั้งข้อหาคดี ม.112 ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่อาจารย์ปิยบุตรจะยืดอกไปพิสูจน์ตัวเองในศาล เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกลูกศิษย์สาวกจำนวนหนึ่งที่โดนคดี ม.112 ไปก่อนแล้ว ... เพราะอย่างน้อยนี่คือความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมของคนที่เคยเป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

'ปิยบุตร' เปิด 8 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีผิด ม.112

(21 มิ.ย.2565) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ เปิด 8 โพสต์ปิยบุตร ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกแจ้งความดำเนินคดีผิด ม.112

ในช่วงปี 2564 สถานการณ์การเมืองเข้มข้น การแสดงออกของม็อบเยาวชนและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังเป็นไปอย่างดุเดือดแหลมคม มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมากจากการแสดงออกถึงสถาบันกษัตริย์

ผมเองอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยกันได้อย่างปลอดภัย เอาใจเขามาใส่ใจเรา พูดคุยกันด้วยเหตุผลและวุฒิภาวะ ผมจึงประมวลข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้อยู่คู่กับสังคมไทยได้ในยุคปัจจุบัน แต่การกระทำของผมเช่นนี้กลับถูกกล่าวหา นำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 112

โดยข้อเท็จจริงทั้งหมด ตามนี้:

“เปิดร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เดินหน้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมแนบเอกสารร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช….” โพสต์เมื่อ (10 ส.ค.64) https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/3076450455972150

2.“ข้อเรียกร้องแห่งยุคสมัย ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โพสต์เมื่อ (17 ส.ค. 64) https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/photos/a.2260389780911559/3081844162099446/ 

3.“กษัตริย์กับนายกรัฐมนตรี ใครมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งกันแน่?” โพสต์เมื่อ (17 ก.ย. 64) https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/photos/a.2260389780911559/3105582616392267/

4.ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ในสังคมหนึ่ง ความคิดคนแต่ละคนแตกต่างกันมากมาย มีคนรัก คนเฉย ๆ คนไม่ชอบ ถึงบังคับยังไงก็ไม่เปลี่ยนความคิดเลย แต่ทำอย่างไรที่เราจะอยู่ในสังคมเดียวกันได้ เหลือทางเดียวคือเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออก แล้วอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกันต่อความเห็นที่แตกต่าง” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1457578245369393154

5.ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ประยุทธ์ตบหัวลูกน้องอ้างว่าทำด้วยความเอ็นดู ดังนั้น ประยุทธ์ก็ยอมให้ลูกพี่ตนเองตบหัวด้วยความเอ็นดูเช่นกัน ปัญหามีอยู่ว่าในสายตาของประยุทธ์ ประชาชนไม่ใช่ลูกพี่ของเขา แล้ว “ลูกพี่” ของเขาคือใคร? ต้องไปดูว่า “ใคร” ที่ตบหัวสั่งประยุทธ์ แล้วเขาไม่หือ ยิ้มรับ และยอมทำตามสั่ง” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1443897877030334465

*6.ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราย์จำแลงได้อย่างสันติ แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นไปได้และทำให้ทุกคนอยู่อย่างสันติ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1452124952828678144

'ปิยบุตร' ผุดแคมเปญให้ ส.ส. เป็นได้ 1-2 วาระ เพื่อหยุดการส่งต่ออำนาจ ทลายสมบัติประจำตระกูล 

(13 ส.ค. 65) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกล่าวถึงการทำหน้าที่ของส.ส. และระบบการเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

หน้าที่ ส.ส. / การทำพื้นที่ / การเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่หลายประการ

ประการแรก เสนอ พิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และอนุมัติพระราชกำหนด

ประการที่สอง ลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประการที่สาม ตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกลไกต่างๆ ของรัฐสภา เช่น การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญ

ประการที่สี่ เป็นผู้แทนของประชาชน นำปัญหาของประชาชนมาอภิปรายในสภา ผลักดันเป็นกฎหมาย หรือเสนอแนะฝ่ายบริหาร

ประการที่ห้า อำนาจหน้าที่อื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้กระทำในนามของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา เช่น รับทราบรายงานประจำปีขององค์กรต่างๆ ให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่ง ประกาศสงคราม รับทราบการขึ้นครองราชย์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในระบบรัฐสภาแล้วบทบาทของ ส.ส. คือ งานเกี่ยวกับการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร

เมื่อพิจารณาบทบาทและภารกิจของ ส.ส.เช่นนี้แล้ว การตัดสินใจเลือก ส.ส. ก็น่าจะพิจารณาเลือกคนไปเป็น 'ผู้แทน' ในการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นสำคัญ

เช่นเดียวกัน ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้นสังกัด ก็ควรรณรงค์และนำเสนอแนวนโยบายของตนและพรรคเกี่ยวกับการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่เหตุใดการเมืองไทย ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนจึงเลือก 'ผู้แทนราษฎร' โดยพิจารณาจากการดูแลประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง? เหตุใดประชาชนจึงเรียกร้องหรือขอการช่วยเหลือสนับสนุนจาก ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตนหรือผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตน?

ทั้งๆ ที่การดูแลประชาชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ของรัฐมนตรี ข้าราชการ และนายกฯ ท้องถิ่น พวกเขาเหล่านี้มีทั้งอำนาจตามกฎหมาย มีทั้งบุคลากร มีทั้งงบประมาณ ในขณะที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย สั่งการข้าราชการก็ไม่ได้ งบประมาณก็ไม่มี

ยิ่งไปกว่านั้น หาก ส.ส.คนใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ ก็อาจต้องรับโทษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อีกด้วย เช่นเดียวกัน เหตุใด ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่างก็แข่งขันกันสร้างผลงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเอาการเอางาน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย? แล้วในการแข่งขันเช่นว่านี้ มีบ้างหรือไม่ที่ช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว โดนไม่คาดหวังว่าประชาชนจะเลือกตนเป็น ส.ส.? มีใครที่พร้อมเป็น 'นักบุญ' ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ได้ต้องการการตอบแทนเป็น 'คะแนนเสียง' ?

ปัญหาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเหตุต้นตอ 2 ประการ

ประการแรก รัฐบาลไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนได้ถ้วนทั่ว การเรียกร้องเอากับรัฐบาล รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการประจำ เป็นเรื่องยากลำบาก มีอุปสรรค และพวกนี้อยู่ไกลประชาชน ทำให้ประชาชนเรียกหาคนที่ใกล้เขาที่สุด นั่นคือ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตนเอง

ประการที่สอง การไม่กระจายอำนาจ/งบ ให้กับท้องถิ่นมากเพียงพอต่อการจัดการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนได้ดีเพียงพอ ประชาชนจำต้องพึ่งพิงและเรียกร้องเอากับ ส.ส. ที่เป็น 'ผู้แทน' ของเขาในเขตพื้นที่

เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ปฏิเสธไม่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งตนได้หรือไม่?

แน่นอนว่า ไม่มีกฎหมายที่ไหนมาบังคับให้ ส.ส.ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง (เพราะอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และบุคลากรเป็นของรัฐบาล) แต่คงไม่มี ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส.คนใดกล้าปฏิเสธไม่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง เพราะ หากไม่ช่วยเหลือ ก็เสี่ยงที่จะ 'สอบตก' ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในขณะที่ประชาชนก็รู้สึกว่านี่คือ 'ผู้แทน' ที่พวกเขาเลือกมา นี่คือ 'ผู้แทน' ในพื้นที่บ้านของพวกเขา และใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด ก็ต้องเรียกหาเรียกใช้ได้ นี่จึงเป็นที่มาที่ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส. ต้องทำในสิ่งที่แวดวงการเมืองการเลือกตั้งเรียกกันว่า 'การทำพื้นที่'

ปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อไป ก็คือ 'การทำพื้นที่' ต้องใช้เงิน ใช้ทรัพยากร เพื่อเป็น 'เครื่องมือ' ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ในการหาโอกาสเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดประชาชน เริ่มตั้งแต่ ทำบุญใส่ซองในงานบวช งานแต่ง งานศพ จัดหาน้ำดื่ม อาหาร โต๊ะ เก้าอี้ หลังคาผ้าใบ เต๊นท์ ในงานประเพณีต่างๆ

ฉีดยาฆ่ายุงลาย ทำหมันหมา ตัดผมฟรี ตัดแว่นฟรี ตรวจโควิดฟรี หาช่องทางให้ได้วัคซีน หารถพยาบาลนำส่ง ถุงยังชีพ ในยามประสบภัยพิบัติ ฝากลูกเข้าโรงเรียน / ฝากเพื่อนสนิทมิตรสหายในเครือข่ายการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งได้เลื่อนขั้น วิ่งเต้น (เรียกให้ดูดี คือ ประสานงาน) กับรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เอางบประมาณ เอาโครงการ มาในพื้นที่เลือกตั้งของตน ไม่มีสนามบิน ก็เอาสนามบินมาลง ไม่มีถนน ก็เอาถนนมาลง เป็นต้น ฯลฯ

แล้ว ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.จะหางบประมาณมาช่วยจากไหน? เอาเงินจากไหนมาซื้อของแจกหรือจัดทำบริการฟรีให้ประชาชน? เอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าน้ำมันรถ? เอาเงินจากไหนมาจ่ายให้ทีมงานที่รับหน้าที่ดูแลประชาชน?

ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส.จะ 'วิ่งเต้น' กับรัฐมนตรีอย่างไร เพื่อให้รัฐมนตรีนำงบประมาณและโครงการมาลงในพื้นที่? หาก ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคฝ่ายค้านล่ะ จะทำอย่างไรถึงจะ 'วิ่งเตัน' กับรัฐมนตรีได้?

ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งการก่อสร้างการเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์

ที่เรียกกันว่า 'บ้านใหญ่ประจำจังหวัด' หรือ 'ตระกูลการเมือง' ก็มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องเหล่านี้

เมื่อ ส.ส. หรือ ผู้สมัคร ส.ส. ต้องการเงินและทรัพยากรใน 'การทำพื้นที่' แต่ละเดือนๆ เงินเดือน ส.ส.ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้แน่นอน แล้วจะทำอย่างไร? ถ้าผู้สมัคร ส.ส.หรือ ส.ส.คนนั้น มีสถานะทางเศรษฐกิจดี มีธุรกิจ มีมรดกตกทอด มาจากครอบครัวเศรษฐี ก็สามารควักเงินตนเองได้ แต่ถ้าไม่มีล่ะ?

ผู้มีทุนผู้มั่งมีก็จะเข้ามา เสนอซื้อ เสนอให้ ลงทุนให้ จ่ายรายเดือนให้แก่ ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส. ไม่ก็ ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส.ก็วิ่งเร่ขาย หา 'มุ้ง' สังกัด โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การลงทุนฟรีๆ ไม่มี ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับการที่ ส.ส.ผู้สมัคร ส.ส.นั้นๆ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของเขา หรือที่เรียกกันว่า 'มุ้ง'

ผู้มีทุนผู้มั่งมีสร้าง 'มุ้ง' กักตุนจำนวน ส.ส.ในสังกัด เมื่อครบจำนวน ก็นำไปแลกเป็นรัฐมนตรี มุ้งตนเองได้ ส.ส.มากเท่าไร ก็มีพวกของตนไปเป็นรัฐมนตรีมากเท่านั้น มุ่งตนเองได้ ส.ส.มากเท่าไร ก็แลกเอากระทรวงเกรดเอที่มีงบประมาณมหาศาลได้มากเท่านั้น

เมื่อ 'ผู้ลงทุน' 'หัวหน้ามุ้ง' 'ลูกพี่' ได้ไปเป็นรัฐมนตรี ก็ตามมาด้วยการหาเงินคืนทุนที่จ่ายไป ทุจริตคอร์รัปชัน หัวคิว/เงินทอนจากโครงการต่างๆ จึงเกิดขึ้น ให้สัมปทานโครงการต่างๆ แก่บริษัทพรรคพวกของตนเอง ถ้าสัญญาใกล้หมด ก็ต่อสัญญาให้ชนิดที่รัฐเสียเปรียบ นอกจากนั้น ก็ยังออกนโยบายเอาโครงการประเภท 'สร้าง/ซ่อม/ขุด/กลบ' ไปไว้ยังพื้นที่ของตน

'ปิยบุตร' ฟันธง! ‘ก้าวไกล’ จะได้ส.ส.ลดลง เพราะกระแสไม่เอา 'ประยุทธ์' เทคะแนนแลนด์สไลด์

27 ธ.ค.2565- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ พรรคก้าวไกลกับการเลือกตั้ง 2566 โดยระบุรายละเอียดดังนี้

1 –
สู้ในระบบเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลเสียเปรียบ

พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคใหญ่ฝ่ายค้านมีฉันทามติร่วมกันว่าต้องแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากเดิมทุกคะแนนมีความหมายนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.และจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศสอดคล้องกับจำนวนที่น้่ง ส.ส. มาเป็น แข่งกันในเขตเลือกตั้งเอาที่หนี่งคนเดียวรวม 400 ที่นั่ง เหลืออีก 100 ที่นั่งมาจากการคำนวนคะแนนสัดส่วนทั่วประเทศ

พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคก้าวไกล เพราะ ฐานคะแนนของผู้นิยมพรรคก้าวไกลกระจายออกไปทั่วประเทศ ไม่ได้ฝังอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งใดเลือกตั้งหนี่งโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่ ผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล น่าจะเป็นเรื่องเชิงประเด็น นโยบาย มากกว่าตัวบุคคลผู้สมัครในพื้นที่ นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคใหม่ ผ่านการเลือกตั้งมาหนึ่งครั้ง ไม่ได้มีเครือข่ายหัวคะแนนหรือเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ ดังนั้น การชนะเลือกตั้งในเขตในจำนวนมาก กวาดยกจังหวัด กวาดหลายๆเขตหลายๆจังหวัดในภาคต่างๆ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลมีลักษณะเช่นนี้ หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่ทุกคะแนนมีความหมาย ถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. แบบปี 62 ก็ดี หรือแบบ MMP ของเยอรมนีก็ดี พรรคก้าวไกลย่อมมีโอกาสได้ ส.ส.ทะลุ 100 ที่นั่งก็เป็นได้

แต่เมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไปคล้ายแบบปี 2544/2548 ที่ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยแยกการคำนวณขาดออกจากกัน น้ำหนักคะแนนที่ส่งผลต่อจำนวนที่นั่ง สส ก็ไปอยู่ที่เขตเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลอาจได้คะแนนรวมทั่วประเทศไม่น้อยกว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้ในปี 62 แต่เมื่อพิจารณารายเขต อาจมีหลายเขตที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนจำนวนมาก แต่ไม่มากพอที่จะได้ลำดับที่ 1 ในเขตเลือกตั้งนั้น และคะแนนเหล่านั้นทั้งหมดต้องถูก “ทิ้งน้ำ” ไป

แล้วพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?

ในฐานะพรรคการเมืองในระบบ พรรคก้าวไกลต้องพร้อมต่อสู้กับการเลือกตั้ง ต้องพร้อมปรับวิธีการต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง

หากพิจารณาเฉพาะเรื่องคะแนนเสียง เดิมพันของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ก็คือ

หนึ่ง การได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ได้ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนรวมทั่วประเทศประมาณ 6.3 ล้านเสียง การเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลต้องทำให้ได้มากกว่าเดิม ส่วนจะคำนวณเป็น ส.ส.แล้วได้กี่ที่นั่งนั้น แน่นอนว่าจำนวนน้อยลงกว่าเดิมอยู่แล้ว เพราะ ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยๆพรรคก้าวไกลต้องทำให้ได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากกว่าครั้งก่อน ไปให้ถึงร้อยละ 20 หรือร้อยละ 25 เพื่อยืนยันว่า ยังมีผู้นิยมแนวทางของพรรคก้าวไกลอยู่ถึง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ แม้กลไกรัฐจะพร้อมใจกันบดขยี้พรรคอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคก็ยังสามารถยืนระยะต่อไปได้

การเลือกตั้งครั้งที่สองสำคัญกว่าการเลือกตั้งครั้งแรก

ครั้งแรก หากไม่ได้ตามเป้า ได้มาน้อย เรายังอธิบายได้ว่าเราเป็นพรรคใหม่ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้คนก็พอจะเข้าใจและเอาใจช่วยต่อไป

แต่ครั้งที่สอง หากไม่ได้ตามเป้า คะแนนรวมทั้งประเทศน้อยลงกว่าเดิม สิ่งซึ่งจะตามมา จะมีมากมายสารพัด ไล่ตั้งแต่ ข้อวิจารณ์ว่าแนวทางที่พรรคใช้นั้นผิดพลาด นโยบายหาเสียงก้าวหน้าเกินไป ยุทธศาสตร์การสื่อสารผิดพลาด ความขัดแย้งกันในหมู่แกนนำและผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นต้น

พรรคก้าวไกลต้องพิสูจน์ให้ได้ในการเลือกตั้ง 2566 ว่า ประเทศนี้ สังคมนี้ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล

สอง การเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตให้มากขึ้น

พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขต 30 ที่นั่ง เกจิอาจารย์กูรูทางการเมืองต่างบอกว่านี่คือเซอไพรส์ ผู้สมัครที่ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่เคยลงเลือกตั้ง ไม่มีเครือข่ายหัวคะแนน แต่สามารถใช้ “กระแส” ของธนาธร จนชนะในเขตเลือกตั้งได้ถึง 30 คน ถึงกระนั้น ก็มีบางฝ่ายเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับจากกรณีพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ทำให้หลายเขต ไม่มีผู้สมัครทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคอนาคตใหม่แทน

การเลือกตั้งในปี 2566 คงไม่มีอุบัติเหตุแบบกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ และทุกพรรคการเมือง “เอาจริง” ไม่มีใครประมาทพรรคก้าวไกลอีกแล้ว การต่อสู้ในระบบแบ่งเขต 400 คน จะเข้มข้นมากกว่าเดิม แต่ละพรรคมุ่งหวังกับการมี สส เขต เพราะ หากไปลุ้นบัตรใบที่สองให้มี สส แบบบัญชีรายชื่อ ก็ไม่มีหลักรับประกันแน่นอนว่าจะได้หรือไม่ ได้มาจำนวนเท่าไร

ประกอบกับพรรคเพื่อไทยชูคำขวัญ “แลนด์สไลด์” ย่อมทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์อีกต่อไป แม้พวกเขาอาจเอาใจช่วยพรรคก้าวไกลอยู่ แต่ก็พร้อมที่จะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่พรรคเพื่อไทยจะชนะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากไม่เทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย สุดท้าย เราจะไม่ได้เปลี่ยนรัฐบาล ไม่ได้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี

ปัจจัยเหล่านี้ ย่อมทำให้ การต่อสู้ในเขตเลือกตั้งรอบนี้ พรรคก้าวไกลเหนื่อยกว่าพรรคอนาคตใหม่หลายเท่า
พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?

จะตีโพยตีพายกับการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ อย่างไรเสีย การเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็น 400:100

จะใช้ยุทธวิธีสู้ด้วยกระแสภาพใหญ่แบบเดิม? ครั้งนี้ก็ไม่มีธนาธร และไม่สามารถสร้างกระแสได้เทียบเท่า “ธนาธรฟีเวอร์” แล้ว

จะหันเหไปใช้การเมืองแบบเครือข่ายอุปถัมภ์ในพื้นที่ การเมือง “บ้านใหญ่” แบบพรรคอื่นๆ? ก็เป็นสนามที่ตนเองไม่ถนัด ทำให้ตายก็ไล่ตามเขาไม่ทัน และยังจะทำให้คนที่เลือกพรรคก้าวไกลเพราะต้องการการเมืองแบบใหม่ผิดหวังด้วย

นักการเมืองผู้นำที่ยิ่งใหญ่จะต้องไม่ปล่อยไปตามยถากรรม ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่ต้องควบคุมสถานการณ์เพื่อกำหนดชะตากรรมตนเอง

การเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลมีเดิมพันสำคัญ นอกจากต้องมี ส.ส.เขตให้มากกว่าเดิมแล้ว ยังต้องสร้างโมเดล ส.ส.เขตแบบก้าวไกล ขึ้นมาให้ได้

2 –
ส.ส.เขตแบบก้าวไกล
การเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลต้องทดลองสร้างโมเดล ส.ส.เขตในแบบก้าวไกลขึ้นมา มีลักษณะที่แตกต่างจาก ส.ส.เขตของพรรคอื่นๆ แต่ก็พร้อมเข้าใจและสามารถทำงานกับวัฒนธรรมการเมืองแบบดั้งเดิมได้ด้วย

แม้เราต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการการเมืองแบบใหม่ แต่ในสนามการเลือกตั้งยังคงมีวัฒนธรรมการเมืองแบบดั้งเดิมฝังอยู่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจในพื้นที่ เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ ยังคงมีอยู่มาก การต่อสู้กับการเลือกตั้งเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องหารสูตรส่วนผสมให้กลมกล่อม มีความใหม่ แต่เป็นใหม่ที่พร้อมทำงานในโครงสร้างแบบเดิม และโครงสร้างแบบเดิมก็ไม่อาจกลืนกินลบล้างความใหม่ของเราไปได้

ส.ส.เขตแบบก้าวไกล ต้องมีส่วนผสมสองข้อ

หนึ่ง ความขยันขันแข็งในการเข้าหาประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง

ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่มาพรรคก้าวไกล ต่างก็ทราบกันดีว่า ที่นี่ ไม่เหมือนที่อื่น ที่นี่ ไม่มีกลไกหัวคะแนน ที่นี่ ไม่มีกลไกกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/อสม/ข้าราชการในพื้นที่ สนับสนุนเท่าไรนัก ที่นี่ ไม่มีเงินทอง ทรัพยากรให้มากมายในการ “ทำพื้นที่” ที่นี่ ไม่มีระบบ “วิ่งแย่งหางบประมาณแผ่นดิน” มาลงพื้นที่ตนเอง
ต่อให้ทำแบบที่อื่น ก็ไม่มีทางที่จะทำได้เท่ากับหรือเหนือกว่าที่พรรคอื่นๆเขาทำกันมา

แต่ในเมื่อประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้ทั่วถึงทั่วประเทศ และการกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับหน้าที่เรื่องเหล่านี้ ก็ยังคงไปไม่ถึงไหน เมื่อประชาชนมาร้องเรียน หรือเดือดร้อน ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.จึงต้องร้บบทบาทในการช่วยเหลือประชาชน

ในเมื่อไม่มีเงิน ทรัพยากร อำนาจกลไกรัฐ แล้วผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร?

ต้องทดแทนด้วยความขยัน มานะพยายามมุ่งมั่น เข้าถึงประชาชน ประชาชนเข้าถึงง่าย

เดินพบปะพี่น้องประชาชนให้มาก ให้เวลากับพี่น้องประชาชน นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาติดต่อประสานหาหนทางช่วเหลือ

อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่กร่าง ไม่เบ่ง เคารพประชาชน รับฟังประชาชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน

สอง มีความรู้ในงานนิติบัญญัติ งานสภา นโยบายพรรค และมีจุดยืนมั่นคงชัดเจนตามอุดมการณ์แนวทางพรรค

ภารกิจของ ส.ส. คือ การตรากฎหมาย การอภิปราย การตรวจสอบรัฐบาล ส.ส.จึงไม่อาจเชี่ยวชาญเฉพาะในงานพื้นที่เขตเลือกตั้งได้เท่านั้น แต่ต้องทำงานในระดับชาติ มีภารกิจในภาพใหญ่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย

ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องหมั่นฝีกฝนค้นคว้าหาความรู้ในประเด็นต่างๆ ทั้งนโยบายพรรค ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย นโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ติดตามข่าวสารให้ทันโลก

ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องอภิปรายในสภาได้ มิใช่ ทำงานพื้นที่ดี แต่ไม่เคยพูดอะไรเลยในสภา

ผู้สมัคร ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล ต้องยึดมั่นในแนวทางอุดมการณ์ของพรรค มิใช่ ย้ายพรรคทุกการเลือกตั้ง เพียงเพราะ ต้องการหาที่ลง ส.ส. หรือหาที่ให้ประโยชน์ทรัพยากรและอำนาจแก่ตนเอง

สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ ส.ส.เขตแบบก้าวไกลโมเดล มีจุดเด่นที่แตกต่างจาก ส.ส.เขตแบบเดิม และทดแทนสิ่งที่เราสู้เขาไม่ได้

3 –
ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบก้าวไกล

ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาสู่พรรคก้าวไกล ส.ส.แบบบัญชี่รายชื่อ ไม่ต้องจ่ายเงินให้พรรค ไม่ต้องเป็นหัวหน้ามุ้ง ส.ส. ไม่ต้องเป็นนักการเมืองอาวุโสหลายพรรษามาก่อน

ภายหลังเลือกตั้ง มีนาคม 2562 นักการเมืองอาวุโสหลายคนได้ปรารภกับผมว่า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ คือ “สามล้อถูกหวย” ได้เป็น ส.ส.เพราะธนาธร

ระบบเลือกตั้งในปี 2566 เหลือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการคำนวณคะแนนสัดส่วนทั่วประเทศ เพียง 100 คน จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 66 ย่อมหายไปเกินครึ่ง จะให้ได้ 25 ที่ ก็ยากแสนสาหัส

ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้เอง ย่อมนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งกันภายในพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะประเด็นการแย่งชิงเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในลำดับปลอดภัย 1-20 หรือ 1-25

ผมมีความเห็นและข้อสังเกตฝากไปถึงแกนนำและผู้มีอำนาจตัดสินใจการคัดเลือกและจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล 3 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง Set Zero ลำดับใหม่ทั้งหมด

การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต้องไม่ยึดกับลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ตอนปี 62 และต้องไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติให้ลำดับที่ดีแก่ผู้อาวุโสก่อน (ทั้งในแง่อายุ และในแง่เป็น ส.ส.ในปี 62 มาก่อน)

สมัยพรรคอนาคตใหม่ เรามีโอกาสในการคัดเลือกผู้สมัครน้อยมาก ปัจจุบัน พรรคก้าวไกลมีชื่อเสียงและความนิยมมากกว่าเดิม คนมีความรู้ความสามารถอาจเข้ามาเสนอตัวมากขึ้น มีโอกาสไปทาบทามคนมีความรู้ความสามารถหน้าใหม่ๆให้มาลงสมัครได้มากขึ้น

การ Set Zero จึงช่วยเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆที่มีความรู้ความสามารถ ช่วยหาคะแนนให้พรรคได้มากขึ้น หากสร้างธรรมเนียม “ผู้มาก่อนได้ก่อน” ขึ้นมา เมื่อผ่านการเลือกตั้งไปหลายครั้ง ก็จะเกิด “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” นั่งทับลำดับต้นๆไว้ตลอด จนเหลือลำดับสำหรับคนใหม่ๆได้ไม่กี่คน แบบที่พรรคเก่าแก่หลายพรรคกำลังเผชิญปัญหาอยู่

ประการที่สอง ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและจัดลำดับ 5 ข้อ ได้แก่

ข้อแรก การอุทิศตนให้พรรค

เช่น การทำงานอย่างขยันขันแข็ง ไม่เกี่ยงงาน ไม่เทงาน

การไปช่วยหาเสียงทั่วประเทศ ไปแล้วได้คะแนนเสียง มิใช่ไปแล้วสร้างภาระให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตและทีมงานในจังหวัดต่างๆ

ความสามารถในการระดมทุนหรือทรัพยากรให้พรรค

การขับเคลื่อนแบกพรรคได้ในภาพรวม มิใช่สร้างภาระให้พรรค หรือให้พรรคต้องตามแบกให้ เป็นต้น

ข้อสอง ความสามารถในการทำงานทางการเมือง

ได้แก่ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานสภาและการบริหารราชการแผ่นดิน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นของตนเอง สามารถอภิปรายในที่สาธารณะ สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง ริเริ่มด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้พนักงานพรรคมาแบกมาก

'ปิยบุตร' ฟันธง!! 'ก้าวไกล' ไม่รอดกระแส 'แลนด์สไลด์' กลบ แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก รอบนี้ขอเกาะ พท.เป็นรัฐบาลไว้ก่อน

(21 ก.พ. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ

['แลนด์สไลด์' ที่พรรคก้าวไกลแก้ไม่ออก] โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประชาชนจำนวนมากต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หากสังเกตจากผลการสำรวจความคิดเห็นหรือการรับรู้พูดคุยในกลุ่มแวดวงต่าง ๆ เชื่อได้ว่า ร้อยละ 60 อยากเปลี่ยนรัฐบาล และจะใช้การเลือกตั้งในปี 2566 นี้เป็นเครื่องมือสำคัญ

การรณรงค์ให้ลงคะแนนแบบยุทธศาสตร์ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ กำลังเป็นที่แพร่หลายและได้การยอมรับไปทั่ว

หากดูผลสำรวจความคิดเห็น ก็จะพบว่า คะแนนของพรรคเพื่อไทยและคุณแพทองธารสูงมาก ทั้งในภาพรวมทั่วประเทศ และในทุกพื้นที่ แม้กระทั่งภาคใต้

สำหรับพรรคก้าวไกลเอง คะแนนนิยมอยู่นิ่งอยู่กับที่มาปีเศษแล้ว ผู้อำนวยการนิด้าโพล ได้วิเคราะห์ไว้ในรายการหนึ่งว่า คะแนนของพรรคก้าวไกล เป็น 'น้ำเต็มแก้ว' ไม่เพิ่ม ไม่ลด ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์ใด เวลาผ่านไปนานเท่าไร คะแนนก็จะอยู่เท่านี้ เรียกได้ว่า คะแนนจากผลสำรวจที่พรรคก้าวไกลได้รับนั้น คือ 'แฟนพันธุ์แท้'

หากพรรคก้าวไกลต้องการคะแนนมากกว่านี้ ต้องการมี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มากกว่านี้ จำเป็นต้องแสวงหาคะแนนจากกลุ่มผู้ที่ไม่ตัดสินใจ หรือกลุ่มที่ตัดสินใจเลือกพรรคอื่น จะได้คะแนนส่วนนี้เพิ่มมาได้ พรรคก้าวไกลต้องแก้ปมปัญหาเรื่อง 'แลนด์สไลด์'

คนจำนวนมากที่เป็น 'แฟนพันธุ์แท้' พรรคเพื่อไทย ย่อมลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยทั้งสองใบ แต่มีคนอีกจำนวนมากที่รักเพื่อไทย แต่ก็เห็นประโยชน์ของการมีพรรคแบบก้าวไกล

คนจำนวนมากที่รักทั้งสองพรรค

คนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำ แต่คิดว่าเป็นการต่อสู้ระยะยาว

หรือคนจำนวนมากชอบพรรคก้าวไกล แต่ไม่คิดว่าจะชนะได้ในเขตเลือกตั้ง ไม่คิดว่าจะชนะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้

คนเหล่านี้ อาจเลือก ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทย และแบ่งมาลงคะแนนบัญชีรายชื่อให้พรรคก้าวไกล ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากความคิดเรื่อง 'แลนด์สไลด์'

ด้วยระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 บ้ญชี 100 ทำให้คะแนนแบบแบ่งเขตของผู้ที่ไม่ได้ลำดับที่ 1 ถูกทิ้งน้ำไปหมด ไม่เหมือนตอนปี 62 ที่ยังนำมาคำนวณเป็น ส.ส.ทั่วประเทศ

และด้วยความคิดที่ว่า หากเพื่อไทยกับก้าวไกลแข่งกันเองในเขตเลือกตั้ง อาจทำให้แพ้ทั้งคู่ จนพรรคประยุทธ์ หรือพรรคอื่นที่อยู่อีกขั้ว ชนะไป ดังปรากฏให้เห็นหลายเขตในการเลือกตั้งปี 62 ประกอบกับ 'สวิทช์ สว 250' คนยังทำงานออกฤทธิ์ได้อีก

ทั้งหมดนี้ ทำให้ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลเลือกที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยสองใบ หรือเลือกพรรคเพื่อไทยในแบบเขต เลือกพรรคก้าวไกลแบบบัญชีรายชื่อ

หากสถานการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นเช่นนี้ ไปจนถึงวันลงคะแนน พรรคก้าวไกลก็จะได้ ส.ส.เขตน้อยมาก และได้ 'ส่วนแบ่ง' จากบัญชีรายชื่อมา รวมยอด ส.ส. ทั้งหมด คงไปไม่เกิน 30

หากพรรคก้าวไกลไม่คิดอะไรมาก ได้เท่าไร ก็เท่านั้น รอบนี้ ขอ 'เกาะพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล' ไว้ก่อน พรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร ไม่ต้องคิดยุทธวิธีใหม่ ประคองตัวไปจนจบเลือกตั้ง และถ้าไม่มีสัญญาณแปลกๆใดมาขัดขวาง หรือรวมเสียงฝ่ายค้านเดิมเพียงพอ พี่ใหญ่” ก็อาจเมตตาชวน 'น้องเล็ก' ไปร่วมรัฐบาล แบ่ง รมต ให้สัก 2-3 ที่

แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยังคงต้องการเสียงมากกว่านี้ จำนวน ส.ส.มากกว่านี้ พิสูจน์ตนเองว่าแนวคิดแนวทางที่ทำกันมาตั้งแต่อนาคตใหม่ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ประชาชนเห็นด้วยมาก พรรคก้าวไกลก็ต้องคิดแก้ปมปัญหา 'แลนด์สไลด์' ให้ได้

หนึ่ง ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสชนะในเขตเลือกตั้งสูง ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลจะเข้าที่ 1 ไม่ใช่เข้าที่ 2 หรือที่ 3 หากทำให้คนจำนวนมากเชื่อได้ คนก็จะมาเลือก เพราะ คะแนนนี้ไม่ทิ้งน้ำ ไม่เปล่าประโยชน์ แต่จะทำให้พรรคก้าวไกลชนะ ส.ส.เขต

‘ปิยบุตร’ โต้กลับ ‘พิธา’ “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้ผม” ลั่น!! พฤติกรรมแบบนี้ ปล่อยผ่านไม่ได้

จากกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘แลนด์สไลด์ ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แก้ไม่ออก’ โดยช่วงหนึ่งกล่าวถึง ‘ผู้นำพรรคก้าวไกล’ นำมาสู่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุถึงการครบรอบ 3 ปี ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกล่าวถึง ‘ปิยบุตร’ ต้อง ‘เลิกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ’ เลิกทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ ทำตามที่ ‘ธนาธร’ เคยขอ กลับมาช่วยกันเท่าที่กฎหมายอนุญาต ทำให้คนที่เคยปรามาสอนาคตใหม่ ก้าวไกล คิดผิด และอนุญาตให้ตนและอีกหลายร้อยชีวิตที่พรรคมีสมาธิในการทำงานโค้งสุดท้ายนั้น

ล่าสุด (22 ก.พ.66) นายปิยบุตรกล่าวถึงโพสต์ของนายพิธา ผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul โดยระบุว่า เพิ่งได่อ่านที่ ‘คุณพิธา’ เขียน ‘เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้ผม’ ทั้งหมด Ok ได้ จัดไป

ผมจะเขียนอธิบายให้ฟังทั้งหมดยาว ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่อยากพูดเรื่อง ‘คุณพิธา’ เลย พยายามวิจารณ์พรรคอย่างตรงไปตรงมา ไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่ ‘คุณพิธา’ ก็ให้เกียรติโพสต์สื่อสารถึงผมโดยตรงขนาดนี้ ก็ถือเสียว่า ‘คุณพิธา’ คงอยากคุยกับผมในที่สาธารณะ ผมจึงจำเป็นต้องตอบโดยละเอียดทุกประเด็น ประชาชน สมาชิก ผู้สนับสนุนพรรค จะได้รู้เสียทีว่า ‘คุณพิธา’ เอารัดเอาเปรียบพวกผม ทีมงาน พนักงาน ทีมจังหวัดทั่วประเทศ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.เพียงใด ใครกันแน่ ‘มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ’ ใครกันแน่ ‘จับเสือมือเปล่า’

เมื่อวานเย็น ผมนัดกินข้าวกับเพื่อนมิตรและเพื่อน ส.ส. มีทีมงานมาบอกว่า ‘คุณพิธา’ โพสต์ตอบโต้ผม ให้ผมใจเย็น ๆ อย่าตอบโต้ ผมเองก็ไม่อะไร จนเจอธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) กับชัยธวัช (ชัยธวัช ตุลาธน) ก็รำลึกความหลังครบรอบ 3 ปียุบพรรคอนาคตใหม่ที่เราริเริ่มมาด้วยกัน แล้วก็เคลียร์เรื่องนี้กันไป แต่พอผมกลับบ้านมา เปิดอ่านดู โอ้โฮ ‘คุณพิธา’ เขียนแบบ ‘เอาดีเข้าตัว เอาชั่วเข้าผม’ ไอ้นั่นเรื่องเล็ก

ผมมาเป็นนักการเมืองเจอเรื่องวิจารณ์กันแบบนี้ จะมา ‘ใจเสาะ’ แบบ ‘คุณพิธา’ ไม่ได้ แต่ที่น่ารังเกียจกว่า คือการเขียน ‘ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว’ เสียมากกว่า จนทำให้พนักงาน ทีมงาน ทั่วประเทศคงอึ้งไปตามๆ กันว่า ‘คุณพิธา’ เป็น ‘ผู้นำ’ เพื่อนร่วมงานกว่าร้อยชีวิต แล้วผมเป็นคนที่ ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ มาทำลายพรรคก้าวไกลอย่างที่ ‘คุณพิธา’ พูดจริงหรือ? เขียน ‘ขาวเป็นดำ’ ว่า ‘คุณพิธา’ เป็นพระเมสสิอาห์มากอบกู้พรรค ส่วนผมกลายเป็นพวกทำลายพรรค?

เมื่อไรก็ตามที่สื่อติดต่อผมให้ไปคุยเกี่ยวกับการวิจารณ์พรรคก้าวไกล ผมปฏิเสธทุกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้บานปลาย ถือเสียว่าผมเป็น ‘คนนอก’ วิจารณ์เข้าไป (ซึ่งวัฒนธรรมการเมืองในต่างประเทศ ปัญญาชนที่เคยร่วมพรรคกันมา พอออกมา เขาก็วิจารณ์กันเป็นเรื่องปกติ) ก็ใช้เพจของผม เขียนไปเรื่อยๆ ไม่ขยายความดราม่าผ่านสื่อต่างๆ

‘คริส’ ขยี้ ‘พิธา’ เลิกมองคนวิจารณ์เป็นศัตรู เพราะยิ่งตอกย้ำ ‘ลัทธิบูชาผู้นำ-โปลิตบูโร’

(22 ก.พ. 66) นายคริส โปตระนันท์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊ก ‘คริส โปตระนันทน์ - Chris Potranandana’ ภายหลังนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตอบโต้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า…

วัฒนธรรมการซุกปัญหาไว้ใต้พรมไม่ใช่ส่วนผสมของระบอบประชาธิปไตย การบอกว่ามาทำภารกิจกันก่อน ส่วนข้อวิจารณ์ ขอให้ทำการภายใน เดี๋ยวเราค่อยแก้ไข ไม่ต่างกับ 'การขอเวลาอีกไม่นาน'

การวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ อาจเป็นเรื่องยากและเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา ที่มักติดกับ 'ลัทธิบูชาผู้นำ'

พรรคก้าวไกลยังดีกว่านี้ได้ ต้องเลิกคิดว่าคนที่วิจารณ์ทั้งหมด เป็นศัตรู คุณมาทำการเมือง ต้องน้อมรับคำวิจารณ์ แก้ไขหรือไม่แก้ไขเป็นเรื่องของทีมบริหาร

‘อดีตเพื่อนธร’ ชี้!! ‘พิธา-ปิยบุตร’ แตกคอ!! ความจริงการเมือง แค่วาทกรรมอันสวยงาม

(22 ก.พ. 66) นายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pichit Chaimongkol’ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตอบโต้และขัดแย้งกันระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีเนื้อหาดังนี้...

ก้าวไกลบอกก้าวไปไกลๆ

ปรากฏการณ์ พิธาสวนปิยบุตร ธนาธรเล่นบทพระเอก พูดหลักการ
บทสะท้อนความเป็นจริงทางการเมือง สังคม ที่ตรงกันข้ามกับความฝันวาทกรรมที่สวยงาม

มันคือการเมืองเรื่องของอำนาจ โดยอ้างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ทุกพรรคก็เป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องอำนาจที่ต้องกุมสภาพการนำให้ได้ ซึ่ง ปิยบุตร คงอยากกุมอำนาจโดยการกำหนดทิศทางนอกพรรค ก็เหมือนทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้มี อิทธิพลนอกพรรค ทักษิณทำเช่นไร ปิยบุตรก็คล้ายๆ กันเช่นนั้น

เพียงแต่

เพื่อไทยไม่มีใครโต้ทักษิณ
ก้าวไกลกล้าตอบโต้ปิยบุตรแค่นั้นเอง

ตี๊ต่าง!! ‘ปิยบุตร’ VS ‘พิธา’ ซัดกันไปมา ยังกะ ‘จูเลียส ซีซาร์’ VS ‘บรูตุส’

ต่อกรณีของ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดวิวาทะกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่านสมรภูมิเฟซบุ๊ก โดยมีผู้สันทัดกรณีและแฟนคลับของแต่ละฝ่ายเฝ้าติดตามด้วยความระทึกในหัวใจกับศึกสายเลือดครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เพราะแม้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ตัวพ่อลงทุนออกโรงหมายหย่าศึกด้วยตนเองแล้ว แต่ดูเหมือนทั้งสองยังไร้ทีท่าจะรามือกันแต่อย่างใด

ผู้ชมริงไซต์บางคนบอกนึกถึง ‘จูเลียส ซีซาร์’ (Julius Caesar) รัฐบุรุษแห่งกรุงโรม กับ ‘มาร์คุส ยูนุส บรูตุส’ (Marcus Junius Brutus) หรือ ‘บรูตุส’ นักการเมืองวัยห้าวชาวโรมัน สองตัวละครระดับตำนาน ‘แทงข้างหลัง’ ที่โลกจารึก

ฝ่ายแรก คือ บุรุษผู้กอบกู้และนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่โรม แม้ช่วงหลังของการครองบัลลังก์จะถูกมองว่า “...เขาไม่สนใจจารีตเก่า ไม่แม้แต่จะเหลียวมองกลุ่มขั้วอำนาจการเมืองที่ยังคงอยากรักษาสถานะทางสังคมของพวกเขาเอาไว้ ในยามที่กรุงโรมกำลังอยู่ในสถานการณ์ความวุ่นวาย เขากลับเป็นอำนาจที่ไม่อาจโค่นล้มได้”

ขณะที่คนหลังเป็นนักการเมืองหนุ่ม อนาคตไกล ผู้มีอุดมการณ์ต่างจากซีซาร์คนละขั้ว แต่ยังคงได้รับความเมตตาตลอด เพียงเพราะชื่อ ‘เซอร์วิเลีย’ (Servilia) นางผู้เป็นที่โปรดปรานของซีซาร์ และก็คือมารดาของบรูตุส ดังนั้นสายตาที่มองมายังบรูตุส จึงไม่ต่างจากบิดามองลูกชายตน

เรื่องนี้จบอย่างไรหลายคนทราบดี - ส่วนคนไม่รู้ก็ไปหาอ่านเอาเอง

แต่ประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่ว่า ‘พิธา กับ ปิยบุตร’ หรือ ‘บรูตุส กับ ซีซาร์’ เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมา ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ต้องกล่าวโทษอีกฝ่ายว่า คือ ‘ผู้ผิด’ เสมอ ดังที่ ปิยบุตรพูด (เขียน) ถามถึงพิธาก่อนว่า “...ผู้นำพรรคก้าวไกลมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้คนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะชนะในเขตเลือกตั้งได้หรือไม่?”

ขณะที่พิธาโต้กลับตรง ๆ ว่า ปิยบุตรต้อง “เลิกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” - “เลิกทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ” เสียที

สองคนมองเหมือนว่าตนคือซีซาร์ผู้ถูกแทงกลางหลังโดยคมมีดของอีกฝ่าย

และทั้งปิยบุตรกับพิธาก็ถูกมองว่าคือ ‘บรูตุส’ ผ่านสายตาอีกฝั่งเช่นกัน

แต่หากพิเคราะห์ดี ๆ แล้ว เนื้อหาโพสต์เฟซบุ๊กซึ่งตอบโต้กันอย่างเปิดเผยคราวนี้ กลับแทบไม่ต่างจากการชี้หน้าด่ากันกลางตลาด หากเพียงตัดรูปประโยคสวยหรูทว่าแสนรุงรังออกทิ้ง เรื่องทั้งมวลจะเหลือแค่แกนหลักของเรื่อง ซึ่งก็คือ ‘สาวไส้’ ของกันและกันออกมา ‘กอง’ ต่อหน้าสาธารณชนรับรู้ ส่วนคนดู (กา) จะกิน ปรบมือ เป่าปาก โห่ หรือฮา ก็แล้วแต่วิจารณญาณของใครของมัน

ศึกนี้มีที่มา!! หลัง 2 ตัวตึงก้าวไกลใส่กันยับ จนเจ้าของวิกต้องสั่งระงับ 'ห้ามปูด-ห้ามกัด'

ตลอด 2 วันมานี้ กรณีพิพาทระหว่าง 'พิธา-ปิยบุตร' ดุเดือดยิ่งกว่ามวยศึกวันทรงชัย ซัดดุเด็ดเผ็ดพริกยกสวน เมื่อตัวตึงใต้รั้วก้าวไกลอย่างพิธากับปิยบุตรกร้าวใส่กันอย่างหนัก แม้สุดท้ายวันนี้จะจูบปากกันเป็นที่เรียบร้อย

เรื่องนี้อยากขยาย...

บรรดาคนรักพรรคก้าวไกลตาปริบๆ เมื่อท่านหัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กร้าวใส่ท่าน ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เต็มคาราเบล ว่าให้เลิกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำได้แล้ว ส่วนปิยบุตรก็ฟาดกลับด้วยความแรงพอกันว่า พิธานั้นเอาดีใส่ตัว แต่เอาชั่วใส่ปิยบุตร แถมพูดขาวดำเป็นดำ พูดดำเป็นขาว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ปิยบุตรเปิดเกมว่า กระแสพรรคก้าวไกลไม่ไกลไปกว่านี้ มีแต่จะเกาะเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพราะยุทธศาสตร์การนำพรรคในปัจจุบัน คิดว่าเรื่องนี้น่าจะทำให้พิธาคันคะเยอจนฟาดใส่ไม่ยั้ง

แต่พิธาก็สมฐานะนายโรงลิเก ที่ก่อนจะด่าต้องโหมโรงด้วยคำหวานโอ้โลม ท้าวความหลังครั้งหวานชื่นเราสามคนที่มี ธนาธร, ปิยบุตร และ พิธา เป็นแกนนำพรรคอนาคตใหม่ พอพูดหวานจบ ก็ตบปากใครบางคนทันทีว่า ในฐานะผู้นำพรรคย่อมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตัวเองโดนมาตลอดสามปีที่เป็นหัวหน้าพรรค เข้าใจว่านี่เป็นอิสรภาพในการแสดงออก แล้วลำเลิกว่า ตนมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่พรรคไม่มีใคร

จากนั้นร่ายยาวว่าปิยบุตรต้องเลิกทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ และต้องทำตัวเป็นมืออาชีพ 

ตรงนี้ป้าบเข้าให้!! เหมือนกระทืบกลางใจท่าน ดร. เพราะการถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นมืออาชีพ คือสิ่งที่ ปิยบุตรทนไม่ได้ มันเป็นการกระแทกจุดอ่อนแบบเต็มทีน ซ้ำพิธา ก็ยังย้ำอีกว่า ปิยบุตรควรทำตามที่ธนาธรเคยขอไว้ ฮั่นแน่...มีกั๊ก มีความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพราะประโยคนี้แปลได้ว่า มีเรื่องลับอันเป็นพันธะสัญญาของธนาธร ปิยบุตร และพิธา ที่คนนอกไม่รู้นั่นเอง

พิธาปิดท้ายฝากถึงปิยบุตรว่า ขอให้ตนเองมีสมาธิในการทำงานให้พรรค แปลไทยเป็นไทยคือ ไม่เผือกนะครับ ขอให้พอได้แล้ว ชะเอิงเอิงเอย บัดนั้น เชิด!!

คาดว่าปิยบุตรอ่านเจอก็หัวร้อน เพราะพิธาแท็กไปหา เลยตะบึงแล่นเข้ามาตอบในเพจพิธาแบบจัดเต็ม 

แน่นอนว่าปิยบุตรเมนต์ยาวเหยียดตามสไตล์ โดยมีใจความเด็ดกล่าวหาพิธาปังๆ ว่า กำลังเอาดีเข้าตัว แต่เอาชั่วเข้าปิยบุตร แล้วร่ายยาวด่ากระทบจิกกัดตามธรรมชาตินิสัยของปิยบุตรเหมือนผ่านมา ชื่อหลวงประดิษฐ์วาทกรรมไม่ได้มาเพราะโชคช่วยนะจ๊ะ     

แต่สำนวนโวหารคุณหลวงประดิษฐ์วาทกรรมไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ไม่เชื่อดูที่ปิยบุตรฟาดพิธากลับสิว่า ใครกันแน่ที่จับเสือมือเปล่า ใครกันแน่ที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ นั่นไง...มาแล้วตั้งสองสำนวน นี่ขนาดยังไม่เขียนชี้แจงนะ

ยี่ห้อปิยบุตรย่อมสุดฝีทีนเสมอ จิกกัดแซะทุกประโยค เช่น จิกพิธาว่าใจเสาะ พิธาน่ารังเกียจที่เขียนดำเป็นขาวขาวเป็นดำ กล่าวหาปิยบุตรว่าเป็นคนทำลายพรรค  แต่ตัวเองเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมากอบกู้พรรค อะไรประมาณนั้น
 
เรื่องนี้ร้อนถึงทนายหน้าหออย่างโรม อุตส่าห์ลงจากเหล่าเต๊งมาปกป้องลูกพี่ปิยบุตร ด้วยการพูดหล่อออกสื่อ แก้ตัวแทนว่า พรรคเราไม่มีความขัดแย้งกัน ไปตัดแว่นใหม่เถอะ โรม ไปห้างแว่นท็อป (บู้ต) เจริญก็ได้ มองลงมาจากดาวอังคารยังเห็นรอยร้าวในพรรคเลย 

นี่ยังไม่นับบรรดาคนเทพรรคก้าวไกลที่ออกมาแฉรัว ๆ ก่อนหน้านี้อีกเพียบ เพราะวันนี้ระดับตัวตึงพรรคชี้หน้าด่ากันแบบไม่เผาผี ยังกล้าพูดอีกเหรอว่าไม่มีความขัดแย้ง ว่าง ๆ โทรหาคริส ตัวท็อปอีกรายที่เพิ่งเทก้าวไกลบ้างเถอะ จะได้เลิกเพ้อเจ้อ เพราะพอเกิดปมขัดแย้ง คริส ยังออกมาแฉต่อเลยว่าวัฒนธรรมการซุกปัญหาใต้พรม ไม่ใช่ส่วนผสมของประชาธิปไตย วะว้าว...เท่านี้ก็เปิดไพ่ชัดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในพรรค

จริงๆ ปมขัดแย้งคุกรุ่นมาตั้งแต่ปีกลาย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ฝีเพิ่งมาแตกเอาตอนนี้เอง...อย่างเมื่อกลางปี 2022 ปิยบุตร ประกาศปังดังลั่นว่า จะเขียนบทความยาวเป็นซีรีส์ที่เป็นข้อเสนอแนะไปถึงพรรคก้าวไกล...พอปลายปีก็เขียนตำหนิพรรคก้าวไกลว่า ไม่จริงใจในการแก้มาตรา 112 ตกลงว่าพรรคอยากแก้ ม.112 อย่างแท้จริงหรือว่าแค่ยกประเด็นมาเพื่อหาเสียงเท่านั้น...ตอนสิ้นปี ปิยบุตรเขียนบอกโลกว่า จากนี้ไปจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคก้าวไกลแล้ว เพราะอึดอัด พรรคนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้ใช้สมอง แล้วย้ำว่าระวังคนจะเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top