Tuesday, 14 May 2024
ปิยบุตร

'ปิยบุตร' เชื่อ!! เหตุ สส.บ้ากาม ส่งผลภายในพรรค 'ระส่ำ-แตกแยก' หวั่น!! จากนี้ไป 'ประชาชน' ไม่ไว้ใจร่วมทางพรรคในกิจกรรมต่างๆ

(2 พ.ย.66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) กล่าวถึงกรณี สส.ก้าวไกล คุกคามทางเพศ

การใช้อำนาจที่ได้จากตำแหน่งของตนไปจูงใจล่อลวงบุคคลอื่นให้กระทำการตามที่ตนต้องการเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในยุคสมัยนี้

หากพรรคก้าวไกลต้องการยกระดับมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ ต้องการป้องกัน ต่อต้านการคุกคามทางเพศและความรุนแรงทางเพศภายในองค์กรหรือสถานที่ทำงานให้ได้ตามที่โฆษณาไว้จริง

ผลมติที่ออกมาวันนี้ นับว่าน่าผิดหวัง (แน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญไปบังคับว่าต้องใช้จำนวนถึง 3 ใน 4 ของจำนวน สส.และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งถือว่าสูงมาก)

แต่เรื่องแบบนี้ เมื่อทั้งคณะกรรมการวินัยของพรรค และทั้งคณะกรรมการบริหารพรรค มีมติว่ามีการกระทำความผิดร้ายแรงแล้ว หาก สส.ผู้ถูกร้องรู้จักมาตรฐานใหม่ในทางการเมืองอยู่บ้าง รู้จักความรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย พรรค เพื่อน สส.คนอื่น ผู้สนับสนุนพรรค และสังคมอยู่บ้าง คิดถึงตำแหน่งหัวโขนที่พึ่งได้มาอย่าง สส. ให้น้อยลงบ้าง สส.ผู้ถูกร้องก็ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องมาถึงวันนี้ที่พรรคต้องใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุม สส.ต้องมาลงมติ

‘ปิยบุตร’ ร่ายยาวถึง ‘คาราบาว’ ในฐานะแฟนคลับ แม้จุดยืนทางการเมืองจะต่างกัน ก็ยังชอบอยู่!!

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ภาพมอบหนังสือของพรรคก้าวไกล ‘300 นโยบายเปลี่ยนประเทศ’ ให้กับ ‘แอ๊ด คาราบาว’ พร้อมทั้งโพสต์ภาพบัตรคอนเสิร์ตคาราบาวด้วย

ทั้งนี้ นายปิยบุตร ได้เขียนข้อความร่ายความในใจในฐานะแฟนคลับวงคาราบาวโดยระบุไว้ดังนี้…

[ตำนานคาราบาว] 

ผมเติบโตมากับเพลงคาราบาว เทปม้วนแรกที่ผมได้เป็นเจ้าของ คือ คาราบาว อัลบั้ม เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (2530) ในเวลานั้น ผมอยู่ชั้นประถม 3 ผมได้เทปม้วนนี้มาด้วยวิธีการลงไปดิ้นแด่วๆบนพื้นห้างเซนทรัล สีลม เพื่อขอให้แม่ยอมเจียดเงินจากเงินที่มีอยู่น้อยในกระเป๋าของแม่ มาเปลี่ยนเป็นเทป ผมเล่นเทปม้วนนี้วนไปวนมากับวิทยุเครื่องเก่าตัวเดียวของบ้าน จนจำขึ้นใจ ร้องได้ทุกเพลง หัดดัดเสียงแหบๆ เลียนแบบพี่เทียรี่ หัดทำท่าลีดกีตาร์เลียนแบบพี่เล็ก ร้องดัดเสียงสองคนสลับไปมาแบบดูเอทกันในเพลงคนหนังเหนียว และอ่านเนื้อเพลงที่พี่แอ๊ดบรรจงเขียนขึ้นมา ผมชอบเพลง ‘สังกะสี’ มากที่สุด

ปีถัดมา คาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 ‘ทับหลัง’ ผมสะสมค่าขนมทุกวันๆ จนครบ ไปซื้อเทปอัลบั้มนี้ได้เสียงเฮลิคอปเตอร์ เสียง ฮา ฮา ฮ่า ฮ้า ในเพลงทับหลัง ท่วงทำนองในเพลงมิสชาวนา เพลงน้า ที่ล้อเลียน ‘น้าชาติ’ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เพลงนิกส์ ที่ล้อเลียนการพาประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในความทรงจำ ในช่วงเวลาที่คาราบาวแยกวง แต่ละคนออกไปทำงานเดี่ยว ผมใช้เวลาช่วงนี้ไปตามเพลงคาราบาวฟังย้อนหลังทั้งหมด สะสมเงินไปซื้อ 4 อัลบั้มรวมฮิต ‘ถึก มึน มัน กินใจ’ ที่ออกมาในปี 2534

เหตุการณ์พฤษภา 35 ได้เห็นบทบาทของพี่แอ๊ด ในการต่อสู้ เมื่อพี่แอ๊ดออกงานคู่กับพี่อี๊ด แฝดผู้พี่ ในอัลบั้ม ‘พฤษภา’ ผมจึงตามไปอุดหนุน คงเหมือนกับอีกหลายคน ชอบเพลงโด่งดังอมตะอย่าง ‘ทะเลใจ’ และเพลงการเมือง ซาบซึ้ง กินใจ ขนลุก อย่าง ‘ราชดำเนิน’

คาราบาวกลับมารวมตัวกันแบบ 7 คน (แอ๊ด เล็ก เทียรี่ เขียว อ๊อด เป้า ธนิสร์) ครบทีมอีกครั้งในปี 2538 ในอัลบั้ม ‘หากหัวใจยังรักควาย’ ซึ่งขายคู่สองม้วน ผมไปเฝ้ารอซื้อตั้งแต่วันแรก ร้านขายเทปแถวๆ คลองสาน

ปีถัดมา คาราบาวเล่นคอนเสิร์ตใหญ่แบบรวมตัวกันครบ ในชื่อ ‘ปิดทองหลังพระ’ ที่ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ผมสะสมเงิน ขอเงินแม่มาบางส่วน (โดยอ้างว่าเอาไปเรียนพิเศษ) และได้เงินจากแทงบอลได้ จนพอซื้อบัตร ไปกับเพื่อนหลายคน

นี่เป็นคอนเสิร์ตแรกของคาราบาวที่ผมได้ดูสดๆ และเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตเก่าๆ ที่มาหาดูย้อนหลังในช่วงเติบโต ผมเห็นว่า คอนเสิร์ต ‘ปิดทองหลังพระ’ เยี่ยมยอดที่สุด ทั้งในแง่การเล่นดนตรี ที่ทุกคนปล่อยของเต็มที่ สมาชิกในวงเข้าสู่วัยกลางคน มีทั้งแรงกาย แรงใจ ประสบการณ์ ทั้งสด ทั้งเก๋า

เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่เพลงคาราบาวค่อยๆ ได้รับความนิยมลดลง ผมหันไปฟังเพลงโลโซ และเพลงค่ายเบเกอรี่ตามสมัยนิยม แต่เพลงเก่าเพลงอมตะของคาราบาวในยุครุ่งเรือง ก็ยังอยู่ในชีวิตประจำวัน และชีวิตวงเหล้า ผมเดินทางไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ต้นเดือนตุลาคม 2545 หนึ่งในของฝากที่เพื่อนๆ ให้มา คือ แผ่น MP3 รวมเพลงคาราบาว แผ่นราคาไม่กี่บาท แผ่นที่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์นี้แหละ ที่บรรเทาอาการคิดถึงบ้าน อาการเหงา และเติมพลังให้ผมตลอดช่วงเวลา 8 ปี

“เราจะยังชอบเพลง ฟังเพลง ของศิลปินที่มีจุดยืนทางการเมือง และแสดงออกทางการเมืองไม่ตรงกับเราได้หรือไม่?”
“เราจะยังชอบเพลง ฟังเพลง ของศิลปินที่กลายเป็นนายทุน กลายเป็นมหาเศรษฐีได้หรือไม่?”

คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจหลายคน ผมเองก็คิดเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจ และชนชั้นทางเศษฐกิจและสังคม ของพี่แอ๊ดในทศวรรษ 20 กับปัจจุบันต่างกัน

จุดยืนทางการเมือง ที่แสดงออกผ่านการสัมภาษณ์และเพลงในยุคหลัง ไม่เหมือนกับที่จุดยืนและสิ่งที่ผมคิด แล้วเรายังชอบเพลงคาราบาว และวงคาราบาว ได้อีกหรือ? สำหรับผม ยังยืนยันว่าได้

เนื้อเพลงที่ดี ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงดี
เพลงอมตะ ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงอมตะ

ตั้งแต่ปี 30 ที่ผมซื้อเทปคาราบาวครั้งแรก เวลาผ่านไป 36 ปี ผมถึงมีโอกาสพบกับพี่แอ๊ด เป็นการส่วนตัว ได้สนทนา พูดคุย ยาวหลายชั่วโมง ได้มุมมองประสบการณ์ นี่คือศิลปินที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน และบทเพลงของเขายังทรงคุณค่าและพลัง

ผมชอบเพลงคาราบาว เนื้อเพลง (ที่พี่แอ๊ดรับเหมาเขียนเกือบทั้งหมด) เล่าเรื่องธรรมดาสามัญ ชีวิตของผู้คน ผู้ทุกข์ยาก ผู้ถูกกดขี่ สะท้อนปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ 

หลายเพลงอ่านแล้ว ผมตีความประสาผมเองว่า มีเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น และสภาวะแปลกแยก

เพลงรัก ก็เขียนได้ดีมาก - รักทรหด รักต้องสู้ แง้มใจ ลมพัดใจเพ หัวใจบ้าบิ่น

ความกล้าหาญที่นำดนตรีสมัยใหม่ ดนตรีร็อค การลีดกีตาร์ มาผสมกับเพลงการเมือง/สังคม (ที่เรียกกันว่า เพลงเพื่อชีวิต) ซึ่งในยุคก่อนมักเป็นโฟล์คมากกว่า

ผมชอบหลายเพลง แต่จะลองรวบรวมมาสัก 11 เพลง คาราบาวที่ผมชอบมากที่สุด เรียงตามลำดับ ดังนี้

1. หนุ่มลำมูล - ขี้เมา (2523) นี่คือบทกวีในบทเพลง
2. ไม้ไผ่ - วณิพก (2526) ปรัชญา และ Solidarity
3. ขี้เมาใจดี - ท ทหารอดทน (2526) ปรัชญา กฎธรรมชาติ การกักขังและอิสรภาพ
4. ราชาเงินผ่อน - เมดอินไทยแลนด์ (2527) ชีวิตจริง จากวันนั้น จนวันนี้ ก็ยังจริง
5. ซาอุดร - อเมริโกย (2528) กีตาร์ จังหวะ สนุก มันส์ อยู่ในคอนเสิร์ตเมื่อไร มันส์เมื่อนั้น เนื้อหายังใช้ได้จนถึงวันนี้
6. ถึกควายทุย 7 - ประชาธิปไตย (2529) ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตากรรม
7. สังกะสี - เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (2530) แรงงาน ชนชั้น สภาวะแปลกแยก
8. รักต้องสู้ - ทำมือ (2532) เพลงรัก อมตะ
9. ภควัทคีตา - โนพลอมแพลม (2534) ถึงเวลา ต้องรบ
10. ทะเลใจ - พฤษภา (2535) อัตตาและจิต
11. ลมพัดใจเพ - พออยู่พอกิน (2541) บทกวี พรรณา

ผมอ่านข่าว ทราบว่า พี่แอ๊ด ประกาศว่าจะยุบวงคาราบาว ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพของแต่ละคน คอนเสิร์ต 40 ปี วันที่ 11 พ.ย.นี้ จะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย จากนั้นจะยังมีคอนเสิร์ตอื่นๆที่รับปากไปแล้ว จนถึง 1 เมษายน 67 หลังจากนั้นจะไม่มีคอนเสิร์ตของคาราบาวแล้ว ใจหายครับ

วงดนตรีที่ผมผูกพัน อยู่กับเสียงเพลงของเขามาตั้งแต่สมัยเด็กประถม จนวัยกลางคน…

ผมเลื่อนวันเดินทางไปเยี่ยมภรรยาที่ปารีสออกไป 11 พ.ย.นี้ พลาดไม่ได้ ต้องขอดูคอนเสิร์ตนี้ก่อน 40 เพลง 4 ชั่วโมง ร่วมสนุกกันครั้งสุดท้ายกับคาราบาว ตำนานดนตรีของประเทศไทย

‘เทพมนตรี’ เผย คดี ‘ปิยบุตร’ หมิ่นสถาบันฯ อัยการให้ ตร.สอบเพิ่ม ด้าน ‘หมอวรงค์’ ชี้!! มีขบวนการปั่น-ล้มล้างฯ เร่งปลุกคนไทยต้าน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thepmontri Limpaphayorm’ ถึงคดีของ ‘นายปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า กรณีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่า…

“วันนี้ต้องมาสถานีตำรวจนครบาลดุสิตอีกรอบ

อาจารย์ปิยบุตรเป็นบุคคลสาธารณะ อันที่จริงไม่ได้มีความบาดหมางส่วนตัวอะไรกันเลย ผิดแผกตรงที่ผมไม่เห็นด้วยในการพูดและเขียนของเขา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้เด็กเยาวชนน้อมนำไปปฏิบัติคล้ายๆ ได้รับแรงบันดาลใจ

ตำรวจใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะสรุปสำนวน อัยการก็ใช้เวลาพิจารณาจะครบปีแล้ว วันนี้ก็ต้องมาสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพราะท่านอัยการมีข้อคำถามกลับมาให้สอบต่อ เพื่อยืนยันข้อความ 3 โพสต์ว่าเป็นจริงตามที่เสนอไป

สงสัยคดีอาจารย์ปิยบุตรจะครบ 3 ปีแน่ๆ และคงต้องสู้คดีกันต่อไปอีกหลายปี

อคติ ความไม่ชอบ ความไม่ลงรอยระหว่างตัวบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งๆที่ถ้ามองแบบวิชาการมันก็คิดอีกอย่าง

พอดีมันเป็นเรื่องกฎหมาย และผมก็มาร้องอยู่คนเดียวมันก็เลยทำให้นางไม่พอใจผมเป็นแน่ ผมไม่ใช่นักร้องน้องรัก ไม่เคยเรียกรับเงินใครสักบาท ไม่รับบริจาคหรืออามิสสินจ้างอะไร ที่ทำไปก็ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่อยากเห็นบ้านเมืองนี้มีความยุติธรรมให้เท่าเทียมกันทุกๆคน ทั้งที่เป็นเรื่องยากมาก

อยากบอกอาจารย์ปิยบุตรให้นางได้รับทราบและเตรียมตัวเอาไว้ ถ้าได้เจอกันก็ทักทายกันครับ แต่เรื่องเจ้าเรื่องสถาบันเพลาๆลงบ้างก็จะดี”

ขณะเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘ขบวนการล้มล้างการปกครอง’ โดยระบุว่า…

“หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลากหลาย มีความพยายามที่จะบิดเบือนคำวินิจฉัยของศาล เพื่อสร้างความรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม บางคนถึงขนาดที่ต้องตอบโต้หาว่าศาลรัฐธรรมนูญล้ำแดน ต้องใช้อำนาจโต้กลับ และมีการใช้คำพูดถากถางในโซเชียล

สิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สรุปว่า มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

แต่เคยเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2564 ที่มีการชุมนุมในปี 2563 ประกาศ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ แต่แฝงเร้นคำพูดให้เยาวชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า ต้องการให้สถาบันฯ อยู่เคียงคู่กับประชาชนได้อย่างสงบสุข และการชุมนุมครั้งนั้น ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ เช่นกัน

การถูกชี้ว่าล้มล้างการปกครองในครั้งนั้น จะขายคำว่า ‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง’ แต่ครั้งล่าสุดที่เสนอแก้ไขมาตรา112 แต่จริงๆ แล้วก็คือซ่อนเร้นการยกเลิกมาตรา 112 และไปเขียนกฎหมายใหม่ เพราะประชาชนอาจรู้ไม่เท่าทัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อคือ วันนี้แผนการล้มล้างการปกครองระบอบนี้ฯ ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า มีการวางแผนทำกันเป็นขบวนการหรือไม่? จะจริงหรือที่การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้นต่างฝ่ายต่างทำ บนความเชื่อของตนเอง

เพราะการล้มล้างทั้งสองเหตุการณ์นั้น มีการขับเคลื่อนของผู้แสดงที่หนุนซึ่งกันและกัน กลุ่มเยาวชนหนุนพรรค และพรรคก็หนุนเยาวชน มี NGO ที่รับเงินต่างชาติมาขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน

ขานรับกับสื่อที่เขามีอยู่ในมือจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นี่ยังไม่นับรวมรัฐบาลต่างประเทศ หรือวงการทูตที่แสดงออก ในการแทรกแซงการเมืองไทย แบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจรัฐบาลไทย

อยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เรากำลังเผชิญกับขบวนการการล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ต้องใช้เรือปืนมาปิดปากอ่าวไทย เพียงแค่ใช้คำว่าประชาธิปไตย มาปั่นให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และอาศัยสื่อสมัยใหม่ แค่นี้ก็สั่นคลอนประเทศได้

ถึงเวลาที่พี่น้องไทย ต้องร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว ถ้าเขาทำลายศรัทธาสถาบันฯ ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวประเทศได้ เท่ากับเขาล้มระบบนี้ได้ และอาจจะสถาปนาระบบใหม่ที่เลวร้ายกว่าเดิม ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดินิยม แต่มีคำสวยหรูคือประชาธิปไตย

ขอเตือนเหล่าขบวนการนี้ว่า พวกคุณคิดจะตัดรากแก้วต้นไม้ ถ้าอายุต้นไม้ไม่มากคุณตัดได้และไปล้อมปลูกได้ แต่ไม้ใหญ่ที่อายุร่วม 700 – 800 ปี ที่ให้ความสงบร่มเย็นแก่ผู้อาศัย ขอบอกไว้เลยว่ายาก แต่ถ้าไปเอาคนต่างถิ่นมาช่วยตัด ถ้าตัดได้ ทุกอย่างก็ต้องล่มสลายตามกันไป รวมทั้งพวกคุณด้วย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top