Monday, 19 May 2025
น้ำมัน

'กรมธุรกิจพลังงาน' กำชับปั๊มฯ หมั่นเช็กจุดเสี่ยง ไม่ให้น้ำปนเปื้อนในน้ำมัน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของ ปชช.

(2 พ.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีการเติมน้ำมันแล้วกลายเป็นน้ำ ในพื้นที่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำมันมาตรวจสอบคุณภาพ และแจ้งความดำเนินคดีกับปั๊มน้ำมันดังกล่าวในความผิดฐานการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามข้อกฎหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัย หากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีโทษตามมาตรา 48 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีปริมาณเกิน 200 ลิตร จะเข้าข่ายเป็นการปลอมปนน้ำมัน มีโทษตามมาตรา 49 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้กำชับผู้ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีน้ำปนในน้ำมัน โดยการปนเปื้อนของน้ำในน้ำมันดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การปนเปื้อนของน้ำระหว่างขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บ และการรั่วไหลของน้ำเข้าไปในถังน้ำมัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำมันในถังเก็บน้ำมันให้เหมาะสม ตรวจวัดน้ำก่อนการรับน้ำมันจากรถขนส่ง และตรวจวัดปริมาณน้ำในถังเก็บน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของประชาชน

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เคสปั๊มเติม ‘น้ำมันผสมน้ำ’ ให้ลูกค้า ชี้ ให้เป็นไปตาม กม. พร้อมกำชับพลังงานทั่วประเทศตรวจเข้ม

‘เสธหิ’ ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน ชี้เคสปั๊มเติมน้ำมันผสมน้ำให้ลูกค้า ยกเป็นอุทาหรณ์ ส่วนคดีก็ว่าไปตามกระบวนของกฎหมาย พร้อมขอให้พลังงานจังหวัดแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากกรณีนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เข้าพบ ร.ต.ท.ทัศเทพ เพร็ชศรี รอง สว. (สอบสวน) สภ.หนองปรือ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งตั้งอยู่ท้องที่ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ในข้อกล่าวหา กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 25 วรรค 3 และมาตรา 50 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 48 และ 49

ขณะที่น้องชายเจ้าของปั๊มให้การว่าน้ำมันดีเซล B7 ที่บีบออกจากหัวจ่ายเพื่อให้ลูกค้าเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เป็นน้ำมันที่มีน้ำเจือปนอยู่จริง ตามคลิปที่ผู้เสียหายไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีพนักงานเป็นผู้บีบตัวอย่างลงในแกลลอน ทางปั๊มเองไม่ทราบว่าสาเหตุที่มีน้ำเจือปนในน้ำมันเกิดจากสาเหตุใด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธหิ ที่ปรึกษาเดินทางมาตรวจสอบและติดตามความคืบหน้ากรณีข้างต้น โดยมีนางนิภา ศรแก้ว ผู้อำนวยการกองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง นายอัครเดช ศุกระกาญจน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมธุรกิจพลังงาน และนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 (ผบก.ศพฐ.7) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7

พ.ต.อ.สรวิชญ์ บัวกลิ่น ผกก.สภ.หนืองปรือ พ.อ.ทวี ดอนวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่พบว่ามีน้ำปนในน้ำมันดีเซลบี 7 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของประชาชน และกำชับให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตรวจสอบและดูแลเรื่องคุณภาพ รวมถึงปริมาตรน้ำมันให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

พร้อมกันนี้ กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงได้เก็บตัวอย่างน้ำมันเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยมีน้องชายเจ้าของปั๊มพาตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย เปิดเผยภายหลังตรวจสอบว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากประชาชนได้จ่ายเงินค่าน้ำมันไปแล้ว ประชาชนต้องอยากได้น้ำมันที่มีคุณภาพและปริมาณที่ครบถ้วนตามจำนวนเงินที่จ่ายไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องลงมาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ท่านรัฐมนตรีท่านทำงานอยู่หลายอย่าง เช่น ในระดับนโยบายท่านทำในเรื่องการปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับน้ำมันที่มีความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงระดับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องการให้ประชาชนได้รับสินค้าที่ตรงตามคุณภาพและปริมาณของน้ำมันตามที่ได้ระบุไว้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยากให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการตื่นตัว โดยพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องมีนโยบายแนวทางการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ร้องเรียนเพราะถือว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ ซึ่งทางราชการต้องรีบเข้าไปแก้ไข ต้องฝากไปยังพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดว่าต่อไปเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดำเนินการให้ผู้ร้องได้รับความพึงพอใจ และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะหาความจริงมาตอบประชาชนให้ได้

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันเป็นอย่างดี เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออก และหาคำตอบให้ประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นการเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะหากมีการพลั้งเผลอหรือบกพร่องตรงไหนผู้ประกอบการจะต้องไปทำการแก้ไข ในส่วนของคดีให้ว่ากันไปตามกฎหมาย โดยพลังงานจังหวัดมีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบการหรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายเบื้องต้น ตนยังไม่ทราบว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ทำการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับความหนักเบาของพฤติกรรม

ซึ่งในข้อกฎหมายมีอยู่แล้ว ต่อไปลักษณะของการที่จะเพิ่มโทษอะไรต่าง ๆ ทางผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้วินิจฉัยร่วมกัน แต่ขณะนี้ข้อกฎหมายที่มีอยู่จะต้องบังคับใช้ให้มีความยุติธรรมกับประชาชนและต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วยว่าเขามีเจตนาอย่างไร ซึ่งต้องฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนนโยบายขณะนี้รัฐมนตรีกำลังดำเนินการแก้ไข เช่น ตอนนี้ได้ให้มีการแจ้งต้นทุนน้ำมัน เพื่อเวลาที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือควบคุมราคาน้ำมันต่าง ๆ จะได้ทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันมาก่อนเลย ทำให้เราไม่สามารถทราบราคาต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงได้ ต่อไปเมื่อรัฐบาลสามารถทราบราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ จะทำให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนได้ดีและมีความเป็นธรรมมากขึ้น

‘รัสเซีย’ มีรายได้จากการขาย ‘น้ำมัน-ก๊าซ’ พุ่งขึ้นเท่าตัว หลังใช้กลยุทธ์ ‘ลดราคา’ ขายให้ชาติพันธมิตร แม้จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

(4 พ.ค. 67) รัสเซียมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นเท่าตัวในเดือนเมษายน 2024 แม้ว่าถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ  โดยรัสเซียหาทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขายน้ำมันให้กับชาติพันธมิตรในราคาที่ถูกลง นับตั้งแต่ปี 2022  แม้กระทั่งซาอุดีอาระเบียยังรับน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย  แล้วนำมาขายต่อให้กับยุโรปอีกทีเมื่อปี 2023  สิ่งนี้จึงช่วยให้รัสเซียยังมีเศรษฐกิจที่สมดุลอยู่ได้ และลอยตัวแม้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

ด้านอินเดียก็เคยซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ช่วยประหยัดงบไปถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259,000 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับจีนที่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น และซื้อขายกันในรูปเงินหยวน  ทั้งหมดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลแค่เล็กน้อย หรือแทบไม่มีผลเลยกับเศรษฐกิจรัสเซีย

รายงานล่าสุดจากรอยเตอร์ ประเมินว่า รัสเซียจะมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นเท่าตัวในเดือนเมษายนนี้(2024 ) รายได้น้ำมันของรัสเซียเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว(2023 )อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 259,000 ล้านบาท  แต่ในปีนี้(2024 )น่าจะแตะ 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 518,000 ล้านบาท  เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นมาร้อยเปอร์เซ็นต์ 

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ยังได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันรัสเซีย เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่าที่อื่นแล้ว ยังใช้เงินสกุลท้องถิ่นซื้อได้ด้วย ไม่ต้องพึ่งดอลลาร์สหรัฐเลย  การทำเช่นนี้ ยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองแข็งแกร่งขึ้นด้วย กลายเป็นว่ามาตรการคว่ำบาตรนี้ กลับส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่

ราคาน้ำมัน WTI ดีดแตะ 78 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังสต็อกน้ำมัน ‘ลดลง’ มากกว่าคาดการณ์

(10 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมัน WTI พลิกดีดตัวทะลุระดับ 78 ดอลลาร์ใน (8 พ.ค. 67) หลังสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 22.41 น. ตามเวลาไทย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. บวก 0.47 ดอลลาร์ หรือ 0.6% สู่ระดับ 78.85 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 1.1 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันปรับตัวลงในช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาด

สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 509,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 1.430 ล้านบาร์เรล

นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเจ้าหน้าที่อิสราเอลรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ยังคงไม่มีสัญญาณความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มฮามาสที่กรุงไคโรของอียิปต์ 

ปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ดันราคาน้ำมันพุ่ง 250 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อ 1 ใน 5 ‘การค้าน้ำมันดิบ-ผลิตภัณฑ์น้ำมัน’ ต้องผ่านเส้นทางนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์วอร์เท็กซา (Vortexa) ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. 2566 น้ำมันหนึ่งในห้าของการบริโภคทั่วโลกทั้งในรูปน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันต้องผ่านเส้นทางนี้ เฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ความหวาดวิตกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียถูกโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เสียชีวิตเจ็ดนาย ในจำนวนนี้เป็นระดับผู้บัญชาการสองนาย อิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อลิเรซา ตังซิรี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน เผยกับสำนักข่าวอัลเมยาดีนที่สนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน

“เราสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ แต่เราไม่ทำ อย่างไรก็ตามถ้าศัตรูเข้ามาป่วนเรา เราจะทบทวนนโยบาย” ผบ.ทร.อิหร่านกล่าวและว่า ถ้าเรือพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐเข้ามายังน่านน้ำอิหร่าน ช่องแคบฮอร์มุซ “จะใช้การไม่ได้ไปอีกหลายปี”

ในอดีตอิหร่านเคยขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซหลายครั้งเมื่อเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐและอิสราเอล

>> รู้จักช่องแคบฮอร์มุซ

น่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้มีรูปร่างเหมือนตัว V หัวตั้ง เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย มีอิหร่านอยู่ทางตอนเหนือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมานอยู่ทางตอนใต้ความยาวของช่องเกือบ 161 กิโลเมตร ส่วนแคบสุดกว้าง 33.8 กิโลเมตร ความลึกของช่องแคบไม่มากนักทำให้เรือเสี่ยงต่อทุ่นระเบิด และระยะทางห่างจากแผ่นดินโดยเฉพาะอิหร่านไม่ไกลนัก ทำให้เรือมีโอกาสถูกโจมตีจากขีปนาวุธยิงจากฝั่ง หรือถูกเรือลาดตระเวนและเฮลิคอปเตอร์ตรวจจับได้

>>ความสำคัญของช่องแคบ

ช่องแคบฮอร์มุซสำคัญยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลพบว่า ในไตรมาสหนึ่งของปี 2567 เรือบรรทุกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก คูเวต ยูเออีและอิหร่านผ่านช่องแคบนี้เกือบ 15.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กว่าหนึ่งในห้าของอุปทานโลก ส่วนใหญ่มาจากกาตาร์

>> ชนวนล่าสุด

วันที่ 13 เม.ย. หลายชั่วโมงก่อนใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ไออาร์จีซียึดเรือเอ็มเอสซีแอรีส์ ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับอิสราเอลใกล้ช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน

กองกำลังพิเศษโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงเรือแล้วบังคับเรือเข้าน่านน้ำอิหร่าน ทอดสมอระหว่างหมู่เกาะเคชม์ของอิหร่านกับช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซีย

>> ทำไมอิหร่านต้องป่วนการเดินเรือ

อิหร่านคุกคามเรือในอ่าวเปอร์เซียมาหลายสิบปีเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูกคว่ำบาตร หรือแสดงอำนาจเหนือกว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท

กรณีล่าสุดรัฐบาลเตหะรานอ้างว่ายึดเรือไว้เพราะละเมิดกฎหมายทางทะเล แต่นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นเพราะอิสราเอลเป็นเจ้าของเรือมากกว่า

ตอนที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันมุ่งหน้าไปสหรัฐในเดือน เม.ย.2566 ได้ให้เหตุผลว่า เรือลำนี้โจมตีเรือลำอื่น แต่ดูเหมือนอิหร่านทำไปเพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐยึดเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านนอกชายฝั่งมาเลเซียโทษฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร

เดือน พ.ค.2565 อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันกรีซสองลำไว้นานถึงหกเดือน สันนิษฐานว่าเพื่อตอบโต้ทางการกรีซและสหรัฐที่ยึดน้ำมันอิหร่านจากเรืออีกลำหนึ่ง สุดท้ายเรือทั้งสองลำก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ

>> อิหร่านเคยปิดช่องแคบฮอร์มุซหรือไม่

จนถึงขณะนี้อิหร่านยังไม่เคยปิดช่องแคบฮอร์มุซ ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 2523-2531 กองทัพอิรักโจมตีสถานีส่งออกน้ำมันบนเกาะคาร์จ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของช่องแคบ เป็นชนวนหนึ่งให้อิหร่านต้องตอบโต้ซึ่งเป็นการดึงสหรัฐเข้ามาร่วมวงความขัดแย้งนี้ด้วย

หลังจากนั้นเกิดสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายโจมตีเรือของกันและกัน 451 ลำ เพิ่มต้นทุนการขนส่งน้ำมันอย่างมหาศาลดันราคาน้ำมันพุ่งสูงตามไปด้วย

ตอนถูกคว่ำบาตรในปี 2554 อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซแต่สุดท้ายก็ไม่ทำ

ผู้ค้าน้ำมันสงสัยว่าอิหร่านจะปิดช่องแคบทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะอิหร่านก็ส่งออกน้ำมันของตนไม่ได้เหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพเรืออิหร่านยังเทียบกันไม่ได้กับกองเรือที่ 5 ของสหรัฐและกองกำลังอื่น ๆ ในภูมิภาค

ก่อนเกิดเหตุยึดเรือลำล่าสุดในเดือน เม.ย.ได้ไม่นาน ผบ.กองทัพเรืออิหร่านพูดว่า อิหร่านสามารถใช้ช่องแคบฮอร์มุซป่วนการเดินเรือได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ

>> จะปกป้องช่องแคบฮอร์มุซได้อย่างไร
ระหว่างสงครามเรือบรรทุกน้ำมัน กองทัพเรือสหรัฐกลับมาลาดตระเวนติดตามเรือในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง ปี 2562 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำและเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 จำนวนหนึ่งเข้ามาในภูมิภาคนี้

ปีเดียวกันสหรัฐเริ่มปฏิบัติการ Operation Sentinel ตอบโต้อิหร่านก่อกวนการเดินเรือ ต่อมาอีกสิบชาติ อาทิ สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน เข้าร่วมด้วย เรียกว่า โครงสร้างความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปลายปี 2566 ปฏิบัติการปกป้องเรือสินค้าส่วนใหญ่ย้ายจากช่องแคบฮอร์มุซมายังทะเลแดงตอนใต้และช่องแคบบับเอลมันเดบ ที่เชื่อมช่องแคบกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย

การโจมตีเรือสินค้าเข้าออกทะเลแดงโดยฮูตีในเยเมนกลายเป็นความน่ากังวลมากกว่าช่องแคบฮอร์มุซ กองกำลังในทะเลแดงนำโดยสหรัฐจึงพยายามปกป้องการเดินเรือในพื้นที่นี้

>> ใครพึ่งพาช่องแคบฮอร์มุซมากที่สุด
การส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบนี้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่อส่งความยาว 1,200.5 กิโลเมตรข้ามประเทศไปสู่สถานีน้ำมันในทะเลแดงได้

ยูเออีสามารถเลี่ยงช่องแคบฮอร์มุซได้บ้าง ด้วยการส่งน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านท่อส่งจากบ่อน้ำมันของตนไปยังท่าเรือฟูไจราห์ในอ่าวโอมาน

น้ำมันอิรักบางส่วนใช้เรือบรรทุกจากท่าเรือซีฮานของตุรกี แต่ 85% ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ อิรักจึงต้องพึี่งพาเส้นทางนี้อย่างมาก

คูเวต กาตาร์ และบาห์เรนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้เส้นทางนี้เท่านั้น

>> แนวโน้มราคาน้ำมันหากปิดช่องแคบฮอร์มุซ
ต้นเดือน พ.ย.2566 ไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลปะทุขึ้น เกิดความกังวลกันมากว่าความขัดแย้งจะบานปลาย แบงก์ออฟอเมริการายงานว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจดันราคาน้ำมันไปสูงกว่า 250 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ผู้ติดตามอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนมองว่า การปิดช่องแคบยังไม่น่าจะเป็นไปได้

แอนดี ลิโปว์ ประธาน Lipow Oil Associates กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และคูเวตยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

โกลด์แมนแซคส์แสดงความคิดเห็นแบบเดียวกัน คณะนักวิเคราะห์นำโดยแดน สตรูว์เยน หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันรายงานไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ต้นทุน ‘ราคาขายปลีกน้ำมัน’ ภายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง ❔⛽

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในแต่ละประเทศ ‘ไม่เหมือนกัน’ 

สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้น ผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน, ภาษี, เงินกองทุน และค่าการตลาด เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ที่ขายในหน้าปั๊ม จึงประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

2. ภาษี (30-40%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

🟠ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

🟠ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุน (5-20%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

🟠เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10-18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

ดังนั้น จะเห็นได้ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทุกคนคงอยากใช้น้ำมันในราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในราคาน้ำมัน และก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน และด้วยประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก 

เพราะฉะนั้น หากเราไม่มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก ๆ เราก็จะไม่มีเงินสำรองเพื่อช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ จนอาจทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นได้

เปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน 10 ชาติอาเซียน ประเทศไหน 'ถูก-แพง' หากใช้ค่าแรงตั้ง หารด้วย 'ราคาต่อหน่วย'

บ่อยครั้งที่บ้านเรามีการหยิบยกเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเปรียบเทียบกับรายรับของประชากร ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ ด้วยการเอาค่าแรงตั้งแล้วหารด้วยราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิง จนได้ผลออกมาว่า 'ค่าแรงของแต่ละประเทศนั้นจะสามารถซื้อน้ำมันได้กี่ลิตร' เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ 10 รัฐสมาชิก ASEAN 

แม้วิธีการคิดแบบนี้จะง่ายและดูเหมือนมีความชัดเจน แต่เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยข้อมูลจากดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) 

ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) เป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นค่าฐานอยู่ที่ร้อยละ 100 (100%)

ดัชนีค่าครองชีพยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานสําหรับการเปรียบเทียบความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของสถานที่ที่แตกต่างกันสําหรับ บุคคล, ครอบครัว และธุรกิจ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่...

- ค่าที่อยู่อาศัย : ค่าเช่าหรือค่าจํานองภาษีทรัพย์สินและค่าสาธารณูปโภค
- ค่าอาหาร : ร้านขายของชําและรับประทานอาหารนอกบ้าน
- ค่าขนส่ง : น้ำมันเบนซิน การขนส่งสาธารณะ และค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษายานพาหนะ
- ค่ารักษาพยาบาล : เบี้ยประกันสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือความคุ้มครองของประกัน
- ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา : ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน และการใช้จ่ายในดูแลเด็กเล็ก
- ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและความบันเทิง : กิจกรรมสันทนาการ ความบันเทิง และสินค้าเพื่อการพักผ่อน
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด : เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

***หากค่าของดัชนีค่าครองชีพในประเทศใด 'สูง' จะหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศนั้นย่อมสูงตามไปด้วย

ทีนี้หากเปรียบเทียบ ราคาน้ำเบนซินต่อลิตร กับค่าแรงหนึ่งวัน และดัชนีค่าครองชีพ ของ ASEAN 10 ประเทศ (คิดเป็นเงินบาท) พอจะสรุปข้อมูลได้ดังนี้...

1. สิงคโปร์ : ราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 79 บาท แรงงานมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 46,051 บาท หรือวันละ 1,535 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 19.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 (สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN มีระบบการขนส่งมวลชนดีที่สุดใน ASEAN ชาวสิงคโปร์จึงใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันน้อยมาก)

2. บรูไน : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 14 บาท ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ต่อเดือนประมาณ 28,431 บาท หรือวันละ 948 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 67.7 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 50.5 (บรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของ ASEAN)

3. มาเลเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 16 บาท ค่าแรงวันละ 392 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 24.5 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.5 (รัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราวปีละ 387,069,500 ล้านบาท)

4. ไทย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 38.5 บาท ค่าแรงวันละ 363 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 36.04 (ไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้การอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG)

5. ฟิลิปปินส์ : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 37 บาท ค่าแรงวันละ 362 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.8 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 33.6 (รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟูกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (OPSF) ซึ่งยกเลิกไปในปี 1996 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง)

6. อินโดนีเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 35.5 บาท ค่าแรงวันละ 351 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.9 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 28.5 (รัฐบาลอินโดนีเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ราวปีละ 303,245,769 ล้านบาท)

7. เวียดนาม : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 33 บาท ค่าแรงวันละ 234 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 7.1 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.8 (เวียดนามมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง)

8. กัมพูชา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 43.5 บาท ค่าแรงวันละ 227 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 5.2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.5 และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

9. ลาว : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 54 บาท ค่าแรงวันละ 85 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 1.6 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 44.4 (ลาวพึ่งจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในปีนี้) และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

10. เมียนมา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 40.5 บาท ค่าแรงวันละ 81 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.6

ดังนั้นวิธีการเอา 'ค่าแรงตั้ง' หารด้วย 'ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อหน่วย' ได้คำตอบเป็น 'ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง' จึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หากไม่นำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาประกอบร่วม โดยเฉพาะ 'ดัชนีค่าครองชีพ' เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ค่าแรงจะสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าประเทศอื่น แต่หากดัชนีค่าครองชีพสูง อาทิ ดัชนีค่าครองชีพของสิงคโปร์ ที่สูงถึง 81.9 ซึ่งหมายความว่า ถ้าค่าครองชีพในมหานครนิวยอร์กเท่ากับวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องจ่ายค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อต้องใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงลิ่วแล้ว แน่นอนว่าคนสิงคโปร์ก็คงจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อรถยนต์ ซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าที่จอดรถอีกซึ่งแพงมากๆ และไหนจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 

ส่วนบางประเทศได้ใช้น้ำมันราคาถูก นั่นก็เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมากมายมหาศาลในการอุดหนุนราคา ซึ่งน่าเสียดายแทน เพราะแทนที่จะได้เอางบประมาณดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ 

ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลโดยรวมในหลายๆ มิติแล้ว ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศต่างก็มีความเหมาะสมถูกต้องตามแต่บริบทของประเทศนั้นๆ โดยใน ASEAN มีบรูไนประเทศเดียวเท่านั้นที่มีน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันเอง ในขณะที่อีก 9 ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบหรือน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง 

โดยสรุป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะถูกหรือแพงนอกจากเรื่องของราคาแล้วยังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย จึงจะเข้าใจว่าราคาน้ำเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมของแต่ละประเทศนั้น ควรเป็นเท่าใด? และด้วยเหตุผลอันใด?

‘BYD’ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด รุ่นที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพ วิ่งได้ไกล 2,100 กิโลเมตร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บีวายดี (BYD) บริษัทยานยนต์พลังงานใหม่รายใหญ่ของจีน เปิดตัวเทคโนโลยีไฮบริดสองระบบ (DM) รุ่นที่ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งมาพร้อมระยะทางวิ่งไกล 2,100 กิโลเมตร

หวังฉวนฝู ประธานบีวายดี ซึ่งร่วมงานเปิดตัวเทคโนโลยีข้างต้นในนครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กล่าวว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดของบีวายดีก้าวเป็นผู้นำโลกในหลายด้าน

เทคโนโลยีดังกล่าวมีประสิทธิภาพทางความร้อนร้อยละ 46.06 อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 2.9 ลิตรต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร แม้อยู่ในสถานะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และระยะทางวิ่งไกล 2,100 กิโลเมตร เมื่อยานยนต์ชาร์จแบตเตอรี่เต็มและน้ำมันเต็มถัง

นอกจากนั้นบีวายดีเปิดตัวยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ 2 รุ่น ได้แก่ ฉิน แอล ดีเอ็ม-ไอ (Qin L DM-i) และซีล 06 ดีเอ็ม-ไอ (Seal 06 DM-i) ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงเพียงหนึ่งในสามของยานยนต์รุ่นเก่าและมีระยะทางวิ่งเพิ่มขึ้นสามเท่า ราคา 99,800-139,800 หยวน (ราว 4.99-6.99 แสนบาท)

หวังกล่าวว่าบีวายดีเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด ในระดับโลกและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก หลังจากทำยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดสะสมมากกว่า 3.6 ล้านคัน

อนึ่ง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีนระบุว่ายอดการผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่ของจีน ช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของปีนี้ รวมอยู่ที่ 2.985 ล้านคัน และ 2.94 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 และร้อยละ 32.3 เมื่อเทียบปีต่อปี

'มาเลเซีย' ปรับราคาดีเซลขึ้นอีก 50% ในหลายพื้นที่ หลังยุติมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห

เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 67) สำนักข่าว Channel News Asia รายงานว่า มาเลเซียประกาศขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50% ในหลายพื้นที่ มีผลวันนี้ ซึ่งก็คือ 10 มิ.ย. เนื่องจากรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแหซึ่งมีต้นทุนสูง ไปเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ โดยกระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ว่า จะเริ่มกำหนดราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับราคาตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังระบุว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.35 ริงกิตต่อลิตร ในพื้นที่รอบคาบสมุทรมาเลเซีย (Peninsular Malaysia) ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป ซึ่งราคาดังกล่าวจะเป็นราคาตลาดที่ไม่มีการอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเป็นราคาอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. 2567 ตามสูตร Automatic Pricing Mechanism

สำหรับรัฐอื่น ๆ และดินแดนของมาเลเซียบนพื้นที่เกาะบอร์เนียว ราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ที่ลิตรละ 2.15 ริงกิต โดยรัฐบาลจะยังตรึงราคานี้สำหรับกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ที่เข้าเกณฑ์การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังตรึงราคาน้ำมันสำหรับกลุ่มประมงและกลุ่มขนส่งสาธารณะบางส่วน อาทิ รถโรงเรียนและรถพยาบาล

ทั้งนี้ ตามมาตรการพยุงราคาน้ำมัน ราคาดีเซลในมาเลเซียจะจำหน่ายในราคาที่ต่างกัน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม สำหรับกลุ่มประมง อยู่ที่ลิตรละ 1.65 ริงกิต, กลุ่มขนส่งสาธารณะทางบก ลิตรละ 1.88 ริงกิต, กลุ่มยานพาหนะเชิงพาณิชย์และส่วนบุคคล ลิตรละ  2.15 ริงกิต และกลุ่มภาคการพาณิชย์ที่จำหน่ายตามราคาตลาดซึ่งไม่ได้รับการอุดหนุนราคา อยู่ที่ลิตรละ 3.60 ริงกิต

รัฐบาลมาเลเซียกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า แผนลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในปีนี้ คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ปีละประมาณ 4 พันล้านริงกิต (853.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่า จะนำงบส่วนดังกล่าวไปช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาเลเซียใช้งบประมาณจำนวนมากในการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง น้ำมันปรุงอาหาร และราคาข้าว รวมถึงสินค้าพื้นฐานอื่น ๆ โดยงบดังกล่าวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การคลังของรัฐบาลตึงเครียด เฉพาะน้ำมันดีเซลอย่างเดียว รัฐบาลมาเลเซียใช้งบในการพยุงราคาไปถึง 1.43 หมื่นล้านริงกิต ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 1.4 พันล้านริงกิตถึง 10 เท่า 

ย้อนอดีต 'ซีพี' ร่วมทุน 'ปตท.-จีน' เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันร่วมกัน แต่ล่ม สะท้อนผู้เล่นจะอยู่ได้ ราคาน้ำมันต้องถูก-ขายง่าย-กระจายกลุ่มลูกค้า

รู้หรือไม่? ซีพีก็เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2536 ซีพี ร่วมลงทุนกับ 'ซิโนเปค' บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของจีน จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมชื่อ 'ปิโตรเอเชีย' โดยเชิญการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้าร่วมทุนด้วย

ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ ซีพีถือหุ้น 35% / ปตท.ถือหุ้น 35% และซิโนเปค 30%

ปิโตรเอเชีย ภายใต้สัญลักษณ์ 'ช้างแดง' เริ่มเปิดให้บริการในปี 2537 มีสถานีบริการน้ำมัน 37 แห่ง และจุดจ่ายน้ำมันขนาดเล็กอีก 450 แห่งทั่วประเทศ

หนึ่งในจุดขายสำคัญของปั๊มช้างแดงตอนนั้น คือ มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้บริการ ในยุคที่ ปตท.ยังคงบริหารร้านสะดวกซื้อแบรนด์ของตัวเอง เช่น จอย, พีพีทีที, สไมล์, ปตท.มาร์ท

แต่ธุรกิจปั๊มน้ำมันช้างแดงไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 5-7 ล้านบาท หรือตลอดที่เปิดกิจการ ขาดทุนราว 200 ล้านบาท แม้ปรับแผนการตลาดในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้น ผู้ค้าน้ำมันทุกรายระส่ำ ปิดกิจการจำนวนมาก เอาแค่เฉพาะ ปตท.เจ้าเดียวก็ขาดสภาพคล่องราว 2 พันล้านบาท

จากจุดนี้ ทำให้ทั้ง ซีพี และ ซิโนเปค เสนอถอนทุน และให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นแทนทั้งหมด ขณะเดียวกัน ปตท.ถูกตัดลดงบลงทุนโครงการ ก็เลยจะขายหุ้นปิโตรเอเชียให้กับต่างชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระ

เรียกว่าเป็นเผือกร้อนที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนใส่กัน

แม้ว่าช่วงหนึ่ง ปตท.จะเปิดเผยว่ามีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง 'อาร์โก้' ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ร้านเอเอ็มพีเอ็มในขณะนั้น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สนใจที่จะซื้อหุ้นแล้ว

ในปี 2541 ซีพีเสนอขายปั๊มน้ำมัน 37 แห่งทั่วประเทศให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากขาดทุนสะสมสูงถึง 300 ล้านบาท อีกทั้งยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แต่ ปตท.ก็ตัดสินใจไม่รับซื้อกิจการ เพราะต้องการประคับประคองปั๊ม ปตท.ที่ในขณะนั้นเหลือเพียงแค่ 1,500 แห่งให้อยู่รอด อีกทั้งปั๊ม ปตท.กับปั๊มพีเอหลายแห่งอยู่ติดกัน จะเกิดการแข่งขันกันเอง

อย่างไรก็ตาม ผลที่สุด ที่ประชุมบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2541 อนุมัติให้ ปตท.ซื้อปั้มน้ำมันปิโตรเอเชีย 17 แห่ง ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมีทำเลไม่เหมาะสม

จากนั้นในวันที่ 21 ส.ค. 2541 การประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ปตท. / ซีพี และ ซิโนเปค เห็นชอบให้หยุดดำเนินธุรกิจขายปลีกน้ำมัน แต่ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายส่งน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรม และดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊ม

ส่วนปั๊มปิโตรเอเชียที่ดูแลโดยตัวแทนจำหน่าย 11 แห่ง ถ้าต้องการดำเนินกิจการต่อ ก็ให้เปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. แต่ถ้าไม่ต้องการก็ให้ปิดกิจการ เพื่อหยุดความเสียหายต่างๆ

ปัจจุบัน ปั๊มปิโตรเอเชียได้เลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะทุกปั๊มเปลี่ยนเป็น ปตท.หมดจนไม่เหลือเค้าความเป็นปั๊มช้างแดงที่มีอยู่เดิม ขณะที่บางส่วนก็ปิดกิจการไปแล้ว

ความล้มเหลวของปั๊มช้างแดงในอดีต สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ยึดติดแบรนด์เดิม กระทั่งมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งซ้ำเติมให้ปิโตรเอเชียอยู่ลำบาก

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป มีความเป็นไปได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ซีพีลงมาทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เพราะเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นร้านสะดวกซื้อตามปั๊มน้ำมัน (Gasoline Store) หรือ G Store ซึ่งในเวลานั้น มีร้านไทเกอร์มาร์ทของปั๊มเอสโซ่ ร้านสตาร์มาร์ทของปั้มคาลเท็กซ์ และร้านซีเล็คของปั๊มเชลล์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างหาจุดดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการในปั๊มของตัวเอง

ซีพี จึงก่อตั้งปั๊มน้ำมันของตัวเองภายใต้ชื่อ ปิโตรเอเชีย เพื่อให้เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขา G Store ที่จะมารองรับไลฟ์สไตล์ของคนเดินทาง ภายหลังปั้มปิโตรเอเชียเปลี่ยนเป็นปั๊ม ปตท. ก็ยังคงให้บริการอยู่

ขณะที่ร้านเอเอ็มพีเอ็ม ที่ ปตท.บริหารในปี 2540 โดยมีทิพยประกันภัยร่วมลงขัน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในความเป็นจริงได้เพียงแค่โลโก้เอเอ็มพีเอ็มมาติดไว้หน้าร้าน แต่ไม่ได้รับเซอร์วิสต่างๆ มาเลย

เมื่อ ปตท.ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดร้านสะดวกซื้อแทนร้านเอเอ็มพีเอ็มเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2545 กลายเป็นการต่อความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสองธุรกิจยักษ์ใหญ่ มาจนถึงทุกวันนี้

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top