Monday, 19 May 2025
น้ำมัน

🔎ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันแต่ละลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง??

ในน้ำมันแต่ละลิตรที่เราใช้กันในทุกวันนี้ ประกอบด้วยราคาทั้งหมด 4 ส่วนดังนี้

>>40 - 60% ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

>>30 - 40% ภาษีต่าง ๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น

>>5 - 20% กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน และ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

>>10 - 18% ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำนั้นทั้งระบบ

ในส่วนของ ‘ราคาขายปลีก’ ในปัจจุบัน ก็จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น / ภาษีสรรพสามิต / ภาษ / เทศบาล / กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง / กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน / ค่าการตลาด / ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับแนวทางการแก้ไขภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘คนดังนั่งเคลียร์’ ว่า… 

“ที่บอกว่าราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นคือ 20 บาท ไม่รู้มาจากไหน ราคาจริงเท่าไหร่ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งผมว่าเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบ Cost Plus คือ ต้นทุนจริงบวกค่าใช้จ่ายจริง จะได้เป็นราคาขายจริง…

“อีกเรื่องที่ต้องแก้ไขคือ ‘เงินสมทบเข้ากองทุน’ กฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเป็นคนจ่าย เปรียบเหมือนภาษี และเมื่อจ่ายไปแล้ว ก็เป็นต้นทุนที่ต้องไปหักในส่วนของค่าดำเนินงาน ไม่ใช่นำมาบวกในค่าน้ำมัน แต่หากนำมาบวกในค่าน้ำมัน หมายความว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผมต้องทำเป็นกฎหมายใหม่หมดเลย”

'พม่า' วิกฤติ!! หลายเมืองขาดแคลนน้ำมัน พบ!! สถานการณ์ลากยาวกว่า 20 วันแล้ว

(19 ส.ค. 67) เพจ 'World Forum ข่าวสารต่างประเทศ' เผยภาพ ประชาชนจำนวนมากมาต่อแถวซื้อน้ำมันเพื่อเติมรถยนต์ (18/8/2024) ในย่างกุ้ง และหลายเมืองน้ำมันขาดแคลน 

การขาดแคลนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นทั่วเมียนมามานานกว่า 20 วันแล้ว การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงกลายเป็นเรื่องยากมาก ต้องต่อคิวซื้อ

'กพช.' ไฟเขียว!! ต่อเวลาชดเชยราคาน้ำมันผสมเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี อุ้ม!! 'กลุ่มเกษตรกร-รง.เอทานอล-ผลิตน้ำมันปาล์ม' ให้มีเวลาปรับตัว

(5 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายน นี้เป็นลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเหลือโอกาสในการขอขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เวลาอย่างจริงจังในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงน้ำมันปาล์ม ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวไปจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่นๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน เช่น จำหน่ายในตลาดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นต้น

วิเคราะห์!! สถานการณ์ราคาน้ำมัน ตัวแปรดันราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม 'เหตุรุนแรงในตะวันออกกลาง-พายุเฮอร์ริเคน Francine'

เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.67) หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ได้เปิดเผย 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน ดังนี้...

1. ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ภายหลังเครื่องมือสื่อสารถูกแฮกและเกิดระเบิดขึ้นในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้กล่าวโทษอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในครั้งนี้และประกาศจะตอบโต้อิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

2. การผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกยังคงได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน Francine โดยยังคงมีการอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกปรับลดกว่า 12% จากปริมาณการผลิตปกติ 

3. นักลงทุนยังคงจับตาการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยตัวเลขผลสำรวจล่าสุดของ FEDWATCH ชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 69% ที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันได้

4. สถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ก.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 1.96 ล้านบาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันดิบ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 ที่ผ่านมา อ้างอิง เวสต์เทกซัส (WTI) อยู่ที่ 71.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (+1.10) ส่วน เบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 73.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (+0.95)

‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ เล็งยกร่างกฎหมายปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกร หลังหยุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69 หวังสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เหลือเวลาอีกหนึ่งปีนิด ๆ โดยปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชยราคา เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ราคาขายปลีกน้ำมันน่าจะยิ่งสูงขึ้น แต่เนื่องจากในปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ทำให้เมื่อผสมแล้วแทนที่จะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงถูกลงแต่กลับกลายเป็นยิ่งทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผิดไปจากเดิมวัตถุประสงค์ในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลง

ปัจจุบันไทยมีน้ำมันเชื้อเพลิงผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ชนิดได้แก่ (1) ไบโอดีเซล (Biodiesel) หรือ Fatty acid methyl ester (FAME) คือ น้ำมันที่ผลิตมาจากพืช ซึ่งถือเป็น 'เชื้อเพลิงทางเลือก' ที่ผลิตได้จากชีวภาพ เช่น ปาล์ม ทานตะวัน ถั่วเหลือง สบู่ดำ มะพร้าว หรือ ผลิตมากจากไขมันสัตว์หรือน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้วซึ่งเป็นสารจำพวกไตรกลีเซอไรด์ ก็สามารถนำมาผลิตไบโอดีเซลได้โดยนำมาผ่านกระบวนการทางเคมี โดยไทยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันชีวภาพหลักสำหรับไบโอดีเซล และ (2) แก๊สโซฮอล คือ การเอาน้ำมันเบนซินพื้นฐาน มาผสมกับแอลกอฮอล ซึ่งจะกลายเป็นน้ำมันสูตรใหม่ที่เรียกว่า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล'

- น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ได้จากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 1 ผสมกับ เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ในอัตราส่วน 10 % 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 แต่ผสมจากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 2 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol (E20) ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 แต่ผสมในอัตราส่วน 20% 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol E85 น้ำมันแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอลบริสุทธิ์สูงถึง 85% กับน้ำมันเบนซิน 15% เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Fuel) เนื่องจากมลพิษที่ปล่อยจากไอเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับเบนซิน

แต่จุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซิน ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า อันที่จริงแล้วภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรไปก่อน แล้วหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของทั้ง 2 กระทรวงนี้ต่อไป

โดย 7 พฤศจิกายน 2567 รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO : Crude Palm Oil) สูงขึ้นมาก ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือราว 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้พี่น้องประชาชนมีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็นดังนี้ 
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร (ส่วนผสมไบโอดีเซลลงถูกปรับจาก B7 เป็น B5)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่า 19% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร
ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใดโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รองพีร์มีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาลซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมันต่อไป โดยที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองพีร์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้วย จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 

โดยกฎหมายอ้อยและน้ำตาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกันกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในการร่วมมือกับทางการ ตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจที่ได้ผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้แล้ว รองพีร์ยังได้มองถึงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากมีความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มได้ แต่ต้องมีการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อให้รากฐานเข้มแข็ง เป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่อไป

'ทรัมป์' เล็งเพิ่มขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ หนุนส่งออกพลังงาน ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม

(11 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมกรุยทางให้บริษัทและนักลงทุนขนาดใหญ่สามารถขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ และส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ โดยประกาศว่าจะเร่งอนุมัติการผ่อนปรนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33,730 ล้านบาท) ในประเทศ

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่าน Truth Social โดยระบุว่าจะเร่งอนุมัติใบอนุญาตให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ลงทุนในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น

"บุคคลหรือบริษัทที่ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้นในสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเร่งด่วนเต็มรูปแบบ รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลานาน เตรียมตัวให้พร้อม!!!"

แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทรัมป์ต้องการผลักดันการอนุมัติการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันทั้งในดินแดนและนอกชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกพลังงาน

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอิสระ เช่น คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานส่วนกลาง (FERC) ที่ต้องการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการก๊าซ LNG

นอกจากนี้ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันยังมีแผนที่จะเพิกถอนข้อจำกัดและกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมบางประการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่น เครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มุ่งยกเลิกการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ บีบให้ยุโรปซื้อ ‘น้ำมัน - ก๊าซ’ จากสหรัฐฯ หากไม่อยากเจอ!! มาตรการลงโทษ ขึ้นภาษีศุลกากร

(21 ธ.ค. 67) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองว่า เขาได้แจ้งกับสหภาพยุโรป (อียู) ว่าอียูจะต้องลดช่องว่างการขาดดุลการค้ากับสหรัฐด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้น อียูอาจต้องเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐเป็นรายต่อไป 

"ผมบอกกับสหภาพยุโรปว่าพวกเขาต้องชดเชยการขาดดุลมหาศาลกับสหรัฐ ด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซในปริมาณมาก มิฉะนั้นจะต้องเจอภาษีศุลกากร” ทรัมป์โพสต์ข้อความทาง Truth Social 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางการสหรัฐระบุว่า สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้า และบริการกับอียูถึง 1.313 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2022

ทางด้านนักการทูตอาวุโสรายหนึ่งในอียูเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับท่าทีของทรัมป์ในครั้งนี้ และมองว่าพลังงานเป็น ‘ทางเลือกที่ดี’ หากจะต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น  

ขณะที่แหล่งข่าวนักการทูตอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอล์ซ ของเยอรมนี ได้พูดคุยกับทรัมป์ในเรื่องนี้เมื่อคืนวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา หลังจากที่บรรดาผู้นำประเทศในอียูได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอียู

‘กองทุนน้ำมัน’ จ่ายหนี้เงินกู้ขั้นบันได เม.ย. จ่ายเฉียด!! 2,000 ล้านบาท

(15 ก.พ. 68) จากข้อมูลฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดยังคงติดลบกว่า 70,438 ล้านบาท โดยราคาน้ำมันโลกทรงตัวระดับไม่สูงมากนักประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดได้มากขึ้นถึงเดือนละกว่า 6,700 ล้านบาท

โดยเฉพาะผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บเงินถึง 4.60 บาทต่อลิตร และถูกเรียกเก็บค่าการตลาดจากผู้ค้าน้ำมันประมาณ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ระดับ 35.35 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ระดับ 34.98 บาทต่อลิตร   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีรายรับเข้ามาและทำให้วงเงินกองทุนฯ ติดลบน้อยลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 70,438 ล้านบาท โดยยังคงเป็นยอดการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 23,966 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 46,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายรับที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 224.55 ล้านบาท หรือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันรวม 213.39 ล้านบาท และมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้และผู้ผลิต LPG รวม 11.16 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้เงินกู้โดยรวมยังเหลืออยู่อีก 104,083 ล้านบาท

"ช่วงนี้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายหนี้เงินกู้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยอยู่ระดับ 230 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินต้นจะทยอยปรับขึ้นตามการกู้เงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นเกือบ 2,000 ล้านบาท" 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ยังคงถูกเรียกเก็บเงินสูงสุดกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นถึง 4.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บจากผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกเรียกเก็บกว่า 3 บาทต่อลิตร

โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 11 ก.พ. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.09 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.12 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 6.88 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 2.54 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.98 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 33.14 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์  E85 อยู่ที่ 32.09 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร

‘เอ็กซอนโมบิล’ ขายกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในไทย หลังขายโรงกลั่น - คลังน้ำมัน - ปั๊มน้ำมันให้ ‘บางจาก’ ไปแล้วก่อนหน้านี้

(26 มี.ค.68) เอ็กซอนโมบิล ลงนามขายกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในประเทศไทย ทั้งหุ้นในแหล่งสินภูฮ่อมและการดำเนินการในแหล่งน้ำพอง ให้ฮอไรซอน ออยล์และมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ หลังขายกิจการโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันให้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไปทั้งหมดในปี 2566 โดยฮอไรซอน ออยล์และมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่เตรียมเข้าดำเนินการแหล่งน้ำพองในนามของกลุ่มบริษัทร่วม

บริษัท มาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ (Matahio Energy) ประกาศว่าได้ร่วมมือกับบริษัท ฮอไรซอน ออยล์ ลิมิเต็ด (Horizon Oil Limited) ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น (Exxon Mobil Corporation) เพื่อเข้าซื้อผลประโยชน์ 100% ในบริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ (ExxonMobil Exploration and Production Khorat Inc. หรือ EMEPKI) โดยสินทรัพย์ดังกล่าวรวมถึงหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม (Sinphuhorm) (ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการโดยตรง) และแหล่งน้ำพอง (Nam Phong) (เป็นผู้ดำเนินการโดยตรง) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบนบกในประเทศไทย ทั้งสองแหล่งมีการจัดการที่ดีและมีรากฐานที่แข็งแกร่ง

ฮอไรซอน ออยล์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซิดนีย์ ส่งหนังสือแจ้งต่อ ASX ว่าฮอไรซอน ออยล์ จะเข้าซื้อหุ้น 75% ใน EMEPKI โดยมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ (ดำเนินกิจการในมาเลเซีย สิงคโปปร์ นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์) จะเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ 25% และตกลงที่จะจัดการพนักงานของ EMEPKI และการดำเนินการแหล่งน้ำพองในนามของกลุ่มบริษัทร่วม โดยฮอไรซอน ออยล์ ระบุว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เนื่องจากต้องการเงินทุนขั้นต่ำในการเข้าถึงสินทรัพย์ผลิตก๊าซที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดใจและการคืนทุนอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งโอกาสในการเติบโต

ด้านมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ ระบุว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์จากเอ็กซอนโมบิลครั้งนี้เป็นการปูทางให้บริษัทเข้าสู่ภูมิศาสตร์ที่สาม นอกเหนือจากนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ และเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตและการกระจายความเสี่ยงของบริษัท อีกทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในการดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทีมงานของมาตาฮิโอและฮอไรซอนมุ่งมั่นที่จะทำให้การถ่ายโอนการดำเนินการแหล่งน้ำพองเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ และ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมลงนามในสัญญาขยายสัมปทานการดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติ ในเขตอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 (นอกพื้นที่โคราช) หรือ แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง โดยต่อระยะเวลาสัมปทานให้บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564 – 2574 ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในปริมาณ 8  ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน จะจัดจำหน่ายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนและธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top