ต้นทุน ‘ราคาขายปลีกน้ำมัน’ ภายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง ❔⛽

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในแต่ละประเทศ ‘ไม่เหมือนกัน’ 

สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้น ผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน, ภาษี, เงินกองทุน และค่าการตลาด เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ที่ขายในหน้าปั๊ม จึงประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

2. ภาษี (30-40%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

🟠ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

🟠ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุน (5-20%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

🟠เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10-18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

ดังนั้น จะเห็นได้ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทุกคนคงอยากใช้น้ำมันในราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในราคาน้ำมัน และก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน และด้วยประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก 

เพราะฉะนั้น หากเราไม่มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก ๆ เราก็จะไม่มีเงินสำรองเพื่อช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ จนอาจทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นได้