Wednesday, 30 April 2025
นิวเคลียร์

จีนไม่ปลื้ม!! หลังอดีตนายกฯ ญี่ปุ่น แนะ เปิดประเทศเป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ ด้านโฆษกปตท.จีน ขอให้ญี่ปุ่นไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง - ยึดหลัก 3 ประการ

จีนไม่พอใจที่อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้พิจารณาเปิดทางให้ประเทศเป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

จีนแสดงท่าทีไม่พอใจหลังอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นพิจารณาเปิดทางให้ประเทศสามารถเป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ หลังจากการจู่โจมยูเครนของรัสเซียและความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการบุกไต้หวันของจีน

อาเบะที่ใช้งบประมาณด้านการทหารสูงเป็นประวัติการก่อนจะลาออกเมื่อปี 2020 เผยว่า ญี่ปุ่นควรยกเลิกข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หลังจากเกิดสงครามในยุโรป

Nikkei Asia รายงานว่า อาเบะให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า “นาโต เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และอิตาลีเข้าร่วมข้อตกลงความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์ เป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าทั่วโลกมีการรักษาความปลอดภัยอย่างไร และไม่ถือว่าเป็นข้อห้ามในการหารืออย่างเปิดเผย”

“เราควรพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างจริงจัง เมื่อเราพูดถึงวิธีที่เราสามารถปกป้องญี่ปุ่นและชีวิตของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงนี้” อาเบะเผย

'เกาหลีใต้-สหรัฐฯ' ส่งฝูงบิน 20 ลำ สำแดงเดช เตือนเปียงยางอย่าคิดทดสอบนิวเคลียร์

เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา สำแดงแสนยานุภาพทางอากาศร่วมกัน เพื่อให้ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้เห็นในวันอังคาร (7 มิ.ย.) ระหว่างการเดินทางเยือนของ 'เวนดี เชอร์แมน' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ผู้ซึ่งเตือนว่าจะตอบโต้อย่างหนักหน่วงและชัดเจน หากว่าเปียงยางทำการทดสอบนิวเคลียร์

การสำแดงแสนยานุภาพทางอากาศร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินรบ 20 ลำ ในนั้นรวมถึงเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35A มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธชนิดจากพื้นดินสู่พื้นดินจำนวน 8 ลูกไปตกที่นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรเกาหลีเช้าวันจันทร์ (6 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้ติดต่อกันถึง 8 ลูกเมื่อวันอาทิตย์ (5 มิ.ย.)

กองทัพเกาหลีใต้ระบุในถ้อยแถลงว่า "เกาหลีใต้และสหรัฐฯ แสดงถึงความสามารถอันแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นในการโจมตีอย่างรวดเร็วและแม่นยำต่อการยั่วยุใดๆ ของเกาหลีเหนือ" พร้อมระบุว่าพันธมิตรทั้งสองกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดและกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะดำเนินการยั่วยุอีก

ถ้อยแถลงนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจาก เชอร์แมน พบปะกับ โช ฮยุน-ดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้ ในกรุงโซล หารือกันในประเด็นเกาหลีเหนือ หลังจากเปียงยางทำการยิงทดสอบขีปนาวุธเป็นชุดๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ และพวกนักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าเกาหลีเหนือกำลังเตรียมการกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังหยุดไปนาน 5 ปี

นักวิทยาศาสตร์ฟันธง !! มนุษย์โลกอาจตายถึง 5 พันล้านคน หากเกิดสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ

จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจโลก ที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ประกาศศักดาสงครามนิวเคลียร์

ผลกระทบอะไรที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ?

ทีมนักวิทยาศาสตร์ ของ Rutgers University ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ และประเมินความเสียหายในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ โดยจากจำนวน และเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันนั้น อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์ยุคใหม่ได้ถึง 5 พันล้านคน 

ตัวเลข 5 พันล้านคนนี้ ไม่ใช่ผู้ที่เสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ในทันที แต่ผลกระทบจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ จะทำลายสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง ที่จะทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยแล้ง การขาดแคลนอาหารทั่วโลก นี่ต่างหากที่เป็นหายนะจากผลพวงของสงครามนิวเคลียร์ที่แท้จริง

แค่สงครามนิวเคลียร์สนามเล็กๆ ก็สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จนผู้คนล้มตายด้วยมหาทุพภิกขภัยได้เป็นล้านๆคนแล้ว ดังนั้น หากเป็นสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ ที่ถล่มกันแบบเทหน้าตัก ความสูญเสียชีวิตของประชากรค่อนโลกนั้น คงจะไม่เกินความจริงเลย 

สำหรับงานวิจัยเรื่องผลกระทบของสงครามนิวเคลียร์ มีการศึกษาไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1980s และพบว่าระเบิดนิวเคลียร์ทำให้เกิดพายุเพลิง และควันพิษปนเปื้อนกัมมันตรังสี ส่งถึงชั้นบรรยากาศได้สูงถึงระดับสตราโตสเฟียร์ และขยายหมอกควันพิษปกคลุมได้ทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อโลกในระยะยาวได้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ "ปรากฏการณ์ฤดูหนาวนิวเคลียร์" 

เนื่องจากเขม่าควันจากระเบิดนิวเคลียร์จำนวนมาก จะบดบังแสงอาทิตย์ จนไม่สามารถส่องลงมาบนผิวโลกได้อย่างที่เคย เมื่อเป็นเช่นนี้ อุณหภูมิของโลกจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ก็จะไม่เติบโตได้ ภาคการเกษตรจะล่มสลาย ปศุสัตว์ขาดอาหาร ก็จะล้มตายตาม นำไปสู่การขาดแคลนอาหารรุนแรงทั่วโลก

และปัญหาการขาดแคลนอาหารนี้ จะทำให้ผู้คนเสียชีวิตนับไม่ถ้วน ยิ่งปรากฏการณ์ฤดูหนาวนิวเคลียร์ยาวนานเท่าไหร่ โอกาสที่สิ่งมีชีวิตบนโลกรวมทั้งมนุษย์จะสูญพันธ์ก็ยิ่งเป็นไปได้มากเท่านั้น

อธิบายตามทฤษฎีอาจไม่เห็นภาพ ลิลี เซี่ย และทีมวิจัยของเธอ จาก Rutgers University จึงได้ประเมินสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์ที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน 6 รูปแบบ ตั้งแต่สงครามสนามเล็กสุด ไปจนถึงสนามใหญ่ที่สุด ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตอาหารของโลก ซึ่งได้รับตีพิมพ์ในลงในวารสารวิชาการ Nature Food

'ยูเรเนียม' ไอเทมลับพา 'เมียนมา' มั่งคั่งยั่งยืน ใต้การ 'โอบอุ้ม-ต่อยอด' จากพี่เบิ้มอย่าง 'รัสเซีย'

ต้องบอกว่า การที่เหล่าชาติตะวันตกต่างรุมบอยคอตเมียนมาในวันนี้ เหมือนยิ่งเป็นการผลักไสให้เมียนมาเดินเข้าไปหาจีนกับรัสเซียมากขึ้น และ 2 มหาอำนาจก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับเมียนมาอย่างออกหน้าออกตาในที่สุดด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือความสัมพันธ์อีกระดับของเมียนมากับรัสเซีย ซึ่งเดิมทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องของกองทัพและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน แต่หลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ นำมาซึ่งการขับไล่ไสส่งเมียนมาด้วยการบอยคอตหรือคว่ำบาตรใด ๆ จากชาติตะวันตกนั้น ได้เป็นแรงผลักให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมียนมากับรัสเซียมากขึ้น ไม่ใช่เพียงความร่วมมือในแง่ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุขและการเข้ามาพัฒนาพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการเปิดหน้าอย่างชัดเจนด้วยว่า ขุมทรัพย์ของเมียนมาที่แท้จริงนอกจาก อัญมณีและน้ำมันแล้ว ยังมีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ด้วย

ว่ากันว่าคนงานเหมืองทราบดีอยู่แล้วว่ามีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในการทำเหมืองหลาย ๆ ที่โดยเฉพาะเหมืองทองหลายแห่ง ซึ่งเคยมีรายงานถึงการค้นพบแร่ยูเรเนียม (Uranium) จากเหมืองทองกันอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ เพียงแต่ก็ไม่เคยมีใครพูดถึงการนำแร่ยูเรเนียมมาใช้ในประเทศแต่อย่างใดก็เท่านั้นเอง

ดังนั้นการที่รัสเซียก้าวเข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้นั้น จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเมียนมา เพราะหากสร้างเสร็จจริง ประเทศเมียนมาจะมีเสถียรภาพด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้าเพราะวัตถุดิบหาซื้อง่าย ส่วนรัสเซียก็อาจจะได้ส่วนแบ่งแร่กัมมันตภาพรังสีเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาอาวุธต่อก็เป็นได้

คงต้องยอมรับว่าเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดของชาติตะวันตก ซึ่งแทนที่จะทำให้เมียนมาอ่อนแรง แต่กลับทำให้เมียนมาแข็งแกร่งขึ้นและในวันหนึ่งอาจจะยืนได้บนขาของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร และก็ไม่มีประเทศไหนกล้าแหยมกับประเทศเล็ก ๆ นี้ เพราะแร่กัมมันตภาพรังสีในครอบครองมันพร้อมจะนำไปต่อรองกับใครก็ได้ทั้งหมด

‘รัสเซีย’ โว!! ทดสอบ ‘ขีปนาวุธข้ามทวีป’ ผ่านฉลุย-แม่นยำ หลัง ‘ปูติน’ ระงับข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ ‘New START’ กับสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 66 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รัสเซียได้ประกาศความสำเร็จในการยิงทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ขั้นสูง หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ระงับความร่วมมือในข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ‘New START’ กับทางสหรัฐฯ

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุผ่านแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่กองทัพประสบความสำเร็จในการยิงไอซีบีเอ็มออกจากระบบยิงขีปนาวุธภาคพื้นดิน ที่ฐานการยิงจรวดคาปุสติน ยาร์ ของประเทศเมื่อวันอังคาร (11 เม.ย.) และว่า หัวรบทดสอบของขีปนาวุธดังกล่าวได้พุ่งโจมตีใส่เป้าหมายจำลองที่สนามทดสอบขีปนาวุธซารีชากันในประเทศคาซัคสถานตามความแม่นยำที่กำหนดไว้

แม้ว่ากระทรวงกลาโหมของรัสเซียจะไม่ได้ระบุประเภทของขีปนาวุธ ที่ถูกทดสอบเมื่อวันที่ 11 เมษายนอย่างชัดเจน แต่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ปฏิบัติการดังกล่าวว่าเป็น ‘การทดสอบอุปกรณ์การต่อสู้ขั้นสูงของไอซีบีเอ็ม’

“การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ ทำให้สามารถยืนยันความถูกต้องของการออกแบบวงจร และการแก้ปัญหาทางเทคนิค ที่ถูกใช้ในการพัฒนาระบบขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์อันใหม่” กลาโหมรัสเซีย กล่าว

‘ดีเจเพชรจ้า’ เปิดใจเล่าชีวิตหลัง ‘โสด’ พร้อมเผยความในใจต่อ ‘นิวเคลียร์ - น้องไทก้า’

ตั้งแต่ขึ้นสถานะโสด ก็เข้าสู้โหมดหนุ่มฮอตทันที สำหรับ ‘ดีเจเพชรจ้า’ เมื่อได้มาเป็นแขกรับเชิญคนพิเศษในรายการ ‘Club Friday Show’ ผลิตโดย ‘CHANGE2561’ ดีเจเพชรจ้า ได้มาเปิดเรื่องราวในชีวิตและเผยความรักแบบทุกซอกทุกมุม

>>แต่ถึงวันที่ นิวเคลียร์ ถึงขั้นโพสต์ในโซเชียลว่า อย่าให้ถึงวันที่ไม่รู้สึก มันคืออะไร ??
ดีเจเพชรจ้า : ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน 

>>ถามตรงๆ เราไม่ค่อยได้คุยกัน 
ดีเจเพชรจ้า : ผมก็คิดว่า น่าจะเป็นที่ผมแหละ!! ผมก็มานั่งคิดว่าผมก็เป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดที่ผมจะมีปัญญาเป็นแล้วอีกนิดนึงก็พระแล้ว ก็ยื้อลองแก้กันดูเราซ่อมอยู่ ซ่อมมั่วไปหมดเพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรผิด

>>จะมีวันหนึ่งที่น้องบอกว่าจะเลิก ??
ดีเจเพชรจ้า :  ใช่ครับ เขาบอกว่าพอเถอะพี่เราซ่อมกันมาเป็นพันครั้งแล้ว

>>เคยคิดไหมว่าชีวิตจะเดินมาถึงจุดนี้ในวันหนึ่ง ??
ดีเจเพชรจ้า : ไม่เคยเลยครับ ผมเคยให้คำจำกัดความเลยนะว่า ผู้หญิงคนนี้เหมือนกับผมถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ผู้หญิงคนนี้แม่พระมากเลยแบบแสนดีหาที่ไหนไม่ได้แล้ว

>>ซึ่งตอนที่มานั่งคุยกันตอนนั้นก็ไม่ได้มีสัญญาณแห่งการที่เราเดินไปข้างหน้าไม่ไหว ??? 
ดีเจเพชรจ้า : มีความสุขทุกวันกราฟของผมพุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็เป็นพลุแตกระเบิดตรงนั้นเลย

>>ช่วงเวลา ดีเจเพชรจ้า หัวใจแตกสลายเป็นอย่างไร ?? 
ดีเจเพชรจ้า : ใจแตกสลาย ไม่มีเวลานอนหลับเลยผมมันคิดแต่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราทำอะไรผิด เราเหมือนมีความโกรธเราเหมือนแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้เลย เราไม่อยากคุยกับเขาเราก็เหมือนกับเป็นธาตุอากาศอยู่ในบ้านก็ผ่านไปสัก 1-2 ปี

>>อยู่บ้านเดียวกันโดยไม่คุยกันเลย ?? 
ดีเจเพชรจ้า : ใช่ครับ!! แรก ๆ ผมหนักกว่านั้นอีก เป็นช่วงที่ผมเป็นตัวของตัวเองที่สุดเลยเลวยังไงก็เลวอย่างนั้น

>>เรามีความร้ายอารมณ์แรง ???
ดีเจเพชรจ้า : ทุ่มทีวี !!! 

>>เห็นว่าในชีวิตช่วงหนึ่งเคยส่องกระจกแล้วงง !! ตัวเองว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 
ดีเจเพชรจ้า : ใช่ครับ ชีวิตผมตั้งแต่เกิดจนบัดนี้ไม่เคยมีวันไหนที่เครียดไม่มีเรื่องไหนในโลกที่ทำให้ผมเครียดได้ แต่ตอนนั้น คือ ผมไปไม่ถูกแล้วนอนก็นอนไม่หลับสุดท้ายผมมาจบที่นอนฟังธรรมะครับ ผมนอนฟังธรรมะอยู่เป็นปี ทุกอย่างการคิด การไม่ยึดติด การหลุดพ้น การไม่มีอะไรเป็นของตัวเรา 

>>แล้วตอนนี้สถานะโสดชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
ดีเจเพชรจ้า : ตอนนี้ชีวิตของผมคือ มัน !! มากเลย ชีวิตของผมคือ สุดเหวี่ยง

>>เรากลับมาเป็นนักล่าแต้มเหมือนเดิมหรือยัง ?? 
ดีเจเพชรจ้า : วันนี้ผมย้อนกลับไปเป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่มีทุกอย่าง มีเงิน มีรถ มีบ้าน

>>เรามองหาความรักอยู่ไหม ?? 
ดีเจเพชรจ้า : ไม่มองครับ

>>แล้วความสัมพันธ์ระหว่าง เรากับน้องนิวเคลียร์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 
ดีเจเพชรจ้า : แฮปปี้มาก !! ก็เรื่องที่ยังไม่เคยได้บอกก็คือ … 

>>มีอะไรอยากพูดถึงลูกชายบ้าง ?? 
ดีเจเพชรจ้า : อยากจะฝากถึงลูกไทก้า ว่ายังไงก็ อย่าให้คำต่าง ๆ ในอนาคตที่จะมีคนมาถาม มาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของไทก้าแล้วกัน เพราะว่าพ่อรักหนูที่สุด และแม่ก็รักหนูที่สุด และเราก็ทำกันเต็มที่มาก ๆ พ่อกับแม่จะสร้างความรักที่สมบูรณ์แบบให้ลูกได้ โดยที่ไม่ขาดตกบกพร่องแน่นอน

เปิดหมดทุกช่วงเวลาชีวิต ‘ดีเจเพชรจ้า’ ในสถานะชีวิตโสด พร้อมเปิดทุกมุมเรื่องความสัมพันธ์กับ ‘นิวเคลียร์’ ในรายการ Club Friday Show รับชมพร้อมกันวัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม นี้ เวลา 11.00 น. ทางช่องวัน31

เปิดหลักการพื้นฐานของ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ ว่าด้วยการป้องปราม ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

ถือว่าโลกได้ขยับเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 อีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา เพื่อรับรองหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า ‘หลักการพื้นฐานของนโยบายรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์’ (the Basic Principles of State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence) สาเหตุที่ทางรัสเซียจำเป็นต้องอัปเดตเอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์นี้ ทางเครมลินอธิบายว่าเนื่องจาก ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เกี่ยวกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและการเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างรัสเซียและตะวันตก โดยคำนึงถึงการตัดสินใจของ เจ้าหน้าที่รัฐบาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินใจให้ยูเครนใช้อาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่ผลิตในอเมริกาเพื่อต่อต้านสหพันธรัฐรัสเซีย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์ใหม่ทั่วประเทศของเรา และทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงแนวคิดนี้” 

โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 สื่ออเมริกันรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ “อนุญาต” ให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ของอเมริกาลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งต่อมานายไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ได้ออกมายืนยันข้อมูลนี้ เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่ากองทัพยูเครนทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ATACMS จำนวน 6 ลูกต่อสถานที่ทางทหารแห่งหนึ่งในภูมิภาคเบรียนสค์ ซึ่งห้าลูกถูกยิงตก หนึ่งลูกได้รับความเสียหายจากทีมต่อสู้ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพนซีร์ จากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้นายดมิทรี เปซคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกเครมลินเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียลงนามในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงซึ่งเป็น "เอกสารที่สำคัญอย่างยิ่ง" ในเวลาที่เหมาะสม เขากล่าวว่าการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มีจุดมุ่งหมาย “เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อาจเป็นปฏิปักษ์จะเข้าใจถึงการตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่มีการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือพันธมิตรของรัสเซีย”

ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียที่ได้รับการปรับปรุงนี้ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับกฤษฎีกาปี ค.ศ.2020 โดยรัสเซีย “ถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีการป้องปราม การใช้อาวุธดังกล่าวเป็นมาตรการที่รุนแรงและบังคับ และกำลังใช้ความพยายามที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อลดภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และป้องกันความรุนแรงของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งทางการทหาร รวมถึงความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ด้วย” ในปีค.ศ. 2020 ทางการรัสเซียพิจารณาอาวุธนิวเคลียร์ “เป็นเพียงวิธีการป้องปรามเท่านั้น” เช่นเดียวกับในปีค.ศ. 2020 “การรับประกันการป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานรัสเซียและ (หรือ) พันธมิตร” ถือเป็น “หนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล” จะต้องได้รับการรับรองโดย “กำลังทหารทั้งหมดของสหพันธรัฐรัสเซียรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์” ในเวลาเดียวกัน ทั้งเอกสารเก่าและเอกสารใหม่กล่าวว่า "นโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มีลักษณะเป็นการป้องกัน" 

ก่อนหน้าที่ผมจะกล่าวถึงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่ผมขอเล่าถึงความเป็นมาของหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ฉบับด้วยกัน โดยในสมัยสหภาพโซเวียตไม่มีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์สาธารณะ ยกเว้นเอกสาร "เกี่ยวกับหลักคำสอนทางทหารของรัฐในสนธิสัญญาวอร์ซอ" ที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1987 ซึ่งรับรองว่าพวกเขา "จะไม่ใช่คนแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์" ผมขอเรียกเอกสารฉบับนี้ว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับที่ 1  

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินได้ลงนามในกฤษฎีกา "ในบทบัญญัติหลักของหลักคำสอนทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย" แต่ไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2  

ถัดมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้อนุมัติหลักคำสอนทางทหารสาธารณะฉบับแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยระบุว่ารัสเซียขอสงวนสิทธิ์ในการใช้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียและ/หรือพันธมิตร เช่นเดียวกับ “เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีขนาดใหญ่โดยใช้อาวุธธรรมดาในสถานการณ์ที่วิกฤตต่อความมั่นคงของชาติ ” ในปีเดียวกันนั้นมีการนำ "นโยบายพื้นฐานของรัฐในด้านการป้องปรามนิวเคลียร์" ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2010 ฉบับนี้ผมให้เป็นฉบับที่ 3 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ อนุมัติหลักคำสอนทางทหารใหม่ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรวมถึงประโยคเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองต่อ "การรุกรานต่อสหพันธรัฐรัสเซียโดยใช้อาวุธธรรมดา เมื่อรัฐดำรงอยู่จริงตกอยู่ในความเสี่ยง” ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ต่อมาประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินได้ปรับปรุงหลักคำสอนทางทหารในปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
.
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2020 ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกา “เกี่ยวกับพื้นฐานของนโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” เอกสารระบุเหตุผลอีกสองประการที่ทำให้รัสเซียใช้กองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธและผลกระทบต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ 'สำคัญอย่างยิ่ง' ซึ่ง "จะนำไปสู่การหยุดชะงักในการดำเนินการตอบโต้ของกองกำลังนิวเคลียร์" ซึ่งผมถือว่าเป็นฉบับที่ 5 

เอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินเพิ่งลงนามไปเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 มีทั้งหมดด้วยกันทั้งสิ้น 4 หมวด 26 มาตรา สรุปถึงเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามที่ถือว่าร้ายแรงเพียงพอสำหรับการใช้งาน ลำดับการเปิดใช้งานแผนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การดำเนินการเพื่อรักษากองกำลังนิวเคลียร์ให้พร้อมในการรบ และนโยบายสำหรับ 'การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์'—แผนสำหรับป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์โดยรับรองว่า “การรุกรานทางนิวเคลียร์ใดๆ จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้อย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

เงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งก่อนหลักคำสอนระบุว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกกระตุ้นโดยการรุกรานที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันอัปเดตให้ความชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การรุกรานที่คุกคามอธิปไตยของรัสเซียและ/หรือบูรณภาพแห่งดินแดนโดยตรง

หลักคำสอนที่ได้รับการปรับปรุงได้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสถานการณ์ที่การรุกรานจากประเทศที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์ นี่จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน และแม้แต่อาวุธทั่วไปที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยของรัสเซียก็อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางนิวเคลียร์จากรัสเซียเช่นกัน

โดยรัสเซียได้เน้นไปที่เบลารุสพันธมิตรของตนเป็นพิเศษ ซึ่งการรุกรานใด ๆ ต่อเบลารุสก็ถือเป็นการโจมตีรัสเซีย ซึ่งก็จะถูกตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เอกสารดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซียที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธ การสะสมกำลังทหารใกล้ชายแดนรัสเซีย และอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำว่า ‘ศัตรูที่มีศักยภาพ’ ซึ่งครอบคลุมรัฐหรือพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามและมีอำนาจทางทหารที่สำคัญ 

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

รัสเซียดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกัน ‘รัฐที่ไม่เป็นมิตร’ และพันธมิตรทางทหารจากการโจมตีและการกระทำที่ไม่เป็นมิตรในช่วงเวลาสงบ ระดับภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้น และในช่วงสงคราม ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

การป้องปรามรวมถึงการจัดตั้งและรักษากองกำลังนิวเคลียร์ที่ทันสมัยซึ่งสามารถส่ง “ความเสียหายที่รับประกันว่าไม่อาจยอมรับได้” ให้กับฝ่ายตรงข้าม ควบคู่ไปกับการทำให้แน่ใจว่าพวกเขาทั้งหมดไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความพร้อมของมอสโก และตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมกับพวกเขาหากจำเป็น

หากผู้รุกรานโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตร พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ ตามหลักคำสอนดังกล่าว

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่รัฐและพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม รวมถึงการจัดหาทรัพยากรหรือดินแดนสำหรับการรุกราน

การรุกรานโดยรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน ในขณะที่การรุกรานของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ จะถูกมองว่าเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มนี้ 

ภัยคุกคาม

รายการภัยคุกคามทางทหารที่รัสเซียจะตอบโต้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ประกอบด้วยอันตรายหลัก 10 ประการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาเอกสารฉบับปีค.ศ.2020 ที่มี 6 ประการ โดยที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการมีอยู่ของศัตรูที่อาจติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดตั้งระบบขั้นสูง เช่น การป้องกันขีปนาวุธร่อนระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range cruise missile) ขีปนาวุธนำวิถี ระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range ballistic missiles) อาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่มีความแม่นยำสูง (high-precision non-nuclear) และอาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic weapon) และการโจมตีด้วยโดรน

การสะสมกำลังของต่างชาติ รวมถึงวิธีการจัดส่งนิวเคลียร์หรือโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่เกี่ยวข้อง ใกล้กับชายแดนรัสเซียก็ถูกกำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, ระบบต่อต้านดาวเทียม, และอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นอันตราย

รวมไปถึงการขยายพันธมิตรทางทหารและแนวทางโครงสร้างพื้นฐานไปยังชายแดนรัสเซียถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เช่น การแยกดินแดน การทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นอันตราย การซ้อมรบขนาดใหญ่ใกล้ชายแดน และการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูงอย่างไม่มีการตรวจสอบ

การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์

การตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นสามารถพิจารณาได้จากเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงการยิงขีปนาวุธใส่รัสเซียหรือพันธมิตร การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียหรือดินแดนพันธมิตร และการโจมตีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของรัฐหรือทางทหาร ที่จะขัดขวางการตอบสนองทางนิวเคลียร์ 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการรุกรานตามแบบแผนที่คุกคามอธิปไตยต่อรัสเซียหรือเบลารุส เช่นเดียวกับการโจมตีด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่และขีปนาวุธข้ามพรมแดนรัสเซีย ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งในการเปิดใช้งานการตอบสนองทางนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ นอกจากนี้เขายังอาจแจ้งให้ประเทศอื่นๆ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศทราบเกี่ยวกับความพร้อมหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจริง

เซอร์เกย์ มาร์คอฟ (Sergey Markov) อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินกล่าวว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้ “ทำให้เงื่อนไขการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซียเท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ” เนื่องจากเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตะวันตกต่ำกว่าในรัสเซีย โดยหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน ซึ่งจนถึงขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้พิจารณาการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งแรกในการปราศรัยของเขาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2024 ในการประชุมป้องปรามด้วยนิวเคลียร์โดยอ้างถึง “ภูมิทัศน์ทางการทหารและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” 

ซึ่งนายเซอร์เกร์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกมาแสดงความเห็นว่าชาติตะวันตกจะศึกษาหลักคำสอนทางนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของรัสเซียอย่างรอบคอบ ในขณะที่นายดมิมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียได้ออกมาเตือนว่าชาติตะวันตกจะรับฟังสัญญาณจากมอสโกอย่างจริงจังและได้โพสต์ลงในช่อง Telegram ของเขาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจโจมตีขีปนาวุธของชาติตะวันตกที่ลึกเข้าไปในรัสเซียกับหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ “การใช้ขีปนาวุธพันธมิตร (NATO) ในลักษณะนี้สามารถเข้าข่ายเป็นการโจมตีโดยกลุ่มประเทศในรัสเซียได้แล้ว ในกรณีนี้ มีสิทธิ์ที่จะโจมตีกลับด้วยอาวุธทำลายล้างสูงต่อเคียฟและฐานปฏิบัติการหลักของ NATO ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม และนี่คือสงครามโลกครั้งที่สามแล้ว

ซึ่งเราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้จะทำให้ฉากทัศน์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนจบลงหรือขยายความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโตต่อไปในอนาคต

คริสเตีย ฟรีแลนด์ อดีตรองนายกฯ แนะแคนาดาจับมือพันธมิตร NATO หวังพึ่งอาวุธนิวเคลียร์รับมือการคุกคามอธิปไตยจากทรัมป์

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นางคริสเตีย ฟรีแลนด์ อดีตรองนายกฯ แคนาดา และผู้สมัครผู้นำพรรคเสรีนิยมคนใหม่ มีแนวคิดให้แคนาดาสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักรและพันธมิตร NATO มากขึ้น เพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องประเทศจากโดนัลด์ ทรัมป์ หลังถูกมองคุกคามอธิปไตย

โดยก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา อย่างแคนาดาอาจเป็น ‘รัฐที่ 51’ ของแดนมะกัน อีกทั้งยังมีการขึ้นภาษีนำเข้ากับ แคนาดา และ เม็กซิโก 25% ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา (4 มี.ค.)

ส่งผลให้ จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดา ไม่อยู่เฉยประกาศตอบโต้ทันที ด้วยการเก็บภาษี 25% กับสินค้าสหรัฐฯ ตีเป็นมูลค่า 155 พันล้านเหรียญแคนาดา (ราว 107 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจะเริ่มเก็บภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่า 30 พันล้านเหรียญแคนาดาทันที และจะเก็บภาษีกับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 125 พันล้านเหรียญแคนาดา หลังจากนี้ 21 วัน

และครั้งหนึ่ง เจสซี่ มาร์ช ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติแคนาดา แสดงอาการไม่พอใจเช่นเดียวกัน พร้อมกับออกมาตอบโต้ กับวาทะของทรัมป์ ที่บอกว่าแคนาดาอาจเป็น ‘รัฐที่ 51’ ของสหรัฐฯ โดยกุนซือรายนี้ระบุว่า 

“ในฐานะคนอเมริกัน ผมอยากพูดถึงการอภิปรายเกี่ยวกับ 'รัฐที่ 51' ผมคิดว่านี่คือการดูหมิ่น แคนาดาเป็นประเทศที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ มีรากฐานที่ลึกซึ้งในความเหมาะสม เป็นสถานที่ที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความเคารพสูง แตกต่างจากบรรยากาศที่แบ่งแยก ไม่เคารพ และมักเต็มไปด้วยความเกลียดชังในสหรัฐอเมริกา”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ให้แคนาดาใกล้ชิดอังกฤษ เพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์รับมือทรัมป์ ของนางคริสเตีย ฟรีแลนด์ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยนางแดเนี่ยลล์ สมิธ (Danielle Smith) นายกรัฐมนตรีรัฐแอลเบอร์ตา จากพรรคอนุรักษนิยมกล่าวว่า ‘นี่คือคำพูดที่บ้าคลั่ง เพราะสหรัฐฯ คือพันธมิตรและมิตรแท้ด้านความมั่นคงของเรา"

ผู้นำสหภาพยุโรป ขอร้อง ‘ฝรั่งเศส-อังกฤษ’ แบ่งปันนิวเคลียร์ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มพาสหรัฐฯ ตีตัวออกห่าง EU

(5 มี.ค. 68) ผู้นำสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ขยายขอบเขตอาวุธนิวเคลียร์ให้ครอบคลุมยุโรปใช้ในการต่อกรกับรัสเซีย เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มไม่สนใจภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

การขยายพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไปจนถึงสหภาพยุโรป เคยเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในแง่ของเสถียรภาพระหว่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป 

โดยสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศของอเมริกาอย่างสุดโต่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินมายาวนาน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางพันธมิตรที่ดูเหมือนจะห่างจากสหภาพยุโรป และเข้าใกล้รัสเซียแบบเผด็จการมากขึ้น

ส่งผลให้บรรดาผู้นำยุโรป หรือ EU กังวลว่าพวกเขาไม่สามารถฝากชีวิตไว้กับทางสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงกลับหันไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์เพียงสองแห่งในยุโรป 

ฟรีดริช แมร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า “การที่เราต้องพูดคุยกับอังกฤษและฝรั่งเศส ว่าการคุ้มครองทางนิวเคลียร์ของพวกเขาสามารถขยายมาถึงเราด้วยได้หรือไม่ เราต้องพูดคุยกันว่ามันจะเป็นอย่างไร” 

ขณะที่สำนักนักข่าว Euractiv รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารฝรั่งเศสได้มีการเจรจาเป็นความลับกับพันธมิตรในสหภาพยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการถอนตัวของสหรัฐฯ จากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ และผู้นำคนอื่นๆ ในรัฐบาลสหรัฐฯ เคยวิพากษ์วิจารณ์ NATO หลายครั้งและมักตั้งคำถามถึงคุณค่าของการเป็นพันธมิตร

ปธน.โปแลนด์ เผยต้องการนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการรุกรานจากรัสเซียในยุโรปตะวันออก

(14 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา ของโปแลนด์ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในดินแดนโปแลนด์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและเป็นเครื่องมือในการป้องปรามการรุกรานจากรัสเซียในอนาคต ซึ่งคำเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่โปแลนด์ยังคงเผชิญกับความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการรุกรานของรัสเซียในภูมิภาคยุโรปตะวันออก

ในคำแถลงของเขาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีดูดาได้กล่าวว่า โปแลนด์จำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหารในฐานะสมาชิกขององค์การนาโต้ (NATO) โดยการมีอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของตนจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการป้องปรามและเพิ่มความมั่นคงให้กับทั้งโปแลนด์และพันธมิตรในภูมิภาค

การเรียกร้องของประธานาธิบดีโปแลนด์มีขึ้นหลังจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งทำให้หลายประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ รู้สึกถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และต้องการเพิ่มความเข้มแข็งด้านการป้องกันประเทศ

แม้ว่าการประจำการของอาวุธนิวเคลียร์ในโปแลนด์จะเป็นการกระทำที่อาจกระตุ้นความตึงเครียดกับรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีดูดาก็ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการป้องกันประเทศในระยะยาว และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

การเรียกร้องของโปแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากบางประเทศในนาโต้ แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้และผลกระทบทางการเมืองจากการที่สหรัฐอเมริกาจะยอมรับคำขอนี้หรือไม่

นอกจากนี้ อันด์แชย์ ดูดา แห่งโปแลนด์ได้แสดงความยินดีต้อนรับข้อเสนอของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ที่จะขยายขอบเขตการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสไปยังประเทศสมาชิกนาโต้ (NATO) อื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในยุโรป โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกของยุโรปที่มีความตึงเครียดจากการรุกรานของรัสเซีย

ทั้งนี้ การขยายขอบเขตของอาวุธนิวเคลียร์ฝรั่งเศสอาจกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในกลุ่มนาโต้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ การตัดสินใจในการขยายอาวุธนิวเคลียร์จะต้องพิจารณาผลกระทบทั้งในด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top