Wednesday, 30 April 2025
นิวเคลียร์

อิหร่าน-รัสเซีย-จีน หารือนิวเคลียร์ที่ปักกิ่ง เตรียมเดินเกมใหม่บนเวทีโลก ท้าทายแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(14 มี.ค. 68) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นักการทูตระดับสูงจากอิหร่าน รัสเซีย และจีน ได้ประชุมหารือร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่อิหร่านปฏิเสธคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้อิหร่านกลับมาเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์

นายคาเซม การีบาบาดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน และนายเซอร์เกย์ รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ได้เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายนี้ โดยมีนายหม่า เจ้าโซ่ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นประธานการประชุม การหารือครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน, การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และประเด็นอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

“ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีพันธะในการขจัดสาเหตุหลักของสถานการณ์ปัจจุบัน และละทิ้งแรงกดดันในการคว่ำบาตรและการคุกคาม” หม่า จ้าวซู่ รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าว

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการหารือแบบวงปิดเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่าได้ส่งจดหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เพื่อเสนอการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ พร้อมระบุว่า “การจัดการกับอิหร่านมีเพียง 2 ทางเลือก คือ ใช้กำลังทหาร หรือทำข้อตกลงเท่านั้น”

ทว่าประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียนแห่งอิหร่าน ยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้การถูก “ข่มขู่” และไม่มีทางยอมทำตาม “คำสั่ง” ของสหรัฐฯ ที่บีบให้ต้องเจรจา

“มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่พวกเขาจะมาบอกว่า เรากำลังออกคำสั่งให้คุณอย่าทำสิ่งนี้ อย่าทำสิ่งนั้น หรือเราควรทำสิ่งนี้ ผมจะไม่เจรจาใด ๆ กับคุณ เอาเลย ทำอะไรที่น่ารังเกียจตามที่คุณต้องการ” ประธานาธิบดีมาซูด กล่าว

ทั้งนี้ จีนและอิหร่านได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน เพื่อเปิดทางให้ทุกฝ่ายกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง

การประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และจีน ในการแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และความพยายามในการหาทางออกที่สันติและยั่งยืนสำหรับประเด็นที่ซับซ้อนนี้

กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 4 ลำ ประจำการออสเตรเลีย เพื่อถ่วงดุลจีนในอินโด-แปซิฟิก

(17 มี.ค. 68) กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย จำนวน 4 ลำ เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ภายในปี 2570 โดยภายใต้ข้อตกลง AUKUS ซึ่งเป็นความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

ขณะนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือดำน้ำ USS Minnesota (SSN-783) เข้าร่วมการฝึกซ้อมนำร่องที่ฐานทัพเรือในออสเตรเลียแล้ว โดยการฝึกซ้อมดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เหลือเข้าประจำการในอนาคต นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังเตรียมส่งกำลังพล 50-80 นาย เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling ภายในกลางปี 2568 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือดำน้ำเหล่านี้

สำหรับที่ตั้งของ HMAS Stirling ตั้งอยู่ใกล้เอเชียและมหาสมุทรอินเดียมากกว่าที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ฮาวาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ “การปกป้องมหาสมุทรอินเดียจากศักยภาพและอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสิ่งสำคัญ” ปีเตอร์ ดีน ผู้อำนวยการด้านนโยบายต่างประเทศและการป้องกันของศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าว

การส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และกำลังพลดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคในการขยายอิทธิพลทางทะเล เพื่อเสริมสร้างการป้องกันและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ดังกล่าว

การประจำการของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในออสเตรเลียตามข้อตกลง AUKUS จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการทางทะเลของพันธมิตรในภูมิภาค และส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนพันธมิตรในออสเตรเลียและภูมิภาคนี้ในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

‘เนทันยาฮู-ทรัมป์’ จับมือสกัดนิวเคลียร์อิหร่าน หากยังดื้อเดินหน้าโครงการต่อ ชี้ทางเลือกสุดท้ายคงต้องใช้กำลัง

(9 เม.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยทั้งสองผู้นำยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “อิหร่านจะต้องไม่มีวันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”

เนทันยาฮูเปิดเผยว่า มีการพูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวทางจัดการโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะต้องมีการทำ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ จะมีบทบาทหลักในการ เข้าไปควบคุม ทำลาย และรื้อถอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน

“ข้อตกลงนี้ไม่ใช่แค่เอกสาร แต่คือการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าใกล้อาวุธนิวเคลียร์แม้แต่น้อย” เนทันยาฮูกล่าว

เนทันยาฮูยังเน้นว่า หากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว “ก็จะไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทุกฝ่ายเข้าใจดี” ถึงความจำเป็นในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว

แม้ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่ท่าทีของทั้งทรัมป์และเนทันยาฮูส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ต่ออิหร่านจะกลับมาแข็งกร้าวอีกครั้ง ภายใต้ความร่วมมือของสหรัฐฯ และอิสราเอล

ขณะที่ สตีฟ วิทคอฟฟ์ ทูตพิเศษของทรัมป์ จะนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจากับอิหร่านในวันเสาร์นี้ที่ประเทศโอมาน ตามรายงานของ Axios เมื่อวันอังคารโดยอ้างแหล่งข่าวสองรายที่ทราบแผนดังกล่าว

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับวิทคอฟฟ์ ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการทูต มากกว่าไมเคิล วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติผู้มีท่าทีแข็งกร้าว และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ซึ่ง “มีความสงสัย” ต่อกระบวนการทางการทูตของสหรัฐฯ 

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมมือกับอิหร่านโดยตรง โดยความคิดริเริ่มทางการทูตเริ่มต้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อทรัมป์ส่งจดหมายถึงอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน โดยให้เวลาเตหะรานสองเดือนในการบรรลุข้อตกลง

เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์กล่าวว่าการเจรจาเป็น “ผลประโยชน์สูงสุดของอิหร่าน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะใช้มาตรการทางทหารหากการเจรจาล้มเหลว พร้อมเตือนว่าเตหะราน “จะตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง” หากไม่มีข้อตกลง 

ด้าน อับบาส อาราฆชี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอิหร่าน ยอมรับถึงความเสี่ยงที่สูง โดยกล่าวในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารว่า “มันเป็นทั้งโอกาสและการทดสอบ ลูกบอลอยู่ในสนามของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top