Monday, 19 May 2025
ทรัมป์

อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำไทย จ่อนั่งผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ คุมการเมืองเอเชีย ดูแลความสัมพันธ์จีน-เกาหลีเหนือ

(24 ม.ค.68) สำนักข่าวนิเคอิรายงานว่า นาย ไมเคิล ดีซอมบรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับตำแหน่งนักการทูตระดับสูงด้านเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลชุดใหม่

ดีซอมบรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะได้รับตำแหน่งแทน แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตอาวุโสในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการขั้นสุดท้าย ก่อนจะเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณา

ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีความรับผิดชอบในการจัดการกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนในภูมิภาค ทั้งความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาความมั่นคงของเกาหลีเหนือ และการรักษาความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับพันธมิตรสำคัญ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ดีซอมบรีมีความรู้และประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการในเอเชีย โดยได้ใช้ชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนจะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถในการพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถสื่อสารภาษาเกาหลีและญี่ปุ่นได้บ้าง

ทรัมป์เผย น้ำมัน-ก๊าซคือทรัพย์สินล้ำค่า พร้อมขู่ใช้ภาษีเป็นอาวุธทุบจีน

(24 ม.ค.68) ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ นิวส์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับไต้หวันและการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่เหมือน 'บ่อทองคำ' ซึ่งจีนต้องการ

ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ มีภาษีที่เป็น 'แต้มต่อ' เหนือจีน และแม้ว่าตนจะไม่อยากใช้มาตรการภาษี แต่การกำหนดภาษีก็เป็น อำนาจมหาศาล ที่สหรัฐฯ มีเหนือจีน

"เรามีทั้งน้ำมันและก๊าซมากกว่าประเทศอื่น ๆ... นี่คือทรัพย์สินอันล้ำค่า จีนไม่มีสิ่งเหล่านี้... เราจะทำให้ประเทศของเราร่ำรวยอีกครั้ง และพลังงานจะเป็นตัวนำทาง แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ เช่น ภาษี" ทรัมป์กล่าว

ในสัปดาห์นี้ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก 10% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมกับการใช้ภาษี 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากจีนส่งออกเฟนทานิลไปยังแคนาดาและเม็กซิโก

ก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว ทรัมป์เคยกล่าวว่าเขาจะเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนถึง 60%

ทางด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 'เป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน' และรัฐบาลจีนมั่นใจว่าทั้งสองประเทศจะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้ แต่จีนพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเสมอ

ทรัมป์ชี้ DeepSeek จากจีน กระตุ้นสหรัฐฯ สู้ศึก AI ปลุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยี!

(28 ม.ค. 68) หลังจากที่มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันโมเดล AI จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek จนกล่าวเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน App Store ที่สหรัฐ ซึ่ง DeepSeek ได้ออกมาอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดล AI รุ่นใหม่ภายใต้ชื่อ DeepSeek-R1 ซึ่งทางผู้พัฒนาจากจีนอ้างว่าเป็น AI ที่มีต้นทุนต่ำและประมวลผลเร็วกว่านั้น

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek ควรจะเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และกล่าวว่า การที่บริษัทจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วขึ้นนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี

ทรัมป์กล่าวว่า "การเปิดตัวโมเดล AI จากบริษัทสัญชาติจีนอย่าง DeepSeek ควรเป็นสัญญาณเตือนให้อุตสาหกรรมของเราต้องมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อการแข่งขันที่ดีขึ้น"

กระแสความนิยมของ DeepSeek ซึ่งเป็นโมเดล AI ต้นทุนต่ำ ทำให้บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แห่เทขายหุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่า AI ของจีนอาจจะท้าทายความเป็นผู้นำด้าน AI ของสหรัฐฯ จนส่งผลให้หุ้นหลายตัวของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐถูกเทขายมหาศาล โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA ที่สูญเสียมูลค่าตลาดวันเดียวเฉียด 600,000 ล้านดอลลาร์ สังเวยให้กับการเปิดตัวของ DeepSeek 

ทรัมป์กล่าวว่า "ผมได้อ่านเกี่ยวกับจีนและบางบริษัทในจีน โดยเฉพาะบริษัทหนึ่งที่สามารถพัฒนาโมเดล AI ที่เร็วกว่าและราคาถูกกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะมันไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ผมมองในแง่บวก และเห็นว่าเป็นทรัพย์สินหนึ่ง"

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้กล่าวกับเขาว่าสหรัฐฯ มีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก และชี้ว่า หากอุตสาหกรรมจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ราคาถูกได้ บริษัทในสหรัฐฯ ก็จะทำตาม

"เรามีไอเดียเสมอ เราคือผู้นำเสมอ ดังนั้นผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมาก แทนที่จะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ คุณจะใช้เงินน้อยลงและหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน" ทรัมป์กล่าว

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังกล่าวถึงประเด็น TikTok โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อ TikTok อย่างมาก แต่เขากล่าวว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทโซเชียลมีเดียยอดนิยมนี้ และต้องการให้สหรัฐฯ ถือหุ้น 50% ในกิจการร่วมค้าของ TikTok

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า AI ต้นทุนต่ำที่บริษัทจีนกล่าวถึงนั้น มีที่มาจากอะไร เนื่องจากการสร้างโมเดล AI ต้องใช้ชิปประมวลผลระดับสูงจำนวนมาก ซึ่งชิปที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด AI คือชิปจากบริษัท NVIDIA แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้เกิดคำถามว่า จีนใช้เทคโนโลยีชิปประมวลผลแบบใดในการสร้างโมเดล AI ของ DeepSeek

ทั้งนี้ มีข้อมูลบางส่วนที่หลุดออกมาระบุว่า DeepSeek ได้ใช้ชิป NVIDIA H800 ในการฝึกฝนโมเดล AI ของตน โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่ถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำประกาศนี้ แต่การที่บริษัทสามารถพัฒนาโมเดล AI ประสิทธิภาพสูงด้วยชิปที่มีสมรรถนะต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกไปจีน และด้วยต้นทุนที่ต่ำ ได้ทำให้ผู้บริหารเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งปลด!! ‘ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม’ เพื่อกำจัด!! ผู้นำที่สนับสนุน ‘ความหลากหลาย’ ในกองทัพ

(22 ก.พ. 68) เพจ ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

อวสานของ #Woke ในกองทัพ #สหรัฐฯ

Woke is dead. 

ทรัมป์สั่งปลดพลเอก ชาร์ลส์ คิว. บราวน์ ออกจากตำแหน่ง 'ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม' ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักบินขับไล่ที่สร้างประวัติศาสตร์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการยอมรับ โดยเป็นการปลดออกนี้เป็นส่วนหนึ่งของทรัมป์ในโครงการกำจัดผู้นำที่สนับสนุนความหลากหลายในกองทัพ พร้อมเสนอชื่อพลโทกองทัพอากาศ แดน 'ราซิน' เคน ให้เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม มาดำรงตำแหน่งแทน

ทรัมป์ยกย่องเคนว่าเป็น 'นักรบ' และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติที่มีบทบาทสำคัญในการปราบกลุ่ม #IS #ISIS ได้อย่างรวดเร็ว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำทางทหาร โดยทรัมป์เน้นย้ำถึงความแข็งแกร่ง การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และลำดับความสำคัญด้านการป้องกันประเทศแบบ 'อเมริกาต้องมาก่อน' 'America First' 

“During my first term, Razin was instrumental in the complete annihilation of the ISIS caliphate. It was done in record setting time, a matter of weeks.

Many so-called military "geniuses" said it would take years to defeat ISIS. General Caine, on the other hand, said it could be done quickly, and he delivered.”

‘ทรัมป์’ บีบ!! ‘ยูเครน’ มอบทรัพยากรครึ่งประเทศ แลกเงินช่วย โดยไม่มี!! ‘หลักประกันด้านความมั่นคง’ ตอบแทน

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 68) ‘ยูเครน’ กำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่จาก ‘รัฐบาลทรัมป์’ ซึ่งกำหนดให้ต้องแบ่งรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแร่ ก๊าซ และน้ำมัน ให้กับสหรัฐฯ โดยไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงใดๆ ตอบแทน

เอกสารร่างข้อตกลงฉบับล่าสุดลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ระบุว่า ยูเครนต้องแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งจากทรัพยากรธรรมชาติให้สหรัฐฯ รวมถึงรายได้จากท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับร่างข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่ยูเครนเคยปฏิเสธเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพราะเห็นว่าเป็นภาระเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงใหม่นี้ยังคง ไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้อง ก่อนหน้านี้ยูเครนเสนอให้สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารเพิ่มเติม แต่ข้อตกลงเดิมไม่มีข้อผูกพันด้านความมั่นคง ทำให้เซเลนสกีปฏิเสธการลงนาม

ข้อตกลงฉบับล่าสุดยังระบุว่า รายได้จากทรัพยากรของยูเครนจะถูกส่งเข้าสู่กองทุนที่สหรัฐฯ ถือสิทธิทางการเงิน 100% โดยยูเครนต้องจ่ายเข้ากองทุนจนกว่าจะถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ทรัมป์เรียกร้องเป็น “ค่าตอบแทน” สำหรับความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครน

ตัวเลข 500,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่ารายได้จากทรัพยากรของยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่เพียง 1,100 ล้านดอลลาร์ และมากกว่าสี่เท่าของมูลค่าความช่วยเหลือสหรัฐฯ ที่ให้ยูเครนจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ตัวเลขนี้ไม่เคยถูกระบุในร่างข้อตกลง แต่ทรัมป์เคยพูดไว้ต่อสาธารณะว่าเป็นจำนวนที่เขาต้องการ

ยูเครนเจอแรงกดดันหนักจากทรัมป์

เจ้าหน้าที่ในเคียฟกำลังศึกษาข้อตกลงและยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ รัสลัน สเตฟานชุก ประธานรัฐสภายูเครนเผยว่า ยูเครนต้องการหลักประกันด้านความมั่นคง หากจะต้องยอมให้สหรัฐฯ เข้าถึงทรัพยากรของตน

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเซเลนสกีกับทรัมป์ตกต่ำลงอย่างหนัก ทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่า “เผด็จการที่ไร้การเลือกตั้ง” ขณะที่เซเลนสกีโต้กลับว่า ทรัมป์ติดอยู่ใน “ใยข้อมูลเท็จ” หลังจากทรัมป์กล่าวหาอย่างผิดๆ ว่ายูเครนเป็นฝ่ายเริ่มสงครามกับรัสเซีย

เอกสารระบุว่า หากยูเครนได้รับความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ หลังลงนามข้อตกลง ยูเครนจะต้องจ่ายคืนเป็นมูลค่าถึง 2 เท่าของเงินที่ได้รับ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวระบุว่า ข้อตกลงนี้ถือเป็น “หลักประกันความมั่นคง” ของยูเครน เนื่องจากการมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในยูเครนจะช่วยป้องกันประเทศจากรัสเซีย

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า “เซเลนสกีจะต้องลงนามในข้อตกลงนี้ และคุณจะเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้”

ขณะที่ทรัมป์กล่าวในทำเนียบขาวว่า “เราจะต้องได้ข้อตกลง หรือจะเกิดปัญหาใหญ่กับพวกเขา”

‘สีจิ้นผิง’ แอบยิ้ม!! ‘ทรัมป์’ กลับมาเป็น ปธน. เข้าทางจีน หลังจัดการ!! ลงดาบ ‘USAID’ ฐานที่ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน

(24 ก.พ. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn เกี่ยวกับ สีจิ้นผิง และทรัมป์ โดยมีใจความว่า ...

#สีจิ้นผิง แอบอมยิ้ม  อีกปรากฏการณ์ที่ช่วยอธิบายว่า ทำไม #ทรัมป์ กลับมา คือ #เข้าทางจีน  #Trump  

พรรคฝ่ายค้านของ #ฮ่องกง คือพรรคประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง (Democracy Party of Hong Kong) เตรียมจะยุบพรรคด้วยตัวเอง !! (สีจิ้นผิงไม่ได้สั่งนะ) 

โปรดสังเกตว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทรัมป์ โดยอิลอน มัสถ์ จัดการลงดาบกับ  #USAID ที่ละเลงงบประมาณไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้าน 
#ท่อน้ำเลี้ยงจากต่างประเทศ แห้งเหือดลง แก๊งการเมืองไม่ถูกใจสีจิ้นผิงใน #ฮ่องกง ก็คงไปต่อยากนะคะ  #HongKong

ทรัมป์คุมสื่อ!! จำกัดนักข่าว AP-Reuters-Bloomberg อ้างปรับสมดุล แต่สื่อใหญ่ฟาดกลับ คุกคามเสรีภาพ

รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มใช้มาตรการใหม่ในการควบคุมการเข้าถึงของสื่อมวลชนภายในทำเนียบขาว โดยการจำกัดการเข้าร่วมของนักข่าวบางสำนักในกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้ AP, Reuters และ Bloomberg ออกแถลงการณ์ประณามว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อและขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ (26 ก.พ.68) ตามเวลาท้องถิ่น การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลทรัมป์มีการเลือกสำนักข่าวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในทำเนียบขาว โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้คัดเลือกสื่อที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม ซึ่งนักข่าวจาก AP, Reuters, HuffPost และ Der Spiegel ถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้าร่วมงาน ในขณะที่สำนักข่าวที่ได้รับอนุญาตกลับเป็น ABC News, Newsmax, Axios, Bloomberg และ NPR

มาตรการนี้เป็นไปตามคำแถลงของทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งระบุว่า ทำเนียบขาวจะเป็นผู้กำหนดว่าใครสามารถทำข่าวในพื้นที่สำคัญ เช่น ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการบริหารงานของประธานาธิบดี

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานยังเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สั่งให้พนักงานทุกคนยกเลิกการสมัครสมาชิกสื่อที่ถูกมองว่าเป็น 'ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล' เช่น The Economist, New York Times, Politico, Bloomberg, AP และ Reuters ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลจากสำนักข่าวเหล่านี้ในระดับโครงสร้าง

ไม่เพียงแค่ทำเนียบขาวและกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) ก็ได้มีการถอดสำนักข่าวใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ NBC News, The New York Times, NPR และ Politico ออกจากพื้นที่ของเพนตากอน พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อขนาดเล็ก เช่น One America News Network (OAN), New York Post, Breitbart News Network และ HuffPost เข้ามาทำข่าวแทน ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็น 'การปรับโครงสร้างการรายงานข่าว'

การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายฝ่ายในวงการสื่อและนักวิเคราะห์ ที่มองว่าเป็นความพยายามในการจำกัดการเข้าถึงของสื่อที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนทรัมป์มองว่าเป็นการ 'ปรับสมดุล' ให้กับสื่อมวลชนที่มีอคติต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ขณะนี้ยังไม่มีการตอบโต้จากทำเนียบขาวเกี่ยวกับแถลงการณ์ของ AP, Reuters และ Bloomberg แต่คาดว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทรัมป์และสื่อหลักจะทวีความรุนแรงในอนาคต

‘ทรัมป์ – เซเลนสกี’ ปะทะคารมเดือดต่อหน้าสื่อ สุดท้ายดีลแร่ธาตุหายากล่มไม่เป็นท่า

(1 มี.ค.68) เอพี รายงานความคืบหน้าหลังการหารือข้อตกลงธาตุหายาก หรือธาตุแรร์เอิร์ธระหว่าง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ลงเอยด้วยความล้มเหลว

โดยเซเลนสกียืนกรานว่า จะไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จนกว่าจะมีหลักประกันด้านความปลอดภัยในการต่อต้านการโจมตีอีกครั้ง

ก่อนเสริมว่า การโต้เถียงอย่างดุเดือดกับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น “ไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย” และว่า ทรัมป์ซึ่งยืนกรานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พร้อมจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี จำเป็นต้องเข้าใจว่ายูเครนไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรัสเซียได้ในทันที ขณะที่นายทรัมป์ตำหนินายเซเลนสกีว่าไม่ให้เกียรติและยกเลิกการลงนามข้อตกลง

การประชุมพิเศษที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปลี่ยนจากการหารือที่อาจสร้างประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเหตุที่สร้างความตกตะลึงและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก กำหนดเดิมนายเซเลนสกีคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุหายากของยูเครนได้มากขึ้น และจัดงานแถลงข่าวร่วมกัน แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิก หลังมีการโต้เถียงดุเดือดระหว่างสองผู้นำต่อหน้าสื่อมวลชน และยังไม่ชัดเจนว่าการพลิกผันครั้งนี้ จะส่งผลต่อข้อตกลงที่นายทรัมป์ยืนกรานว่ายูเครนจำเป็นต้องชดใช้เงินช่วยเหลือของสหรัฐกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาทอย่างไร

เซเลนสกีและคณะเดินทางออกจากทำเนียบขาวไม่นาน หลังจากนายทรัมป์ตะโกนใส่ และแสดงออกว่าดูถูกอย่างเปิดเผย ทรัมป์กล่าวกับเซเลนสกีว่า “คุณกำลังพนันกับสงครามโลกครั้งที่สามและสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่เคารพประเทศนี้เลย ประเทศนี้สนับสนุนคุณมากกว่าที่หลายคนบอกว่าควรสนับสนุนเสียอีก”

ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของการประชุมเกือบ 45 นาที กลายเป็นการปะทะคารมอย่างตึงเครียดระหว่างนายทรัมป์ รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ของสหรัฐ และนายเซเลนสกี ซึ่งต้องการกดดันนายทรัมป์ไม่ให้ละทิ้งยูเครนและเตือนว่าอย่าไว้ใจนายปูตินมากเกินไป เพราะผู้นำรัสเซียล่มข้อตกลงหย่าศึกด้วยตัวเองมากถึง 25 ครั้ง

แต่นายทรัมป์กลับตะโกนใส่นายเซเลนสกี ก่อนตอบว่า นายปูตินไม่ได้ทำลายข้อตกลงกับตน และส่วนใหญ่หลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการเสนอหลักประกันความปลอดภัยให้กับยูเครน

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหลังจากแวนซ์ท้าทายเซเลนสกีว่า “ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพผมคิดว่าการที่คุณมาที่ห้องรูปไข่เพื่อพยายามฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อหน้าสื่ออเมริกันถือเป็นการไม่ให้เกียรติ”

เซเลนสกีพยายามคัดค้าน และทำให้นายทรัมป์พูดเสียงดังว่า “คุณกำลังพนันกับชีวิตของผู้คนนับล้าน” ในช่วงหนึ่งนายทรัมป์ประกาศว่าตัวเองอยู่ “ตรงกลาง” และไม่ได้อยู่ฝ่ายยูเครนหรือรัสเซียในความขัดแย้งนี้

ทั้งยังเยาะเย้ยความเกลียดชัง ที่เซเลนสกีมีต่อปูตินว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ “คุณเห็นความเกลียดชังที่เขามีต่อปูตินไหม มันยากมากสำหรับผมที่จะทำข้อตกลงด้วยความเกลียดชังแบบนั้น”

ขณะที่พรรคเดโมแครตวิจารณ์นายทรัมป์ และรัฐบาลทันทีที่ล้มเหลวการบรรลุข้อตกลงกับยูเครน นายชัค ชูเมอร์ หัวหน้าวุฒิสภาพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์และแวนซ์ “กำลังทำงานสกปรกให้ปูติน”

‘ทรัมป์’ เล็ง!! ยกเลิกสถานะ ‘ผู้ลี้ภัยยูเครน’ 2.4 แสนคน ในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการกลับลำ!! จากนโยบายต้อนรับชาวยูเครนในสมัย ‘โจ ไบเดน’

(8 มี.ค. 68) แผนการยกเลิกการคุ้มครองชาวยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ที่จะยกเลิกสถานะทางกฎหมายของผู้อพยพกว่า 1.8 ล้านคน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐฯ ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชั่วคราว ซึ่งริเริ่มในสมัยรัฐบาลไบเดน

เจ้าหน้าที่รัฐบาลทรัมป์และแหล่งข่าวอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะเพิกถอนสถานะพักพิงของชาวคิวบา เฮติ นิการากัว และเวเนซุเอลา ราว 530,000 คน ภายในเดือนนี้ โดยแผนการเพิกถอนสถานะพักพิงของคนกลุ่มนี้รายงานครั้งแรกโดยสำนักข่าว CBS News

อีเมลภายในของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) ที่รอยเตอร์ได้รับ ระบุว่า ผู้อพยพที่ถูกเพิกถอนสถานะพักพิงอาจเผชิญกระบวนการเนรเทศแบบเร่งด่วน

ทั้งนี้ โครงการของไบเดนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างช่องทางทางกฎหมายชั่วคราว เพื่อป้องกันการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นอกจากชาวยูเครน 240,000 คน ที่หนีภัยจากการรุกรานของรัสเซีย และชาวคิวบา เฮติ นิการากัว และเวเนซุเอลา 530,000 คนแล้ว โครงการเหล่านี้ยังครอบคลุมชาวอัฟกานิสถานกว่า 70,000 คน ที่หลบหนีจากการยึดครองของกลุ่มตาลีบัน

อันดรีย์ โดบรีอันสกี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของคณะกรรมการชาวยูเครนแห่งอเมริกา กล่าวว่า “คนเหล่านี้จำนวนมากไม่มีบ้านให้กลับไป เรากำลังพูดถึงคนที่เมืองทั้งเมืองถูกทำลายจนราบ เราจะส่งพวกเขากลับไปที่ไหนกัน ไม่มีอะไรเหลือแล้ว”

‘ทรัมป์’ เล็ง!! ถอนทหาร 35,000 นาย ย้ายจาก ‘เยอรมนี’ ไป!! ‘ฮังการี’

(9 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในยุโรปด้วยการ ถอนทหารอเมริกัน 35,000 นายออกจากเยอรมนี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเป็นการเปลี่ยนเกมด้านความมั่นคงของ NATO และอาจทำให้สัมพันธ์สหรัฐฯ–ยุโรปเดือดพล่านยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวเผยว่า “ทรัมป์หงุดหงิดกับยุโรป เพราะพวกเขาดูเหมือนจะเร่งสถานการณ์ไปสู่สงคราม” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทรัมป์เคยส่งสัญญาณหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะไม่คุ้มกันประเทศที่ไม่ลงทุนด้านความมั่นคงของตัวเองอย่างจริงจัง

ฮังการี - เป้าหมายใหม่ของกองกำลังสหรัฐฯ?

The Telegraph รายงานว่า เป้าหมายที่เป็นไปได้ของการโยกย้ายครั้งนี้คือ "ฮังการี" ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมาโดยตลอด และเพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมใน EU ด้วยการวีโต้มาตรการสนับสนุนยูเครนเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เป็นหนึ่งในผู้นำยุโรปที่มักค้านการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า การที่ทรัมป์อาจย้ายทหารไปที่นั่นเป็นการเดินเกมในลักษณะใดกันแน่ เพราะหากเกิดขึ้นจริง ก็หมายความว่าสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณถึง NATO ว่า “จ่ายเยอะ—ได้เยอะ, จ่ายน้อย—จัดการตัวเอง”

โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไบรอัน ฮิวจ์ส ให้ความเห็นว่า "แม้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การโยกย้ายกำลังทหารเป็นเรื่องที่กองทัพสหรัฐฯ พิจารณาอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน" ซึ่งฟังดูเหมือนแถลงการณ์กลาง ๆ แต่แปลเป็นภาษาชัด ๆ ได้ว่า "เรากำลังหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง"

NATO สะเทือน!! ทรัมป์ไม่สนใจ สมาชิกที่จ่ายไม่ถึงเป้า

ทรัมป์ย้ำหลายครั้งว่า ประเทศสมาชิก NATO ต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งในปี 2024 มีเพียง 23 จาก 32 ประเทศ เท่านั้นที่ทำได้ โดย โปแลนด์ เป็นประเทศที่ลงทุนหนักสุดที่ 4.1% ของ GDP ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ 3.4% ซึ่งทรัมป์มองว่า "เป็นภาระที่อเมริกันชนไม่ควรต้องแบก"

ทรัมป์เคยพูดตรง ๆ ว่า "ถ้าคุณไม่จ่าย ผมก็ไม่ช่วย" และถึงขั้นบอกว่า “ถ้าประเทศไหนใน NATO ไม่ยอมจ่าย ผมจะปล่อยให้รัสเซียจัดการเอง” ซึ่งนับว่าเป็นคำเตือนที่ชัดเจน และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทรัมป์ถึงสนใจย้ายกำลังไปประเทศที่ "จริงจัง" เรื่องงบกลาโหมมากกว่า

เยอรมนีอาจต้องรับมือเอง หากทรัมป์เดินหน้าถอนกำลัง

หากแผนนี้เดินหน้าจริง เยอรมนีอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางความมั่นคงแบบไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากฐานทัพสหรัฐฯ หลายแห่งในเยอรมนี เช่น Ramstein Air Base และ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำยุโรป ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของ NATO ในยุโรป

การถอนกำลังออกจากเยอรมนีจะเป็นการตัดแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับ NATO และอาจทำให้เยอรมนีต้อง เร่งเพิ่มงบกลาโหม และพิจารณาทางเลือกใหม่ ๆ ในการปกป้องประเทศของตนเอง

ในขณะที่ยุโรปกำลังจับตาว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายนี้อย่างไร สัญญาณจากทรัมป์ดูเหมือนจะชัดเจนว่า “อเมริกาไม่ใช่ผู้คุ้มกันฟรี ๆ อีกต่อไป” และ NATO อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top