Monday, 19 May 2025
ทรัมป์

‘กลุ่มก่อการร้าย’ กราดยิงนักท่องเที่ยวในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ดับสลด 26 ศพ เจ็บอีก 17 ราย ‘ทรัมป์’ โพสต์ประณามพร้อมหนุนอินเดีย

(23 เม.ย. 68) เกิดเหตุกราดยิงใส่กลุ่มนักท่องเที่ยวในเมืองปาฮาลกัม รัฐจัมมูและแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย โดยกลุ่มมือปืนประมาณ 3-4 คน ใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่นักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 คน และบาดเจ็บอีก 17 คน ถือเป็นเหตุโจมตีรุนแรงที่สุดในอินเดียในรอบหลายปี

ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย 25 คน และชาวเนปาล 1 คน การโจมตีเกิดขึ้นในทุ่งหญ้านอกถนน ก่อนที่กลุ่มมือปืนจะหลบหนีไป โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม 'กองกำลังต่อต้านแคชเมียร์' ได้ออกมารับผิดชอบการโจมตีนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวถึงความไม่พอใจที่มีผู้คนจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคชเมียร์

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบีย ได้ตัดสินใจกลับกรุงเดลีเพื่อดูแลสถานการณ์ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว และแสดงการสนับสนุนอินเดียในการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย

นักเรียนจีนแห่เปลี่ยนเส้นทาง เริ่มเบนเป้าออกจากสหรัฐฯ หลังทรัมป์คุมเข้มนโยบายการศึกษาและวีซ่า

(24 เม.ย. 68) นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง กำลังสั่นคลอนความนิยมของสหรัฐฯ ในหมู่นักเรียนจีนอย่างหนัก ทั้งการตัดงบมหาวิทยาลัย เข้มงวดเรื่องวีซ่า และตั้งข้อกล่าวหาด้านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้สมัครเรียนต่อในอเมริกาลดลงต่อเนื่อง กระทบภาพฝัน “American Dream” ที่เคยเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักศึกษาจีนมายาวนานกว่า 15 ปี

นักเรียนจำนวนมากเริ่มหันไปมองทางเลือกใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนเองที่กำลังไต่อันดับโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยคุณภาพงานวิจัยและโอกาสทำงานหลังเรียนจบที่ดึงดูดใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ทำให้หลายครอบครัวเริ่มลังเลต่อการลงทุนด้านการศึกษาข้ามทวีป

ข้อมูลจาก Open Doors ระบุว่า จำนวนนักเรียนจีนในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 277,398 คนในปีการศึกษา 2023/24 ลดลง 4.2% จากปีก่อนหน้า และลดลงถึง 25.5% จากจุดสูงสุดในปี 2019/20 โดยนักเรียนจีนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กว่า 14,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ทว่าแนวโน้มปัจจุบันอาจทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้ไหลออกไปยังประเทศอื่นแทน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในเวทีการศึกษาระดับโลก

นักศึกษาจำนวนหนึ่งยังเลือกกลับมาเรียนและทำงานในฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสทำงานหลังเรียนจบและได้รับทุนวิจัยมากขึ้น รายงานจาก China Daily ระบุว่า ในปี 2023 มีนักเรียนจีนระดับปริญญาเอกกลับประเทศถึง 21,574 คน เพิ่มขึ้น 51% จากปี 2020 โดยมากกว่าครึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเอเชีย

แม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักเรียนต่างชาติ แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่เข้มงวดขึ้น อาจทำให้ประเทศสูญเสียบทบาทผู้นำด้านการศึกษาและนวัตกรรมในระยะยาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเปิดรับและช่วงชิงโอกาสนี้อย่างเต็มที่

‘ทรัมป์ จูเนียร์’ ขยี้ ‘เซเลนสกี’ ผ่านโซเชียล ย้ำผู้นำยูเครนไม่ต้องการสันติภาพ-ควรถอยเรื่องไครเมีย

เมื่อวันที่ (24 เม.ย.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (Donald Trump Jr.) บุตรชายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แชร์โพสต์ของเดวิด แซกส์ มหาเศรษฐีและที่ปรึกษาพิเศษด้านคริปโตของทรัมป์ ผ่านแพลตฟอร์ม X พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์นะ ก็คือ เซเลนสกี้ไม่ต้องการสันติภาพ”

โพสต์ต้นฉบับของแซกส์ระบุว่า ไครเมียควรเป็นข้อยอมถอยที่ง่ายที่สุดสำหรับยูเครน เนื่องจาก 1) ไครเมียอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียมานานกว่า 10 ปี 2) ประชากรส่วนใหญ่ในไครเมียเป็นชาวเชื้อสายรัสเซีย และผลสำรวจจากชาติตะวันตกชี้ว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 3) ยูเครนไม่มีศักยภาพทางทหารเพียงพอที่จะยึดไครเมียคืนมาได้

แซกส์ยังเสริมว่า “การโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ของยูเครนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ได้พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้อย่างชัดเจน หากเซเลนสกีไม่ยอมถอยแม้แต่เรื่องไครเมีย ก็หมายความว่าเขาจะไม่ยอมถอยเรื่องอื่นอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับเขา”

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่า เซเลนสกีเป็นตัวการที่ทำให้สงครามยืดเยื้อต่อไป โดยระบุว่า “เซเลนสกีเป็นคนที่ยากจะรับมือมากกว่ารัสเซียในการเจรจาสันติภาพ” และชี้ว่า “การที่เซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอของรัสเซียเกี่ยวกับไครเมีย ทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังคงยืนกรานไม่ยอมรับการสูญเสียไครเมีย โดยชี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศ และการยอมจำนนจะเป็นแบบอย่างที่อันตรายต่อการรุกรานในอนาคต ​

‘ทรัมป์’ เผยเริ่มเจรจากับจีนแล้ว แต่ฝั่งปักกิ่งบอกไปคุยตอนไหน สหรัฐฯ ‘คุยกับใครเหรอ ไม่เห็นรู้เรื่อง!’ ยันยังไม่เจอตัวแทนวอชิงตัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ได้มีการเจรจากับทางการจีนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะออกมาปฏิเสธการเจรจาดังกล่าว โดยระบุว่า “ยังไม่มีการพูดคุยทางการค้าใดๆ” ระหว่างสองฝ่ายในขณะนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมายาวนาน

ทรัมป์กล่าวระหว่างการประชุมกับนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ที่ทำเนียบขาวว่า “พวกเขาประชุมกันเมื่อเช้านี้” และเสริมว่า “เราได้ประชุมกับจีนแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวแทนของฝ่ายจีน โดยระบุเพียงว่าอาจมีการเปิดเผยในภายหลัง แต่ยืนยันว่าการเจรจาเกิดขึ้นแล้ว

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยโฆษกเหอ หยาตง (He Yadong) ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศ และข่าวใด ๆ ที่ระบุว่ามีความคืบหน้าเป็นเพียงการคาดเดา โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ พร้อมระบุว่าจีนยังยึดมั่นในแนวทางการเจรจาบนพื้นฐานของความเสมอภาค

แม้ยังไม่มีความชัดเจนในข้อเท็จจริง แต่นักลงทุนมองว่าการแสดงท่าทีเชิงบวกของสหรัฐฯ อาจช่วยผ่อนคลายความกังวล ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะขาดทุนในเดือนเมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีรายงานว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงมาอยู่ในช่วง 50% ถึง 65%

ทรัมป์ยังใช้แพลตฟอร์ม Truth Social กล่าวโจมตีจีนเพิ่มเติม ทั้งในประเด็นการชะลอรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง และการปล่อยให้เฟนทานิลไหลเข้าสหรัฐฯ ผ่านเม็กซิโกและแคนาดา พร้อมเรียกร้องให้โบอิ้งเป็นฝ่ายเรียกร้องจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ยอมรับมอบ พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่อจีน แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและควบคุมปัญหายาเสพติด

‘ทรัมป์’ เผย ‘เซเลนสกี’ พร้อมยกไครเมียให้รัสเซีย แลกข้อตกลงสันติภาพ ขณะที่ ‘ปูติน’ เสนอหยุดยิงเชิงสัญลักษณ์ แต่ฝ่ายยูเครนยังไม่วางใจ

(29 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า ตนเชื่อว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พร้อมที่จะยกดินแดนไครเมียให้รัสเซีย เพื่อแลกกับข้อตกลงสันติภาพ แม้เซเลนสกีจะเคยปฏิเสธเรื่องนี้อย่างหนักแน่นมาก่อนหน้านี้ก็ตาม พร้อมกันนี้ ทรัมป์ยังส่งสารถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เรียกร้องให้ยุติการโจมตีและเร่งลงนามข้อตกลงสันติภาพภายใน 2 สัปดาห์

ล่าสุด วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเตรียมหยุดยิงยูเครนเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 พฤษภาคมถึงวันที่ 11 พฤษภาคม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่าการหยุดยิงครั้งนี้มีเหตุผลด้านมนุษยธรรม และแสดงความหวังว่าฝั่งยูเครนจะตอบสนองด้วยการหยุดยิงเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเต็มรูปแบบอย่างน้อย 30 วัน เพื่อปูทางสู่การเจรจาทางการทูต

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนออกมาโต้ตอบทันที โดยระบุว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรอจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคมในการหยุดยิง โดยชี้ว่าควรหยุดการสู้รบทันทีเพื่อเห็นแก่ชีวิตของประชาชน ไม่ใช่เพื่อขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียแสดงความจริงใจมากกว่าการหยุดยิงชั่วคราว

ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากพิธีพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครรัฐวาติกัน ซึ่งเขาได้พบกับเซเลนสกีในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ทรัมป์เคยย้ำว่าข้อตกลงสันติภาพกำลังคืบหน้า และตำหนิรัสเซียที่โจมตีเขตพลเรือนโดยไร้เหตุผล

สส.เดโมแครต เสนอ 7 ญัตติด่วนถอดถอน ‘ทรัมป์’ พ้นตำแหน่ง ปธน. ปมใช้อำนาจเกินขอบเขต-ขัดขวางกฎหมาย-รับสินบน และอีกเพียบ!!

(29 เม.ย. 68) นายชริ ธาเนดาร์ (Shri Thanedar) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจากพรรคเดโมแครต รัฐมิชิแกน เสนอญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเป็นการรับมือกับพฤติกรรมที่บ่อนทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ พร้อมนำเสนอบทความถอดถอนจำนวน 7 ประการ ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจบริหารโดยมิชอบ การติดสินบน และการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐอย่างผิดกฎหมาย

ในรายละเอียดข้อกล่าวหา นายธาเนดาร์ ระบุว่าทรัมป์ได้เพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ดำเนินนโยบายเนรเทศที่ละเมิดสิทธิทางกฎหมาย ใช้อิทธิพลครอบงำกระทรวงยุติธรรม และก่อตั้ง “กระทรวงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล” หรือ DOGE ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการกล่าวหาว่า “อีลอน มัสก์” ได้รับอำนาจเกินควรผ่านหน่วยงานดังกล่าว

บทความถอดถอนยังชี้ว่าทรัมป์ใช้ตำแหน่งเพื่อโจมตีนักวิจารณ์และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการคุกคามทางทหารต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

นายธาเนดาร์เรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการ โดยกล่าวว่า “เราไม่สามารถรอให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ได้” อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าญัตติดังกล่าวมีแนวโน้มไม่คืบหน้า เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังควบคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งอาจขัดขวางการพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นทาง

ญี่ปุ่นเตือนแรง มาตรการภาษี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังเขย่าพันธมิตร ชี้อาจเป็นบูมเมอแรงทำเอเชียตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ซบอกจีนแทน

(29 เม.ย. 68) อิตสึโนริ โอโนเดระ (Onodera Itsunori) หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น (LDP) แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีท่าทีใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หันไปสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่โอโนเดระร่วมงานที่สถาบันฮัดสัน กรุงวอชิงตัน โดยเขาระบุว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มไม่สบายใจกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรเดิมเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์

โอโนเดระยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลในช่องแคบไต้หวัน การซ้อมรบเชิงรุก และการกดดันด้านจิตวิทยาในประเด็นดินแดนพิพาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าทรัมป์พยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันให้ญี่ปุ่นมากขึ้น โอโนเดระเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือในการผลิตและส่งออกอาวุธ เช่น กระสุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของญี่ปุ่นที่เปิดทางสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์มากขึ้นในอนาคต

‘ทรัมป์’ เผย ‘ปูติน’ พร้อมยุติสงครามกับยูเครน แต่โยนความผิดให้ ‘ไบเดน’ ทำสถานการณ์เลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น

(30 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ในวาระดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน

ทรัมป์กล่าวว่า ปูตินอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อโน้มน้าวให้ยุติสงคราม และย้ำว่า “เขาเต็มใจที่จะยุติการสู้รบ” พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ว่าเป็นผู้ทำให้สงครามปะทุ โดยเชื่อว่าหากตนชนะเลือกตั้งในปี 2020 ปูตินอาจยึดยูเครนได้ทั้งหมด

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังตำหนิคำพูดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ว่าเป็นการ 'ปลุกระดม' โดยเฉพาะการปฏิเสธที่จะยอมรับไครเมียเป็นของรัสเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพและทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ในช่วงเมื่อต้นสัปดาห์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเกล็น เบ็ค (Glenn Lee Beck) นักวิจารณ์การเมือง อนุรักษ์นิยมชาวอเมริกัน โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเรียกร้องมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีอำนาจต่อรอง พร้อมระบุว่าปูติน “จัดการได้ง่ายกว่าเซเลนสกี” และเปิดกว้างต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในภูมิภาคนี้

‘กรณ์’ วิเคราะห์!! ภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจโลก โดยรวมแย่ลง แต่ดุลการค้าสหรัฐดีขึ้น กังวล!! หากเพื่อนบ้าน เจรจาภาษีได้ต่ำกว่าเรา ฐานการผลิต อาจต้องย้ายไปจากไทย

(1 พ.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

เมื่อวานนั่งคุยกับผู้ส่งออกอาหารไปอเมริการายหนึ่ง เขาเล่าว่าปัจจุบันลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อขนาดใหญ่เจรจาขอให้เขาแบกรับภาระภาษีนำเข้า 10% (ซึ่งเขาพอทำได้) ในขณะที่ผู้ซื้อรายเล็กยังคงซื้อในราคาเดิม 

แต่หากอัตราภาษีกลับไปเป็น 36% ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้ แน่นอนจะเป็นภาระที่เขาในฐานะผู้ส่งออกแบกรับไม่ได้ ต้องแบ่งภาระกับผู้ซื้อ ซึ่งก็คงต้องผลักภาระต่อไปให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่มากก็น้อย

และหากประเทศคู่แข่งเราเจรจาลดภาษีได้ แต่เราเจรจาไม่สำเร็จ – นั่นคือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ในแง่ของทรัมป์ ที่อ้างตลอดว่าคนอเมริกันจะไม่เป็นผู้ต้องเสียภาษี ตอนนี้มีส่วนเป็นเช่นนั้นจริง แต่ถ้าอัตราภาษีสูงเกินไป ผู้บริโภคอเมริกันจะหลีกเลี่ยงภาระภาษีนี้ยาก หรือไม่ก็จะไม่สามารถซื้อสินค้าบางประเภทได้เลย ในสถานการณ์นี้ ทางใดทางหนึ่ง ชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศน้อยลง ซึ่งหากสมมุติว่าประเทศอย่างเรายังซื้อของจากอเมริกาเท่าเดิม ดุลการค้าอเมริกันจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะแย่ลง

ในแง่ของไทย ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองยังเอาตัวรอดได้ แต่รายเล็กหน่อยเหนื่อยมาก ผู้ส่งออก(รายปานกลาง) ที่ผมคุยด้วย เขาบอกว่าสำคัญมากที่จะต้องเจรจาให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่เรายังค้าขายกับอเมริกาได้ แต่ก็ชัดเจนว่ากำไรเราจะลดลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงต้องเจาะตลาดอื่น และพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษา ‘มาจิ้น’

เลวร้ายที่สุดคือหากอัตราภาษีประเทศเพื่อนบ้านเจรจาได้ตํ่ากว่าเรามาก อาจต้องพิจารณาย้ายการผลิตไปจากไทย

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศยุทธศาสตร์ ‘เอเชียบริหารเอเชีย’ หวังลดบทบาทสหรัฐฯ ในภูมิภาค พร้อมประกาศแผนสร้างเสถียรภาพใหม่

(6 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ที่มุ่งเน้นการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมประกาศ “เอเชียบริหารเอเชีย” โดยระบุว่า “เรื่องของเอเชีย คนเอเชียต้องจัดการเอง” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ว่าอาจถึงเวลาที่จะลดอิทธิพลในภูมิภาคนี้และเปิดทางให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเสถียรภาพ

ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการขยายผลทันทีในการเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา โดยสี จิ้นผิงใช้โอกาสนี้เน้นย้ำการเป็น “เพื่อน” ของจีนในภูมิภาคและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันต่อต้านแรงกดดันจากภายนอก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย

การผลักดันแนวคิด “เอเชียบริหารเอเชีย” นั้นมีรากฐานมาจาก “Asian Security Concept” ที่จีนเคยประกาศไว้ในปี 2014 ซึ่งเสนอทางเลือกใหม่ให้กับประเทศในเอเชียในการรักษาความมั่นคงโดยไม่พึ่งพาการแทรกแซงจากสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตก โดยสีจิ้นผิงเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียสามารถจัดการปัญหาภายในได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับจีนยังคงมีอยู่ เนื่องจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และความไม่ไว้วางใจจากบางประเทศในภูมิภาคที่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของจีนในระยะยาว แม้จะมีการเสนอแนวทางการร่วมมือ แต่หลายฝ่ายยังคงจับตาดูว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารเอเชียในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top