Saturday, 18 May 2024
ชุมพร

น.ศ. ‘หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง’ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อหาแนวทาง จัดการกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

วันที่ 4-5 มิถุนายน 2566 นักศึกษา "หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.) รุ่นที่ 10 กลุ่มไข่มุก" ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัย เรื่อง "แนวทางการบริหารงบประมาณด้านภัยพิบัติแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน" กรณีศึกษาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และจังหวัดชุมพร

ในการนี้ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัด (พี่ดวง กลุ่มบุษราคัม) ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลภาพรวมการดำเนินการของจังหวัด

กลุ่มไข่มุก นำโดยนายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ได้ร่วมสัมภาษณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจน ผู้บริหาร สมาชิก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชน ในพื่นที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รวมถึงปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งได้รับความร่วมมือในการสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างดียิ่ง

เขตพื้นที่อำเภอท่าแซะ โดยเฉพาะตำบลนากระตาม เป็นพื้นที่ลุ่ม ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองท่าแซะและคลองรับล่อ ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ได้รับความเสียหายและผลกระทบมากหรือน้อย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อย 

จากการสัมภาษณ์พบว่า แนวทางการป้องกันเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ประชาชนเสนอขุดลอกคลองเพื่อช่วยระบายน้ำ ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนรวมถึงพืชผลทางการเกษตร การดำเนินการแก้ปัญหาจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว เมื่อน้ำได้ไหลลงสู่ทะเลแล้ว แม่น้ำ ลำคลอง ก็จะแห้ง เนื่องจากไม่มีเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ หรือฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค และใช้เพื่อการเกษตรหลังฤดูฝน "เกษตรกรสวนทุเรียน ต้องจ้างรถขนน้ำไปรดต้นทุเรียนในช่วงหน้าแล้ง" เกษตรกรกล่าว 

ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เกษตรกร อาทิ สทนช. กรมชลประทาน จังหวัด อบจ. อบต. พื้นที่ส่วนใหญ่ในท่าแซะเป็นพื้นที่ป่า ต้องมีการบูรณาการในพื้นที่อย่างจริงจัง และสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
"น้ำมามาก ก็ท่วม น้ำลงทะเลหมด ก็แล้ง" ผู้นำท้องถิ่นกล่าว
 
ดังนั้น หากจะก่อนสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ จะอยู่ในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกร แนวทางเบื้องต้นที่ได้จากพื้นที่อาจต้องมีการบริหารงบประมาณแบบกระจายลงสู่เชิงพื้นที่ การปรับแก้กฎหมาย ให้อำนาจจังหวัด หรือท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งผลจะสรุปอย่างไร ทางกลุ่มจะสรุปและนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงบประมาณด้านภัยพิบัติแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต่อไป

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

‘เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ’ ยื่นหนังสือร้องยุติโครงการแลนด์บริดจ์ ชี้!! กังวล ‘ของเสีย-อากาศพิษ’ กระทบการเกษตร-ชีวิต ปชช.

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอพะโต๊ะ ผ่านนายเชิงชาย ไพรพฤกษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอพะโต๊ะ เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานยุติการจัดเวทีเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง หรือการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเข้ามาชี้แจงข้อสงสัย และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามข้อเรียกร้องนี้ จะปฏิเสธความร่วมมือและจะร่วมกันคัดค้านการจัดเวทีหรือการทำกิจกรรมอื่นใดของทุกหน่วยงานหลังจากนี้ไปอย่างถึงที่สุด โดยมีการถือแผ่นป้ายระบุข้อความ ‘พะโต๊ะเมืองเกษตร ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม’

นางเฉลิมอุษา สีเขียว เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า พวกเราทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดทราบว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 14 พ.ย.นี้อีกครั้ง กลายเป็นความสับสนและไม่เข้าใจต่อกระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลอะไรตามมากับพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลประกาศไปแล้วว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้ได้ พร้อมกับจะมีการเดินสายเพื่อหาผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุนให้ทันภายในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจบริหารประเทศ จึงยิ่งสร้างความไม่มั่นใจว่า การจัดเวทีทั้งหลายเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปเพื่ออะไร หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการ ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

นายสมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ แต่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้จะนำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา ซึ่งตอนนี้นักการเมืองกำลังผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายอำเภอในจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีมูลค่าสูง ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ปลูกทุเรียนโดยส่วนใหญ่อยู่ที่พะโต๊ะและหลังสวน ในอนาคตจะมีการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ของเสีย น้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ จากนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

‘รถไฟสายใต้’ กรุงเทพ-ชุมพร ลดเวลาได้กว่า 2 ชม. พร้อมขยายการให้บริการอีก 4 เท่าตัว เริ่ม 15 ธ.ค. นี้

(17 พ.ย. 66) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับรถไฟสายใต้ ระบุว่า…

รถไฟสายใต้เริ่มให้ผล กรุงเทพ-ชุมพร ลดเวลาได้กว่า 2 ชม.

พร้อมขยายศักยภาพการให้บริการ กว่า 4 เท่าตัว เริ่มต้น 15 ธันวาคม 2566 นี้!!!

ออกแบบ รองรับความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ในอนาคตสามารถเร็วได้มากกว่านี้อีก!!! ถ้ามีดีเซลราง ชุดใหม่….

วันนี้เอาข่าวการเปลี่ยนแปลงตารางการเดินรถไฟสายใต้ ทั้ง!!! จากการเปิดใช้ทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม-ชุมพร

โดยจะสามารถ ลดระยะเวลารอหลีกได้ ทำให้การให้บริการเป็นไปได้แบบรวดเร็ว และต่อเนื่องได้อย่างเต็มที่ ตลอดเส้นทางสายใต้ ไปจนถึงชุมพร 

ซึ่งการเปิดให้บริการในช่วงนี้ จะสามารถลดระยะการเดินทางได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ขึ้นกับ จำนวนสถานีทีศักดิ์จอด และ ศักดิ์ของรถ) โดยรถไฟที่เห็นได้ชัดเจนที่ี่สุดคือ รถไฟด่วนพิเศษดีเซลราง 
ซึ่งช่วงกรุงเทพ-ชุมพร สามารถลดเวลา จาก 8:16 ชั่วโมง เหลือเพียง 6:20 ชั่วโมง เท่านั้น!!! ไม่ต่างกับการเดินทางด้วยรถยนต์ 

แต่!!! ทางคู่ที่เรากำลังสร้างกันทั่วประเทศ ไม่ได้มีแค่การลดเวลารอทางหลีก 

แต่มันรองรับการเพิ่มความเร็วการให้บริการ ในอนาคตสูงสุดถึง 160 กิโลเมตร / ชั่วโมง พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของทางรถไฟ จากเดิม ขึ้นอีก 4 เท่า!!! คู่ขนานกับการเพิ่มความปลอดภัย ด้วยจากการยกระดับระบบอาณัติสัญญาณ เป็นระบบ ETCS Level 1 

ทั้งหมดนี้ เราจะได้เห็นบนทางรถไฟทางคู่ทุกสายที่กำลังก่อสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถระบบรางของไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง Logistics ของภูมิภาคที่หวังไว้ซักที

*** ที่สำคัญ เมื่อมีขีดความสามารถเพิ่ม ก็ต้องหารถไฟมาเพิ่ม คู่กับการเปิดให้เอกชนมาร่วมให้บริการบนทางรถไฟเดียวกัน ทั่วประเทศ เพื่อให้ใช้ศักยภาพของระบบรางได้อย่างเต็มที่

สำหรับใครที่เดินทางหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ควรจะเช็กตารางเดินรถไฟใหม่ ก่อนเดินทาง นะครับ!!!
สามารถตรวจเช็กตารางเวลาการเดินรถได้จากเว็บไซต์ https://dticket.railway.co.th

เปิดตารางเดินรถไฟโดยสารสายใต้ช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ พบส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ตรงเวลา เลทไม่เกิน 20 นาที

เปิดระบบติดตามขบวนรถไฟ วิ่งผ่านช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ ส่วนใหญ่ตรงเวลา รถไฟโดยสาร เลทไม่เกิน 20 นาที!!

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์อัปเดตความตรงเวลาของขบวนรถไฟ สายใต้ ผ่านระบบติดตามขบวนรถไฟ ระบุว่า…

แล้ววันนี้ก็มาถึง!! วันที่รถไฟทางคู่สายใต้ช่วง ‘นครปฐม-ชุมพร’ ก็ได้เริ่มทะยอยเปิดให้บริการ (วันนี้เปิดช่วงสถานีบ้านคูบัว- สะพลี)

ซึ่งอย่างที่หลายๆ คนทราบว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการทางคู่แล้ว ก็มีการปรับเวลาการให้บริการใหม่ทั้งหมด โดยลดเวลาการรอหลีกตามสถานีต่างๆ ซึ่งทำให้เวลาการเดินทางลดลงสูงสุด 2 ชั่วโมง!!

พร้อมเปิดสถานีในทางคู่ โดยเฉพาะสถานีหัวหิน ที่เป็นสถานียกระดับผ่านกลางเมือง แก้ปัญหาจุดตัดจราจรไปด้วย

รายละเอียดตารางเดินรถไฟใหม่
https://www.facebook.com/100067967885448/posts/669466995328891/
—————————

แต่!! ที่เราต้องมาลุ้นมากกว่านั้นคือ พอเปลี่ยนเป็นเวลาใหม่ มันจะเลท 2 - 3 ชั่วโมง แบบในช่วงก่อสร้างหรือไม่?

ผมจึงได้ไปทำการตรวจเช็กจากในระบบ Train Tracking System (TTS) ของการรถไฟ

ลิงก์ระบบตรวจเช็กเวลารถไฟ คลิก >> https://ttsview.railway.co.th

ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจมาก ขบวนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ตรงเวลา เลทไม่เกิน 20 นาที โดยเฉพาะรถไฟที่วิ่งอยู่ในช่วงทางคู่ใหม่ ดูเวลาแล้วแทบจะไม่เลทเลย!!

ทำได้แบบนี้ก็ต้องชื่นชมครับ ว่าใช้งานได้อย่างเต็มที่

แต่!! ระบบของเราในส่วนอาณัติสัญญาณ ETCS L1 Track Side ยังไม่เสร็จ เพราะจะสามารถเพิ่มความถี่ขบวนรถไฟได้กว่า 4 เท่าตัว รถสามารถวิ่งติดๆ กันไปได้เลย เท่าที่ทราบน่าจะเสร็จอีกประมาณเป็นปี

'ดร.ชัยภัฏ' เชื่อ!! ชาวชุมพร ยอมรับ 'แลนด์บริดจ์' ต้องการความเจริญ แต่รัฐต้องมีกฎหมายพิเศษเยียวยาผลกระทบแก่ชุมพรด้วย

(12 ม.ค.67)ช่วงนี้ ต้องบอกว่า ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง 'โครงการแลนด์บริดจ์' ที่ภาครัฐพยายามสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสครั้งสำคัญของเมืองไทย ในด้านคมนาคมขนส่งทางทะเล และเททถกสรรพกำลังเพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง ดูจะระอุหนัก

บรรยากาศ การลงพื้นที่แต่ละครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในโครงการแลนด์บริดจ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น เรียกว่ามีเนื้อหาที่เข้มข้น

แน่นอนว่า บรรยากาศการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ข้องเกี่ยวส่วนใหญ่นั้น ก็มีประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และตัวแทนส่วนราชการ เข้าร่วมกิจกรรมมากหลักหลายร้อย แต่ก็ยังดีที่ทุกครั้ง ทุกการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีการแสดงความคิดเห็นจากทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการ และผู้คัดค้าน และกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากโครงการแลนด์บริดจ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ทำประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน

เอาจริงๆ ถ้าฟังดูโดยรวมแล้ว ดูเหมือนว่า ถ้ารัฐมีทางออกที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาจากผลกระทบของแลนด์บริดจ์ ผ่านรูปแบบของกฎหมายพิเศษเฉพาะ เชื่อว่าชาวบ้านทุกคนก็คงจะพร้อมใจขานรับ เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยปล่อยโอกาสความเจริญ ที่จะส่งผลดีต่อจังหวัดของตนในภายภาคหน้าให้หลุดลอยไปด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ 'แลนด์บริดจ์' ประเทศไทย เปิดเผยว่า...

จากโครงการระดับประเทศ แลนด์บริดจ์ ที่เป็นโครงการขนส่ง เชื่อมฝั่งทะเลอันดามัน และทะเลอ่าวไทยที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่อาจมีมูลค่าการลงทุนเป็นหลายแสนล้านบาท หรือถึงหลักล้านล้านบาท และอาจเกิดมูลค่าเพิ่มเป็นหลายเท่าของการลงทุน หากโครงการประสบความสำเร็จ และในทางกลับกันหากโครงการล้มเหลวก็อาจก่อความเสียหายให้การเงินการคลังของประเทศไปอีกนาน 

อย่างไรก็ดี โครงการแลนด์บริดจ์นี้ ก็เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนในประเทศมีส่วนร่วม ในการรับผิดชอบในผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญองค์กรภาคสังคมหรือภาคประชาชน ต่างก็มีส่วนอยากรับรู้ความเป็นไปเป็นมาและมีส่วนร่วมในโครงการนี้เช่นกัน

"เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัย ของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี การศึกษา ความมั่นคง และที่สำคัญอาจมีผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนต้องคำนึงในผลได้-เสีย ให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ" ดร.ชัยภัฏ กล่าว

ดร.ชัยภัฏ กล่าวอีกว่า จากจุดนี้ ภาคประชาชนจึงรวมตัวกันขึ้นมา ทั้งนักวิชาการ, นักธุรกิจ และประชาชนอาชีพต่างๆ เป็น เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ ‘แลนด์-บริดจ์’ ประเทศไทย (Network of people for Land-bridge development of Thailand) หรือชื่อย่อว่า NLDT ตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์-บริดจ์ นี้

จากการที่มีหลายฝ่ายของภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญในโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย โดยที่ฝ่ายบริหารโดย พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้นำยกโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย ไปนำเสนอในต่างประเทศในหลายๆ ครั้ง และได้รับการตอบสนองอย่างดีจากหลายประเทศ อีกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา ได้เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แลนด์บริดจ์ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้โครงการ โดยการพิจารณานั้นทางกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ ใช้การรับฟัง การชี้แจง ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ พร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง เช่น...

จังหวัดชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ท่าเรือระนอง, การนิคมอุตสาหกรรม, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล, กรมขนส่งทางราบ, กรมทางหลวงชนบท, กรมทางหลวง, กรมเจ้าท่า, กองทัพฯ และอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์มีเวลาทำงานเพียง 3 เดือนเท่านั้น และเป็นการทำงานแบบการอภิปราย และปรึกษาหารือ (DISCUSION) โดยยังขาดการพิสูจน์สมมติฐานต่างๆ เพื่อทำการวิจัย หาข้อมูล สรุปอย่างแท้จริง ทำให้เห็นได้ว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติมีเวลาน้อยมากกับการศึกษาโครงการที่มีผลกระทบระดับสูงในทุกมิติและระนาบของประเทศ อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การทำงานของคณะฯ จะมีความครอบคลุมในมิติของปัญหามากยิ่งขึ้น

‘รมว.ปุ้ย’ ล็อกเป้า!! ผลักดันหลากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ชุมพร ยกระดับสู่ ‘อุตฯ ชุมชน’ ไม่ต้องใหญ่ถึงขั้นโรงงาน แต่มั่นคง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘สมุนไพรไทยที่ชุมพร คุณค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน’ ระบุว่า…

“วันนี้ปุ้ยจะเล่าให้ฟังเรื่องสมุนไพรไทยค่ะ ปุ้ยอยากให้สมุนไพรไทยเป็นประกายหนึ่ง ที่สามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน หลายชุมชนในประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ค่ะ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ และแน่นอนค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุน”

นี่เป็นสิ่งที่ รมว.พิมพ์ภัทรา กำลังเตรียมการหลังจากได้เดินทางไปชุมพร เพื่อร่วมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน ในการจัดการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า หนึ่งในแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมหลัก คือ การส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาสร้างรายได้จากต้นทุนในชุมชนทั้งทุนวัฒนธรรม วัตถุดิบในท้องถิ่นอาศัย พยายามเน้นการผนวกวิชาการด้านอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ 

“คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องโรงงานใหญ่ๆ เครื่องจักรใหญ่โตเสมอไป”

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อ “มาที่เรื่องสมุนไพร ที่ชุมพร หลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน จากทรัพยากรสมุนไพรในท้องถิ่นในชุมชนที่เป็นจุดแข็ง ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ… ที่ปุ้ยเห็นมีตะไคร้, ขมิ้น, ไพลหอม สมุนไพรเครื่องหอมต่างๆ อีกสารพัดที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพทั้งผิวพรรณ น้ำมันหอมระเหย…

“สมุนไพรเหล่านี้สามารถนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพ และสามารถโยงไปสร้างโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวในชุมชน อันนี้น่าสนใจมาก พี่องอีกหลายชุมชนมีของดีสมุนไพรดีๆ ในท้องถิ่น ลองร่วมกันคิดร่วมกันทำค่ะ สร้างความร่วมมือในชุมชน ปุ้ยจะนำกรมกองต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมสร้าง ร่วมส่งเสริมองค์ความรู้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนด้วยกันนะคะ”

'รมว.ปุ้ย' ลงพื้นที่ จว.ใต้ ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' 'เยี่ยมชม-ให้กำลังใจ-รับฟังปัญหา' กลุ่มผู้ประกอบการ

'รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา' นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' เยี่ยมชมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ จาก 2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ผลักดันสู่เป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งด้านผลิตภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชุมชน รวมทั้งพัฒนาอาชีพ กระจายรายได้ให้กับชุมชน

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

โดยในวันนี้ (22 ม.ค. 67) ได้นำคณะตรวจเยี่ยมผู้ประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดแรก เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จากการประกอบกิจการ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง

โดยการลงพื้นที่จังหวัดชุมพรครั้งนี้ จุดแรกได้ไปตรวจเยี่ยม บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จังหวัดชุมพร ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ ประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์ม กลั่นและแยกไข บรรจุน้ำมันพืช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และผลิตปุ๋ยจากตะกอนน้ำเสีย โดยบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตาม Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) และมาตรฐาน ISO 9001:2015, GHPs, HACCP, HALAL และ KOSHER 

ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย MIND อุตสาหกรรมวิถีใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ

จากนั้นได้เดินทางไปยังจุดที่ 2 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้เข้าร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

"ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันในส่วนของปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้ร้องขอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอนั้น ดิฉันขอรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้ โดยมีภาคธุรกิจหลัก ๆ คือ อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.64 มูลค่า 46,362 ล้านบาท  ภาคการเกษตรกรรม ร้อยละ 56.75 มูลค่า 73,812 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.61 มูลค่า 9,899 ล้านบาท และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น

"จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

"ฮือฮา" ชุมพร พบเสือโคร่งหากินข้ามประเทศไทย-เมียนมาร์ พล.ต.อ.พัชรวาทฯ สั่งเร่งสำรวจเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์สายพันธุ์เสือโคร่งอินโดจีน

วันที่ 20 มกราคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายอาทร กำลังใบ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) จ.ชุมพร ได้รายงานว่าพบการกระจายพื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งบริเวณป่าดวงเจริญ ป่าเนินทอง และป่าช่องขมิ้ว หมู่ที่ 4 และ หมุ่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งเสือโคร่งดังกล่าวมีการกระจายพื้นที่อาศัยหากินระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ซึ่งอาจจะเป็นเสือโคร่ง2สัญชาติ เนื่องจากมีการข้ามไปมาระหว่าง 2ประเทศ โดยการค้นพบดังกล่าวนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) ทำการสำรวจการกระจายตัวของเสือโคร่งในพื้นที่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี มูลนิธิฟรีแลนด์ทำการสำรวจบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งประเทศไทยและฝั่งประเทศเมียนมาร์ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหลุนญา ซึ่งการพบครั้งนี้เป็นการค้นพบในฝั่งประเทศไทย ได้ภาพจากการตั้งกล้องในพื้นที่ทั้งหมด24 ตัว โดยพบว่าเป็นเสือโคร่งจำนวน 3 ตัว เนื่องจากลายของเสือโคร่งแตกต่างกัน ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ไม่เคยพบเสือโคร่งมาก่อนเนื่องจากไม่มีการสำรวจ แต่เริ่มมีการตั้งกล้องสำรวจเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา ในปี 2563 - 2565 ก็เคยพบมาแล้ว ส่วนปี 2566 พบแต่รอยตีน ส่วนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ที่ผ่านมาก็พบแต่รอยตีน นอกจากนี้บริเวณพื้นที่เขตฯช่วงล่างรอยต่อกับเขตด้านทิศใต้ เคยพบรอยบนต้นไม้

จากกรณีการพบเสือโคร่งหากินระหว่าง 2 ประเทศดังกล่าวข้างต้น อธิบดีกรมอุทยานฯจึงได้รายงานให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบในเบื้องต้นแล้ว โดยพล.ต.อ. พัชรวาทฯ ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯเร่งสำรวจการแพร่กระจายพันธุ์ของเสือโคร่ง ต่อมาอธิบดีกรมอุทยานฯ จึงได้มอบหมายให้ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง เร่งสำรวจพบว่าเป็นเสือโคร่ง จึงได้มีการตั้งกล้องพบภาพ สามารถระบุพิกัดได้ ทั้งนี้จะมอบหมายให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าทำการศึกษาว่าเป็นเสือโคร่งที่กระจายตัวหากินระหว่าง 2 ประเทศมาเป็นระยะเวลานานเท่าใด รวมถึงเป็นเสือที่รวมอยู่ในจำนวนเสือของไทยที่ทำการสำรวจมาก่อนหรือไม่ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบันขึ้น

สำหรับสถานการณ์เสือโคร่งในปัจจุบัน โดยจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ในปี 2565 พบเสือโคร่ง จำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากสถิติ ปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทางและการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง จากการศึกษาวิจัยนี้ เรายังพบอีกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด คือ 103-131 ตัว ในส่วนของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์แห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขึ้นไปจนอุทยานแห่งชาติคลองลานอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ จำนวน 16 - 21 ตัว ไม่เพียงแต่ภาพของเสือโคร่งเท่านั้น หากแต่ยังบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เป็นต้น สิ่งนี้เป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่าและความเหมาะสมของการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 - 2577 โดยตั้งเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย ได้แก่ ผืนป่าแก่งกระจาน ผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง-เขาสก ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2577

เปิดตัวงานโครงการ 'CHUMPHON COFFEE Festival' โครงการเพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าสู่ตลาดสากล

กิจกรรมหลัก เพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพรสู่ตลาดสากลกิจกรรมย่อย จัดงานแสดง/จำหน่ายสินค้าและการเจรจาธุรกิจ ปีงบประมาณ ๒๕๖๗
ระหว่างที่ ๒๗ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น.
ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G เซ็นทรัลปิ่นเกล้า จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์) นางสาวยุพาพร สวัสดี พาณิชย์จังหวัดชุมพร นำทีมพาณิชย์จังหวัดชุมพร เปิดตัวงานโครงการ 'CHUMPHON COFFEE Festival' โครงการเพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าสู่ตลาดสากล กิจกรรมหลัก เพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพรสู่ตลาดสากล กิจกรรมย่อย จัดงานแสดง/จำหน่ายสินค้าและการเจรจาธุรกิจ ปีงบประมาณ ๒๕๖๗  เป็นโครงการที่กลุ่มส่งเสริมประกอบธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร ดำเนินการ ผลักดัน กาแฟโรบัสต้า กาแฟภาคใต้ กาแฟชุมพร ผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงแต่ง กาแฟพร้อมดื่ม และ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการจังหวัดชุมพร ให้มีศักยภาพในด้านการค้าการตลาด ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ให้ได้มีช่องทางการการเลือกซื้อสินค้า กาแฟโรบัสต้า ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมไปถึงสินค้า อุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันในราคาจากผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการจากจังหวัดชุมพร เองโดยตรง รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกช่องทางหนึ่ง

การดำเนินโครงการ “โครงการเพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าสู่ตลาดสากล” กิจกรรมหลัก เพิ่มศักยภาพกาแฟโรบัสต้าจังหวัดชุมพรสู่ตลาดสากล ภายใต้ชื่องาน “CHUMPHON COFFEE Festival” จัดจำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 และ วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 12.00 น. กิจกรรมเจรจาธุรกิจการค้ารูปแบบออนไลน์ OBM (Online Business Matching) ทั้งตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศ อาทิ TFW GuangZhou TaiFlavor Trading Co.,ltd. กว่างโจ่ว ประเทศจีน ซุปเปอร์มาร์เกตพาเดสโก้ ปาร์คสัน เวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ซุปเปอร์มาร์เกต เจ มาร์ท เวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) คาแฟ่อเมซอน และ บริษัท อโนมา กรุ๊ป จำกัด คาแฟ่ บอน อโนมา เป็นต้น และกิจกรรมส่งเสริมการขายตลอดทั้งวัน

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 - 15.00 น. พบกับ Influencer Channel หลากฉี (นายพงษ์เทพ บุญกลุ้ม) - Live สด Online - ประชาสัมพันธ์งาน 'CHUMPHON COFFEE Festival' กรรมการตัดสินการแข่งขันในครั้งนี้ (นายศักดิ์ชัย นุ่นหมิ่น) Q GRADER ผู้ประเมินคุณภาพกาแฟโรบัสต้า ภาคใต้

วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 - 18.00 น. กิจกรรมส่งเสริมการขาย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ซื้อเป็นล็อต แจกเป็นโหล” โปรโมชั่นนาทีทอง ส่งเสริมทั้งผู้ซื้อและผู้บริโภค      

โดยการจัดงานในครั้งนี้เรามีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานจากจังหวัดชุมพรจังหวัดระนอง ภาคตะวันออกฉียงเหนือ อาทิเช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งสิ้น 42 ร้านค้า สินค้าแบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟ และกาแฟแปรรูป ปรุงแต่ง กาแฟโรบัสต้าสกัดเย็นพร้อมดื่ม 2) เครื่องดื่มแปรรูปจากมังคุด  3) ขนมไทยและขนมเบเกอรี่ 4) ของใช้ประจำวัน 5) เครื่องแต่งกาย 6) สินค้าชำระร่างกาย 7) ยารักษาโรค และ 8) สินค้าเกษตร ต้นกาแฟโรบัสต้า  โดยราคาผู้ผลิต ประชาชนละแวกใกล้เคียง สามารถ จับจ่าย ใช้สอย ได้สมในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้

- นิยามของโครงการแนวการพัฒนา- “จังหวัดชุมพร มหานครโรบัสต้า” หมายถึง จังหวัดชุมพรมีศักยภาพสูงในการผลิตกาแฟโรบัสต้าแบบครบวงจร ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด มีการแปรรูปโดยผู้ประกอบการในจังหวัดมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งระดับชาติและระดับโลก เป็นแหล่งสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเพิ่มขึ้น ประเด็นการพัฒนาและแนวทางการพัฒนาของจังหวัดชุมพร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top