Saturday, 5 April 2025
จีน

รู้จัก 'DeepSeek' แอป AI ต้นทุนต่ำของจีน ผงาดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐฯ ท้าชน ChatGPT

(27 ม.ค. 68) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีแอปพลิเคชัน AI ตัวใหม่ที่ชื่อว่า DeepSeek ได้เปิดตัวบน App Store และได้รับความสนใจอย่างมาก จนสามารถทำยอดดาวน์โหลดแซงหน้า ChatGPT ขึ้นเป็นแอปอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยีและ AI

DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพจากจีน โดยบริษัทเพิ่งเปิดตัวโมเดล AI ชื่อว่า 'R1' ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการ AI ด้วยการพัฒนาโมเดลที่มีขนาดเล็กเพียง 1.5B แต่มีความสามารถสูงกว่าโมเดล AI อื่นๆ อย่าง OpenAI o1-mini และที่สำคัญคือต้นทุนในการฝึกฝนโมเดลนั้นต่ำมากเพียงแค่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทนี้ก่อตั้งโดย Liang Wenfeng ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักธุรกิจชื่อดังในวงการ AI ของจีน ความน่าสนใจของ DeepSeek ไม่ได้เพิ่งมี เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัทเริ่มเส้นทาง AI ด้วยการพัฒนาเจเนอเรทีฟเอไอโมเดล สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผล (Reasoning Tasks) ซึ่งสามารถแข่งขันกับโมเดลของ OpenAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2023 DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek Coder โมเดล Open-Source สำหรับการเขียนโค้ด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในปีเดียวกันยังเปิดตัวโมเดล DeepSeek LLM ที่มีเป้าหมายแข่งขันกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่

ในปี 2024, DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek-V2 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงและต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดสงครามราคากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการ AI ของจีน เช่น ByteDance, Tencent, Baidu และ Alibaba ที่ต้องลดราคาลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในปี 2024 เดียวกันนี้ DeepSeek ยังได้เปิดตัวโมเดล DeepSeek-Coder-V2 ที่รองรับการเขียนโค้ดที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้งานผ่าน API ในราคาประหยัด โดยค่าบริการคิดเป็น 0.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับข้อมูลนำเข้า และ 0.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับผลลัพธ์

ขณะที่โมเดลล่าสุดอย่าง DeepSeek-R1 ได้ช่วยยกระดับความสำเร็จของ DeepSeek ในวงการ AI ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมและต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะโมเดล DeepSeek-R1 ที่เน้นงานด้านการให้เหตุผล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของโมเดลของ OpenAI

โมเดล R1 ของ DeepSeek มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน AI บางรายการ โดยบริษัทอ้างว่าโมเดลของตนมีต้นทุนการฝึกฝนเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เงินทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการฝึกฝนโมเดลของตนเอง

กระแสข่าวที่ออกมาทำให้ DeepSeek ตอนนี้ขึ้นอันดับ 1 แอปยอดนิยมของ App Store ในสหรัฐอเมริกา แซงหน้า ChatGPT ไปเรียบร้อย

แม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของต้นทุนที่ต่ำขนาดนี้ แต่หลายฝ่ายเห็นว่าหาก DeepSeek สามารถทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ AI และช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นและมีต้นทุนต่ำ

Yann LeCun หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ AI ของ Meta ได้กล่าวว่า โมเดล Open-Source อย่าง DeepSeek สามารถแซงหน้าโมเดลแบบปิดได้ และช่วยให้ทุกคนในวงการได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งนี้ ขณะที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง มาร์ก แอนเดรียสเซน กล่าวชมว่า DeepSeek เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่น่าทึ่งที่สุดในวงการ AI เพราะเนื่องจากที่ถูกรัฐบาลสหรัฐกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI จนสุดท้ายจีนก็สามารถพัฒนา AI ของตนเองขึ้นมาได้เองแถมยังมีต้นทุนต่ำ ขณะที่บางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความสำเร็จของ DeepSeek อาจเป็นภัยคุกคามต่อการแข่งขันของสหรัฐฯ ในตลาด AI  

'ดร.สันติธาร' ตั้ง 5 คำถาม 'DeepSeek' AI จีนตัวเปลี่ยนเกมท้าชนมหาอำนาจ

(28 ม.ค. 68) ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอจากจีนที่อาจเปลี่ยนโลก 5 คำถามสำคัญที่ตามมา จากการผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอของจีนที่เป็นกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก แต่ยังมาจังหวะที่สหรัฐฯเปลี่ยนรัฐบาลพอดี เสมือนเป็นการ‘สะบัดหาง’ครั้งสำคัญของปีงูเล็กเลยกว่าว่าได้และอาจมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย (ใครไม่ได้ตามข่าวนี้ผมแปะลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับเอไอตัวนี้ไว้ในคอมเมนท์ครับ)

ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดอย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ จึงอยากลองแชร์ไว้เผื่อไปช่วยคิดและติดตามกันต่อครับ
1.จีน vs อเมริกา. การมาของ DeepSeek ตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีเอไอของอเมริกายังนำโลกอยู่จริงไหม หรือจีนสามารถวิ่งไล่กวดได้แล้วแม้จะไม่ได้เข้าถึงชิปคุณภาพสูงสุดที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและพันธมิตร  และหากไล่กวดได้จริงตามตัวเลขการทดสอบความสามารถเอไอต่างๆที่ออกมา ต่อไปสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร:

-จะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้า-เทคโนโลยีเพื่อให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ได้ยากขึ้นไปอีกไหม หรือ/และ
-จะทุ่มทุนยิ่งกว่าเดิมสร้างกับโครงการเอไอขนาดยักษ์อย่าง Stargate ที่มูลค่าที่ประกาศเกือบเท่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าเพราะไปจำกัดการเข้าถึงชิปของจีนนี่แหละเลยทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่สร้างเอไอได้ประหยัดกว่าเดิม ทำ‘กันดารกลายเป็นสินทรัพย์‘

2.ความสิ้นเปลืองทรัพยากร. การที่ Deepseek ใช้เงินในการพัฒนาเอไอน้อยกว่า พวกบริษัทเทคโนโลยีดังๆของอเมริกาประมาณ 20-30x และ ใช้ชิปที่ไม่ได้ ’ทรงพลัง‘ เท่า (มีคนบอกว่าชิปที่พวกเขาใช้ แค่นักเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยในอเมริกายังมีใช้เลย) ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหมู่นักลงทุนและบริษัทเทคฯว่า “เอ้ะ ที่เราลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้ได้ชิปที่ทรงพลังที่สุดนี่จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า” สรุปเราจ่ายไปเพื่อซื้อ ’เนื้อ’ หรือ ’ไขมัน’ กันแน่? หรือว่า: เงินอาจจะไม่ใช้มากขนาดนั้น ชิพอาจจะไม่ต้องทรงพลังขนาดนั้น พลังงานก็อาจจะไม่ต้องใช้หนักขนาดนั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นวงการเทคฯและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องตื่นตระหนกตกใจพานิคร่วงกันเป็นแถวเมื่อวานนี้

3.โมเดลแบบเปิด vs ปิด. คนส่วนใหญ่อาจมองสงครามเอไอเป็นระหว่างสหรัฐฯ vs จีน แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยีอีกศึกที่คุกรุ่นมานานคือระหว่าง โมเดลแบบเปิด (Open source) ที่เสมือนเปิด ‘สูตรลับ‘ หรือ โค๊ดให้คนอื่นสามารถเอาไปศึกษา ใช้พัฒนาต่อยอดได้ กับ โมเดลแบบปิดที่ไม่ได้เปิดข้อมูลเหล่านี้ เช่น ChatGPT Deepseek คือเป็นแบบเปิด จึงทำให้เกิดคำถามว่าโมเดลแบบเปิดนี้มันเจ๋งจนไล่กวดโมเดลแบบปิดที่ซ่อนสูตรลับของตัวเองแล้วหรือ? นึกภาพหากร้านอาหารอร่อยมากๆเปิดสูตรให้คนเอาไปทำที่บ้านแล้วทำออกมามันอร่อยไม่แพ้ร้านแพงๆที่เก็บสูตรเป็นความลับ ต่อไปใครจะอยากไปจ่ายแพงเพื่อกินที่ร้าน 
แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วต่อไป Deepseek จะยังเปิดสูตรตัวเองไปเรื่อยๆแบบนี้ไหม หรือวันดีคืนดีก็จะปิดมันและเก็บตังค์ค่าใช้แพงๆ และ/หรือ จะมีการเอาข้อมูลของ User ไปใช้อย่างไรเพราะบางคนก็ห่วงเรื่อง data governance

4.ผู้นำ-ผู้ตาม. Deepseek ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นในการพัฒนาเอไอที่มี ความสามารถใกล้เคียงกับโมเดลรุ่นใหม่ ของ OpenAI โดยใช้โมเดลของ OpenAI ช่วยเทรนสอนโมเดลของตนเองด้วย เสมือนOpenAI เป็นจอมยุทธ์ที่ฝึกแทบตายกว่าจะบรรลุเคล็ดวิชาใหม่ แต่พอนักเรียนมาเลียน/เรียนต่อแป๊บเดียวสามารถได้วิชาระดับเดียวกันมาได้  (ภาษานักลงทุนคือ Moat หรือคูเมืองป้องกันปราสาทเรา มันไม่ได้ข้ามยากเท่าที่คิด) จึงทำให้เกิดคำถามว่าวงการเอไอนี่ผู้นำได้เปรียบมากจริงไหม หากผู้ตามสามารถตามได้เร็วขนาดนี้และยังทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แบบนี้มันยังคุ้มที่จะลงทุนพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำ ‘บรรลุเคล็ดวิชาใหม่ๆ‘ ไหม เพราะผู้นำด้านเอไออาจถูกดิสรัปง่ายกว่าที่คิด

5.อนาคตของเอไอ. ในมุมผู้พัฒนาและลงทุนกับเอไอ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ขนหัวลุก แต่ในมุมของผู้ใช้ พัฒนาการนี้ก็อาจมองในมุมบวกได้เช่นกัน
- ต้นทุนพัฒนาเอไอถูกลงทำให้ค่าบริการถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น
-เอไออาจสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น
-โมเดลแบบเปิดอาจทำให้คนเก่งๆทั่วโลก สามารถศึกษาและเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างเอไอที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทของสังคมตนเอง 
- การพัฒนาเอไออาจมีการแข่งขันมากขึ้น Generative AI กลายเป็น‘เทคโนโลยีโหลๆ’ขึ้น ผลักดันให้หลายเจ้าอาจต้องหามุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนวอื่นมากขึ้น คิดเรื่องแอพพลิเคชันมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มเงินสร้างมันสมองที่ฉลาดอย่างเดียว จึงอาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น 
ในทางกลับกันการที่แต่ละประเทศต่างแข่งกันสร้างสุดยอดเอไออาจทำให้ต่างลดความสำคัญด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดเอไอแบบอันตรายต่อสังคมขึ้นหรือไม่ 

แน่นอนว่าเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Deepseek อีกมากและก็เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจมีการหักมุมจากผู้เล่นอื่นอีกที่ไม่ใช่ DeepSeek เลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็คิดว่า 5 ประเด็นนี้คือคำถามที่เราควรตั้งและช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกและกระทบเราทุกคนในอนาคตครับ

AI จีนเซนเซอร์จริงมั้ย ลองให้วิจารณ์ถึง 'สีจิ้นผิง'

(29 ม.ค. 68) หลังจากมีกระแสการเปิดตัว DeepSeek โมเดลแชทบอท AI ตัวใหม่สัญชาติจีนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ระบุว่าใช้ต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ในการสร้างและพัฒนามันขึ้นมา ซึ่งน้อยกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในอเมริกาใช้จ่ายไปมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเอไอ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างโมเดลเอไอ เนื่องจาก DeepSeek ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสหรัฐฯ พูดให้ชัดคือถูกกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ

เหตุผลที่ DeepSeek ได้รับความนิยมเนื่องจากมันเป็นผู้ช่วยเอไออันทรงพลังซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT โดยคำอธิบายในแอปสโตร์ระบุว่า แอปฯ นี้ออกแบบมาเพื่อ "ตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ" 

ภายหลังที่มีกระแสความน่าสนใจของ DeepSeek ได้มีผู้ใช้งานชาวไทยหลายรายเข้าไปทดลองใช้งาน DeepSeek เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับ  ChatGPT ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง ซึ่งผู้ใช้งานในไทยหลายรายแชร์ว่า DeepSeek ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง

ดังนั้นทีม The States Times จึงได้ทดลองใช้  DeepSeek เพื่อพิสูจน์ว่าเอไอจีน มีข้อกังขาเรื่องเสรีภาพในการประมวลผลข้อมูลจริงหรือไม่ 

จากการทดลองถามคำถาม "ให้วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิง" เอไอจีนได้ระบุคำตอบที่ ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนไร้การเซ็นเซอร์ โดยกล่าวถึงทั้งด้านดีของผู้นำจีนโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม และด้านการเมือง การปราบทุจริตคอรัปชัน แต่ก็กล่าวถึงข้อเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การขยายอิทธิพลในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่อย่างไรก็ตาม DeepSeek ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น การประเมินผู้นำคนนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและค่านิยมของแต่ละบุคคล"

นอกจากนั้นเรายังทดลองให้ DeepSeek อธิบายว่า "ทำไมสี จิ้นผิงถึงถูกเปรียบเทียบกับวินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งเอไอจีน ก็ได้ประมวลผลข้อมูลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเซนเซอร์แต่อย่างใด โดยเอไอจีน ยอมรับว่าเหตุที่ สีจิ้นผิง ถูกเปรียบเทียบกับ วินนี่ เดอะ พูห์ เพราะเป็น การเปรียบเทียบจากรูปลักษณ์ การเซ็นเซอร์และการปราบปราม เป็นสัญลักษณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังกล่าวสรุปด้วยว่า

 "การเรียกสีจิ้นผิงว่า วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและควรพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ ในประเทศจีนหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน การใช้คำนี้อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ ส่วนในบริบทอื่นๆ อาจใช้ได้แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและผลที่อาจตามมาเสมอ"

นอกจากนี้ เมื่อลองถามประเด็นละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย. 1989 DeepSeek สามารถให้คำตอบโดยกล่าวถึง ภูมิหลังของเหตุการณ์ ผลกระทบของเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังให้ข้อสรุปไว้ว่า "เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยกับการควบคุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกเซ็นเซอร์ในจีน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ" 

เมื่อถามว่า 'คุณไม่ถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์หรอ?' DeepSeek ให้คำตอบว่า "ฉันเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ฉันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ โดยยึดตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  แต่ฉันมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือถูกปิดกั้นในประเทศจีน ฉันพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้"

โดยรวมแล้วหลังจากการทดลองใช้ DeepSeek นับว่าเป็นโมเดลเอไอ ที่ประมวลผลเร็วและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ถือว่าเป็นคู่แข่งของ ChatGPT ที่น่าจับตามอง ความสำเร็จของ DeepSeek ลดทอนความเชื่อที่ว่า งบประมาณที่มากขึ้นและชิปที่มีสมรรถนะระดับสูงสุดเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาเอไอ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการและอนาคตของชิปประสิทธิภาพสูง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้แทนกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน หารือกระชับความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมร่วมเดินหน้ากวาดล้างขบวนการทั้งในเมียนมา กัมพูชา และลาว 

เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.68) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศตคม.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.อุดร ยอมเจริญ ผบช.ส. , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. , พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.สทส.รรท.รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวสิน รอง ผบช.สอท. , พล.ต.ตรุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รอง ผบช.ตชด. , พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผบก.ตท. , พ.ต.อ.ทรงกลด เกริกกฤตยา รอง ผบก.อก.บช.ส.รรท.ผบก.ปคม. ร่วมหารือกับผู้แทนกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย นายหลิว จงอี้ (Mr.Liu Zhongyi) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน/ผู้บัญชาการสำนักงานสอบสวนอาชญากรรม และคณะ ณ ห้องพรหมนอก ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในการหารือวันนี้เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ทั้งการป้องกัน , การปราบปรามจับกุม , การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ,การติดตามจับกุม 30 ผู้ต้องหาที่ทางการจีนออกหมายจับคดีหลอกลวงนายหวังซิง นักแสดงชาวจีน ซึ่งทางการจีนจับกุมได้แล้ว 20 คน , การช่วยเหลือบุคคลสูญหายหรือถูกกักไว้โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมียวดี , การตัดระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น น้ำ ไฟ สัญญาณอินเตอร์เน็ต จากไทยไปยังฝั่งเมียวดี และการเสริมสร้างกลไกความร่วมมือ การบังคับใช้กฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ทางการจีนได้มีข้อเสนอในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมระหว่างไทย-จีน ในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอทางการจีนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยได้ประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย และประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการร่วมมือกันป้องกันปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งวานนี้ (27 มกราคม 2568) ทางสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้เชิญตนเป็นผู้นำหน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจด้านการหลอกลวงทางไซเบอร์และการค้ามนุษย์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Lead the Specialized Cyber Scam and Trafficking in Persons for Forced Criminality Taskforce) ซึ่งจะมีการประสานการทำงานร่วมกันในระดับสากล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความยินดีหากทางการจีนเข้าร่วมกับศูนย์ประสานดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงจะปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา เท่านั้น แต่จะร่วมมือกันในการขยายผลปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งประเทศกัมพูชา และบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และตัดระบบสาธารณูปโภค เช่น ซิม สาย เสา น้ำ และไฟฟ้า มาโดยตลอด ตามยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” และประสานความร่วมมือกับกองทัพบกและฝ่ายปกครองในการลาดตระเวนตลอดแนวชายแดน ป้องกันการลักลอบให้บริการดังกล่าวจากฝั่งไทย และที่ผ่านมายืนยันว่ายังไม่พบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการกระทำความผิดในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานข้อมูลจากทางการจีนในเรื่องของคนร้ายที่กระทำผิด เพื่อกรณีมีคนร้ายเข้ามาในประเทศไทย แม้ไม่มีหมายจับ แต่ทางการไทยจะใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในการเพิกถอนวีซ่า และประสานส่งตัวกลับประเทศต้นทางได้ทันที

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ทางการจีนขอขอบคุณและชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย และทางการไทย ที่ให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจังและจริงใจ ซึ่งทางการจีนยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในทุกด้าน เพื่อการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

จีนหนุนพลศึกษาสู่วิชาหลัก เทียบชั้นคณิต-วิทย์ฯ พร้อมปรับเงินเดือนครูพละ หลังพบโรคอ้วนในเด็กสูง

(29 ม.ค.68) จีนมีแผนผลักดันให้วิชาพลศึกษาเป็นวิชาหลักส่วนสำคัญของหลักสูตรในโรงเรียน แทนที่จะเป็นเพียงวิชารองเท่านั้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราโรคอ้วนในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว กระทรวงศึกษาธิการของจีนระบุว่าการศึกษาที่สมดุลต้องรวมทั้งวิชาการและสุขภาพร่างกาย โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับครูพลศึกษาในระดับเดียวกับครูวิชาหลัก เช่น ภาษาจีน คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมกีฬาหลัก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล

"มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและสุขภาพร่างกาย เพื่อสร้างนักเรียนที่มีความพร้อมในอนาคต" กระทรวงศึกษาธิการระบุ

แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่จีนประกาศแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม โดยตั้งเป้าพัฒนา 'ชาติที่มีการศึกษาที่แข็งแกร่ง' ภายในปี 2035 หนึ่งในนโยบายสำคัญคือการกำหนดให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษามีกิจกรรมทางกายภาพอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราสายตาสั้นและโรคอ้วน

ในปี 2022 มีการขาดแคลนครูพลศึกษาทั่วประเทศราว 120,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท รัฐบาลจึงมีมาตรการส่งเสริมการรับสมัครนักกีฬาที่เกษียณแล้วและอดีตทหารเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ ครูพลศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเดียวกับครูวิชาอื่น และจะมีการปรับเงินเดือนตามผลงานสำหรับการทำหน้าที่พิเศษ เช่น การฝึกสอนกีฬาหลังเลิกเรียนและการเป็นโค้ชทีมกีฬา

อัตราโรคอ้วนในเยาวชนจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมทางกายในช่วงมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 และการสั่งซื้ออาหารจานด่วนทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แพทย์คาดว่าอัตราโรคอ้วนจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 10-12 ปีข้างหน้า เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย

ในปี 2022 อัตราเด็กชายที่เป็นโรคอ้วนในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 15.2% จาก 1.3% ในปี 1990 ขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 22% ญี่ปุ่น 6% สหราชอาณาจักรและแคนาดา 12% และอินเดีย 4% ส่วนในเด็กหญิงจีน อัตราโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 7.7% จาก 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุในเดือนตุลาคมว่า "โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศ โดยเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หกของการเสียชีวิตและความพิการในจีน"

ถนนคนเดิน 'หนานจิงลู่' จุดเช็กอินฮอตนนท.ไทย ยอดจองพุ่ง 372% หลังฟรีวีซ่า ย้ำเทรนด์ไชน่าทราเวลมาแรง

(29 ม.ค. 68) ถนนคนเดิน “หนานจิงลู่” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปีในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ถือเป็น “จุดหมายแรก” ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนไม่น้อยต้องแวะมาเช็กอินบนโลกออนไลน์ เยี่ยมชมบรรยากาศ รวมถึงอิ่มอร่อยกับอาหารและเครื่องดื่มสารพัดเมนู

บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มในย่านถนนคนเดินสายนี้ เช่น ร้านชาเฮย์ที (Heytea) สาขาห้างสรรพสินค้าซินชื่อเจี้ยเฉิง หรือร้านปิ้งย่างเหิ่นจิ่วอี่เฉียน สาขาห้างสรรพสินค้าตี้อีไป่ฮั่ว ได้รับรองนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้และชาวไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ไทยประจำนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าชาวไทยชอบเที่ยวจีนมาตลอด จึงไม่แปลกที่ไชน่า ทราเวล (China Travel) หรือ “ท่องเที่ยวจีน” จะเป็นกระแส โดยนโยบายฟรีซ่าซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับจีนเกื้อหนุนชาวไทยเดินทางเยือนจีนสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมมิตรภาพและเพิ่มความเข้าใจของประชาชนสองประเทศ

เกศรินทร์ อริยพงศ์ รองเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่าการที่ชาวไทยนิยมเที่ยวจีนช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และโอกาสทางธุรกิจมหาศาล ขณะปัจจุบันกระแสเพลงซี-ป๊อป (C-pop) เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นชาวไทยเพิ่มขึ้นก็ช่วยเพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกันและจำนวนชาวไทยที่เดินทางเที่ยวจีนด้วย

ข้อมูลจากซีทริป (Ctrip) ระบุว่ายอดจองการเดินทางเข้าจีนของนักท่องเที่ยวชาวไทย ช่วงเริ่มต้นนโยบายฟรีวีซ่าจนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2025 เพิ่มขึ้นร้อยละ 372 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม 2023-มกราคม 2024 โดยนักท่องเที่ยวช่วงอายุ 26-35 ปี ครองสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 36 ตามด้วยช่วงอายุ 36-45 ปี ที่ร้อยละ 34

ขณะเดียวกันยอดจองการเดินทางเข้าจีนของนักท่องเที่ยวชาวไทย ช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน ปี 2025 เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2024 โดนมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย

ห้วงยามกระแสไชน่า ทราเวล กำลังร้อนแรงเช่นนี้ สินค้าต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยผสมผสานอยู่ด้วยนั้นได้รับความนิยมเช่นกัน โดยปฤณัตกล่าวว่าสินค้าไทยตั้งแต่ของกินจนถึงของใช้มีโอกาสเข้าสู่บ้านเรือนชาวจีนเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ปฤณัตกล่าวว่าจีนและไทยมีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดผูกพันกัน และธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” เป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าสู่ตลาดจีนอันกว้างใหญ่และเปี่ยมด้วยพลังความมีชีวิตชีวา

งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเข้าร่วมงานนี้ทุกปีตั้งแต่เริ่มต้นจัดขึ้นในปี 2018 โดยหน่วยงานเศรษฐกิจและการค้าของไทยนำพากลุ่มเอสเอ็มอี (SME) ที่มีศักยภาพสูงร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์

ปฤณัตกล่าวว่าปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จึงหวังใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือด้านการค้า ความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา อาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เกศรินทร์ทิ้งท้ายว่าอีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหมมอบโอกาสเติบโตในตลาดจีนแก่ผู้ประกอบการชาวไทย ช่วยให้เอสเอ็มอีไทยได้เรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนดียิ่งขึ้น นำสู่การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานที่จะประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการชาวไทย พร้อมกับส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภคชาวจีนยิ่งขึ้น

จีนทิ้งขาดสหรัฐฯ นำลิ่ว 57 เทคโนโลยีใหญ่ ยกเครดิตสีจิ้นผิงชู 'Made in China 2025' ทุ่มวิจัยไม่ยั้ง

(29 ม.ค.68) การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงและได้รับการพูดถึงในขณะนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ระบุว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ทำงานได้เร็วกว่า แถมเป็นการพัฒนาแบบระบบโอเพ่นซอร์ส ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ AI ไปทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'Sputnik moment' อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ AI เท่านั้น  

รายงานวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI)ประจำปี 2024 ซึ่งศึกษาข้อมูลย้อนหลังถึง 20 ปี พบว่า จีนครองความเป็นผู้นำใน 57 จาก 64 เทคโนโลยีสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเพียง 3 เทคโนโลยีเมื่อปี 2007 ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยนำหน้าใน 60 สาขาเมื่อปี 2007 ปัจจุบันเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น  

จากการวิจัยของ ASPI ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกพบว่า สาขาเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำโลกในเวลานี้ อาทิ การออกแบบและผลิตวงจรรวมขั้นสูง, กระบวนการตัดเฉือนความแม่นยำสูง , เครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง, โดรน หุ่นยนต์ฝูง และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ , การสื่อสารความถี่วิทยุขั้นสูง  

ในขณะที่สาขาเทคโนโลยีที่สหรัฐเป็นผู้นำในขณะนี้ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), ควอนตัมคอมพิวติ้ง และวิศวกรรมพันธุกรรม  

ASPI ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการ 'Made in China 2025' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่อัดฉีดเงินทุนโดยตรงจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ "การครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทคโนโลยีจีนหลายด้านก้าวหน้า 

นอกจากการลงทุนในงานวิจัยแล้ว รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับภาคการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย

จีนลุยยื่น WTO ฟ้องสหรัฐ อ้างไม่เป็นธรรม หลังขึ้นภาษี 10%

(4 ก.พ. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนรายงานว่าจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับกลไกแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีสหรัฐฯ ตัดสินใจกำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฏหมายของจีน

โฆษกกระทรวงฯ แถลงข่าวว่ากรณีสหรัฐฯ กำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจากสินค้าจีนได้ละเมิดกฎเกณฑ์ขององค์การฯ อย่างร้ายแรง โดยการกระทำเช่นนี้ถือเป็นแบบอย่างของลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้า

การกระทำของสหรัฐฯ บั่นทอนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ บ่อนทำลายรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างยิ่ง

สหรัฐฯ มุ่งเน้นลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีมากกว่าพหุภาคีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อให้เกิดเสียงตำหนิติเตียนจากสมาชิกองค์การฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งจีนคัดค้านการกระทำของสหรัฐฯ และกระตุ้นเตือนฝ่านสหรัฐฯ แก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที

จีนในฐานะผู้สนับสนุนและผู้มีส่วนส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีพร้อมทำงานร่วมกับสมาชิกองค์การฯ รายอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี และคุ้มครองการพัฒนาอันมีระเบียบและเสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ

นายกฯ แพทองธารพบผู้นำสภาจีน เดินหน้าปราบอาชญากรรม-กระชับสัมพันธ์ 50 ปี

(6 ก.พ. 68) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย พบปะหารือกับ จ้าวเล่อจี้ ประธานคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ พร้อมเตรียมฉลอง 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2025  

จ้าวเล่อจี้เน้นย้ำว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยมีพัฒนาการที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของผู้นำทั้งสองประเทศ จีนพร้อมร่วมมือกับไทยเพื่อสานต่อฉันทามติที่ได้บรรลุร่วมกัน และเดินหน้าสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน  

เขายังระบุว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานนิติบัญญัติเป็นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือ ไทยและจีนจะทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การปกครองสังคม และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน  

ด้านแพทองธารยืนยันว่าไทยยึดมั่นนโยบายจีนเดียว พร้อมเดินหน้ากระชับความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านนิติบัญญัติและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ทั้งนี้ ไทยและจีนจะร่วมกันส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของประชาคมจีน-ไทยต่อไป

เศรษฐกิจไทย 68 โตมากสุด 3.3% อานิสงส์เงิน 1 หมื่น แนะมุ่งสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม รับศึกการค้าทรัมป์ 2.0

(7 ก.พ.68) ธนาคาร HSBC ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยในหัวข้อ 'Asia and Thailand Economic Outlook 2025' โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริโภค

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตที่ 2.7-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า
2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่แจกจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เฟรดเดอริคเตือนว่า ในปี 2026 การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง

HSBC มองว่า ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบกับ 10% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น มาเลเซียในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือเวียดนามในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แม้ไทยจะมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของภูมิภาค แต่ HSBC ชี้ว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น การลดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล การพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงระบบ Back Office และการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

เฟรดเดอริคยังเตือนถึงความท้าทายสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.3% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางการเงินระดับภูมิภาคและการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top