(23 ม.ค.68) รถบรรทุกไร้คนขับ ออกวิ่งขนส่งแร่ไปตามถนนลูกรังอันคดเคี้ยวที่เหมืองทองแดงอวี้หลงในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บริเวณที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ความสูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
โครงการขับเคลื่อนอัตโนมัติสุดล้ำนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ถือเป็นระบบขนส่งไร้คนขับระบบแรกของโลกที่ดำเนินการในเหมืองเปิดโล่ง ณ ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่ของจีนในการพัฒนาเหมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่สูงให้ทันสมัย
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทิเบต อวี้หลง คอปเปอร์ มายนิง จำกัด ในเครือเวสเทิร์น มายนิง จำกัด (Western Mining Co.) กลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 19 และหัวเหวย (Huawei)
ทีมงานประจำโครงการเผยว่ารถบรรทุกแร่ไร้คนขับสามารถปฏิบัติงานบนเส้นทางเหมืองทอดยาวหลายกิโลเมตรที่มีความกว้างขั้นต่ำ 20 เมตร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมสุดท้าทายบนพื้นที่สูง อีกทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการรับรู้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายประเภทเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเสถียรตลอดปี และมีอัตราการปฏิบัติงานออนไลน์สูงกว่าร้อยละ 99
การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G คลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติยังกลายมาเป็นแนวโน้มสำคัญในการพัฒนาร่วมกันของระบบเหมืองแร่และยานยนต์ในจีน
เหอเหว่ย วิศวกรเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของหัวเหวย อธิบายว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเหมืองแบบดั้งเดิม รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจุดเด่นอยู่ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลย
รถบรรทุกเหมืองอัตโนมัติระบบไฮบริด น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) หรือระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ กล้อง เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร และระบบนำทางแบบบูรณาการ กำลังถูกใช้งานในพื้นที่เหมืองที่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งศักยภาพการรับรู้สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์และการตัดสินใจอัตโนมัติ ทำให้รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานด้วยความเร็วที่ตั้งไว้ได้แม้ในตอนกลางคืน
เหอกล่าวว่าเซ็นเซอร์หลายตัวทำหน้าที่เสมือน 'หูและดวงตา' ของรถบรรทุก ช่วยให้พวกมันสามารถ 'ได้ยินและมองเห็น' สิ่งรอบตัว อีกทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง การจดจำสิ่งกีดขวางแบบคงที่ การต้านทานการรบกวน และเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
"ตัวอย่างเช่น ไลดาร์ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถตรวจจับมนุษย์หรือสัตว์ป่า เช่น หมี ม้า หมาป่า และสัตว์บนที่ราบสูงอย่างจามรีได้ โดยรถบรรทุกจะหยุดโดยอัตโนมัติหรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย" เหอระบุ
นอกจากนั้น ทีมงานของโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยระบบการจัดตารางรถ ระบบการตรวจสอบ บริการแผนที่ความแม่นยำสูง ซึ่งทำหน้าที่เป็น 'สมอง' ของโครงการขับเคลื่อนไร้คนขับ เพื่อเอื้อให้รถบรรทุกสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เทียบจอดอย่างแม่นยำ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากระยะไกล หยุดรถทันทีเมื่อพบคนเดินเท้า และวางแผนเส้นทางการเดินรถ
ข้อมูลจากเวสเทิร์น มายนิง จำกัด เผยว่าระบบจัดการอัจฉริยะนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการบำรุงรักษาถนนและลดความถี่การซ่อมแซมรถบรรทุก โดยเมื่อเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม รถบรรทุกเหมืองขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 กลุ่ม รวม 10 คัน สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 6 ล้านหยวน (ราว 27.8 ล้านบาท) ต่อปี